- ร้านกาแฟที่เกิดจากความชอบดื่มกาแฟของป้าพิม-เพลินพิศ เรียนเมฆ ความสนุกที่ได้เรียนรู้เรื่องกาแฟ และอยากหากิจกรรมทำหลังจากที่ตัวเองปลดระวางภาระต่างๆ ในชีวิต จึงเริ่มเปิดร้านกาแฟเล็กๆ แบบ coffee stand ที่คั่ว บด ดริปเองกับมือ
- นอกจากนั้นยังทำเวิร์กชอปกาแฟให้ผู้สูงวัย ด้วยความตั้งใจที่อยากให้คนวัยเดียวกันได้เห็นคุณค่าในตัวเอง แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ด้วยหวังว่าเมื่อกลับไปเขาจะไม่ไปกินกาแฟที่ใส่น้ำตาลหรือใส่อื่นๆ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ แล้วถ้ามีโอกาสไปต่อยอดเปิดร้านของตัวเองได้ป้าพิมก็ยินดี
ไม่มีคำว่า สายเกินไปหรือแก่เกินเรียน เพราะการเรียนรู้มีเพียงจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด
ต้อนรับวันหยุดสงกรานต์ด้วยเรื่องราวดีๆ ที่ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของคนวัยเกษียณกันสักหน่อย เราพาทุกคนไปกันแถวๆ ย่านประตูผี ในช่วงสายของวันที่ผู้คนยังคงบางตา มานั่งจิบกาแฟดีๆ สักแก้ว พร้อมกับเรื่องราวการเรียนรู้ในวัยเกษียณของบาริสต้าวัยเก๋าคนหนึ่ง
ตึกแถวหลังเก่าที่เผยให้เห็นร่องรอยของปูนและอิฐที่เคยสมบูรณ์แบบแม้จะถูกเนรมิตจนกลายเป็นร้านกาแฟที่ไม่เล็กไม่ใหญ่นัก แต่ก็ยังคงความคลาสสิกของตัวมันเองได้เป็นอย่างดี เรากำลังเกริ่นภาพของ ‘มาเธอร์โรสเตอร์’ ร้านกาแฟของป้าพิม-เพลินพิศ เรียนเมฆ ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของร้านแล้ว ยังเป็นมือคั่ว บด ดริปเองกับมือแก้วต่อแก้ว
จากคนคลั่งกาแฟ สู่ ‘บาริสป้า’ วัยเก๋า
แน่นอนว่า การที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน คงต้องเริ่มจากความสนใจในสิ่งนั้น หรือที่เรามักเรียกกันว่า Passion เช่นกันกับจุดเริ่มต้นของร้านมาเธอร์โรสเตอร์ที่ป้าพิมเล่าสู่กันฟัง
“เราเป็นคนกินกาแฟมาตั้งแต่สาวๆ จนตอนนี้ แล้วก็ด้วยความที่เรากินกาแฟอยู่ที่บ้าน พอเกษียณก็เลยหาว่าอะไรที่เรายังไม่ได้ทำตอนช่วงหลังเกษียณบ้าง หลังจากที่เราไปเที่ยวเฮฮากันมาสักพักละ ก็คิดว่าน่าจะเป็นกาแฟนี่แหละมั้งที่ใกล้ตัวที่สุด เลยตัดสินใจเปิดร้านกาแฟเล็กๆ เพื่อที่จะได้ออกจากบ้าน จะได้มีสังคม ได้พูดคุยกับคน ได้มีรายได้นิดๆ หน่อยๆ พอว่าอยากกินเปรี้ยวกินหวานของตัวเอง มันตามประสาคนสูงวัย”
ร้านกาแฟไซส์มินิที่เรียกว่า coffee stand ริมถนนมหาพฤฒารามของป้าพิมจึงเริ่มต้นขึ้น
