- หลายคนอาจไม่ทราบว่าประเทศไทยก็มีแหล่งเรียนรู้ด้านอวกาศอย่าง ‘Space Inspirium‘ สถานที่ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น ที่มอบทั้งสาระความรู้และความสนุกสนานผ่านประสบการณ์แบบเสมือนจริง แถมยังอยู่ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างพัทยา
- Space Inspirium เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA แม้ดูจากภายนอกจะไม่โดดเด่นสะดุดตา แต่เนื้อหาที่แสดงอยู่ภายในนั้นเรียกว่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว
- ที่นี่มีโซนจัดแสดงให้เรียนรู้อวกาศถึง 25 โซน โดยเนื้อหาหลักๆ ของแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ นิทรรศการเกี่ยวกับอวกาศ สู่วิวัฒนาการการเดินทางสู่ห้วงอวกาศ และการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
อวกาศ…ไม่ไกลเกินฝัน
และเราสามารถเริ่มต้นการเดินทางสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นได้ที่นี่ Space Inspirium ศรีราชา
หลายคนอาจไม่รู้ว่าประเทศไทยก็มีแหล่งเรียนรู้ด้านอวกาศที่มอบทั้งสาระความรู้และความสนุกสนานผ่านประสบการณ์แบบเสมือนจริง แถมยังอยู่ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างพัทยา
Space Inspirium แหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แม้ดูจากภายนอกจะไม่โดดเด่นสะดุดตา แต่เนื้อหาที่แสดงอยู่ภายในนั้นเรียกว่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว
“เราทำให้ที่นี่เป็นสถานที่จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจในเรื่อง ‘อวกาศ’ ที่ใครก็เข้าถึงได้ และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ” ปราณปริยา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ ‘GISTDA’ กล่าวถึงแนวคิดของ Space Inspirium
สำหรับการนำเสนอเนื้อหาหลักๆ แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ชั้นบนเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับอวกาศ ร้อยเรียงไทม์ไลน์ช่วงต่างๆ เริ่มจากการกำเนิดเอกภพและกาแล็กซี่ต่างๆ สู่วิวัฒนาการการเดินทางสู่ห้วงอวกาศ จนได้เทคโนโลยีอวกาศมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ โดยในส่วนของคอนเทนต์ต่างๆ นั้น ได้มีการออกแบบร่วมกับนักวิชาการเฉพาะทาง เพื่อแปลงข้อมูลเชิงวิชาการให้เป็นการเรียนรู้ตอบโจทย์ผู้เข้าชมทุกช่วงวัย
ชั้นล่าง เป็นเรื่องการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เน้นภารกิจในด้านภูมิสารสนเทศ การจัดทำภาพถ่ายแผนที่จากดาวเทียมไทยโชตเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
สำหรับไฮไลท์ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ควรพลาด ได้แก่ โซนการเตรียมพร้อมสู่อวกาศ ที่จะทำให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริง เริ่มจาก เครื่องเล่น Gyroscope ซึ่งเป็นการจำลองการฝึกของนักบินอวกาศให้มีความเคยชินกับสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือแรง G ที่บอกได้เลยว่าในประเทศไทยมีที่นี่ที่เดียว
อีกเครื่องมีชื่อว่า Mars Walk ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเดินอยู่บนดาวอังคารในสภาวะไร้น้ำหนัก แนะนำว่าให้ลองจะได้รู้ว่าการเดินลอยตัวแบบนักบินอวกาศนั้น…ไม่ง่ายอย่างที่คิด สำหรับเด็กๆ เครื่องนี้น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี
ส่วนเครื่อง VR Sphere เหมือนเป็นการผ่านอุโมงค์ไปสู่โลกแห่งอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นทางด้านการคมนาคมและการขนส่งทั้งทางเรือ ทางอากาศ ทางบก ซึ่งสามารถนำไปเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไปเนื่องจาก Space Inspirium มีเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านการสร้างประสบการณ์จริง ดังนั้นนอกจากส่วนจัดแสดงในตัวอาคารแล้ว ยังส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศผ่านกิจกรรม ONE DAY KIDS โดยจัดให้เยาวชนจากสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงบทบาทของ ‘ดาวเทียมไทยโชต’ ที่มีต่อการสำรวจและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยใน 1 วัน พร้อมส่งเสริมทักษะผ่านเกมส์ โดยการกำกับดูแลของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้เกิดกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลในการสร้างสรรค์ผลงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ สามารถนำไปต่อยอดในการศึกษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองได้
“คอนเซ็ปต์ของเราคือ ‘อวกาศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว’ เพราะมันอยู่รอบตัวเราเลย มันคือเทคโนโลยีที่เราไม่เคยรู้ว่ามันอยู่รอบตัวและเราก็ใช้มันมาโดยตลอด
เราจึงขยายผลและกระจายโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศให้ทั่วถึง ด้วยการให้ทุกคนมาสัมผัสและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราจะเน้น Learn and Play ไม่เน้นการท่องจำ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยเตรียมตัวคนสู่อนาคต
การได้สัมผัสกับอุปกรณ์เครื่องเล่นที่เป็นของจริงไม่ใช่ในตำรา จะทำให้เกิดจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจ เกิดการค้นพบตนเอง ทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ และพัฒนาศักยภาพไปสู่ในสิ่งที่ใฝ่ฝันไว้” ผอ.ปราณปริยา กล่าว
เรียนรู้อวกาศผ่านส่วนจัดแสดง 25 โซน
โซน 1 APRSAF แรงบันดาลใจจากอวกาศสู่จินตนาการ
ห้องเก็บรวบรวมภาพวาดผลงานสีสันสดใสของเด็กๆ อายุตั้งแต่ 8-12 ปี จากโครงการเวทีความร่วมมือองค์การอวกาศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APRSAF)
โซน 2 : กำเนิดเอกภพและแรงดึงดูด
เริ่มต้นเรียนรู้จุดกำเนิดว่าโลกเรามาจากไหน และเราเป็นใครในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกผ่านดาวเคราะห์น้อยใหญ่
โซน 3 : วิวัฒนาการทางอวกาศ
มาช่วยกันหาคำตอบว่าจากดาวเคราะห์หลากหลายดวงในระบบสุริยะ ทำไมถึงมีแค่โลกของเราที่มีสิ่งมีชีวิต
โซน 4 : เทคโนโลยีสำรวจโลกและอวกาศ
แรงบันดาลใจสร้างได้จากสิ่งรอบตัว เรียนรู้ผ่านกาลเวลา กระบวนการคิดหลากหลายรูปแบบจากจินตนาการสู่การประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่จนมาถึงปัจจุบัน
โซน 5 : มุ่งสู่อวกาศ
การเตรียมความพร้อมไปสู่อวกาศ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึงในการที่จะออกไปนอกโลก เมื่อออกไปนอกโลกแล้วร่างกายจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เช่น ร่างกายกับแรงโน้มถ่วง รวมถึงการได้ทดลองเครื่อง Gyroscope ที่จะจำลองสภาวะหมุนเหวี่ยงของการฝึกนักบินอวกาศ
โซน 6 : การจำลองเดินบนดาวอังคาร
เครื่องเล่น Mars walk จำลองการเดินทางไปบนพื้นผิวดาวอังคาร สถานที่ซึ่งมีแรงดึงดูดน้อยกว่าโลกของเรา
โซน 7 : การใช้ชีวิตในอวกาศ
การใช้ชีวิต การค้นคว้าวิจัย การอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS)
