- ถ้าถามว่าพ่อแม่แบบไหนที่ลูกอยากได้ หนึ่งในคำตอบคงป็นพ่อแม่ที่มองเห็นและยอมรับสิ่งที่เขาเป็น หรือให้ดียิ่งกว่าคือพร้อมเป็นแรงสนับสนุนให้ลูกๆ ไปถึงเส้นชัยที่ตั้งไว้
- พิมพ์พาพ์ขอเล่าประเด็นนี้ผ่านซีรีส์ Keep Your Hands Off Eizouken! (2020) ที่เล่าเรื่องราวกลุ่มเด็กเนิร์ด 3 คนเดินตามความฝันทำอนิเมะ พร้อมๆ กับการเติบโตของความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้าง
- “เราก็คงอยากให้คนเป็นพ่อเป็นแม่มาสนับสนุนมากกว่ามองว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เอามาทำเป็นอาชีพได้ แต่การที่เค้ามีความสุขแล้วได้ค้นพบตัวตนบางอย่างก็ถือเป็นเรื่องมีค่าไม่ใช่หรอ”
Month: May 2021
- หากเด็กทุกคน คือ เมล็ดพันธุ์เมล็ดหนึ่ง เด็กที่เกิดมาพร้อมกับความพิเศษก็คงเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่อาจแตกต่างกับเมล็ดอื่นๆ แต่ก็เติบโตได้ไม่ต่างกัน อาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่สุดท้ายมันก็จะยืนหยัดเป็นต้นไม้ได้เช่นเดียวกัน
- พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกในทางลบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รู้สึกผิด โทษตัวเองที่ทำให้ลูกเกิดมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งยิ่งรู้สึกผิดมากเท่าไหร่ เรากลับยิ่งทำใจยอมรับลูกได้ยากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การหยุดโทษตัวเอง ให้อภัยตัวเองและยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น
- ความเชื่อมั่นในตัวลูกสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ลูกเราอาจจะเดินช้ากว่าปกติ พัฒนาการอาจไม่ได้เลื่อนอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นในตัวลูก พวกเขาก็สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้
เรื่องเล่าจาก “เมล็ดถั่วเขียว”
ในห้องเรียนของเด็กประถมต้นแห่งหนึ่ง คุณครูได้มอบหมายให้เด็กทุกคนปลูกต้นถั่วเขียวมาส่งจำนวน 10 ต้น
คุณครูวางถ้วยที่เต็มไปด้วยถั่วเขียวไว้หน้าห้อง จากนั้นให้เด็กๆ แต่ละคนมาเลือกเมล็ดทั้ง 10 ไปปลูกที่บ้าน
เป็นธรรมดาที่เด็กทุกคนจะควานหา และเลือกสรรเมล็ดที่ดูสมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อหวังให้มันเติบโตมามีลำต้นที่สูงกว่าใครๆ
ในตอนนั้น เด็กน้อยคนหนึ่งคน พยายามจะแย่งชิงเมล็ดพันธุ์ที่ดูอ้วนพีมาไว้ในครอบครอง แต่สุดท้ายจากทั้ง 10 เมล็ดที่ตนเองได้มา ก็มีเพียง 1 เมล็ดที่ดูไม่สมบูรณ์ บิดเบี้ยว และแห้งเหี่ยวไปจากเมล็ดอื่นๆ
ถึงกระนั้น เมื่อถึงบ้านเขาก็ได้ปลูกเมล็ดทั้งหมดลงไปในกระถาง
ผ่านไปสองวัน…
เมล็ดพันธุ์เกือบทั้งหมดมีใบเล็กๆ แตกออกมา ยกเว้นเมล็ดเพียงไม่กี่เมล็ด ที่ไม่มีแม้แต่วี่เเววของการแตกใบ คงไม่ต้องคาดเดาใดๆ ว่าหนึ่งในนั้นมีเมล็ดใดบ้าง เพราะเมล็ดที่บิดเบี้ยวก็ยังคงเป็นเมล็ดที่บิดเบี้ยว ไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม…
ณ ตอนนั้นเด็กน้อยก็ไม่ได้คาดหวังว่า เมล็ดนี้จะเติบโตเหมือนเมล็ดอื่นๆ ไม่แม้แต่จะคาดหวังว่ามันจะแตกใบออกมาเสียด้วยซ้ำ แต่ทุกๆ วันก็รดน้ำให้เจ้าเมล็ดถั่วเมล็ดนี้เฉกเช่นกับที่รดน้ำให้กับเมล็ดอื่นๆ
หนึ่งวันก่อนส่งงานให้คุณครู…
เมล็ดพันธุ์ที่บิดเบี้ยวกลับไม่ได้มีเพียงแค่ใบที่งอกออกมา แต่มันกลับมีลำต้นที่สูงเกือบเท่าต้นที่สูงที่สุดในกระถางเลย…
สิ่งที่เมล็ดถั่วเขียวแสนบิดเบี้ยวเมล็ดนั้นได้สอนเด็กน้อยก็คือ “แม้จะแตกต่าง แต่ก็เติบโตได้ไม่ต่างจากเมล็ดถั่วเขียวเมล็ดอื่นๆ อาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่เจ้าถั่วก็โตเข้าหาแสงของพระอาทิตย์อยู่เสมอ ถึงแม้เมล็ดที่บิดเบี้ยวอาจจะโตได้ช้ากว่าใครเขา ลำต้นหงิกงอไม่ยืดตรง แต่สุดท้ายมันก็ยืนหยัดเป็นต้นถั่วได้เช่นเดียวกัน”
หากเราเปรียบเทียบว่า “เด็กทุกคน คือ เมล็ดพันธุ์”
เด็กที่เกิดมาพร้อมกับความพิเศษก็คงเปรียบได้กับเมล็ดถั่วเขียวเมล็ดนั้น
เด็กที่มีความต้องการพิเศษในกลุ่มโรคต่างๆ ซึ่งทางการแพทย์ได้บัญญัติชื่อเรียกให้กับเด็กๆ เหล่านั้นในชื่อเรียกต่างๆ เหล่านี้… เช่น
เด็กในกลุ่มดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) คือ เด็กที่เป็นโรคพันธุกรรมที่เกิดจากการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมาทั้งอันหรือบางส่วน เด็กจะมีพัฒนาการล่าช้า มีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะ ได้แก่ มีดวงตาทั้ง 2 ข้างเฉียงขึ้น หัวคิ้วด้านใกล้จมูกหนาตัวขึ้น ม่านตามีจุดสีขาว สันจมูกแบน ปากเปิดออก เป็นต้น และมีข้อจำกัดในด้านการเรียนรู้
เด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง (Cerebral Palsy: CP) คือ เด็กที่เนื้อสมองได้รับความเสียหายในช่วงอายุที่สมองยังเจริญไม่เต็มที่ ส่งผลให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ การขยับแขนขา ลำตัวใบหน้า ลิ้น รวมถึงการทรงตัวที่ผิดปกติ เด็กกลุ่มนี้มักมีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลต่อการพูด การกิน และการควบคุมการหายใจ
เด็กที่มีภาวะออทิสติก (Autistic Disorder) หรือ เด็กที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านสังคม ภาษา และการสื่อสารได้ตามวัย ที่สำคัญมีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำๆ และขาดความยืดหยุ่น
เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) หรือ เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมตัวเอง ทั้งด้านร่างกายและการยับยั่งชั่งใจ เช่น หุนหันพลันแล่น อยู่ไม่นิ่ง วอกแวกง่าย ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้จดจ่อหรือทำงานได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด และจะเป็นเช่นนี้ในทุกสถานการณ์ ทั้งกับกิจกรรมที่ชอบและไม่ชอบ
เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ารอบด้าน (Global Development Delayed) หรือ เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติในวัยเดียวกันที่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้
ในทางการแพทย์ได้ระบุไว้ว่า เด็กเหล่านี้มีความแตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป และมีความบกพร่องในด้านต่างๆ เช่น ด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม การสื่อสาร และอื่นๆ ซึ่งทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมักถูกเข้าใจผิดว่า “พวกเขาอาจจะเติบโตไม่ได้”
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเด็กทุกคนมีความสามารถในการเติบโตในแบบของตัวเอง
ใน “ความบิดเบี้ยว” และ “ไม่สมบูรณ์แบบ” ของเมล็ดพันธุ์ ทำให้เรามองมันแตกต่างจากเมล็ดอื่นๆ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เมล็ดทั้งหมดก็เป็นเมล็ดถั่วเหมือนๆ กัน
ใน “ความพิเศษ” ของเด็กบางคนทำให้เรามองเห็นเขาแตกต่างจากเด็กคนอื่น เราลดความคาดหวัง และมักจะตีค่าความแตกต่างนั้นในทางที่ไม่ควรจะเป็น…
ซึ่งสิ่งที่เราควรจะทำ คือ ให้โอกาสเขาได้เติบโตในแบบที่เขาเป็น ให้เขาได้เดินไปข้างหน้าด้วยจังหวะความเร็วที่เขาเลือก…
“ไม่ต้องสูงใหญ่อย่างใครเขา ขอแค่เติบโตเป็นตัวเราก็พอ”
“ความพิเศษไม่ได้หมายความว่า เด็กคนนี้ไม่มีศักยภาพ หรือไม่สามารถเรียนรู้ได้”
Dr. Ivar Lovaas ได้กล่าวไว้ว่า “If they can’t learn the way we teach, we teach the way they learn” “ถ้าเด็กไม่สามารถเรียนตามแนวทางที่เราสอนได้ เราก็สอนตามแนวทางที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้”
ถึงแม้จะ “บิดเบี้ยว” และ “แตกต่าง” แต่เมื่อมองอีกมุมเราจะพบกับแง่งามในความไม่สมบูรณ์แบบของเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้เสมอ
“ความบิดเบี้ยว” สอนให้เรารู้จักการรอคอย และอดทน
“ความแตกต่าง” สอนให้เรายอมรับในสิ่งที่เขาเป็นอย่างไม่มีเงื่อนไข
“ความพิเศษ” สอนให้เรารู้ว่า เราต้องมองออกไปข้างนอกกรอบ และค้นหาวิธีใหม่ๆ ที่จะสอนเขาอยู่เสมอ
และ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” สอนให้เรารู้ว่า มันไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป เพื่อที่จะอยู่รวมกันอย่างเติมเต็ม…
ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดถั่วเมล็ดไหน ต่างก็ต้องการน้ำ และแสงเพื่อที่จะเติบโตทั้งนั้น
เช่นเดียวกัน…ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติ หรือ เด็กพิเศษพวกเขาล้วนต้องการ “ความรัก ความเอาใจใส่ และโอกาส” เพื่อที่จะเรียนรู้ และเติบโต
ที่สำคัญเหนือไปกว่าสิ่งอื่นใด คือ การสนับสนุนและการยอมรับจากบุคคลที่ใกล้ชิดเขามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ
เพราะถ้าหากปราศจากกระถาง และดินแล้ว รากของเมล็ดพันธุ์ย่อมไม่มีวันแข็งแรง…
เด็กที่ขาดรากฐานที่แข็งแรงจากครอบครัวย่อมไม่มีวันยืนหยัดได้อย่างมั่นคง และสง่างาม…
“พ่อแม่” คนพิเศษของ “เด็กพิเศษ”
ไม่ใช่แค่เพียง ลูกๆ ที่เปรียบเสมือนของขวัญของพ่อแม่
สำหรับลูกๆ แล้ว พ่อแม่ก็เปรียบเสมือนของขวัญสำหรับพวกเขาเช่นกัน
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกคนพิเศษ ในตอนแรกที่เราได้รับรู้ว่า ลูกของเราเป็นคนพิเศษ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกในทางลบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรู้สึกตกใจ สับสน กลัว ผิดหวัง เสียใจ และความรู้สึกแย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเรา คือ ความรู้สึกผิด
ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น มักจะเกิดจากการที่พ่อแม่โทษตัวเองที่ทำให้ลูกเกิดมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งยิ่งรู้สึกผิดมากเท่าไหร่ เรากลับยิ่งทำใจยอมรับลูกได้ยากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การหยุดโทษตัวเอง ให้อภัยตัวเองและยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น
ไม่ว่าลูกจะเป็นเช่นไร เขาเกิดมาเพื่อเป็นตัวเองที่ดีที่สุด พ่อแม่เองก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับลูก ขอแค่เราเป็นพ่อแม่ธรรมดาที่มีอยู่จริงตรงนี้สำหรับลูกก็พอแล้ว
ความเชื่อมั่นในตัวลูกสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
(1) “ล่าช้า” ไม่ได้แปลว่า “ล่าถอย” บางทีเขาอาจจะแค่ช้ากว่าค่าเฉลี่ย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาไม่เรียนรู้ หรือ พัฒนาไม่ได้ อย่าหมดหวังในตัวเขา สอนต่อไป ทำต่อไป ทำไม่ได้ ทำใหม่ สอนใหม่ ย้ำๆ ซ้ำๆ สม่ำเสมอ เพราะถ้าเราหยุดสอน หมดหวัง จากแค่ “ล่าช้า” อาจจะกลายเป็น “ล่าถอย” ถดถอยจากเดิมได้
(2) “ลำดับขั้นพัฒนาการ” มาจากค่าเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ เพื่อให้เราทราบว่า ลูกของเราอยู่ในเกณฑ์ปกติไหม ดังนั้นการที่ลูกไม่ตรงตามเกณฑ์ ไม่ได้หมายความว่า “ลูกไม่สามารถพัฒนาได้” หรือ ไม่ได้เป็นตัววัดว่า “เขาจะไม่มีความสุขในชีวิต” อย่าให้ตัวเลขเป็นตัววัดคุณค่าในตัวลูก และค่าความสุขของเรากับลูก
เมื่อทราบว่าลูกเราอยู่ตรงไหนของพัฒนาการ ขอแค่มองว่า ลูกเราอยู่ตรงขั้นบันไดที่เท่าไหร่ แล้วดูว่าการที่ก้าวขึ้นไปที่ขั้นต่อไปต้องทำอะไรบ้าง จากนั้นนำมาสอนเขา พัฒนาเขาไปด้วยกัน อย่านำขั้นบันไดนั้นมาบั่นทอนกำลังใจเรากับลูก
นอกจากนี้ความสุขของเด็กทุกคน (ไม่ว่าจะพัฒนาการช้าหรือเร็ว) คือ การที่พ่อแม่รักเขา มีเวลา และปล่อยให้เขาได้เป็นเด็ก อย่าบังคับเขาให้เรียนทุกอย่าง เพื่อให้เขาตรงตามวัย พัฒนาเขาตามสมควร สอนวินัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น(มาก) และให้เขาเล่นอย่างเต็มที่ นั่นคือสิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับ
(3) ในวันที่ลูกได้รับคำวินิจฉัย อย่าหมดหวังในตัวเขา ความเชื่อในตัวลูกของพ่อแม่มีผลต่อลูกมากกว่าคำวินิจฉัยมากนัก
เด็กคนหนึ่งถูกวินิจฉัยว่า มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู็ (Learning Disorder: LD) แต่แม่ของเด็กคนนี้เชื่อว่า ลูกของเธอเรียนรู้ได้ เธอสอนลูกด้วยวิธีที่ลูกสามารถเข้าใจได้ ทุกวันนี้ลูกของเธอกำลังจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในด้านที่เขาชอบ ดังนั้น พ่อแม่อย่าหมดหวังในตัวลูก
(4) บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ เรื่องบางเรื่อง ไม่ได้แปลว่า ชีวิตเขาบกพร่อง พัฒนาในส่วนที่เขามี พัฒนาให้สุด ส่วนที่บกพร่องก็เช่นกัน พัฒนาต่อไป เพราะเด็กบางคนไม่ได้เก่งวิชาการ แต่เขาอาจจะเก่งบางเรื่องมากกว่าเด็กคนอื่นเสียอีก อย่าลดคุณค่าในตัวเขาด้วยการเปรียบเทียบเขาจากเรื่องๆ เดียว
ปลาบางตัวว่ายน้ำในบ่อบางบ่อไม่ได้ดี แต่น้ำบ่ออื่นอาจจะเหมาะกับปลาตัวนั้น สิ่งสำคัญ อย่าทำลายความมั่นใจในตัวเขา เพราะ ถ้าหากทำลายสิ่งนี้ไปแล้ว ต่อให้เปลี่ยนบ่อ ก็อาจจะไม่ยอมว่ายอีกเลย
(5) พ่อแม่ คือ รากฐานทางใจของเด็กทุกคน ให้ความรัก ให้เวลา ให้การสอนสั่ง ให้ความเชื่อมั่น คือ สิ่งที่ทำให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีพัฒนาการช้าหรือเร็ว เติบโตได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อลูกวางใจในตัวพ่อแม่ และรู้ว่าพ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเขา เขาจะวางใจต่อสภาพแวดล้อม และกล้าออกไปเรียนรู้ด้วยจังหวะชีวิตของตัวเอง วันใดที่เขาล้ม เขาจะหันกลับมามองเรา เพื่อลุกขึ้นยืน และก้าวต่อไป
สุดท้าย เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ใช่ว่าคนที่เดินเร็วกว่า จะมีความสุขและประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะตัวชี้วัดที่แท้จริง ไม่ได้มากจากค่าเฉลี่ยอีกต่อไป
“ตัวเราเอง” ต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดความสุข และความสำเร็จของตัวเราเอง ดังนั้น อย่าเปรียบเทียบตัวเราหรือลูกกับใคร
เด็กทุกคนมีจังหวะในการก้าวเดินของตัวเอง ถึงจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่ผู้ใหญ่มีหน้าที่เชื่อมั่นใจตัวเขาต่อไป ได้โปรดอย่าหมดหวังในตัวเขา
เด็กที่มีความต้องการพิเศษหนึ่งคน อาจจะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญมากกว่าหน่ึงคน
ซึ่งสหวิชาชีพที่มักทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่
- จิตแพทย์เด็ก ให้การดูแลรักษาและวินิจฉัยเด็กที่มีอาการผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือทางจิตใจ ความผิดปกติทางจิตเวชในเด็ก มีสาเหตุจากปัจจัย 2 ประการ คือ พันธุกรรม และสภาพแวดล้อม
- นักจิตวิทยาคลินิก ใช้มาตรวัดเพื่อคัดกรองอาการต่างๆ เพื่อให้จิตแพทย์วินิจฉัยและแนะนำแนวทางการรักษาได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
- นักจิตวิทยาเด็ก ให้การกระตุ้นพัฒนาการที่ล่าช้า หรือปรับพฤติกรรมต่างๆ
- นักกิจกรรมบำบัด ช่วยออกแบบกิจกรรมที่สามารถช่วยบำบัดให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้
- นักกายภาพบำบัด ช่วยฟื้นฟูหรือพัฒนาให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- นักอรรถบำบัด หรือ นักแก้ไขการพูด ช่วยแก้ไขความบกพร่องกับกระบวนการพูด ระบบภาษา การทำงานของอวัยวะในช่องปาก คอ หลอดอาหารช่วงต้น
- นักศิลปะบำบัด ช่วยเปิดโอกาสและให้อิสระกับผู้รับการบำบัดได้สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งมุ่งเน้นการทำความเข้าใจภายในตนเองมากกว่าผลงานที่สวยงาม
- นักเล่นบำบัด ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงออกผ่านการเล่นและของเล่นต่างๆ ในห้องเล่นบำบัด และสังเกตความรู้สึก ตามอารมณ์ และสะท้อนกลับสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เด็กมองเห็นและเข้าใจตัวเองได้ชัดเจนขึ้น
- นักดนตรีบำบัด ใช้กิจกรรมทางดนตรีเช่น การเล่นดนตรี การร้องเพลง การฟังเพลง หรือ การแต่งเพลง เป็นมาช่วยในการบำบัด เพื่อช่วยเยียวยาและพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ
- ครูการศึกษาพิเศษ ช่วยจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจจะไม่สามารถทำความเข้าใจหรือไม่สามารถเรียนรู้ในการเรียนการสอนรูปแบบทั่วไปได้ ทำให้ครูการศึกษาพิเศษจำเป็นต้องจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่เด็กคนดังกล่าวสามารถเรียนรู้ได้
แนวทางการบำบัดและช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
Early Intervention คือ การให้การป้องกันแทรกแซงตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่เด็กจะเกิดโรคหรือมีแนวโน้มของอาการที่แย่ลง ซึ่ง Early Intervention ถือเป็นร่มใหญ่ของการบำบัดต่างๆ ดังนี้
(1) การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied Behaviour Analysis: ABA) คือ การวิเคราะห์หาสาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และพฤติกรรมที่ขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การทำร้ายร่างกายตนเอง การทำร้ายผู้อื่น และการทำลายข้าวของ เป็นต้น ซึ่งเมื่อทราบถึงสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ นักบำบัดจะออกแบบวิธีการจัดการกับพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์มีความเชื่อว่า ถ้าหากต้องการให้เด็กทำพฤติกรรมใด เราควรตอบสนองหรือให้การส่งเสริมพฤติกรรมนั้น ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement)” เช่น เมื่อเด็กสามารถเก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จด้วยตนเอง เราสามารถให้การชื่นชมกับพฤติกรรมการเก็บของของเขาได้ทันที ซึ่งการตอบสนองด้วยการชื่นชม สำหรับเด็กท่ีมีความต้องการพิเศษบางกลุ่ม เราอาจจะต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่า เรากำลังชื่นชมเขา เพราะเด็กอาจจะไม่เข้าใจว่า เรากำลังชื่นชมสิ่งที่เขาทำอยู่
ข้อสำคัญของการบำบัดแบบนี้ คือ การสอนทักษะใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กนำทักษะดังกล่าวไปใช้กับบุคคลที่หลากหลาย และในทุกๆ สถานการณการณ์จริง
(2) การสอนด้วยวิธีการปรับพฤติกรรมทางวาจา หรือ Verbal Behavior Approach (VB) เป็นวิธีการสอนการสื่อสารที่ยึดแนวคิดของการปรับพฤติกรรมของ สกินเนอร์ (B.F. Skinner) ร่วมกับ หลักการของการวิเคราะห์พฤติกรรมแบบ ประยุกต์ (ABA) โดยเน้นการสื่อสารด้วยวาจา (Verbal) หรือการสื่อสารทางเลือก เช่น การแลกเปลี่ยนภาพเพื่อสื่อสาร (Picture Exchange for Communications: PECS) การใช้ท่าทางเพื่อการสื่อสาร (Sign language) ไปพร้อมๆ กับส่งเสริมทักษะอื่นๆ
สิ่งสำคัญของการบำบัดแบบนี้ คือ สอนการสื่อสารด้วยคำพูดหรือการสื่อสารทางเลือก เพื่อให้เด็กสามารถบอกความต้องการของตนเองได้ เมื่อเด็กเรียนรู้ว่า “การสื่อสาร” นั้นทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ เขาจะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลง
(3) Floortime หรือที่เรียกว่า Developmental Individual – Difference Relationship – based (DIR) Approach (DIR Floortime) เป็นการบำบัดที่ใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละคนผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กสนใจ ได้แก่ การเล่นหรือกิจกรรมที่เด็กชอบ โดยนักบำบัดต้องสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับเด็กก่อน จากนั้นระหว่างการบำบัดจะค่อยๆ แทรกการสอนหรือการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมให้กับเด็ก ทั้งนี้เด็กยังคงเป็นผู้นำกิจกรรมในชั่วโมงบำบัด ส่วนนักบำบัดเป็นผู้ตาม
สิ่งสำคัญของการบำบัดแบบนี้ คือ Floortime จะเน้นการส่งเสริมพัฒนาการจากพื้นฐานไปสู่เรื่องที่ซับซ้อนหรือยากขึ้น และเน้นกระบวนการระหว่างการบำบัดมากกว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง Floortime จะมุ่งเอาความต้องการของตัวเด็กเป็นตัวขับเคลื่อนการบำบัด การบำบัดจึงเป็นไปแบบไม่เร่งรีบ และเด็กเป็นผู้กำหนดจังหวะการก้าวเดิน
คำถาม “การบำบัดใดดีที่สุด?”
