- ชุดประสบการณ์ที่บุคคลคนนั้นมี มีผลต่อการสร้างพลเมืองประชาธิปไตย แต่โครงสร้างบุคลิกภาพ (Personality Character) เองก็มีผลต่อการสร้างให้พลเมืองมีคาแรกเตอร์ประชาธิปไตยเช่นกัน และสิ่งนี้สามารถเริ่มปลูกฝังได้ตั้งแต่ในเด็กเล็ก
- นักวิจัยหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า บุคลิกภาพแบบเผด็จการอาจเกิดจากการถูกเลี้ยงดูโดยใช้ความรุนแรง มีความสัมพันธ์ที่เข้มงวด และมีพฤติกรรมใช้การลงโทษกับเด็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจเด็กได้ยาวนาน โดยเฉพาะการแสดงความก้าวร้าวและการปฎิบัติตัวในสังคม
- บุคลิกภาพประชาธิปไตยจะเกิดกับเด็กที่มีสุขภาพดี ได้รับการเลี้ยงดูตามลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ ต่างจากเด็กที่มีบุคลิกภาพเผด็จการจะเกิดจากวัยเด็กที่ผ่านการเลี้ยงดูแบบรุนแรง ขัดต่อธรรมชาติมนุษย์
เด็กคนหนึ่งจะโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เขาโตมา โดยเฉพาะปัจจัยการเลี้ยงดู เป็นข้อเท็จจริงอย่างแน่นอนว่า หากเขาได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่น ตอบสนองความต้องการ ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย เด็กคนนั้นคงโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ซึ่งบาดแผลกายและจิตใจ
ในทางกลับกัน หากเขาถูกเลี้ยงดูด้วยการควบคุม บังคับ หรือใช้การลงโทษ แน่นอนว่าเด็กคนนั้นอาจโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยบาดแผล หรืออาจเป็นผู้ใหญ่ที่มีคาแรกเตอร์เผด็จการในตัว (Authoritarian character)
หนึ่งในทักษะหรือคาแรกเตอร์ที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจอยากปลูกฝังให้เด็กมี คือ ประชาธิปไตย (Democratic Character) นอกจากกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถสร้างคาแรกเตอร์ดังกล่าวได้ การเลี้ยงดูในครอบครัวก็ทำได้เฉกเช่นเดียวกัน และสิ่งนี้สามารถเริ่มปลูกฝังได้ตั้งแต่ในเด็กเล็ก
แต่นักวิชาการส่วนใหญ่มักศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยกับกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เพราะสมมติฐานที่ว่า ความสามารถในการเรียนรู้ (Cognitive capacities) เป็นพื้นฐานในการฝึกทักษะประชาธิปไตย (Democratic capacities) นั่นเลยทำให้พวกเขาส่งเสริมความรู้ประชาธิปไตยในกลุ่มนี้ เช่น ความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง เหตุผลเชิงจริยธรรมกับชีวิตการเมือง (Moral reasoning about social political life) ฝึกสนทนาในหัวข้อที่อาจสร้างความขัดแย้ง (Controversial topics) เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อรัฐบาลในการกำหนดและผ่านร่างกฎหมายต่างๆ
แน่นอนว่าชุดประสบการณ์ที่บุคคลคนนั้นมี มีผลต่อการสร้างพลเมืองประชาธิปไตย แต่ที่คนมักไม่ค่อยพูดถึงกัน คือ โครงสร้างบุคลิกภาพ (Personality Character) เองก็มีผลต่อการสร้างให้พลเมืองมีทักษะประชาธิปไตยเช่นกัน
อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow 1970) เจ้าของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Need) ในทฤษฎีของเขาระบุว่า คนที่อยู่ขั้นที่ 5 ขั้นความต้องการที่จะเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง (Self – actualizing) คนกลุ่มนี้จะมีโครงสร้างบุคลิกภาพที่เป็นประชาธิปไตย คือ พวกเขาจะไม่พยายามครอบงำคนอื่น เพราะเชื่อว่าทุกคนเท่าเทียม (Egalitarianism) โดยแสดงให้เห็นผ่านการยอมรับสิ่งที่ผู้อื่นเป็น แตกต่างจากคนที่มีบุคลิกภาพแบบเผด็จการที่มีแนวโน้มไม่ไว้ใจผู้อื่น คาดหวังความสัมพันธ์แบบลำดับชั้น (Hierarchical relations) รวมถึงมีพฤติกรรมครอบงำผู้อื่น หรือให้ความไว้วางใจกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
