Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: February 2021

ปกป้อง (ควบคุม) อีกฝ่ายเกินไป เพราะยังไม่ได้ทำงานกับความเปราะบางในตัวเอง?
Myth/Life/Crisis
26 February 2021

ปกป้อง (ควบคุม) อีกฝ่ายเกินไป เพราะยังไม่ได้ทำงานกับความเปราะบางในตัวเอง?

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ความสัมพันธ์ของ ‘ผู้ที่ถูกควบคุม’ และ ‘ผู้ที่ควบคุม’ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของลูกและพ่อแม่ ในกรณีที่ฝ่ายหลังปกป้องฝ่ายแรกมากไปกระทั่งกลายเป็นควบคุมบงการสุดขีด ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่ได้สัมผัสและทำงานกับความเปราะภายในตนเอง เล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์ของอูเธอร์ เพนดรากอน และ มอร์กานา ตามเนื้อเรื่องจากละครโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักรชื่อ เมอร์ลิน (Merlin) 
  • “สำหรับความสัมพันธ์ในบ้าน อูเธอร์ เพนดรากอน อาจเป็นภาพแทนผู้ปกครองที่พยายามปกป้องลูกหรือคนที่เขารักอย่างสุดโต่ง เขามองว่าโลกภายนอกเต็มไปด้วยภยันอันตราย แต่เขาไม่เห็นว่าด้วยวิธีการเช่นนั้นตัวเองก็สามารถเป็นโทษกับคนใกล้ตัวได้มากเช่นกัน”

“เจ้าไม่รู้ความหมายของการเป็นราชาหรอก ชะตากรรมของคาร์เมลอตอยู่ในกำมือข้า มันเป็นความรับผิดชอบของข้าในการปกป้องผู้คนในดินแดนนี้จากศัตรู” — กษัตริย์อูเธอร์พูดกับมอร์กานา ลูกสาวของเขา

“ข้าต้องการให้ท่านทุกข์ทรมานเหมือนที่ข้ารู้สึก จะได้รู้ว่าความโดดเดี่ยวและหวาดกลัวเป็นเช่นไร” — ราชินีมอร์กานา พูดกับอูเธอร์

ความสัมพันธ์ที่อีกฝ่ายถูกควบคุมอย่างหนัก กระทั่งต้องกลัวที่จะสัมผัสกับสัญชาตญาณซึ่งปรกติสิ่งมีชีวิตใช้มันปกป้องตัวเองได้ หวั่นเกรงที่จะรู้สึกตามจริงและต้องกดมันลงไป เลยไปถึงการถูกปิดกั้นศักยภาพ เป็นความสัมพันธ์ที่ชวนอึดอัด มิใช่เพียงฝ่ายซึ่งถูกควบคุมเท่านั้นที่จะรู้สึกดั่งถูกขัง ผู้ที่ต้องการควบคุมอย่างหนักก็กำลังติดกรงบางอย่างเช่นกัน กระนั้น ในที่สุดธรรมชาติก็จะส่งเสียงเพรียกให้เราตื่นขึ้น ให้ความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ของทุกฝ่ายค่อยๆ คลี่เผยออกมา

ขอเล่าความสัมพันธ์ลักษณะนี้ ผ่านตัวละครสองตัว คือ อูเธอร์ เพนดรากอน และ มอร์กานา โดยเน้นตามเนื้อเรื่องจากละครโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักรชื่อ เมอร์ลิน (Merlin) เนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากตำนานอันรู้จักกันในนาม The Matter of Britain ซึ่งมีอาร์เธอร์ บุตรของ อูเธอร์ เพนดรากอน เป็นศูนย์กลางของเรื่องราว ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 11 เรื่องราวเกี่ยวกับราชสำนักของอาร์เธอร์และก็ได้รับความนิยมในเวลส์แล้ว ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับ อูเธอร์ ผู้เป็นบิดานั้น กล่าวกันว่าพระองค์ปรากฏอยู่เพียงประปรายในบทกวีโบราณในภาษาเวลช์ นอกจากนี้ ตัวละครมอร์กานาหรือมอร์แกน เลอเฟย์ ก็ไม่ได้เป็นตัวละครหลักในวรรณกรรมอังกฤษช่วงปลายศตวรรษที่ 12 จนถึงประมาณปลายศตวรรษที่ 15 กระนั้นไม่ว่าวรรณกรรมในเวอร์ชั่นไหนๆ จะพูดถึงเธอมากน้อยเพียงใด เห็นด้วยกับ Danielle Gurevitch ว่า ด้วยพฤติกรรมและเวทย์มนตร์ของเธอที่ดูเป็นอันตรายต่อระบบระเบียบของสังคมชายเป็นใหญ่ เธอก็ยังคงเป็นเป็นเสน่ห์ของเรื่องเล่าอย่างยิ่ง 

อูเธอร์ เพนดรากอน: ราชาผู้ไม่กล้าเปราะบาง

อูเธอร์ เพนดรากอน เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรคาเมลอต เขาเป็นพ่อของอาร์เธอร์ ซึ่งภายหลังก็คือกษัตริย์บริทิชผู้เรืองนามในตำนานตามวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ในยุคกลาง อูเธอร์ปกครองอาณาจักรด้วยความเด็ดขาด แต่ที่เข้าขั้นเหี้ยมโหดคือการจัดการกับเวทย์มนตร์ เพราะเขาเชื่ออย่างมากว่าเวทย์มนตร์ทั้งปวงล้วนชั่วร้าย ใครก็ตามที่บังอาจใช้เวทย์มนตร์จึงต้องถูกประหารชีวิต

กลายเป็นว่าคนที่ใช้เวทย์มนตร์ในทางดีก็ซวยไปด้วย

อูเธอร์เชื่ออย่างแน่นหนักว่าเขาทำทุกอย่างไปเพื่อปกป้องอาณาประชาราษฎร์จากความชั่วร้าย แต่ไปๆ มาๆ เขาก็ร้ายกับคนอื่นเสียเอง อีกทั้งที่แท้แล้วในอดีต อูเธอร์เองนั่นแหละที่เป็นคนขอร้องให้แม่มดนิมเวย์ – หนึ่งในนักบวชหญิงชั้นสูงแห่งศาสนาโบราณ – ช่วยใช้เวทย์มนตร์ทำให้เขาได้รัชทายาท ซึ่งก็คืออาร์เธอร์ แต่ทว่ากฎของศาสนาโบราณเน้นเรื่องความสมดุล ในการให้กำเนิดชีวิตย่อมต้องมีชีวิตที่ถูกพรากเอาไป ดังนั้น เมื่ออีเกรน ภรรยาของอูเธอร์ให้กำเนิดอาร์เธอร์แล้ว ก็ได้ตายจากไปตามกฎนั้น

อูเธอร์ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นหนึ่งในเหตุแห่งความสูญเสียนี้ และกลับโยนบาปไปยังทุกคนที่ใช้เวทย์มนตร์ เขากล่าวหาว่านิมเวย์ทรยศและเนรเทศนิมเวย์ไปที่อื่น เขาสั่งกวาดล้างพ่อมดหมอผีนับร้อย ไม่ว่าจะใช้เวทย์มนตร์ในทางร้ายดีอย่างไรรวมถึงผู้ต้องสงสัยทั้งมวล ล้วนต้องถูกประหัตประหารทั้งสิ้น เขาดูหัวร้อนและรุนแรง แต่เขาก็เป็นพ่อที่ปกป้องลูกด้วยรักสุดหัวใจและพร้อมแลกด้วยชีวิตของตัวเอง

มอร์กานา: ตัดขาดกับแก่นสารของตัวเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์

นอกจากอาร์เธอร์แล้ว อูเธอร์มีลูกอีกคนชื่อมอร์กานา ลูกสาวนอกสมรส ซึ่งเกิดจากการที่เขาไปเป็นชู้กับวิเวียน ภรรยาของเพื่อนรักของเขา เซอร์กอร์ลอส (Gorlois) มอร์กานาเกิดและโตที่บ้านของกอร์ลอส ทว่าภายหลังจากที่กอร์ลอสได้ตายลงเมื่อมอร์กานาอายุประมาณ 10 ขวบ เธอย้ายเข้าราชสำนักมาอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของอูเธอร์ โดยที่เกือบตลอดชีวิต เธอเองก็ไม่รู้ว่าตนเองเป็นลูกจริงๆ ของอูเธอร์ เพราะเขาเลือกที่จะไม่บอกเธอ  

มอร์กานาเติบโตขึ้นเป็นเจ้าหญิงผู้มีจิตใจดีงาม ทั้งยังมีความกล้าหาญอย่างนักรบ หลายครั้งเธอท้าทายและขัดขืนนโยบายของพ่อตัวเองเมื่อเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ซึ่งครั้งหนึ่งก็ทำให้เธอถูกขังในคุกใต้ดิน นอกจากนี้เธอยังมีเวทย์มนตร์และเห็นนิมิตในความฝันอันสามารถพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ตอนแรกเธอยังไม่รับรู้เวทย์ที่มีมากนัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเธอก็จุดเพลิงขึ้นในห้องอย่างไม่ได้ตั้งใจ เธอรุดไปหาหมอหลวงด้วยความหวาดกลัวว่าเธอจะมีเวทย์มนตร์ แต่หมอหลวงโกหกว่าเธอไม่ได้มีเวทย์มนตร์อย่างที่เธอคิดเพื่อปกป้องให้เธอปลอดภัย เมื่อเธอทราบความจริงในภายหลัง เธอต้องแอบซ่อนไว้มันอย่างหวาดกลัว

ในขณะเดียวกันเธอก็ได้เป็นสักขีพยานการประหารพ่อของสาวรับใช้ของเธอด้วยข้อหาว่าเป็นพ่อมดอย่างอยุติธรรม ความเห็นแย้งกลายเป็นความชิงชังอูเธอร์มากขึ้นเรื่อยๆ  และเมื่อผสานกับเหตุการณ์ชวนสับสนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เธอก็ค่อยๆ ถูกด้านมืดครอบงำ กระทั่งกลายเป็นคนอาฆาต เย็นชา และเหี้ยมโหด

ครั้งหนึ่ง มอร์กานาโดนยาพิษ พี่สาวร่วมมารดาซึ่งเป็นนักรบที่เก่งกล้าและเป็นหนึ่งในนักบวชหญิงชั้นสูงแห่งศาสนาโบราณ จึงพาเธอหายตัวไปจากปราสาทของอูเธอร์เพื่อไปรักษาตัวที่อื่น อูเธอร์ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้แต่เพียงว่าลูกสาวหายตัวไปและตามหาเธออย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ไม่ว่าต้องสูญเสียทหารจากการถูกลอบโจมตีไปเพียงใด ทว่าสุดท้ายมอร์กานาก็กลับมาพร้อมกับแผนชั่วร้าย เธอปฏิบัติการหลายอย่างจนได้สถานปนาตัวเองขึ้นเป็นราชินีแห่งอาณาจักรคาเมล็อต และจับพ่อของเธอขังคุก เธอบีบให้เหล่าอัศวินสวามิภักดิ์แต่พวกเขาไม่ยอม เธอจึงสั่งให้กองกำลังสังหารชาวนาซึ่งเป็นการเอาผู้บริสุทธิ์มาขู่

แล้วเธอก็ได้กลายเป็นความมืดโดยสมบูรณ์เมื่อใช้เวทย์มนตร์ทำให้พ่อของเธอถึงกาลมรณะ

เรื่องมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อูเธอร์ แค่ใครคนหนึ่งที่ลืมดูแลด้านอ่อนนุ่มแห่งโลกภายใน

อูเธอร์ทำให้นึกถึงคนลักษณะที่มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ เขาชอบทำสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้มข้น เขาไม่ชอบให้ใครมาสั่งว่าต้องทำอะไรในขณะที่ตนเองชอบควบคุมสิ่งแวดล้อม เขาเชื่อว่าโลกนี้เต็มไปด้วยคนไม่ดี เขาเองจึงต้องแข็งแกร่งเพื่อจะจัดการกับภัยที่อาจคุกคาม เขามองเห็นคนที่มีพลังอำนาจและระแวดระวังว่าใครกำลังจะมาบงการเขาหรือทรยศเขาได้ อีกทั้งเขาก็อยากปกป้องผู้อื่นจากสิ่งเหล่านี้ด้วย เมื่อมีอะไรไม่น่าพอใจเกิดขึ้น เขาจะมองหาโดยอัตโนมัติว่าใครต้องรับผิดในเรื่องนี้ เพื่อที่เขาจะได้จัดการเพราะเขาเป็นนักลงมือปฏิบัติ ภายนอกเขาดูแข็งแกร่ง แข็งกร้าว และแน่ว่าไม่พร้อมจะมองเห็นความเปราะบางที่อยู่ภายใน เขามักแปลงความรู้สึกต่างๆ เป็นความโกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกเศร้าโศกหรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกเปราะบาง เขาจึงมักเข้าไปปกป้องผู้คนที่พวกเขา “คิดว่า” อ่อนแอ ซึ่งอีกนัยก็หนึ่งคือการฉายความเปราะบางภายในที่ไม่อยากรับรู้ไปที่สิ่งอื่นภายนอก และเป็นการสัมผัสด้านนั้นของตนเองผ่านคนอื่นนั่นเอง

หากเขาเผยความเปราะบางให้ผู้ใดเห็น และความเชื่อใจของเขา ‘ถูกทรยศ’ (เป็นการตีความในแบบของเขาเอง) แวบแรกในความนึกคิดคือ เขาต้องแก้แค้นเอาคืนให้ถึงที่สุด  

ราวกับว่าเขามีป้อมปราการเพชรที่ไม่มีผู้ใดทะลวงเข้ามาได้ ผู้ที่อยู่ภายนอกป้อมนั้นเป็นคนไม่สำคัญ ไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นภัยคุกคามไปเลย ทว่ากับคนที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในอาณาจักร เขาก็พร้อมจะคุ้มครองดูแลด้วยชีวิตของเขาเอง กระนั้น เมื่อเขาละเลยที่จะมองเห็นด้านอ่อนนุ่มในตนเอง เขาก็มักจะอยากปกป้องคนในจนเกินพอดี การปกป้องจึงมักอยู่คู่กับการปกครอง และกลายร่างเป็นการบงการผู้อื่นไปอย่างสุดโต่งโดยไม่รู้ตัว

แต่คนเก่งอย่างเขาก็มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่เขาปักใจเชื่อจะเป็นความจริงและไม่เสมอไปที่ทุกอย่างจะเป็นอันตรายคุกคามที่ต้องป้องปกคนอื่นไม่ให้คนอื่นสัมผัส

แค่คนที่ห่วงใย ไฉนกลายเป็นผู้กลืนกินพลังชีวิต?

ในความสัมพันธ์ในบ้าน อูเธอร์ เพนดรากอน อาจเป็นภาพแทนผู้ปกครองที่พยายามปกป้องลูกหรือคนที่เขารักอย่างสุดโต่ง เขามองว่าโลกภายนอกเต็มไปด้วยภยันอันตรายแต่เขาไม่เห็นว่าตัวเองก็สามารถเป็นโทษกับคนใกล้ตัวได้เช่นกัน

หากคนที่ถูกควบคุมเป็นลูก เขาเองก็ไม่รู้ตัวว่าการทำเช่นนี้สามารถปิดกั้นการพัฒนาศักยภาพของลูกไปพร้อมกับสร้างความขมขื่นให้ลูกด้วย เพราะศักยภาพหลายๆ อย่างที่ลูกคนนั้นมี กลับไม่อาจพัฒนาอย่างเต็มที่และไม่ได้แบ่งปันมันกับโลก หากคนที่ถูกควบคุมเป็นคู่รัก ก็ไม่ยากที่อีกฝ่ายจะรู้สึกอึดอัดและเป็นรอง

ตัวอย่าง ผู้ปกครองบางคนอาจรู้สึกว่าอะไรในโลกภายนอกก็ดูเป็นอันตรายไปหมด กลัวลูกเป็นอันตรายระคนกับกลัวว่าลูกตีจากไป จึงเลี้ยงดูแบบปกป้องเกินควร เขาอาจไม่ยอมให้ลูกออกไปอยู่ที่อื่นนอกบ้านเลยจนตลอดชีวิต หรือไม่ปล่อยให้แก้ปัญหาต่างๆ ในรูปแบบของตัวลูกเอง หรือไม่ยอมให้ลูกสัมผัสกับเล่ห์เหลี่ยมและด้านมืดอื่นๆ ของมนุษย์ด้วยตัวเขาเอง ลูกจึงกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองศักยภาพน้อยกว่าคนอื่น และรู้สึกว่าต้องพึ่งพิงคนในบ้านอย่างไม่กล้าเป็นเอกเทศกับแทบทุกเรื่อง บ้างก็มีอาการซึมเศร้า ซึ่งน่าสนใจที่คำว่าซึมเศร้า depressed สามารถแปล depress ว่า ‘กดลงไป’ และทำให้จมลง นั่นคือ มีสัญชาตญาณและอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธที่เป็นประโยชน์สำหรับการรักษาอาณาเขตของคนๆ นั้นที่ต้องกดเอาไว้

กล่าวโดยย่อ ลูกกดความเป็นตัวเองลงไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับผู้ปกครองที่บ้าน และก็อาจกดตัวเองแบบนั้นเวลาสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย (กล่าวละเอียดในบทที่ 2)

แต่เรื่องนี้ไม่ได้ยกตัวอย่างขึ้นมาให้เราต้องเที่ยวโทษใครต่อใครว่าเขาทำให้เราขมขื่นหรือไม่พัฒนา โดยเฉพาะถ้าคนที่เขาควบคุมเราเป็นพ่อแม่ รู้ไว้เลยว่า พวกเขามักจะทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว เพียงแต่พวกเขาก็มีสถานการณ์ของตัวเองที่ต้องรับมือไปด้วย พวกเขาอาจอยู่ในช่วงที่เครียดหรือมีบาดแผลของตัวเองที่ยังไม่ได้ทำงานกับมัน เช่น ลูกของเขาอาจเคยเฉียดตายมา หรือลูกเคยร่างกายอ่อนแอ เขาอาจจะเจ็บปวดมากเกินไปเมื่อเห็นลูกเจ็บปวด และไม่สามารถทนความรู้สึกว่าจะต้องสูญเสียได้อีก จึงปกป้องลูกเกินเหตุเพียงเพราะรักมากนั่นเอง

ในรูปแบบความสัมพันธ์ลักษณะข้างต้น ฝ่ายที่ถูกควบคุมมักจะเริ่มด้วยการเก็บอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างและยอมสูญเสียตัวเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งในตัวเขาก็ย่อมพยายามหาทางสำแดงตัวออกมา บางจังหวะเขาอาจระเบิดความโกรธที่เก็บกดไว้แล้วต่อว่าอีกฝ่าย (คือมีจังหวะเปลี่ยนวิธีรับมือจากสยบยอมสุดขีดไปเป็นการกล่าวโทษโจมตี และพลิกบทเป็นคนควบคุมแทน คล้ายๆ มอร์กานาในตอนท้าย) หรือไม่เช่นนั้น เขาอาจตัดความสัมพันธ์กับฝ่ายที่ตีกรอบควบคุมเขาอย่างแน่นหนาไปในที่สุด เพื่อให้ต้นไม้ที่กำลังขยายขอบเขตมีพื้นที่ได้เติบโตไปเป็นร่มเงาให้ผู้อื่นได้บ้าง

แต่ทางออกตรงกลางระหว่างการสยบยอมโดยสิ้นเชิงกับการตัดสัมพันธ์ สามารถเป็นการทำงานกับพลังงานที่กดไว้ หนึ่งในการทำงานกับมันคือ การทำงานกับภาพสัญลักษณ์ในศิลปะ ในตำนานและในความฝัน ซึ่งน่าสนใจว่าหลายครั้งก็สอดพ้องต้องกันกับอาการเจ็บป่วยทางร่างกายด้วย

มันสามารถทำให้เราค่อยๆ สัมผัสพลังงานลักษณะต่างๆ ที่เก็บกดไว้ในกรุแห่งจิตไร้สำนึก ถึงจุดหนึ่งทุกฝ่ายต้องเติบโตพ้นไปจากกรอบเดิมของตัวเอง ฝ่ายที่ถูกควบคุมมีศักยภาพที่จะเห็นด้านที่ทรงพลังของตัวเอง ซึ่งสามารถนำมาใช้ปกป้องคนที่เคยปกป้องเรา เลยไปถึงสามารถเข้าใจความเปราะบางหรือรอยแผลของผู้ควบคุมเรา ส่วนผู้ชอบควบคุมก็มีศักยภาพในการตระหนักรู้ถึงความอ่อนโยนและเปราะบางของตนเอง อีกทั้งยอมให้ผู้อื่นปกป้องดูแลบ้าง

หากยินดีเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายก็คือผู้กู้สมดุลของความสัมพันธ์ให้กันและกัน และไม่ต้องจากกันไป

อ้างอิง
Analytical Psychology Approach to the Love-Hate
Relationship between King Arthur and Morgan le Fay
in Malory’s Le Morte D’Arthur โดย Danielle Gurevitch
Arthurian legend จากสารานุกรมออนไลน์บริแทนนิกา (Britannica)
Authenticity vs. Attachment ดร. กาบอร์ มาเธ่ (Gabor Maté) แพทย์ซึ่งเกิดในฮังการีในช่วงนาซีบุก เขามีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องพัฒนาการในวัยเด็กและบาดแผลทางจิตใจ การแปลงคำว่า depression เชื่อมโยงกับการ “กด” อารมณ์และสัญชาตญาณของตัวเอง มาจากดร. มาเธ่ ผู้นี้
Enneagram: Am I Type 8? โดยดร. Tom Lahue
รายละเอียดของตัวละครส่วนใหญ่มาจาก Uther Pendragon ซึ่งเขียนสรุปตามภาพยนตร์เรื่อง Merlin ที่สามารถหาดูได้ใน Netflix

Tags:

Myth Life Crisis

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    หลวิชัย : เพื่อนผู้พึ่งพาได้ ในขณะที่ยังมีเส้นอาณาเขตระหว่างตัวเองและผู้อื่นชัดเจน (1)

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    แดรกคิวล่า : เรียนรู้จากผีดิบ และอาการป่วยไข้ที่รุกล้ำอาณาเขตของเรา

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    คางุยะ เจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์: ที่ทางของฉันบนโลกใบนี้

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    Swan Lake 2: ข้อมูลที่จิตสำนึกไม่รับทราบ แต่หาทางไปปรากฏในความฝันและการเสพติด

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

มองโลกในแง่ดีเกินไป (Toxic Positivity) : ในวันที่เราต่างมีช่วงเวลาแย่ แต่ต้องกดมันไว้ว่า ‘ไม่เป็นไร’
Relationship
24 February 2021

มองโลกในแง่ดีเกินไป (Toxic Positivity) : ในวันที่เราต่างมีช่วงเวลาแย่ แต่ต้องกดมันไว้ว่า ‘ไม่เป็นไร’

เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ทำไมเวลาที่เรามีความสุขถึงถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไรที่เรารู้สึกแย่กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติซะงั้น ทั้งๆ ที่ก็เป็นอารมณ์เหมือนกัน ลงท้ายทำให้เราต้องพยายามอดกลั้นอารมณ์นั้นไว้ในใจ เปรียบเสมือนภูเขาไฟที่รอวันระเบิด
  • การมองโลกในแง่ดีเกินไป (Toxic Positivity) ภาวะของการผลักไสความรู้สึกด้านลบและสรรเสริญความรู้สึกด้านบวก ‘ไม่เป็นไรหรอก อย่าไปคิดมากกับความเศร้าแค่นี้ เรื่องจิ๊บๆ น่ะ’
  • ไม่มีความรู้สึกใครที่ไม่สมเหตุสมผลหรือไร้สาระ ทุกความรู้สึกต่างเกิดจากประสบการณ์ในอดีต เราจึงไม่ควรตัดสินแต่จงโอบกอดมัน เพราะนี่คือหนทางแรกสู่การทำความเข้าใจและดูแลความรู้สึก

ในช่วงที่ความคิดบวกสะพรั่งเต็มไทม์ไลน์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องพยายามคิดบวกมากขึ้นแม้บางครั้งจะไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น พยายามฝืนยิ้มแม้ใจจะรู้สึกเศร้า บอกตัวเองว่ารู้สึกโอเคทั้งที่ข้างในแทบพังทลายเพียงเพราะไม่อยากให้คนอื่นมากังวลกับความรู้สึกเปราะบางของตัวเอง

ทว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้มีมากขึ้น จากที่จะทำให้คนในสังคมรู้สึกดี กลับยิ่งกลายเป็นการเก็บกด (Suppress) ความรู้สึกแย่จำนวนมากไว้ในจิตใจเป็นเหมือนภูเขาไฟอัดแน่นที่พร้อมระเบิดสักวันหนึ่ง ภาวะของการผลักไสความรู้สึกด้านลบและสรรเสริญความรู้สึกด้านบวกนี้เรียกว่า การมองโลกในแง่ดีเกินไป (Toxic Positivity)

อาจเป็นคำพูดว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก อย่าไปคิดมากกับความเศร้าแค่นี้ เรื่องจิ๊บๆ น่ะ’ คำพูดประเภทนี้อาจออกมาจากเจตนาดีที่อยากให้คนที่กำลังรู้สึกแย่ผ่านพ้นปัญหาไปได้ แต่จริงๆ แล้วการทำแบบนี้อาจไม่ได้มีประโยชน์สักเท่าไหร่ เพราะมนุษย์มีทั้งความรู้สึกลบและบวก การผลักไสเช่นนี้จึงไม่ต่างจากการปฎิเสธตัวตนตนเอง ยิ่งพยายามคิดบวกทั้งที่ภายในใจติดลบ ยิ่งดูเป็นมนุษย์น้อยลง แม้จะยิ้มก็เป็นรอยยิ้มที่แฝงไปด้วยแววตาที่เศร้า แม้จะหัวเราะแต่หลังสิ้นสุดเสียงก็กลายเป็นบรรยากาศแห่งความว่างเปล่า การปฎิเสธอารมณ์เชิงลบจึงอาจบอกได้ว่าเป็นการปฎิเสธเด็กน้อยในตนเองด้วย (Inner Child)

หลายครั้งการปฎิเสธอารมณ์เชิงลบเพื่อให้รู้สึกดีกลับยิ่งทำให้รู้สึกแย่เป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีสิ้นสุด เช่น เมื่อรู้สึกกังวลที่ต้องออกไปพูดในที่สาธารณะแล้วพยายามผลักไสความกังวลก็ยิ่งทำให้รู้สึกกังวลมากขึ้นไปอีก ยิ่งพยายามขับไล่ความกังวล ความกังวลก็ยิ่งขยายตัวใหญ่เท่านั้น อารมณ์เหมือนเราบอกตัวเองว่าอย่านึกถึงม้าย้ำๆ ก็จะยิ่งนึกถึงม้าง่ายเท่านั้น การต่อต้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นทำให้จากความกังวลชั้นเดียวกลายเป็นความกังวลที่มีความซับซ้อนขึ้นไปซะงั้น

