- ‘เมื่อไหร่จะแต่งงาน?’ นัดรวมญาติครั้งใดเป็นต้องได้ยินคำถามนี้ ไม่ใช่คำถามที่อยากรู้คำตอบในระดับปกติ เพราะเจอหน้าทีไรก็ถูกถามซ้ำๆ ทุกที แม้เราจะตอบไปแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ทำไมพวกเขาถึงอยากให้เราแต่งงานนัก? และรวมไปถึงรัฐบาลที่ออกนโยบายกระตุ้นให้คนแต่งงานมีลูก
- ฝั่งรัฐบาล ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างประเทศไทยนั้นจำนวนคนคือสิ่งสำคัญ อัตราการเกิดประชากรที่ลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาประเทศแน่นอน
- การออกนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกจึงสำคัญ เพราะไม่มีรัฐบาลประเทศไหนสนับสนุนให้มีลูกแบบขอไปที เพราะทุกประเทศต้องการประชากรที่มีคุณภาพ
- ฟากคุณป้าข้างบ้านหรือคุณลุงเพื่อนพ่อที่ต่างดูกระตือรือร้นอยากให้เราแต่งงาน ก็เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาโตมา ค่านิยมที่การแต่งงานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เหมือนเป็นการวัดคุณค่าของคนเลยก็ว่าได้ว่า ‘ดีพอไหม’
การหาแฟนว่ายากแล้ว แต่การจะคบกับใครจนถึงขั้นตกลงปลงใจแต่งงานนั้นยากกกว่า เจอคนที่ใช่เขาก็ไม่รัก เจอคนที่รักมันก็ไม่ใช่ บางคนก็เลยจำใจอยู่ในสถานะโสด หรือบางคนก็พอใจที่จะโสด ชอบมีอิสระดีไม่อยากมีคู่ให้วุ่นวาย หรือบางคนจริงๆ แล้วไม่ได้โสดหรอก แต่การเปิดเผยให้คนอื่นรู้มันยาก อย่างในสังคมปัจจุบันแม้ว่าเรื่อง LGBTQ จะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่หลายคนก็ยังอึดอัดใจที่จะบอกว่ามีคู่รักเพศเดียวกันก็เลยโสดกันในที่สาธารณะไปก่อน
แต่ไม่ว่าคนจะจำใจหรือตั้งใจโสด บางทีการอยู่เป็นโสดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องมาคอยตอบคำถามคุณป้าข้างบ้าน คุณลุงเพื่อนพ่อ คุณน้าญาติห่างๆ และผู้ใหญ่อีกหลายต่อหลายท่านที่เจอกันทีไรต้องถามว่า เมื่อไหร่จะแต่งงาน?
คำถามอื่นมีเป็นร้อยไม่ถาม ตอบไปแล้วว่า ยังหาแฟนไม่ได้ หรือไม่อยากแต่งก็เลยแต่ไม่แต่ง แต่เขาเหมือนไม่เข้าใจ ถามซ้ำถามย้ำจนเราอึดอัด และบางครั้งเราก็พบว่าความโสดเป็นปัญหาระดับชาติจริงๆ ข่าวเรื่องรัฐบาลสนับสนุนให้คนแต่งงานนั้นมากวนใจไม่พอ ยังมาเจอว่าคนโสดก็ต้องเสียภาษีเยอะกว่าคนที่แต่งงานแล้วอีก จนบางทีคนโสดหลายท่านเริ่มสงสัยว่า ฉันจะโสดแล้วมันไปหนักหัวป้าข้างบ้านหรือรัฐบาลตรงไหน ทำไมถึงอยากให้ฉันแต่งงานเหลือเกิน โสดแล้วมันผิดตรงไหน วันนี้ผมจะมาชวนคุยกันครับว่าทำไมทั้งรัฐบาลและคุณป้าข้างบ้านถึงสนใจกับสถานภาพของเรานัก