“ความหมายของ coffee stand มันก็คือเป็นร้านกาแฟเล็กมากๆ ให้คนมาซื้อแล้วก็เพื่อที่จะเดินไป เป็นการ take away เกือบทั้งหมด เดิมร้านเราจะอยู่ในตัวตึกโบราณพื้นที่เล็กๆ หน้ากว้างแค่ 2.5 เมตร ความลึกแค่ 2.5 เมตร แล้วเราก็ดีไซน์ตรงนั้นเพื่อให้มันเข้ากับรูปลักษณ์ของตึก มันก็เลยออกมาเป็น coffee stand ซึ่งจะมีที่นั่งแค่ 2 ที่เล็กๆ แล้วก็มีบาร์ข้างหน้า ซึ่งนั่งได้ 2 คน บาร์ข้างหน้าไว้สำหรับคนมาเทคแล้วก็ไปๆ ซึ่งร้านกาแฟลักษณะนี้ในต่างประเทศในญี่ปุ่นมีกันเยอะ แต่บ้านเราไม่ยังค่อยมี”
ป้าพิมบอกกับเราว่าด้วยความที่เป็นคนสูงวัยมาทำกาแฟ โดยใช้เครื่อง ROK Espresso เครื่องสกัดช็อตกาแฟที่ต้องอาศัยแรงของเราในการสกัด ซึ่งไม่ค่อยมีใครใช้เท่าไร เพราะส่วนใหญ่ก็หันมาใช้แบบอัตโนมัติกันทั้งนั้น ทำให้ป้าพิมและร้านมาเธอร์โรสเตอร์เป็นที่รู้จักในเวลาไม่นานจากการแชร์ต่อๆ กันในโซเชียลและปากต่อปากของคนที่แวะมาลิ้มชิมรสกาแฟฝีมือป้าพิม
“อีกอย่างกาแฟทำมือของเรามันมีจุดเด่นตรงที่ว่ากาแฟเรามีให้เลือก แล้วเราสามารถให้คุณเลือกกาแฟตรงกับใจคุณมากที่สุด เราอยากให้ทุกคนเดินเข้าร้านมาแล้วกลับออกไปอย่างมีความสุขในการมาดื่มกาแฟสักแก้วหนึ่งอย่างที่ตั้งใจ
มันก็คือเหตุผลหนึ่งที่อะไรที่มันเป็นแฟชั่นเดี๋ยวมันก็ไป แต่อะไรที่มันถูกใจเขา เขากลับมาหาเราเอง เพราะป้าเชื่อในกฎของแรงดึงดูด คนจำพวกเดียวกันจะดึงดูดคนจำพวกเดียวกันเข้าหากัน ในทำนองเดียวกันเรากินกาแฟแบบนี้ คนที่กินกาแฟแบบเราเขาก็จะเดินมาหาเราเอง คนที่ไม่ใช่เขาเข้ามาเพื่อลองแล้วเขาก็ไป อาจจะไม่ถูกใจเขา เพราะกาแฟทั้งร้านไม่มีน้ำตาล และมีแต่กาแฟอย่างเดียวไม่มีชา ไม่มีโกโก้”
หลังจาก coffee stand เล็กๆ ได้รับการตอบรับอย่างดี บาริสป้าคนนี้ก็ย้ายทำเลไปบ้านหลังใหญ่แถวตลาดน้อย ป้าพิมบอกว่า ตอนแรกก็คิดว่าจะขายแค่กาแฟดำอย่างเดียว เป็นตัวไซฟ่อน (Syphon) กาแฟที่ชงด้วยระบบสุญญากาศได้รสชาติกาแฟที่สะอาดไร้ตะกอน ซึ่งจะใช้คำว่า ‘สายฝนบาร์’ คำไทยๆ ที่พ้องเสียงของคำว่าไซฟ่อน อีกทั้งชื่อของร้านนี้ก็ยังใช้ชื่อภาษาไทยว่า “มร” หรือ มาเธอร์โรสเตอร์ ไม่ใช่ MR หรือ Mother Roaster เหมือนร้านที่ตลาดน้อย และเมนูทั้งหมดก็เป็นภาษาไทย แม้จะทับศัพท์ก็ตาม เพราะป้าพิมอยากจะคงคอนเซปต์ของร้านที่มีแต่ผู้สูงวัยเอาไว้
เวิร์กชอปกาแฟ พาเพื่อนสูงวัยเรียนรู้ศาสตร์กาแฟและค้นหาความสุข
พอย้ายร้านป้าพิมก็มีโครงการๆ หนึ่งที่อยากจะสานฝันให้เป็นจริง นั่นก็คือ อยากทำเวิร์กชอปให้ผู้สูงวัย
