- The Perks of Being a Wallflower หรือ ขอให้วัยเยาว์ของเราเป็นนิรันดร์ เป็นนวนิยายวัยรุ่นที่เล่าเรื่องราวของ ‘ชาร์ลี’ เด็กหนุ่มผู้เงียบขรึมและอ่อนไหว ที่มักถูกเรียกว่า Wallflower หรือ นายไม้ประดับ เพราะเขาเป็นคนที่ดูเงียบๆ ไม่ค่อยเด่น จึงถูกมองข้ามในสังคม
- ชาร์ลีต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดในอดีตที่ถูกกดไว้ลึกๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของเขาอย่างมาก แต่ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนและการบำบัด ชาร์ลีจึงสามารถเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเองและคนอื่นและก้าวต่อไปข้างหน้าได้
- ในโลกที่ทุกคนล้วนต้องการเป็น Somebody ทุกคนล้วนมีความพิเศษ หรือโดดเด่นในทางใดทางหนึ่ง บางที การเป็น Nobody หรือคนธรรมดาที่อาจไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีความโดดเด่นเป็นที่สะดุดตาใครๆ แต่มีหัวใจที่อ่อนโยน ดีงาม และใส่ใจคนรอบข้าง ก็เป็นอะไรที่แสนพิเศษเช่นกัน
ผมได้ยินคำว่า Wallflower เป็นครั้งแรก จากชื่อวงดนตรี The Wallflower ที่มีนักร้องนำบุคลิกเงียบขรึม นัยน์ตาแสนเศร้าชื่อ Jakob Dylan ซึ่งในตอนนั้น ผมไม่รู้เลยว่า ชื่อวงดนตรีนี้หมายถึงอะไร สิ่งเดียวที่รู้คือ Jakob เป็นลูกชายของ Bob Dylan ตำนานดนตรีโฟล์คของอเมริกา แต่ผมไม่รู้ว่า ความเศร้าในแววตาของ Jakob มาจากไหน หรือจะเป็นเพราะเขาถูกนำไปเปรียบเทียบกับพ่ออยู่ตลอด ไม่ว่าจะพยายามสร้างงานเพลงที่ดีสักแค่ไหนก็ตาม
ความหมายดั้งเดิมของคำว่า Wallflower ใช้เรียกไม้ดอกล้มลุกหลายชนิด ที่นิยมปลูกไว้ริมกำแพง ด้านหน้าผนังตัวอาคาร ไม้ดอกเหล่านี้มักจะมีสีเหลือง สวยงามแต่ไม่โดดเด่น ราวกับจะปลูกไว้แค่เป็นไม้ประดับ หรือเอาไว้บดบังทัศนียภาพที่ไม่ค่อยงดงามของตัวบ้าน
ต่อมาคำศัพท์นี้กลายเป็นคำแสลงที่ใช้เรียกคนที่ดูเงียบๆ ไม่มีความโดดเด่นสะดุดตา ไม่ได้เป็นที่สนใจของใคร ถ้าอยู่ในงานปาร์ตี ก็จะเป็นหญิงสาวที่หลบอยู่มุมห้อง ไม่มีใครชวนออกไปเต้นรำ หรืออาจจะเป็นชายหนุ่มท่าทางเงอะๆ งะๆ ไม่กล้าชวนใครคุยด้วย ได้แต่นั่งเงียบๆ ไร้ตัวตนอยู่ในห้อง
[บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยส่วนสำคัญของเนื้อเรื่องในหนังสือ]
หนังสือเล่มล่าสุดที่ผมเพิ่งอ่านจบ เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือน Wallflower หรือถ้าเป็นซีรีส์เกาหลีก็คงเรียกว่า นายไม้ประดับ หรืออะไรทำนองนั้น
ชื่อของหนังสือเล่มนี้ คือ The Perks of Being A Wallflower (ในขณะที่ฉบับแปลไทย ใช้ชื่อไทยว่า ขอให้วัยเยาว์ของเราเป็นนิรันดร์) ซึ่งความหมายแบบตรงตัวของชื่อหนังสือเล่มนี้ ก็คือ คุณประโยชน์ของการเป็นไม้ประดับ แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด คือ ความพิเศษของคนที่ดูแสนธรรมดา และไม่น่ามีอะไรพิเศษ
ผลงานเขียนของ Stephen Chbosky เล่มนี้ ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในวรรณกรรมวัยรุ่นที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง และเมื่อหนังสือเล่มนี้ ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ก็กวาดรางวัลต่างๆ มากมาย และกลายเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน
อะไรคือความพิเศษ ในชีวิตที่แสนเรียบง่ายของเด็กหนุ่มที่ดูธรรมดาคนนั้น
…..
