- เด็กชายต้นกล้วยเกิดและเติบโตในชุมชนคลองเตย แต่ด้วยโอกาสเล็กๆ ที่ทำให้เขาได้เรียนไวโอลินกับครูชาวนอร์เวย์ตอน 8 ขวบ ทำให้เส้นทางสายดนตรีเริ่มต้นขึ้น และสำเร็จจนได้เป็นนักไวโอลินของวงออร์เคสตราระดับประเทศ
- แม้ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นครูตั้งแต่แรก แต่ด้วยความที่อยากสานฝันส่งต่อโอกาสให้กับเด็กๆ เขาจึงลาออกจากงานประจำมาสอนดนตรีคลาสสิกให้กับเด็ก และตั้งวงอิมมานูเอล ออร์เคสตรา จนมีงานแสดงทั้งในและต่างประเทศ
- ครูต้นกล้วย ออกแบบการเรียนรู้โดยมีดนตรีเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้สร้างแค่ทักษะอาชีพแต่ให้ทักษะชีวิต ที่สำคัญคือการเติมความรักและความมั่นใจให้กับเด็กๆ เพื่อก้าวพ้นการตีตรา
“บางคนติดภาพว่า การเรียนดนตรีจะต้องไปเรียนที่โรงเรียนดนตรีข้างนอกที่แพงมาก ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วสำหรับเด็กที่พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ แต่เราอยากทำให้เด็กๆ เข้าถึงดนตรีคลาสสิกโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสักบาทเดียว และยังสามารถทำเป็นอาชีพได้ด้วย” วรินทร์ อาจวิไล หรือ ‘ครูต้นกล้วย’ อดีตนักเรียนไวโอลินและนักดนตรีมืออาชีพที่เติบโตในชุมชนคลองเตย บอกด้วยความเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำให้ดนตรีคลาสสิกเข้าถึงทุกคนได้
โดยครูต้นกล้วยซึ่งปัจจุบันเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนอิมมานูเอล และประธานมูลนิธิดนตรีเพื่อชีวิต ‘Music of Life’ ได้แรงบันดาลใจนี้มาจากอาจารย์สอนดนตรีของตนเอง Solveig Juhannessen มิชชันนารีชาวนอร์เวย์ ที่ติดตามสามีมาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘ดนตรีคลาสสิก’ กับ ‘ชุมชนแออัด’ ได้เดินทางมาบรรจบกันในที่สุด
โอกาสและความพยายามบนเส้นทางดนตรีที่เลือกเองของ ‘ครูต้นกล้วย’
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ครูต้นกล้วยได้รู้จักกับดนตรีคลาสสิกครั้งแรกที่บ้านสรรเสริญ สถานที่รับเลี้ยงเด็กที่แยกออกมาจากคริสตจักรอิมมานูเอล จากการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนที่ดึงให้เด็กๆ ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และห่างไกลจากยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเรียนภาษาอังกฤษ เรียนดนตรี และกีฬา
“ตอนนั้นก็ไปตามเพื่อนโดยที่ไม่ได้คิดอะไร รู้สึกว่าไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่เท่ดีดูแพงด้วย น่าตื่นเต้นก็เลยลองเล่นดู แต่พอเริ่มเล่นก็ไม่ค่อยชอบ เพราะเสียงมันหนวกหูน่ารำคาญ แล้วมันยากด้วยเล่นเท่าไหร่ก็ไม่เป็นเพลง เลยรู้สึกว่าไม่สนุกเลยเลิกไปพักใหญ่ๆ”
จนได้เห็นว่าเพื่อนที่เรียนดนตรีพร้อมกันเล่นเป็นเพลงแล้ว จะเรียกว่าความอิจฉาหรืออยากเอาชนะก็ได้ เพราะมันทำให้เขาพาตัวเองกลับมาตั้งใจเรียนดนตรีอย่างจริงจังอีกครั้ง จนกระทั่งได้เข้าเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นนักดนตรีอาชีพในที่สุด
“ก่อนหน้านี้เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า ดนตรีมันมีโรงเรียนสอนมีหลักสูตรจริงจังที่คุณจะต้องเป็นนักดนตรีในอนาคต เราก็คิดแค่ว่าเล่นเป็นงานอดิเรก เป็นกิจกรรมๆ หนึ่ง