“เรามีแฟนคลับอยู่ส่วนหนึ่ง เรามีคนที่กินกาแฟอยู่แล้วส่วนหนึ่ง หรือคนที่แค่อยากทำกาแฟให้ลูกหลานกิน แค่อยากกินกาแฟที่มันไม่ต้องมีน้ำตาลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ได้ หรือคนที่ไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิตดี ออกมาหาอะไรใหม่ๆ ในชีวิตทำ หรือคนเขาสนใจกาแฟแล้วมาบ่อยๆ เราอยากมีร้านสักร้านหนึ่งให้เขาประลองฝีมือก่อนที่จะออกไปต่อยอดของตัวเอง มันก็เลยเป็นเหตุผลที่เราทำเวิร์กชอปขึ้นมา แต่ช่วงนี้ก็ติดโควิดเลยหยุดไว้ก่อน แล้วก็มาเปิดร้านนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพิ่งจะได้ 2 เดือน พนักงานในร้านก็คือเป็นผู้สูงวัยทั้งหมด 60-70 ปีทั้งนั้น มันก็ตรงคอนเซปต์ที่เราตั้งใจไว้ว่าเป็นร้านของคนสูงวัย”
เวิร์กชอปนี้เป็นการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยป้าพิมหวังว่าคนสูงวัยเหล่านั้นที่มาเข้าเวิร์กชอปกัน เมื่อกลับบ้านไปเขาจะไม่ไปกินกาแฟที่ใส่น้ำตาลหรือใส่อื่นๆ ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะกาแฟของป้าพิมเป็นกาแฟที่กินเอารส ไม่ได้เอาฤทธิ์ และหวังว่าจะทำให้เขาได้มาเจอสังคมใหม่ๆ เจอเพื่อนใหม่ๆ วัยเดียวกัน
“แล้วถ้าเขามีโอกาสไปต่อยอดเปิดร้านของตัวเองได้อันนั้นเราก็ยินดี แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเราอยากให้เขามีความรู้สึกว่า คุณอายุ 60 ปีไม่ได้หมายความว่าคุณจะรอวันตาย คุณยังมีโอกาสทำอะไรได้อีกตั้งเยอะแยะ คุณจะได้เห็นคุณค่าในตัวเอง นั่นคือความตั้งใจของเรา
อย่าลืมว่าผู้พันแซนเดอร์สเปิดร้าน KFC ตอนอายุ 70 ปี แล้วก็ประสบความสำเร็จทั่วโลก ทำไมเราเป็นคนไทยอายุ 70 ปี เปิดร้านแล้วจะไม่เป็นที่รู้จักได้ นี่มันเป็นเวลาที่เราต้องออกมาเสาะแสวงหาในสิ่งที่เราอยากทำ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องไม่เกินกำลังของตัวเอง กำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ของตัวเอง”
ซึ่งเวิร์กชอปนี้เปิดมาหลายรุ่น มีลูกศิษย์เป็นร้อยๆ คน และพนักงานในร้านก็คือหนึ่งในผู้คนเหล่านั้นที่ผ่านการเวิร์กชอปกับป้าพิมมาแล้ว และพวกเขากำลังจะเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองด้วย โดยปกติแล้วคนที่มาเวิร์กชอปทุกคนจะได้มาทำงานเป็นพนักงานในร้านคนละ 1 สัปดาห์ แล้วก็แปะมือให้เพื่อนคนอื่นๆ ต่อ สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ แถมได้แก้เหงาของคนวัยนี้ด้วย ได้ความสุขอีกต่างหาก