ย้อนนึกไปถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราขลุกอยู่กับเพื่อนมากที่สุด ในกลุ่มแก๊งเพื่อนของเรา จะประกอบด้วยเด็กหนุ่มสาวที่มีบุคลิกแตกต่างกัน แต่มักจะมีอยู่คนหนึ่งที่หน้าตาดีที่สุด ป๊อปปูลาร์ที่สุด และจะมีอีกคนหนึ่งที่เป็นตัวฮาของกลุ่ม เรียกว่าพูดอะไรก็เรียกเสียงหัวเราะได้ตลอด หรืออาจจะมีอีกคนหนึ่ง ที่พูดจาน่าเชื่อถือ ดูเป็นการเป็นงาน และมักจะเป็นที่พึ่งพาของเพื่อนๆ ได้เสมอ
และสุดท้าย ในแทบทุกกลุ่มก้อนของความเป็นเพื่อน จะมีอยู่คนหนึ่งที่พูดน้อยที่สุด ไม่ค่อยปล่อยมุขตลกโปกฮา แต่จะเป็นคนที่รับรู้และได้รับฟังเรื่องราวของเพื่อนคนอื่นมากที่สุด
‘ชาร์ลี’ คือเด็กแบบนั้น เด็กที่เป็นเหมือนไม้ประดับริมกำแพง
เด็กหนุ่มวัยสิบห้า เพิ่งเข้าเรียนปีแรกในระดับชั้นไฮสกูล (เทียบได้กับชั้นมัธยมปลายในประเทศไทย แต่ไฮสกูลของอเมริกา จะเรียนทั้งหมด 4 ปี) ด้วยความที่เขาเป็นคนตัวเล็ก เงียบๆ และมักจะอยู่คนเดียว จึงตกเป็นเป้าในการรังแกของเด็กที่มีนิสัยอันธพาล
ถึงแม้จะตัวเล็ก และดูติ๋มๆ แต่ชาร์ลีรู้วิธีต่อสู้ป้องกันตัว แถมใช้มันได้อย่างคล่องแคล่วด้วย เพราะพี่ชายที่เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลเคยสอนไว้ ทำให้เด็กอันธพาลที่เข้ามารังแกเขาต้องเจ็บตัวกลับไป ถึงแม้ว่าชาร์ลีจะไม่ถูกทำโทษ เพราะมีเพื่อนร่วมห้องบอกกับครูว่า เขาไม่ได้เป็นคนเริ่มการทะเลาะวิวาท แต่ทำไปเพื่อป้องกันตัว แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ยิ่งทำให้ชาร์ลี กลายเป็นเด็กที่ดูแปลกๆ ในสายตาคนอื่น
ความแปลกของชาร์ลี ไม่ใช่เพราะเขาตัวเล็กแต่สู้ชนะคนที่มารังแกได้ แต่เป็นเพราะหลังจากเด็กอันธพาลถูกเขาเล่นงานกลับไป ชาร์ลีกลับร้องไห้เสียใจอย่างหนักที่ทำให้เพื่อนบาดเจ็บ จนพี่สาวของเขาที่เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ต้องมาพาเขากลับบ้าน
‘ชาร์ลี’ คือเด็กแบบนั้น เด็กที่เป็นเหมือนไม้ประดับริมกำแพง และมีจิตใจที่แสนอ่อนไหว
…..
อันที่จริงแล้ว ชาร์ลี ไม่ใช่เด็กที่ไม่มีเพื่อน หรือไม่มีใครคบ ตอนอยู่ชั้นประถม เขามีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ ไมเคิล และในปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษาชั้นประถม ไมเคิล ฆ่าตัวตายโดยไม่มีใครรู้สาเหตุ แม้กระทั่งชาร์ลี ผู้เป็นเพื่อนสนิทของเขา
ข่าวการสูญเสียเพื่อนสนิททำให้ชาร์ลีร้องไห้อย่างหนัก ถึงขั้นควบคุมตัวเองไม่ได้ จนครูต้องบอกให้พี่ชายของเขาขับรถมารับเขากลับบ้าน
แม้ว่าในหนังสือเล่มนี้จะไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน แต่มีหลายบทความสันนิษฐานว่า ชาร์ลี มีอาการป่วยของโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ ความผิดปกติทางอารมณ์หลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่ผู้พบเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่น ภัยพิบัติร้ายแรง หรืออุบัติเหตุที่คร่าชีวิตคนใกล้ชิด จะมีอาการเครียดอย่างฉับพลัน หรือมีความผิดปกติทางอารมณ์ในรูปแบบอื่นๆ แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งอาการเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะหายไปเองภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน
แต่หากอาการเหล่านั้นยังคงอยู่ นั่นแปลว่า ผู้นั้นมีอาการป่วยของโรค PTSD ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ารับการบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ที่บางครั้งไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองมีอาการ PTSD และนั่นทำให้ความผิดปกตินั้น ยิ่งฝังลึกไปจนโต
หลายครั้งที่การป่วยด้วยโรค PTSD ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหวาดระแวง บางคนก็มีอาการต่อต้านสังคม ขณะที่อีกหลายคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า
การฆ่าตัวตายของเพื่อนรัก ไม่ใช่เป็นสาเหตุแรกที่ทำให้ชาร์ลีป่วย เรื่องราวในหนังสือ ค่อยๆ เผยให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้ว ชาร์ลีเคยพบเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญตั้งแต่วัยเด็ก ตอนเขาอายุเจ็ดขวบ ป้าเฮเลน พี่สาวของแม่ ซึ่งเป็นญาติที่เขารักที่สุดและป้าเฮเลนเองก็ดูจะรักเขามากที่สุด ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต
คืนนั้น ป้าเฮเลน ขับรถออกไปเพื่อซื้อของขวัญให้กับชาร์ลี
‘ชาร์ลี’ คือเด็กแบบนั้น เด็กที่เป็นเหมือนไม้ประดับริมกำแพง ผู้ป่วยด้วยโรค PTSD ตั้งแต่เด็ก
…..