สมัยก่อนเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า ดนตรี กีฬา เป็นเพียงกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ เป็นเหมือนการเล่นที่ทำให้เรามีความสามารถพิเศษแค่นั้น และไม่คิดว่าวันหนึ่งมันจะกลายมาเป็นอาชีพได้”
แต่หนังเรื่อง ‘Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย’ ซึ่งดังมากในช่วงที่เขาอายุ 15 ปี เรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่น 3 คน กับดนตรีที่ทำให้เขาเห็นภาพเส้นทางการเป็นนักดนตรีอาชีพชัดขึ้น
“เป็นหนังที่ทำให้เราได้รู้ว่ามีโรงเรียนดนตรี มีวิทยาลัยนี้นี้ แต่ตอนแรกไม่ได้อยากเป็นนักดนตรีนะ แค่อยากเป็นเหมือนในหนัง นางเอกในเรื่องเขาก็เล่นไวโอลิน แล้วสถานที่เรียนก็สวย อยากไปใช้ชีวิตวัยรุ่นม.ปลายในนั้น คือเราเรียนโรงเรียนวัดมาโดยตลอด เราไม่รู้ว่าการไปเรียนโรงเรียนแบบนั้นมันจะเป็นยังไง คงเหมือนหลุดออกจากกรอบจากสิ่งที่เคยเรียนในโรงเรียน ก็ไปสอบเข้าม.4 ที่นั่น แต่เราก็สอบผ่านแค่ภาคปฏิบัติ ไม่ผ่านทฤษฎี เลยไม่มั่นใจ แล้วก็ไม่แน่ใจกับการเป็นนักดนตรีด้วย”
จนมิชชันนารีชาวฟินแลนน์ชื่อ Susanna Ketunen นักไวโอลินสอนในระดับมหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยงานที่คริสตจักรอิมมานูเอล ได้เห็นความสามารถด้านดนตรีของครูต้นกล้วย จึงอาสาสานต่อความฝันที่เด็กชายคนนั้นเกือบทิ้งไปแล้วให้กลับมาอีกครั้ง
“ครั้งนี้เป็นการเรียนที่แอดวานซ์ไปอีก ซึ่งยากมาก บางทีก็อ้างว่าไปทำรายงานเพื่อโดดซ้อม แล้วอาจารย์ก็โกรธเขาถามเราว่า ยูจะเป็นนักดนตรีจริงๆ หรือเปล่า เพราะเขาคิดว่าเราจะเป็นนักดนตรี กลายเป็นว่าเราก็พูดไม่ออกว่าเรามองอนาคตตัวเองยังไง เขาก็พาเราไปดูสิ่งหนึ่ง ก็คือสิ่งที่เขาเรียนตั้งแต่เด็ก วิดีโอที่เขาเรียนไวโอลินตั้งแต่อายุ 18 ปี โชว์วงออร์เคสตร้า เล่นอาชีพ ทำให้เรารู้ว่านี่คือความฝันที่อยากเป็น และได้เห็นภาพชัดขึ้น”
ครูต้นเปลี่ยนตัวเองหันมาตั้งใจใหม่เพื่อจะสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลให้ได้ และอาชีพนักดนตรีคลาสสิกแห่งวงออร์เคสตรานี่แหละคือเส้นทางที่เลือกเดิน ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยและอาชีพที่เป็นภาพฝันของครูต้นกล้วยกำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นทุกที เขาบอกว่าแม้สังคมในนั้นจะต่างจากที่เคยอยู่ เนื่องจากว่าราว 95 เปอร์เซ็นต์เป็นคนรวย ขณะที่ชุนชมที่เขาอยู่ 95 เปอร์เซ็นต์เป็นชนชั้นกลางไปถึงข้างล่าง แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคในการใช้ชีวิต อีกทั้งยังโชคดีด้วยซ้ำเพราะมีเพื่อน มีครูที่ดีที่คอยแนะนำ และมีทุนเรียนฟรีหนึ่งปีจากความช่วยเหลือของอาจารย์
จากนักดนตรีคลาสสิกในวงออร์เคสตราระดับประเทศ สู่ครูผู้สานต่อความฝันให้เด็กๆ ในชุมชนคลองเตย
พอเรียนจบครูต้นมุ่งมั่นสู่การเป็นนักดนตรีเต็มตัว เขาฝึกฝนอย่างหนักจนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Philharmonic Orchestra วงดนตรีมืออาชีพระดับประเทศที่จะสร้างความมั่นคงให้กับเขาและครอบครัว