ทำไมรัฐบาลถึงอยากให้เราแต่งงาน จะว่าเพราะกลัวผู้ใหญ่ในอำเภอไม่มีงานเลี้ยงได้ไปไชโยก็คงไม่ใช่ จริงๆ แล้วรัฐบาลก็ไม่ได้ห่วงเรื่องงานแต่งของเราหรอกครับ แต่ที่รัฐบาลอยากให้คนแต่งงานเพราะว่าอยากให้คนมีลูกต่างหาก… เอาเข้าไป แล้วฉันจะมีหรือไม่มีลูกมันหนักหัวรัฐบาลตรงไหน หลายๆ ท่านที่ติดตามข่าวอาจจะได้ยินบ่อยๆ ว่าในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยนั้นอัตราการเกิดค่อยๆ ลดลง อย่างเมื่อปี 2562 สองปีที่แล้วองค์การสหประชาชาติเตือนว่า ประเทศไทยกำลังพบปัญหาเรื่องอัตราการเกิดต่ำมาก คือผู้หญิง 1 คนมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.52 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าเป็นห่วงมากของประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งควรจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 คน และสถิติของปี 2564 ก็ไม่ดีขึ้นเลยครับ ค่าเฉลี่ยตกไปอยู่ที่ 1.49 คน หากแนวโน้มเป็นแบบนี้ต่อไป ในราวๆ ปี 2643 คนไทยจะลดลงเหลือเพียงแค่สองในสามของตอนนี้เลยล่ะครับ
แล้วทำไมถึงต้องห่วงว่าจะมีคนเยอะๆ ตอนนี้ประชากรโลกดูแออัดสุดๆ โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพ ถ้าประชากรน้อยลงเมืองน่าจะโล่งสบายขึ้น ไม่ต้องเบียดขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ทุกวัน ปัญหาคือในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างประเทศไทยนั้นจำนวนคนคือสิ่งสำคัญ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นจำนวนผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ คนมีมากการจับจ่ายใช้สอย การหมุนเวียนของเงินจะได้คล่องตัว ช่องทางในการเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ ก็ยังกว้างขวาง เศรษฐกิจทุนนิยมเลยต้องการให้มีคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (จนกว่าทรัพยากรจะไม่พอกินพอใช้)
ในทางกลับกันที่ถ้าคนเริ่มลดลงปัญหาความฝืดเคืองที่เกิดจากการจับจ่ายน้อยลง และการผลิตน้อยลงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นไม่ใช่ภาวะที่รัฐบาลของประเทศไหนต้องการแน่ๆ จริงอยู่ที่ประชากรอาจจะดูแออัดไปโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ แต่เหตุผลสำคัญที่เมืองมีคนเยอะเพราะมีคนอพยพมาจากที่อื่นๆ เพื่อเข้ามาหางานทำ คนก็เลยกระจุกแน่นอยู่ในตัวเมือง เราเลยอาจไม่เห็นว่าในภาพรวมของประเทศแล้วประชาชนกำลังลดจำนวนลง
นอกจากนี้การแพทย์พัฒนาขึ้น คนเสียชีวิตช้าลง อัตราส่วนของจำนวนผู้สูงอายุต่อบุคคลวัยอื่นเลยกำลังเพิ่มขึ้น ท่านอาจจะเคยได้ยินว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ฟังดูดีเหมือนกับว่าประเทศเราผู้ใหญ่สุขภาพดี นั่นก็จริงครับ แต่ว่าสังคมแบบที่คนเยอะ แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเยอะไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจเลยในแง่ของตลาดแรงงาน ถึงแม้ตอนนี้ผู้สูงอายุหลายๆ ท่านยังทำงานต่อแม้เลยหลัก 60 แต่งานบางอย่าง เช่น งานที่ต้องใช้แรงงานในภาคและอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งการผลิตหลักๆ ของประเทศนั้นจำเป็นต้องอาศัยคนวัยหนุ่มสาวจนถึงวัยผู้ใหญ่เป็นหัวหอกหลัก และการที่อัตราเด็กเกิดใหม่มีน้อยลง อนาคตก็จะมีคนหนุ่มสาวมาไม่พอแทนที่แรงงานปัจจุบันที่มีก็จะมีแต่แก่ตัวลงและต้องเกษียณอายุทำงาน