จนวันหนึ่ง ชาร์ลี ได้พบที่ที่เหมาะกับเขาอย่างแท้จริง เขาได้รู้จักกับเด็กนักเรียนรุ่นพี่สองคน คือ แพทริก เด็กหนุ่มหน้าตาดี ผู้มีรสนิยมทางเพศชอบเพศเดียวกัน และ แซม เด็กสาวที่น่ารักที่สุดเท่าที่ชาร์ลีเคยพบเจอ
แพทริกและแซม เป็นพี่น้องคนละพ่อแม่ (พ่อของแพทริกแต่งงานกับแม่ของแซม) ทั้งคู่ต่างยอมรับชาร์ลีในแบบที่เขาเป็น พาเขาไปเที่ยวด้วยอยู่บ่อยๆ
ความสัมพันธ์ของทั้งสามคน ค่อนข้างซับซ้อน และวุ่นวายตามประสาวัยรุ่น เป็นเหมือนความรักสามเส้าที่แสนสับสน แต่ด้วยพื้นฐานอันแข็งแกร่งของความเป็นเพื่อน ทำให้ทั้งสามยังคบกันได้ตลอดรอดฝั่ง
ครั้งหนึ่ง ทั้งสามคนไปปาร์ตี้ด้วยกันที่บ้านเพื่อนอีกคนหนึ่ง ชื่อ บ๊อบ ซึ่งเป็นคนแรกที่บอกว่า ชาร์ลี คือ Wallflower หลังจากค้นพบว่า เขาคือคนที่ทุกคนไว้ใจและสามารถบอกความลับได้ โดยไม่ต้องระแวงว่าความลับจะรั่วไหล
แน่นอนครับ เรามักคิดว่า เพื่อนของเราคนที่พูดน้อยที่สุด คือคนที่เก็บความลับของเพื่อนได้ดีที่สุด แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่ได้คิดก็คือ เพื่อนของเราคนที่พูดน้อยที่สุด คือคนที่พร้อมรับฟังมากที่สุด ทำให้เรารู้สึกสบายใจที่ได้อยู่ใกล้ๆ และไว้ใจมากพอที่เปิดเผยความลับให้ฟัง
‘ชาร์ลี’ คือเด็กแบบนั้น เด็กที่เป็นเหมือนไม้ประดับริมกำแพง ผลิบานอย่างเงียบๆ พูดน้อยยิ่งกว่าน้อย แต่พร้อมรับฟังทุกเรื่องอย่างตั้งใจ
…..