“การเป็นนักดนตรีที่มีมาตรฐาน มีเงินเดือนประจำที่มั่นคง เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง อย่างน้อยสิ่งที่เราเรียนมามันสามารถได้ใช้ และการทำได้ครั้งนี้เปลี่ยนความคิดพ่อแม่ที่ว่า ดนตรีไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้”
ขณะเดียวกันที่โรงเรียนอิมมานูเอลก็ยุ่งมาก เด็กที่มาเรียนดนตรีเริ่มเยอะขึ้นมีเกือบร้อยคน ไม่มีคนช่วยอาจารย์สอน ครูต้นกล้วยจึงกลับมาช่วยสอนไวโอลินอาทิตย์ละครั้ง เนื่องจากว่าเขายังมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบด้วย แต่กลายเป็นว่าเขาทุ่มเทจนละเลยอาชีพนักดนตรีที่ทำอยู่ จึงพลาดการออดิชั่นของวงที่ต้องมีทุกปี จากตอนแรกที่ไม่มีความคิดว่าจะเป็นครู เพราะการเป็นครูสำหรับเขามันเหนื่อยและไม่ใช่ตัวตน กลายเป็นครูต้นกล้วยที่ทุ่มเทวิชาดนตรีให้เด็กๆ จนถึงทุกวันนี้
“เราก็เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเรียนมาใช้สร้างเป็นหลักสูตรของโรงเรียนเรา จัดการเรียนการสอนให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น เนื่องจากว่าอาจารย์คนแรกของเราที่เป็นชาวนอร์เวย์ จะสอนแบบไม่ได้มีตารางเรียนอะไรนัก ใครมาถึงก่อนเรียนก่อนซึ่งเด็กที่มาทีหลังก็ไม่ได้เรียน เลิกเรียนช้าก็ไม่ได้เรียน สิ่งที่เราเคยขาดก็นำมาเติมให้เด็กๆ ที่นี่ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเป็นการปูเส้นทางให้เด็กก้าวไปถึงระดับมหาวิทยาลัยได้เลย”
ซึ่งกว่าที่จะมาเป็นวงดนตรี อิมมานูเอล ออร์เคสตรา อย่างทุกวันนี้ ครูต้นเล่าให้ฟังว่า เส้นทางนี้ค่อนข้างสมบุกสมบันทีเดียว
เริ่มตั้งแต่การรับสมัครเด็กเข้ามาเรียน เขาพยายามจำกัดพื้นที่เด็กที่จะมาเรียนเฉพาะคลองเตยและใกล้เคียงเท่านั้น เพราะระยะทางก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนการสอนด้วย ถ้าเด็กจะต้องใช้เวลาในการเดินทางมาเรียนเป็นชั่วโมงเพื่อมาเรียน 3 ชั่วโมง ไม่วันใดก็วันหนึ่งเด็กจะเริ่มเหนื่อยและท้อ ซึ่งไม่เวิร์กสำหรับแผนการสอนที่ครูต้นกล้วยตั้งใจว่าให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนดนตรีหลังเลิกเรียนอย่างสะดวก ไม่ต้องฝ่ารถติดเพื่อมาเรียน นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ครูต้นกล้วยอยากจะให้มีโรงเรียนแบบนี้เพิ่มขึ้นกระจายอยู่ตามชุมชน
“แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้เป็นวงดนตรีนะ แค่มีการรวมๆ กัน 3-4 คน มีเราแล้วก็เด็กเก่าๆ ของอาจารย์ ก็เล่นตามโบสถ์นั่นแหละ พอได้มาเล่นด้วยกันมันก็เป็นไอเดียที่ดีนะที่เราจะตั้งเป็นวง อาจารย์ก็ส่งลูกศิษย์ไปเรียนจนกลับมารวมวงกัน เราก็เอาประสบการณ์ในการเป็น conductor มาใช้รวมวง จนวงเริ่มใหญ่ขึ้น เราก็ไปแสดงในโบสถ์ใหญ่ มีคนชื่นชอบเราก็ทำอีกสนุกดี ทีนี้อยากไปเล่นให้คนข้างนอกเห็นบ้างล่ะ”
ความตั้งใจของเด็กๆ บวกกับ passion ของครูต้นกล้วย และผู้ที่มองเห็นในสิ่งที่พวกเขาอยากจะประกาศให้โลกรู้ว่าชุมชนคลองเตยมีดนตรีคลาสสิกนะ มีวงออร์เคสตราที่ประกอบไปด้วยเด็กๆ ในชุมชนนะ จึงเกิดเป็นคอนเสิร์ตเล็กๆ ขึ้น และพัฒนาก้าวกระโดดเป็นวงที่มีมาตรฐานกลายเป็นวงออร์เคสตราของที่นี่
บทเรียนความเป็นครูที่ได้จากลูกศิษย์