ดังนั้น รัฐบาลไทยและเช่นเดียวกับรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ที่อัตราการเกิดกำลังลดลง ต่างสนับสนุนให้คนแต่งงานและมีลูกกันทั้งนั้น แต่จะไปบังคับให้มีก็คงไม่ได้ รัฐบาลเลยหาสิทธิประโยชน์เช่น ภาษีของคู่สมรสที่จ่ายน้อยกว่าคนโสด หรือการลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตรมาคอยสนับสนุน
เพราะถ้าค่านิยมว่า ‘โสดแล้วสบายกว่าแต่งงานมีลูกเยอะ’ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประเทศจะพบกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากคนน้อยลงแน่นอน
คนอีกกลุ่มที่เห็นความโสดของเราเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้รัฐบาล คือ ญาติผู้ใหญ่รอบตัวเรา หลายท่านคงสงสัยว่าใครเป็นคนแรกที่นำเทรนด์ในการถามว่า เมื่อไหร่จะแต่งงาน? คำถามนี้มันฮิตตั้งแต่สมัยไหน การจะตอบคำถามนี้เราต้องย้อนอดีตกันสองรอบครับ
รอบแรกไม่ไกลนักคือราวๆ สามสิบสี่สิบปีที่แล้วที่เหล่าคุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา ยังหนุ่มยังสาว สังคมสมัยนั้นแตกต่างจากสมัยนี้พอสมควร เมื่อก่อนการแต่งงานเป็นเหมือนกิจกรรมภาคบังคับของคนหนุ่มสาวก็ว่าได้ แม้ว่าไม่มีกฎหมายบังคับให้คนต้องแต่งงาน แต่สิ่งที่เรียกว่า ‘ค่านิยม’ หรือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นตรงกันว่าสำคัญก็คือ เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมก็ควรหาคนแต่งงานด้วย หากไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ คนมักจะไม่อยู่เป็นโสด คนที่ไม่แต่งงานคือคนแปลกในสมัยนั้น สังคมจะมองว่าหากใครหน้าตาพอไปวัดไปวา ฐานะก็ไม่ได้แย่ แต่ไม่ได้แต่งงานเสียทีแสดงว่าต้องซ่อนสิ่งไม่ดีให้คนไม่อยากแต่งด้วยไว้แน่ๆ
ดังนั้น การแต่งงานในสมัยก่อนจึงเหมือนการวัดคุณค่าของคนเลยก็ว่าได้ว่า ‘ดีพอไหม’ สมัยก่อนแค่โสดจนอายุ 30 ก็ถือว่าแต่งงานช้ามากแล้ว คนเรียนมหาวิทยาลัยก็มีน้อยมากครับ ส่วนใหญ่พอเรียนจบมัธยมก็เริ่มแต่งงานกันแล้วครับ ไม่ค่อยมีใครรอสร้างเนื้อสร้างตัวกันจนขึ้นเลขสามหรอก
สมัยก่อนการรีบหาคู่แต่งงานเป็นปัญหาใหญ่มากในผู้หญิง กับผู้ชายแล้วต่อให้ถึงวัยกลางคนก็ยังเป็นที่หมายปองอยู่บ้าง แต่เทรนด์ ‘สาวอายุมากกว่า’ ยังไม่แพร่หลายในสมัยนั้น หรือต่อให้มีหนุ่มๆ มาจีบก็เถอะ สังคมก็มองว่าไม่งามที่สามีจะเด็กกว่ามากๆ นอกจากนี้สมัยก่อนคนที่หาเงินเลี้ยงครอบครัวเป็นหลักคือสามีเท่านั้น ภรรยาทำหน้าที่จัดการงานบ้านงานเรือนไป