คนที่มีบุคลิกภาพแบบเผด็จการ จะใช้ชีวิตแบบ ‘Rubricize’ ตามนิยามของมาสโลว์ คือ พวกเขาจะปฎิบัติตามบริบทสังคมอย่างเคร่งครัด แทนที่จะรู้จักการยืดหยุ่นให้คนอื่น
มาถึงคำถามสำคัญว่า…ที่มาของบุคลิกภาพทั้ง 2 แบบเกิดจากอะไร? มีนักวิจัยหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า บุคลิกภาพแบบเผด็จการอาจเกิดจากการถูกเลี้ยงดูโดยใช้ความรุนแรง (Harsh parenting) คือ ผู้เลี้ยงดูไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก มีความสัมพันธ์ที่เข้มงวด และมีพฤติกรรมใช้การลงโทษกับเด็ก เช่น การตีก้น (Spanking) ซึ่งการกระทำลักษณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจเด็กได้ยาวนาน โดยเฉพาะการแสดงความก้าวร้าวและการปฎิบัติตัวในสังคม
แล้วบุคลิกภาพแบบประชาธิปไตยสามารถสร้างได้อย่างไร? – ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่คอยตอบสนองซึ่งกันและกันตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น (Mutually responsive parent – child relationship) ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการเข้าสังคมที่ดี โดยเฉพาะรู้จักวิธีต่อรองและตอบโต้อย่างสร้างสรรค์ รู้จักยืดหยุ่น และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการเลี้ยงดูแบบใช้ความรุนแรงกับการเลี้ยงดูแบบตอบสนอง คือ ‘ความกลัว’ การเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการดูแลที่อ่อนโยน จะช่วยพัฒนาสมองและร่างกายของเขาในทิศทางที่ดี
ส่วนการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กรู้สึกทุกข์และไม่ปลอดภัย จากงานวิจัยของ Snonkoff (2012) ระบุว่า ปัจจัยความเครียดในวัยเด็กส่งผลกระทบต่อพัฒนาการพวกเขา เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Lanius (2010) และของ Van Der Kolk (2014) ที่ระบุว่า ประสบการณ์เลวร้ายจะถูกบันทึกไว้ในเซลล์ประสาท ถูกดึงมาใช้เมื่อเจอการกระตุ้น เป็นกลไกป้องกันตัวเอง
ปม (trauma) ที่เกิดส่งผลต่อกลไกป้องกันตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด พวกเขาอาจตอบสนองด้วยการหนี (Flight) สู้ (fight) แช่แข็ง (freeze) หรือหมดสติ (faint) (อ่านบทความเพิ่มเติม ไม่หนี ไม่สู้ สมองถูกแช่แข็ง จากความเครียดท่วมท้นในสมองเด็ก) ส่วนใหญ่การตอบสนองของคนกลุ่มนี้จะเป็นแบบ freezing คือ ภาวะสมองถูกแช่งแข็ง ไม่สู้ หรือหนี ซึ่งลักษณะเช่นนี้สามารถพบได้ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตตระกูล Hominidae (หรือวงศ์ลิงใหญ่ (Great ape) หนึ่งในบรรพบุรุษของมนุษย์)
อย่างไรก็ตามในสายพันธุ์มนุษย์ พวกเรามีการพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มีความเท่าเทียม และรู้จักการดูแลตอบสนองอย่างเต็มที่ บุคลิกภาพประชาธิปไตยจะเกิดกับเด็กที่มีสุขภาพดี ได้รับการเลี้ยงดูตามลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ ต่างจากเด็กที่มีบุคลิกภาพเผด็จการจะเกิดจากวัยเด็กที่ผ่านการเลี้ยงดูแบบรุนแรง ขัดต่อธรรมชาติมนุษย์
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มนาซีเยอรมัน (The Nazi Germany) ส่งเสริมให้ปฎิบัติต่อเด็กเล็กๆ อย่างโหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อที่ให้พวกเขาโตขึ้นและรู้จักยอมจำนนต่อผู้มีอำนาจโดยอัตโนมัติ
หากเราอยากส่งเสริมให้โลกนี้เป็นสังคมประชาธิปไตย คงต้องเริ่มจากการดูแลเด็กเล็กและวัยรุ่น ปลูกฝังคาแรกเตอร์ประชาธิปไตยให้กับพวกเขา เพื่อให้แน่ใจว่าคาแรกเตอร์เช่นนี้จะอยู่คู่สายพันธุ์เราต่อไป