คำตอบ “คงไม่มีการบำบัดใดที่ดีที่สุด จะมีก็เพียงแต่การบำบัดที่เหมาะสมกับตัวเด็กและครอบครัวที่สุด
ดังนั้นการเลือกแนวทางการบำบัดให้เราดูบริบทของครอบครัว ความต้องการของเด็ก และลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขและช่วยเหลือเป็นหลัก”
สุดท้าย โลกใบนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ
ในคนปกติ ร่างกายครบ 32 บางคนก็รู้สึกขาดตลอดเวลา เพราะสิ่งที่ขาดอาจจะไม่ใช่สติปัญญา หรือ ร่างกาย แต่เป็นที่ความคิดของเขาเอง
ดังนั้นในเด็กที่มีความต้องการพิเศษ พวกเขาอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่พวกเขาสามารถเติมเต็มความรักให้กับครอบครัวของเขา และเติมเต็มโลกใบนี้ได้ในแบบที่พวกเขาเป็นได้
“ขอแค่พ่อแม่ต้องไม่หมดหวังในตัวเขา และสังคมเปิดโอกาสให้เขาได้เติบโต”
- การค้นหา ‘เด็กอัจฉริยะ’ อาจทำให้เราพลาดที่จะเจอเด็กเก่งระดับเดียวกัน หากบังเอิญเด็กกลุ่มหลังทำคะแนนแบบทดสอบได้น้อย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม และยังไปทำให้เด็กที่ไม่ผ่านแบบทดสอบโดนประทับ “ตราบาป” ว่าไม่ใช่เด็กอัจฉริยะทั้งที่อาจไม่จริง
- สิ่งที่ผู้ปกครองอาจเป็นห่วงคือ เด็กพวกนี้ควรจะข้ามชั้นเรียนจากมัธยมไปมหาวิทยาลัยตามความสามารถที่แท้จริงของพวกเขาหรือเปล่า? และพวกเขาจะสามารถปรับตัวและปรับใจให้เข้ากับสังคมของเด็กที่โตกว่าได้ดีแค่ไหน? จะกลายเป็นเด็กฉลาดที่มีปัญหาการเข้าสังคมหรือไม่?
- การเปิดโอกาสให้เด็กเก่งเหล่านั้นเรียนเร็วกว่าคนอายุเท่ากันเป็นตัวเลือกที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยประหยัดเงินที่ต้องใช้ได้อีกมาก และอันที่จริงแล้วพวกเขาอาจไม่ต้องคอร์สพิเศษใดๆ นอกจากคอร์สที่เหมาะสมกับระดับสติปัญญาของเขา (ที่ไปเกินกว่าอายุหรือเด็กรุ่นเดียวกันไปมาก) แค่นั้น
ปกติแล้วถ้าพ่อแม่มีลูกที่มีสติปัญญาระดับเฉลี่ยหรือสูงกว่าเฉลี่ย ก็คงน่าจะดีใจหรือพอใจนะครับ อย่างน้อยก็ดีกว่าการมีลูกที่สติปัญญาต่ำกว่าเฉลี่ย แต่กระนั้นก็มีหลายๆ คนที่อยากมีลูกฉลาดมากๆ ระดับอัจฉริยะ แต่คนที่มีลูกเป็นอัจฉริยะจริงๆ อาจไม่ได้มีความสุขมากนักก็ได้นะครับ
ค.ศ. 1968 โจเซฟ เบตส์ (Joseph Bates) ที่จะกลายมาเป็นอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์คนหนึ่งอายุได้ 12 ปีในตอนนั้น ถ้าอยู่ในประเทศไทย เบตส์คงเรียนระดับประถมปลายหรือมัธยมต้นอยู่ แต่เขาล้ำหน้าเพื่อนในชั้นมากจนทำให้รู้สึกว่าบทเรียนในห้องเรียนเข้าขั้นน่าเบื่อสุดๆ ทีเดียว
พ่อแม่ของเบตส์เลยส่งลูกไปเรียนเพิ่มเติมวิชาที่เขาชอบคือ วิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความปราดเปรื่องของเขาก็ล้ำหน้านักศึกษามหาวิทยาลัยในชั้นไปไกลแล้ว ก็เลยแก้เบื่อด้วยการแบ่งเวลาไปสอนการเขียนโค้ดภาษาฟอร์แทรน ที่เป็นภาษายอดนิยมในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ให้กับบรรดานักศึกษาบัณฑิตศึกษา
แต่อย่างน้อยการไปเรียนคอมพิวเตอร์ก็ยังมีข้อดีคือ เพราะอาจารย์ที่สอนวิชานั้นแนะนำให้เขารู้จักกับศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จูเลียน สแตนลีย์ (Julian Stanley) ซึ่งจะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจต่อมาอีกยาวนาน ในตอนนั้นสแตนลีย์กำลังเริ่มศึกษาเกี่ยวกับ ‘จิตมิติ’ (psychometrics) เพื่อตรวจวัดดูว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยส่งผลกับสติปัญญา
สแตนลีย์เห็นว่าเบตส์น่าจะเป็นตัวอย่างการศึกษาที่ดี จึงให้เบตส์ช่วยทำแบบทดสอบหลายแบบ รวมทั้งแบบทดสอบแบบใหม่ที่เขาคิดขึ้นเอง (เรื่องแบบทดสอบนี้จะกล่าวถึงอีกครั้งในภายหลัง) ซึ่งเขาก็ทำได้ดีมากจนผ่านเกณฑ์เข้าเรียนที่จอห์น ฮอปกินส์ได้สบายๆ สแตนลีย์เลยไปหว่านล้อมให้คณบดีรับเบตส์เข้าเรียนในระดับปริญญาตรี
สแตนลีย์ใช้เบตส์เป็นตัวทดสอบและจัดทำแบบทดสอบเรียกย่อว่า SMPY (Study of Mathematically Precocious Youth) ซึ่งต่อมารู้จักกันในวงกว้างและมีการนำไปใช้ทดสอบหาเด็กอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์อย่างกว้างขวาง
ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ มีการใช้แบบทดสอบ SMPY กับพวกเด็กๆ อย่างต่อเนื่องมากถึง 5,000 คนในช่วงเวลา 45 ปี และมีการติดตามว่าผลการทดสอบมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในอาชีพการงานและชีวิตของเด็กพวกนี้แค่ไหน
สิ่งที่พบก็คือเด็กอัจฉริยะกลุ่มนี้จำนวนมากเลยที่ประสบความสำเร็จในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น แม้ว่าจะไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกคนก็ตาม
มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับแบบทดสอบนี้มากถึงกว่า 400 ชิ้นและหนังสืออีกหลายเล่ม และที่สำคัญคือเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้ในการมองหาและนำเด็กๆ เหล่านี้มาเพิ่มศักยภาพในกลุ่มสาขาสะเต็ม (STEM) ที่กำลังฮิตกันอยู่ในเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งเน้นการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
สแตนลีย์ไม่เพียงแต่สนใจกลุ่มเด็กอัจฉริยะ แต่ยังสนใจกว้างออกไปยังเด็กเก่งทั่วๆ ไป และหวังว่าจะมีวิธีที่หล่อเลี้ยงหรือส่งเสริมสติปัญญาของพวกเขาให้งอกงามเต็มศักยภาพ ด้วยเชื่อว่าคนเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ ระยะแรกเขาจึงรับนักศึกษาที่อยู่กลุ่ม 1% แรกของคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมโครงการ
ความยาวนานของโครงการทำให้พบว่า มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งในโครงการที่กลายเป็นคนสำคัญระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น เทอร์เรนซ์ เต๋า และ เลนนาร์ด งอ ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ชั้นนำที่คุณอาจไม่เคยรู้จัก แต่อีกสามคนนี้คุณน่าจะต้องรู้จัก และต้องเคยได้ยินผลงานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขามาแล้วไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ นั่นก็คือ นักดนตรีสาว สเตฟานี เกอร์มาน็อตตา หรือ “เลดี้กาก้า” อีกคนคือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ค และสุดท้าย เซอร์เกย์ บริน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล
ผลการวิจัยว่าชี้ คนเหล่านี้เป็นอัจฉริยะที่ “เก่งมาแต่เกิด” ขัดแย้งกับความเชื่อทางวิชาการที่ปักหลักลงฐานกันมาช้านานว่า ความเชี่ยวชาญและความเก่งกาจมาจากการฝึกฝนมากกว่า
แม้แบบทดสอบพวกนี้ (นอกจาก SMPY ยังมีอีกหลายแบบ) จะช่วยให้เราค้นพบ “เด็กอัจฉริยะ” และนำมาส่งเสริมได้ในหลายกรณี แต่ก็มีข้อเสียคือ อาจทำให้พลาดที่จะเจอเด็กเก่งระดับเดียวกัน หากบังเอิญเด็กกลุ่มหลังทำคะแนนแบบทดสอบเหล่านั้นได้น้อย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม และยังไปทำให้เด็กที่ไม่ผ่านแบบทดสอบโดนประทับ “ตราบาป” ว่าไม่ใช่เด็กอัจฉริยะเอาง่ายๆ ทั้งๆ ที่อาจจะไม่จริง
อันที่จริงเคยมีกรณีทีว่ามานี้คือ แบบทดสอบความเป็นอัจฉริยะที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ของเลวิส เทอร์แมน (Lewis Terman) ที่เริ่มใช้วัดไอคิวใน ค.ศ. 1921 และพยายามเปรียบเทียบกับความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่กลับล้มเหลว มีเด็กน้อยมากที่ได้คะแนนดีมากๆ และประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน คนที่แบบทดสอบคิดว่าได้คะแนนต่ำไปคือ 129 (เทียบกับคนทั่วไปที่ได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 100) กลับได้รางวัลโนเบลก็มี ได้แก่กรณีของวิลเลียม ช็อกลีย์ (William Shockley) ที่ได้รางวัลโนเบลจากการร่วมคิดค้นทรานซิสเตอร์ อีกคนก็คือ หลุยส์ อัลวาเรซ ที่ได้รางวัลโนเบลฟิสิกส์เช่นกัน
ความล้มเหลวของเทอร์แมนนี่เองที่ทำให้สแตนลีย์คิดสร้างแบบทดสอบใหม่ชื่อ SAT (Scholastic Aptitude Test) ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นแบบทดสอบมาตรฐานชนิดหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดให้นักศึกษาต้องทำเพื่อทดสอบความรู้เป็นเบื้องต้น
สแตนลีย์ประเดิมใช้ข้อสอบ SAT กับเบตส์นี่เอง
ในช่วงเดือนมีนาคม 1972 สแตนลีย์ให้เด็กเก่งอายุ 12-14 ปีรวม 450 คนทำแบบทดสอบ SAT ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้แบบทดสอบมาตรฐานสำหรับค้นหาเด็กเก่งในสถาบันการศึกษา แต่ SAT ในสมัยนั้นยังไม่รวมแบบทดสอบด้านภาษาและอื่นๆ อย่างที่มีในปัจจุบันนะครับ
การทดสอบครั้งนั้นทำให้รู้ว่า มีวัยรุ่นกลุ่มนี้จำนวนมากที่แก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ไม่เคยพบมาก่อนในการเรียนได้ นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้จำนวนมากยังทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำทำได้เสียอีก
ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ความสามารถของกลุ่มเด็กอัจฉริยะที่เหนือกว่าเด็กทั่วไปมากเป็นพิเศษคือ การจินตนาการรูปทรงเรขาคณิตในหัวที่เรียกว่า spatial ability หลายคนคงพอนึกออก คำถามจำพวกรูปทรงแบบนี้ มีกริดสีดำหรือสีขาวตรงตำแหน่งจำเพาะ หากหมุนไปทางขวามือหรือซ้ายมือ 90 องศา หรือพลิกกลับตรงกันข้าม จะมองเห็นเหมือนในรูปใดในตัวเลือก กริดจะเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ตรงไหน…อะไรทำนองนั้น
ผลการติดตามข้อมูลกลุ่มอัจฉริยะเป็นระยะๆ ตอนอายุ 18, 23, 33 และ 48 ปี ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 2013 ยืนยันว่า คะแนน SAT และการทดสอบ spatial ability มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำนวนสิทธิบัตรและผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ของกลุ่มอัจฉริยะกลุ่มนี้อย่างเห็นได้ชัด คือ ยิ่งตอนทำแบบทดสอบได้คะแนนสูง ก็ยิ่งทำสิทธิบัตรและเปเปอร์ได้มากในภายหลัง!
แต่สิ่งที่ผู้ปกครองอาจจะอยากรู้ที่สุดก็คือ เด็กพวกนี้ควรจะข้ามชั้นเรียนจากมัธยมไปมหาวิทยาลัยตามความสามารถที่แท้จริงของพวกเขาหรือเปล่า? และพวกเขาจะสามารถปรับตัวและปรับใจให้เข้ากับสังคมของเด็กที่โตกว่าได้ดีแค่ไหน?
จะกลายเป็นเด็กฉลาดที่มีปัญหาการเข้าสังคมหรือไม่?
ผลการวิจัยระบุว่า พวกที่เรียนเร็วข้ามชั้นมีถึง 60% ที่ไปไกลถึงระดับปริญญาเอกหรือคิดค้นจนจดสิทธิบัตรได้ และมีจำนวนมากเป็นเท่าตัวของเด็กเก่งทั่วไปที่ได้เข้าเรียนจนได้ปริญญาเอกในสาขาจำพวกสะเต็ม
ส่วนความเป็นห่วงของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ว่า เด็กเก่งจัดพวกนี้จะปรับตัวทางสังคมได้ไม่ดีกลับไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะเด็กอัจฉริยะพวกนี้ส่วนใหญ่ปรับตัวทางอารมณ์และสังคมให้เข้ากับกลุ่มคนที่อายุมากกว่าได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น การเปิดโอกาสให้พวกเขาเรียนเร็วกว่าคนอายุเท่ากันจึงเป็นตัวเลือกที่ดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยประหยัดเงินที่ต้องใช้ได้อีกมาก และอันที่จริงแล้วพวกเขาอาจไม่ต้องคอร์สพิเศษใดๆ นอกจากคอร์สที่เหมาะสมกับระดับสติปัญญาของเขา (ที่ไปเกินกว่าอายุหรือเด็กรุ่นเดียวกันไปมาก) แค่นั้น
ข้อสังเกตสุดท้ายสำหรับพ่อแม่ที่เชื่อว่าลูกเก่ง แต่กลับทำคะแนนในแบบทดสอบต่างๆ ได้ไม่ดีนัก เรื่องนี้ไม่ได้น่าเป็นห่วงแม้แต่น้อย เพราะในขณะที่คะแนนสูงมากๆ อาจชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จอย่างมากในอนาคต แต่คะแนนน้อยๆ กลับไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับความสำเร็จ (หรือความสุข) ในอนาคตเลยแม้แต่น้อย
แม้พรสวรรค์ตั้งแต่เกิดอาจมีความสำคัญสำหรับบางคน แต่เรื่องของการฝึกฝนทักษะอย่างสม่ำเสมอไม่หยุดหย่อน และการกรอบความคิดหรือ mindset ที่ดี เป็นแบบล้มแล้วลุกได้ เติบโตได้ตลอดเวลาต่างหาก ที่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวในอนาคตของคนส่วนใหญ่
- การคิดเชิงออกแบบ (Designing Thinking) ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความต้องการของตัวเอง เข้าใจตัวเอง และสามารถตอบคำถามได้ว่า “อยากเติบโตขึ้นไปทำอะไรในอนาคต” ซึ่งเป็นโมเดลที่ไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่ถูกนำไปใช้และได้รับการพิสูจน์แล้วจากคณะศึกษาศาสตร์ และจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
- วิชาการออกแบบชีวิตของตัวเอง มี 5 ขั้นตอน เริ่มจาก ความสนใจ อยากรู้อยากเห็น (Curiosity), การลองทำ…ไม่ต้องกลัวพลาด (Try stuff), การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (Reframing), การรับรู้ว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ (Know it’s a process) และการขอความช่วยเหลือ (Ask for Help)
- นักออกแบบและนักคิดมืออาชีพต่างผ่านประสบการณ์เรียนรู้ว่า ความคิดที่ดีที่สุดเกิดขึ้นบนพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่คิดได้อย่างอิสระ โดยไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้”
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” หลายคนคงเคยได้ยินคำถามนี้ หรืออาจเคยเป็นทั้งผู้ถูกถามและตั้งคำถาม
หากผู้ใหญ่ถามคำถามนี้กับเด็ก สิ่งที่ถามเป็นได้ทั้งคำถามที่สร้างพลัง ถ้าไม่เผลอพูดอะไรปิดกั้นจินตนาการ ขณะเดียวกันก็เป็นคำถามดับฝันได้ทันที หากเด็กได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า “เพ้อเจ้อแล้ว เป็นไปไม่ได้หรอก!”
Designing Thinking – การคิดเชิงออกแบบ เป็นแนวทางที่คลอดมาจากห้องเรียนโปรแกรมการออกแบบ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยอาจารย์นักออกแบบสองคนที่เติบโตและผ่านการทำงานในซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) มาก่อน ซิลิคอน วัลเลย์ คือแหล่งบุกเบิกเทคโนโลยี เป็นที่ตั้งของบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก (Facebook) กูเกิ้ล (Google) เทสลา (Tesla) หรือเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)
การทำงานของนักออกแบบต้องใช้จินตนาการสูงมาก เพื่อระเบิดความคิดสร้างสรรค์ภายในออกมารังสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ดีกว่าที่มีอยู่ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของพวกเขา คือ การทำอะไรสักอย่างขึ้นมา เพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องดี หากเราสามารถคิดอย่างนักออกแบบ แล้วนำวิธีคิดของพวกเขามาสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตัวเอง
Designing Your Life – วิชาการออกแบบชีวิตของตัวเอง
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักนักออกแบบ ผู้คิดค้นโมเดลนี้กันก่อน บิล เบอร์เน็ตต์ (Bill Burnett) เป็นผู้อำนวยการบริหารโปรแกรมการออกแบบสแตนฟอร์ด ศาสตราจารย์พิเศษด้านวิศวกรรมเครื่องกล ผู้ดูแลหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านการออกแบบ ทั้งสาขาวิศกรรมเครื่องกลและสาขาศิลปะ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เบอร์เน็ตต์ถือสิทธิบัตรด้านกลไกและการออกแบบจำนวนมาก ส่วนหนึ่งในนั้น คือ รางวัลการออกแบบแอปเปิล พาวเวอร์บุ๊ก (Apple PowerBook) หรือโน๊ตบุ๊กของแอปเปิล และของเล่นตัวละครสตาร์วอร์ (Star Wars) รุ่นดั้งเดิม
ส่วน เดฟ อีแวนส์ (Dave Evans) เป็นอาจารย์โปรแกรมออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเป็นผู้ออกแบบแอปเปิลเมาส์ (Apple Mouse) ตัวแรกให้กับบริษัทแอปเปิล ทั้งคู่ได้ร่วมออกแบบห้องเรียน โดยใช้ชื่อแสนเรียบง่ายว่า “Designing Your Life” – วิชาการออกแบบชีวิตของคุณเอง ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของ “Life Design Lab” โปรแกรมการออกแบบ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทั้งเบอร์เน็ตต์และอีแวนส์ ทำงานร่วมกันมาราว 15 ปี ห้องเรียนของพวกเขาเป็นวิชาเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะผู้เรียนจากแทบทุกสาขาต่างประสบปัญหาเดียวกัน คือ รู้สึกไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำและชีวิตที่เป็นอยู่ หลายคนยังเรียนไม่จบก็ตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า จบออกไปแล้วจะทำอะไรดี?