อาจจะมีส่วนดูแลค่าใช้จ่ายในครัวเรือนบ้าง แต่น้อยคนที่จะออกหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ยกเว้นที่บ้านสามีจะเปิดร้านรวงอะไรก็ออกมาช่วยงานบ้าง ถ้าไม่ยากจนถึงขั้นต้องช่วยทำงานทั้งคู่ถึงอยู่รอด ผู้หญิงมักจะไม่ได้ทำงานนอกบ้านหรอกครับ ยิ่งจะออกมาทำงานมีตำแหน่งแบบผู้ชายนั้นเป็นเรื่องที่หายากมากๆ ในสมัยก่อน ดังนั้นผู้หญิงจึงเหมือนถูกค่านิยมบีบให้มีสามีเพื่อที่จะได้มีที่ทางของตนเองให้ดูเหมาะสมในสายตาคนรอบตัว ก็คือเป็นภรรยาดูแลบ้าน เป็นแม่คอยเลี้ยงลูก
อย่างไรก็ตามสังคมในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานั้นเปลี่ยนแปลงไปไวมากครับ ไวจนคนปรับตัวไม่ค่อยทัน สิ่งหนึ่งที่ปรับได้ยากคือเรื่องของค่านิยมนี่แหละครับ พวกผู้ใหญ่รอบตัวเราหลายคนเลยยังมีค่านิยมว่า ‘ถึงวัยก็ต้องแต่งงาน’ และเอามาตรฐานนี้มาใช้กับคนหนุ่มสาวรอบตัวของเขาด้วย พอเห็นคนที่ถึงวัยแต่งงานแล้วไม่แต่งเสียที มันเลยเป็นสิ่งที่แปลกในสายตาเขา เขาเลยอดที่จะถามไม่ได้ มันมีเหตุผลยิ่งใหญ่อะไรกันทำไมไม่แต่งงาน ถ้าจะบอกว่าแค่ไม่อยากแต่ง มันฟังไม่ขึ้นในมุมมองเขาครับ
เหตุผลอีกข้อที่ทำคนชอบถามว่าเมื่อไรจะแต่งงาน เราต้องย้อนเวลาไปหลักหมื่นหลักแสนปีก่อนจะมนุษย์จะมีอารยธรรมเพื่อตอบคำถามนี้เลยล่ะครับ มนุษย์มีความสามารถอย่างหนึ่งที่สัตว์ไม่มีคือการใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร สร้างประโยคสารพัดแบบจากการผสมคำ ทำให้คนเล่าเรื่องราวได้ละเอียดหลากหลายแบบ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มี ‘ฝูง’ ขนาดใหญ่มากถ้าเทียบกับลิงญาติๆ ของเรา และทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำความรู้จักกับคนในฝูงเดียวกันได้ครบถ้วนผ่านการสื่อสารทางตรง พอกลุ่มใหญ่ขึ้นอย่าว่าแต่สนิทเลยครับ แค่ได้คุยยังไม่มีโอกาสด้วยซ้ำ
การที่มนุษย์มีภาษานี่แหละที่ทำให้เราแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนใกล้ตัว รู้เรื่องของคนอื่นๆ ในฝูงโดยไม่ต้องเจอหน้าหรือพูดคุยกันโดยตรง การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ว่าก็คล้ายกับการซุบซิบนินทาหรือการเม้าท์นี่แหละครับ การอยู่ในสังคมเราต้องรู้ว่าใครเชื่อใจได้ ใครขี้โกง เพราะการใช้ชีวิตในสมัยโบราณนั้นต้องพึ่งพากันหลายอย่าง ช่วยกันล่าสัตว์ แบ่งปันอาหารตอนอดอยาก ปกป้องจากสัตว์อันตราย การเลือกคนผิดมาเข้ากลุ่มมันเสี่ยงที่เราจะเอาตัวไม่รอดไปด้วย วิวัฒนาการเลยทำให้มนุษย์นั้นชอบเรื่องซุบซิบนินทาเหลือเกิน
อีกเรื่องที่วิวัฒนาการให้ความสำคัญนอกจากการเอาตัวรอดคือการมีคู่ การเม้าท์ว่าคนนี้น่าสนใจ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสารให้เลือกคู่ได้ถูกคน และข้อมูลที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ‘เขามีคู่รักหรือยัง?’
ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์แบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) การที่คิดจะไปวุ่นวายกับคู่ของคนอื่นจะสร้างปัญหาตามมาหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ต้องปะทะต่อสู้แย่งคู่กัน แต่สมัยโบราณผู้หญิงต้องให้ผู้ชายช่วยเลี้ยงลูก ตนกับเด็กถึงจะอยู่รอด
การไปมีลูกกับผู้ชายที่มีคู่อยู่แล้วมันเสี่ยงที่ผู้ชายจะชิ่งไม่เลี้ยงลูกเรา ไปเลี้ยงลูกของเขากับหญิงอื่นแทน ส่วนผู้ชายก็ไม่อยากยุ่งกับผู้หญิงที่มีคู่อยู่แล้ว เพราะเวลาคลอดก็ไม่แน่ใจว่านั่นลูกของผู้ชายคนไหน การพูดคุยสอบถาม นินทาว่าใครมีคู่หรือยัง จึงเป็นประเด็นร้อนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่เจอหน้ากันต้องถามให้รู้ จนถึงตอนนี้ความอยากรู้เรื่องนี้ก็ยังฝังอยู่ในสายเลือดของทุกๆ คน ดังนั้นเวลาคุยกัน เรื่องคู่จึงเป็นหัวข้อที่มักจะถูกยกมาถาม ฟังดูเป็นเหตุผลเก่าแก่ แต่อะไรที่เป็นเหตุผลของวิวัฒนาการ มันแก้ยากมากครับ ถึงสมัยนี้สังคมเปลี่ยนไปมาก แต่ความเคยชินที่ฝังในดีเอ็นเอของเรานั้นยังอยู่เหมือนเดิม
ในเมื่อทั้งรัฐบาลมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ และป้าข้างบ้านมีเหตุผลทางสังคมและวิวัฒนาการที่อยากให้เราแต่งงาน แล้วเราควรจะแต่งงานตามลูกยุของพวกเขาไหม
ผมไม่คิดว่าเหตุผลที่ยกมาจะเป็นเหตุผลที่ดีในการตัดสินใจว่าจะแต่งงานไหมหรอกนะครับ สังคมพัฒนาไปไกลแล้ว ความโสดไม่ใช่เรื่องแปลก จะเพศไหนก็หาเลี้ยงตนเองได้ไม่ต้องพึ่งพาคู่แต่งงาน เราไม่ได้ถูกบังคับด้วยค่านิยมเก่าๆ อีกต่อไป ถ้าคิดใจดีอยากแต่งงานมีลูกให้ชาติเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็แต่งงานและมีลูกเมื่อพร้อมเถอะครับ
ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนสนับสนุนให้มีลูกแบบขอไปที เพราะถึงจะต้องการประชากรก็จริง แต่ทุกประเทศต้องการประชากรที่มีคุณภาพ
ซึ่งปัจจัยหนึ่งก็น่าจะมาจากตัวพ่อแม่เองที่เต็มใจแต่งงานและมีลูกเมื่อพร้อมจริงไหมครับ
ส่วนในแง่วิวัฒนาการ เราอาจจะรู้สึกว่าแล้วเราไม่ต้องทำหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์เสียหน่อยหรือ คำตอบคือไม่จำเป็นแล้วครับ การตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในสังคมมนุษย์ว่าควรทำสิ่งไหนเปลี่ยนไปตั้งแต่เรามีอารยธรรมแล้ว ความสุขความทุกข์ของเราเป็นมากกว่าแค่เรื่องการเอาตัวรอดและการสืบเผ่าพันธุ์เหมือนสัตว์อื่นๆ การต้องสืบสายเลือดก็เป็นเรื่องที่เริ่มล้าสมัย คู่รักบางคู่ยินดีที่จะรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งมาอุปการะเป็นลูกตนเอง สังคมยอมรับการเป็นพ่อแม่โดยไม่เกี่ยงเรื่องสายเลือดมากขึ้นหากพวกเขาเลี้ยงดูเด็กอย่างดี และอย่างที่ท่านเห็นครับ มนุษย์มีมากมายเหลือเกินในโลกตอนนี้ และคนที่ยังอยากแต่งงานมีลูกก็ยังมีอีกเยอะมาก
เรื่องภาษีที่คนโสดต้องจ่ายแพงกว่าคงต้องทำใจเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องป้าข้างบ้านก็คิดเสียว่าเขาหวังดีในแบบของเขา เขาจะถามซ้ำ เราก็ตอบซ้ำไปว่า “ยังไม่แต่ง” หรือ “ไม่อยากแต่ง” ก็พอ ไม่ต้องเอาแรงกดดันที่ล้าสมัยมากดดันชีวิตเราเองหรอกครับ ทุกคนมีสิทธิเสรีที่จะโสดอย่างมีความสุขครับ