“สิ่งที่เขาจะได้กลับไป มันคือประสบการณ์ชีวิตเลย เขาจะได้เรียนรู้ว่าชีวิตจริงเป็นยังไง การดูแลลูกค้าเป็นยังไง การทำกาแฟในแต่ละขั้นตอนเป็นยังไง เขาได้เรียนรู้ คุณมาทำงาน 1 สัปดาห์ปุ๊บแล้วก็แปะให้เพื่อนคนใหม่มา เพื่อนคนใหม่ก็จะได้เรียนรู้ในสิ่งนี้ต่อไป มันจะไม่มีวันสิ้นสุด”
บทเรียนนอกตำรา ที่สร้างการเรียนรู้ให้ตัวเองและผู้อื่นด้วย
ก่อนหน้าที่จะมาทำร้านกาแฟ ในทุกๆ วัน ป้าพิมก็จะตื่นมาทำกาแฟกินเอง แต่พอมีร้านก็กลายเป็นว่าทำให้คนอื่นกินด้วย ซึ่งตอนที่เปิดเป็น coffee stand ริมถนนมหาพฤฒาราม หลังจากปิดร้านแล้ว ป้าพิมก็จะกลับไปคั่วกาแฟด้วยกระทะที่บ้านทุกวันเพื่อที่ตื่นไปเปิดร้านตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น
“เมื่อก่อนเราไม่ได้ขายเยอะไง แต่พอคนเริ่มมาเยอะๆ ก็คั่วกระทะไม่ไหวแล้ว กลัวจะตายในหน้าที่ จำเป็นต้องลงเครื่องค่ะ ทุกวันนี้ก็เลยคั่วด้วยเครื่อง”
และด้วยความที่ทั้งร้านมาเธอร์โรสเตอร์และ Mother Roaster ไม่ได้มีเพียงป้าพิมคนเดียว เมื่อพื้นที่ใหญ่ขึ้นค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นตาม ซึ่งคนที่มาช่วยบริหารจัดการก็คือลูกๆ
“ตอนนี้มันก็จะเป็นเวอร์ชั่นลูกแล้ว ซึ่งร้าน MR ยังเป็นเวอร์ชั่นลูกทั้งหมด มีร้านนี้ มร เท่านั้นเองที่เรามาคุมเอง ตรงนั้นลูกเป็นคนบริหารเป็นคนจัดการ ซึ่งมันก็เทิร์นมาถึงร้านนี้ด้วย เราคั่วกาแฟทีเดียวใช้ทั้งสองร้าน ถามว่ายากไหมพอเราต้องมาบริหารร้านนี้เอง ก็ไม่ยากหรอกค่ะ เพราะวอลลุ่มเรายังน้อยอยู่ แล้วด้วยความที่เราอยู่กับเขามาหนึ่งปีสองปี มันก็ได้ทำให้เรารู้ว่าเราควรทำอะไรแค่ไหนที่ไม่เกินกำลังตัวเราเอง ร้านนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะใหญ่โต เพราะฉะนั้นเราควบคุมดูแลเองได้ มันยังอยู่ภาวะที่เรายังไหวอยู่”
ป้าพิมบอกว่า สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากตำราบทนี้ก็คือ ความภาคภูมิใจ อายุเป็นเพียงตัวเลขไม่ใช่ข้อจำกัดในการเริ่มทำอะไรสักอย่าง แม้อายุจะเข้าเลข 7 แต่ป้าพิมก็ยังสามารถสร้างคุณค่าในตัวเองได้
“นอกจากนี้ยังได้เจอคนใหม่ๆ ได้เจอเด็กรุ่นใหม่ ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกัน มีมุมมองที่แตกต่างไปจากการใช้ชีวิตอยู่บ้านเฉยๆ ลูกค้าที่มามีความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นมันก็จะมีอยู่อย่างหนึ่งถ้าคุณเป็นคนกินกาแฟ คุณจะมีลักษณะเฉพาะที่คนกินกาแฟด้วยกันจะเข้าใจกัน แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนกินกาแฟคุณมาเพื่อลอง คุณลองแค่ครั้งสองครั้งคุณก็ไป อันนั้นแหละค่ะคือสิ่งที่เราได้ อย่างที่บอก เรารู้สึกเราเคารพตัวเราเองมาก เพราะว่าเราเข้าใจว่าชีวิตเรายังมีค่า”