“การคิดเชิงออกแบบ” (Designing Thinking) ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความต้องการของตัวเอง เข้าใจตัวเอง และสามารถตอบคำถามได้ว่า “อยากเติบโตขึ้นไปทำอะไรในอนาคต” ซึ่งเป็นโมเดลที่ไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่ถูกนำไปใช้และได้รับการพิสูจน์แล้วจากคณะศึกษาศาสตร์ และจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ออกแบบชีวิตได้ใน 5 ขั้นตอน
“ไม่ใช่ทุกที่สามารถออกแบบไอโฟนรุ่นใหม่ได้ แต่ทุกคนสามารถคิดอย่างนักออกแบบได้”
การออกแบบชีวิตที่ต้องการ คงไม่ง่ายขนาดแค่ฉีกซองแล้วเติมน้ำร้อน แต่คงไม่ใช่เรื่องยากหากอยากลองดูสักตั้ง ถ้าทำไม่ได้ชีวิตก็แค่อยู่ที่เดิม ถึงยังไงประสบการณ์จากการได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายและดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย
การคิดเชิงออกแบบ (Designing Thinking) เป็นการคิดอย่างมีลำดับขั้นตอน เริ่มจาก ความสนใจ อยากรู้อยากเห็น (Curiosity), การลองทำ…ไม่ต้องกลัวพลาด (Try stuff), การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (Reframing), การรับรู้ว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ (Know it’s a process) และการขอความช่วยเหลือ (Ask for Help)
ขั้นตอนที่ 1 ความสนใจ อยากรู้อยากเห็น (Curiosity)
Designing Thinking ให้เราคิดหาสิ่งที่เราสนใจ อยากทำ หรือต้องการจะเป็น อย่างน้อย 3 อย่าง ศัตรูของความอยากรู้อยากเห็น/ ความสงสัยใคร่รู้ คือ ‘การตัดสิน’ บางครั้งเกิดขึ้นจากตัวเอง และหลายครั้งส่งตรงมาจากผู้อื่น
“อย่าทำเลยดูไม่เข้าท่า”
“ไม่เอาดีกว่า…ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้”
เราต้องขจัดความคิดทำนองนี้ออกไป
นักออกแบบและนักคิดมืออาชีพต่างผ่านประสบการณ์เรียนรู้ว่า ความคิดที่ดีที่สุดเกิดขึ้นบนพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่คิดได้อย่างอิสระ โดยไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้”
ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วความคิดแปลกใหม่ที่ดูหลุดโลกนั้น อาจไม่ได้เป็นความคิดที่ถูกเลือก แต่กระบวนการคิดที่ติดกับดักอยู่แค่คิดทำสิ่งที่เป็นไปได้ จะทำให้เราไม่สามารถเดินทางจากจุดที่ยืนอยู่ไปสู่ชีวิตที่ต้องการ หรือจากสิ่งที่มีอยู่ไปสู่การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้
หลายครั้งเมื่อโตขึ้น เราได้ยินคำพูดทำนองว่า “เอาความเป็นเด็กในตัวออกมาใช้!”
‘ความเป็นเด็ก’ ในที่นี้หมายถึง ความขี้สงสัย ความคิดที่ไร้กังวล ความสุขจากการได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ทำไปโดยไม่คิดอะไร ความรู้สึกที่เราเคยมี ก่อนที่ผู้ใหญ่จะบอกให้เรา หยุดเล่น หยุดถาม หรือหยุดทำ!
ความคิดเชิงออกแบบต้องการความเป็นเด็กที่ว่านี้มาเป็นส่วนผสม ความสนใจ ความอยากรู้อยากนำมาสู่การค้นคว้าและการสำรวจเพื่อหาคำตอบอย่างอิสระ เป็นการลงมือทำที่ทำให้เรารู้สึกสนุกเหมือน “การเล่น”
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองสนใจอะไร?
การคิดเชิงออกแบบ ชวนเราตั้งคำถามสามอย่างนี้
อย่างแรก งานที่ทำอยู่ตอนนี้คืออะไร?
อย่างที่สอง สิ่งที่อยากทำ หากสิ่งที่ทำหรืองานที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่มีอยู่แล้ว?
อย่างที่สาม อยากทำอะไร ถ้าไม่ต้องคำนึงถึงชื่อเสียงเงินทอง ไม่ต้องสนว่าคนอื่นจะคิดยังไง จะหัวเราะเยาะเราหรือเปล่า?
คำตอบอย่างแรก คือ ชีวิตที่เป็นอยู่ คำตอบอย่างที่สองและสาม แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ในชีวิต ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เราอยากทำแต่หลงลืมมันไป เพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับทำอย่างแรก
เบอร์เน็ตต์และอีแวนส์ย้ำถึงความเชื่อที่ผิดแปลก (Dysfunctional Belief) เกี่ยวกับความหลงใหล (passion) หลายคนเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า แพชชั่นหรือความหลงใหลของตัวเองคืออะไร? พยายามแล้วพยายามอีกเพื่อตามหาแพชชั่นอย่างหนึ่งให้เจอ ผลการสำรวจพบว่าเมื่อถามคำถามถึงแพชชั่น 8 ใน 10 คน ไม่รู้ว่าแพสชั่นของตัวเองคืออะไร
“เพราะเรามีสิ่งที่สนใจ สิ่งที่หลงใหล ได้มากกว่า 1 อย่าง ในความเป็นจริงความหลงใหลของแต่ละคนไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างเดียว” เบอร์เน็ตต์ กล่าว
ผลการประเมินจากห้องเรียน Designing your life พบว่า คนๆ หนึ่งมีสิ่งที่สนใจ มีความอยากรู้อยากเห็น อยากทำอยากเป็นมากกว่า 1 อย่าง (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 อย่าง) สำคัญที่สุด คือ การมองหาโมเดลต้นแบบ เพื่อศึกษาดูว่าสิ่งนั้นมันใช่จริงๆ สำหรับเราหรือเปล่า
สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจตัวเองมากพอ การคิดเชิงออกแบบชวนค้นหาตัวเองผ่านมุมมองสามด้าน ต่อไปนี้
หนึ่ง ตัวตนของเรา
สอง สิ่งที่เราเชื่อ
สองด้านแรกสำรวจตัวเองผ่านการตั้งคำถาม – ชีวิตคืออะไร? เรื่องอะไรที่สำคัญสำหรับเรา? ท่องเที่ยว? ความมั่งคั่ง? ครอบครัว? อะไรที่ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและคุ้มค่าที่ได้เกิดมา? อธิบายวิถีชีวิตในอุดมคติของเราว่าอยากให้เป็นแบบไหน? งานมีความหมายกับเราอย่างไร? สำหรับเรางานที่มีคุณค่าเป็นแบบไหน? ทำไมถึงอยากทำงานนี้? เราทำสิ่งที่ทำอยู่นี้เพื่ออะไร?
และ สาม สิ่งที่กำลังทำอยู่
สำรวจตัวเองผ่านการตั้งคำถามต่อไปนี้ – กิจกรรมหรืองานไหนที่คุณอยากมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และกระตุ้นพลังเชิงบวกในตัวคุณ? ถ้าสมมุติเราเบื่องานที่ทำเหลือเกิน ลองสังเกตดูว่างานที่คุณบอกว่าแสนน่าเบื่อ มีช่วงจังหวะไหนที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกสนุก
มีสิ่งไหนบ้างที่คุณทำได้ทั้งวี่ทั้งวัน รู้สึกสนุกและไม่กังวลถึงผลลัพธ์ว่าจะออกมาเป็นยังไง?
ขั้นตอนที่ 2 การลองทำ…ไม่ต้องกลัวพลาด (Try stuff)
“นักออกแบบไม่ได้แค่คิดว่าจะก้าวไปข้างหน้า แต่นักออกแบบสร้างหนทางไปข้างหน้า
นักออกแบบไม่วางแผน แต่นักออกแบบลงมือทำโมเดลต้นแบบ”
เมื่อได้ค้นคว้า สำรวจสิ่งที่สนใจด้วยความสนุกสนานแล้ว สิ่งที่นักออกแบบทำ คือ ทดลองทำสิ่งที่อยากทำ สำหรับการออกแบบพวกเขาจะสร้างโมเดลต้นแบบ (prototype) ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ในการออกแบบชีวิต เราทำแบบเดียวกัน จินตนาการทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ แต่การลองทำเป็นหนทางสร้างความเป็นไปได้ให้เป็นความจริง
หลายคนไม่กล้าลงมือทำเพราะกลัวความล้มเหลว ในงานออกแบบความผิดพลาดล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทดลองทำที่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม
แล้วเราจะสร้างโมเดลต้นแบบชีวิตขึ้นมาได้อย่างไร? ต้องวางเดิมพันอะไรบ้าง?
วิธีการที่เบอร์เน็ตต์แนะนำง่ายกว่าที่คิดมาก เราไม่จำเป็นต้องวางเดิมพันอะไรทั้งนั้น โมเดลต้นแบบชีวิตสร้างได้ผ่านการสนทนากับคนที่ทำสิ่งนั้นอยู่แล้ว (Prototype Conversation) เราเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของเขา หรือ ลองพาตัวเองเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งที่อยากทำ (Prototype Experience)
เช่น ถ้าความสนใจของคุณ คือ การเปิดร้านกาแฟ สิ่งที่คุณต้องทำ คือ การหาเวลาเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้านกาแฟ อ่านบทสัมภาษณ์ บทเรียนความสำเร็จ ความล้มเหลวของคนที่ทำร้านกาแฟ หรือหาเวลาสมัครทำงานพาร์ทไทม์ที่ร้านกาแฟ เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งที่จินตนาการกับความจริงนั้นเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
ขั้นที่ตอน 3 การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (Reframing)
เราทุกคนต่างมีความคิดที่โผล่ขึ้นมาขัดขวางความเชื่อมั่นของตัวเอง การปรับมุมมองเป็นวิธีการที่นักออกแบบใช้ เพื่อไม่ให้ติดอยู่กับที่ เพราะทางออกไม่ได้มีเพียงทางเดียว นอกจากสิ่งที่อยากทำแล้ว การคิดเชิงออกแบบแนะนำให้เขียนความคิดหรือความเชื่อ 2-3 อย่าง ที่เราคิดว่าเป็นข้อจำกัด หรือเป็นกรอบที่ทำให้เราไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ แล้วขยำกระดาษนั้นทิ้งไป
การขยำกระดาษแล้วโยนทิ้ง เป็นการกระทำเชิงจิตวิทยาที่ช่วยปลดล็อคบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองย่ำอยู่กับที่
หลังจากนั้นวาดมายด์แมพ (Mind Map) สิ่งที่อยากทำทั้ง 3 อย่างขึ้นมาอย่างละแผ่น วาดและเขียนเพื่อหาความเชื่อมโยง เช่น สิ่งที่อยากทำต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง? อะไรที่มีอยู่แล้ว? อะไรที่ควรทำต่อ? และอะไรที่อยากให้เป็น? แล้วมองหาความคล้ายคลึงกันจากมายด์แมพทั้ง 3 ซึ่งพอจะให้คำตอบได้ว่า เรามีความสุขกับการทำอะไร หรือชอบทำงานประมาณไหน
มายด์แมพเป็นเครื่องมือที่นักออกแบบใช้เพื่อระดมความคิด เชื่อมโยงไอเดียและสิ่งที่เป็นไปได้ เปิดประตูให้กับความคิดสร้างสรรค์ได้เบ่งบาน จุดมุ่งหมายของมายด์แมพไม่ได้เพื่อหาคำตอบแต่เพื่อให้จินตนาการได้ทำงาน ขยายและเปิดมุมมองความคิด
ขั้นตอนที่ 4 การรับรู้ว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ (Know it’s a process)
“นักออกแบบมองหาปัญหาที่ถูก (right problem) สำคัญกว่าการเสียเวลาแก้ปัญหาที่ผิด (wrong problem) ซึ่งไม่มีทางหาคำตอบที่ถูกต้องได้”
ขั้นตอนที่ 1 – 3 เป็นขั้นตอนให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่อยากเป็นและอยากทำ หลายคนเรียกว่า ‘ความฝัน’ แต่ระหว่างที่เดินทางอยู่นั้น เราอาจต้องเดินบนเส้นทางที่ยุ่งเหยิง ยุ่งยาก ไม่ได้อย่างใจ เต็มไปด้วยเรื่องดราม่า อุปสรรคและสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เพราะชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จแต่มีกระบวนการให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไอเดียหรือความคิดของเราอาจทำแล้วได้ผลดีหรือทำแล้วไม่ได้ผล ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมชาติ
ขั้นตอนที่ 4 ทำให้นึกถึงเพลง ลีฟ แอนด์ เลิร์น (Live and Learn) โดยกมลา สุโกศล จากค่ายเลิฟอีส (Love Is)
“อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน
เติมความคิดสติเราให้ทัน
อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”
อยู่กับสิ่งที่มีและสิ่งที่กำลังเผชิญหน้า โฟกัสไปที่กระบวนการเรียนรู้ ยุ่งกับการหาปัญหา (problem finding) ที่ถูกต้องเพื่อทำให้ดีขึ้น มองหาทางเลือกเพื่อเติบโตแล้วไปต่อ ดีกว่ายุ่งกับการแก้ปัญหา (problem solving) ผิดๆ
ความเชื่อที่ผิดแปลกอีกข้อหนึ่ง คือ การกดดันตัวเองเพื่อเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด คิดวางแผน แล้วตะบี้ตะบันเดินตามแผนโดยไม่มีความยืดหยุ่น เมื่อล้มเหลว ผิดพลาด จึงผิดหวังแล้วไปต่อไม่ได้ ทั้งที่ในตัวแต่ละคน มีส่วนดีหลายอย่างซึ่งไม่จำเป็นต้องหาส่วนที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียว
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยากทำ อยากเป็น อย่างน้อย 3 อย่าง จินตนาการถึงมันขึ้นมาด้วยความอยากรู้ แล้วลองหาโมเดลต้นแบบ ขั้นตอนที่ว่ามาเป็นการสร้างทางเลือกให้กับชีวิต แล้วใช้วิธีการเปลี่ยนมุมคิดในขั้นตอนที่ 3 จากเดิมที่เคยมองว่าชีวิตมีคำตอบเดียว เป็นตัวเองที่ดีที่สุด ทำสิ่งที่ดีที่สุดแค่อย่างเดียว ลองคิดว่าชีวิตของเรามีเส้นทางมากกว่า 1 เส้นทาง การวางแผนชีวิตจึงไม่ควรยึดติดกับแผนใดแผนหนึ่ง แต่ลองทำหลายๆ อย่างเพื่อประสบการณ์ ในทุกๆ อุปสรรคปัญหาเมื่อถึงทางแยก เราต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะเดินต่อไปทางไหน แล้วยอมรับมันให้ได้
ขั้นที่ 5 การขอความช่วยเหลือ (Ask for Help)
“มันคือชีวิตของฉัน ฉันต้องออกแบบมันด้วยตัวเอง” เป็นอีกหนึ่งความเชื่อผิดแปลกที่เบอร์เน็ตต์ กล่าวถึง
เบอร์เน็ตต์เปรียบเทียบว่า ศิลปินสามารถสร้างชิ้นงานมาสเตอร์พีซของตัวเองได้ แต่นักออกแบบไม่สามารถออกแบบชิ้นงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้อื่น
ชีวิตของเราเป็นเหมือนงานออกแบบที่ยอดเยี่ยมมากกว่างานศิลปะ ผลงานออกแบบระดับโลกต่างอาศัยการทำงานเป็นทีม และการสนับสนุนจากผู้อื่น สำหรับการออกแบบชีวิต อย่ากลัวที่จะบอกและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ด้วยมุมมองความคิดใหม่ว่า “เราใช้ชีวิตและออกแบบชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้”
สำหรับการใช้ชีวิต ไม่มีใครทำอะไรได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง ถึงจุดหนึ่งทุกคนต้องการทีมหรือเพื่อนร่วมงานคอยสนับสนุน เปิดโอกาสให้ตัวเองทำงานร่วมกับผู้อื่น บอกให้คนอื่นรับรู้ถึงเป้าหมาย เริ่มจากคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ให้พวกเขามีส่วนร่วมออกแบบชีวิตที่เราต้องการ และสนับสนุนการออกแบบชีวิตของคนอื่น ขั้นตอนนี้ทำให้เราสร้างชีวิตที่เชื่อมโยงถึงกัน สร้างเครือข่ายชุมชนและสังคมร่วมกัน
“นักออกแบบจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่มีอยู่จริง จากนั้นพวกเขาสร้างโมเดล แล้วทำมันขึ้นมา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ คุณสามารถทำสิ่งนี้ได้กับชีวิตของคุณเอง
จินตนาการถึงสิ่งที่อยากทำ คุณไม่จำเป็นต้องหยุดทำสิ่งที่ทำอยู่ทันที ออกไปคุยกับผู้คน แล้วลองทำด้วยการจำลองโมเดลต้นแบบก่อน สิ่งนั้นอาจกลายเป็นอาชีพของคุณ เป็นไลฟ์สไตล์ชีวิตที่คุณต้องการ ซึ่งมันอาจยังไม่มีอยู่จริงก็ได้
หรือท้ายที่แล้วคุณอาจพบว่าคุณไม่อยากทำมันอีกแล้ว นี่ทำให้วิธีคิดอย่างนักออกแบบแตกต่างจากแบบอื่น การออกแบบยืดหยุ่นได้เมื่อมีข้อมูล ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ถ้าไม่ใช่อย่างที่คิด คุณก็แค่ออกแบบใหม่ คุยใหม่ ลองทำใหม่ คุณ…ออกแบบอนาคตของตัวเองได้” ห้องเรียนความคิดเชิงออกแบบ (Designing Thinking)
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=SemHh0n19LA
https://calvinrosser.com/notes/designing-your-life-bill-burnett-dave-evans/
https://www.linkedin.com/pulse/5-ways-build-better-life-through-design-thinking-bill-burnett/
- จาก ‘น้านิต สโมสรผึ้งน้อย’ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่โด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน สู่บทบาทใหม่ในการสร้างโอกาสและพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ยุคนี้ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนจากการลงมือปฏิบัติที่‘สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้’