ในช่วงแรกๆ ที่เข้ามาเป็นครูสอนดนตรีเต็มตัว ครูต้นกล้วยเล่าว่าเขากำลังไฟแรง มีความรู้เยอะ อยากจะอัดความรู้ให้เด็ก จนบางทีมากจนเกินไป แล้วเด็กก็จะรู้สึกว่า มันยากเกินตัวเขา ประกอบกับครูต้นกล้วยเองเป็นคนค่อนข้างจริงจังเมื่อสอน อาจดูดุในสายตาและความรู้สึกของเด็กๆ ไปหน่อย ทำให้เด็กเริ่มไม่อยากมาเรียน
“เด็กไม่อยากมาเรียนกับเราเพราะว่าเราดุเกินไป ไม่ได้ใจดีเหมือนอาจารย์เรา ก็ต้องมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง คิดใหม่ ว่าจะทำยังไงให้เด็กกลับมาเรียน แล้วเด็กเขาเกาะกลุ่มกันมาเรียน ถ้าคนหนึ่งไม่มาส่วนใหญ่ก็จะไม่มากันหมด รวมไปถึงผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจนักเรียนว่าจะมาซ้อมอะไรนักหนา เราก็จัดประชุมผู้ปกครองเลยให้รู้เลยว่าเด็กมาเรียนเวลาไหน เด็กจะได้ไม่มีข้ออ้างไปทำอย่างอื่น”
ในส่วนการบริหารค่าใช้จ่าย ก่อนหน้านี้อาจารย์เป็นคนออกให้ทุกอย่าง แต่หลังจากที่เปิดรับบริจาคด้วยการจัดคอนเสิร์ตและจัดตั้งเป็นมูลนิธิดนตรีเพื่อชีวิตก็มีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้น อาจารย์ของเขาถือเป็นต้นแบบของการให้ และสิ่งที่เขาเคยได้รับก็เปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กคนหนึ่งไปเลย จุดนี้เองที่ทำให้เขาทุ่มเทกับการเป็นครูสอนดนตรีที่นี่
“5 ปีที่ผ่านมา เราก็สู้กันมาโดยตลอดทั้งจัดคอนเสิร์ตเพื่อระดมทุน ซึ่งมันไม่พอแล้วก็ขาดทุนด้วย เราก็มาคิดว่าทำยังไงให้คนสนับสนุนและมั่นใจว่าเงินจะถึงเด็กจริงๆ เลยมีความคิดที่จะเปิดเป็นมูลนิธิ ซึ่งตอนแรกเราก็ได้แค่คิดยังไม่มีความรู้อะไร ตอนนั้นก็มีผู้ช่วยอยู่สองคนที่มาช่วยกันทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จนเกิดเป็นมูลนิธิดนตรีเพื่อชีวิต ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือเด็กๆ ให้เรียนดนตรีที่โรงเรียนแห่งนี้ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังออกทุนให้เด็กได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้านดนตรีด้วย”
การออกแบบการเรียนรู้ที่เริ่มจาก D C B A
โรงเรียนดนตรีอิมมานูเอล มีเด็กอยู่ประมาณ 70 คน และมีครูสอน 7-8 คน โดยเด็กๆ จะได้ตารางเรียนในวันที่ประชุมผู้ปกครอง ซึ่งครูต้นกล้วยบอกว่าตารางเรียนของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เนื่องจากว่าพื้นฐานของเด็กไม่เท่ากัน
โดยเริ่มต้นเด็กแต่ละคนจะได้เรียนเดี่ยวกับครูตัวต่อตัวอย่างน้อย 1 อาทิตย์ๆ ละ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยแบ่งเป็นเรียน 45 นาที 2 ครั้ง หรือ 30 นาที 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความสะดวกของครูกับเด็ก ซึ่งการเรียนเดี่ยวจะทำให้รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอย่างไร โดยครั้งแรกจะเลือกเครื่องดนตรีโดยประเมินจากปัจจัยภายนอก คือ ลักษณะท่าทาง ความกำยำ เนื่องด้วยเครื่องดนตรีบางชนิดในตระกูลไวโอลิน อย่างเชลโลและดับเบิ้ลเบส เป็นเครื่องดนตรีที่ค่อนข้างใหญ่จึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับเด็กด้วย ซึ่งการเรียนเดี่ยวนี่เองจะช่วยในการจัดตารางเรียนรวมวงที่เด็กจะได้เรียนในขั้นต่อไป โดยมีการรวมวง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนการเรียนทฤษฎีดนตรีจะเป็นวันเสาร์ เพื่อให้สมองได้พักจากการเรียนหนักมาทั้งอาทิตย์ก่อน รวมไปถึงการร้องประสานเสียงและทฤษฎีการฟังที่จะสลับกับทฤษฎีดนตรี ซึ่งในแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน
การเรียนแบบรวมวงจะแบ่งเป็น 4 ระดับจากมาตรฐานไปถึงปรมาจารย์ ได้แก่ D C B A โดยเริ่มจาก D คือ วงสำหรับเด็กใหม่ ที่สามารถเล่นเพลงได้ระดับหนึ่งแล้ว, C คือ วงที่สามารถเล่นได้ อ่านโน้ตได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้เก่งมาก, B คือ วงที่สามารถอ่านโน้ตได้ เข้าใจการเล่น เข้าใจในการสื่อสาร และสุดท้าย A คือ วงมาตรฐานที่สามารถเล่นกับวงดนตรีข้างนอกได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดว่าวงไหนจะต้องเป็นเด็กโตหรือเด็กเล็ก เพราะเด็กที่ตั้งใจอยากจะขึ้นมาอยู่ในวง A เขาก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนและความเข้าใจกันในทีมด้วย เพราะการเล่นเป็นวงต้องอาศัยทักษะในการเล่นที่พร้อมเพรียง โดยมีการสอบวัดระดับ เก็บสถิติการมาเรียน และประเมินพัฒนาการของแต่ละคน
“จริงๆ เราไม่ได้มีแค่สอบวงอย่างเดียวเรามีสอบเดี่ยวด้วย เมื่อก่อนจะสอบ 2 ครั้งต่อปี แต่ตอนนี้สอบ 4 ครั้งต่อปี แบบ 3 เดือนครั้ง ก็จะมีสอบสเกลเป็นพวกแบบฝึกหัดต่างๆ แล้วก็เป็นเพลง Solo ที่เด็กจะต้องออกมาเล่นต่อหน้าเพื่อนๆ เพื่อฝึกความกล้าแสดงออก”
สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอจากการสอนมา คือ ผู้ปกครองจะไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมลูกเขาต้องมาเรียนดนตรี เรียนไปเพื่ออะไร ทำไมเลิกเรียนมาไม่ไปช่วยทำงานที่บ้าน แต่พอเรามีการจัดประชุมผู้ปกครองก่อนเปิดภาคเรียน และเมื่อมีงานแสดงเราก็ให้พวกเขาได้มาดูกับตาตัวเองว่าเด็กๆ มีความสามารถด้านดนตรีมากน้อยแค่ไหน และใช้สร้างรายได้จุนเจือตัวเขาและครอบครัวได้ด้วย
“เพราะเรามีการรับงานแสดงตามสถานที่ต่างๆ ในนามของวงอิมมานูเอลด้วย โดยค่าใช้จ่ายจะก็จะอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ ต่องาน แบ่งเป็นเงินสำหรับบริจาคให้มูลนิธิส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการสอน อีกส่วนหนึ่งก็เป็นค่าขนมสำหรับเด็กๆ ซึ่งก็แล้วแต่ขนาดของวงด้วย ทุกวันนี้เขาก็มาดูลูกซ้อมดนตรี เวลามีการแสดง การที่เขาได้เห็นภาพลูกตัวเองเล่นดนตรีแล้วมีคนมาชื่นชมเขาก็จะรู้สึกภูมิใจ และเห็นว่าการมาเรียนดนตรีที่นี่ไม่ได้เสียเวลาไปโดยไร้ประโยชน์”
“ผลงานที่เราและเด็กภูมิใจก็คือ การได้ไปแสดงที่ต่างประเทศถึง 2 ครั้ง มีที่ประเทศนอร์เวย์ไปด้วยกัน 6 คน ไปแสดงต่อหน้าคนเกือบพันคน นี่เป็นสิ่งที่เราได้โชว์ศักยภาพให้คนอื่นได้เห็น เราก็ได้พูดเรื่องราวโปรเจ็กต์ของเราให้คนที่นั่นได้ฟัง
แล้วก็ได้ไปฮ่องกงด้วยไปเล่นร่วมกับเด็กนานาชาติที่นั่น กลายเป็นว่าเราเป็น inspiration ให้กับเด็กนานาชาติได้เห็นว่า อย่างน้อยเด็กที่เขาขาดโอกาสเขาเล่นในฝีมือระดับไหนแล้ว รวมถึงเด็กๆ ได้ไปเห็นนักดนตรีมืออาชีพมากมายเพื่อเป็นตัวเลือกทางเดินของชีวิตตัวเองได้”