ไม่ต้องรู้สึกเสียใจไปหากอ่านมาถึงจุดนี้แล้วพบว่าตัวเองใช้วิธีเก็บกดอารมณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่เราได้เรียนรู้ หากอยู่ในครอบครัวที่การแสดงออกอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องต้องห้าม ‘จะตีนะ ถ้าร้องไห้อยู่แบบนี้’ ‘ไม่ดีเลยนะถ้าน้อยใจ’ จึงเกิดการเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ข่มอารมณ์เชิงลบ เพราะเข้าใจว่าการแสดงอารมณ์เชิงลบเท่ากับจะไม่ถูกรัก นานวันเข้าก็กลายเป็นขาดการเชื่อมโยงและซื่อสัตย์กับความรู้สึกตนเอง (Disconnect from Authentic Self)

ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ เคยกล่าวว่า ในโลกนี้ไม่มีอารมณ์เชิงลบหรือเชิงบวก มีแค่อารมณ์ที่เราชอบและไม่ชอบ ทุกอารมณ์มีประโยชน์และหน้าที่ในแบบของมัน ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นพยายามสื่อสารบางสิ่งในจิตใจกับเราเสมอ หากให้เวลาและตั้งใจฟังเสียงนั้นมากพอ

งานวิจัยพบว่า คนที่เก็บกดอารมณ์มีแนวโน้มที่จะมีอาการของโรคซึมเศร้า เผชิญกับอารมณ์เชิงลบ มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับคนรอบข้าง มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำ มองโลกในแง่ลบ และไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเอง

อย่างที่บอกไปว่า จริงๆ แล้วทุกอารมณ์มีประโยชน์ในตัวของมันเอง หากเราลองที่จะหยุดช้าลงและสัมผัสอารมณ์เหล่านั้นที่เกิดขึ้น เพื่อฟังเสียงเรียกว่าเขากำลังพยายามบอกอะไร

วิชาเข้าใจอารมณ์ 101

ความโกรธ (Anger) คือ อารมณ์ของนักสู้ที่กำลังบอกว่าเราสมควรได้บางอย่างที่เหมาะสมมากกว่านี้และมักจะมาในสถานการณ์ที่มีบางอย่างกำลังคุกคามและรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจในการจัดการสิ่งนั้น เมื่อโกรธอัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วขึ้น เลือดจำนวนมากจะถูกหล่อเลี้ยงไปที่มือเพื่อเตรียมต่อสู้ (Fight Mode)

หลายครั้งความโกรธเป็นอารมณ์ขั้นที่สองที่เอาไว้ใช้ปกปิดความกลัว ความเจ็บปวดด้วย เช่น คุณรู้สึกโกรธเมื่อลูกลุกขึ้นมาเถียงคุณอย่างไม่เคารพเพราะคิดว่าตนเองมีชอบความธรรมและอำนาจในการโกรธ เมื่อมองลึกเข้าไปก็เห็นว่าคุณรู้สึกเจ็บปวดที่ลูกพูดแบบนี้ ลึกลงไปกว่านั้นคุณอาจเห็นความกลัวลูกไม่รัก อารมณ์โกรธมักจะพยายามปกปิดอารมณ์ที่แท้จริงบางอย่าง บางครั้งการพยายามเข้าใจอารมณ์เบื้องลึกภายใต้ความโกรธนี้ก็อาจทำให้การตอบสนองต่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ลองคิดดูว่าถ้าคุณเห็นว่าตัวเองโกรธ กับเห็นว่าตัวเองกลัวลูกไม่รัก คุณจะใช้วิธีการตอบสนองต่อลูกเปลี่ยนไปหรือไม่

ความสุข (Joy) อาจพยายามบอกเราว่าสิ่งที่ทำอยู่ให้ความสุข ความเพลิดเพลินได้ ทุกอย่างที่เป็นอยู่กำลังดำเนินไปได้อย่างสวยงาม แต่ต้องระวังนิดหนึ่งเพราะสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีสามารถเกิดได้ทั้งจากสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่รู้สึกดีอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ยกตัวอย่าง การกินไอศกรีมตอนเที่ยงคืนอาจทำให้รู้สึกเพลิดเพลินแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะเป็นแค่ความสุขชั่วคราว บางครั้งสิ่งที่ดีตอนแรกอาจจะรู้สึกแย่แต่สามารถให้ความสุขและภูมิใจในระยะยาวได้ เช่น การฝืนออกกำลังกายทั้งที่รู้สึกขี้เกียจในเช้าวันจันทร์

ความกลัว (Fear) กำลังบอกเราว่ามีบางอย่างที่ไม่ปลอดภัยซึ่งทำให้ระวังตัวมากขึ้น ความกลัวมีเจตนาเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่รอดจากอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขาจะพยายามประเมินสถานการณ์เสมอว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายหรือไม่ ทว่าหลายครั้ง สิ่งที่เขาประเมินก็ไม่ตรงตามความจริงเสมอไป และอาจเป็นหลุมพรางให้ตกอยู่ในความเคยชินเดิม (Comfort Zone)

ความละอายใจ (Shame) ความรู้สึกเจ็บปวดและละอายใจว่ามีบางอย่างในตัวตนที่ผิดปกติและเราก็เชื่อว่าตนเองสมควรจะรู้สึกเช่นนั้น ซึ่งต่างจากความรู้สึกผิด (Guilt) ตรงที่เมื่อทำอะไรผิดพลาด ความละอายใจจะบอกว่า ฉันคือความล้มเหลว ความรู้สึกผิดจะบอกว่า ฉันทำบางอย่างผิดพลาด ความละอายใจจะมุ่งโจมตีไปที่ตัวตน ความรู้สึกผิดจะมุ่งไปที่การกระทำ ความละอายใจ คือ ความรู้สึกที่ฝังรากลึกที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน และมักถูกหล่อเลี้ยงด้วยความเงียบ ยิ่งคนไม่พูดถึงสิ่งนั้นมากเท่าไหร่ ความละลายใจยิ่งฝังรากลึกได้มากเท่านั้น เมื่อรู้สึกละอายใจคุณจะรู้สึกตำหนิ กลัว ไม่เชื่อมโยงกับอื่น และหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง วันหนึ่งคุณตะโกนใส่ลูกด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าทำไมตัวเองถึงเป็นแม่ที่ไม่ดีแบบนี้ รู้สึกละอายใจ แล้วก็เก็บความรู้สึกนี้ไว้เงียบๆ คนเดียว เพราะการพูดออกมาทำให้รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เจ็บปวด ความละอายใจทำให้หมกมุ่นกับตัวเอง ซึ่งเราสามารถดูแลความละอายใจได้ด้วยการแบ่งปันความรู้สึกนี้ให้คนใกล้ชิดที่มีความเข้าอกเข้าใจรับฟัง (Empathy) การเชื่อมโยงและแบ่งปันเรื่องราวซึ่งกันและกันสามารถลดความรู้สึกท้วมท้นนี้ได้

ความโศกเศร้า (Sad) สัญญาณชวนให้กลับไปดูแลหัวใจที่บอบช้ำอย่างอ่อนโยน กลับไปรู้ถึงสาเหตุและความรู้สึกที่เกิดขึ้น น้ำตาที่เกิดจากความเสียใจมักไหลออกมาเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น บางครั้งการอนุญาตให้ตัวเองพรั่งพรูก็เป็นวิธีที่ดีไม่น้อยในการระบายความเศร้าที่อยู่ในใจ หลังร้องไห้เสร็จอาจถามตัวเองว่า ‘น้ำตาที่ไหลมาเกิดจากความรู้สึกอะไร’ หรือ ‘น้ำตานี้อยากบอกอะไรกับเรา’ อาจได้คำตอบบางอย่างที่มีประโยชน์ก็ได้

พ่อแม่หลายคนมักรู้สึกเจ็บปวดและทนไม่ได้ที่จะเห็นลูกร้องไห้และโศกเศร้าจึงรีบเข้าไปปลอบ อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ลูกอยู่กับความเจ็บปวดและเรียนรู้อารมณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการเติบโตทางประสบการณ์ในแง่จิตใจ คำแนะนำคือ เมื่อเห็นลูกร้องไห้ ไม่ต้องรีบเข้าไปปลอบแต่อนุญาตให้เขารู้สึกทั้งหมด และรับฟังด้วยการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาด้วยความเข้าอกเข้าใจ

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับความรู้สึกที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการมองโลกในแง่บวกเกินไป

1. การแสดงความรู้สึกเชิงลบเท่ากับการเป็นคนอ่อนแอ จริงๆ แล้วการแสดงความเปราะบางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือความเข้มแข็งที่จะโอบกอดความรู้สึกตนเอง อาจฟังดูแปลก คนที่ยิ่งพยายามปฎิเสธความเปราะบางยิ่งดูอ่อนแอเพราะต้องวิ่งหนีไปเรื่อย แต่คนที่บอกว่าความเปราะบางนี่แหละคือความรู้สึกฉันและยอมรับอย่างตรงไปตรงมา คือคนเข้มแข็ง เพราะต้องใช้ความกล้าอย่างมากในยอมรับ

2. ความรู้สึกของฉันไม่สมเหตุสมผล ไม่มีความรู้สึกใครที่ไม่สมเหตุสมผลหรือไร้สาระ ทุกความรู้สึกต่างเกิดจากประสบการณ์ในอดีต เราจึงไม่ควรตัดสินแต่จงโอบกอดมัน เพราะนี่คือหนทางแรกสู่การทำความเข้าใจและดูแลความรู้สึก

3. ฉันคืออารมณ์ที่เกิดขึ้น ฉันคือความโกรธ ฉันคือความเสียใจ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นทุกข์มากคือการไม่ได้ตระหนักว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะผ่านไปในอีกไม่นาน ถ้าคุณตระหนักได้ว่าอารมณ์หิวข้าวตอนตีสองจะหายไปอีกไม่นาน คุณก็จะไม่หมกหมุ่นแล้วนั่งเครียดจนสุดท้ายต้องลุกไปต้มมาม่าตอนดึก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพียงสภาวะ (State) ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะหายไป

4. อารมณ์เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ อารมณ์เป็นสิ่งที่แทบจะควบคุมไม่ได้ แต่คุณสามารถควบคุมความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเลือกได้ว่าจะบอกว่า ‘ความเสียใจที่เกิดตอนแฟนทิ้งเป็นเพราะตัวตนฉันแย่ ฉันเป็นคนห่วย’ หรือ ‘ความเสียใจที่เกิดขึ้นตอนแฟนทิ้งเป็นสัญญาณให้ฉันกลับไปดูแลตัวเองให้ดีขึ้น’

ทำอย่างไรเมื่อเกิดความรู้สึกที่ท้วมท้น ?

การกลับไปดูแลความรู้สึกทั้งหมดที่ดีที่สุดคือการกลับไปเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดความรู้สึกนั้น อะไรที่ทำให้รู้สึกเศร้า อ๋อ เพราะรู้สึกว่าเขาไม่สนใจ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า งั้นแสดงว่าเราผูกคุณค่าตัวเองไว้กับคนอื่นใช่ไหม ? เมื่อรับรู้ถึงสาเหตุก็จะทำให้รู้วิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด

บางครั้งคุณอาจไม่สามารถหาสาเหตุของอารมณ์ได้ทันที สิ่งที่ทำได้อาจเป็นการรับรู้การมีอยู่ของอารมณ์นั้น ซึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอลเนีย พบว่า การพยายามเรียกชื่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นสามารถลดความรู้สึกที่ท้วมท้นได้ รู้สึกน้อยใจใช่ไหม น้อยใจเพราะอะไร ยิ่งระบุความรู้สึกที่เกิดขึ้นชัดและเจาะจงเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกดีและเข้าใจมากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บางครั้งการเรียกชื่ออาจยาก วิธีที่ง่ายกว่านั้นอาจเป็นการลองสังเกตร่างกายดูว่ามีส่วนไหนที่ตึง เหงื่อออก หรืออึดอัดไหม และรับรู้ความตึงที่เกิดขึ้น บางคนเวลาเครียดอาจขมวดคิ้วโดยไม่รู้ตัว การพยายามสังเกตและรับรู้การขมวดคิ้วจะทำให้ร่างกายและความรู้สึกผ่อนคลายขึ้น

ท้ายสุด อยากบอกว่า การพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเราที่เกิดขึ้นเป็นการเดินทางระยะยาว ไม่มีสูตรสำเร็จในการเข้าใจ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การพยายามสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในทุกวัน เมื่อคุณเข้าใจความรู้สึก คุณจะสามารถอ่อนโยนและโอบกอดสิ่งที่เกิดได้มากขึ้น คุณจะเฆี่ยนตีตัวเองน้อยลง เพราะเข้าใจว่ามันก็มีเหตุผลของมัน วันนี้ไม่เป็นไรที่รู้สึกน้อยใจ โกรธก็คือโกรธ เศร้าก็คือเศร้า – เมื่อเข้าใจอารมณ์เราจะอ่อนโยนกับตัวเองมากขึ้น ผมชอบคำนี้

อ้างอิง

Brown, B. (2015). Daring greatly: How the courage to be vulnerable transforms the way we live, love, parent, and lead. Penguin.

Brown, B. (2007). I thought it was just me: Women reclaiming power and courage in a culture of shame. Gotham Books.

Gross, J. J., & John, O. P. (2003). Individual differences in two emotion regulation processes: Implications for affect, relationships, and well-being. Journal of Personality and Social Psychology, 85(2), 348–362.

Torre, J. B., & Lieberman, M. D. (2018). Putting feelings into words: Affect labeling as implicit emotion regulation. Emotion Review, 10(2), 116-124.

Tags:

relationshipพื้นที่ปลอดภัยการมองโลกในแง่ดีเกินไปการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)การจัดการอารมณ์

Author:

illustrator

ชัค ชัชพงศ์

นักจิตวิทยาที่เขียนบทความเพื่อช่วยให้คนเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง FB: Chuck Chatpong

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Social Issues
    ‘BuddyThai’ แอปคู่ใจของวัยรุ่นในวันที่ไม่มีใครยืนเคียงข้าง: พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Unique Teacher
    เปลี่ยนโรงเรียนติดลบเป็นโรงเรียนติดดาว เริ่มที่ ‘ตัวฉัน’: ผอ.นันทิยา บัวตรี

    เรื่อง The Potential

  • How to enjoy life
    การทำร้ายร่างกายตัวเอง (self-injury) ที่ไม่ใช่แค่การกดดัน ตำหนิตัวเอง

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    เรียนหนัก อกหัก ทะเลาะกับพ่อแม่… ทุกเรื่องที่น้องอยากระบาย ‘สายเด็ก’ (Childline Thailand) ยินดีรับฟัง

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Everyone can be an Educator
    ครูไก่แจ้ – สิทธิพงษ์ ติยเวศย์ : ครูอาสาวิชาคณิตศาสตร์ ที่เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในตัวเองมากกว่าท่องสูตร

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็น Non-binary : ตัวตน ความรักและความเป็นอื่น  ‘นอกกล่องเพศ’ กับ คิว-คณาสิต พ่วงอำไพ
24 February 2021

ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็น Non-binary : ตัวตน ความรักและความเป็นอื่น ‘นอกกล่องเพศ’ กับ คิว-คณาสิต พ่วงอำไพ

เรื่อง ศากุน บางกระ

  • คุยกับ คิว-คณาสิต พ่วงอำไพ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Non-binary Thailand และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘นอกกล่องเพศ ; NON-BINARY’ ถึงความลื่นไหลทางเพศนอกกรอบการแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามคือ ชายและหญิงและ LGBTQ แต่คือ non-binary กลุ่มชายขอบของสังคม cisgender heterosexual (คนตรงเพศมีรสนิยมรักต่างเพศ)
  • “หลักการ self-determination ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกนิยามที่เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ และเป็นตัวเองมากที่สุด หลายๆ ครั้งคิวจะเจอแบบนี้ อัตลักษณ์ที่มีอยู่ก็เยอะแล้วนะแล้วทำไมยังต้องเรียกตัวเองเป็นสิ่งใหม่อีก จริงๆ มันเป็นคำถามที่ไม่ควรถามเพราะเวลาเราเลือกหยิบยืมอะไร แสดงว่าอัตลักษณ์นั้นมันสะท้อนตัวตนและความรู้สึกปลอดภัย สังคมควรจะเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของผู้คน ไม่ใช่บอกผู้คนว่าคุณไม่ควรเป็นอะไรมากกว่านี้”

เพราะเพศไม่ได้มีแค่ชายและหญิง กลุ่ม non-binary ที่ปฏิเสธการแบ่งอัตลักษณ์หรือสำนึกทางเพศ (gender identity) แบบขั้วตรงข้ามชาย-หญิง จึงออกมาเคลื่อนไหวเพื่ออธิบายสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่

คิว-คณาสิต พ่วงอำไพ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Non-binary Thailand และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘นอกกล่องเพศ ; NON-BINARY’ ก็เช่นกัน เขาออกมาสื่อสารเรื่อง non-binary ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์เป็นเวลากว่า 5 ปี ในช่วงหลังนี้เขามองว่าสังคมไทยยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากอย่างก้าวกระโดด แต่ในด้านทัศนคติ  สิทธิและความเท่าเทียมก็ยังคงเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเรียกร้องต่อไป

คิวในวัย 32 ปี เรียกตัวเองว่า นักขับเคลื่อนสิทธิของบุคคลนอนไบนารี่และกลุ่มคนชายขอบ เราชวนคิวมาคุยในฐานะ non-binary แต่คิวบอกกับเราว่า จริงๆ แล้ว “เขา” ไม่สามารถเป็นตัวแทนของ non-binary ทั้งหมดได้ เพราะ non-binary นั้นหลากหลายมาก (คิวให้ใช้คำแทนตัวว่า “เขา” ได้ ในความหมายที่เป็นคำกลางๆ ไม่ได้เจาะจงเหมือน “เขา” ที่ใช้แทนผู้ชาย หรือ “เธอ” ที่ใช้แทนผู้หญิง)

เมื่อเกริ่นกับคิวว่าจะคุยกันไม่ใช่แค่เรื่องตัวตน แต่จะขอความเห็นไปจนถึงเรื่องซีรีส์วาย และความรัก เขาบอกว่า ดีเลย เพราะเขาเองก็ไม่ค่อยได้พูดเรื่องอื่นๆ มาก่อนนอกจากอธิบายความเป็น non-binary ให้สังคมเข้าใจ

คุณคิวค้นพบตัวเองว่าเป็น non-binary ตั้งแต่เมื่อไร

คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อย แต่ก็ตอบยากและตอบไม่เหมือนกันทุกครั้งเลย ถ้าค้นพบคำในความหมายของ non-binary ก็เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ตัวตนที่เป็น non-binary ของคิวเป็นมาตั้งแต่เกิด เพราะเราตระหนักรู้มาตั้งนานแล้วว่าตัวเราไม่ใช่ผู้หญิงและผู้ชาย เรามีการแสดงออกแบบ feminine (ไปทางผู้หญิง) ตั้งแต่ 7 ขวบ อันนี้คุณยายเป็นคนบอกคิวแล้วก็ไปค้นเจอรูปสมัยตอนเด็ก เราพอยต์เท้า เราปากแดง ยิ่งกว่าตอนนี้อีก ซึ่งเราไม่รู้ตัวนะ เราจำไม่ได้ด้วยว่าตอน 7 ขวบเราเป็นแบบนั้น เราค้นพบว่าเป็น non-binary ตั้งแต่ 7 ขวบแล้ว แต่คำนิยามนี่เรามาค้นพบจากโลกอินเตอร์เน็ต 

จริงๆ เรารู้ตัวมานานแล้วแหละ นิยามใดๆ ก็ตามที่มีอยู่ในสังคม ณ ตอนนั้น เช่น กะเทย เกย์สาว ตุ๊ด หรือคนข้ามเพศ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้น แล้วเราล่ะเป็นอะไร เราก็เลยค้นหาตัวเองว่ามันจะมีมั้ยคำอื่นที่ใช้นิยามตัวตนของเรา ตอนนั้นรู้สึกอึดอัดมาก เพราะเราเลือกนิยามไม่ได้ แล้วเท่าที่มีอยู่ นิยามที่ใกล้เคียงตัวเราก็คือ เกย์สาว เพราะเรามีความ feminine แต่เกย์ก็จะเหมือนเหยียดเรา เราก็ไม่ค่อยพอใจสักเท่าไร ถ้ารู้กันในกลุ่มเกย์ เกย์กระแสหลักก็คือต้องเป็นเกย์แมน จะเป็นบทบาททางเพศอะไรก็แล้วแต่ จะรุกจะรับ ก็ต้องเป็นเกย์แมนถึงจะได้รับการยอมรับ แต่เกย์สาวเหมือนเป็นคำเหยียด ประมาณว่า แกไม่ใช่เกย์จริงๆ หรอก จริงๆ ก็เป็นพวกตุ๊ดที่แต่งตัวมาเพื่อจะหากิน เราก็ไม่ได้รู้สึกชอบใจนะ เรารู้สึกว่า การใช้อัตลักษณ์ตัวนี้มันคือการถูกเหยียด ถูกลดทอนคุณค่า เป็นเกย์แหละ แต่ก็เป็นอีกคลาสนึง ในขณะที่เราก็ไม่ได้เป็นเหมือนผู้หญิงข้ามเพศ เวลาเราไปอยู่ในกลุ่มกะเทย เขาก็จะเรียกเราว่า กะเทยง่อย ก็คือกะเทยที่ไม่สามารถ หรือไม่มีความสนใจใดๆ ที่จะกลายเป็นผู้หญิงที่สวยและดีตามขนบได้ แล้วแน่นอนว่า เราก็ไม่ใช่ผู้ชายอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้รับการต้อนรับใดๆ จากสังคมชาย-หญิงอยู่แล้ว

คุณคิวคิดว่าทุกวันนี้ non-binary เป็นชายขอบมั้ย

เป็นแน่นอนค่ะ เป็นชายขอบของชายขอบด้วย เรารับรู้ได้เลยตลอด 5 ปี โอเค สถานการณ์วันนี้เหมือนจะดีขึ้น เหมือนสังคมจะรู้จักคำว่า non-binary มากขึ้นก็จริง แต่เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ตอนนี้ในเรื่องสิทธิมันยังไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน non-binary ยังเป็นชายขอบในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เวลาเราพูดถึง LGBTIQ ตัวอักษร N ของ non-binary มันยังไม่ได้อยู่ในนั้นเลย แม้กระทั่ง LGBT เอง คนยังไม่รู้เลยว่าตัวอักษรแต่ละตัวมันสื่อสารถึงกลุ่มไหนด้วยซ้ำ แล้วของเราเองไม่มีตัวอักษรในนั้น คุณคิดดูว่าคนจะเข้าใจถึง non-binary ได้มั้ย 

ในมุมมองของเรา เรารู้สึกว่า เราเป็นชายขอบของสังคม cisgender heterosexual (คนตรงเพศมีรสนิยมรักต่างเพศ) แต่ในกลุ่มของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเอง LGBT คนอื่นๆ อัตลักษณ์อื่นก็ไม่รู้จักหรือพยายามทำความเข้าใจว่า non-binary คืออะไร หรือเป็น non-binary เพื่ออะไร มีตัวตนอยู่จริงด้วยเหรอ มีปัญหาหรือเปล่า หรือแค่อยากจะตั้งขึ้นมาเก๋ๆ 

มันก็เป็นปัญหาที่เราเองรู้สึกว่า อุ้ย คนที่เป็น LGBT ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเข้าใจเราสิว่าเราเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเหมือนกัน แต่เปล่าเลย เขาก็ไม่เข้าใจเราเหมือนกัน ไม่ต่างอะไรกับในสังคม

เพราะฉะนั้นในมุมมองของกลุ่ม non-binary อยากให้สังคมมองเรื่องเพศอย่างไรบ้าง

แน่นอนเลยก็คือ สังคมต้องหลุดพ้นจาก gender binary (การแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามคือ ชายและหญิง) ก่อน เพราะสังคม ไม่ใช่แค่ไทยด้วยนะ สังคมโลกถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบสองเพศแบบขั้วตรงข้าม มันทำให้ทุกอย่างถูกตัดสิน ถูกกำหนดไปหมดว่าบุคคลเกิดมาเป็นมนุษย์ มีเพศกำเนิดนี้เป็นผู้หญิง มีเพศกำเนิดนี้เป็นผู้ชายก็ต้องมีบทบาท กฎเกณฑ์ หน้าที่แบบไหน ถ้าสังคมยังตั้งหลักและถูกครอบงำด้วยชุดแนวคิดนี้ หรือจะเรียกว่าค่านิยมก็แล้วแต่ มันย่อมเป็นปรปักษ์ต่อการที่จะเปิดรับ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น non-binary ทุกๆ ความหลากหลายในเรื่องของแรงปรารถนาทางเพศ ทางใจ การแสดงออกใดๆ ก็ตาม 

รวมถึงเพศชาย เพศหญิงด้วย?