- “เราอยากจะสร้างพื้นที่ที่จะสร้างจิตสำนึกจริงๆ เพราะเรารู้ว่าเด็กปลูกฝังได้ เขาพึ่งเกิดมาบนโลกใบนี้ เราจะให้เขาเติบโตมาเป็นคนแบบไหน เป็นมนุษย์แบบไหน มนุษย์ที่มีความใส่ใจในตัวเอง ในโลก ในคนอื่น ในสิ่งแวดล้อม มันต้องให้เขาได้สัมผัสเอง”
- สิ่งที่เด็กจะได้รับ อันดับแรกคือ เห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อเห็นคุณค่าในตัวเองแล้วก็จะเปิดประตูให้เขากล้าแสดงออก เมื่อเขารู้สึกว่ามีตัวตนมีคุณค่า เขาจะเป็นคนที่สามารถสร้างสิ่งดีๆ ได้ด้วยตัวเอง
ใครโตมากับรายการทีวีบ้างยกมือขึ้น…
เด็กยุคนี้อาจโตมากับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สะดวกสบาย ทว่าหากย้อนกลับไปในวัยเด็กของคนยุค 90 หรือ 80 กิจวัตรประจำวันในทุกๆ เช้าวันหยุดของหลายๆ คนคงไม่ต่างกันนัก นั่นคือการเฝ้าจอโทรทัศน์รอดูรายการต่างๆ ในช่วงเช้า กินข้าว จากนั้นออกไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้าน
เรามาเช็คกันสักหน่อยว่า ในวัยเด็กใครโตมากับรายการอะไรบ้าง จะใช่ ‘เจ้าขุนทอง’ รายการตุ๊กตาหุ่นมือที่เด็กยุค 90 ไหมนะ หรือจะเป็น ‘ดิสนีย์คลับ’ รายการการ์ตูนที่มีหลายเจนเนเรชั่น, ‘ซูเปอร์จิ๋ว’ วาไรตี้ที่เปิดเวทีให้เด็กได้มาแสดงความสามารถของตัวเอง, ‘ทุ่งแสงตะวัน’ รายการแนวสารคดีของเด็กกับธรรมชาติ หรือถ้าจะให้ย้อนไปไกลกว่านี้หน่อยก็น่าจะเป็นรายการ ‘สโมสรผึ้งน้อย’ ที่มี ‘น้านิต’ ของเด็กๆ ในวันนั้น หรือ ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ เป็นหัวเรือใหญ่ของรายการ
แม้จะห่างหายจากหน้าจอโทรทัศน์ไปนาน แต่ทุกครั้งที่สังคมตั้งคำถามถึงรายการทีวีสำหรับเด็กในฐานะพื้นที่การเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง ชื่อของน้านิตมักถูกกล่าวถึง และกลายเป็นแหล่งอ้างอิงในการทำคอนเทนต์ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพเด็ก ซึ่งวันนี้กับสมญานามใหม่ “ย่านิต” ของหลานๆ ยุคดิจิทัล ก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ เพียงแต่ไม่ใช่บนแฟลตฟอร์มออนแอร์หรือออนไลน์ แต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบออนกราวด์
ในช่วงก่อนที่สถานการณ์โควิด 19 จะกลับมาระบาดระลอกใหม่ เรามีโอกาสไปเยือน สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้ ภายในพึ่งสุขฟาร์มอินทรีย์ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ชวน ‘น้านิต’ หรือ’ ย่านิต’ มาพูดคุยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของสโมสรผึ้งน้อย ที่ได้สร้างโอกาสและพื้นที่ให้เด็กๆ ในยุคนั้นได้แสดงความเห็นและความสามารถของตนเอง ก่อนจะเบนเข็มมาสร้างสวนศึกษาผึ้งน้อยด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสและพื้นที่ปลอดภัยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ
การล้มหายตายจากของ ‘รายการเด็ก’ พื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน
“ทุกวันนี้ทุกอย่างต้องซื้อ ต้องจ่ายเงิน ความเก่งก็ต้องจ่ายเงินไปซื้อมา แต่ผึ้งน้อยเราไม่ได้เก็บเงินเด็กนะ ใครก็เป็นได้” ย่านิต แห่งสโมสรผึ้งน้อย พูดถึงราคาค่างวดของพื้นที่เด็กที่ต้องใช้เงินแลกมา นั่นจึงทำให้ ‘รายการเด็ก’ ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กๆ ต่างโบกมือลากันเป็นแถว
“เพราะตัวช่องเองก็ต้องการรายการที่มีเรตติ้ง แล้วผู้จัดอิสระก็ไม่มีผู้สนับสนุน พอไม่มีผู้สนับสนุนสถานีก็ต้องจ่าย สถานีเองก็กดดันว่าถ้าไม่มีเรตติ้งเขาเอารายการออกนะ ซึ่งในยุคนั้นประมาณ 10 ปีที่แล้ว รายการถูกถอดได้ง่ายเลย ซึ่งเราก็เข้าใจนะ ธุรกิจก็คือธุรกิจ”
ถ้าอย่างนั้นแล้ว รายการสำหรับเด็กๆ ของเรายังจำเป็นอยู่ไหม
ย่านิตยืนกรานด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลแต่หนักแน่นว่า
“พื้นที่บนทีวีของเด็กไม่มีไม่ได้นะ มันเป็นพื้นที่เดียวที่จะสื่อสารกับเด็ก จอทีวียังไงก็ดูด้วยกันนะในครอบครัว เปิดมาจอใหญ่ๆ แล้วก็นั่งดู แล้วโทรทัศน์ยิ่งดูสดๆ เนี่ยมันเห็นแล้วก็ภูมิใจนะ ถึงจะมีดูย้อนหลัง แต่มันก็ไม่เหมือนดูสด ดูสดๆ มันได้ลุ้น มันมีความสุขร่วมกัน ยังไงก็ยังคิดว่า โทรทัศน์ รายการเด็กยังต้องมี”
แต่ถามว่าถ้ามีหน้าตาจะออกมาเป็นแบบไหน? ในฐานะคนทำรายการเด็กมากว่า 16 ปี ย่านิตมองว่า รายการที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องทำทั้งออนแอร์และออนกราวน์คู่กันไป ให้เด็กสัมผัสได้จริง
“อย่างผึ้งน้อยที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในจอเพียงอย่างเดียว เราออกไปโรงเรียน เราไปจัดกิจกรรมหลายที่ คือเด็กสัมผัสได้จริง แล้วอย่างจดหมายเนี่ยถึงบ้าน มันแตะต้องได้ โอเคทุกวันนี้มันมีเฟซบุ๊ก มีแชท มีไลน์ฟีดแบคถึงกันได้ แต่มันไม่เหมือนจดหมายนะ จดหมายที่มันเชยๆ เนี่ย แต่มันก็ยังได้ใจนะ”
เพราะรายการที่เด็กได้มีส่วนร่วมจริงๆ ทั้งออกแรงกาย แรงสติปัญญา ความสร้างสรรค์ ผลลัพธ์นอกจากความสนุกหลังจากที่เขาได้ทำ และความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองแล้ว ยังเกิดการเรียนรู้ที่เขาสร้างขึ้นเองด้วย
แรงบันดาลใจในการสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถผ่านรายการทีวีเด็กในยุคนั้น
“ยุคก่อนเป็นยุคที่พื้นที่เล่นยังมีมากมาย เป็นพื้นที่ปลอดภัยด้วยซ้ำ ถนนหนทางมันก็ไม่ได้แออัดขนาดนี้ แล้วสนามเด็กเล่นยังไม่ได้ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เด็กก็ยังมีพื้นที่ที่ได้เจอตัวเอง ได้วิ่งเล่น ได้ใช้ชีวิต แม้กระทั่งเด็กต่างจังหวัดเขาก็ยังได้วิ่งในท้องนา ได้ปีนต้นไม้ ได้โดดน้ำ ทีนี้โลกแบบนั้นมันไม่เหลืออีกแล้วในปัจจุบัน”
เด็กยุคนั้นมีโลกของตัวเอง ได้วิ่งเล่นได้เล่นกับเพื่อนๆ แต่การได้แสดงออก หรือการได้ยอมรับจากผู้ใหญ่มันยังไม่มี ผู้ใหญ่ก็ยังมองว่า เด็กต้องว่านอนสอนง่าย ถึงเวลากินๆ ถึงเวลานอนๆ ไปโรงเรียนก็ตั้งใจเรียน แล้วอย่าเถียง อย่าพูดเยอะ อย่าถามเยอะ นี่ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่
“ในยุคนั้นเด็กต้องการการยอมรับ ต้องการตัวตน สโมสรผึ้งน้อยจึงเกิดเพื่อเปิดพื้นที่ให้เขาจริงๆ เราไม่ได้ทำรายการเพื่อให้น้านิตมาลอยหน้าลอยตา ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นรายการที่เราพูดตลอดเวลาว่า มันเป็นรายการของเด็กนะคะ เด็กๆ อย่าปล่อยให้น้ามาทำรายการอยู่คนเดียว เขาก็มีความรู้สึกได้ว่าเขาเป็นเจ้าของ แล้วรู้สึกว่ามันปลอดภัย มาที่เราเนี่ย เขาไม่ล้มเหลว น้านิตก็ไม่เคยทำให้เด็กได้อาย
ทุกคนประสบความสำเร็จหมด คุยได้แล้วก็น่ารัก เมื่ออยู่บนเวทีก็น่ารักสมวัย และเราก็พยายามประคับประคองให้เขาประสบความสำเร็จ ตรงนั้นมันถึงเป็นพื้นที่ที่เด็กมีความสุข”
จาก ‘สโมสรผึ้งน้อย’ สู่ ‘สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้’ พื้นที่สร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กยุคนี้
เมื่อวันเวลาผ่านไป ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา จากรายการสโมสรผึ้งน้อยในวันนั้น 40 ผ่านไป ก็กลายมาเป็นสวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้ในวันนี้ ซึ่งย่านิตทำสโมสรผึ้งน้อยมาราว 16 ปี ก่อนจะวางมือให้คนอื่นทำ และที่ผันตัวจากพื้นที่บนจอทีวีมาทำพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เด็กๆ ในตอนนี้ ก็เพราะย่านิตมองว่า พอพูดถึงรายการทีวี เด็กก็มุ่งถึงการแสดง จะแสดง จะสวมบทบาท จะเป็นนักแสดง ทีนี้ในโลกปัจจุบันเราต้องพาเด็กให้มาพบกับความจริง ลงมือทำกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและส่วนรวม มองเห็นปัญหา และเข้าใจมัน
การกลับมาของผึ้งน้อย นอกจากเสียงเรียกร้องของคนที่เติบโตมาในยุคนั้นที่อยากจะให้มีพื้นที่การเรียนรู้ดีๆ สำหรับลูกหลานแล้ว ตัวย่านิตเองก็ไม่เคยทิ้งอุดมการณ์ที่อยากจะสร้างโอกาสและพื้นที่ให้เด็กแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความสามารถ เพราะการได้ทำงานกับเด็กๆ ได้เฝ้ามองการเติบโตของเขา เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้
“ทีนี้จะเอากลับมายังไง ถ้าให้กลับมาทำทีวีเราทดลองทำแล้วมันไม่ใช่ ทำแล้วมันก็เหมือนกับว่าต้องเขียนบทอยู่ แล้วพอเขียนบทเด็กก็ต้องแสดง พอแสดงเขาก็ถือเป็นนักแสดง ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงๆ ไม่เหมือนผึ้งน้อยแต่ก่อน เด็กผึ้งน้อยแต่ก่อนเขาแสดงแต่เขาไม่ได้เอาเพลงผู้ใหญ่มาร้อง เพลงเขาไม่ได้บอกว่าให้มารักกัน หรือว่าอกหักแล้วต้องชอกช้ำ ไม่ได้พูดเรื่องพวกนั้น มันพูดเรื่อง อย่าตัดต้นไม้ ช่วยกันหน่อยควันหมอกมันคลุ้งไปหมดแล้ว มันมีเพลงที่ปลุกระดมสร้างจิตสำนึกเยอะมาก เราก็ไปได้ทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นทุนที่เราอยากจะสร้างสำนึก เสนอเป็นโครงการผึ้งน้อยนักสู้ สู่สำนึกแห่งความเป็นพลเมือง กระบวนการสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้ใส่ใจสังคมและประเทศชาติ”
ราวสองปีแล้วที่สวนผึ้งน้อยนักสู้เกิดขึ้น ด้วยความสนับสนุนของเจ้าของพึ่งสุขฟาร์มพึ่งสุขฟาร์มอินทรีย์ที่อยากให้ย่านิตได้มีพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ร่วมกับเด็กๆ ฟาร์มแห่งนี้ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงไก่ เลี้ยงควาย เพราะอยากให้เป็นพื้นที่ของการสร้างอาหารปลอดภัย และเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ไปด้วยในตัว
เริ่มจากการสร้างสำนึกในเรื่องใกล้ตัวคือ ‘การกิน’ กินให้เป็น กินให้รู้คุณค่า, ‘การใช้’ ใช้ให้คุ้ม ใช้อย่างคิดถึงผู้อื่น แล้วก็เรื่อง ‘การให้’ ให้โอกาสต้นไม้ได้เติบโต เพราะว่ามนุษย์ไม่ค่อยยอมให้ต้นไม้โตเท่าไร มีต้นไม้เท่าไรตัดทิ้งหมด สุดท้ายคือ ‘การทำดี’ คือเราทำดีให้ได้ดี ไม่ใช่ยังทำไม่ถึงดีแล้วหยุดทำบอกว่าไม่เห็นได้อะไรเลย 4 เรื่องนี้ที่ย่านิตมองว่า ผึ้งน้อยนักสู้ต้องไปให้ถึง ซึ่งก็ต้องให้เด็กๆ ได้ลงมือทำจริง พื้นที่นี้ถึงจะตอบโจทย์ได้ นี่คือหัวข้อหลักที่ย่านิตกำลังค่อยๆ สร้างกิจกรรมลงไป ซึ่งกิจกรรมที่ทำแล้ว แต่เกิดผลตอบรับที่ดีที่เดียวนั่นคือ ‘ขวดพลาสอิฐ’ (Eco-bricks) สร้างสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม
“เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กมากที่สุด ก็คือเรื่องของการใช้ เรื่องขยะในมือจะทิ้งหรือจะรับผิดชอบยังไง เศษพลาสสิก ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซองไอติม ซองขนมลูกอม ถ้าทิ้งลงถังขยะไปมันก็เป็นขยะฝังกลบนะ แต่ถ้าเก็บลงขวดๆ น้ำที่ใช้แล้ว แล้วอัดให้แน่น มันจะกลายเป็นอิฐแข็งเลย แล้วเอามาทำบ้านได้ อันนี้ได้ผล เข้าไปจัดกิจกรรมในโรงเรียนได้ผลดี เด็กๆ ตอบรับและทำทันที เพราะเขารู้สึกว่ามันใช่ แต่ว่าอันนี้ครูต้องสนับสนุน อย่างโรงเรียนวัดดอนเมือง ก็ส่งขวดพลาสอิฐที่เสร็จแล้วมาที่นี่แล้วก็มาสร้างบ้านดินด้วยกัน เป็นเวทีนิทานในบ้านดิน”
พลิกแพลงจากกรรมวิธีในการสร้างศาลาบ้านดินหลักแรก โดยการหุ้มขวดพลาสอิฐด้วยดิน แล้วก่อเป็นผนังขึ้นไปและใช้ดินผสมทรายผสมแกลบผสมฟาง ช่วยให้ยึดโยงและแข็งแรง คงทนมากขึ้น
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ย่านิตบอกว่าต้องทำความเข้าใจและย้ำกับทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองเลยว่า เวลาทำขวดพลาสอิฐต้องใช้ถุงพลาสติกที่เป็นขยะ ที่ใช้แล้ว ไม่ใช่ซื้อถุงพลาสติกที่ยังไม่ใช้มาอัดใส่ขวดจนเต็ม เพราะนั่นเป็นสร้างขยะ
“ที่นี่เราเป็นสวนแห่งการแบ่งปัน เรารับผิดชอบขวดของคุณ เราแบ่งปันพื้นที่ให้ๆ ขวดที่มีพลาสติกได้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ต้องเป็นขยะฝังกลบ ที่เรากำลังนั่งกันอยู่ข้างใต้ก็มีขวดพลาสอิฐอยู่ แทนที่จะต้องใส่อิฐหรือทรายเยอะๆ ก็แทนที่ด้วยขวดพลาสอิฐเป็นพันๆ ขวด สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้เราคิดว่าจะเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มาสร้างผลงานของตัวเอง ถ้าเขาอยากจะจัดงานหรือแสดงผลงาน มาใช้ที่นี่ได้ อยากให้เป็นอย่างนั้น”
บทเรียนแรก “เคารพในดิน เคารพในตัวเอง เคารพในผู้อื่น”
สำหรับย่านิตแล้ว การทำบ้านดิน เหมือนได้เครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้มาอันหนึ่ง การที่ให้เด็กได้ย่ำดิน ได้ลงไปอยู่กับดิน มันเหมือนเขาได้กลับสู่ธรรมชาติ
“เด็กเขาได้สนุกได้เลอะเทอะ โดยไม่มีใครดุ มีบางคนที่มาถามว่า ผมใช้มือได้มั้ยครับ อยากขยำ เราบอกอย่าพึ่งๆ เพราะว่าถ้าหนูใช้มือทุกคนจะเลอะไปหมด เพราะหนูก็จะไปจับเพื่อนใช่มั้ย ตอนนี้เราแค่ย่ำพอ เพราะเราไม่ได้อยากให้เด็กมาเล่น โดยเฉพาะกับเรื่องของดิน
เราอยากให้เกิดการเรียนรู้ เคารพในดิน เคารพในตัวเอง เคารพในผู้อื่น เคารพในเพื่อนที่กำลังพยายามเรียนรู้ ความสนุกบางทีก็ต้องยั้ง ต้องระมัดระวัง ต้องมีขอบเขต แต่ว่าถ้าเพื่อนเขาไม่ว่าอะไร เราก็ไม่ว่าอะไร เด็กบางคนก็กลัวเลอะกลัวเปรอะ เราก็บอกเขาว่า จะกลัวทำไม เราเลอะก็แค่ล้าง”
กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กมีความสุข เขายังได้เลอะเทอะอย่างไม่ผิด เพราะถ้าลองไปทำเลอะเทอะที่บ้าน คงมีเสียงบ่นของแม่แน่นอน และเด็กๆ ยังได้ออกแรง เพื่อผลงานชิ้นเอกที่ตัวเองได้มีส่วนร่วม
“เรามีแปลง มีผืนนา ต่อไปเราคิดว่าจะให้เด็กมาทำนาด้วย แล้วก็ปลูกผัก แต่ก็ขอร้องผู้ปกครองว่าการทำนากับย่านิตที่นี่ขอให้ทำด้วยความเคารพ จะไม่ยอมให้เด็กเล่นเหยียบย่ำ ดินเขาก็มีชีวิต ต้องเตรียม ถ้าหนูไปย่ำแล้วดินจะพร้อมให้ต้นข้าวเติบโตได้อย่างไร แล้วถ้าหนูหว่านข้าวไปแบบตามมีตามเกิด ต้นข้าว ต้นกล้า จะขึ้นมั้ย เมล็ดข้าวจะงอกไหม หรืองอกออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร จะเติบโตได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งการปักดำ เราก็ต้องให้เป็นแถวเป็นแนว สาเหตุเพราะว่าเราจะได้ดูแลเขาได้สบาย แต่ถ้าหนูเอากล้ามาโยนเล่น กล้าอุตส่าห์เติบโต หนูเอาเขามาโยนเล่นอย่างนี้ไม่เห็นประโยชน์ เราขอว่าอย่าทำ”
ย่านิตบอกเด็กๆ เรื่องการเคารพ การให้เกียรติ การเห็นคุณค่าของทุกสิ่งในชีวิตก็จากการได้ลงมือทำเสมอ ผ่านการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งอย่างเดียว