โซน 8 : โรงภาพยนตร์
เพลิดเพลินไปกับภาพยนตร์ ที่จะพาเราค้นหาคำตอบในจักรวาลที่กว้างไกลผ่านดวงดาวต่างๆ มากมาย
โซน 9 : ดาวเทียม
พบกับดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทยที่มีขนาดเท่ากับของจริงที่โคจรอยู่ในอวกาศ และวงโคจรของดาวเทียมชนิดต่างๆ ที่โคจรอยู่รอบโลกของเรา
โซน 10 : ห้องจำลองดาวอังคาร
สนุกกับการสำรวจดาวอังคาร และตื่นตาตื่นใจไปกับภารกิจบนดาวอังคาร
โซน 11 : Cosmo Cafe’to
ร้านกาแฟที่ชวนผ่อนคลายไปกับเครื่องดื่มหลากหลายในบรรยากาศอวกาศ
โซน 12 : ยูริ กาการิน
ทำความรู้จักกับนักบินอวกาศคนแรกที่โคจรรอบโลกได้สำเร็จ
โซน 13 : ถ่ายภาพสร้างแรงบันดาลใจ
แลนด์มาร์กของ Space Inspirium สำหรับถ่ายภาพสร้างแรงบันดาลใจ
โซน 14 : เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ 3S
การศึกษาเกี่ยวกับโลกของเรา ผ่านข้อมูลที่ได้มาโดยใช้เทคโนโลยี 3S
โซน 15 : EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก แผนยุทธศาสตร์ประเทศภายใต้ไทยแลนด์ 4.0
โซน 16 : GIS ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
ข้อมูลที่มีมากมายจะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างกว่าจะได้ออกมาเป็นแผนที่
โซน 17 : ภาพถ่าย Street View
สนุกสนานไปกับการท่องเที่ยวรอบโลกภายใน 1 นาที
โซน 18 : RS การรับรู้จากระยะไกล
เรียนรู้วิธีและขั้นตอนการได้มาของข้อมูลโดยที่เราไม่ต้องไปสำรวจด้วยตัวเอง
โซน 19 : การระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียม
พบกับนวัตกรรมของดาวเทียมระบุตำแหน่งที่ปัจจุบันเรานำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย
โซน 20 ห้องเรียนหุ่นยนต์
สถาบันควอนตัมโมดัส (Quantum Motus Institute) สอนเด็กให้รู้และเข้าใจในพื้นฐานของการสร้างหุ่นยนต์ ตามหลักการ STEM เด็กจะได้เรียนรู้ทั้งด้าน hardware ซึ่งได้แก่กลไกชิ้นส่วนต่างๆ ในการประกอบหุ่นยนต์ และด้าน software ที่จะต้องเขียนโปรแกรมสั่งงานหุ่นยนต์ให้ทำตามที่ออกแบบไว้ พร้อมให้เด็กๆ ได้ลองคิดสร้างสรรค์ตามจินตนาการของตัวเอง
โซน 21 : การประยุกต์ใช้ 3S
การใช้งานในด้านต่างๆ การใช้ประโยชน์ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการเกษตรกรรม ด้านการวางผังเมืองและป้องกันภัย โดยเพิ่มความเข้าใจผ่านการเล่นเกมส์
โซน 22 : ศาสตร์พระราชา
รับชมศาสตร์พระราชาแห่งความพอเพียงผ่าน VDO Mapping เริ่มจาก ‘น้ำ’ และ ‘ดิน’ สู่ ‘ชุมชน’ และ ‘สังคม’ อย่างยั่งยืน
โซน 23 : เครื่องเล่น VR sphere ท่องโลกอนาคต
เดินทางสู่อนาคตในยุค EEC กับสถานที่สำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
โซน 24 : เมืองในอนาคต
ที่นี่เด็กๆ จะได้พบกับหุ่นยนต์มากมายหลายประเภทที่จะช่วยกันทำงานเพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น
โซน 25 : โมดูลห้องทดลองอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น
แบบจำลองส่วนหนึ่งของสถานีอวกาศนานาชาติที่สร้างโดยประเทศญี่ปุ่น
Space Inspirium เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดเฉพาะวันจันทร์) วันอังคาร – ศุกร์ เวลา 9:00 น.-16:00 น. วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9:00 น.- 17:00 น. ราคาบัตร: ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็กสูง 101-140 ซม. 20 บาท เด็กสูงไม่ถึง 100 ซม. และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าชมฟรี โทร: 033-005-835, 033-005-836 |