ถูกต้อง เพราะเขาเองก็ถูกครอบด้วย gender binary ไง ว่าผู้ชายจะต้องเข้มแข็ง จะต้องเป็นผู้นำ ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน ต้องสวย รักสวยรักงาม อ่อนหวาน มันก็จะมีกรอบเกณฑ์ ซึ่ง gender binary นี้เองที่สร้างปัญหาให้กับคนทุกคนในสังคม มันจะมีแหละคนที่สามารถเป็นไปตามค่านิยมของ gender binary ได้ และได้รับประโยชน์จากการเป็นสิ่งนั้น คือคุณสามารถเป็นผู้ชายตามบรรทัดฐานได้ คุณก็มีความก้าวหน้าตามบรรทัดฐานของสังคม แต่กลุ่มคนที่ไม่สามารถเป็นไปได้ล่ะ เขาเป็นยังไง

ถ้าเรามองอีกแบบนึง ลบบรรทัดฐานพวกนั้นออก ไม่ต้องเอาความเป็นชายมาใส่ในเพศชาย ชายไม่ต้องแข็งแรงบึกบึนก็ได้ จะยังมีปัญหาอยู่มั้ยสำหรับ non-binary

มีค่ะ เพราะว่ายังไม่หลุดพ้นจาก non-binary นะ สิ่งที่คนแค่พ้นมันคือ gender role (บทบาททางเพศ) มันเป็นลูกสมุนของ gender binary ถ้าบทบาทหายไป แต่ถ้าสังคมยังเชื่อในความเป็นผู้ชาย-ผู้หญิงตามเพศกำเนิดอยู่ นั่นก็คือการลดตัวตนของ non-binary ก็จะไม่มีทางเข้าใจกลุ่มคนที่ไม่ใช้ผู้ชายและผู้หญิงอยู่ดี สุดท้าย non-binary ก็อาจจะถูกมองเป็นพวกเพ้อเจ้อ เป็นผู้ป่วย เป็นคนวอนนาบี (wanna be) อยากจะมีตัวตนในสังคมรึเปล่า โอเค สถานการณ์มันอาจจะดีขึ้นกับคนที่เป็น cisgender heterosexual (คนตรงเพศมีรสนิยมรักต่างเพศ)

ตอนนี้คุณคิดว่า สังคมไทยมองเรื่องเพศเปลี่ยนไปมั้ย ดีขึ้นมั้ย

เปลี่ยนไป อันนี้เทียบกับช่วงชีวิตของคิวเอง เพราะคิวเองมีประสบการณ์ตรงในเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติ อคติ ตีตราต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ทับซ้อน คือ ในฐานะที่เรามีมุมมองกับสังคมว่าเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่แล้วกับตัวเราที่เป็น non-binary มันก็จะซับซ้อนขึ้นไปอีก 

ถามว่า สังคมมันเปลี่ยนไปมั้ย แน่นอนค่ะ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และเปลี่ยนไปในช่วงหลังๆ เนี่ยเร็วขึ้นนะ ในเรื่องของความเข้าใจ แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิทางกฎหมายที่ยังถูกแช่แข็งไว้เหมือนเดิม ไม่ต่างไปจากเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อนเลย แต่ความเข้าใจในสังคมนี้เริ่มมาแล้ว เริ่มเข้าใจมากขึ้น ซึ่งแน่นอน..ความเข้าใจในสังคมมันเป็นรากฐานที่สำคัญคือจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายขึ้นในวันหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะว่าโลกของเราเชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนมากขึ้น ต้องขอบคุณในเรื่องของอินเทอร์เน็ตจริงๆ เพราะมันทำให้เราค้นพบข้อมูลแล้วก็ชุมชนความหลากหลายทางเพศที่อยู่ในโลกโซเชียลได้ไวขึ้น ได้มากขึ้น การได้แลกเปลี่ยนสร้างชุมชนอะไรกันขึ้นมา ทำให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนสร้างความเข้าใจ จากเดิมไม่มีอินเทอร์เน็ต เราไม่รู้จะเดินไปทางไหน หาคนที่เป็น non-binary ตรงไหน แล้วใครที่จะบอกเราว่าเป็น non-binary เพราะว่าการที่เราบอกว่าเราเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีผลกระทบต่อตัวเรา ใครที่อยู่ๆ จะเดินมาบอกนั้นไม่มีหรอก

gender fluid เป็นส่วนหนึ่งของ non-binary มั้ย หรือว่าเป็นคาแรกเตอร์หนึ่งด้วยมั้ย

เราต้องแยกกัน มันมี 2 คำ gender fluid กับ gender fluidity เป็นคนละเรื่อง gender fluidity จะพูดถึงความลื่นไหลทางเพศในเรื่องของสำนึกทางเพศว่าคนเรามันมีโอกาสนะที่จะเปลี่ยนแปลงสำนึกทางเพศหรือรูปแบบพฤติกรรมทางเพศของตัวเราได้ คนที่ไม่เปลี่ยน ถามว่ามีมั้ยก็มีแหละ แต่มันก็มีโอกาสไง นั่นแปลว่าเราจะมาบอกว่า ฉันจะเป็นผู้ชายแท้ไปตลอดกาลก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้นะ คือถ้าเราเชื่อในเรื่องของ fluidity จะทำให้เรารู้สึกว่า สังคมเราทุกคนมันมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 

อันที่เป็น subset (ส่วนย่อย) ของ non-binary อันนั้นคือ gender fluid มันเป็น gender identity หมายถึงสำนึกทางเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาในแต่ละช่วงสถานการณ์ เช่น วันนี้รู้สึกเป็นผู้ชายแต่งตัวบอยๆ ออกบ้าน กลับมานอนบ้านตื่นเช้ามารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แต่งตัว feminine ออกบ้านสลับไปมาตามแต่สถานการณ์ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสลับกันระหว่างชายและหญิงเท่านั้นแต่จะลื่นไหลกับสำนึกใดก็ได้ที่มีภาวะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เป็น non-binary พรุ่งนี้เป็นผู้ชาย หรือจาก non-binary อัตลักษณ์ที่ 1 สู่ non-binary อัตลักษณ์ที่ 2 มันเป็นหนึ่งในกลุ่มของสำนึกทางเพศ 

คำว่า gender identity หลายคนจะเรียกว่าอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ แต่ที่คิวใช้คำว่าสำนึกทางเพศเพราะว่าคำแปลความหมายของ gender identity มันคือสิ่งที่มนุษย์หนึ่งคนรับรู้อยู่ภายในของตัวเอง เป็นความรู้สึกลึกล้ำ ลุ่มลึกที่ไม่สามารถบอกได้ แต่บอกได้แค่ว่า เราเป็นอะไรแค่นั้น แต่ว่าเพราะอะไรเราถึงเป็นเนี่ยตอบไม่ได้ 

แล้วมันเป็นหลักการสากลเลยที่เขาจะเรียกว่า self-determination  ก็คือเขาให้ยึดว่าคนหนึ่งคนจะเป็นเพศสภาพใดตามแต่ที่เขาบอก ไม่ต้องมีการตั้งคำถามว่า ทำไมเธอถึงเป็น นี่คือหลักสิทธิมนุษยชน 

เพราะฉะนั้น gender fluid ก็เป็นสำนึกทางเพศหนึ่งที่อยู่ในร่มใหญ่ที่เรียกว่า non-binary คือ non-binary เป็น gender identity ใช่มั้ย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นร่ม หรือ umbrella term (คำที่ให้ความหมายแทนโดยกว้าง) ของอัตลักษณ์หรือสำนึกทางเพศอีกมากมายหลายร้อยหลายพันที่อยู่ในนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึง non-binary เมื่อเทียบกับ LGBT แล้วมันใหญ่กว่าเยอะเลย มันรวมอัตลักษณ์มากมายจนไม่สามารถมี non-binary สักคนขึ้นมาพูดได้ว่าตัวเองเป็นตัวแทนของ non-binary ได้

non-binary แยกตัวเองออกจาก queer มั้ย

แยกค่ะ ต่างกันแน่นอน

ต่างกันยังไง แล้วมีอะไรคาบเกี่ยวกันมั้ย

จริงๆ เป็นคำถามยอดฮิตเลย ถ้าพูดแบบนี้ non-binary ฟังดูเป็นร่มใหญ่ แล้ว queer มันไม่ครอบคลุมถึงอีกเหรอ ขอตอบทีละประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง ทำไมเราถึงไม่เรียกตัวเองว่าเป็น queer หรือเรียกตัวเองว่าเป็นอย่างอื่น อย่างที่บอก เป็นหลักการ self-determination ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกนิยามที่เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ และเป็นตัวเองมากที่สุด หลายๆ ครั้งคิวจะเจอแบบนี้ อัตลักษณ์ที่มีอยู่ก็เยอะแล้วนะแล้วทำไมยังต้องเรียกตัวเองเป็นสิ่งใหม่อีก จริงๆ มันเป็นคำถามที่ไม่ควรถามเพราะว่าเรารู้สึกว่า เวลาเราเลือกหยิบยืมอะไร แสดงว่าอัตลักษณ์นั้นมันสะท้อนตัวตนของเราแล้วเรารู้สึกปลอดภัย เรารู้สึกกับสิ่งนี้ จริงๆ สังคมควรจะเรียนรู้เรื่องความหลากหลายของผู้คน ไม่ใช่บอกผู้คนว่าคุณไม่ควรเป็นอะไรมากกว่านี้ 

ทีนี้ queer กับ non-binary ต่างกันยังไง queer เนี่ยจะพูดถึงความเป็นขบถในเรื่องเพศ queer เป็นร่มที่ใหญ่ หลายๆ ครั้งที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างประเทศ เอาไว้เรียกขบวนการ LGBT บางทีเขาก็จะไม่เรียกขบวนการ LGBTIQA อะไรแบบนี้ เขาจะเรียกเป็นขบวนการ queer เป็นร่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่พูดถึงความเป็นขบถ ขบถยังไงล่ะ ก็รักเพศเดียวกัน G ก็เหมือนกัน หรือ T เป็นเรื่องของ gender identity ที่ไม่สอดคล้อง ไม่ตรงเพศตามกำเนิด ก็ถือว่าเป็น queer ไปจากบรรทัดฐานของสังคม 

ฉะนั้น queer เป็นร่มใหญ่ ฟังดูเป็นร่มใหญ่สุด ในขณะเดียวกัน นอกจาก queer จะเป็น umbrella term อย่างที่คิวบอก queer เองก็ยังเป็นอัตลักษณ์นึงด้วย คนถามว่าเธอเป็นอะไร LGBT บางคนก็บอกว่าฉันเป็น Q นะ ก็คือเรียกตัวเองว่า เป็นขบถในเรื่องเพศ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าตัวเองขบถเรื่องไหน เคยได้ยิน SOGIEsc (Sexual Orientation, Gender Identity, Expression and Sexual Characteristics) มั้ย เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่เอาไว้สำรวจตัวตน ที่จะบอกว่า gender identity นะมันแยกจาก gender expression (การแสดงออกทางเพศ) นะ มันแยกจากเพศกำเนิดนะ มันแยกจากรสนิยมทางเพศ แต่ queer ไม่ได้บอกเราว่าเขาเป็น queer ด้านไหน

แล้ว non-binary ไม่ใช่ขบถ หรือว่าก็เป็น?

เป็นขบถเหมือนกัน แต่ non-binary บอกเราว่าเขาเป็นขบถเรื่อง gender identity เพราะฉะนั้นสองคำนี้มันทับซ้อนกันแล้วเราจะได้เห็นบ่อยๆ ในต่างประเทศว่า คนที่เปิดตัวเป็น queer และเป็น non-binary ด้วยก็จะมีอยู่จำนวนนึง อย่างคิว ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น queer เพราะการที่เราเรียกตัวเองว่า non-binary ก็แปลว่าเราเป็นขบถในเรื่อง gender identity แล้วไง เรื่องอื่นเราอาจจะไม่ได้เป็นขบถก็ได้ เพราะว่าคนที่เป็น non-binary สามารถที่จะกลายเป็นมีลักษณะที่แสดงออกไม่ได้แตกต่างจากชายหญิงตามบรรทัดฐานสังคม รสนิยมก็อาจจะเหมือนกัน สมมติคนนึงเกิดมาเป็นเพศกำเนิดชาย เรามองไป การแสดงออกเขาก็เหมือนผู้ชายอื่นๆ ในสังคม เป็น masculine (มีลักษณะเป็นชาย) เขาก็ดูชอบผู้หญิงนะ แต่เขาบอกว่าเขาเป็น non-binary เอ๊ะ มันเป็นได้เหรอ ได้ค่ะ เพราะนั่นคือ gender identity ของเขา มันไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับ gender expression และ sexual orientation (รสนิยมทางเพศ) ของเขา เพราะฉะนั้นรูปแบบอื่นของเขาอาจจะไม่ใช่ queer ไง

gender expression ของคุณคิวเป็นยังไง

ก็จะออก feminine คำว่า gender expression มันมีหลายมิติด้วยนะ ถ้าเรื่องของการแต่งตัว คิวจะแต่งตัวแบบ androgynous ที่จะออกไปทาง feminine ก็คือผสมผสานระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง เสื้อผ้าบางทีอาจจะใส่กางเกง แต่เสื้อบางทีก็จะเป็นระบายพลิ้วๆ เป็นลูกไม้ ทาลิปสติกสีแดง แต่งหน้า หรือไม่ก็ feminine ไปเลย คือใส่กระโปรง แต่งหน้า แต่มันก็อาจจะไม่เลย คือผมไม่ได้ยาว ไม่ได้ออกไปทางผู้หญิงจ๋า อย่างกะเทยที่เป็นสาวข้ามเพศ แต่ก็มีเฉดไปทางนั้น ส่วนเสียง ปกติเขาก็จะเรียกเป็นเสียงกะเทยตุ๊ด คือฟังดูก็รู้ว่าไม่ใช่ผู้ชาย อันนี้ก็เป็นรูปแบบนึงของ expression เป็น androgynous voice ก็คือเสียงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของเรา

แล้วคุณคิวชอบผู้ชายหรือผู้หญิง หรืออื่นๆ

ตอนแรกเราเป็นเกย์สาว คิวก็รู้สึกว่าเป็น non-binary พอเราเป็น non-binary แล้วมันควรจะใช้คำศัพท์ที่รักเพศเดียวกันไม่ได้แล้ว เราเป็น non-binary แล้วเพศเดียวกับเราคือใครล่ะ สมมติเราชอบผู้ชาย เราเป็น non-binary เขาเป็นผู้ชาย ไม่ใช่เพศเดียวกัน แต่ถามว่าผู้ชายเป็นเพศตรงข้ามกับ non-binary มั้ย ก็ไม่ใช่อีก เพราะการเป็น non-binary ไม่มีเพศตรงข้าม คำว่า เพศตรงข้ามหรือ heterosexual ในสังคมมันมีความหมายแค่หมายถึงชายกับหญิงเท่านั้น สมมติถ้าคุณเป็นหญิงข้ามเพศไปชอบผู้ชาย อันนี้คือคุณรักเพศตรงข้ามนะ คุณก็จะเป็น transgender heterosexual แต่พอเป็น non-binary ต้องสร้างคำใหม่ขึ้นมา เป็นเรื่องปกติ เพื่ออธิบายความหลากหลายทางรสนิยมของเรา 

คิวก็จะเรียกตัวเองว่า… ถ้าเป็นรสนิยมหรือว่าแรงปรารถนาทางเพศและทางใจ คิวก็จะเป็น uranic แปลว่า non-binary ที่ชอบผู้ชาย ผู้ชายในที่นี้ก็ทั้ง cisgender (คนตรงเพศ) และ transgender นะ และ uranic ก็ชอบ non-binary ที่เขาเรียกว่า man-aligned non-binary และอื่นใดนอกจากนี้ยกเว้นผู้หญิงและ  woman-aligned non-binary สำหรับ non-binary มันก็จะจำเพาะเจาะจงไงว่ารสนิยมของเราแบบนี้ ถ้าอันนี้ไม่ได้เลย ซึ่งคนที่ควรรู้ก็คือ non-binary ด้วยกัน มันซับซ้อนมากขึ้น 

เราจะบอกได้มั้ยว่า non-binary มีแนวโน้มที่จะชอบ non-binary ด้วยกัน

บอกไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มใดๆ มันมี non-binary ที่ไม่ชอบ non-binary เลย ก็มี แต่ฉันเป็น non-binary ไง จะชอบแต่ผู้ชายอย่างเดียว หรือผู้หญิงอย่างเดียว พอเห็น non-binary ด้วยกันแล้วไม่ปาร์ก (ถูกใจ) เลยก็มี เพราะฉะนั้นเรียกว่าแนวโน้มไม่ได้เลย มันเลยมีการสื่อสารไง ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเรื่อง gender identity กับ sexual orientation มันเป็นอิสระต่อกัน ถ้าคุณเป็น non-binary มันไม่ได้แปลว่าคุณจะมีแนวโน้มชอบเพศใดเลยแล้วแต่คนที่เป็น non-binary คนนั้น อย่างคิวก็แบบนึง คนอื่นก็แบบนึง คิวไม่สามารถจะบอกได้ว่า ถ้าคนนี้เป็น non-binary เนี่ยเขาจะต้องมีการแสดงออกประมาณนี้

คุณคิวพูด “ค่ะ” เหมือนคุณกำลังมีสำนึกทางเพศไปทาง feminine ถูกมั้ยคะ

ไม่เกี่ยวค่ะ อันนี้ทางต่างประเทศเขาก็จะมีปัญหาเรื่อง pronoun (คำสรรพนาม) กัน

กำลังจะถามเรื่องภาษานี่แหละ คุณมองภาษาที่มีขึ้นเฉพาะสำหรับผู้ชาย สำหรับผู้หญิงยังไง

pronoun ในต่างประเทศเขาสู้กันมากที่จะใช้คำว่า they, them แต่ว่าประเทศไทยโชคดีที่ pronoun ของเราใช้คำว่า “เขา” ที่มันเป็นกลางทางเพศอยู่แล้วมันเลยไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่กลับกันสังคมเรามีคำลงท้ายที่บอกเพศก็คือ คำว่า “ครับ” กับ “ค่ะ” นั่นแหละคือประเด็น ถ้าเราเป็น non-binary ที่ไม่มีส่วนใดของสำนึกที่ใกล้ชิดกับความเป็นชายเป็นหญิงเลย แน่นอนมันจะมี non-binary ที่เป็น woman-aligned คือ non-binary ที่ใกล้ชิดกับผู้หญิง เขาก็จะใช้ “ค่ะ” เขาก็จะไม่รู้สึกกระดากใจ โอเค ฉันเป็น non-binary จริง แต่ว่าส่วนนึงในสำนึกของฉันก็มีความเป็นผู้หญิงอยู่ด้วย แต่ถ้าเป็น non-binary ที่ไม่มีส่วนใดในสำนึกเลยที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายหรือหญิง อย่างคิวเป็น maverique นี่คืออัตลักษณ์ย่อยในร่ม non-binary เราไม่มีส่วนใดของสำนึกในตัวเราที่ไปชิดใกล้กับความเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงเลย เป็นเอกเทศ แต่มีเพศอยู่ เพราะฉะนั้นเราไม่โดนใจหรอกกับคำว่า “ครับ” หรือแม้กระทั่ง “ค่ะ” ที่เราใช้อยู่ แต่สังคมมันมีตัวเลือกอะไรให้เราล่ะ บางคนบอกว่าถ้างั้นไม่ต้องลงเสียงสิ อย่าลืมว่าการลงเสียงครับ, ค่ะ ของเราเนี่ยนอกจากจะเป็นการระบุเพศแล้วยังเป็นเรื่องของมารยาทและความเป็นทางการด้วย คุณสามารถเขียนบันทึกหรือเอกสารราชการที่มันเป็นเกี่ยวกับระบบระเบียบโดยที่ไม่ลงท้ายได้มั้ย แทนที่คนจะเข้าใจว่าเราไม่ได้มีสำนึกที่ไม่ใช่ชายและหญิง คนจะเข้าใจว่าเราเป็นคนไร้มารยาท นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องแก้ ก็คือต้องหาคำลงท้ายที่เป็นกลางทางเพศให้ได้และใช้ยอมรับในทางราชการได้

คุณเรียกร้องถึงการสร้างภาษาใหม่มั้ย

แน่นอน แต่อันนั้นคือในอนาคต เพราะตอนนี้ non-binary หลุดโลกสำหรับทุกคนแล้ว แต่แน่นอนในวันนึง อย่าว่าแต่ภาษาใหม่เลยค่ะ อาจจะต้องเป็นกฎหมาย ระเบียบรัฐ หรือโลกใหม่ด้วยซ้ำ แต่อันนั้นไว้ก่อน อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวใน 5 ปี 10 ปี คือสุดท้ายแล้วถ้าคุณอยากจะเข้าใจ non-binary คุณจะต้องสร้างระบบภาษาที่อาจจะเรียกว่า เป็นกลางทางเพศก็ได้ ไม่ใช่ภาษาของ non-binary แต่หมายถึงภาษาที่สามารถสื่อสารเรื่องราวของทุกๆ เพศได้โดยที่ไม่ถูกกำกับความรับรู้หรือเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อจำกัดของตัวภาษาเอง

ตอนนี้ซีรีส์วายกำลังมา คุณดูซีรีส์วายมั้ย

คิวไม่ดูซีรีส์วายค่ะ

แล้วคุณมองซีรีส์วายยังไง ยอมรับมั้ย

เป็นคำถามที่ต้องขอบคุณ ไม่เคยมีใครถามคิวเรื่องนี้มาก่อน คิวก็แยกเรื่องการยอมรับออกเป็นส่วนๆ เนอะ หนึ่ง ยอมรับในฐานะที่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก โอเค เราปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์วายมีอยู่จริง มีฐานนิยม มีคนเขียนได้รับความนิยมอยู่ มีตัวตนอยู่ในแวดวงของการทำหนังภาพยนตร์และศิลปะ แต่ถ้ายอมรับในเรื่องของคุณค่าของการมีอยู่ของซีรีส์วาย อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คิวเองจะไม่บอกหรอกว่า เราไม่ยอมรับ คือเราค่อนข้างเปิดกว้างนะ มีแนวโน้มที่จะยอมรับ 

เพียงแต่ว่า ตอนนี้ซีรีส์วายเองยังมีปัญหาประเด็นหนึ่ง จริงๆ น่าจะเคยได้ยินไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์หรือว่าเฟซบุ๊กที่ว่า คุณหยิบยืมเอาตัวตนของเกย์ ซึ่งเกย์เนี่ยมีตัวตนอยู่จริง เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณหยิบยืมเอาอัตลักษณ์ตัวตนไปใช้ในซีรีส์วาย แต่คุณปฏิเสธว่า ผู้ชายสองคนนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แค่เขารักกันโดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่คุณเอาตัวตนนี้ไปเพื่อใช้ในการทำซีรีส์วาย ได้เงิน ได้ชื่อเสียง ได้ฐานแฟนคลับในระบบทุนนิยม แต่คุณกลับไม่ได้ส่งเสริมให้สิทธิของ LGBTQ+ โดยเฉพาะเกย์ในสังคมมันดีขึ้นเลย เพราะคุณเลือกที่จะบอกว่ามันไม่ใช่เกย์ มันเป็นจินตนาการ ผู้ชายที่รักกับผู้ชายเขาไม่ได้เป็นเกย์นะ ปกติเขาก็ใช้ชีวิตแบบ cisgender heterosexual แล้วอยู่ดีๆ เขามาปิ๊งกัน มันห้ามไม่ได้ มันไม่จำกัดเพศขึ้นมา ก็เลยรักกันเฉพาะคู่พระเอก-นายเอกเท่านั้นเอง ไม่ใช่เกย์ 

คุณปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่ความหลากหลายเพื่อที่จะ romanticize (ทำให้เป็นเรื่องสวยงามโรแมนติก) มันว่านี่คือความรักที่ไม่จำกัดเพศ แต่คุณไม่ได้ส่งเสริมคุณค่าให้สังคมตระหนักเห็นถึงตัวตนที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ ว่า เกย์ก็มีคุณค่า แทนที่คุณจะใช้อัตลักษณ์นี้ไปเลย ก็ยอมรับไปสิว่ามันคือซีรีส์เกย์ เป็นความรักที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ 

อันนี้มันอาจจะมีเรื่องลึกของผู้ที่เสพงานซีรีส์วาย คือสาวๆ ที่คิดว่า เป็นเกย์ไม่ได้สิ ถ้าเป็นเกย์ ฉันก็จินตนาการไม่ได้ ที่ฉันชอบซีรีส์วาย ฉันเห็นผู้ชายสองคน ฉันชอบทั้งคู่ เขาควรจะต้องเป็นผู้ชาย ฉันถึงจะเข้าถึงพวกเขาได้ ถ้าเขาเป็นเกย์ก็แปลว่าจินตนาการของฉันมันจบแล้ว ฉันก็จะเป็นผู้หญิงที่จะเข้าไปแทรกในความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่ได้ หรือแทนตัวเองเป็นนางเอก นายเอกไม่ได้ มันก็เลยเป็นแฟนตาซีที่มาตอบสนองความต้องการของผู้หญิงโดยละทิ้งความเป็นจริงและละทิ้งการที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และอีกประเด็นหนึ่งของซีรีส์วายก็คือ นักแสดงที่ใช้ cisgender heterosexual มาแสดงเพราะต่อยอดได้ แต่ไม่เปิดพื้นที่ให้เกย์ หรือ ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้แสดง

เพราฉะนั้นพระเอก-นายเอกไม่ใช่ตัวแทนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในชีวิตจริง?

ไม่ใช่ คุณกำลังบอกแค่ว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในมิติของความโรแมนติกอะไรบางอย่างที่มันห่างไกลออกไป ไม่สื่อสารถึงอะไรเลย มันแค่จินตนาการของฉันเท่านั้น ก็เหมือนกับที่เราชอบคู่จิ้นชาย-ชายในวงการดาราเกาหลี แต่ถ้าเขาเป็นเกย์ขึ้นมาจริงๆ คุณก็รับไม่ได้ มันคือปรากฏการณ์เดียวกันคือฉันจิ้นให้เขารักกัน แต่ฉันไม่ได้ยอมรับความรักของเกย์ที่เป็น homosexual นะ นั่นจึงทำให้ซีรีส์วายในมุมมองของคิว ฟังดูมันอาจจะไม่เป็นมิตร ตราบใดก็ตามที่มันยังเป็นแบบนี้อยู่ เราไม่รู้สึกได้เลยว่ามันจะส่งผลดีให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไง ในฐานะที่เราเป็นนักขับเคลื่อนสิทธิทางเพศเราก็คาดหวังว่าสิ่งที่มีกระแสอยู่มันจะช่วยตรงนี้ได้ อย่างน้อยๆ ตัวตนที่ถูกหยิบยืมไป เธอมองเห็นและยอมรับมันได้มั้ย

ความรักแบบคู่จิ้นชาย-ชายจะเป็นกระบอกเสียงให้ความรักของกลุ่ม non-binary ได้รึเปล่า

เป็นคำถามที่ดีมาก จะตอบแบบนี้นะคะ คือซีรีส์วายยังไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับชายรักชายได้เลย ชายรักชายที่หยิบยืมอัตลักษณ์จริงๆ จากสังคมมา คุณยังไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มนี้ได้เลย แล้วคุณคาดหวังจริงๆ เหรอว่าซีรีส์จะเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม non-binary ได้ และ non-binary เองก็มีรูปแบบความสัมพันธ์ที่มากกว่านี้ มันไม่ใช่แค่นี้ คือ หนึ่ง มันเป็นไม่ได้อยู่แล้วด้วยตัวคุณสมบัติของการจิ้นแบบนี้ สอง ที่หยิบอัตลักษณ์มาใช้มันก็ยังเป็นไปไม่ได้เลยแล้วยังจะคาดหวังอีกเหรอ

แล้วข้อดีที่คุณคิวมองเห็นในซีรีส์วายคืออะไร

ข้อดีของซีรีส์วาย คิวมองตรงที่ว่า ซีรีส์วายได้รับความนิยมใช่มั้ย มีฐานลูกค้าจำนวนนึง มันดีตรงที่มันสามารถที่จะตอบสนองจินตนาการของผู้คน สร้างความนิยมได้ ถ้าเราเติมส่วนสำคัญที่คิวบอกลงไป คือเปลี่ยน mindset (วิธีคิด) หรือปรับ ค่อยๆ พัฒนาให้ซีรีส์วายเป็นมากกว่าแค่ความรักในจินตนาการ ให้เป็นตัวตนความรักของคู่ที่เป็น homosexual จริงๆ ในสังคม นั่นแปลว่า เอาตัวตนและการต่อสู้ของเกย์เข้าไปในซีรีส์จริงๆ เพื่อให้เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน ถ้าทำแบบนี้มันก็จะมีคุณค่าขึ้นมาทันที เพราะว่าซีรีส์วายเป็นที่นิยม แต่ประเด็นที่ตั้งคำถามต่อก็คือ ถ้าเราทำแบบนี้ความนิยมของซีรีส์วายอาจจะดับลงไปเลยก็ได้ เพราะเหตุผลที่ได้รับความนิยมนั้นเป็นเพราะเป็นการปฏิเสธรึเปล่า อันนี้เป็นคำถามของเราเอง พอเราพยายามที่จะทำแบบนี้ ทุกคนบอกโอเค แก้กันเถอะ พอแก้เสร็จปั๊บ ซีรีส์วายหายไปเลย มันอาจจะไม่ได้รับความนิยมอีกก็ได้

เราบอกได้มั้ยว่า สาววายอาจจะไม่เข้าใจ non-binary

ไม่ได้

คือมันอาจจะเป็นความชอบหนึ่งของเขา?