“เรายังเคารพเลย จะย่ำดินยังให้เด็กขอขมาก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าดินที่เราย่ำลงไปมันมีสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่บ้าง แล้วเรากำลังเหยียบย่ำเขา แล้วเราจะขอเอาดินมาใช้ทำเป็นบ้านทำอะไรต่ออะไร ต้องให้เด็กเขารู้สึกว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่ใช่อยากได้ก็จะได้เลย อยากได้หินก็ไประเบิดภูเขา แต่จะระเบิดภูเขามันต้องคิดก่อน มันจะสะเทือนกับอะไรบ้าง จะตัดต้นไม้แต่ละต้นมันก็ต้องคิดแล้วคิดอีก”
และสำหรับกิจกรรมขวดพลาสอิฐนั้น ย่านิตบอกว่าอยากทำเป็นกิจกรรมต้นแบบ และอยากขยายไปสู่ชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบขยะของชุมชนตัวเอง จะได้สร้างจิตสำนึกเด็กของชุมชนนั้น เขาก็ได้ช่วยกันเก็บขยะ ช่วยกันทำบ้านดินด้วยขวดพลาสอิฐ เป็นการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย
“ขวดพลาสอิฐมันต้องเริ่มจากการแยกขยะนะ พอแยกแล้วเราจะเห็นเลยว่ามันเกิดการเรียนรู้เลย กระดาษก็ต้องแยกไว้ส่วนหนึ่ง เศษพลาสติก อะไรที่รีไซเคิลได้ก็ส่งไปรีไซเคิล อะไรที่จะกลายเป็นขยะฝังกลบเราก็เอามาทำขวดพลาสอิฐ ซึ่งต้องแน่ใจจริงๆ ว่ามันจะถูกฝังกลบ ต้องให้เด็กได้ศึกษาอะไรแบบนี้จริงๆ ฉะนั้นโครงการผึ้งน้อยนักสู้ เราอยากให้มันเกิดไปอย่างกว้างขวางในชุมชนอื่นๆ โดยมีเด็กเป็นแอมบาสเดอร์”
บทเรียนที่สอง “เรียนรู้จากการวิ่งเล่นและลงมือทำ”
นอกจากนั้นสิ่งที่ย่านิตให้ความสำคัญไม่ต่างกันคือ การพูดคุย ย่านิตให้ความสำคัญกับการฟังมาก ฟังว่าเด็กคิดอย่างไร ยิ่งเด็กเมืองที่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในห้องเรียน
“มีความรู้สึกว่าเราประคบประหงมเด็กของเรามากเกินไป ควรจะให้เขาเจอแสงแดดเจอดิน ได้สัมผัส แต่เด็กเรากลัวแดดกลัวดำ แล้วก็ป่วยเพราะภูมิคุ้มกันไม่มี เราจะรังเกียจดินรังเกียจแดดกันไปทำไม แล้วพอคุณสร้างสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ต้นไม้ต่างๆ ในโรงเรียนก็ไม่ค่อยมี การที่เด็กๆ ได้นั่งใต้ต้นไม้ใหญ่สักต้นหนึ่ง เขาเงยหน้าขึ้นไปเขาจะเห็นชีวิตอื่นๆ เขาจะได้เรียนรู้อะไรอีกเยอะแยะ
แต่เราครอบเด็กของเราไว้ด้วยสิ่งก่อสร้าง แล้วชีวิตเด็กก็อยู่แต่ในกล่องสี่เหลี่ยม ซึ่งถ้ามาที่นี่เราไม่มีกล่องสี่เหลี่ยมแบบนั้นให้เด็กอยู่ ทุกอย่างโล่งหมด แล้วเด็กชอบมาก เด็กอยากวิ่ง”
ที่สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้จึงต้องมีการดีไซน์พื้นที่ให้เด็กๆ วิ่งอย่างปลอดภัย เพราะความปลอดภัยสำหรับเด็กนั้นสำคัญ และเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องจัดทำให้ดี
“เด็กผึ้งน้อย เราถือว่าเขาเป็นนักสร้างสรรค์ ถ้าเขาตั้งใจทำอะไร เขาจะทำได้เป็นอย่างดี แล้วก็ทำเพื่อส่วนร่วมด้วย แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า ถ้าให้ไปพูด หรือร้องเพลง มันสร้างสำนึกเหมือนเด็กสมัยก่อนไม่ได้หรอก เพราะเด็กสมัยก่อนไม่ได้มีอะไรรุกเร้ามาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง เด็กเดี๋ยวนี้พออกทีวี เขามุ่งเลย เขาจะเป็นนักร้อง นักแสดง เขามีเป้าหมายแบบนั้น
ฉะนั้นเราก็เลยคิดว่า เราอยากจะสร้างพื้นที่ที่จะสร้างจิตสำนึกจริงๆ เพราะเรารู้ว่าเด็กปลูกฝังได้ เพราะเขาพึ่งเกิดมาบนโลกใบนี้ เราจะให้เขาเติบโตมาเป็นคนแบบไหน เป็นมนุษย์แบบไหน มนุษย์ที่มีความใส่ใจในตัวเอง ในโลก ในคนอื่น ในสิ่งแวดล้อม มันต้องให้เขาได้สัมผัสเอง”
หลายคนบอกยุคนี้ไม่ว่าเราจะอยากรู้เรื่องอะไร เพียงคลิกเดียวบนโลกอินเทอร์เน็ตก็รู้ได้หมดแล้ว แต่ย่านิตมองว่า “มันไม่เหมือนกัน คุณมาตรงนี้คุณได้วิ่ง คุณได้ทำ คุณได้เหนื่อยได้ปาดเหงื่อ แล้วก็มานั่งรวมกลุ่มกินข้าวกัน มันสนุก เขามีเพื่อน แล้วผู้ใหญ่ที่นี่ก็ไม่ได้ดุ เราคุยกันดีๆ ปรึกษาหารือกันได้ เราอยากจะให้เด็กได้มาร่วมงานกับเราจริงๆ เพราะพื้นที่มันกว้างมาก
ฝันและจินตนาการที่เราจะทำร่วมกัน เด็กลงมือทำได้ แล้วเราไม่ต้องเขียนบท ทำผึ้งน้อยแต่ก่อนบทเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่ามันไม่มีเวลาคุย แต่พอมาทำสวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้ ไม่ต้องรีบ ทำเสร็จแล้วคุย คุยกันว่าหนูคิดยังไง แล้วหนูจะสื่อสารกับคนดูได้มั้ย ถ้ามีนักข่าวมาสัมภาษณ์จะเล่าให้เขาฟังยังไง อะไรแบบนี้ แล้วเด็กเขาคิดได้เลย”
ไม่ว่ายุคไหนเด็กทุกคนมีความสามารถ ต่างกันแค่บริบททางสังคม
เพราะย่านิตเชื่อมั่นในความสามารถของเด็กมาโดยตลอด ไม่ว่าจะยุคไหนเด็กทุกคนมีความสามารถ แต่ในยุคนั้นอาจถูกข่มขู่ให้กลัวก็เลยกลายเป็นไม่กล้า เพียงเพราะเป็นแค่เด็ก ซึ่งก็เหมือนกับระบบๆ หนึ่ง ที่กำหนดแล้วว่า อย่าถามมาก! อย่าตั้งคำถามเยอะครูไม่ชอบ หรือว่า อย่าพูดเยอะไม่น่ารัก ยิ่งเด็กผู้หญิงที่พูดเยอะก็จะถูกดุ เด็กคนไหนที่มีคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและเปิดโอกาสถือว่าโชคดีมาก แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภทว่า เด็กนิ่งๆ เงียบๆ เท่ากับเด็กดี เด็กสุภาพ แต่ยุคนี้ถ้าใครมีลูกนั่งเงียบๆ น่าจะสร้างความกังวลมากกว่า ว่า เอ๊ะ! ทำไมไม่ยิ้ม ทำไมไม่พูด ไม่สบายหรือเปล่า
“สโมสรผึ้งน้อยทำให้เด็กๆ มีความกล้า กล้าที่จะเปิดเผยตัวตน กล้าที่จะแสดงออก บนพื้นฐานที่ว่า ทุกคนรักที่จะทำเรื่องดีๆ แล้วก็ภูมิใจที่จะได้ร้องเพลงของสโมสรผึ้งน้อย ได้เล่นละคร ได้แสดง เพราะเรื่องราวที่เราให้เขานำเสนอมันเป็นเรื่องราวที่ดี เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเรื่องครูเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่ร่วมกัน การเป็นคนที่มีเหตุมีผล การที่เห็นส่วนรวมเป็นใหญ่ ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เขาคืออนาคต เขาคือพลัง ตอนนั้นเราพยายามบอกเด็กทุกคนเลยว่า ประเทศนี้เด็กทุกคนเป็นเจ้าของนะ แล้ววันหนึ่งเขาก็จะต้องเติบโต แล้วเขาก็จะต้องมาดูแลประเทศของเขา”
สิ่งที่เขาจะได้อันดับแรก คือ เห็นคุณค่าในตัวเอง ให้เขารู้สึกเลยว่าเขาสำคัญ พอเห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว ก็จะเปิดประตูให้เขาจะกล้าแสดงออก หรือกล้าที่จะพูด แล้วเมื่อเขารู้สึกว่าเขามีตัวตน มีคุณค่า เขาเป็นคนที่สามารถสร้างสิ่งดีๆ ได้ด้วยตัวของเขาเอง
“แล้วเด็กผึ้งน้อยเขาค่อยข้างภูมิใจในตัวเอง เขาจะตั้งใจทำงานมาก เขาทำงานเก่งมากนะ พวกเราเปลี่ยนฉากภายใน 5 นาที เราเตรียมไว้เลยนะเพราะเราต้องไปอัดเทป ตอนนั้นเรามีเวลาอยู่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่หลังจากที่วงผู้ใหญ่ถ่ายไปแล้ว เราจะมีเวลาสั้นๆ เราก็ต้องอัดหลายเพลง แล้วก็อยากเปลี่ยนฉากทุกเพลง พอผู้ใหญ่เล่นจบปุ๊บ เด็กๆ ก็รีบเลย รีบเปลี่ยนฉากไม่ถึง 5 นาทีเสร็จ เราก็แสดงอย่างดี ถ่ายสองครั้งต่อเพลง เด็กๆ ไม่ใช่แค่แสดงหน้าฉากเท่านั้น แต่เบื้องหลังพวกเขาก็ต้องทำหน้าที่เป็นทีมงานเหมือนๆ กัน ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง พอ 5 4 3 2 ม่านเปิดแล้วเด็กไม่เคยพลาด เด็กทำได้ดีที่สุด ดีมาก คือนับถือเด็กทุกๆ คน ทุกๆ รุ่นเลยนะ พลังเด็กเนี่ยนะเยี่ยมเลย พอคิดถึงผลงานที่เด็กๆ เขาทำแล้วเราก็มีความสุขใจ”
การทำงานกับเด็กไม่ว่าจะยุคไหน ย่านิตก็มองว่าต้องปล่อยให้เป็นงานของเด็กจริงๆ อย่างการทำงานกับเด็กในยุคนี้ แม้กระทั่งตอนพูดคุย เด็กๆ ก็มักจะคัดง้างกับย่านิตเสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เด็กเถียงได้ เพราะจะทำให้เราเห็นความคิดของกันและกัน เพื่อทำความเข้าใจกัน และยอมรับกัน เป็นธรรมดาในการทำงานของคนต่างวัย
“ย่าชอบทำงานกับเด็กนะ เรามีควาสุข เด็กเถียงนะเขาไม่ยอมหรอก มีอยู่วันหนึ่งเราบอกให้เขาแบ่งงาน แพนช่วยดูหน่อยนะคะ แล้วย่าก็ต้องไปทำอย่างอื่น กลับมาถึงย่าก็ไปดู ก็ยังกลัวว่าน้องเขาจะว่างหรือเปล่า ก็เข้าไปยุ่ง น้องแพนเขาก็บอกว่า ย่านิตค่ะ ไม่ได้นะคะเราแจกงานกันไปหมดแล้ว ย่านิตมาทำอย่างนี้เสียระบบหมดนะคะ เราก็บอกโอ้…จริงเหรอ ขอโทษค่ะ งั้นได้เลยลูก แพนเอาตามที่ตกลงกันไว้เลยค่ะ ขอโทษนะคะ
เพราะตอนนั้นเรายังไม่เชื่อมั่นเขามากพอ เราก็รู้สึกว่าตอนนั้นทำไมเรายังเป็นคุณย่านิตนิสัยไม่ดีนะ ทั้งๆ ที่เรามอบหมายงานให้เขาแล้ว เราควรจะเชื่อมั่นเขามากกว่านี้สิ แล้วเขาก็ทำได้ดี อย่างลายข้างบ้านที่เป็นต้นไม้กับช้าง เขาก็ช่วยกันออกแบบแล้วก็ทำจนเสร็จ ที่เป็นเต่าเป็นทะเลทางด้านนู้น เด็กเขาก็เป็นคนทำ ซึ่งถ้าเราทำเราคิดไม่ได้อย่างนั้น เราปั้นไม่ได้อย่างนั้น งานเรามันจะเป็นงานที่แข็งๆ สวยแบบที่แข็งๆ แต่งานเด็กนี่จินตนาการเลย
เต่าทะเลเราก็คิดถึงเต่าตนุอะไรแบบนั้น แต่เด็กเขาทำเต่ามะเฟืองค่ะ เพราะเราพาเขาไปดูที่ศูนย์ฟื้นฟูพันธุ์เต่าทะเล เขาก็ได้ไปเห็นเต่า เขาอินมาก คือได้เห็นของจริง ได้เห็นปัญหา ได้ฟังวิทยากรพูด เขาเห็นเหรียญที่มันอยู่ในท้องเต่าแล้วก็ขยะที่ผ่าออกมา เต่าตายเพราะอะไร เด็กกลับมาย่าไม่ต้องเขียนบทเลย เขาพูดเองหมดเลย”
สโมสรผึ้งน้อยยังอยู่ในความทรงจำของเด็กรุ่นนั้นที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบัน
ย่านิตบอกเสมอๆ ว่า สิ่งที่เด็กได้สัมผัสด้วยตัวเอง จะนำไปสู่ความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ๆ นั้น คนที่ดูอยู่ทางบ้านแล้วเขียนจดหมายเข้ามาย่านิตก็รับรู้ได้ว่าเด็กมีความสุข แล้วเขาก็จะจดจำ
“เด็กผึ้งน้อยเขามีความภาคภูมิใจ แล้วแปลกมากนะ เด็กที่เขาดูอยู่ที่บ้านเขาเป็นแค่สมาชิกผึ้งน้อยแต่เขาภูมิใจ เพราะเด็กสมาชิกสโมสรผึ้งน้อยเป็นเด็กที่เก่ง แล้วเวลาเราเจอเด็กๆ เขาก็จะบอกว่า หนูก็เป็นผึ้งน้อยนะคะ แต่หนูมาไม่ได้ หนูอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีใครพาหนูมา คือเราไม่ได้ทำอะไรที่เวอร์วังนะ เราทำอะไรที่ง่ายๆ แต่ว่าเด็กทุกคนคิดว่าตัวเองทำได้ แล้วพอเขามีโอกาสเขาก็จะลงมือทำ
บางคนเขาดูแล้วก็เอาไปทำกิจกรรมที่โรงเรียน เหมือนผึ้งน้อยเป็นแรงบันดาลใจ แล้วเขาก็เติบโตมาจากตรงนั้น พอมาถึงปัจจุบันเขาก็พูดได้ว่ายังมีความสุขอยู่ แล้วหลายคนก็บอกอยากให้มันกลับมา อยากให้มีอะไรแบบนี้ อยากให้ลูกๆ เขาได้สัมผัสอะไรแบบนี้”
หากมีโอกาสได้ผลิตรายการสำหรับเด็กยุคนี้ ย่านิตอยากจะสื่อสารอะไรกับเด็กๆ
อยากทำรายการที่เด็กคิดกันเอง ทำกันเองเลย แล้วก็อยากจะสื่อสารด้วยวิธีคิด ให้คนดูเห็นเลยว่า เด็กเขาเริ่มคิดยังไงกัน แล้วมันจะเป็นรายการได้ยังไง เสร็จแล้วเขาคิดอย่างไร แล้วก็อยากให้มีคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมด้วย ให้เด็กฟังแล้วได้คิดตามว่า เขารู้สึกยังไงกับคำวิจารณ์เหล่านั้น แล้วจะนำมาปรับปรุงอย่างไร เราอยากให้มันเป็นรูปของสโมสรผึ้งน้อยนักสู้จริงๆ นักสู้เพื่อความดี นักสู้เพื่อโลกใบนี้ นักสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม อะไรก็แล้วแต่เด็ก แล้วแต่แรงบันดาลใจที่เด็กเขามี โดยให้เด็กมีอิสระทางความคิด
“การให้เด็กฝึกรับมือกับแรงเสียดทานหลายๆ ด้านจากสังคม เขาต้องรับฟังผู้อื่นได้ ไม่ใช่ว่าของฉันเลิศประเสริฐศรี แล้วใครจะมาติไม่ได้ หนูพูดเป็น หนูก็ต้องฟังเป็น แล้วหนูก็ต้องมองโลกมุมบวกว่า ทุกคำแนะนำ ทุกความคิดเห็น มันไม่ใช่มาเพื่อทำลาย แต่มาเพื่อให้กำลังใจเราด้วยซ้ำไป ทำให้เราได้คิดมากขึ้น เราได้มีข้อมูล ข้อมูลสำคัญมาก เพราะเราทำเองเราไม่รู้เลย แต่พอคนอื่นเขาดูจากภายนอกเขาเห็นจุดบางอย่าง เราก็ต้องรับฟัง ย่าอยากทำแบบนั้น แล้วก็ย่าไม่อยากทำไปออกอากาศไปมันเหนื่อย อยากทำให้มันเกิดจริง ไม่อยากสร้างบท อาจจะทำลงในยูทูบ สร้างเด็กเป็นยูทูบเบอร์” ย่านิตทิ้งท้าย
- การดูแลหัวใจตัวเองด้วยการพูดดีๆ อย่างอ่อนโยน ไม่เร่งตำหนิ กดดันซ้ำเติมในสิ่งที่ผิดพลาด ไม่ได้หมายความว่าเราต้องละเลยข้อผิดพลาด แต่เป็นการรับรู้และเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และเข้าใจว่าการกลับไปตำหนิตัวเองก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
- สิ่งที่ทำให้ Self-Compassion กับ Self-Esteem ต่างกันอย่างมาก คือ Self-Compassion จะทำให้เราสามารถโอบกอดและรักตัวเองได้ แม้จะไม่เก่งกว่าคนทั่วไป แม้วันนี้จะล้มเหลว ซึ่งหากสิ่งนี้เป็นเพื่อนคนหนึ่ง เขาก็คงเป็นคนที่รักคุณอย่างไร้เงื่อนไข ยอมรับทุกอย่างที่คุณเป็นได้ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม
ความภาคภูมิใจ (Self-Esteem) ในตัวเองเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ เพราะมันทำให้เขารู้สึกรัก เคารพ และภูมิใจในความเป็นตัวเองได้ ความภาคภูมิใจจึงเปรียบเสมือนของขวัญที่มนุษย์อย่างเราต่างใช้ชีวิตเพื่อให้ได้มา
ซึ่งกระแสการพูดถึงความสำคัญของความภาคภูมิใจในวงการจิตวิทยามีมาค่อนข้างนาน จนปัจจุบันนี้มีงานวิจัย และหนังสือหลายพันชิ้นแล้ว
และแม้ความภาคภูมิใจจะมีประโยชน์มากมาย แต่งานวิจัยในปัจจุบันก็เริ่มแสดงให้เห็นอีกด้านของ Self-Esteem แน่นอนว่าสิ่งนี้สามารถลดความรู้สึกวิตกกังวล อาการซึมเศร้า ความเครียด เพิ่มความพึงพอใจ จิตใจที่มั่นคง ความมั่นใจ
แต่ความภูมิใจที่มากเกินไปก็อาจนำไปสู่อาการหลงตัวเอง (Narcissism) ซึ่งหมายถึงการเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล มีความมั่นใจในตนเองสูงจนอาจไม่ฟังความคิดเห็นคนรอบข้าง ต้องการความชื่นชมอย่างเดียวจนไม่สามารถยอมรับคำตำหนิได้ มีแนวโน้มที่จะควบคุมบงการคนรอบข้าง ไม่สามารถยอมรับการปฎิเสธได้ บางครั้งก็อาจเปลี่ยนให้กลายเป็นภูเขาไฟระเบิดขึ้นมาเมื่อมีสิ่งที่ขัดใจ
ในทางกลับกัน ถ้าความภาคภูมิใจต่ำเกินไปก็อาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด ทำร้ายตัวเอง ไม่มีแรงจูงใจ ไม่อยากทำอะไร มีปัญหาความสัมพันธ์
หลายครั้งที่ Self-Esteem เกิดจากการเปรียบเทียบ แข่งขัน ตัดสินในสิ่งที่เราให้คุณค่า เช่น ถ้าคุณให้ความสำคัญกับการทำงาน หากเพื่อนร่วมงานทำงานเก่งกว่า ก็มีแนวโน้มว่าความสามารถของเขาจะสามารถกระทบตัวตนหรือ Self-Esteem ของคุณได้ง่าย ในขณะที่ถ้าคุณไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น แม้เขาจะเก่งกาจแค่ไหน สิ่งที่เขาทำก็อาจไม่กระทบตัวตนคุณ
การเป็นคนธรรมดาทั่วไปสำหรับ Self-Esteem เป็นเรื่องไม่น่าพึงพอใจ เพราะ Self-Esteem มักจะบอกให้เราเป็นคนที่พิเศษที่เหนือค่าเฉลี่ย เป็นคนในแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถเก่ง เหนือทุกคนได้ แน่นอนว่าสุดท้ายก็จะมีคนเก่งกว่า สำเร็จกว่าอยู่ดี ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยหากจะบอกว่า Self-Esteem เป็นสิ่งที่ไม่มั่นคง การวิ่งไล่ไขว่คว้าเพื่อให้มี Self-Esteem อาจจะทำให้เหนื่อยไม่มีที่สิ้นสุดหากไม่สามารถหาสมดุลได้
แล้วอะไรจะมาทดแทน Self-Esteem ?