ในตอนท้ายของเรื่อง แพทริกและแซม จบการศึกษาจากชั้นไฮสกูล และเตรียมตัวย้ายออกจากเมืองเพื่อไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย
การสูญเสียเพื่อนที่รักที่สุดอีกครั้ง ทำให้อาการป่วยของชาร์ลี กำเริบขึ้นอีกครั้ง ในช่วงเวลาสำคัญที่เขาและแซม กำลังเปิดใจให้กัน ชาร์ลีมีอาการเหมือนคนเป็นลมใกล้หมดสติจนต้องนอนพักที่ห้องของแซม เขานอนหลับไปและฝันถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในวัยเด็ก เรื่องราวที่เขาลืมไปแล้ว เรื่องราวที่อาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ชาร์ลีป่วยด้วยโรค PTSD
ในความฝัน ซึ่งก็คือความทรงจำที่ถูกกดไว้ลึกๆ ของชาร์ลี ป้าเฮเลนที่เขารักที่สุด เคยล่วงละเมิดทางเพศต่อเขา ซึ่งหลังจากที่ชาร์ลีได้รับรู้ความทรงจำที่ถูกกดไว้จนลืมเลือนไป เขาไม่คิดโทษป้าเฮเลนว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้เขากลายเป็นแบบนี้
“ถ้าฉันจะโทษป้าเฮเลน ฉันก็ต้องโทษพ่อของป้าที่ทุบตีเธอด้วย โทษเพื่อนของครอบครัวป้าที่ล่วงเกินตอนที่ป้ายังเด็กด้วย และต้องโทษใครสักคนที่เคยล่วงเกินเขาคนนั้นอีกทอดด้วย และก็ต้องโทษพระเจ้าที่ไม่ยอมหยุดเรื่องพวกนี้และเรื่องอื่นๆ ที่แย่กว่านี้”
ใช่ครับ ถ้าเราจะโทษคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุเรื่องแย่ๆ ที่เราพบเจอ เราก็คงสืบสาวราวเรื่องไม่รู้จบ ถ้าหากว่าทุกคนต่างอ้างว่า ความผิดพลาดของตัวเอง เป็นเพราะเคยถูกคนอื่นทำผิดพลาดแบบเดียวกันมาก่อน
อาจเป็นเพราะชาร์ลีจำสิ่งที่จิตแพทย์เคยเล่าให้ฟังว่า มีพี่น้องสองคนที่มีพ่อติดเหล้า คนหนึ่งเติบโตไปกลายเป็นคนขี้เหล้า โดยอ้างว่าเพราะเขาเห็นพ่อเป็นแบบนั้น เลยคุ้นชินกับเรื่องเลวร้ายแบบนั้น แต่อีกคนหนึ่งเติบโตไปเป็นคนที่ไม่ดื่มเหล้าเลย ด้วยเหตุผลว่า เพราะเขาเห็นพ่อเป็นแบบนั้น เลยตั้งใจว่าจะไม่กลายเป็นคนแบบนั้น
เราอาจจะเคยถูกคนอื่นกระทำสิ่งแย่ๆ หรือเรื่องเลวร้ายใส่ แต่เราสามารถเลือกได้ว่า จะส่งต่อความเลวร้าย ด้วยการกระทำสิ่งแย่ๆ นั้นกับคนอื่น หรือจะหยุดวงจรความเลวร้าย ด้วยการไม่กระทำสิ่งแย่ๆ แบบนั้นกับคนอื่น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ชาร์ลี เป็นเด็กที่จิตใจดี อ่อนโยน และละเอียดอ่อน เขาใส่ใจคนอื่นอยู่เสมอ แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ตอนไปปาร์ตี้ที่บ้านเพื่อน เขาจะนั่งดูทุกคนอย่างใส่ใจ ถ้าทุกคนกำลังคุยกันสนุก เขาจะเปิดแผ่นเสียงเพลงเพราะๆ เบาๆ คลอไปด้วย แต่ถ้าทุกคนเริ่มมีสีหน้าเบื่อหน่าย ชาร์ลีจะเลือกเพลงสนุกๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ร่าเริงขึ้น
หรือตอนที่แซมกับแพทริกเรียนจบ ชาร์ลีซื้อหนังสือเรื่อง On The Road, Naked Lunch, The Stranger, This Side of Paradise, Peter Pan และ Separate Peace เป็นของขวัญให้กับแพทริก และซื้อหนังสือเรื่อง To Kill a Mockingbird, The Catcher in the Rye, The Great Gatsby, Walden, Hamlet และ The Fountainhead ให้กับแซม เขาบรรจงห่อของขวัญด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่เป็นหน้าการ์ตูนสีสวย พร้อมแนบการ์ดที่มีข้อความว่า
“หนังสือเหล่านี้คือเล่มที่ฉันชอบที่สุดในโลก และฉันอยากให้แซมกับแพทริกได้มันไป เพราะพวกเขาคือคนสองคนที่ฉันชอบที่สุดในโลกใบนี้”
…..
‘ชาร์ลี’ คือเด็กแบบนั้น เด็กที่เป็นเหมือนไม้ประดับริมกำแพง เป็นคนธรรมดาที่ไม่มีอะไรพิเศษ
ในโลกที่ทุกคนล้วนต้องการเป็น Somebody ทุกคนล้วนมีความพิเศษ หรือโดดเด่นในทางใดทางหนึ่ง บางที การเป็น Nobody หรือคนธรรมดาที่อาจไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีความโดดเด่นเป็นที่สะดุดตาใครๆ แต่มีหัวใจที่อ่อนโยน ดีงาม และใส่ใจคนรอบข้าง ก็เป็นอะไรที่แสนพิเศษเช่นกัน
และนั่นคือ ความพิเศษของคนที่ไม่มีอะไรพิเศษ