ใช่ จริงๆ แล้วเขาอาจจะเข้าใจเรื่อง homosexual ดีเลยแหละ แล้วก็อาจจะยอมรับสิทธิของเกย์ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าในมุมมองเขามันต้องแยกกัน อันนี้คือพื้นที่จิ้นของฉัน ฉันจะจิ้นฉันจะเสียหายอะไรมั้ย คือฉันจะชอบแบบนี้ แต่ในขณะที่ในสังคมฉันก็ไม่ได้เพิกเฉยนะ ฉันก็สู้เรื่อง LGBTQ เพียงแต่ว่าเธอไม่เอาสองเรื่องนี้มารวมกันได้มั้ย บางทีสาววายเป็นคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าในพื้นที่นั้นเขามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะจิ้นและแยกเรื่องนี้ออกจากกัน non-binary ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับซีรีส์วาย ฉะนั้นมันก็จะมีทั้งคนที่เก็ตเรื่องเราและไม่เก็ต

แล้วนิยามความรักของ non-binary เป็นยังไง

อันดับแรก คิวก็คงต้องพูดในฐานะที่เป็นนิยามความรักของตัวคิวที่เป็น non-binary แล้วกัน เพราะคิวไม่สามารถเป็นตัวแทนของ non-binary ทุกกลุ่มได้ และโดยเฉพาะ aromantic non-binary ที่เขาไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับใครยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพูดเรื่องนี้ที่เราจะเป็นตัวแทนของเขา 

ถ้าอย่างนั้นนิยามความรักของคุณคิวเป็นยังไง

เป็นคำถามที่ตอบยากมากเลย เหมือนคำถามปรัชญา จะตอบว่ายังไงดี นิยามความรักนี่หมายถึงว่ายังไง คือมุมมองต่อความรักเหรอ

แบบนั้นก็ได้ เช่น บางคนเขาจะบอกว่า ความรักไม่จำกัดเพศ ถ้าเราจะรัก ก็รักได้

โอเค สำหรับคิว คิวไม่ค่อยโดนใจกับคำว่า ความรักไม่จำกัดเพศเท่าไร เหตุผลเพราะว่าไม่ว่าจะเป็นความรักต่อเพศใด หรือไม่เน้นเรื่องเพศ หรือไม่มีความรัก ในความหมายที่ว่าไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับใครเลย ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าเหมือนกันหมดในรูปแบบความสัมพันธ์แบบคู่รัก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คือจะไม่ยกตัวขึ้นมาว่า คนที่มีความรักดีกว่าคนที่ไม่มีหรือคนที่เข้าไม่ถึงมัน มันเป็นคำตอบเชิงในคุณค่าและเปรียบเทียบ 

เราจะไม่ชอบคำประมาณว่า มนุษย์ต้องมีหัวใจ ทุกคนต้องมีความรัก คือมันจำเป็นเหรอ แล้วการที่ฉันไม่มีความรักแปลว่าฉันสูญเสียคุณค่าเหรอ มันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นมุมมองของคิวต่อความรัก ก็จะเป็นว่า ความรักมีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าคุณจะรักใครที่ตัวตนของเขา ไม่ว่าคุณจะรักใครโดยที่ไม่สนใจเรื่องเพศของเขา ไม่ว่าคุณไม่สามารถที่จะมีแรงดึงดูดทางใจกับเพศอื่นได้ หรือไม่มีความรู้สึกเรื่องนี้ก็ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นคนที่มีคุณค่าน้อยกว่าคนอื่น เราจะสื่อสารอย่างนี้ คนที่มีความรักก็ดีค่ะ คุณจะได้รักใคร หัวใจคุณเรียกร้อง มีความรัก มีความสุข แต่ในขณะเดียวกันคนที่ไม่มีความรัก คุณไม่ต้องมานั่งทุกข์ระทมอะไรทั้งสิ้น ถ้าคุณไม่ได้โหยหามันนะ คือมันไม่เหมือนกันนะ ที่คิวพูด คิวหมายถึงว่าคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางใจ คนที่เป็น aromantic ไม่ผิด แต่โอเค คนที่อยากมีความรักแต่ไม่ได้รักมา แน่นอนก็ต้องทุกข์อยู่แล้ว

ขอขยายความนิดนึง ที่พูดกันว่ารักไม่จำกัดเพศ คิวไม่รู้สึกดีเท่าไร บางทีเรารู้สึกว่า ฉันเป็น non-binary ถ้าใครสักคนจะมารักฉัน ฉันก็อยากให้เขารู้ว่าฉันกำลังรักกับ non-binary คนนี้อยู่ ไม่ใช่ว่ารักกับเพศไหนก็ได้ คือมันฟังดูเหมือนจะโรแมนติกนะ แต่ในความรู้สึกคิวมันเหมือนกับว่าเราถูกลบตัวตนบางอย่างออกไป

เราพูดถึงเรื่องสำนึกทางเพศ การแสดงออกทางเพศ การที่เราจะเข้าใจ non-binary เราต้องทำความเข้าใจเรื่องอื่นใดอีกมั้ย

อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ non-binary มันเป็นหมวดเดียวที่คุณต้องเข้าใจเลยคือ gender identity แล้ว gender identity ก็คืออย่างที่บอก คุณจะเข้าใจได้อย่างไรถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ร่วมตรงนั้น อย่างเดียวก็คือ รับฟังและเชื่อในสิ่งที่เขาบอกด้วยหลักการของ self-determination คุณไม่ต้องตัดสินหรอก คุณรับฟัง เรื่องราวของเขา เหตุผลอะไรที่คุณอยากรู้ก็รับฟังมัน แต่คุณไม่มีสิทธิไปบอกเขาว่าเขาใช่หรือไม่ใช่ 

นอกจากเรื่อง gender identity แล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณต้องมีเยอะๆ เลยก็คือการเปิดใจรับฟังค่ะ โดยไม่ตัดสินตีตราและการจินตนาการถึงความเป็นไปได้นอกกรอบกล่องเพศ อันนี้ยากนะ สำหรับคนที่โตมาในสังคมที่เป็นชายหญิง หรือ gender binary แม้กระทั่ง non-binary เอง 

แล้วคุณจะจินตนาการออกว่ามันมีมนุษย์สักคนหรือกลุ่มหนึ่งที่มันนอกเหนือไปจากนี้ เหตุผลนึงไม่ใช่คุณไม่เข้าใจ แต่คุณปิดกั้นความเป็นไปได้หรือจินตนาการที่จะพาคุณเปิดโลกไปสู่ non-binary ซึ่งมันไม่ได้ผิดซะทีเดียว เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัวคุณ มันเกิดจากการที่คุณถูกหล่อหลอมมาด้วยแนวคิดแบบ gender binary มาทั้งชีวิต แม้กระทั่ง non-binary เองก็ยังยากลำบากที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะเราถูกสอนมาแบบนี้ให้ปิดรับความเป็นไปได้นอกกรอบกล่องเพศ อันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเรื่องเดียว มันหมายถึงทุกๆ เรื่องด้วยเพราะในสังคมปัจจุบันมันมีความหลากหลายเกิดขึ้นเยอะ สิ่งที่เราดีรับการถ่ายทอดหรือปลูกฝังมาจากเดิม บางครั้งมันกลายเป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราเปิดใจ เรียนรู้ และยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่มันเกิดขึ้นโดยที่ยังไม่ทันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยซ้ำ ไม่ได้แล้ว ตัดสินไปก่อนจากประสบการณ์ จากสิ่งที่สังคมบอกว่า ใช่ บอกว่าดี บอกว่าสิ่งนี้ต้องเป็นแบบนี้ มันปิดกั้นคุณจากการเข้าใจกลุ่มคนใหม่ๆ ที่คุณรู้สึกว่าเขาแปลกออกไป

เมื่อคนที่เป็น non-binary โตมาในสังคมที่มีความเชื่อว่าเพศคือชายและหญิง จะเกิดอะไรขึ้น

ทุกวันนี้เราก็เกิดมาเป็นแบบนั้น แต่คำถามนี้คือถ้าไม่มีการค้นพบเลยใช่มั้ย แบบนี้ก็ตาย ชีวิตแย่แน่นอนค่ะ นึกถึงตัวเอง ประสบการณ์ของคิว คิวจะตกอยู่ในบ่วงเวรบ่วงกรรมมาก ถ้าในสังคมจริง มันก็คือประวัติจริงของคิวนั่นแหละ 

เราโตขึ้นมาในค่านิยมชายหญิง เราพบความหลากหลายทางเพศก็จริง แต่เราก็จะรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่า ไม่มีความมั่นใจ ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นและยังส่งผลกระทบกับคิวก็คือเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเอง การกล้าแสดงออก การพูดจา 

คือคิวรู้สึกได้เลยว่า คิวมีความมั่นใจในการที่จะไปพูดหน้าชั้นเรียนหรือพูดในที่สาธารณะไม่เท่าคนอื่น เหตุผลนึงเพราะเรื่อง gender (เพศ) สมัยเด็กๆ เราไม่อยากจะพูดกับใคร เพราะถ้าเราพูด เราแสดงออกพฤติกรรมอะไรมากๆ เขาจะรับรู้ว่าเราเป็น LGBT แล้วเราก็จะถูกล้อ ครูบอกว่าเป็นสิ่งที่ผิด ทำให้เราไม่มีความกล้าค่ะ เรารู้สึกว่า เราไม่อยากพัฒนาความสามารถทางด้านนี้ด้วย หลายคนอาจจะบอกว่าไม่เกี่ยว แต่เราว่ามันเกี่ยวเพราะมันทำให้คิวไม่กล้าเลย 

คนอื่นอาจจะบอกว่ามันเป็นเรื่องทักษะทั่วไปของทุกคน แค่ฝึกเราก็จะทำได้ดีขึ้น ไม่ เพราะเธอมีพื้นที่ไง เพราะเธอเป็น cisgender heterosexual เวลาไปพูดหน้าชั้นเรียน เธอไม่ถูกล้อเรื่อง gender แน่ๆ ของคิวนี่โดนล้อแน่ โตมาในโรงเรียนชายล้วน อาจารย์มองว่า กะเทยคือดอกไม้ประดิษฐ์ประดับโรงเรียน คุณคิดว่าคนที่เป็นอย่างเราจะกล้าออกไปพูดจาฉะฉานหน้าชั้นเรียนมั้ย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราโตมาในสังคมที่มีความเชื่อว่าเพศมีแค่สองเพศ ส่วนความแตกต่างจากนี้คือความผิดปกติ มันจะทำให้กลุ่มเด็กที่เป็น non-binary เป็น LGBT หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ โตขึ้นมาขาดความมั่นใจ มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เรื่องโรคซึมเศร้า เรื่องการเข้าสังคม 

นี่เป็นเหตุผลนึงที่คิวต้องสู้เรื่อง non-binary ต้องตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ได้แลกเปลี่ยนกัน ถ้าไปอยู่ที่อื่น เวลาพูดว่าฉันเป็น non-binary เมื่อ 5-6 ปีก่อน คิวเจออะไร หนึ่ง เป็นบ้า สอง พอคุยกับ LGBT ด้วยกันมันคงเป็นแฟชั่นแหละเดี๋ยวก็หาย ตัวตนของเราเป็นแค่แฟชั่น เป็นสิ่งที่มันฉาบฉวย หรือ LGBT ที่เรียกตัวเองว่า queer ก็บอกว่า เธอจะเป็นอะไรเพิ่มขึ้นมา เธอรู้มั้ยการที่เธอจำแนกตัวเองขึ้นมาเพิ่มมันสร้างปัญหาให้กับสังคม กลายเป็นเราเป็นตัวปัญหา 

ถ้าสังคมยังทำเหมือนกับว่าเราไม่มีตัวตน แน่นอนปัญหาของเราไม่มีทางได้รับการแก้ไข แน่นอนเด็กที่เป็น non-binary ไม่มีทางได้เชิดหัวขึ้นมาในสังคมนี้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีได้หรอกถ้าคุณยังไม่ได้เรียนรู้ นี่คือสิ่งที่เราเจอจาก queer อันนี้กำลังจะสื่อสารว่าคนที่เป็น LGBTIQ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเข้าใจเราไปมากกว่าคนที่เป็น cisgender heterosexual มันก็มีปัญหากันคนละรูปแบบ 

ตอนนี้เคลื่อนไหวเพื่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ทำกิจกรรมอะไรบ้าง

พอคิวค้นพบคำว่า non-binary เราก็คิดก่อนจะเอายังไงต่อดี แต่ตอนนั้นฉันเป็น non-binary คนเดียว ก็หาเพื่อนก่อน คนเดียวเราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่สามารถตอบปัญหาทั้งหมดได้ว่ามันเป็นแค่อาการทางจิตรึเปล่า หรือว่ามันมีตัวตนจริงมั้ย คิวก็เริ่มต้นจากการหาเพื่อน คิวก็ได้เพื่อนกลุ่มนึง จากการลองถามคำถามอะไรบางอย่างทำให้เรามั่นใจว่าคนนี้มีแนวโน้มหรือมีโอกาสจะเป็น ก็แชทไปคุยกันส่วนตัว ทุกอย่างเกิดในเฟซบุ๊กนะคะ พอได้สักคนสองคน เราต้องการพื้นที่ปลอดภัยแล้วเพราะไม่ว่าเราจะไปพูดที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข่าวความหลากหลายทางเพศที่พูดเหมือน LGBT ทุกคนมาปรึกษาได้ แต่พอเป็น non-binary ไปบอกว่าเป็นประสาทรึเปล่าคะ เรารู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยแล้ว ก็เลยไปสร้างกลุ่มเอง สร้างกลุ่ม Non-binary Thailand ขึ้นมา เริ่มต้นจากการคุยกันก่อน คุยกันให้ตกผลึกก่อน เราสามคนไม่ได้บ้าไปจริงๆ อย่างที่เขาว่าใช่มั้ย เราจะยืนยันหลักการนี้ยังไงล่ะ ก็ศึกษาเพิ่มเติม ทฤษฎีนั่นทฤษฎีนี่เพื่อที่จะมายืนยันตัวตนของเรา 

ถ้าเป็นมุมมองของคิวตอนนี้ คิวรู้สึกตลก คือหมายถึงว่า ฉันต้องค้นหาเพื่อมายืนยันในสิ่งที่ฉันเป็นทำไม ในเมื่อฉันก็เป็นตัวของฉันอยู่แล้ว แต่ว่าต้องให้ได้รับการยอมรับทางวิชาการไงหรือยอมรับในระดับนึง เราก็ต้องทำแบบนั้น พอตั้งกลุ่ม ศึกษากันเสร็จ ก็ได้เรื่องได้ราวแล้ว สร้างพื้นที่ปลอดภัยเสร็จ ต่อไปก็เริ่มต้นสร้างความเข้าใจในสังคมก่อน non-binary คืออะไร เริ่มมีนักข่าวมาติดต่อไปทำบทสัมภาษณ์

เราพูดมากขึ้นๆ ในเฟซบุ๊ก มันก็เริ่มมีคน เอ๊ะ non-binary คืออะไร มันคืออะไรนะ คนยังไม่รู้จักนะ แต่เห็นละคำว่า non-binary บางคนบอกว่าเรื่องมากเนอะ เพศมันก็คืออยู่ระหว่างขาเท่านั้นแหละ เราก็โดนด่าสารพัดเหมือนกัน 

แต่อย่างน้อยๆ คำว่า non-binary เนี่ยเริ่มกระจายออกไปแล้ว แง่ดีหรือไม่ดีเราไม่รู้ แต่คนก็ยังไม่เข้าใจ เราเริ่มออกบทความไปสักพักนึงก็มีนักกิจกรรมจากกลุ่มกลุ่มหนึ่งที่เขาขับเคลื่อนรณรงค์อยู่ในภาคประชาสังคมจริงๆ นอกเหนือจากเฟซบุ๊ก เขาก็เห็น เขาก็ชวนเราไปทำงานเอ็นจีโอ เราก็ตกปากรับคำทันทีว่า โอเค ดีเหมือนกัน เพราะพื้นที่แค่เฟซบุ๊กมันคงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แค่ระดับนึงนะ หลังจากนั้นเราก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในเวทีสาธารณะต่างๆ การจัดงานแคมป์ในพื้นที่ต่างๆ ของนักกิจกรรม ทำให้นิยามของ non-binary มันแพร่กระจายในหมู่นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศและออกสู่สังคม แล้วก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลา 5 ปี จริงๆ ก็ไม่ถึง 5 ปีด้วย ที่ผ่านมามันก็เสียเวลาไปกับการนั่งสร้างความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองไป 2-3 ปีแล้ว 

เห็นว่าทำเพจด้วย ฝากเพจได้เลย

เพจ ‘นอกกล่องเพศ : NON-BINARY’ ก็มาติดตามได้ หรือว่าถ้าใครอยากจะเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยก็เรียนเชิญที่กลุ่ม Non-binary Thailand: กลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย เสิร์ชแล้วก็จะขึ้น ในกลุ่มก็จะพูดสัพเพเหระแต่ก็ปลอดภัยค่ะ 

Tags:

อัตลักษณ์ทางเพศนอกกล่องเพศการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)เพศความรักNon-binary

Author:

illustrator

ศากุน บางกระ

Gen-Y ตอนปลาย จบวารสารฯ ธรรมศาสตร์ เคยทำงานทีวี หนังสือพิมพ์ เคยเป็นบัณฑิตอาสาสมัครสอนภาษาไทยให้เด็กชาติพันธุ์ ทำคอนเทนต์มาหลากหลาย ปัจจุบันเรียนโทด้าน Development Studies ที่ University of Melbourne ฝันอยากทำงานกับเด็กๆ

Related Posts

  • Relationship
    ‘หึง’ ก็เพราะรัก? ‘หวง’ ก็เพราะห่วง? เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์หึงหวงก่อนทำลายความสัมพันธ์

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    Asexual ชีวิตที่อยู่นอกกรอบเรื่องรักใคร่

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Book
    เพียงพบบรรจบฝัน – เมื่อรสนิยมทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องชอบชายหรือหญิง

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป

  • How to get along with teenager
    (ก่อน)คุยกับลูกเรื่องเพศ ชวนพ่อแม่ถามตัวเอง ‘มีความรักครั้งแรกเมื่อไร’ และอีกหลายความรู้เรื่องเพศที่ต้องรู้ก่อนคุย

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    แยกความรักออกจากการทำร้ายร่างกาย: คุยกับ เบส-SHero เรื่องการก้าวออกจากความรุนแรงในครอบครัว 

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี

ผ้าสบงและป้ายรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ การลุกขึ้นมาจัดการป่าของเยาวชนบ้านหนองสะมอน
23 February 2021

ผ้าสบงและป้ายรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ การลุกขึ้นมาจัดการป่าของเยาวชนบ้านหนองสะมอน

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • โครงการการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของคนในชุมชน โดยกลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอน มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเกื้อกูลกันระหว่างการพัฒนา การอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน
  • เมื่อปลูกต้นไม้จำนวนมากขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนสำคัญถัดไป คือ “การดูแลรักษา” ให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นป่า รวมถึงการดูแลป่าบริเวณอื่นที่มีอยู่เดิมในชุมชนให้ปราศจากการถูกคุกคาม
  • ผ้าสบงพระสีส้มอมน้ำตาลผูกล้อมรอบต้นไม้ไว้ หรือที่เรียกว่า “การบวชป่า” และข้อความบนป้ายรณรงค์ที่ติดไว้ตามต้นไม้ใหญ่ แม้จะเป็นเรื่องของความเชื่อเล็กๆ แต่ก็ทำงานกับความรู้สึกนึกคิดของคน พวกเขาจึงใช้วิธีนี้ในการรักษาต้นไม้ใหญ่

ภาพ เยาวชนบ้านหนองสะมอน

3 ปีก่อน คนบ้านหนองสะมอน ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ กว่า 40 คนใช้เวลา 2 วันปลูกต้นไม้ร่วมกันกว่า 1 หมื่นต้น ยังไม่นับต้นไม้ที่ต้องปลูกซ่อมหลังจากไม้ล็อตแรกตายไปเกือบครึ่งเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้น้ำท่วมขังอยู่กว่า 2 อาทิตย์ โชคยังดีที่กล้าไม้เหล่านี้ได้มาจากธนาคารต้นไม้ของหมู่บ้าน การปลูกต้นไม้ครั้งนั้นนำโดยเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่ง

“ต้นตะเคียนทนน้ำท่วมขัง”

“ต้นพะยูงไม้มงคล เนื้อแข็งทนแล้ง”

“ต้นขี้เหล็กเอายอดมาใช้ทำแกง”

“ยอดอ่อนดอกอ่อนต้นสะเดา เอามาลวกกินและทำแกงได้”

“ส่วนไผ่ป่าเอาหน่อมาทำแกงได้อีกเหมือนกัน”

กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอน เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ของพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่พวกเขาและชาวบ้านในชุมชนร่วมกันปลูกขึ้นบนพื้นที่รอบ หนองแสนแสบ เมื่อสามปีก่อน

“หลังจากปลูกป่าเสร็จแล้ว เรากลับไปดูแลพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ไว้ สังเกตว่าต้นไม้โตขนาดไหน มีสิ่งรบกวนหรือเปล่า ตอนนี้เห็นต้นไม้โตขึ้นเป็นป่าย่อมๆ ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจ ถือว่างานของเราสำเร็จไปอีกขึ้นหนึ่ง” เบลล์-ชิณกร มียิ่ง หนึ่งในแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอน ที่ทำโครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบกับรุ่นพี่ เมื่อปี 2560 ครั้งนี้เขาเป็นตัวตั้งตัวตีสานต่อ โครงการการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของคนในชุมชน ในปี 2562 มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเกื้อกูลกันระหว่างการพัฒนา การอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน

จากข้อมูลของกรมป่าไม้ ระบุว่า ระหว่างปี 2557-2559 พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงร้อยละ 0.02 ทุกๆ ปี จากสถิติประเมินการสูญเสียป่าไม้ในรอบ 50 ปี จังหวัดศรีษะเกษเป็นจังหวัดที่สูญเสียป่าไม้อยู่ในระดับ ‘สูญเสียมาก’ แต่ยังไม่ถึงขั้น ‘รุนแรง’ แต่ก็มีป่าไม้ปกคลุมอยู่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ เมื่อพื้นที่ป่ามีน้อยจึงเกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อยามน้ำหลากก็เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และทำให้เกิดการพังทลายของหน้าดินอย่างรุนแรงได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หนองสะมอนได้เผชิญหน้ากับความไม่แน่ไม่นอนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น

บ้านหนองสะมอนอยู่ห่างจากตัวเมืองศรีษะเกษมาทางทิศตะวันตกราว 50 กิโลเมตร หนองแสนแสบเดิมเป็นหนองน้ำขนาดเล็ก สภาพโดยรอบเป็นป่า มีต้นกกขึ้นอยู่เต็มไปหมด ชาวบ้านเก็บต้นกกไปทอเสื่อสร้างรายได้เสริม บ้างจูงวัวควายมาปล่อยหากินหญ้าตามธรรมชาติ

ต่อมาในปี 2560 หนองแสนแสบถูกปรับพื้นที่ มีการขุดลอกหนองและขยายให้เป็นแก้มลิง เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร อุปโภคบริโภค และแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ทำให้จำเป็นต้องตัดโค่นต้นไม้จำหนึ่งมาก 

ครั้งนั้นบ้านหนองสะมอนสูญเสียพื้นที่ป่าแลกกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีต้นเหตุหลักมาจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำและป่าไม้ ที่ไม่ได้รับการจัดการดูแลจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่

ถึงตอนนี้ต้นไม้บริเวณหนองแสนแสบโตขึ้นสูงกว่าสองเมตร แม้ยังไม่ให้ร่มเงาได้เท่าต้นไม้ใหญ่ แต่บางต้นก็สามารถเก็บกินและใช้ประโยชน์ได้แล้ว ระบบนิเวศที่เคยถูกทำลายได้กลับมามีลมหายใจและมีชีวิตอีกครั้ง

“อยากให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าไม้”

“แต่เดิมชาวบ้านไม่ค่อยสนใจเรื่องป่าไม้ บางหนองมีข้อห้ามไม่ให้เข้าไปจับสัตว์ในป่า ก็ยังมีการบุกรุกเข้าไป ผมเข้ามาร่วมโครงการเพราะอยากทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงประโยชน์ เห็นว่าป่ามีความสำคัญอย่างไร”

เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งจากเด็กเยาวชนวัยมัธยมปลาย กลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอนที่เห็นปัญหาและความเปลี่ยนแปลงในชุมชนแล้วอยากเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา จนได้อาสาเข้าร่วม โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษได้ริเริ่มโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิดในประเด็นที่ตนเองสนใจ

แกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอน

ปลูกฝังความรู้ ปลูกความยั่งยืนให้ชุมชน

การเก็บข้อมูลชุมชนระหว่างทำโครงการ ทำให้กลุ่มแกนนำเยาวชนได้รับรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ทำเลที่ตั้งบ้านหนองสะมอนอยู่บนที่ราบสูง แต่ในช่วงหน้าฝนพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านกลับเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำเนื่องจากอยู่ใกล้กับลำห้วยทับทัน ลำน้ำตามธรรมชาติที่น่าจะเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้หล่อเลี้ยงเกษตรกรรมในชุมชนได้ แต่เพราะชุมชนไม่มีพื้นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่เพียงพอ ประกอบกับหนองน้ำเท่าที่มีอยู่ในชุมชนตื้นเขินเพราะขาดการดูแล คราวหน้าฝนกลับเกิดน้ำท่วมขัง ขณะที่เมื่อยามหน้าแล้งมาเยือนชาวบ้านกลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการบริโภคและการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนแห่งนี้เสื่อมโทรมลงไม่ต่างจากพื้นที่อื่นโดยรอบ  

“บ้านหนองสะมอนเป็นหมู่บ้านที่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ต้องใช้น้ำปริมาณมากเพื่อการเพาะปลูก บางปีน้ำแล้ง บางปีน้ำเกิน จึงต้องขุดลอกหนองเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ แล้วส่งปล่อยน้ำในหนองให้คนในชุมชน ยิ่งปีนี้น้ำแล้งข้าวในนาให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ผู้ใหญ่บ้านก็ใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำจากหนองขึ้นไปตามคลองไส้ไก่เข้านาให้ชาวบ้าน” เบลล์ เล่าสถานการณ์การจัดการน้ำของชุมชนในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา

เป็นที่รู้กันว่าการขุดลองหนองแสนแสบเพื่อทำแก้มลิงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอน บอกว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีหลากหลายหมวดหมู่ ทั้งดิน น้ำ และป่าไม้ โครงการครั้งนี้พวกเขาโฟกัสไปที่การจัดการทรัพยากร “ป่าไม้” ก่อนเพื่อต่อยอดการดำเนินงานจากปีที่ผ่านมา 

เมื่อปลูกต้นไม้จำนวนมากขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนสำคัญถัดไป คือ “การดูแลรักษา” ให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นป่า รวมถึงการดูแลป่าบริเวณอื่นที่มีอยู่เดิมในชุมชนให้ปราศจากการถูกคุกคาม กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอน บอกว่า