ใจดีกับตัวเองหน่อย ผ่าน Self-Compassion
คำตอบอยู่ที่ ความใจดีต่อตัวเอง หรือ Self-Compassion จากงานวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่ Self-Esteem ต่ำ แต่มี Self-Compassion ก็สามารถมีสุขภาพจิตที่ดีได้เหมือนมี Self-Esteem ในระดับที่สมดุล
Self-Compassion คือ การใจดีกับตัวเอง เมตตา ยอมรับ ให้อภัย และโอบกอดข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งคริสติน เนฟฟ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้แบ่งองค์ประกอบของ Self-Compassion เป็น 3 อย่าง
- การใจดีกับตัวเอง (Self-Kindness) หมายถึง การดูแลหัวใจตัวเองด้วยการพูดดีๆ อย่างอ่อนโยน ไม่เร่งตำหนิ กดดันซ้ำเติมในสิ่งที่ผิดพลาด
ไม่ได้หมายความว่าเราต้องละเลยข้อผิดพลาด แต่เป็นการรับรู้และเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และเข้าใจว่าการกลับไปตำหนิตัวเองก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
- เราต่างเป็นมนุษย์ (Common Humanity) คือ การตระหนักรู้ว่าความผิดพลาดและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ เราไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเจ็บปวดแบบนั้น อาจนึกถึงตอนที่คุณเล่าเรื่องที่รู้สึกแย่ให้เพื่อนฟัง แล้วเขาก็รับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่พูดแทรก และคอยอยู่ข้างๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คุณ
ซึ่งบางครั้งเวลาที่ล้มเหลว คุณอาจรู้สึกว่ามีบางอย่างในตัวคุณที่ผิดปกติ ‘คุณเป็นคนแย่’ คำพูดเชิงลบจะถาโถมมาที่ตัวตน (Self) จนรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยวพร้อมกับแบกรับความรู้สึกที่ท้วมท้นบนโลกใบนี้ (Isolation) การตระหนักรู้และเชื่อมโยงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มันก็มีคนอื่นที่รู้สึกเช่นนี้สามารถลดความรู้สึกโดดเดี่ยวลงได้
- การมีสติ (Mindfulness) คือ การไม่หลีกหนี เก็บกดความรู้สึก และก็ไม่อินกับความรู้สึกจนเกินไปจนไม่สามารถมองเห็นความจริงได้ มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี เวลานั้นอาจเป็นการที่คุณสูดลมหายใจเข้าลึกๆ และปล่อยออกช้าๆ เพื่อเรียกการตระหนักรู้กลับมาที่ตนเอง หรืออาจเป็นการสังเกตปฎิกริยาร่างกาย เช่น คุณมักขมวดคิ้วเวลาที่รู้สึกเครียด
สิ่งที่ทำให้ Self-Compassion กับ Self-Esteem ต่างกันอย่างมาก คือ Self-Compassion จะทำให้เราสามารถโอบกอดและรักตัวเองได้ แม้จะไม่เก่งกว่าคนทั่วไป แม้วันนี้จะล้มเหลว ซึ่งหากสิ่งนี้เป็นเพื่อนคนหนึ่ง เขาก็คงเป็นคนที่รักคุณอย่างไร้เงื่อนไข ยอมรับทุกอย่างที่คุณเป็นได้ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม
เบรนเน่ บราวน์ นักวิจัยด้านความรู้สึกละอายใจ (Shame Researcher) เคยกล่าวว่า การมี Self-Compassion คือการฝึกการยอมรับ ยิ่งเรายอมรับตัวเองได้มากเท่าไหร่ เรายิ่งจะมีเมตตาต่อตนเองได้มากเท่านั้น
ยอมรับบ้างว่าวันนี้เราทำได้แค่เท่านี้ ยอมรับว่าแม้เราจะไม่เก่งเหมือนคนอื่น เราก็จะรักตัวเองอยู่ดี ยอมรับผลลัพธ์ที่แม้วันนี้อาจจะทำในสิ่งที่คาดหวังไม่ได้ ยอมรับว่าแม้ตอนนี้ตัวเองทุกข์ทรมาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพรุ่งนี้จะหาความสุขไม่ได้ เมื่อฝึกยอมรับตัวเองอย่างไร้เงื่อนไข คุณจะสามารถใจดีกับตัวเองขึ้นได้อีกเยอะ คุณจะเป็นคนที่สามารถควบคุมและรับผิดชอบความรู้สึกของตัวเองได้ แม้สถานการณ์ภายนอกจะได้ดั่งใจหรือไม่ก็ตาม
Self-Compassion จะเป็นเหมือนเบาะรองก้นนุ่มๆ ที่จะคอยรองรับคุณจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด บางครั้งอาจเป็นการปฎิบัติต่อตนเองอย่างอ่อนโยน บางครั้งอาจไม่ได้อ่อนโยนนัก แต่เป็นการชัดเจนกับจุดยืน (Boundary) เพราะความปราถนาดี ซึ่งอาจเป็นการต้องปฎิเสธบางคนอย่างชัดเจน เพราะรู้ว่าการตอบตกลงเพื่อเอาใจเขา ไม่ใช่การมี Compassion แต่คือ การทำร้ายตนเองด้วยการละเลยความรู้สึก และทำร้ายเขาด้วยการไม่จริงใจ
เวลาพูดถึงการใจดีกับตัวเอง อาจมีคนนึกว่ามันคือการปฎิเสธ การตัดสิน การตีตรา การด่าว่าตัวเอง (Critic Mind) สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ เราไม่สามารถกำจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหัวเราออกไปได้ เสียงเหล่านั้นจะยังคงอยู่กับเราเสมอ เขามาเพราะหวังดีกับเรา บางครั้งเสียงตำหนิตัวเราอาจออกมาเพื่อเตือนให้เราตั้งใจทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มากขึ้น ให้ระลึกไว้ว่าเขา (เสียงวิพาก์วิจารณ์) มีเจตนาที่ดีเพียงแต่วิธีการเขาอาจไม่เหมาะสม เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาตะโกนเสียงตำหนิออกมาก็ให้ ‘รับรู้’ ว่าเขาหวังดีและส่งความรู้สึกขอบคุณเจตนาดีไปให้เขา
อีกอย่างที่สำคัญคือ การใจดีกับตัวเองไม่ได้หมายความว่าเราจะผ่อนปรนตัวเองจนไม่เอาอะไรเลย กลับกันเลย การมี Self-Compassion จะยิ่งทำให้คุณมีแรงบันดาลใจในออกไปทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น เพราะคุณไม่ได้จมอยู่กับมวลความรู้สึกของการตัดสิน
ถึงแม้ความเครียดหรือการกดดันจะสามารถเป็นแรงผลักดันให้คุณทำงานได้ แต่ความเครียดก็ไม่สามารถเป็นแรงขับระยะยาวได้ เพราะการต้องทำบางอย่างด้วยความรู้สึกหนักอึ้งเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ปัญหา ตามที่งานวิจัยทางจิตวิทยาได้ค้นพบว่า ความเครียดเรื้อรังสามารถส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ทางร่างกายและจิตใจได้
ในทางกลับกัน Self-Compassion สามารถเป็นแรงขับชั้นดีที่ไม่ส่งผลเสีย เพราะขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกรักตัวเองมากกว่าต้องการพิสูจน์ตัวตน
เราต่างรู้ดีว่าการใจดีกับคนอื่นเป็นเรื่องง่าย แต่ใจดีกับตัวเองเป็นเรื่องยาก
น้อยคนที่จะกอดตัวเองเหมือนเวลากอดคนอื่น น้อยคนที่จะพูดดีๆ กับตัวเองเหมือนที่พูดกับคนอื่น น้อยคนที่จะใส่ใจตัวเองเหมือนที่ใส่ใจคนอื่น
แล้ววันนี้จะเป็นอย่างไร หากคุณลองฝึกปลอบประโลมเวลาที่ตัวเองล้มเหลวเหมือนที่ปลอบประโลมคนรัก
ด้วยการพูดดีๆ ตระหนักถึงธรรมชาติความทุกข์ของมนุษย์ และฝึกสติ
คุณคนนั้นจะรู้สึกอย่างไร ?
ขอให้วันนี้ใจดีกับตัวเองให้มากครับ 🙂
อ้างอิง
Brown, B. (2010). The gifts of imperfection: Let go of who you think you’re supposed to be and embrace who you are. Hazelden Publishing.
Marshall, S. L., Parker, P. D., Ciarrochi, J., Sahdra, B., Jackson, C. J., & Heaven, P. C. (2015). Self-compassion protects against the negative effects of low self-esteem: A longitudinal study in a large adolescent sample. Personality and Individual Differences, 74, 116-121.
Neff, K. (2003). Self-compassion: An alternative conceptualization of a healthy attitude toward oneself. Self and identity, 2(2), 85-101.
Neff, K. D. (2011). Self‐compassion, self‐esteem, and well‐being. Social and personality psychology compass, 5(1), 1-12.
Neff, K. D., & Vonk, R. (2009). Self‐compassion versus global self‐esteem: Two different ways of relating to oneself. Journal of personality, 77(1), 23-50.
- หากเราเป็นคนหนึ่งที่มักรู้สึกผิดแม้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย หรือรู้สึกผิดแทบทุกคราที่ได้ยินการก่นว่าขึ้นลอยๆ ซึ่งคลับคล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนตำหนิมาจนฝังหัว อาจมีคนบอกว่าเรารู้สึกผิดไปเอง เรื่องราวมันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ซึ่งทำให้เราต้องรู้สึกผิดซ้อนเข้าไปอีก กล่าวคือ รู้สึกผิดที่ตัวเองรู้สึกผิด!
- ปัจจัยส่วนหนึ่งอาจมาจากการเลี้ยงดูตอนเด็ก เด็กบางคนโตมากับผู้ดูแล หรือพ่อแม่ที่คุ้นชินกับการตำหนิ ไม่ว่าเขาจะพยายามทำตัวเป็นประโยชน์เพียงใดก็ตาม ก็จะยังถูกตำหนิไปเรื่อยอยู่ดี หนำซ้ำเด็กนั้นก็อาจได้ฟังคำลดทอนคุณค่าและความเชื่อมั่นจากข้อความทำนองนี้บ่อยๆ อีกด้วย เช่น “คนอย่างเธอไม่มีทางได้อะไรดีกว่านี้หรอก นอกเสียจากจะต้องพึ่งพาฉัน” “คนอื่นไม่ต้อนรับเธอหรอก ดีเท่าไหร่แล้วที่คนอย่างฉันช่วยเหลือ”
- ไม่ว่าผู้ที่เคยดูแลเราจะเป็นแบบไหนก็ตาม ตัวละครอย่างมิสสิสโจในเรื่อง Great Expectations เป็นเพียงตัวเทียบเพื่อให้เห็นว่าผู้ดูแลเองก็มีความทุกข์ของเขา และมันก็อาจเป็นเรื่องยากที่เขาจะทำงานกับความเจ็บปวดในวัยของเขาตอนนี้ แต่เราเองสามารถตั้งใจที่จะก้าวพ้นจากความทุกข์โศกในส่วนของเราได้ เพราะเราเองในวัยผู้ใหญ่ย่อมเลือกที่จะก้าวข้ามโปรแกรมทางจิตจากวัยเด็กของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย
อ่านบทความตอนที่ 1 ได้ที่นี่
Great Expectations เป็นนวนิยายของ ชาร์ลส์ ดิกเคนส์ (Charles Dickens) นักเขียนอังกฤษเลื่องชื่อแห่งยุควิกตอเรียน ในช่วงปีที่ดิกเคนส์เริ่มเขียนงานดังกล่าว แนวคิดเรื่องอิทธิพลจากธรรมชาติ (nature) ของมนุษย์และการเลี้ยงดู (nurture) ต่อพัฒนาการของมนุษย์กำลังเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่โตของสาธารณะ พิพ (Pipp) ตัวละครเอกของเรื่อง Great Expectations แสดงให้เราเห็นผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู ที่ทำให้เด็กชายพิพรู้สึกผิดอยู่แทบตลอดเวลา ซึ่งสามารถทำให้ชีวิตผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นผืนผ้าที่ถักทอขึ้นด้วยความรู้สึกผิดอันซับซ้อน ทว่าตราบใดที่เรายังสามารถสัมผัสความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ก็ยังหวังได้ว่าเราจะสามารถบรรเทาหรือเพิกเฉยต่อความรู้สึกผิด ในส่วนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดได้
1.
พิพเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่และพี่น้องห้าคนในครอบครัวของเขาเสียชีวิตไปแล้ว และพี่สาวของพิพ หรือที่เขาเรียกว่า มิสซิสโจ ได้นำเขามาเลี้ยงไว้ที่บ้านในพื้นที่หนองบึง ณ ชนบทของเมืองเคนท์
บ้านหลังดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้สุสานและท่าเรือบรรทุกนักโทษ
วันหนึ่ง ในขณะที่พิพนั่งมองหลุมศพของพ่อแม่และพี่น้องที่ตายไป ณ สุสานใกล้บ้าน นักโทษหลบหนีชื่อ แมกวิช ก็จู่โจมเด็กชายพร้อมทั้งบอกให้ไปเอาอาหารกลับมาให้ในเช้าวันรุ่งขึ้น พิพเลือกจะช่วยนักโทษคนนี้ด้วยความกรุณา แต่นั่นยิ่งทำให้เด็กชายรู้สึก ‘มีความผิด’ เขาเดินฝ่าหมอกแห่งรุ่งอรุณในวันถัดมาเพื่อนำอาหารที่ขโมยจากบ้านไปให้นักโทษ ด้วยความรู้สึกเหมือนทุกอย่างอันปรากฏขึ้นจากมวลหมอกนั้นวิ่งพุ่งมาที่เขา
ไม่เพียงแต่พิพต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดที่มักผุดขึ้นมาในชีวิตตลอดการเติบโตขึ้นมา แต่เขายังต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ด้วย
ในบ้านที่พิพอาศัยอยู่ในวัยเด็กนั้น แม้จะมีคุณโจ สามีผู้อ่อนโยนและเปี่ยมคุณธรรมของมิสซิสโจอยู่ด้วย แต่มิสซิสโจก็ตบตีทำร้ายพิพและสามีของเธอ จะมีก็เพียงข้อยกเว้นกับคนนอกบ้าน ซึ่งมิสซิสโจจะมีท่าทีสุภาพตราบเท่าที่เธอได้รับการเยินยอและเป็นใจกลางของการสนทนา มิสซิสโจเคยถึงขนาดคัดค้านการศึกษาของสามีเพราะเธอกลัวว่าหากสามีเลื่อนสถานะขึ้นแล้ว เธอจะถูกทอดทิ้ง
มิสซิสโจทำให้พิพในวัยเด็กรู้สึกผิดกับแทบทุกอย่างที่เขาทำ แม้แต่ ‘แค่มีชีวิต’ ทั้งที่คนอื่นในครอบครัวตาย ก็ผิดแล้ว ในขณะเดียวกันเธอเตือนอยู่เสมอว่าเขาโชคดีเพียงใดที่เธอใจดีเลี้ยงดูเขา เมื่อพิพในวัยทารกไม่สบาย มิสซิสโจพรรณนาอาการป่วยไข้ของทารกน้อยอย่างไร้สงสารราวกับการป่วยเป็นอาชญากรรม มีอยู่ครั้งหนึ่ง พิพถามคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องคุกเรือแถวบ้าน มิสซิสโจกลับตอบตัดรำคาญว่า เธอไม่ได้เลี้ยงเขามาด้วยมือของเธอเพื่อให้เขามารบกวนคนอื่น และยังบอกอีกว่านักโทษในนั้นกระทำสิ่งเลวร้ายต่างๆ และคนพวกนั้นก็เริ่มต้นด้วยการถามคำถาม (เหมือนพิพ) นี่แหละ!
อย่างไรก็ตามภายหลังพิพก็ได้ก้าวพ้นไปจากมิสซิซโจ วันหนึ่งเขาได้รับทุนจากบุคคลนิรนามให้ไปชุบชีวิตใหม่กลายเป็นสุภาพบุรุษชั้นสูงในมหานครลอนดอนดั่งที่เขาอยากถีบตัวขึ้นพ้นจากภูมิหลังที่รู้สึกไม่ดีพอ ชายหนุ่มหลงเพ้อพกว่าหญิงชนชั้นสูงคนหนึ่งเป็นผู้ให้ทุนเพื่อพลิกชีวิตของเด็กชนบทอย่างเขา ทว่าสุดท้ายเขาก็พบความจริงว่านักโทษ แมกวิช ต่างหากที่เป็นผู้อุปการะเขาตลอดมา
นักโทษเป็นภาพแทนของคน ‘มีความผิด’ ซึ่งเป็นความรู้สึกเก่าก่อนที่พิพไม่เคยหนีพ้น “ส่วนหนึ่งของเมล็ดพันธุ์ของเขาก็คือ ‘นักโทษ’ ” เมื่อทราบความจริงว่าอดีตนักโทษส่งเขาไปลอนดอน พิพผู้มักเห็นแต่ข้อบกพร่องของตัวเองก็รู้สึกสั่นคลอน
กระนั้น พิพก็เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความกระอักกระอ่วนใจต่างๆ และกลับไปสัมผัสความดีงามที่มีตามธรรมชาติของตนเอง ภายหลังเขาดูแลเมกวิชตราบจนลมหายใจสุดท้ายเสมือนเป็นพ่ออีกคน แม้นว่าแมกวิชจะเป็นนักโทษ แต่บัดนี้เขาเห็นแมกวิชเป็นเพียงชายที่รักและเกื้อกูลเขาอย่างแน่วแน่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ต่างจากคุณโจ ซึ่งแม้เป็นเพียงช่างตีเหล็กที่ภายนอกดูหยาบกร้าน ทว่าก็เป็นเหมือนพ่อและเพื่อนแท้ผู้คอยดูแลพิพในยามยากและพร้อมให้อภัยเสมอ
2.
“นักโทษ” ต้องทัณฑ์ ที่คอยตอบสนองคำตำหนิและความเกรี้ยวกราดของผู้อื่น
หากเราเป็นใครคนหนึ่งที่มักรู้สึกผิดแม้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย หรือรู้สึกผิดแทบทุกคราที่ได้ยินการก่นว่าขึ้นลอยๆ ซึ่งคลับคล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนตำหนิมาจนฝังหัว อาจมีคนบอกว่าเรารู้สึกผิดไปเอง เรื่องราวมันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ซึ่งทำให้เราต้องรู้สึกผิดซ้อนเข้าไปอีก กล่าวคือ รู้สึกผิดที่ตัวเองรู้สึกผิด! หรืออาจมีคนถามว่า ใครสอนให้เราต้องพุ่งพรวดเข้าไปรับผิดชอบความรู้สึกไม่พอใจ โดยเฉพาะที่พ่นออกมาลอยๆ ของคนอื่นเช่นนี้
แล้วใครล่ะที่สอนเรา? เด็กบางคนมีผู้ดูแล หรือพ่อแม่ที่คุ้นชินกับการตำหนิ ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะพยายามทำตัวเป็นประโยชน์เพียงใดก็ตาม ก็จะยังถูกตำหนิไปเรื่อยอยู่ดี หนำซ้ำเด็กนั้นก็อาจได้ฟังคำลดทอนคุณค่าและความเชื่อมั่นจากข้อความทำนองนี้บ่อยๆ อีกด้วย เช่น “คนอย่างเธอไม่มีทางได้อะไรดีกว่านี้หรอก นอกเสียจากจะต้องพึ่งพาฉัน” “คนอื่นไม่ต้อนรับเธอหรอก ดีเท่าไหร่แล้วที่คนอย่างฉันช่วยเหลือ” ฯลฯ คลับคล้ายกับที่มิสซิสโจพูดกับพิพ
สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งมีสัญญาเตือนภัยที่เปิดอยู่ตลอด และเมื่อโตมาเขาก็สามารถพยากรณ์ ‘ความผิด’ ของตนเองได้ล่วงหน้า ประหนึ่งว่าสายตาทุกคู่กำลังพุ่งชำแรกผ่านมวลหมอกมาจ้องจับผิดเขา เขาอธิบายการกระทำของตนเองโดยอัตโนมัติ หรือรีบแก้ตัวแม้ก่อนที่จะมีใครตำหนิวิจารณ์ (ซึ่งในบ้านของเขา เขาก็มักจะถูกตำหนิอย่างที่คาดการณ์ไว้จริงๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) หรือคอยตั้งรอตอบสนองความไม่พอใจของใครสักคนเพราะว่ามันคือความรอดเดียวในวัยเด็ก และเขาก็คอยทำเช่นนั้นอย่างเดียวดายและแปลกแยกภายในราวกับเป็นนักโทษขังเดี่ยว เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่วิตกกังวลว่าจะทำให้ใครไม่พอใจ และลึกๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองมีตำหนิ คล้ายพิพที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองดีพอ
3.