มาเธอร์โรสเตอร์ คือภาพฝันชีวิตในวัยเกษียณ
คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า คนวัยเกษียณคือคนที่แก่ เป็นวัยที่ไม่สร้างสรรค์อะไรใหม่ได้ แต่ไม่ใช่กับป้าพิมที่มองว่าเกษียณเป็นวัยที่คุณสามารถเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ได้ตั้งมากมาย
“ถ้าคุณจะเข้าสู่วัยเกษียณบอกได้ค่ะว่าคุณเฮมันได้ทันที เพราะคุณจะปลดวางจากภาระความรับผิดชอบต่างทั้งสิ่งทั้งปวง อย่างแรกไม่ต้องทำงาน สองเมื่อคุณทำงานมาสักระยะหนึ่งแล้ว คุณจะมีเงินพอที่จะดูแลตัวเองได้ หรือถ้ามันยังน้อยอยู่คุณก็มีโอกาสที่จะเสาะแสวงหาได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น
เราไม่ได้สอนให้คุณทำงานหนักนะ แต่เราสอนให้คุณใช้ชีวิตให้เป็น ใช้ชีวิตที่เหลือในช่วงบั่นปลายชีวิตให้มีความสุขที่สุด อยากทำอะไรทำ ทุกสิ่งอย่างที่มันหาความสุขมาให้ตัวเราเองโดยไม่เบียดเบียนคนอื่นไม่สร้างทุกข์ให้คนอื่น บางอย่างก็ไม่ต้องใช้เงินก็ได้ บางอย่างก็ต้องใช้นิดหน่อย มันอยู่ที่ว่าคุณรู้สึกคิดและรู้จักต่อยอดมันหรือเปล่า”
สำหรับคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วันเกษียณ จะพูดเสมอๆ ว่า สิ่งสำคัญคือต้องหาตัวเองให้เจอก่อน แล้วเริ่มทำซะ อย่ากลัวที่จะลุกขึ้น อะไรก็แล้วแต่เมื่อสะดุดล้มให้รีบลุกขึ้นใหม่ ถึงตอนนี้ความผิดหวังความเสียใจมันมีไม่เท่าไรแล้ว เพราะเราต่างผ่านโลกมาเยอะแล้ว จะล้มอีกสักกี่ครั้งก็ไม่เป็นไร อยู่ที่ว่าใจเข้มแข็งแค่ไหน คนที่อายุ 70 ปี เขายังเรียนจบจนรับปริญญาได้เลย ถ้ามีความตั้งใจ”
“ร้านกาแฟนี้เป็นมากกว่าความสุข ตราบใดที่ทุกวันตอนเช้ายังได้ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วมาทำกาแฟ”
“มันไม่ใช่แค่ในร้านนะคะ ทุกวันนี้ชีวิตประจำวันของเราตื่นเช้ามาปุ๊บสิ่งแรกที่ทำคือต้มน้ำชงกาแฟก่อน จะเลือกเลยว่าวันนี้จะกินกาแฟอะไรดี วันนี้ทำดริป วันนี้ทำเอสเพรสโซ่ วันนี้ทำลาเต้ วันนี้ทำโมก้าพอต จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าอารมณ์วันนั้นจะอย่างไร อยากกินอะไร และวันนั้นอยากได้อะไร คนเราอารมณ์ไม่เหมือนกัน
ฉะนั้นเวลาลูกค้ามาจะถามเลยว่า …วันนี้อยากกินอะไรดีคะ”