วิธีการ “การดูและรักษาป่า” ของพวกเขา คือ ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่คนในชุมชน เกี่ยวกับประโยชน์ของป่า ระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ รวมถึงขอแรงและความร่วมมือให้ทำตามข้อตกลงและทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่วนรวมร่วมกัน

“ทุกเดือนมีเวทีประชาคมหมู่บ้าน บ้านหนองสะมอนมีอยู่ประมาณ 245 ครัวเรือน ทุกบ้านต้องส่งตัวแทนมาเข้าร่วมประชุม ปกติผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ พวกเราก็ใช้เวทีนี้นำเสนอข้อมูลสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้าน ที่ผ่านมาอาจมีการตัดไม้ เผาป่า หรือล่าสัตว์ในพื้นที่ แต่นั่นเป็นเพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ ในชุมชนเองก็ไม่มีการจัดการและสร้างข้อตกลงร่วมกัน

เราเอาข้อมูลมานำเสนอว่า วิถีชีวิตของเราเป็นแบบนี้ ยังไงก็ได้ใช้ประโยชน์จากป่า ต่อให้ไม่ได้ตัดไม้มาใช้โดยตรงแต่น้ำที่ใช้มาจากป่า พอเราเอาข้อมูลมานำเสนอ เอาวิดีโอที่ถ่ายทำในชุมชนมาฉายให้ดู เล่าถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากการอนุรักษ์ ดูแลป่า แล้วขอความร่วมมือชาวบ้านก็ไม่ขัดข้อง ตั้งแต่ทำโครงการมาการเผาป่าไม่มีแล้ว ส่วนการตัดไม้ยังมีบ้างแต่ก็ไม่มาก ในภาพรวมผมประเมินว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือ 70%”

การทำกิจกรรมภายใต้โครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนฯ ในช่วงที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การบวชป่าและการติดป้ายรณรงค์สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับป่าไว้บนต้นไม้ใหญ่ นอกจากนี้ ชุมชนยังได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจำนวน 15 คน ที่มีแกนนำเยาวชน 9 คนเป็นคณะทำงานร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และผู้รู้ของชุมชน

“ผมจำได้ครั้งหนึ่งผมมาเวทีประชาคมแทนแม่ ตอนนั้นยังไม่ได้ทำโครงการ ผู้ใหญ่บ้านถามขึ้นมากลางเวทีว่าชุมชนอยากให้เด็กเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาชุมชนยังไงบ้าง แล้วผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดว่า เด็กจะมีปัญญาทำอะไรให้กับชุมชน ตอนนั้นผมหันไปมองหน้านัน (พินิทนันท์ สุทธิ์สน หนึ่งในแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอนรุ่นแรกและรุ่นที่สอง) แล้วคิดในใจว่าผมคงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงให้ผู้ใหญ่เห็นว่า เด็กอย่างเราก็ทำงานพัฒนาชุมชนได้ เลยสนใจเข้ามาทำโครงการตั้งแต่ทีแรก ดีใจที่ตอนนี้ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมด้านสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ผมอยากให้เด็กเยาวชนทุกคนในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้าน และผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม อยากให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนมีความสำคัญในการพัฒนาชุมชนของตัวเอง” เบลล์ เล่าอย่างตั้งใจ

ผ้าสบง ป้ายรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ และการพยากรณ์อากาศ

ขอบเขตการดูแลป่าของเยาวชนไม่ได้จำกัดอยู่แค่บริเวณหนองแสนแสบเท่านั้น แต่กระจายครอบคลุมไปยังป่าด้านอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ป่าหนองพอง ป่าห้วย – อยู่ติดกับลำน้ำห้วยทับทัน และป่ากุ๊กรุกสะมัง เสือ – วัชรพงษ์ สมัญ อีกหนึ่งแกนนำเยาวชน เล่าว่า กว่าต้นกล้าที่ปลูกจะเติบโตขึ้นเป็นป่าที่มีต้นไม้หลากหลาย ผลิตพืชพรรณให้ได้เก็บกินเพื่อยังชีพและสร้างรายได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ยกตัวอย่างวัฎจักรการเติบโตของเห็ดที่ต้องอาศัยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นมากลายเป็นปุ๋ยและเป็นแหล่งเพาะเชื้อเห็ดตามธรรมชาติ  

หากใครมีโอกาสเข้ามายังป่าชุมชนบ้านหนองสะมอนในตอนนี้จะได้เห็นผ้าสบงพระสีส้มอมน้ำตาลผูกล้อมรอบต้นไม้ไว้ หรือที่เรียกว่า “การบวชป่า” และข้อความบนป้ายรณรงค์ที่ติดไว้ตามต้นไม้ใหญ่ 

“ป่าคือลมหายใจของชุมชน”

“ไม่มีป่า…ไม่มีน้ำ”

“ป่าคือต้นน้ำ”

“รักน้ำ รักป่า”

“ป่าไม้คงไว้ให้ลูกหลาน”

“save ป่า”

กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอน บอกว่า การบวชป่าเป็นเรื่องของความเชื่อ ส่วนป้ายรณรงค์แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ทำงานกับความรู้สึกนึกคิดของคน เบลล์เคยมีประสบการณ์ตรงกับการทำงานพัฒนาชุมชนลักษณะนี้มาก่อน

“ตอนที่ผมไปทำกิจกรรมอาสาที่น้ำตกห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ ร่วมกับทีมอื่นๆ ในโครงการ(พัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ) พวกเราได้เข้าไปฟิ้นฟูพื้นที่น้ำตกห้วยจันทร์ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแต่ขาดการดูแล มีขยะทิ้งเกลื่อนกลาด ทำป้ายห้ามทิ้งขยะไปติดตามจุดต่างๆ หลังจากนั้นมาก็เห็นผลลัพธ์ว่าคนไม่นำขยะไปทิ้ง เป็นไอเดียให้นำมาใช้กับโครงการในชุมชน”

ก่อนจัดกิจกรรมการบวชป่าและติดป้ายรณรงค์ แกนนำเยาวชนในนามคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน ประกาศเชิญชวนและนัดหมายวันเวลาทำกิจกรรมให้คนในหมู่บ้านรับทราบในเวทีประชาคม วันงานพวกเขาไม่ทำพิธีรีตองอะไรมากมาย แต่ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยความเคารพระหว่างคนกับป่า

“เรานัดเจอกันที่ศาลาประชาคมก่อน นำเสนอแผนงาน แจ้งขั้นตอนกิจกรรมว่าเราจะไปป่าไหนกันก่อน แล้วค่อยกระจายตัวไปตามจุด คนในชุมชนมากันไม่ต่ำกว่า 50 คน มีทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน คนแก่ก็มา การบวชป่าเราไม่ได้เชิญพระสงฆ์ ไปถึงเราตั้งใจผูกผ้าสบงให้ได้มากที่สุด เน้นต้นไม้ใหญ่ที่ควรอนุรักษ์ เอาผ้าไปผูก พนมมือไหว้ แล้วขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่แห่งนั้นให้ดูแลต้นไม้ต้นนี้ด้วย บอกว่าเราเข้ามาทำดีไม่ได้เข้ามาทำร้ายต้นไม้” เบลล์ อธิบาย

เพื่อให้การทำงานของกลุ่มเข้าถึงเด็กและเยาวชน และทำให้คนในชุมชนเห็นความเคลื่อนไหว พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยงานประชาสัมพันธ์ ตั้งชื่อเฟสบุคตรงไปตรงมาว่า “กลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอน” เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารประจำวัน รวมถึงการรายงานพยากรณ์อากาศ

“ฝนกำลังมาแล้ว ขอให้เกษตรกรระมัดระวังพืชผลทางการเกษตร”

“เกิดพายุฤดูร้อนในหลายอำเภอ พ่อแม่พี่น้องโปรดระมัดระวังกันด้วยนะครับ”

เป็นข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏหน้าเฟสบุคของกลุ่ม เบลล์ บอกว่า การพยากรณ์อากาศเป็นเรื่องที่เขาชอบและสนใจมากที่สุด

“ผมอยู่ในกลุ่มไลน์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เลยได้เรียนรู้เรื่องเรดาห์และแผนที่พยากรณ์อากาศ สังเกตการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆฝน กลุ่มพายุจากแผนที่รายชั่วโมง ผมช่วยพยากรณ์อากาศแจ้งกับคนในชุมชนได้ มีความแม่นยำมากกว่าเพราะจำกัดเฉพาะในบริเวณพื้นที่บ้านเรา” เบลล์ เล่า

การพัฒนาที่มาจากความร่วมมือ

การสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ว่ากับเรื่องใดก็ตาม ไม่สามารถขับเคลื่อนได้จากกำลังของคนเพียงคนเดียว แต่เกิดขึ้นจาก “ความร่วมมือ” ของบุคคลที่เกี่ยวข้องและให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านั้น เช่นเดียวกับโครงการการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนฯ เบลล์ สะท้อนว่าการที่กลุ่มเด็กเยาวชนในชุมชนซึ่งเห็นความสำคัญของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาร่วมไม้ร่วมมือกันทำโครงการอย่างจริงจัง ทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขามีความน่าเชื่อถือในสายตาผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่ให้ความเชื่อมั่นก็พร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ การทำงานเป็นทีมยังทำให้กลุ่มแกนนำเยาวชนมีความมั่นใจในตัวเองจากแรงส่งเสริมของกันและกัน

“แต่ละคนมีความถนัดมีความชอบต่างกัน อย่างผมถนัดพูด เพื่อนในกลุ่มบางคนถนัดเขียน คนที่ไม่ค่อยพูดในกลุ่มก็วาดรูปเก่ง ระบายสีสวย พิมพ์งานได้ไว ทุกคนสนับสนุนกัน แต่การทำงานตั้งแต่สองคนขึ้นไปยังไงก็ต้องมีทะเลาะกันบ้างอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา เราก็ต้องปรับตัว เอาเรื่องงานมาก่อนความรู้สึกส่วนตัว” เบลล์ กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว “ความร่วมมือ ความเชื่อมั่นและความมั่นใจ” ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกชุมชนทำให้โครงการจากการริเริ่มของเด็กเยาวชนชุมชนบ้านหนองสะมอนดำเนินการต่อเนื่องมาได้ถึง 2 รุ่น แม้มีบางช่วงบางตอนที่ขลุกขลักอยู่บ้างแต่ก็สร้างผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ดีกว่าการใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ โดยไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่สำคัญการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำโครงการยังบ่มเพาะวิธีคิดและมุมมองการใช้ชีวิตให้กับพวกเขา

“เราไม่ได้ทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาชุมชนอย่างเดียว แต่กระบวนการเรียนรู้จากการทำโครงการเสริมสร้างทักษะให้กับพวกเราด้วย เช่น ฝึกให้กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น สำหรับบางคนการจับไมค์พูดต่อหน้าคนเยอะๆ เป็นเรื่องยากมาก ต้องใช้ความกล้าและท้าทายความกลัวของตัวเอง” เบลล์ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ภายในกลุ่ม แล้วกล่าวถึงตัวเองว่า “ผมเป็นคนอารมณ์ร้อน อยากฝึกตัวเองมากกว่านี้ให้ใจเย็นขึ้น รวมถึงเรื่องการพูดที่บางทีมีอะไรอยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่พูดออกมาไม่ถูก ไม่ได้อย่างใจ เวลาเห็นคนอื่นพูดได้ดีก็อยากพูดได้อย่างเขาบ้า อยากเรียบเรียงความคิดการพูดเพื่อสื่อสารให้ดีขึ้น”

“ตอนเรียนในห้องเรียนเราแค่ได้คิด เป็นการคิดเพื่อบรรลุตัวชี้วัด ไม่มีผู้ใหญ่ให้คำปรึกษาและไม่ได้ลงมือทำเหมือนในโครงการ ตอนทำโครงการเราคิดแล้วได้ลงมือทำต่อ มีผู้ใหญ่ที่เราเข้าหาเพื่อขอคำปรึกษาได้ เมื่อก่อนผมไม่ได้เห็นความสำคัญของชุมชนเลย คิดว่าโตขึ้นแค่ออกไปเรียน แล้วไปทำงาน แต่พอได้เปิดใจมาเข้าร่วมทำโครงการ ก็ได้เห็นความสำคัญของชุมชนตัวเองว่าหนึ่งชีวิตเราที่เกิดมา เราควรทำคุณ ตอบแทนสิ่งที่ชุมชนนี้ให้กับเรา” เบลล์ เล่าถึงความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อถามถึงโปรเจคที่อยากทำต่อไปในอนาคต เบลล์ บอกว่า บ้านหนองสะมอนมีพืชผลทางการเกษตกรหลากหลาย เป็นหมู่บ้านที่ส่งผลผลิตทางการเกษตรออกขายมากเป็นอันดับหนึ่งของอำเภอ ยกตัวอย่างเช่น พริกชี้ฟ้า ส้มเขียวหวาน ปาล์ม ยางพารา ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง จึงอยากศึกษาเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

“ความเสื่อมโทรม” ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แหล่งน้ำ หรือที่ดิน เป็นผลมาจากการเข้ามาใช้ประโยชน์ของมนุษย์ การบริโภคในระดับที่เกินพอดี จนเกินขีดความสามารถที่ระบบนิเวศจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอนกำลังทำแสดงให้เห็นว่า

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเริ่มต้นได้จากการปรับปรุงระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายในชุมชนและสังคมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชน

“ต่อไปในอนาคตเราต้องโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่อยู่ตอนนี้ก็ต้องตายจากไป ตัวเราก็เห็นอยู่ว่าเด็กเยาวชนในชุมชนมีน้อยมากเลยที่จะสนใจปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่แก้ปัญหาตอนนี้แล้วตอนไหนเราถึงจะทำ” เบลล์ กล่าว

Tags:

Problem based Learning(PBL)active citizenศรีสะเกษสิ่งแวดล้อม

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Everyone can be an Educator
    ‘เด็กทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง’ สร้างพื้นที่ปลอดภัยและให้โอกาสเติบโต : ราฎา กรมเมือง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • เดินสำรวจหอยขาวอ่าวท่าชนะ ในวันที่ธรรมชาติจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Voice of New Gen
    สวนกง…เพราะหาดคือชีวิต

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Voice of New Gen
    SODLAWAY SILK แบรนด์ผ้าไหมที่ทอลวดลายจากเรื่องราวและชีวิตชาวกวย

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร ภาพ The Potential

  • Creative learningCharacter building
    ‘น้ำตกสายใจ’ ห้องเรียนหน้าร้อน สอนให้เด็กๆ บ้านเขาไครรู้ว่าตัวเองเป็นใคร

    เรื่องและภาพ The Potential

Kindness : อ่อนโยน เป็นมิตรและมีน้ำใจ อัตราแลกเปลี่ยนความสำเร็จในชีวิตที่สร้างได้
Character building
22 February 2021

Kindness : อ่อนโยน เป็นมิตรและมีน้ำใจ อัตราแลกเปลี่ยนความสำเร็จในชีวิตที่สร้างได้

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากประโยคที่ว่า “Kindness สกุลเงินที่ควรเริ่มสะสมตั้งแต่วันนี้” ของ แกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) เจ้าของฉายา นักการตลาดออนไลน์ตัวพ่อแห่งยุค
  • แกรี่กล่าวว่า ผู้นำที่ดีต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น (kindness) ในขณะเดียวกันต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem)
  • “Kindness” สร้างได้จากการลงมือทำบางอย่างที่หล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น เช่น การแบ่งปันขนมให้เพื่อน ความรู้สึกดีที่ได้รับจากการให้ผู้อื่นก่อน ทำให้สมองของเด็กเรียนรู้วิธีการผลิตซ้ำความรู้สึกดีนั้น แล้วส่งต่อความรู้สึกที่ดีไปยังผู้อื่น มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายรองรับว่า kindness เป็นโรคติดต่อที่ส่งถึงกันได้ ด้วยเหตุนี้การสร้างคาร์แรกเตอร์ให้เด็กและเยาวชนมี kindness จึงควรถูกสอนทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน

“Kindness สกุลเงินที่ควรเริ่มสะสมตั้งแต่วันนี้”

“Kindness is the currency … start making deposits ….”

บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากประโยคด้านบนของ แกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) หรือ แกรี่ วี (Gary Vee) ชายวัย 46 ผู้ได้รับฉายานามว่าเป็นนักการตลาดออนไลน์ตัวพ่อแห่งยุค ลุคของแกรี่ไม่ได้ดูอบอุ่นเมื่อแรกเห็น หน้าโหดๆ มาดกวนๆ พูดจาตรงไปตรงมา ซ้ำยังสบถคำหยาบอยู่บ่อยครั้ง แต่แทบทุกประโยคที่สื่อสารออกมาเรียกว่า “เฉียบ!!” “บาดใจ!!” โดยเฉพาะสำหรับคนที่ทำธุรกิจ แกรี่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คดันยอดขายธุรกิจของเขาถึงพันล้านได้ภายใน 5 ปี โดยใช้ ‘คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง’ แบบเพียว ๆ ในทุกช่องทางที่มี ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาร์แกรม ยูทูบ ทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก ลิงค์อิน สแนพแชต พ็อดคาสท์ และออกหนังสือมาแล้วถึง 5 เล่ม

เมื่อนักการตลาดอย่างแกรี่บอกว่า “kindness” เป็นเงินสกุลหนึ่งที่ต้องเริ่มสะสมตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย จนทำให้อยากค้นต่อว่าคำนามธรรมกว้างๆ คำนี้ ทำไมถึงมีอิทธิพลในยุคที่ผู้คนต่างแข่งขัน หาทางเป็นที่หนึ่ง สนใจเรื่องของตัวเองและคนรอบข้างน้อยลง แต่สนใจเรื่องคนอื่นและเรื่องไกลตัวมากขึ้น 

Kindness คืออะไร?

“kindness” คิดอยู่นานว่าจะแปลความหมายของคำนี้ว่าอย่างไรดี

คำว่า kind ในมักมิลลัน ดิกชันนารี ให้ความหมายว่า 

“behaving in a way that shows you care about other people and want to help them” 

“พฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าคุณห่วงใยผู้อื่น และอยากช่วยเหลือพวกเขา”

ส่วนอ๊อกฟอร์ด ดิกชันนารี ให้ความหมายว่า 

“caring about others; gentle, friendly and generous”

“ห่วงใยผู้อื่น อ่อนโยน เป็นมิตรและมีน้ำใจ”

ซึ่งแปลความได้ถึง “ความเมตตา”  “ความกรุณา” และ “ความปราณี” เป็นความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น

ในบทความนี้จึงขอแทน “kindness” ด้วยคำว่า “kindness” อย่างตรงไปตรงมา ส่วนความหมายในภาษาไทยก็จะใช้แตกต่างกันไปตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง 

สร้างความแข็งแกร่งด้วย ‘kindness’

แกรี่ กล่าวว่า ผู้นำที่ดีต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น (kindness) ในขณะเดียวกันต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem)

‘kindness’ จึงไม่ใช่เรื่องของคนอ่อนแอ

การศึกษาทางวิทยาศาตร์แสดงให้เห็นว่า kindness มีประโยชน์ต่อเด็กทั้งทางร่างกายและอารมณ์ แพตตี้ โอ กราดี้ (Patty O’Grady) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ทางอารมณ์ และจิตวิทยาเชิงบวก ที่มีความสนใจเป็นพิเศษด้านการศึกษา กล่าวว่า วัยเด็กและวัยรุ่นไม่ได้เรียนรู้เรื่อง kindness จากเพียงคำพูด หรือ ความคิด แต่เรียนรู้ได้ดีที่สุดจาก “ความรู้สึก”

“ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานในสมอง ด้วยประสบการณ์ที่ได้จากการมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น” 

นั่นหมายความว่า kindness สร้างได้จากการลงมือทำบางอย่างที่หล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งปันขนมให้เพื่อน ความรู้สึกดีที่ได้รับจากการให้ผู้อื่นก่อน ทำให้สมองของเด็กเรียนรู้วิธีการผลิตซ้ำความรู้สึกดีนั้น แล้วส่งต่อความรู้สึกที่ดีไปยังผู้อื่น เรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่พูดขึ้นลอยๆ แต่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายรองรับว่า “kindness” เป็นโรคติดต่อที่ส่งถึงกันได้ 

ด้วยเหตุนี้การสร้างคาร์แรกเตอร์ให้เด็กและเยาวชนมี kindness จึงควรถูกสอนทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน

8 เหตุผล ทำไมต้องสอนเด็กให้มี kindness 

  1. ทำให้เด็กมีความสุข

วิทยาศาสตร์อธิบายว่าความรู้สึกดีๆ ที่เราได้รับเมื่อเราได้ทำอะไรให้กับผู้อื่น เกิดขึ้นจากสารเอนดอร์ฟิน (endorphin) ที่เข้าไปกระตุ้นส่วนของสมองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความรู้สึกพึงพอใจ การเชื่อมต่อทางสังคมและความไว้วางใจ ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเราทำอะไรบางอย่างให้ใครสักคนรู้สึกดี คนๆ นั้นจะมีความรู้สึกอยากทำให้คนอื่นรู้สึกดีๆ ด้วย เป็นการส่งต่อการให้ แล้วรับต่อไปเรื่อยๆ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ” 

  1. เพิ่มการยอมรับจากเพื่อน

Kindness ช่วยเพิ่มความสามารถของมนุษย์ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีความสุข มีจิตใจดีมีเมตตา ได้รับการยอมรับจากเพื่อนมากกว่าเพราะพวกเขามีสุขภาพจิตที่ดี มีพลังบวกทำให้เพื่อนๆ อยากเข้าหา

  1. ทำให้สุขภาพดีขึ้นและมีความเครียดน้อยลง

มีการข้อมูลเผยแพร่อย่างแพร่หลายว่าความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น กระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มระดับความสุขและลดความเครียด อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยปกป้องหัวใจไม่ให้มีความดันโลหิตสูงเกินพอดี ช่วยลดสารอนุมูลอิสระ และสารก่อการอักเสบในเนื้อเยื่อ นั่นหมายถึงช่วยชะลอความแก่ชราของเซลล์ลงได้

  1. ช่วยให้เห็นคุณค่าในตัวเอง

การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการช่วยเหลือผู้อื่น กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหรือสังคมที่ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือไปให้ จากรายงานพบว่าแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เพิ่มความรู้ดีให้เกิดขึ้นได้ เป็นการเพิ่มพลังงานชีวิต การมองโลกในแง่ดีและการเห็นคุณค่าในตัวเอง

  1. เพิ่มความรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งใจ (Gratitude)

เมื่อเด็กๆ ได้มีโอกาสทำกิจกรรมจิตอาสา หรือโครงการช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่าตัวเอง พวกเขาจะได้เรียนรู้ความจริงในอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต ที่ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชีวิตของตัวเอง

  1. คุณภาพชีวิตโดยรวมทั้งกายและใจที่ดีขึ้น

การมีมุมมองเชิงบวกช่วยให้เด็กสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่นกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า ‘เซโรโทนิน’ ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ทำให้รู้สึกเบิกบานและช่วยลดอาการหวาดวิตกกังวล ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ความจำดีขึ้น และส่งผลดีต่อระบบการย่อยอาหารในร่างกาย

  1. ทำให้เกิดการบูลลี่น้อยลง

ชานีเทีย คลาร์ก (Shanetia Clark) และ บาร์บารา มารินาค์ (Barbara Marinak) นักวิจัยจากสถาบันเพน เสตท แฮร์ริสเบิร์ก  รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า วัยรุ่นในปัจจุบันทำให้เพื่อนๆ ตกเป็นเหยื่อทางสังคมในอัตราที่น่าตกใจ แตกต่างจากเมื่อก่อน

ทั้งนี้การกลั่นแกล้งกันในหมู่วัยรุ่นและความรุนแรงในกลุ่มเยาวชนสามารถจัดการได้ด้วยการปลูกฝัง kindness จากการวิจัยพบว่า โรงเรียนที่ใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวสามารถสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปลอดภัยในโรงเรียน ลดอัตราการบูลลี่ระหว่างกันของนักเรียนลงไปได้ โดยครูไม่จำเป็นต้องทำโทษพฤติกรรมเชิงลบ แต่ส่งเสริมความรู้สึกนึกคิดให้แสดงพฤติกรรมเชิงบวกอย่างเป็นธรรมชาติ

มีการศึกษาในเด็กอายุ 9-11 ปี พบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมเชิงบวก มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีพัฒนาการด้านการเรียนทางวิชาการที่ดี ขณะเดียวกันยังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นเด็กกลุ่มนี้จะไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือกลั่นแกล้งผู้อื่น

  1. ลดอาการซึมเศร้า

จากการวิจัยพบว่าเมื่อมีสื่อสารความรู้สึกหวังดีและปรารถนาดีต่อผู้อื่น การให้และการรับเกิดขึ้น ระดับสารเซโรโทนินจะเพิ่มขึ้นทั้งในตัวผู้ให้และผู้รับ kindness จึงเป็นยากล่อมประสาทตามธรรมชาติที่ยอดเยี่ยม 

ชวนกันมากระตุ้นความรู้สึก สร้างคาแรกเตอร์ให้เด็กมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น 

การศึกษาสมัยใหม่ต้องครอบคลุมมากกว่าแค่วิชาการ เพื่อพัฒนาเด็กให้มีความสุข มั่นใจในตัวเอง และรอบรู้ ด้วยเหตุนี้ การให้ความสำคัญกับ ‘ใจ’ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนา ‘สมอง’ จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปในการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

  • ผู้ปกครอง และครู สามารถกระตุ้น kindness ด้วยคำถามจากสถานการณ์สมมุติต่างๆ 

เพื่อให้เด็กๆ ได้คิดทบทวนกับตัวเอง 

  • “เราต้องการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไร แล้วเราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร?” 

หรือ “สิ่งไหนที่เราไม่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเรา?”