ถ้าย่อหน้าข้างต้นบอกเล่าอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรา ลองถามตัวเองไหมว่า เราเคยมีผู้ดูแลที่มีระดับความรุนแรงเข้มข้นพอกันกับมิสซิสโจหรือไม่? แต่อีกกรณีเราอาจจะแค่เคยมีผู้ดูแลที่มีบุคลิกช่างติซึ่งที่จริงเขาปราศจากเจตนาร้าย เพียงแค่ผู้ดูแลเองเคยได้รับสารในวัยเด็กว่าเขาต้องไร้ที่ติ ฯลฯ กระนั้น ไม่ว่าผู้ที่เคยดูแลเราจะเป็นแบบไหนก็ตาม นี่ก็เป็นเพียงการวาดภาพเพื่อให้พอจะเห็นว่าผู้ดูแลเองก็มีความทุกข์ของเขา ไม่ใช่เพื่อกล่าวโทษว่าเขาทำให้เราเป็นคนที่มักรู้สึกผิดมา ตลอดชีวิต เพราะในบางเวลาผู้ดูแลช่างติก็อาจเป็นผู้ใหญ่ใจดีแบบคุณโจอยู่บ้าง และที่สำคัญ เราเองในวัยผู้ใหญ่ย่อมเลือกที่จะก้าวข้ามโปรแกรมทางจิตจากวัยเด็กของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย เฉกเช่นที่พิพใน Great Expectations ก็ก้าวข้ามข้ามวิธีคิดส่วนหนึ่งของตัวเองไปได้
หากว่าคุณเคยมีผู้ดูแลที่คล้ายกับมิสซิสโจ
มีการวิเคราะห์กันมากว่า มิสซิสโจมีอาการต่างๆ ของคนเป็นโรคหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder- NPD) ทั้งนี้ ดร. Elsa F. Ronningstam นักจิตวิทยาคลินิกซึ่งรักษาคนที่เป็นโรคหลงตัวเองมาเกินกว่า 20 ปี กล่าวถึงอาการของโรคหลงตัวเอง เช่น เห็นตัวเองสำคัญเกินจริง คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นและเห็นว่าคนอื่นด้อยค่า หิวแสง เกรี้ยวกราดในเรื่องไม่สมเหตุผล และเมื่อฉุนเฉียวก็จะเริ่มก้าวร้าวและเป็นเผด็จการ เขาไม่อาจเข้าใจความลำบากของผู้อื่นในลักษณะของการร่วมรู้สึกได้
แต่ถ้าลองสังเกตกันจริงๆ คนทั่วไปที่ไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็น NPD รวมถึงคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆ บางเวลาก็แสดงลักษณะต่างๆ ดังกล่าวเช่นกัน เรามั่นใจได้เพียงไหนว่า เวลาที่เราพูดถึง ‘คนอื่น’ ที่มีลักษณะต่างๆ ที่สอดคล้องกับอาการหลงตัวเอง เราเองจะไม่ได้แสดงลักษณะเหล่านั้นบ้างเป็นครั้งคราว? ลักษณะที่เราปฏิเสธว่าไม่ได้มีอยู่ในตนเองนั้น อาจทอดเงามืดติดตามเรามาได้เสมอ
ทั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าการเห็นว่าผู้ดูแลแสดงพฤติกรรมแบบ NPD เป็นแค่การฉายภาพไปที่คนอื่น (projection) ทุกกรณี และไม่ได้บอกว่ามันก้าวข้ามง่าย คนที่ตั้งใจจะก้าวข้ามจึงน่านับถือหัวใจอย่างมาก แต่ถ้าเราเคยมีผู้ดูแลคล้ายมิสซิสโจที่มักพูดให้เรารู้สึกผิดและด้อยค่า อาจลองมองในมุมนี้ว่าหลายครั้งคำพูดโหดร้ายก็เป็นแค่วิธีรับมือ (coping) กับความตึงเครียดของคนที่พูด ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวเรา อีกทั้งเขาก็อาจไม่รู้แล้วด้วยซ้ำว่าแรงขับต้นขั้วที่ทำให้เขาทุกข์จนต้องพูดใส่เราแบบนั้นคืออะไร
ผู้ดูแลที่เป็นเช่นนั้นอาจเคยมีหัวใจที่แตกสลายมาก่อนและมันก็ยากที่เขาจะทำงานกับความเจ็บปวดในวัยของเขาตอนนี้ แต่เราเองสามารถตั้งใจที่จะก้าวพ้นจากความทุกข์โศกในส่วนของเราได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ามันชอบธรรมที่เขาจะทำอะไรกับเราก็ได้ กรณีที่มีพฤติการณ์อื่นๆ อันเกี่ยวกับความปลอดภัยร่วมอยู่ด้วย ก็มีหลายคนใจเด็ดพาตัวเองออกมาจากสิ่งแวดล้อมลักษณะนั้นก่อน จากนั้นก็หาทางเยียวยาตนเองกระทั่งจิตใจมั่นคง แล้วถึงพิจารณาชั่งน้ำหนักเรื่องการย้อนกลับไปดูแลผู้ที่เคยดูแลในภายหลัง
เรื่องทำนองดังกล่าวมักคลุกเคล้าอยู่กับค่านิยมทางวัฒนธรรมเช่น หลากหลายนิยามของคำว่า ‘กตัญญู’ อีกทั้งยังมีประเด็นความรู้สึก ‘มีค่า’ อย่างการถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่รู้สึกมีค่าพอที่สถานที่อื่นจะต้อนรับ ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดสถานการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลยและละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอละไว้ในที่นี้
ผู้ดูแล ได้รับสารในวัยเด็กว่าเขาต้องไร้ที่ติจึงจะได้รับการยอมรับ
อีกกรณีที่พบคือ ผู้ใหญ่ช่างติบางคนเจตนาดีมาก เพียงแต่เขาได้รับข้อความตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก (Childhood Message ดังกล่าวไม่เป็นจำเป็นต้องเป็นสิ่งที่คนอื่นบอก แต่เป็นสิ่งที่เด็กคนนั้น ‘ได้ยิน’ และติดอยู่ในใจ) ว่ามันไม่โอเคที่จะทำผิดพลาดหรือไม่สมบูรณ์แบบ หรือไม่ทำให้ ‘ถูกต้อง’ ภายในครั้งแรก เขาจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อทำตามกฎอย่างไร้ที่ติแล้วเท่านั้น เขากลัวว่าจะชั่วร้ายหรือมีข้อบกพร่อง ชีวิตเขาจึงมีแรงขับที่เต็มไปด้วยคำว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ และคอยมองหาสิ่ง ‘ผิดพลาด’ ข้อบกพร่องที่เขาเห็นว่าเรามีอยู่มากมายนั้น เกิดจากการที่เขาเฆี่ยนตีตัวเองมากกว่านั้นไปอีก
ความรู้สึกบกพร่องและ ‘ต้อง’ ที่ผู้ใหญ่ลักษณะนี้บอกกับเราไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว มันสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีวินัย พยายามทำสิ่งที่ถูกต้องและมีแรงขับในการพัฒนาตัวเอง แต่ส่วนที่มากเกินไปจนเป็นโทษ เราอาจทำได้เพียงเป็นเสียงที่ขอบคุณและบอกผู้ใหญ่คนนั้นว่า เขาดีอยู่แล้วในแบบที่เขาเป็น แม้จะไม่สมบูรณแบบก็ตาม
4.
กลับมาตระหนักรู้สัญญาณเตือนภัยที่ไม่จริง และเลิกเป็นนักโทษความรู้สึกผิด
ผู้รู้สึกผิดพร่ำเพรื่อแม้ไม่ได้ทำอะไรผิด อีกทั้งตอบสนองทุกความเกรี้ยวกราดของผู้อื่น ถึงจุดหนึ่งก็ย่อมจะเหนื่อยล้าเต็มทน วันหนึ่งเขาจะเห็นเสียงเพรียกต่างๆ มันอาจเป็นความป่วยไข้ มันอาจเป็นอุบัติเหตุ มันอาจเป็นความฝันซ้ำๆ และอะไรอีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะปรากฏขึ้นเป็นอะไร มันคือ ‘สัญญาณ’ ที่บอกให้เรากลับมาถามตัวเองว่าเราต้องกระโจนเข้าไปรับผิดชอบ ทุก การระเบิดอารมณ์ไม่พอใจของผู้อื่นเมื่อผู้อื่นไม่ได้ในสิ่งที่คาดหวัง หรือไม่? เราต้องตอบสนองเขาเพราะเรา ‘มีความผิด’ (จริงหรือ?) และต้อง ‘รับผิด’ ชอบ หรือหลายๆ กรณี เขาต่างหากที่ต้องรับผิดชอบความรู้สึกของเขาเอง?
ลองถอยมามองภาพใหญ่แบบวิญญูชนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ หรือหาคนแบบนั้นมาสะท้อนเรื่องราวดูก็ได้ เราอาจเห็นสัญญาณเตือนภัย (ความรู้สึกผิด) ที่เป็นเท็จและมั่วซั่วได้ชัดเจนขึ้น
และบางทีการไม่ตอบสนองทุกความรู้สึกผิดที่ถูกถ่ายเทมา ไม่เพียงเป็นการเติบโตของเรา แต่เป็นการให้โอกาสอีกฝ่ายเติบโตด้วยเหมือนกัน
อาจลำบากใจหน่อย แต่มีครั้งแรกได้นะ
อ้างอิง
Great Expectation โดย Charles Dickens
Guilt and Your Narcissistic Parent
Enneagram: Am I Type 1? โดย Dr. Tom LaHue
The Theme of Guilt and its Function in “Great Expectation” by Charles Dickens โดย Donna Hilbrandt
Crime in Great Expectation โดย John Mullan จากเว็ปไซต์หอสมุดสหราชอาณาจักร
- สำหรับเรื่องบางเรื่อง เนื้อหาไม่สำคัญเท่ากับวิธีการเล่า วิธีคิดของเอิร์ธ – บุ๋น – สปาย – มีน 4 วัยรุ่นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนระยองวิทยาคม ในการลงมือสร้าง Blood Buddy เพื่อนรักพิทักษ์เลือด โปรแกรมสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับเลือด โดยนำศาสตร์ชีววิทยาอย่างเรื่องเลือดมาเล่าใหม่ สร้างเป็นคาแรกเตอร์ตัวละคร เป็นการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่แทนการอ่าน textbook เล่มหนาๆ
- “เราต้องเอาเนื้อหามาแต่งเป็นนิทานก่อน วาดเป็นสตอรี่บอร์ด แล้วค่อยออกแบบคาแรกเตอร์ ออกแบบฉากว่าภาพที่ออกมาควรเป็นแบบไหน เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถของเม็ดเลือดว่าเป็นแบบไหน อย่างเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ส่งสารอาหารไปให้ร่างกาย ก็เล่าเรื่องว่าเขาเป็นบุรุษไปรษณีย์ที่เกิดมาจากบริษัทไขกระดูก แล้วทำหน้าที่ส่งของไปทั่วร่างกาย เอาขนมปังที่เป็นสารอาหาร เอาออกซิเจนไปวางไว้ตามบ้านต่างๆ ซึ่งบ้านก็เปรียบเหมือนอวัยวะ”
- กว่าจะออกมาเป็นโปรแกรมดังกล่าว พวกเขา 4 คนต้องทำอะไรบ้าง ชวนไปดูเบื้องหลังกระบวนการผลิตในบทความชิ้นนี้
ในสายตาของคนนอก นวัตกรอาจอยู่ในสถานะของผู้รู้ทุกสิ่งอย่างทะลุปรุโปร่ง และนวัตกรรมที่เขาสร้างนั้นก็อาจเกิดขึ้นมาอย่างง่ายดายประหนึ่งดีดนิ้วเสกเอา
ทว่าในความเป็นจริงนั้น ไม่มีนวัตกรรมใดที่เกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ เหมือนดีดนิ้ว และไม่มีนวัตกรคนใดที่รู้แจ้งแทงตลอด เพราะเส้นทางของนวัตกรล้วนเต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องแก้ และความไม่รู้ที่ต้องหาคำตอบหรือทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้รู้!
เช่นเดียวกับ เอิร์ธ – ธนกฤต สวนใต้, บุ๋น – ญาณิศา ภัสสรสมบัติ, สปาย – วาริส หลักทอง และ มีน – ธรรณชนก ทรงชัย 4 หนุ่มสาว ม.6 จากโรงเรียนระยองวิทยาคม ที่กว่าจะพัฒนาผลงาน Blood Buddy เพื่อนรักพิทักษ์เลือด โปรแกรมสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับเลือดขึ้นมาได้นั้น พวกเขาต้องผ่านการเรียนรู้มากมาย และที่สำคัญคือ เป็นการเรียนรู้ที่ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง
หากภาษิตโบราณที่ว่า สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ ยังคงเป็นจริงฉันใด
สำหรับเอิร์ธ – บุ๋น – สปาย – มีน อาจต้องเพิ่มไปอีกวรรคว่า สิบมือคลำ ไม่เท่าทำเอง
แตกต่างด้วยความคิดสร้างสรรค์
หากคุณเป็นนักเขียน คุณจะรู้ว่าโลกของเรามีเรื่องให้เล่าอยู่ไม่กี่เรื่อง และส่วนใหญ่ก็ถูกคนรุ่นเก่าเล่าไปจนเกือบหมดแล้ว ครั้นจะหยิบมาเล่าใหม่ มันก็คือการผลิตซ้ำที่อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลอะไร
สำหรับเรื่องบางเรื่อง เนื้อหาที่จะเล่าจึงไม่สำคัญเท่ากับวิธีการเล่า… และนั่นเองคือวิธีคิดของทีม Blood Buddy ที่นำศาสตร์ชีววิทยาอย่างเรื่องเลือด มาเล่าใหม่ด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป โดยใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดขาย เป็นการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่แทนการอ่าน textbook เล่มหนาๆ
“เราตั้งใจจะทำสื่อการเรียนรู้ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี คิดเพ้อเจ้อไปเรื่อย เห็นหมาเดินผ่านมาก็คิดว่าทำเรื่องหมาไหม (หัวเราะ) ทำสื่อการเรียนรู้เรื่องหมา แต่มันก็ธรรมดาไป จนเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาตอนเรียนชีวะ ที่ครูให้แนวคิดในการออกแบบคาแรกเตอร์ให้กับสิ่งต่างๆ โดยครูให้งานมาชิ้นหนึ่ง ให้เม็ดเลือดมา บอกคุณสมบัติมา แล้วให้เด็กกลับไปวาดรูปว่าเม็ดเลือดน่าจะมีคาแรกเตอร์แบบไหน เราจึงเกิดไอเดียว่าอยากจะทำสื่อการเรียนรู้เรื่องเลือด” เอิร์ธ เล่าถึงที่มาของผลงาน
เมื่อไอเดียเกิด ทีมก็ช่วยกันวางโครงสร้างของผลงานว่าจะทำออกมาในรูปของแอปพลิเคชัน ที่พูดถึงเรื่ององค์ประกอบของเลือดว่า องค์ประกอบแต่ละตัวมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง โดยแปลงรูปลักษณ์ทางชีววิทยาของเลือดและองค์ประกอบในเลือดออกมาเป็นคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนอนิเมชันที่สดใสน่ารัก พร้อมสร้าง Interactive เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้ใช้
“เรานำแนวคิดไปปรึกษากับอาจารย์ ช่วยกันกำหนดเนื้อหา แล้วเราก็มาคุยกันก่อน ว่าเราอยากเล่าเรื่องของตัวนี้แบบไหน ประมาณไหน จะเอาเนื้อหาไปใส่เลยไม่ได้ เพราะว่ามันต้องเป็นเรื่องราว” มีน กล่าว
ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก เพราะต้องสร้างคาแรกเตอร์ของเม็ดเลือดและองค์ประกอบของเลือดให้มีความน่าสนใจ และขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้หลุดไปจากบทบาทหน้าที่ในความเป็นจริงทางชีววิทยาด้วย
“เราต้องเอาเนื้อหามาแต่งเป็นนิทานก่อน วาดเป็นสตอรี่บอร์ด แล้วค่อยออกแบบคาแรกเตอร์ ออกแบบฉากว่าภาพที่ออกมาควรเป็นแบบไหน เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถของเม็ดเลือดว่าเป็นแบบไหน อย่างเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ส่งสารอาหารไปให้ร่างกาย หนูก็เล่าเรื่องว่าเขาเป็นบุรุษไปรษณีย์ที่เกิดมาจากบริษัทไขกระดูก แล้วทำหน้าที่ส่งของไปทั่วร่างกาย เอาขนมปังที่เป็นสารอาหาร เอาออกซิเจนไปวางไว้ตามบ้านต่างๆ ซึ่งบ้านก็เปรียบเหมือนอวัยวะ” บุ๋น เล่ากระบวนการทำงานของทีม โดยบุ๋นรับผิดชอบการออกแบบคาแรกเตอร์ มีนออกแบบฉากและ UI/UX สปายเขียนโค้ด เอิร์ธเขียนโค้ดและทำกราฟิก
นอกจากคาแรกเตอร์ของเม็ดเลือดแดงแล้ว บุ๋นยังยกตัวอย่างคาแรกเตอร์อื่นๆ อีกไม่น้อยพอเป็นสังเขป ซึ่งจะเห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ทำให้ผลงานของพวกเขาแตกต่างและโดดเด่นน่าสนใจ
เช่น อีโอซิโนฟิล (Eosinophil) เม็ดเลือดขาวที่สามารถปล่อยเอนไซม์ออกมาฆ่าพยาธิหรือเชื้อโรค บุ๋นจึงออกแบบคาแรกเตอร์ให้เป็นแม่มดที่คอยปรุงยาฆ่าพยาธิ นิวโตรฟิล (Neutrophils) เม็ดเลือดขาวที่ตายแล้วจะกลายเป็นหนอง ถูกออกแบบให้เป็นอัศวินพลีชีพ เบโซฟิล (Basophil) เม็ดเลือดขาวที่เคลื่อนที่ได้เร็วที่สุด คอยปล่อยสารฮิสตามีน (histamine) และ สารเฮพาริน (heparin) ถูกออกแบบให้เป็นนักสเก็ตบอร์ด และมีกระป๋องสเปรย์คอยพ่นใส่ตามกำแพง เป็นต้น
งานเคลื่อนไปด้วย Self Learning
เพราะลำพังนวัตกรมืออาชีพยังมีเรื่องอีกมากมายที่ยังไม่รู้ และต้องเรียนรู้ใหม่ไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทีม Blood Buddy ที่มีสถานะเป็นมือใหม่ ย่อมต้องมีเรื่องราวให้พวกเขาต้องเรียนรู้และฝึกทักษะมากมายก่ายกอง
แน่นอนว่าเป็นภาระที่หนัก แต่ก็น่าสนใจว่าพวกเขามีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการพยายามพัฒนาผลงานให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และส่งต่อไปยังผู้ใช้ให้ได้ในปลายทาง นั่นทำให้แม้จะต้องเรียนรู้และฝึกอะไรต่อมิอะไรมากมาย พวกเขาก็พร้อมที่จะลงมือทำ
“ตั้งใจจะทำอนิเมชันแต่ความจริงก็คือตอนคิดจะทำ หนูไม่เคยทำแอนิเมชั่นมาก่อนเลย (หัวเราะ) โปรแกรม Illustrator (Ai) ก็ไม่มีความรู้ ส่วนโปรแกรม After Effect (Ae) ก็ใช้ไม่เป็น แต่ในเมื่อทีมคิดว่าอยากให้โปรแกรมเราเป็นรูปแบบอนิเมชันหนูเลยต้องขวนขวายไปให้อาจารย์สอนนอกเวลาตอนเย็นหลังเลิกเรียน แล้วก็กลับมาศึกษาและลองทำเอง พอทำแล้วฟีดแบคดี ทำแล้วคนอื่นชมว่าโปรแกรมนี้ดี เรามีฝีมือ หนูก็ภูมิใจว่าเราก็ไปได้เหมือนกัน” บุ๋นกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ไม่ต่างกับมีนที่ก็เริ่มต้นจากการทำอะไรไม่เป็น แต่ด้วยภาระงานทำให้เธอต้องหัดใช้โปรแกรมปั้นโมเดล 2D และ 3D จนเป็นในที่สุด
และไม่ใช่เพียงทักษะด้านไอทีเท่านั้นที่ทุกคนในทีมต้องฝึกปรือและเรียนรู้ แต่ทักษะด้านสังคม เกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะนวัตกรที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม งานจะเดินได้ต้องอาศัยการสื่อสารและบริหารจัดการทีมเวิร์คอย่างเป็นระบบ ซึ่งงานนี้ทีมได้ฝึกฝนทักษะด้านนี้ไปเต็มๆ
“การทำอนิเมชันต้องใช้เวลา สิ่งสำคัญคือต้องคุยกับเพื่อนๆ และบริหารจัดการงานและเวลาให้ดี ทำงานเป็นทีมให้เยอะๆ เพราะอย่างมีนต้องคอยพากย์เสียง ถ้าหนูทำอนิเมชันเร็วไปจนมีนพากย์ไม่ทัน หนูก็ต้องเอามาแก้” บุ๋นกล่าว
“ส่วนผมเป็นคนรวมงาน coding” สปาย กล่าวเสริม “นอกจากต้องอดทนรอเพื่อนแล้ว เราต้องกล้าที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพราะผมเป็นคนสุดท้าย ตรงไหนไม่โอเคต้องบอกเพื่อนให้แก้ หน้างานเราก็ต้องทำให้ทัน ต้องหาความรู้เพิ่ม จากเดิมที่มีอยู่แล้วก็ต้องหาเพิ่มอีก เพราะเทคโนโลยีมันมีมาใหม่ตลอด เราก็ต้องหาเครื่องมือหรือวิธีการที่ดีที่สุด”
ความสำคัญของสายตาคนนอก
ดังที่กล่าวไปแต่ต้น ว่าสายตาของคนนอกที่มองเข้ามา อาจไม่เข้าใจความเป็นนวัตกรหรือกระบวนการสร้างนวัตกรรมได้ชัดเจนเท่าไหร่นัก
ทว่าสายตาของคนนอกกลับเป็นปัจจัยสำคัญที่นวัตกรไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะนวัตกรมือใหม่ เพราะสายตาที่มองมาอาจสะท้อนมุมมองที่นวัตกรมองข้ามหรือตกหล่นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองจากกลุ่มผู้ใช้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมนั้นๆ ซึ่งทีมก็ไม่พลาดที่จะนำผลงานไปให้ผู้ใช้ทดลองเล่นในทุกครั้งที่มีโอกาส ทั้งที่โรงเรียนและในค่ายโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 7
“ตอนทำส่ง NSC (การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย หรือ National Software Contest) ผลงานยังเป็นโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ PC จนตัดสินใจกันว่าจะส่งเข้าโครงการต่อกล้า เราก็เลยอยากพัฒนาลงระบบแอนดรอยด์ ซึ่งการเข้าต่อกล้า ทำให้รู้เลยว่าโปรแกรมเรายังใช้จริงไม่ได้ ปัญหาเยอะมากโดยเฉพาะเรื่อง UX (User Experience) การวางปุ่มไม่ถูกที่ ผู้ใช้ก็กดไม่ถูก แต่ก็เพราะค่ายนี้นี่แหละที่ทำให้เราได้ปรับปรุงโปรแกรมให้ดีขึ้น” เอิร์ธกล่าว