ดนตรีกับการเปลี่ยนผ่านที่พาเด็กคนหนึ่งไปถึงฝัน
แน่นอนว่าการเรียนดนตรีนอกจากจะทำให้เด็กๆ มีทักษะด้านดนตรีแล้ว ยังได้ทักษะการฟัง การคิดและทำอย่างมีระบบ คิดเป็นขั้นตอน มีความจำที่ดี เพราะต้องจำโน้ต ซึ่งก็จะเสริมสร้างความจำในด้านอื่นๆ ทั้งยังมีความรับผิดชอบ มีสมาธิจดจ่อเวลาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนลุล่วง
ที่ผ่านมามีการศึกษามากมายที่พิสูจน์ว่าการเรียนดนตรีคลาสสิกนั้นส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และพฤติกรรมเด็ก โดยผลการศึกษาของ The University of Vermont College of Medicine วิเคราะห์ผลการสแกนสมองของเด็ก 6-18 ปี โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาสมองของเด็กที่เล่นเครื่องดนตรี พบว่า เป็นการกระตุ้นส่วนนอกของสมองใหญ่หรือเปลือกสมอง (Cerebral Cortex) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบความจำ ความใส่ใจ ความตระหนัก (awareness) ความคิด ภาษา และการรับรู้ (consciousness)
นอกจากนี้ การเรียนดนตรียังสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมอีกอย่าง คือ เด็กโรงเรียนดนตรีที่นี่สามารถต่อยอดไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในด้านดนตรี และประกอบอาชีพที่ฝันไว้ได้ ซึ่งเด็กที่ได้ทุนส่วนใหญ่มักกลับมาสานต่อสิ่งที่ครูต้นกล้วยได้ปูทางไว้ เห็นได้ชัดว่าการเรียนดนตรีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสด้านการศึกษาที่สูงขึ้น และเป็นตัวอย่างของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชนอีกด้วย
สำหรับครูต้นกล้วยแล้ว ดนตรีคือทุกอย่าง มันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนๆ หนึ่งไปได้ สามารถให้อนาคตคนๆ หนึ่งได้
เขาเองก็ไม่รู้หรอกว่าดนตรีจะพาตัวเองมาไกลขนาดนี้ พามาไกลกว่าสิ่งที่เคยได้เห็น ได้เจอในสิ่งที่ไม่เคยเจอ ได้ไปในที่ที่ไม่เคยไป ได้ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านบทเพลง ดนตรียิ่งใหญ่กว่าการเล่นเพื่อความสนุก เป้าหมายของนักดนตรีไม่ใช่การเล่นเก่งระดับโลก แต่อะไรคือสิ่งที่จะสื่อให้คนฟังรู้สึกได้ นี่คือการเล่นดนตรีเป็นแล้ว
“ดนตรีเปลี่ยนแปลงเราในทางที่ดีขึ้น จากคนที่เอาแต่ใจตัวเอง มองตัวเองเป็นใหญ่ ความคิดต้องชนะทุกอย่าง เหตุการณ์เด็กไม่มาเรียนกับเรา ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเพราะอะไร ได้ย้อนกลับมาดูตัวเองว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงตัวเอง สร้างตัวเองใหม่ทำให้เด็กอยากกลับมาเรียนกับเรา”
สำหรับเขานี่คือจิตวิญญาณของความเป็นครูที่เกิดขึ้นในเนื้อในตัว ความพยายามที่จะถ่ายทอดทั้งความรู้ด้านดนตรี และความรู้สึกภูมิใจในตัวเองให้กับเด็กๆ เพื่อพวกเขาจะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
“คนอาจมองภาพไม่ออกว่าดนตรีจะเปลี่ยนแปลงคนๆ หนึ่งได้อย่างไร เราคือบทพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว ว่ามันสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเราได้ ดนตรีพาเราออกเดินทางไปเจอผู้คน เจอวัฒนธรรมที่แตกต่าง ดนตรีให้การศึกษา สร้างโอกาสที่ทำให้เราเทียบเท่ากับกับคนอื่นได้”