  • “มีใครบ้างรอบตัวที่ทำสิ่งดีๆ ให้เรา ทำให้เราประทับใจ เพราะอะไร?
  • “เวลาที่บ้านพาไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต เด็กๆ จะช่วยพ่อแม่อย่างไรได้บ้าง?”
  • “ถ้ามีเพื่อนใหม่เข้ามาเรียนในชั้นเรียน เราจะต้อนรับเพื่อนใหม่อย่างไร?”
  • ในชั้นเรียนหรือเมื่ออยู่บ้าน ช่วยเด็กพูดคุยถึงคาแรกเตอร์ตัวละครในการ์ตูน หรือ

ภาพยนตร์ที่เขาชอบ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในเรื่องที่เชื่อมโยงกับ kindness  ชวนตั้งถามว่าคาแรกเตอร์ที่ชอบนั้นกำลังรู้สึกอย่างไร แล้วตัวเขาเองมีความรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นั้น

  • กิจกรรมเขียนข้อความดีๆ ส่งถึงกัน

ขั้นตอน

  1. เขียนข้อความสื่อสาร ให้กำลังใจ แสดงความรักความปรารถนาดีต่อกันลงในกระดาษ
  2. ส่งกระดาษข้อความนั้นให้กับเพื่อน
  3. ถ่ายภาพกระดาษข้อความ แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ติดแฮ็ทแทค #kindkids #kindness เพื่อเป็นแรงบันดาลส่งต่อให้ผู้อื่น

*หากเด็กๆ ชอบวาดรูป ชวนเด็กๆ วาดรูปบนการ์ด เขียนข้อความให้กำลังใจ เพื่อนำไปมอบให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล ที่กำลังเป็นด่านหน้ารับมือกับโควิด-19

  • ชักชวนเด็กออกไปทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น การตกแต่งบอร์ดงานกิจกรรมในโรงเรียน การปลูกต้นไม้ในโรงเรียน เป็นต้น
  • เรื่องเล่า/ นิทานที่มีคติสอนใจ ช่วยกล่อมเกลาความคิดของเด็กได้เช่นกัน

‘Kindness’ เงินตราสกุลใหม่ ที่ควรเริ่มฝากตั้งแต่วันนี้

ในเชิงธุรกิจก็ไม่ต่างกัน การเป็นผู้ให้ที่มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นทำให้ธุรกิจเติบโตได้โดยไม่จำเป็นต้องเอาเปรียบใคร นี่เป็นสิ่งที่แกรี่เน้นย้ำเสมอ 

หลับจบการศึกษาแกรี่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจไวน์ของที่บ้าน สิ่งที่เขาทำได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ในวงการไวน์ ในปี 1997แกรี่เปิดตัวเว็บไซต์ winelibrary.com บันทึกวีดีโอรีวิวไวน์ทุกตัวในร้านอย่างตรงไปตรงมา เผยแพร่ลงเว็บไซต์และยูทูบ (YouTube) อย่างต่อเนื่อง เขาได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ชื่อดัง จนทำให้ธุรกิจของครอบครัวเป็นที่รู้จัก เกิดยอดขายสะสมก้าวกระโดดจาก 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปสู่ 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี แม้แกรี่เป็นที่รู้จักและถูกหมั่นไส้ในวงการไวน์ แต่เขาไม่หยุดนำเสนอความรู้ แนวคิด วิธีคิดการทำธุรกิจ และมาร์เกตติ้งออนไลน์ฟรี ทุกช่องทางบนโซเชียลมีเดีย

ความนิยมของแกรี่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามคืน แต่ความเป็นที่รู้จักนี้ถูกสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาราว 24 ปี จาก “การให้ความรู้” ในสิ่งที่เขาเรียนรู้และลงมือทำมาก่อนด้วยตัวเอง ปัจจุบัน รายการ ‘ไวน์ ไลบรารี่ ทีวี’ (Wine Library TV) ที่ผลิตรายการไปกว่า 1,000 ตอน ยังอยู่ในช่องยูทูบ ‘GaryVee’ ช่องทางเดียวกับที่เขานำเสนอเรื่องราวอื่นๆ 

นอกจากกิจการไวน์ของครอบครัว ทุกวันนี้ แกรี่เป็นประธานบริษัทเวย์เนอร์เอ๊กซ์ (VaynerX) ที่ทำงานด้านสื่อและการสื่อสารยุคใหม่ และเป็นซีอีโอของเวย์เนอร์มีเดีย (VaynerMedia) เอเจนซีโฆษณาที่มีลูกค้ากว่าร้อยราย 

ด้วยมีฐานแฟนที่หนาแน่น สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ฮาร์เปอร์ คอลลินส์ (Harper Collins) ให้แกรี่เซ็นต์สัญญาเขียนหนังสือจำนวน 10 เล่ม ด้วยค่าตัวมูลค่าราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ราว 30 ล้านบาท ปัจจุบันเขาออกหนังสือมาทั้งหมด 5 เล่ม ที่ขายดีจนเกลี้ยงแผง 

เมื่อรองเท้ากีฬาแบรนด์เค-สวิส (K-Swiss) ติดต่อขอร่วมงานในโปรเจคพิเศษ รองเท้าผ้าใบเค-สวิส ที่มีแกรี่ วี ร่วมงานด้วยทุกรุ่นได้รับความนิยมอย่างมาก พูดได้ว่า สินค้า ผลิตภัณฑ์ ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำเสนอโดยผู้ชายคนนี้ เป็นที่สนใจและดึงความสนใจจากกลุ่มผู้ติดตามอยู่เสมอ

ซึ่งความสำเร็จต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้มี ‘Kindness’ เป็นส่วนผสมสำคัญ!!

Make Kindness Your Currency – YouTube

อ้างอิง
GARY VAYNERCHUK BUILDS BUSINESSES
How to Be a Kindness Role Model for Your Kids
8 Reasons For Teaching Kindness In School (teachthought.com)
How The Power Of Kindness Impacts Your Life And Others

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)kindnessการมีเมตตาต่อผู้อื่น

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Character building
    HOPE อย่าหมดหวังในตัวเองนะวัยรุ่น

    เรื่อง เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์เลวร้าย ‘ความยืดหยุ่น’ สิ่งที่ต้องมีในโมงยามนี้

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Education trend
    ล่วงละเมิดทางเพศแบบนี้ หนูไม่โอเค

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • How to get along with teenager
    ปราบ ‘อสูรร้าย’ ทำลายและทำร้ายใจเด็ก

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • Unique Teacher
    ‘ครูฝ้าย’ ครูผู้ชักใยและชวนเด็กๆ ออกไปใช้ชีวิตนอกห้องเรียนด้วย PROJECT BASED LEARNING

    เรื่อง

Gay Ok Bangkok ถึงนิทานพันดาว ส่วนผสมในการสร้างซีรีส์วายของ ‘ออฟ – นพณัช ชัยวิมล’
Voice of New Gen
22 February 2021

Gay Ok Bangkok ถึงนิทานพันดาว ส่วนผสมในการสร้างซีรีส์วายของ ‘ออฟ – นพณัช ชัยวิมล’

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • ซีรีส์วาย ณ วันนี้กลายเป็นคอนเทนต์ยอดฮิตที่ทำกำไรในตลาดสื่ออย่างมหาศาล ฐานแฟนคลับที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน จากในประเทศไปต่างประเทศ
  • ในวาระที่ซีรีส์วายกำลังเติบโต เราอยากชวนทุกคนไปทำความรู้กับการเดินทางของมันผ่านสายตาของ ออฟ – นพณัช ชัยวิมล หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์วายยุคแรกๆ ของเมืองไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมัน ปัจจุบัน และอนาคตต่อไปของซีรีส์วายไทย
  • “ซีรีส์วายมันไม่ได้โรแมนติกไร้คุณค่าซะทีเดียว ต่อให้มันไม่ได้ส่งแมสเซจ LGBTQ+ อะไรเลย อย่างน้อยซีรีส์ก็ใช้ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศดำเนินเรื่อง มันก็ทำให้คนทั่วไปหรือผู้ปกครองถ้าได้ดูซีรีส์วาย ก็จะรับรู้การมีอยู่ของเพศสภาพที่หลากหลาย การรักเพศเดียวกัน อย่างน้อยการดูซีรีส์วายอาจจะทำให้วันหนึ่งเขาเปิดใจยอมรับ มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องนี้ ต่อให้คุณเป็นพ่อแม่รุ่นเก่าก็ตาม”

Gay Ok Bangkok, เขามาเช้งเม้งที่ข้างๆ หลุมผมครับ, DarkBlueKiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว, เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, , นิทานพันดาว

ต่อให้ไม่เคยดูซีรีส์วาย แต่ชื่อเหล่านี้หลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง

เป็นส่วนหนึ่งของผลงานโดย ออฟ – นพณัช ชัยวิมล ผู้อำนวยการฝ่าย Content Production แห่ง GMMTV 

ถ้าเมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้ว ‘ซีรีส์วาย’ คงเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคม แต่ ณ วันนี้มันกลับกลายเป็นคอนเทนต์ยอดฮิตที่ทำกำไรในตลาดสื่ออย่างมหาศาล ฐานแฟนคลับที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน ในประเทศไปต่างประเทศ ไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายต่างบุกเข้ามาตีตลาดนี้

ในวาระที่ซีรีส์วายกำลังเติบโต เราอยากชวนทุกคนไปทำความรู้กับการเดินทางของมันผ่านสายตาของ ออฟ – นพณัช หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์วายยุคแรกๆ ของเมืองไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมัน ปัจจุบัน และอนาคตต่อไปของซีรีส์วายไทย

ก่อนจะมาทำซีรีส์วายเต็มตัว ทราบมาว่าคุณเคยกำกับซีรีส์ LGBTQ+ มาก่อน

ผมเป็นคนที่สนใจและอินกับประเด็น LGBTQ+ ตอนที่ทำซีรีส์ Gay Ok Bangkok มันเกิดมาจากว่าผมอยากหยิบเอาตัวละคร LGBTQ+ มาเล่าในมุมที่จริงจัง คือที่ผ่านมาตัวละครกลุ่มนี้มักถูกเล่าในมุมของตัวประกอบ ตัวตลก หรือถูกใส่ทัศนคติที่ว่าด้วยเรื่องความผิดหวัง ถูกกดทับจากสังคม ต้องพบเจอกับความรักที่ไม่สมหวัง จบสุดท้ายฆ่าตัวตาย (tragedy) หรือถ้าเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูลต้องถูกจับไปแต่งงาน ซึ่งมันไม่ค่อยมีใครหยิบตัวละครพวกนี้มานำเสนอให้เห็นด้านอื่นๆ ผมเลยตัดสินใจทำเรื่อง Gay ok Bangkok ขึ้นมาเป็นซีรีส์ออนไลน์ ปรากฎว่าได้รับกระแสตอบรับดี มีเสียงจากคนดูบอกว่า ‘เออ มันมีแบบนี้บ้างก็ดี’

ส่วนมาเริ่มทำซีรีส์วายได้ยังไง ตัวเรามีโอกาสได้มาทำคอนเทนต์ที่สื่อสารกับวัยรุ่น ซึ่งซีรีส์วายก็เป็นคอนเทนต์หนึ่งในนั้น และมันดูจะเกี่ยวข้องกับงานเดิมที่เราทำ ใช้ตัวละครที่มีเพศสภาพหลากหลายเล่าเรื่อง พอได้ลองทำซีรีส์วายเรื่องหนึ่งแล้วมันได้รับความนิยม เราก็ทำเรื่องที่สองสามสี่ต่อมาเรื่อยๆ

ในฐานะที่คุณเคยสร้างทั้งซีรีส์ LGBTQ+ และซีรีส์วาย คุณคิดว่ามันมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

(เงียบ) อันนี้ตอบยากมาก เพราะอันดับแรกเราต้องกลับไปคุยก่อนว่าวัฒนธรรมและขนบซีรีส์วายคืออะไร ซีรีส์วายมันเริ่มต้นมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น มาจากการแต่งแฟนฟิกชันของแฟนคลับที่ใช้ศิลปิน-ไอดอลมาผูกโยงเข้าด้วยกัน เกิดเป็นวัฒนธรรมชิป (Shipper ย่อมาจาก Relationship เป็นการจับคู่ให้คนที่เราชอบ) คู่จิ้น ฉะนั้น ซีรีส์วายจะมีขนบธรรมเนียมบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง เช่น ต้องเล่าอยู่บนโครงเส้นเรื่องรัก

แต่ถ้าเป็นซีรีส์ LGBTQ+ มันหลากหลายกว่านั้น สารที่ส่งออกไป (message) พูดเยอะกว่า เพราะต้องตอบโจทย์สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มนี้กำลังเรียกร้องอยู่ ท่าทางตัวละครจะจริงจังกว่า ฉะนั้น ซีรีส์วายกับซีรีส์ LGBTQ+ เหมือนยืนกันคนละฝั่ง แต่ใช้ความหลากหลายทางเพศร่วมกัน เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องนี้คนจะแตกออกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน กลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่า ‘มันเป็นเรื่องเดียวกันนะ’ กับอีกกลุ่มที่มองว่า ‘ไม่! มันคนละเรื่องกัน’

เพราะงั้นฝั่งกลุ่ม LGBTQ+ ก็จะรู้สึกว่า ‘โห พวกสาววายยอมรับเถอะว่าการที่ผู้ชายรักกับผู้ชาย คือ เขาเป็นเกย์  แต่ว่าสายวายจะ ‘ไม่! เขาชอบผู้ชายคนเดียวเท่านั้น ไม่ใช่เกย์’ เป็นเรื่องที่เถียงไม่จบไม่สิ้น เพราะยืนอยู่คนละฝั่ง คนละทาง คนละความเชื่อกัน

กลับมาที่คำถามว่าซีรีส์วายกับซีรีส์ LGBTQ+ เหมือนหรือต่างกัน ผมคิดว่าแต่ละจุดยืนมันก็มีเหตุผลมาซับพอร์ตได้หมด ไม่ว่าจะมองในมุมเหมือนหรือต่าง สำหรับในมุมผม ผมรู้สึกว่ามันคือกลุ่มเดียวกัน ซีรีส์วายเป็นเหมือนเซกเมนต์หนึ่งของซีรีส์ LGBTQ+ 

จุดยืนที่ส่วนตัวคุณก็สนใจและอยากขับเคลื่อนประเด็น LGBTQ+ กับหน้างานที่ต้องผลิตซีรีส์วาย คุณดีลกับมันยังไง?

การสร้างซีรีส์วายของผมแต่ละเรื่องต้องมีแมสเซจที่พูดเรื่อง LGBTQ+ อย่างน้อยประเด็นหนึ่ง แต่แมสเซจบางอย่างมันอาจจะหนักเกินไปสำหรับใส่ในซีรีส์วาย เพราะคนดูเขาอาจรู้สึกว่า ‘โห ทำไมซีเรียสจัง’ ผมเลยพยายามบาลานซ์การนำเสนอทั้งสองฝั่ง

อย่างงานที่ผ่านมาของผม เรื่อง เขามาเช้งเม้งข้างๆ หลุมผมครับ ผมอยากเล่าเรื่องเด็กผู้ชายที่สับสนในตัวเอง ผมก็เลือกเล่าผ่านตัวละครเอกที่กำลังอยู่ในช่วงวัยสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เราทำให้คนดูเข้าใจตัวละครนี้ โดยการพาเขาไปรู้จักว่าตัวละครนี้ชีวิตเขาเป็นยังไง อะไรบ้างที่เป็นปัจจัยกดดันเขา สุดท้ายตัวละครตัวนี้เขาจะเรียนรู้ตัวเองยังไง ปลายทางคือการที่เขาไปคุยกับพ่อแม่ ก็จะมีซีนที่ตัวละครคัมเอาท์ (come out) เดินไปเปิดใจกับพ่อแม่

พอขยับมางานที่โตขึ้นอย่าง Dark Blue Kiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว ผมอยากพูดเรื่องคนที่ยอมรับตัวเองได้แล้ว แต่เขาจะดีลกับสภาพแวดล้อม กับครอบครัวอย่างไร หรือฝั่งพ่อแม่เองที่มีลูกเป็น LGBTQ+ จะรับมือยังไง เพราะเรื่องนี้ก็ไม่ง่ายสำหรับพ่อแม่นะ ในซีรีส์ผมเล่าแยกเป็น 2 ครอบครัว ครอบครัวแรกเป็นครอบครัวของพีท (เต – ตะวัน วิหครัตน์) ตัวเอกของเรื่อง เป็นครอบครัวที่พ่อยอมรับได้ และถึงแม้พ่อยอมรับได้ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเข้าใจอย่าง 100% ถึงความเป็น LGBTQ+… ถ้าพูดภาษาง่ายๆ คือ ‘ความเป็นเกย์’ ของลูก ฟังดูเป็นประเด็นที่หนักเนอะ ฉะนั้นเวลาหยิบมาเล่าในซีรีส์ผมเลยพยายามโทนดาวน์ให้มันสนุก ตลกขึ้น เช่น มีซีนพ่อพยายามหาข้อมูลในเน็ตว่า ฉันจะรับมือกับลูกที่เป็นเกย์ได้ยังไง หรือซีนซื้อถุงยางให้ลูก 

ส่วนครอบครัวที่สอง ครอบครัวของเก้า (นิว – ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ) เขามีแม่ที่ต้องแคร์หน้าตาทางสังคมเพราะเป็นครู ตัวเก้าก็จะลำบากใจว่า ถ้าเขายอมรับสิ่งนี้มันจะกระทบกระเทือนกับอาชีพแม่หรือเปล่า เป็นปัจจัยที่ทำให้เขาไม่กล้าก้าวข้ามผ่านการยอมรับตัวเอง หรือแม้กระทั่งครอบครัวของนนท์ (เอเจ – ชยพล จุฑามาศ) ที่เป็นตัวร้าย ซึ่งพ่อรับไม่ได้เลย ตัวซีรีส์ก็จะสะท้อนให้คนดูเห็นว่า การที่พ่อยอมรับไม่ได้แล้วแสดงออกกับลูกแบบนี้ สุดท้ายมันส่งผลกับพฤติกรรมลูกยังไง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราสามารถใช้ซีรีส์วายในการพูดได้

เวลาพูดถึง LGBTQ+ กับวาย ผมอยากให้เข้าใจจุดยืนทั้ง 2 ฝั่ง การเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ แล้ววัฒนธรรมดั้งเดิมของวาย ที่มันส่งผลต่อกลไกการผลิตซีรีส์ เราถึงจะเข้าใจว่าทำไมซีรีส์วายถึงกระโดดไปทำหน้าที่แทนซีรีส์ LGBTQ+ ไม่ได้ เพราะมันทำหน้าที่คนละหัว ถ้าเราลองเอาซีรีส์วายไปทำหน้าที่อีกแบบหนึ่ง คนดูกลุ่มนี้อาจจะไม่ชอบ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาคาดหวังและต้องการ แต่มันมีคนที่พยายามทำอยู่แหละ เป็นสิ่งที่ดีที่เขาพยายาม แต่บางเงื่อนไขมันก็ทำให้เราไม่สามารถทำมันได้ 100%

ภาพใหญ่ของวงการซีรีส์วายไทยในปัจจุบัน

ผมมองว่าตอนนี้ตลาดซีรีส์วายมันเติบโตขึ้นมากแบบก้าวกระโดดเลยละ เทียบจากปริมาณซีรีส์วายที่มีในตลาด ณ ตอนนี้ คือมีมาให้เสพตามแพลตฟอร์มต่างๆ เยอะมาก ตัวเรื่องก็หลากหลายขึ้น ฐานคนดูก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เริ่มมีผู้ผลิตซีรีส์วายเจ้าใหม่ๆ ลงมาเล่นในตลาดนี้ เพราะมันมีโอกาสทางการตลาดที่มากขึ้น

ที่ GMM TV แต่ละปีเราจะผลิตคอนเทนต์วัยรุ่นเป็นหลัก ซีรีส์วายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์นั้น ที่ผ่านมาเราจะทำปีหนึ่งประมาณ 2 เรื่อง แต่มีปีที่ผ่านมา (2020) เราทำเพิ่มเป็น 4 เรื่อง 

ในมุมคนสร้างคอนเทนต์ ก็มีการคิดวิธีนำเสนอแบบใหม่ๆ ต้องทำคอนเทนต์ให้สนุกขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะซีรีส์วายนะครับ ซีรีส์ทั่วไปก็เช่นกัน พัฒนารูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายขึ้น ฝั่งซีรีส์วายเราจะเห็นว่าตอนนี้พล็อตเรื่องเริ่มออกจากนอกรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น มีแอคชั่น สืบสวนสอบสวน ไปแตะสายอาชีพมากขึ้น 

แปลว่าพล็อตแบบนี้กำลังจะได้รับความนิยม

เรียกว่ามันหลากหลายขึ้นมากกว่า เพราะมันเพิ่งเป็นปีแรกที่เนื้อหาซีรีส์วายออกจากโลกมหาวิทยาลัยไปสู่สายอาชีพ ไปสู่เซ็ตอัพเซ็ตติ้งต่างๆ ของเนื้อเรื่องมากขึ้น เรื่องล่าสุดของผม นิทานพันดาว เนื้อเรื่องก็ไปออกต่างจังหวัด หรือถ้าเรื่องที่ผ่านมาจะมี พฤติการณ์ที่ตาย เป็นซีรีส์วายสืบสวนสอบสวน หรือเรื่อง Kinn Porsche Story รักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก อันนี้ว่าด้วยเรื่องราวของมาเฟีย แต่จะเห็นว่ามันค่อยๆ ออกจากโซนที่เคยใช้ตัวละครในโรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่ถามว่าจะแมส (mass) ขึ้นไหม? เรียกว่าเป็นทางเลือกใหม่ๆ ละกันครับ เพราะเรายังตอบไม่ได้ว่าการเดินไปทางนี้มันจะฮิตหรือไม่ฮิต

ซึ่งความนิยมที่ได้รับไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่เป็นตลาดต่างประเทศด้วย

ผมว่าปัจจัยที่ทำให้ซีรีส์วายเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จก็คงเหมือนกับซีรีส์ทั่วไปครับ คือ มีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ แคสติ้งที่ดี ส่วนเหตุผลหลักๆ ที่ว่าทำไมซีรีส์วายบ้านเราถึงเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ผมว่าเป็นเพราะปริมาณที่บ้านเราผลิตซีรีส์วายออกมามันตอบโจทย์ความต้องการของคนหลายๆ ประเทศ ที่บ้านเขาเรื่อง LGBTQ+ ยังไม่เปิดขนาดนั้น บวกกับวิธีพรีเซนต์นักแสดงของเราเหมือนกับการสร้างไอดอล ศิลปินไปด้วยในตัว ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของกลยุทธ์ทางการตลาด อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าเขาจะทำยังไงให้ซีรีส์มันไปได้ไกลที่สุด ทำยังไงให้แฟนอินเตอร์ดู พล็อตแบบไหนที่สากล (universal) ใครดูก็ได้

พล็อตซีรีส์วายแบบไหนที่ทำเมื่อไรก็ตีหัวเรียกคนดูได้แน่นอน

หลักๆ คือต้องอยู่บนโครงเส้นเรื่องรัก เพราะความรักมันเป็นเรื่องสากล ใครๆ ก็เข้าใจได้ และถ้าวัดจากความสำเร็จของการสร้างซีรีส์วายที่ผ่านมา เราคิดว่าคงเป็นพล็อตเรื่องรักในวัยเรียน รักในมหาวิทยาลัย เพราะคนดูมีประสบการณ์ร่วมในเรื่องนั้นอยู่ เวลาดูเขาจะเกิดอารมณ์ร่วม ‘เฮ้ย ฉันเคยอยู่ในจุดนี้’ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้ซีรีส์มันไปไกล

ด้านหนึ่งที่ซีรีส์วายได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็จะมีอีกด้านที่คนรู้สึกว่าซีรีส์วายยิ่งสร้างยิ่งส่งต่อความเชื่อแบบผิดๆ ในเรื่อง LGBTQ+

ถ้าบอกว่าซีรีส์วายยิ่งทำยิ่งสร้างความเข้าใจผิด… เราคงต้องมามองให้ลึกว่า ‘ความเข้าใจผิด’ ที่ว่าคืออะไร ถ้าหมายถึงซีรีส์วายพูดเรื่องเพศสัมพันธ์แบบผิดๆ อันนี้เราต้องยอมรับเลยว่า มีการสร้างความเข้าใจผิดอยู่จริงๆ มีบางเรื่องที่อาจนำเสนอไม่ถูกต้อง เราก็รู้สึกแบบนั้น ส่วนประเด็นอื่นๆ ผมยังมองไม่ออกว่า… เอ๊ะ ซีรีส์วายมันสร้างความเข้าใจผิดแบบไหนบ้างนะ

เช่น คนดูซีรีส์วายจะมองว่าการที่ชาย – ชายรักกัน ไม่เท่ากับเป็นเกย์ เขาเป็นผู้ชายที่รักผู้ชายคนนี้คนเดียวเฉยๆ ซึ่งความคิดแบบนี้อาจเป็นการลบตัวตนคนกลุ่มนี้ไป

หรือจริงๆ ตอนนี้มันบียอนด์ไปไกลกว่านั้นแล้ว ในจุดที่เราไม่ต้องมานั่งพูดเรื่องการคัมเอาท์ หรือถกกันว่าชายรักชายเท่ากับเป็นเกย์ได้หรือเปล่านะ 

ในมุมผม ผมอยากทำให้ซีรีส์วายเป็นซีรีส์รักเรื่องหนึ่ง ที่ตัวละครเป็นคนสองคนรักกัน จำเป็นไหมที่เขาต้องบอกโลกว่า ฉันเป็นเกย์ หรือฉันคือเพศไหน อยากทำซีรีส์ให้มันอยู่ในจุดที่ตัวละครไม่จำเป็นต้องมานั่งคัมเอาท์กับพ่อแม่ กับเพื่อน ไม่ต้องมานั่งพูดเรื่องการยอมรับแล้ว เพราะผมมองว่าเพศมันเป็นเรื่องลื่นไหล และการที่เราจะชอบใครสักคนมันเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วตอนนี้ผมคิดว่ามันไปไกลกว่าความเกย์ – ไม่เกย์แล้วหรือเปล่า คำตอบผมแบบนี้คนยังคิดว่าซีรีส์วายนำเสนอแบบผิดๆ อยู่ไหม

เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยไม่มีวันจบ มีหลายมุมให้มอง

หลายมุมจนผมรู้สึกว่าขนาดตัวเราว่าอินแล้วนะ แต่ผมยังทำความเข้าใจมันได้ไม่ถึงเลย ในยุคหนึ่งที่ผมก็อินเรื่องคัมเอาท์ สนับสนุนให้ทุกคนออกมาคัมเอาท์เถอะ เป็นตัวของตัวเอง แต่ ณ วันนี้เราตั้งคำถามว่าการคัมเอาท์มันจำเป็นหรือไม่ เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องคัมเอาท์ก็ได้นิ ถ้าเรามีความสุข 

หรือการที่ฉันรักผู้ชายคนนี้แล้วต้องตีกรอบด้วยเหรอว่าฉันเป็นเกย์ ถ้าลองลึกไปในความเป็นเกย์ ก็มีอีกหลายแบบมาก ตัวเราเองยังเข้าใจไม่หมดเลย มันจำกัดเพศได้ไม่หมดแล้ว ถ้าบอกซีรีส์วายนำเสนอแบบผิดๆ อะไรคือผิด ต้องลงมาโฟกัสตรงนี้

แต่พอเราอยากทำให้ซีรีส์วายมันเป็นซีรีส์รักเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการยอมรับ การคัมเอาท์ ก็จะมีกลุ่มคนที่บอกว่า ซีรีส์เรื่องนี้ไม่มีคุณค่าเพราะคุณไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวของ LGBTQ+ เลย แต่ในมุมเราก็รู้สึกว่าอยากจะทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เหรอ ฉันกำลังทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาแล้วไง เรื่องนี้ผมว่ามันอยู่ที่มุมมองแล้วล่ะ

ฝั่งคนที่เรียกร้องจะรู้สึกว่าคุณใช้ตัวละครซีรีส์วายทำมาหากิน ทำไมคุณไม่ใช่สิ่งนี้พูดเรื่องนี้หน่อย หรือดึงสิ่งที่คนกลุ่มนี้ถูกกดทับอยู่ออกมาพูด ออกมาสื่อสาร ซึ่งผมก็พยายามทำอยู่นะ แต่ต้องเข้าใจเงื่อนไขการสร้างซีรีส์วายด้วย ฐานคนดูหรือการตลาดว่าเขาต้องการอะไร สื่อแบบไหนที่เขาต้องการเสพ วัฒนธรรมดั้งเดิมของวาย ตัวผมพยายามทำเท่าที่ขอบเขตผมจะทำได้

ที่คนคาดหวังว่าซีรีส์วายต้องทำหน้าที่สื่อสาร ต้อง educate คน เพราะการศึกษาบ้านเราไม่ได้สอนเรื่องเหล่านี้

ผมก็คิดแบบนั้น หรือจริงๆ เราต้องไปแก้ที่จุดนั้นหรือเปล่า ให้ระบบการศึกษาทำหน้าที่ให้มากพอ ถ้าเรามาคาดหวังว่าซีรีส์วายต้องสอนคนดู ก็ต้องคาดหวังทุกสื่อทุกเอนเตอร์เทนเมนเหมือนกันหมด ในฐานะที่เป็นสื่อเหมือนกัน และไม่ใช่เรื่องเพศหรอกที่เราต้องมาสื่อสารกัน

พอพูดเรื่องนี้มันทำให้ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยซีรีส์วายมันไม่ได้โรแมนติกไร้คุณค่าซะทีเดียว ผมรู้สึกว่าต่อให้มันไม่ได้ส่งแมสเซจ LGBTQ+ อะไรเลย อย่างน้อยซีรีส์ก็ใช้ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศดำเนินเรื่อง ผมรู้สึกว่ามันก็ทำให้คนทั่วไป หรือผู้ปกครองถ้าได้ดูซีรีส์วายนะ ก็จะรับรู้การมีอยู่ของเพศสภาพที่หลากหลาย การรักเพศเดียวกัน อย่างน้อยการดูซีรีส์วายอาจจะทำให้วันหนึ่งเขาเปิดใจยอมรับ มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องนี้ ต่อให้คุณเป็นพ่อแม่รุ่นเก่าก็ตาม

คิดว่าทิศทางต่อไปของซีรีส์วายไทยจะเป็นอย่างไร

การที่ซีรีส์วายบ้านเราได้รับความนิยมในต่างประเทศ แปลว่ามันสามารถพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกได้ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ของประเทศไทย ถ้าจะไปให้ถึงจุดนั้นมันคงต้องพัฒนาการผลิตซีรีส์ให้มีคุณภาพควบคู่กับการลงทุน ซึ่งรัฐบาลเราจะให้การสนับสนุนหรือเปล่า ตัวเราเองก็คาดหวังว่าซีรีส์วายจะถูกหยิบมาพัฒนาที่ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่อยู่ในโรดแมปให้เป็นสิ่งที่ทำงานกับกลุ่มคนต่างประเทศได้ เรียกคนเข้ามาเที่ยวไทย หรือถ่ายทอดวัฒนธรรมบ้านเราลงไปในซีรีส์

ผมอยากเห็นคุณภาพ (quality) ในการสร้างซีรีส์วาย ให้สามารถทัดเทียบและเทียบเท่าซีรีส์แนวอื่นๆ ครับ ทำอย่างไรให้ซีรีส์นี้ไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันมาตลอด 

ณ วันนี้ซีรีส์วายยังถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทยไหม?