“เราเทสต์ทุกครั้งที่มีโอกาส ที่โรงเรียนพวกหนูจะสนิทกับน้องสายวิทย์-คอมฯ หนูก็จะใช้น้องเทสต์ ฟีดแบคจะต่างกัน ในค่ายต่อกล้าก็เทสต์ ดูพฤติกรรมผู้ใช้ และถามไปด้วย เพราะบางอย่างเราก็ไม่รู้ว่าผู้ใช้คิดอะไรอยู่ ก็ได้รู้เยอะมาก” มีนกล่าว
นั่นคือกระบวนการที่ผู้ใช้หรือผู้รู้ภายนอกชี้ให้ทีมเห็นถึงปัญหาของผลงาน แต่อย่างไรก็ดี แม้สายตาของคนนอกจะสำคัญ แต่บางครั้งสายตาที่มองและคำแนะนำที่เปร่งออกมาจากหลายฝ่ายมากเกินไป ก็อาจทำให้นวัตกรไขว้เขวได้
“กรรมการหลายคนก็ให้แนวทางมาหลายทาง จนเริ่มสับสน (หัวเราะ) งงว่าจะทำอะไรดี ที่สำคัญคือกรรมการเองก็เสียงแตก มีความเห็นไม่เหมือนกันเลย ตอนนั้นเราก็ได้แต่จดว่าเขาบอกอะไรมาบ้าง” เอิร์ธเล่า
“คือเป็นคำแนะนำที่ดี แต่มันเยอะเกินไป (ยิ้ม) จนเราก็จัดการกับความคิดไม่ได้” บุ๋นช่วยเสริม
กระนั้น ด้วยคำแนะนำจากพี่ภูมิ TA (Teacher Assistant) ประจำค่าย ที่ให้ทีมหยุดตั้งสติ และทบทวนถึงผลงานว่ามีเป้าหมายเพื่ออะไร ก็ทำให้ทุกคนสามารถตั้งต้นและเลือกเฟ้นคำแนะนำที่เหมาะสมมาปรับใช้กับผลงานได้ สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการจัดการกับข้อแนะนำและคำวิจารณ์จากผู้ใช้ภายนอก ว่านวัตกรพึงเลือกเฟ้นจากฐานของเป้าหมายและกลุ่มผู้ใช้ที่แท้จริงของตัวนวัตกรรมนั้นๆ เป็นสำคัญ
จนถึงปัจจุบัน…เป็นเวลามากกว่า 1 ปีที่เอิร์ธ – บุ๋น – สปาย – มีน ใช้เวลาในช่วงวัยเรียนพัฒนาผลงาน Blood Buddy จนสามารถอัพเผยแพร่ใน Play Store ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งผลงานก็ได้ตอบแทนความมุมานะอุตสาหะของพวกเขาได้อย่างคุ้มค่า ทั้งเป็นใบเบิกทางไปสู่มหาวิทยาลัย ได้ประสบการณ์และเพื่อนมากมายจากการเข้าค่าย แต่เหนืออื่นใดคือ การที่มีโอกาสได้เรียนรู้และลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ จนเกิดเป็นทักษะติดตัว
และแน่นอน ในฐานะนวัตกร จุดสูงสุดของพวกเขาคือการที่ผลงานสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ได้จริง
“มันดีใจ ว่าแค่เราให้เพื่อนๆ น้องๆ เอาไปใช้แล้วเขารู้สึกว่ามีประโยชน์ มันช่วยเขาได้จริงๆ อ่าน textbook ต้องอ่านหลายครั้ง แต่ผลงานของเราคนดูครั้งสองครั้งก็จำได้” บุ๋นกล่าว
“ได้ความภูมิใจ ดีใจที่ได้พัฒนา และได้มีคนลองเอาไปใช้จริง ทำให้รู้สึกว่าเราพิเศษและภูมิใจในตัวเอง” เอิร์ธกล่าว
- Gifted (2017) เล่าเรื่องของ ‘แมรี่’ วัย 7 ขวบที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ สืบทอดจากแม่ที่เป็นนักคณิตศาสตร์อันดับต้นๆ ของประเทศ ภายหลังจากแม่ฆ่าตัวตายเพราะความเครียด ทำให้ ‘แฟรงก์’ ลุงของแมรี่ยื่นมือเข้ามาดูแลเธอแทนน้องสาว โดยหวังให้แมรี่ได้เติบโตมาเฉกเช่นเด็กทั่วไป
- ความสามารถพิเศษที่แมรี่มีไม่รอดพ้นสายตาครูในโรงเรียน พวกเขาพยายามติดต่อยายของแมรี่ ‘เอเวอลีน’ เพื่อให้เธอพาแมรี่ไปเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับความสามารถของเธอ กลายเป็นศึกแย่งชิงสิทธิ์เลี้ยงดูแมรี่ระหว่างยายและลุง
- “บางครั้งอารมณ์โมโหก็ทำให้เราพูดแรงๆ อยากให้อีกฝ่ายเจ็บ แต่สิ่งสำคัญคือพอเผลอทำร้ายใจแล้ว เราได้พยายามที่จะรักษาใจเขาด้วยไหม? หรือหวังให้เขาลืมๆ ไป ปล่อยให้เขาเจ็บปวดอยู่กับแผลที่ติดตัว พร้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มันค่อยๆ พังทลายลง”
- การแบกความภูมิใจของพ่อแม่ไว้บนบ่า เพดานความคาดหวังที่ไม่มีวันสิ้นสุดของลูก
- ‘ความสมบูรณ์’ แรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่เผลอตั้งความคาดหวังไว้ที่ลูก เพราะอยากให้ลูกเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกๆ คนจะเกิดมาเพื่อทำทุกอย่างได้ดีเลิศ เราทุกคนย่อมมีด้านที่ไม่ถนัดด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะไม่ถนัดด้านใด และไม่ถนัดมากหรือน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง
- การเป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องทำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง งานบ้านเนี๊ยบ บ้านสะอาดทุกซอกมุม การบ้านลูกต้องถูกต้องทั้งหมด เพื่อไม่ให้ใครมาติลูกได้ แต่เป็นพ่อแม่ที่พอดีสำหรับลูก เป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูก (รวมถึงตัวเรา) มีความสุข
“การแบกความภูมิใจของพ่อแม่ไว้บนบ่า เพดานความคาดหวังที่ไม่มีวันสิ้นสุด”
เด็กชายคนหนึ่งมีพรสวรรค์ทางคณิตศาสตร์อย่างน่าเหลือเชื่อตั้งแต่เด็ก แม้เขาจะอายุเพียง 10 ปี แต่เขากลับสามารถทำโจทย์คณิตศาสตร์ระดับมัธยมปลายได้ในขณะที่เขายังเรียนอยู่เพียงชั้นประถมศึกษา พรสววรค์ได้พาตัวเขาเข้าไปสู่สนามสอบคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับประเทศ
เด็กชายได้ที่หนึ่งจากการแข่งขันในวันนั้น ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไป
พ่อกับแม่ที่ภาคภูมิใจในตัวเขาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กลับภูมิใจมากไปกว่าเก่า นอกไปจากนี้ เพดานความคาดหวังที่มีต่อลูกชายก็ขยับขึ้นไปสูงลิ่วขึ้นไปเรื่อยๆ เด็กชายต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษา
อย่างไรก็ตาม เด็กชายก็เป็นเพียงเด็กธรรมดาคนหนึ่ง แม้จะมีด้านที่ถนัดมาก ก็มีด้านที่เขาไม่ถนัดอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือ “การสื่อสาร” กับ “การเข้าสังคม” เขามักจะมีปัญหากับการทำให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการจะบอกอยู่เสมอ ซึ่งด้านที่ไม่ถนัดนี้ส่งผลให้เขาไม่สามารถนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน หรือ ทำให้เพื่อนเข้าใจเขาได้ยาก
สิ่งที่เด็กชายไม่ถนัดนี้ นำมาซึ่งความผิดหวังสำหรับพ่อแม่เป็นอย่างมาก เพราะพ่อแม่ของเขาเชื่อว่า “ทำไมเรื่องยากลูกทำได้ เรื่องง่ายๆ แค่นี้กลับทำไม่ได้”
เวลาผ่านไป เด็กชายเติบโตเป็นชายหนุ่ม พ่อแม่ก็ยังคงคาดหวังในตัวเขาไม่ต่างจากวัยเด็ก
ด้วยความเป็นอัจฉริยะทำให้ทุกคนรอบตัวต่างคิดว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไร มันน่าจะสำเร็จได้ไม่ยากเย็น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่ทุกคนคิด…
เด็กชายกลัวการทำให้พ่อแม่ของเขาผิดหวังและคนรอบตัวผิดหวังเป็นอย่างมาก เขาจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้พ่อแม่ของเขาภาคภูมิใจ แม้ว่าเขาจะต้องปิดบังและโกหกเป็นบางเวลา เพราะสำหรับเขาแล้ว “การบอกความจริงออกไปให้พ่อแม่รู้นั้นน่ากลัวกว่าการปิดบังมันเอาไว้”
นอกจากนี้ เขายังกลัวการปฏิเสธคนอื่นไปด้วย ไม่ว่าใครจะขอร้องอะไร เขามักจะยินยอมให้ความช่วยเหลือ แม้ตัวเขาจะต้องลำบากจากการทำสิ่งนั้น เวลาที่เขามีเรื่องไม่สบายใจ หรือไม่พอใจใคร เขาจะ ‘ถักไหมพรม’ อย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อระบายความรู้สึกเป็นทุกข์ของเขา
อย่างไรก็ตามเด็กชายก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง การเก็บทุกอย่างไว้ในใจมากมาย สักวันหนึ่งความรู้สึกเหล่านั้นก็จะล้นทะลักออกมาอยู่ดี คล้ายกับระเบิดเวลาที่รอวันทำลายตัวเอง
บทเรียนที่พ่อแม่สามารถเรียนรู้ได้จากเด็กชายผู้มีพรสวรรค์คนนี้
“ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ”
- “พ่อแม่ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับใคร”
เด็กทุกคนเกิดมามีความแตกต่างกัน พวกเขาต่างเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง
ดังนั้น พ่อแม่ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ เพราะการทำเช่นนั้น นอกจากจะบั่นทอนกำลังใจของพ่อแม่แล้ว ยังเป็นการทำลายความภาคภูมิใจในตัวลูกของเราอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น แม้ลูกของเราจะมีพรสวรรค์ และทำได้ดีกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกับเขา แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรอวดลูกให้กับคนอื่นๆ จนเกินพอดี ในเรื่องจะเห็นว่า พ่อแม่ของนัมโดซาน จะชอบเรียกญาติๆ มากินเลี้ยง เพื่ออวดความสามารถของลูกชาย การทำเช่นนี้นอกจากเป็นการกดดันลูกของญาติๆ แล้ว ยังเป็นการกดดันนัม โดซานเองอีกด้วย เขารู้สึกว่า “พ่อแม่เชื่อว่า เขาเก่ง เขาสอบได้ดี ดังนั้น เขาต้องห้ามทำพลาด เพราะไม่เช่นนั้นพ่อแม่จะผิดหวังในตัวเขาเป็นอย่างมาก”
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ “ยอมรับลูกในแบบที่ลูกเป็น”
2. “พ่อแม่ไม่ควรยัดเยียดความฝันของเราให้กับลูก ”
พ่อแม่บางท่านอาจจะไม่รู้ตัวว่า “เรากำลังเอาความฝันของเราไปยัดเยียดให้ลูกของเราแบกไว้ และให้เขาทำสำเร็จแทนเราในอดีตที่ทำไม่ได้” การทำเช่นนี้ลูกบางคนอาจจะทำได้สำเร็จ แต่สุดท้ายถ้าความฝันนั้นไม่ใช่ฝันของเขา ตัวลูกอาจจะรู้สึกกลวงโบ๋ข้างใน รอวันที่จะต้องเติมเต็มตัวเอง หรือรอให้ลูกของตัวเองมาเติมเต็มฝันให้ตัวเองต่อไป วงจรแห่งความเศร้านี้ก็จะวนเวียนไม่สิ้นสุด ส่วนลูกบางคนที่ไม่สามารถทำฝันของพ่อแม่ให้เป็นจริงได้ เขาอาจจะรู้สึกผิดต่อพ่อแม่ของเขา และโทษตัวเองที่เป็นลูกที่ไม่ได้เรื่อง บาดแผลนี้อาจจะทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่กลัวการทำสิ่งต่างๆ ไปเลยก็ได้
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ “การปล่อยให้ลูกได้เดินไปในทางที่เขาเลือกเดิน และอวยพรให้เขาไปถึงฝั่งฝัน”
3. “ไม่มีความผิดหวังใดน่ากลัวไปกว่าความผิดหวังที่พ่อแม่มีต่อตัวลูก”
ลูกเกือบทุกคนมีความกลัวทำให้พ่อแม่ของตัวเองผิดหวัง เพราะความผิดหวังนำไปสู่ความเสียใจ
ไม่มีลูกคนไหนอยากทำให้พ่อแม่ของตัวเองเสียใจ ดังนั้นพ่อแม่ควรระวัง เราไม่ควรผิดหวังหากลูกทำคะแนนไม่ได้ดี ไม่ชนะการแข่งขัน หรือทำไม่สำเร็จ เพราะสำหรับลูกแล้ว การที่พ่อแม่ผิดหวังในตัวเขา มันน่ากลัวกว่าการไม่ได้ที่หนึ่งหรือการพ่ายแพ้เสียอีก
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ “เชื่อมั่นในตัวลูก แม้ในวันนั้นโลกทั้งใบจะหันหลังให้กับเขา” เพราะในวันที่ลูกล้ม เมื่อเขารับรู้ว่า “พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเขา เขาจะมีแรงกลับมาเชื่อมั่นในตัวเองอีกครั้ง”
4. “ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ มีพรสวรรค์หรือพรแสวง ทุกคนสามารถทำผิดพลาดกันได้ ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ”
แม้เด็กชายจะมีพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ แต่ก็มีวันที่เขาทำผิดพลาดได้เสมอ หรือ มีบางด้านที่เขาไม่ถนัดเช่นกัน เช่น การสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจเขา และการเข้าสังคม แต่พ่อแม่ของเขายอมรับไม่ได้ เพราะความเชื่อผิดๆ ที่ว่า “เป็นถึงอัจฉริยะ ทำไมแค่พูดนำเสนอความคิดของตัวเองแค่นี้ ทำไมทำให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้” ทำให้เด็กชายรู้สึกแย่กับตัวเองเป็นอย่างมาก ที่พ่อแม่เขาคาดหวังว่า “เขาต้องสมบูรณ์แบบอยู่เสมอ” ซึ่งเขาไม่สามารถเป็นให้ได้
พ่อแม่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า “ทุกคนเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง เราทำผิดพลาดได้เสมอ ขอเพียงแค่เรียนรู้ และพัฒนาต่อไป”
นอกจากนี้ พ่อแม่ต้องยอมรับว่า “ไม่ใช่ทุกๆ คนจะเกิดมาเพื่อทำทุกอย่างได้ดีเลิศ เราทุกคนย่อมมีด้านที่ไม่ถนัดด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า จะไม่ถนัดด้านใด และไม่ถนัดมากหรือน้อยแค่ไหน เท่านั้นเอง” ด้วยเหตุนี้ เมื่อลูกพยายามเต็มที่แล้ว เขาอาจจะทำมันไม่ได้ พ่อแม่ควรเข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น และมองให้เห็นด้านดีอื่นๆ ของลูก มากกว่าจะมาตำหนิและเคี่ยวเข็ญเขาเพียงด้านเดียว
5. “แม้เด็กจะมีพรสวรรค์มากมายแค่ไหนก็ตาม เด็กควรได้เป็นเด็ก และได้รับการส่งเสริมในทุกๆ ด้านตามวัยของเขาที่ควรจะเป็น”
เมื่อพ่อแม่ได้ค้นพบว่า ลูกชายมีพรสวรรค์ จึงบีบบังคับให้เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทันที ทั้งๆ ที่นัม โดซาน ควรจะได้มีโอกาสเป็นเด็กประถมศึกษา ได้เล่นกับเพื่อน ได้อ่านการ์ตูน ได้เป็นเด็กอย่างที่เขาควรจะเป็น แม้ว่าความสามารถของเขาจะเกินวัย แต่ใช่ว่า ทุกๆ ด้านของเด็กชายจะเติบโตพร้อมเป็นผู้ใหญ่แบบก้าวกระโดด
พ่อแม่ควรตระหนึกถึงข้อนี้ แต่ให้การส่งเสริมในทุกๆ ด้านของชีวิต ไม่ใช่แค่เพียงด้านที่เด็กมีพรสวรรค์
ที่สำคัญ คือ การสอน “ความใจดี (Kindness)” ให้กับลูกด้วย ยิ่งเขาเก่ง เขาอาจจะรู้สึกว่าตัวเองนั้นดีกว่าใครๆ ดังนั้นการสอนให้เขารู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เขาจะเติบโตมาเป็นคนเก่งที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
นอกจากนี้ เด็กที่มีพรสวรรค์ด้านใด เขาอาจจะไม่ได้ชอบด้านนั้นก็ได้ อย่าคิดแทนเขาด้วยการคิดว่า “ลูกเก่งด้านนี้ แสดงว่า ลูกต้องชอบด้านนี้แน่ๆ” เพราะเด็กบางคนอาจจะชอบด้านอื่นที่เขาอาจจะไม่ถนัด หรือ ถนัดแต่ไม่ที่สุดก็ได้ ให้โอกาสลูกได้เลือก และทำในสิ่งที่เขารัก
สุดท้าย “ทุกครั้งที่พ่อแม่ผิดหวังในตัวลูก ไม่มีลูกคนไหนที่จะรักพ่อแม่ของเขาน้อยลง จะมีก็เพียงแต่ลูกที่รักและมองเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง”
ลูกทุกคนแค่ต้องการให้พ่อแม่รักและอย่าหมดหวังในตัวเขา พลังแห่งความเชื่อมั่นที่พ่อแม่มีให้กับลูกสามารถแปรเปลี่ยนเป็นแรงใจที่มากมายมหาศาลให้กับเขา ทำสิ่งที่น่าเหลือเชื่อได้อีกมากมาย
พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ
เพราะลูกต้องการพ่อแม่ที่มีความสุขมากกว่า
บางครั้งการเป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องทำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง งานบ้านเนี๊ยบ บ้านสะอาดทุกซอกมุม การบ้านลูกต้องถูกต้องทั้งหมด เพื่อไม่ให้ใครมาติลูกได้
ความหวังดีของพ่อแม่ บางทีถ้ามากไป ความหวังดีนั้นอาจจะกลายเป็นการทำร้ายลูกโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้น วันนี้พ่อแม่ควรลองหันกลับมาดูว่า…
1. เรากำลังมุ่งหวังผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบจากเราและลูกมากกว่า การเรียนรู้เพื่อการเติบโตของลูกเราหรือเปล่า ถ้าใช่เราควรปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรเองตามวัย ลดการช่วยเหลือ และปล่อยวางความไม่สมบูรณ์แบบไปบ้าง เลอะเทอะก็ทำความสะอาดได้ ไม่ได้ดีครั้งแรก ครั้งต่อๆ ไปยังมีเวลาฝึกฝน
2. พ่อแม่ที่ดีไม่ได้วัดกันที่ความเก่งหรือความสมบูรณ์แบบ
ลูกเราจะเป็นคนบอกเองว่า เราเป็นแม่ที่ดีหรือยัง
ถ้าลูกเรายิ้มมากกว่าร้องไห้เมื่อเจอหน้าเรา
ถ้าลูกเราหัวเราะได้เต็มอิ่มเมื่ออยู่กับเรา
ถ้าลูกเราไม่กลัวที่ทำพลาดต่อหน้าเรา
ถ้าลูกเราเล่าเรื่องราวในชีวิตให้เราฟัง
ถ้าลูกเราต้องการเราเวลาที่เผชิญปัญหา
ถึงแม้วันใดเราจะต้องดุเขา หรือ เราทำพลาดบ้าง แต่ลูกเราพร้อมจะกลับมาสู่อ้อมอกเราเสมอ นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่า เราเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกอยู่
3. เราดูแลแต่ลูก จนลืมดูแลตัวเองหรือเปล่า?
พ่อแม่ควรหันกลับมาดูแลความสุขของตัวเราเองบ้าง เพราะเมื่อพ่อแม่มีความสุข ลูกของเราจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น
การที่พ่อแม่ทำเพื่อตัวเองหาความสุขส่วนตัว ไม่ได้แปลว่าเราละเลยหน้าที่ พ่อแม่ทำเพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพกายใจเเข็งแรง มีสุข นั้นสำคัญ เพราะในระยะยาว ร่างกาย จิตใจที่ดี ทำให้เราทำหน้าที่พ่อแม่ได้ไปอีกนานเพื่อลูกของเรา
‘การออกกำลังกาย’ ‘การกินอาหารครบหมู่’ ‘ทำสิ่งที่ชอบบ้าง’ ช่วยเราได้
ถ้าวันใดที่ใจเราไม่ไหว การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือไปพบจิตแพทย์อาจจะช่วยเราได้ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้น เพราะลูกเราอาจจะกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว
4. เราเปรียบเทียบตัวเรากับใครอยู่หรือเปล่า?
คงไม่มีพ่อแม่ที่ดีที่สุด จะมีก็เพียงแต่พ่อแม่ที่พอดีสำหรับลูก
ลูกทุกคนรักพ่อแม่ของพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับใคร (และเราเองก็ไม่ควรเปรียบเทียบลูกเรากับคนอื่นเช่นกัน)
การมีลูก ไม่ได้แปลว่า เราต้องเสียสละทุกอย่างในชีวิตทิ้งไป
การมีลูก ไม่ได้แปลว่า แม่ต้องกลายเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ
พ่อแม่ก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เหนื่อยก็พักแล้วสู้ใหม่ เล่นบ้าง หัวเราะบ้าง ทำอะไรไร้สาระบ้างก็ได้ ลูกไม่หมดความศรัทธาในพ่อแม่อย่างเราง่ายๆ
สายตาคนรอบข้าง คำพูดจากคนภายนอก “ปล่อยวางบ้าง” “ไม่เป็นไร” “ช่างมันบ้าง” เพราะสุดท้ายไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าจิตใจของเรากับลูก