จะมีคำที่บอกว่า ‘พ่อแม่รับได้แหละ’ ‘คนเริ่มเปิดใจมากขึ้น’ ผมมองว่าเขาจะเปิดใจและรับได้ตราบใดที่ไม่ใช่ลูกบ้านตัวเอง เมื่อไรที่ลูกบ้านตัวเองเป็น LGBTQ+ พ่อแม่ก็ต้องมานั่งตั้งคำถามว่าลูกเขาจะใช้ชีวิตในสังคมยังไง แต่มันก็เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงของแต่ละครอบครัวแหละ ว่าเขาจะดีลกับเรื่องนี้ยังไง

ผมว่าอย่างน้อยถ้าซีรีส์วายมันเคยทำหน้าที่ให้เขาเห็นมาก่อนว่า การที่ผู้ชายรักกับผู้ชายเป็นยังไง ไม่ได้แปลว่าเมื่อลูกชอบเพศเดียวกันแล้วชีวิตจะล่มสลาย หรือไม่สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ อย่างน้อยถ้ามันมีชุดข้อมูลบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เขาหน่อย ผมว่าการดีลของพ่อแม่ในเรื่องนี้มันคงต้องมีไกด์แมพ (guide map) ให้เขาสักหน่อยหนึ่ง ซึ่งซีรีส์วายอาจจะทำหน้าที่นี้โดยที่คนดูอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ 

Tags:

เพศLGBTQ+ซีรีส์วายนพณัช ชัยวิมล

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Photographer:

illustrator

ศรุตยา ทองขะโชค

ออกเดินทางเก็บบันทึกห้วงอารมณ์ความสุขทุกข์ผ่านภาพถ่าย ร้อยเรียงความคิดในใจก่อนลั่นชัตเตอร์ ภาพทุกภาพล้วนมีเรื่องราวและมีที่มา ตัวเราเองก็เช่นกัน ในอนาคตอยากทำหลายอย่าง หนึ่งในลิสต์ที่ต้องทำแน่ๆ คือออกไปเผชิญโลกที่กว้างกว่าเดิม เพื่อบันทึกเรื่องราวที่เติมเต็มจิตใจให้พองฟูได้มากกว่าเดิม

Related Posts

  • Life classroom
    LGBTQ+ ความปกติ ธรรมชาติ ศีลธรรม และความเข้าใจ

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Love, Simon: สักกี่บ้านที่ลูกรู้สึกไม่โดดเดี่ยว สักกี่ครอบครัวที่ไม่คาดหวังให้ลูกเป็นอะไรเลย

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Family Psychology
    ภาพในความคิดแบบเหมารวมของสังคมต่อเพศชายหญิง และ LGBTQ+ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูเด็ก

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    โอบกอดลูกในวันที่เขาขอเลือก ‘เพศ’ เอง : คุยกับคุณแม่เจ้าของเพจ LGBTQ+’s Mother ‘อังสุมาลิน อากาศน่วม’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Movie
    Queer as Folk: คำถามที่ลูกอยากรู้ ถ้าเราเปลี่ยนไปไม่ใช่เพศเดิม พ่อแม่จะยังรักหรือปล่อยมือ

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

“ถ้าหมูพูดได้ เราจะกินมันมั้ย?” เด็กทุกคนมีความเป็นนักปรัชญาในตัว ชวนเขาคิดและเห็นความสำคัญของการมีเหตุมีผล
Book
20 February 2021

“ถ้าหมูพูดได้ เราจะกินมันมั้ย?” เด็กทุกคนมีความเป็นนักปรัชญาในตัว ชวนเขาคิดและเห็นความสำคัญของการมีเหตุมีผล

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • เด็กทุกคนมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัว พวกเขามีความสนใจใฝ่รู้ ชื่นชอบที่จะตั้งคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ในเรื่องที่พวกเขาไม่รู้ เพราะสำหรับเด็กทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่พวกเขาไม่เคยพบเจอมาก่อน และนั่นทำให้วิชาปรัชญากับเด็ก มีความสอดคล้องและส่งเสริมกัน
  • มีนักวิชาการด้านการศึกษาหลายคนในโลกตะวันตกแนะนำให้โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา บรรจุวิชาปรัชญาเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถม พวกเขาเชื่อว่าการสอนวิชาปรัชญาเบื้องต้นจะช่วยให้เด็กรู้จักขบคิดอย่างมีเหตุผล รวมถึงมีความกล้าแสดงออก ตลอดจนเพิ่มทักษะในด้านการพูดและการฟัง
  • ดร.ไมเคิล แฮนด์ (Dr Michael Hand) จากสถาบันการศึกษา (Institue of Education) กล่าวว่า “เด็กๆ ทุกคนควรเรียนรู้ว่าอะไรที่เรียกว่าการคิดอย่างมีเหตุมีผล และความสำคัญของการมีเหตุมีผลคืออะไร ซึ่งการเรียนปรัชญาจะช่วยพวกเขาในเรื่องนี้”

รถไฟขบวนหนึ่งกำลังวิ่งมาด้วยความเร็วสูงบนรางที่อยู่ไกลออกไป มีคนถูกมัดนอนอยู่บนราง 5 คน ถ้าคุณอยู่ใกล้สวิตซ์ที่สามารถสับรางให้รถไฟเปลี่ยนไปวิ่งอีกรางหนึ่งได้ แต่บังเอิญว่าบนรางอีกเส้นหนึ่งนั้น มีคนถูกมัดนอนอยู่ 1 คน

คุณจะสับรางเพื่อช่วยชีวิตคน 5 คน โดยยอมสละชีวิตคน 1 คน หรือไม่?

และเพื่อเพิ่มความซับซ้อนให้สมองต้องออกแรงขบคิดมากขึ้นไปอีก มีคำถามที่ต่อยอดจากคำถามแรกว่า แล้วถ้าหากคุณไม่ได้อยู่ใกล้สวิตซ์สับราง แต่กำลังยืนอยู่บนสะพานลอยเหนือเส้นทางรถไฟ โดยในขณะนั้น คุณยืนอยู่กับชายอ้วนคนหนึ่ง ซึ่งหากคุณผลักชายอ้วนให้ตกลงไปขวางหน้ารถราง รถไฟจะชนชายอ้วนเสียชีวิตแน่นอน แต่นั่นก็จะทำให้รถไฟหยุดก่อนจะชนกับคน 5 คน ที่ถูกมัดไว้

คำถาม คือ คุณจะผลักชายอ้วนให้ตกจากสะพานลอยหรือไม่?

คุณจะลงมือฆ่าคน 1 คน (ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม) เพื่อแลกกับการช่วยชีวิตคน 5 คน หรือไม่

นี่เป็นหนึ่งในคำถามเชิงปรัชญาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถึงมากที่สุด โดยคำถามแรกคิดขึ้นโดย ฟิลิปปา ฟุต (Philippa Foot) นักปรัชญาหญิงชาวอังกฤษ เมื่อปี 1967 ส่วนคำถามที่สองคิดขึ้นในปี 1985 โดย จูดิธ จาร์วิส ธอมสัน (Judith Jarvis Thomson) นักปรัชญาหญิงชาวอเมริกัน ซึ่งคำถามทั้งสองข้อกลายเป็นคำถามที่ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยเกี่ยวกับปรัชญาและจริยธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

(สามารถอ่านเรื่องราวของฟิลิปปา ฟุต และจูดิธ จาร์วิส ธอมสัน ได้ในหนังสือ A Little History of Philosophy : ปรัชญา ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา เขียนโดย Nigel Warburton แปลโดย ปราบดา หยุ่น และรติพร ชัยปิยะพร สำนักพิมพ์ Bookscape)

และนี่คือ คำถามที่เคยเป็นหัวข้อสนทนาของผมกับลูกชาย เมื่อตอนที่เขาอยู่วัยมัธยมต้น

ปรัชญา : ยุ่งยาก เข้าใจยาก จริงหรือ?

ใช่ครับ ผมชอบคุยเรื่องปรัชญากับลูกชาย เพราะผมเชื่อว่า ปรัชญา คือ ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ปรัชญามีอยู่ทุกหกทุกแห่งรอบตัวเรา ไม่ว่าจะในหนังสือ ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ ซีรีส์เกาหลี และแม้กระทั่งบนโต๊ะกินข้าว

ตามรากศัพท์ดั้งเดิม ปรัชญา หรือ Philosophy มาจากภาษากรีกคำว่า ฟิโลโซเฟีย ซึ่งแปลว่า ความรักในความรู้ (ฟิลอส แปลว่า ความรู้ โซเฟีย แปลว่า ความรัก) โดยภาษาไทยเลือกใช้คำว่า ปรัชญา ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า ความรู้

จะเห็นว่า มีความแตกต่างกันนะครับ เพราะ Philosophy คือ ความรักในความรู้ หรือความใฝ่รู้ การขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ขณะที่รากศัพท์ดั้งเดิมของคำว่า ปรัชญา หรือ ปัญญา – ในภาษาบาลี หมายถึงตัวองค์ความรู้

ในบทความชิ้นนี้ เวลาที่ผมพูดถึงคำว่า ปรัชญา ผมขออนุญาตใช้ตามความหมายภาษากรีก อันหมายถึง ความรักในความรู้ ซึ่งผมคิดว่า ตรงกับสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อมากกว่า

การรักในความรู้ ทำให้เรามีความพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงความรู้ ซึ่งในยุครุ่งเรืองของปรัชญา ทั้งปรัชญากรีก ปรัชญาอินเดีย หรือปรัชญาจีน ความรู้ที่เราพยายามเข้าให้ถึง ครอบคลุมแทบทุกเรื่องของชีวิต ตั้งแต่จุดกำเนิดของจักรวาล ตายแล้วไปไหน ชีวิตหลังความตายมีอยู่จริงหรือไม่ ความดี – ความชั่วคืออะไร ตัวตนของเราคืออะไร

หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ทำให้เราเข้าถึงความรู้ที่เรารัก ก็คือ การคิด และอาจกล่าวได้ว่าหัวใจสำคัญของปรัชญา คือ การคิด ซึ่งหมายรวมไปถึงการตั้งคำถาม และการค้นหาคำตอบ

ถ้ามองในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่าเด็กทุกคนมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัว เพราะพวกเขาชื่นชอบที่จะตั้งคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ในเรื่องที่พวกเขาไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นคำถาม… 

“ทำไมหนูต้องแบ่งขนมให้น้องด้วย ทำไมหนูเป็นคนดีด้วย ไม่เห็นอยากจะเป็นเลย” 

“น้องแมวที่ตายไปแล้ว ไปอยู่ที่ไหนคะ แม่ แล้วหนูจะได้เล่นกับน้องแมวอีกรึเปล่า” 

“เวลาหนูดื้อ คุณครูจะทำโทษหนู แล้วถ้าคุณครูดื้อ หนูจะทำโทษคุณครูได้มั้ย”

ความช่างสงสัยของเด็กๆ ทุกคน ก็ไม่แตกต่างจากความอยากรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะที่ว่า “ทำอย่างไร เราจึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์” และไม่แตกต่างจากการตั้งคำถามของโสคราติสที่ว่า “ความดีคืออะไร และทำไมสิ่งนั้นถึงถูกเรียกว่าความดี”

และไม่แตกต่างจากความสงสัยของลูกชายผม หลังจากดูหนังเรื่อง Oblivion ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับการโคลนนิ่งว่า “ถ้ามีร่างโคลนนิ่งที่เหมือนร่างจริงทุกอย่างตั้งแต่หัวจรดเท้า ลึกลงไปถึงดีเอ็นเอ แล้วสมมติว่ามีการโคลนนิ่งร่างนั้นออกมา 2 ร่าง คำถามก็คือ ร่างไหนจะถือเป็นตัวแทนที่แท้จริงของร่างต้นแบบ หรือ มีความชอบธรรมมากที่สุดที่จะขึ้นมาทำหน้าที่แทนต้นแบบ ในกรณีที่ตัวต้นแบบตายไปแล้ว”

ด้วยความที่ว่า เด็กๆ ทุกคนล้วนมีความสนใจใฝ่รู้ ชอบที่จะตั้งคำถามเป็นทุนเดิม เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่พวกเขาไม่เคยพบเจอมาก่อน และนั่นทำให้วิชาปรัชญากับเด็ก มีความสอดคล้องและส่งเสริมกันและกันมากกว่าที่เราเคยเชื่อกัน

ในปัจจุบัน มีนักวิชาการด้านการศึกษาหลายคนในโลกตะวันตกแนะนำให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา บรรจุวิชาปรัชญาเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถม เพราะพวกเขาเชื่อว่า การสอนวิชาปรัชญาเบื้องต้นจะช่วยให้เด็กรู้จักขบคิดอย่างมีเหตุผล รวมถึงมีความกล้าแสดงออก ตลอดจนเพิ่มทักษะในด้านการพูดและการฟัง

ดร.ไมเคิล แฮนด์ (Dr Michael Hand) จากสถาบันการศึกษา (Institue of Education) และดร.แคร์รี วินสแตนลีย์ (Dr Carrie Winstanley) จากมหาวิทยาลัยโรแฮมป์ตัน (Roehampton University) กล่าวว่า วิชาปรัชญาเบื้องต้นที่เหมาะกับเด็กระดับประถมศึกษา คงไม่ใช่เรื่องราวประวัติและหลักปรัชญาของโสคราติส พลาโต หรือฟรีดิช นิทเช แต่น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างง่ายๆ เช่น ความยุติธรรม จริยธรรม และการลงโทษ

“นักคิดคนสำคัญในโลกล้วนแต่เป็นคนที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ตลอดจนตัดสินเรื่องราวและแสดงพฤติกรรมโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดอย่างมีเหตุผล” ดร.แฮนด์ กล่าว

“เด็กๆ ทุกคนควรเรียนรู้ว่าอะไรที่เรียกว่าการคิดอย่างมีเหตุมีผล และความสำคัญของการมีเหตุมีผลคืออะไร ซึ่งการเรียนปรัชญาจะช่วยพวกเขาในเรื่องนี้”

ฟังดูอาจจะเช้าใจยาก แต่เอาจริงๆแล้ว เวลาที่ครูหรือนักการศึกษา เอาหัวข้อปรัชญาเข้าไปคุยกับเด็กวัยประถม ไม่ได้ยากขนาดนั้น พวกเขาจะใช้คำถามในหัวข้อง่ายๆ อย่างเช่น 

“ถ้าหมูพูดได้ สื่อสารกับเราได้ เราจะกินมันมั้ย” หรือ “ถ้าเราเปลี่ยนชื่อตัวเองใหม่ เราจะกลายเป็นคนใหม่ที่ไม่ใช่คนเดิมหรือเปล่า”

ปรัชญา ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป

ย้อนกลับไปที่คำถามเรื่องรถไฟ ผมถามลูกชายวัยรุ่นตอนต้นว่า ถ้าเป็นเขา เขาจะเลือกทำอย่างไร

“ถ้าเป็นเซน เซนจะเลือกสับราง ให้รถไฟวิ่งทับคน 1 คน เพื่อช่วยชีวิตคน 5 คน” ลูกชายผมตอบ หลังจากครุ่นคิดไม่นาน

“แล้วถ้าเป็นคำถามที่สองล่ะ เซนจะผลักคนอ้วน ให้ตกลงไปขวางหน้ารถไฟมั้ย” ผมถามต่อ

ลูกชายผมตอบว่า “จริงๆ แล้ว คำถามข้อนี้ ไม่ต่างจากข้อแรกเลย สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ ความรู้สึกผิดที่มากขึ้น เพราะเราต้องออกแรงลงมือทำให้คนๆ หนึ่งเสียชีวิต เพื่อช่วยชีวิตคน 5 คน แต่ยังไง เซนก็ตอบเหมือนเดิม คือ เลือกสละชีวิตคน 1 คน แลกกับชีวิตคน 5 คน”

“งั้นสมมติเพิ่มว่า ถ้าคน 1 คน ที่ถูกมัดบนราง เป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นนักวิทยาศาสตร์ทำผลงานให้กับประเทศชาติ เซนจะสับรางเพื่อสละชีวิตของเขา แลกกับการช่วยคน 5 คน ที่ไม่มีใครรู้จักผลงานหรือคุณงามความดีรึเปล่า” ผมพยายามพลิกแพลงคำถามต่อ

“ก็เหมือนเดิม” เด็กหนุ่มม.ต้น ตอบโดยแทบไม่เสียเวลาคิด “เซนคิดว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกตอบเหมือนกัน เพราะเราจะยึดเอาประโยชน์เป็นที่ตั้ง ชีวิตคน 5 คน ยังไงก็มีประโยชน์กว่าชีวิตคน 1 คน”

ใช่ครับ จากผลการสำรวจระบุว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกตอบแบบเดียวกับลูกชายของผม คือ ตัดสินใจเลือกช่วยชีวิตคนจำนวนมาก โดยยอมเสียสละชีวิตคนจำนวนที่น้อยกว่า

“แล้วจะมีสถานการณ์ไหน ที่ทำให้คำตอบเปลี่ยนไปมั้ย” ผมตั้งคำถามต่อ

“ถ้าคน 1 คน เป็นคนที่เรารู้จัก หรือมีความสนิทสนมด้วย เราจะเลือกช่วยคนนั้นเป็นอันดับแรก โดยไม่สนใจว่าจะต้องเสียสละชีวิตคนจำนวนมากกว่า” ลูกชายผมตอบ ก่อนจะเสริมว่า

“ที่ตอบมาทั้งหมด เป็นแค่การตอบคำถาม เป็นแค่การคิดโดยยึดหลักเหตุผล แต่ถ้าเซนอยู่ในสถานการณ์จริง อาจเลือกทำตรงกันข้าม หรือไม่ทำอะไรเลยก็ได้ เพราะเวลาเราเจอสถานการณ์จริง เราไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกด้วย”

สำหรับตัวผมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดของปรัชญา อาจไม่ใช่ คำตอบ แต่เป็นการขบคิดเพื่อให้ได้คำตอบ และนั่นทำให้คำตอบในแต่ละคำถาม อาจมีได้หลายคำตอบ หรืออาจจะไม่มีคำตอบที่ถูกเลยก็ได้

แต่อย่างน้อย เราก็ได้ขบคิดเพื่อพยายามค้นหาคำตอบ ได้ทำให้สมองตื่นตัวกระฉับกระเฉง และนั่นคือสิ่งที่ ‘Google’ ไม่สามารถทำแทนเราได้

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)การฟังและตั้งคำถามทักษะคิดเชิงวิพากษ์(Critical Thinking)ปรัชญา

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Unique Teacher
    “ไม่ได้ชี้นำแต่ถามให้คิด” ห้องที่เรียนจากคำถาม เกม และสิ่งที่ผู้เรียนสงสัย

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Character building
    เรากลายเป็นคนที่ ‘ไม่ตั้งคำถาม’ ไปตั้งแต่เมื่อไรกัน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • 21st Century skills
    กระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ ครูต้องเลิกถามว่าเข้าใจไหมและไม่รีบเฉลยคำตอบ

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • 21st Century skills
    เป็นเด็กยิ่งต้อง ‘เถียง’ และเถียงอย่างสร้างสรรค์เพื่อเข้าใจตัวเองและคนอื่น

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

  • Transformative learning
    TEACHING EMPATHY: สอนเด็กให้ ‘เข้าอกเข้าใจ’ ลงมือทำ แบ่งปัน มองปัญหาผู้อื่นให้ทะลุปรุโปร่ง

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

‘รักในวัยเรียน’ เปลี่ยนความกังวลให้เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้และเติบโต : คุยกับ หมอโอ๋-พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร
Family Psychology
18 February 2021

‘รักในวัยเรียน’ เปลี่ยนความกังวลให้เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้และเติบโต : คุยกับ หมอโอ๋-พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร

เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ จิตติมา หลักบุญ

  • การมีเพื่อน มีแฟน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตัวตน (self) ว่าฉันก็เป็นคนที่ใช้ได้ ฉันมีอะไรที่ดีที่ทำให้คนยอมรับและมีความรู้สึกดีกับเรา ความรักในวัยรุ่นมันจึงเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ทำให้มันไม่ปกติ คือ การที่พ่อแม่มองเรื่องรักในวัยเรียน หรือลูกมีแฟนเท่ากับลูกมีเซ็กส์ 
  • การสื่อสารที่เป็นหัวใจสำคัญของการคุยเรื่องเพศกับวัยรุ่น คือ การฟัง ฟังว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เขากำลังคิดอะไร เขาให้คุณค่ากับเรื่องอะไร ทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่าเขามีพื้นที่ที่จะปลดปล่อยความรู้สึก ความคิด ความต้องการ โดยไม่ถูกตัดสิน
  • ความสุขอันนึงเลยที่มนุษย์เราทุกคนจะมีก็คือ การได้เป็นตัวเอง แล้วก็ถูกยอมรับโดยคนที่เขารัก เป็นความสุขพื้นฐานที่พ่อแม่ให้ลูกได้ ที่เราทำให้เขามีได้ในชีวิตเขา ที่เหลือเดี๋ยวเขาก็จะเลือกชีวิตของเขาเอง 

ความรักและการเรียน คือ สมการชีวิตวัยรุ่น แต่พอพูดถึง ‘รักในวัยเรียน’ บ่อยครั้งกลับถูกขีดเส้นเรื่องความไม่เหมาะสม ทั้งจากประสบการณ์ ความเป็นห่วง และกรอบคิดเดิมๆ 

หลายบ้านต้องขัดใจกันเพราะพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกมีแฟนตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ เด็กบางคนยอมทำตามแต่ก็เก็บความคับข้องใจไว้ บางคนทำตามใจตัวเองแต่เลือกปิดบังและกันพ่อแม่ผู้ปกครองออกจากพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งนั่นอาจนำเขาไปสู่พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยได้

The Potential หยิบปัญหาคลาสสิกข้ามยุคข้ามสมัย ‘รักในวัยเรียน’ มาคุยกับ หมอโอ๋- ผศ. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน คลี่ทีละประเด็นว่าแท้จริงแล้วความกังวลนั้นเกิดจากอะไรบ้าง เรื่องรัก เรื่องเรียน หรือขอบเขตความสัมพันธ์? แล้วค่อยๆ ทลายกำแพงของความไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับลูกวัยรุ่น เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย เปลี่ยนเรื่องต้องห้ามให้เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน

ในมุมของหมอโอ๋ที่ทำงานกับวัยรุ่นมาตลอด เรื่องรักในวัยเรียนเป็นประเด็นที่เรายังต้องให้ความสนใจอยู่ไหม หรือที่จริงแล้วถ้าจะพูดกันถึงเรื่องนี้ควรจะโฟกัสชัดๆ ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน

หมอคิดว่า รักในวัยเรียน ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ถามว่าเรายังต้องคุยเรื่องนี้กันอีกเหรอ ก็ยังต้องคุยเพราะว่ายังไงก็ตาม มันก็เป็นพาร์ทหนึ่งในชีวิตของเด็กวัยรุ่น ในฐานะพ่อแม่เราก็อยากให้พ่อแม่ได้คุยเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของลูก แต่ว่าความสำคัญ คือ เราจะพูดคุยในแง่ไหน พ่อแม่ต้องเรียนรู้การพูดคุยที่ทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมันจะสร้างพัฒนาการต่างๆ กับลูกได้เยอะมาก 

ในขณะเดียวกันถ้าการพูดคุยนั้นไม่เกิดประโยชน์ ก็แทบจะไม่มีความหมายอะไร สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องเชื่อก็คือ คำห้าม คำขู่ของพ่อแม่ ไม่มีความหมายอะไร แล้วหมอคิดว่าความรักในวัยเรียนมันเป็นเรื่องที่ไม่แปลก คือวัยรุ่นมีความรักมาตั้งแต่ยุคสมัยไหน ย้อนไปในสมัยอาจจะเป็นรัชกาลที่ 5 หรือ 6 อายุ 13 – 14 ปี ก็แต่งงานมีลูกแล้ว ซึ่งวัยรุ่นไม่เคยเปลี่ยนเลยค่ะ ไม่ว่ายุคสมัยไหนเขาก็มีความรัก มีความรู้สึก มีความต้องการทางเพศเป็นปกติ 

สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การศึกษาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เด็กเริ่มต้องเข้าโรงเรียน พอเข้าโรงเรียนอายุเท่านี้ก็ยังไม่พร้อมที่จะมีแฟน แต่งงาน มีลูก ทำให้วัยรุ่นโตช้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ก่อนนี้ 18 ปี สมัยคุณยายถ้ายังไม่แต่งงาน ก็อาจจะแบบถูกมองว่า โอ้โห…ขายไม่ออก สมัยคุณแม่ หมอจำได้ว่าท่านแต่งงานตอนอายุ 28 ปี เราใช้คำว่า ‘แม่แต่งงานช้า’ เพราะส่วนใหญ่ 20 ปีกว่าๆ ก็แต่งงานกันหมดแล้ว ตอนนี้คนไทยเฉลี่ยแต่งงานน่าจะประมาณ 30 – 31 ปี มันทำให้เรายืดขยายความไม่โตของวัยรุ่นออกไป แต่ว่าวัยรุ่นเขาไม่เคยเปลี่ยน เขาก็มีสมองที่อารมณ์ทำงานเยอะกว่าส่วนคิดวิเคราะห์ มองเหตุมองผล ก็เป็นวัยที่มีความรัก มีความฟิน มีความโรแมนติก มีความรู้สึกพิเศษ แถมที่สำคัญในวัยรุ่นจริงๆ พัฒนาการสำคัญของวัยรุ่นอันหนึ่งก็คือ การถูกยอมรับ การถูกยอมรับโดยเพื่อน หรืออาจจะเป็นคนใกล้ชิด 

การมีเพื่อน มีแฟน มันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา self การที่ทำให้ตัวตนมันถูกพัฒนาว่าฉันก็เป็นคนที่ใช้ได้ ฉันก็เป็นคนที่น่ารักมีความหมาย ฉันมีอะไรที่ดีที่ทำให้คนยอมรับและมีความรู้สึกดีกับเรา สิ่งเหล่านี้จริงๆ มันเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการ ฉะนั้น ความรักในวัยรุ่นมันจึงเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ทำให้มันไม่ปกติก็คือการที่พ่อแม่มองเรื่องรักในวัยเรียน หรือลูกมีแฟนเท่ากับลูกมีเซ็กส์ 

ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าถูกต้อง เพราะว่ามันก็เกิดมาแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ว่ามันถูกทำให้ไม่ยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน แล้วการมีเซ็กส์ในวัยรุ่นโดยเฉพาะกับวัยที่ไม่พร้อมก็นำมาซึ่งปัญหา เช่น ท้องไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมี relationship แบบที่ไม่มั่นคง แต่ยังไงก็ตามเวลาที่เราจะคุยเรื่องรักในวัยเรียนกับลูกต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ เพราะมันคือเรื่องปกติ แล้วก็ทำยังไงที่เขาจะเรียนรู้และเติบโตจากพื้นที่ที่มันเป็นเรื่องปกติ 

หมอคิดว่าการมีความรักในวัยเรียนจริงๆ มันเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการเติบโตมหาศาลสำหรับเด็กคนหนึ่ง การได้เรียนรู้ที่จะทำตัวให้เป็นที่รัก การเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการตัวเองเวลามีความรัก เป็นทักษะสำคัญมากๆ ที่จะใช้ไปจนเขาโต การบริหารจัดการความสัมพันธ์ เวลาที่เรามีความสัมพันธ์แล้วเราบริหารจัดการมันยังไง ทำยังไงให้ความสำคัญตรงนี้มันเป็นเรื่องบวกมากกว่าเรื่องลบ หรือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบเชิงลบกับชีวิต การบริหารจัดการความรู้สึก จัดการตัวเองเวลาที่อกหัก เวลาที่ความรักไม่เป็นดังหวัง สิ่งเหล่านี้ คือ แพลตฟอร์มทั้งนั้นเลยที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเรียนรู้และเติบโตไปเป็นมนุษย์ที่อยู่กับโลกได้ เพราะว่าชีวิตเรามีความรักอีกหลายรูปแบบมากๆ

ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองรู้จักที่จะสื่อสารกับลูกก็อาจเปลี่ยนเรื่องนี้ให้เป็นความเติบโตได้ คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่อาจไม่รู้ว่าจะคุยอย่างไรดี

เราใช้คำว่า ‘สื่อสาร’ ซึ่งเป็นคำที่ดีมากเลยนะคะ แต่หลายครั้งเราชอบเชื่อว่าเราต้องสอนลูก สอนลูกเรื่องเพศ สอนลูกเรื่องการมีแฟน สอนลูกเรื่องมีความรัก จริงๆ สิ่งสำคัญมากๆ โดยเฉพาะกับลูกวัยรุ่น พ่อแม่หยุดสอนได้แล้ว มันไม่ใช่วัยที่เขาจะฟังแล้ว แต่เป็นวัยที่เราต้องฟังเขาเยอะขึ้น 

ดังนั้น การสื่อสารที่เป็นหัวใจสำคัญของการคุยเรื่องเพศกับวัยรุ่น คือ การฟัง ฟังว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เขากำลังคิดอะไร เขาให้คุณค่ากับเรื่องอะไร อันนี้จะเป็นการฟังที่ทำให้ลูกวัยรุ่นคนหนึ่งรู้สึกว่าเขามีพื้นที่ที่เขาจะปลดปล่อยความรู้สึก ปล่อยความคิด ปล่อยความต้องการบนพื้นที่ที่ไม่มีใครตัดสินเขา

เพราะฉะนั้นหลักการฟังที่สำคัญก็คือ การฟังด้วยหัวใจ ฟังแบบตั้งใจที่จะเข้าใจคนอยู่ตรงหน้า ฟังแบบระวังอาการเผลอ เช่น เผลอตัดสิน แค่ลูกมาเอ่ยปากว่า ‘แม่ นิดหน่อยเพื่อนหนูมีแฟนแล้วนะ’ เราก็เผลอตัดสินไปว่าหรือลูกสนใจอยากจะมีแฟน มีแฟนมันไม่ดีเลยนะ ดังนั้น ให้ระวังเรื่องการตัดสิน ให้ระวังเรื่องการแทรกถาม เช่น อ้าว…เหรอ แล้วเราจะมีแฟนหรือยัง แล้วเราจะมีอย่างเขาหรือเปล่า เพราะมันทำให้สิ่งที่ลูกอยากจะสื่อสารถูกปิดกั้น เพราะเวลาที่เราแทรกถามสิ่งที่ลูกกำลังจะเล่าต่อไปมันคือสิ่งที่เราอยากรู้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากเล่า 

เพราะฉะนั้นให้พื้นที่เขาจะได้พูดมันออกมาอย่างเต็มที่ แล้วก็ระวังการเผลอสั่งสอน เช่น แม่ว่ามันยังไม่เหมาะนะ อายุแค่นี้เองมีแฟนได้ยังไง แม่ว่านิดหน่อยทำอย่างนี้ไม่ดีเลย สิ่งที่กำลังอยู่กับใจลูก มันก็จะถูกหยุดลง อีกอันนึงที่พ่อแม่ชอบเผลอบ่อย คือ เผลอแย่งซีนลูก สมัยแม่เนี่ยนะ คุณยายไม่ให้หรอกแบบนี้โดนตีตายเลย สิ่งเหล่านี้ก็จะหยุดบทสนทนาทั้งหมด เพราะฉะนั้นการฟังก็คือการฟังด้วยความตั้งใจนะคะ การฟังด้วยความต้องการที่จะเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนที่อยู่ตรงหน้า 

ประโยค ‘แม่…นิดหน่อยเพื่อนหนูมันมีแฟนแล้วด้วยนะ’ มันมีอะไรที่อยู่ข้างใต้เต็มไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกตื่นเต้นที่เพื่อนมีแฟน อาจจะเป็นความรู้สึกอิจฉา ความรู้สึกน้อยใจเพื่อนเขาจะลืมเราหรือเปล่านะแม่… ตอนนี้เขามีแฟนแล้วเขาจะทิ้งหนูไหม มีความรู้สึกเศร้า หรือมีความรู้สึกอยากเม้าท์เฉยๆ เต็มไปหมด ต้องรู้ว่าที่เขาสื่อสารกับเราเขารู้สึกอะไร เราถึงจะเข้าใจเขาได้จริงๆ เด็กวัยรุ่นบอกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ มันมาจากสิ่งเหล่านี้แหละค่ะ เพราะพ่อแม่ไม่เคยจะฟังเพื่อเข้าไปในใจเขาจริงๆ เวลาเข้าไปในใจ มันเข้าไปด้วยความรู้สึก ไม่ได้เข้าไปด้วยความคิด เพราะฉะนั้นก็ตั้งใจฟังว่าลูกกำลังรู้สึกอะไร อย่าเพิ่งรีบสั่งสอน อย่าเพิ่งรีบตัดสิน อย่าเพิ่งรีบตีความ อย่าเพิ่งรีบปลอบหรืออะไรก็ตาม ฟังเพื่อจะรู้ว่าที่เขาสื่อสารมาเขารู้สึกอะไรแล้วเขาต้องการอะไร

เรื่องของการชวนลูกคุย เวลาที่ชวนลูกคุยเรื่องการมีแฟน บางทีมันสามารถที่จะคุยได้ตั้งแต่เรื่องของความสัมพันธ์ เราจะบริหารความสัมพันธ์ยังไง เราจะจัดการความรู้สึกที่มันท่วมท้นยังไง มีความรู้สึกท่วมท้นแล้วเราทำอะไรได้บ้าง อะไรเหมาะสมอะไรไม่เหมาะสม อะไรโอเคอะไรดูไม่โอเค สอนเรื่องการใช้สื่อ เราสามารถคุยไปได้ถึงการจัดการความรู้สึกทางเพศ เพราะมันก็จะมาด้วยกัน แค่ไหนที่โอเคแค่ไหนลูกไม่โอเค ปฏิเสธยังไงถ้ารู้สึกไม่โอเค หรือถ้าตัดสินใจแล้วทำยังไงถึงจะปลอดภัย เท่าไหร่ที่ลูกคิดว่าปลอดภัย เท่าไหร่ที่ลูกคิดว่าพร้อม อะไรเรียกว่าพร้อม สิ่งเหล่านี้สามารถชวนเขาคุยได้แล้วมันจะเป็นเกราะป้องกันให้เขาปลอดภัย

ทีนี้ถ้าพูดถึงความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง บางคนอาจกลัวว่าถ้าให้มีแฟนเดี๋ยวลูกไม่โฟกัสกับการเรียน ไม่ก็กลัวปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่วันหนึ่งเราอาจจะได้รู้หรือลูกมาคุยว่าเขามีแฟน หรือเขาอาจจะมาโยนหินถามทางว่า ‘แม่…เพื่อนหนูมีแฟน’ อันดับแรกที่หมออยากให้พ่อแม่ทำก็คือ ขอบคุณลูก ขอบคุณที่เขาคุยเรื่องนี้กับเรา ขอบคุณที่เขาเห็นเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย ขอบคุณที่เขาทำให้เรารู้สึกว่าเขาอยากให้เรามีส่วนร่วมกับความรู้สึก ความคิด แล้วก็เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ซึ่งมันหาไม่ง่ายนะคะ นั่นแปลว่าความสัมพันธ์ของเรากับเขามันดีพอ เราเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยพอ เพราะฉะนั้นอันดับแรกขอบคุณเขาก่อนเลย ขอบคุณนะที่หนูมาคุยเรื่องนี้กับแม่ แม่รู้สึกดีมากเลยลูกที่หนูรู้สึกว่าเราคุยเรื่องนี้กันได้ แล้วแม่ก็เป็นคนที่หนูอยากคุยด้วย

อันดับสองก็คือ จัดการตัวเอง สิ่งที่ต้องจัดการตัวเองก็คือ เวลาที่เรารู้ว่าลูกมีแฟนหรือลูกมาถามว่าเขามีแฟนได้ไหม มันมีอะไรขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด เรากำลังคิดอะไร เรากำลังรู้สึกกังวล เรากำลังรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง เรากำลังเห็นภาพลูกมีแฟนเท่ากับลูกมีเซ็กส์ เท่ากับลูกท้อง เท่ากับอะไรแบบนี้ มันก็จะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในหัวเราเต็มไปหมด กลับมาทันมัน เพราะการที่มาทันตัวเองมันจะทันกับสิ่งที่ตัวเองตอบสนอง พ่อแม่หลายคนตอบสนองแบบไม่ทันตัวเอง ดังนั้นการกลับมาทันว่าเรากำลังรู้สึกอะไรแล้วอยู่กับมัน เรากำลังรู้สึกแอบกังวล เรากำลังรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง ขณะเดียวกันพอมันทันก็กลับมาหยุดสิ่งที่กำลังจะพรั่งพรูออกไปกับความรู้สึกที่ท่วมท้น แล้วฟัง การฟังของเราก็อาจจะเช่น เหรอลูก เป็นยังไงเล่าให้แม่ฟังหน่อย หรือเปิดไปกับการตั้งคำถามปลายเปิดว่าแล้วหนูรู้สึกยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้นเล่าให้แม่ฟังหน่อยได้ไหม แม่ก็อยากรู้ โดยที่ไม่เผลอตัดสิน สั่งสอน แทรกถามเขา หรือเผลอไปเล่าเรื่องของเรา ฟังเยอะๆ ค่ะ เพื่อจะเข้าใจความรู้สึกและมุมมองเขา 

หลังจากที่เรารู้สึกว่าเราฟังเขาหมดจดแล้วอาจจะตั้งคำถามบางอย่าง เช่น แล้วหนูมองเรื่องการมีแฟนยังไง แฟนของหนูมันเป็นยังไงล่ะลูก เพราะแต่ละคนแฟนไม่เหมือนกัน แฟนของหนูมีขอบเขตแค่ไหน แล้วหนูคิดว่าการมีแฟนมันดียังไง มันต้องมีข้อดีนะลูกไม่งั้นคนเขาคงไม่มีแฟนกัน เรามีอะไรที่ต้องระวังบ้างไหม 

การชวนคิด หมอคิดว่าเป็นทักษะสำคัญกว่าการไปสอนลูก เวลาที่เราไปสอนลูกนั่นคือความคิดเรา เด็กหลายคนไม่ได้คิดแบบที่พ่อแม่คิดเลยด้วยซ้ำ ไม่ได้คิดแบบที่เราอยากให้เขาคิด เพราะเขาไม่ได้คิด สำคัญก็คือทำยังไงที่เราจะฝึกเขาคิดสิ่งที่เราอยากให้เขาคิดได้ อยากให้เขามองในมุมแบบนี้ด้วย 

เพราะฉะนั้นสำคัญเลยก็คือชวนเขาคิด คิดว่าเป็นยังไง ดีไม่ดียังไง มีอะไรที่ต้องระวัง ถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนั้นกับเขา เขาจะตัดสินใจยังไง สิ่งเหล่านี้หมอเชื่อว่ามันจะเป็นเกราะป้องกัน เอาจริงๆ เราแทบห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้ลูกมีแฟน คำห้ามของเรามันทำหน้าที่อยู่ 2 อย่าง คือ ปิดพื้นที่การพูดคุย และเปิดพื้นที่ไม่ปลอดภัยให้กับลูก 

การปิดพื้นที่ปลอดภัยแปลว่าพื้นที่ตรงนี้เราก็จะไม่สามารถคุยอะไร สอนอะไร ช่วยมองอะไรกับลูกได้ การเปิดพื้นที่ไม่ปลอดภัยแปลว่าเมื่อเราปิดกั้นว่าเราไม่อนุญาต เราไม่ยอม ก็อาจจะทำให้ไปเกิดการมีปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่อื่นและพื้นที่เหล่านั้นเราเรียกว่าพื้นที่ไม่ปลอดภัย เช่น เมื่อเขาพาแฟนมาบ้านไม่ได้ เขาก็จะไปบ้านแฟน สมมุติว่าเขาอยากจะเจอกับแฟนหลังเลิกเรียน แต่เขาเจอไม่ได้เขาก็อาจจะใช้วิธีโดดเรียนหรือหลบซ่อน สิ่งเหล่านั้นเรากำลังไปสร้างพื้นที่ไม่ปลอดภัย 

ถ้าอย่างนั้นก็กลับมาตั้งหลักกับตัวเองว่า หนึ่งเราอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราอยากรู้และร่วมเรียนรู้ประสบการณ์ตรงนี้ไปกับลูก ซึ่งอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้สร้างความสุขให้กับลูกก็ได้ มันอาจเป็นประสบการณ์ที่เราก็เห็นว่าข้างหน้ามันไม่ค่อยดีเท่าไร แต่มันเป็นประสบการณ์ของการเรียนรู้ เขาจะได้ผ่านประสบการณ์แห่งการผิดหวัง การเรียนรู้ว่าใครไม่ใช่ การเรียนรู้ว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีค่ามากๆ เลยสำหรับลูก แล้วเราจะอยู่ตรงนั้นกับเขาหรือเปล่า เราอยากร่วมเรียนรู้ไปกับเขาไหม ถ้าเราอยากร่วมเรียนรู้ไปกับเขาก็เปิดพื้นที่ให้เขาเรียนรู้ที่จะผิดพลาด ล้มเหลว ผิดหวัง ไม่สมดั่งใจ อยู่ในความเสี่ยง แต่เราจะอยู่กับเขานี่แหละ เพราะว่าเราก็เป็นพ่อแม่ที่จะเติบโตไปกับเขา

ทุกวันนี้นอกจากจากเรื่องรักในวัยเรียน สิ่งที่ผู้ใหญ่อาจต้องเปิดกว้างและทำความเข้าใจมากขึ้นไปอีก คือความรักที่ไม่ใช่แค่ผู้หญิง/ผู้ชาย แต่ในบริบทของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่เชื่อมโยงกันและพ่อแม่ผู้ปกครองต้องปรับความคิดเยอะทีเดียว

ใช่ค่ะ หลักๆ ยังไม่ต้องรีบคุยกับลูก พ่อแม่ต้องคุยกับตัวเองก่อน เด็กไม่ค่อยมีปัญหา หมอทำงานกับเด็กยุคใหม่เยอะมาก ส่วนมากเด็กเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ แบบเข้าใจจริงๆ แต่พ่อแม่เนี่ยเข้าใจแบบทำใจบ้าง เข้าใจแบบฝืนใจบ้าง แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเราเข้าใจว่ามันก็เป็นความหลากหลาย มันเหมือนกับที่เราทุกคนไม่เคยมีใครเป็นแบบมาตรฐานเดียวกัน เราก็มีสูงต่ำดำขาวแตกต่างกัน อย่างความถนัดก็มีทั้งถนัดมือขวาถนัดมือซ้าย บางคนถนัดทั้งสองมือ บางคนอาจจะไม่ถนัดเลย แต่สังคมสร้างเป็นบรรทัดฐานมาแบบหนึ่งว่าเราต้องถนัดมือขวานะ มือซ้ายคือผิดปกติ 

เพราะฉะนั้นกลับมาทำงานกับตัวเองก่อน ว่าจริงๆ ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่เราพยายามจะมาปลอบใจกัน มันเป็นเรื่องปกติที่พิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดก็มีความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว แต่ไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึงและยอมรับ เหมือนคนถนัดซ้ายก็มีมานานแล้ว แต่เมื่อก่อนเรามักพูดกันว่ามือซ้ายล้างก้น มือซ้ายทำอะไรที่มันไม่ดี ทำให้ทุกคนที่ถนัดซ้ายต้องถูกเฆี่ยนตีให้มาใช้มือขวา หมอคิดว่ามันก็เป็นอะไรที่เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ว่าจริงๆ แล้วความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ 

อันที่สองต้องกลับมาทำงานกับตัวเองว่านี่คือสิ่งที่ลูกเราก็ไม่ได้เลือก พ่อแม่หลายคนเข้าใจว่านี่เป็นทางเลือกที่ลูกเลือกได้ ไม่เลยเขาไม่ได้เลือก เราเองก็ไม่ได้เลือกมาว่าเราจะเป็นผู้หญิง เป็นแบบไหนเป็นแค่ไหน เราเพียงแค่รู้จักตัวเองมาเรื่อยๆ 

อันที่สามก็คือมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ พ่อแม่หลายคนรับไม่ได้เพราะต้องรับกับความเจ็บปวดที่เชื่อว่าฉันมีส่วนที่ทำให้ลูกมีความหลากหลายทางเพศ ฉันมีส่วนที่ฉันไม่ใส่ใจลูกๆ ก็เลยเป็นข้ามเพศไป ปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า การเลี้ยงดูแบบไหนทำให้เกิดความหลากหลายทางเพศ แล้วก็มีงานวิจัยหลายงานมากที่คนเลี้ยงดูมีความหลากหลายทางเพศ แล้วไม่ได้ทำให้เกิดเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น มันก็เป็นอะไรที่เรายังไม่ได้เจอสาเหตุที่ชัดเจน 

อันที่สี่ หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่กลับมามองแล้วก็ทบทวนเรื่องความสุขในชีวิต หมอเชื่อว่าพ่อแม่หลายคนที่ยอมรับไม่ได้ เป็นเพราะว่าเรามีภาพแห่งความสุขของชีวิตที่เป็นรูปแบบเดียว เรียนจบ แต่งงาน มีลูก ลูกก็มีคนเดียวไม่ได้นะ คนเดียวจะรู้สึกบกพร่อง ถูกมองว่าไม่สมบูรณ์พร้อม ต้องมีอย่างน้อย 2 คน แล้วเป็นเพศเดียวกันก็ไม่ได้นะ ต้องชายคนหญิงคน มันก็จะมีภาพแบบนี้ที่เราตีกรอบว่านี่คือภาพแห่งความสุข แต่จริงๆ แล้วไม่เลย ชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีความสุขตามแพทเทิร์นแบบนี้ หลายคนแต่งงานแล้วตกนรกทั้งเป็นก็มี มีเยอะมาก 40 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการแต่งงานในบ้านเราคือหย่าร้าง 

เพราะฉะนั้นบางทีมันไม่ได้เป็นสมการแห่งความสุขว่า แต่งงานเท่ากับความสุข หลายคนไม่ได้หย่าร้างแต่มีลูกมีปัญหา มันก็ไม่ได้เป็นความสุข แต่ละคนมีความสุขที่แตกต่างกัน บางคนมีความสุขกับการอยู่คนเดียว มีความสุขกับการมีเพื่อนสนิทกันแล้วก็เทคแคร์กัน บางคนมีความสุขกับการมีลูก คือเรามีความสุขที่หลากหลาย 

อยากให้พ่อแม่เข้าใจเรื่องความสุขที่แตกต่าง แต่ความสุขอันนึงเลยที่มนุษย์เราทุกคนจะมีก็คือ การได้เป็นตัวเอง แล้วก็ถูกยอมรับโดยคนที่เขารัก หมอคิดว่าอันนี้เป็นความสุขพื้นฐานที่เราให้ลูกได้ ที่เราทำให้เขามีได้ในชีวิตเขา ที่เหลือเดี๋ยวเขาก็จะเลือกชีวิตของเขาเอง 

คู่เกย์คู่เลสเบี้ยนที่อยู่กันดูแลกัน หลายคนก็มีความสุขกว่าคนมีลูกก็เยอะแยะ ก็ปลดล็อกตัวเองจากเรื่องสมการความสุขเราจะได้เข้าใจ แล้วหลายครั้งอย่าเพิ่งรีบไปตัดสินนะคะ คือวัยรุ่นจริงๆ แล้วเป็นวัยที่เขาก็เรียนรู้ทดลองรู้จักตัวเอง หลายครั้งมันจะมีการลองผิดลองถูกเหมือนกัน บางทีอย่าเพิ่งไปรีบสรุปว่าลูกเราจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปล่อยพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ ตื่นตัวในการที่จะรู้จักตัวเอง แล้ววันหนึ่งถ้าเขาจะเป็นอะไร เขาก็จะมีความสุขในการที่เขาได้เป็นแบบนั้น

ทีนีลองมองกลับกันบ้าง ในมุมของวัยรุ่นถ้าเขาอยากให้ผู้ใหญ่ยอมรับความรักของตัวเอง หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นความขัดแย้งในครอบครัว จะมีวิธีสื่อสารอย่างไร หรือต้องตั้งหลักอย่างไรดี

สำหรับวัยรุ่นหมอก็อยากให้ทำความเข้าใจ แล้วก็อยู่กับความเป็นจริง บางทีสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ คือความคาดหวัง ความคาดหวังที่อยากให้แม่ยอมรับ เข้าใจเรา การพยายามไปจัดการกับแม่ก็ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะว่าแม่ก็คือแม่ บางทีเขาเติบโตมากับรากฐานความคิดความเชื่อหลายอย่าง ก็ทำให้เขาอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

เรามีหน้าที่ทำในสิ่งที่เราควรจะต้องทำอย่างดีที่สุด เช่น หาโอกาสคุย ทำให้แม่มีมุมมองใหม่ๆ แต่ว่าถ้าเกิดยังไงก็ไม่ได้ ยังไงก็ปิดตาย เราก็ควรจะเคารพสิ่งที่มันเป็นความเป็นจริงตรงนั้น หน้าที่ของเราก็คือถ้ามันไม่ได้ก็ยอมรับว่ามันไม่ได้ แต่ว่าทำยังไงที่เราจะเลือกทางเลือกของเรา 

สมมุติว่าแม่ไม่อนุญาตแล้วเราก็รู้สึกแคร์แม่ เรารู้สึกกังวลเราอาจจะยอมเลือกที่จะไม่มีความสัมพันธ์ อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราก็ได้บางอย่างเสียบางอย่าง อีกทางเลือกหนึ่งก็คือเรายังมีความสัมพันธ์ตรงนี้แหละ ถึงแม้ว่าแม่จะไม่รู้ เพราะเราก็เชื่อว่าความสัมพันธ์ตรงนี้เราพอจะดูแลของเราได้ ก็เลือกพื้นที่ตรงนั้น แล้วเรียนรู้เติบโตด้วยตัวเอง ได้ด้วยการยอมรับและเข้าใจข้อจำกัดของแม่ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่ามันจะได้บางอย่างเสียบางอย่าง เราอาจจะได้พื้นที่ที่เป็นอิสระปลอดภัยจัดการตัวเองได้ แต่เราก็มีความเสี่ยงกับการที่เราอาจจะไม่มีคนช่วยคิด ช่วยป้องกันผลกระทบต่างๆ แต่ยังไงก็ตามหมอคิดว่านี่คือสิ่งที่เราเลือกที่จะเรียนรู้ได้ว่าเราจะเลือกพื้นที่ตรงไหน ไม่ว่าจะเลือกยังไงพื้นที่ตรงนั้นก็เป็นพื้นที่การเรียนรู้และเติบโตได้เหมือนกัน ก็ทำหน้าที่อย่างที่เราควรจะต้องทำ 

พ่อแม่คงดีใจที่เราเดินมาคุยกับเขา ขณะเดียวกันถ้าพ่อแม่ไม่เปิดรับและปิดกั้น แต่เรายังรู้สึกว่าตรงนี้มันคือความรู้สึกที่เราก็เลี่ยงไม่ได้ ก็อยู่กับมันแบบตั้งสติ ทำให้ตัวเองปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดปัญหา ยังไงก็ตามอยากให้เชื่อเสมอว่าถึงแม้ว่าวันนี้เขาจะรู้สึกไม่ยอมรับไม่เปิดกว้าง แต่วันที่เรามีปัญหาเขาจะเป็นคนที่อยากช่วยเหลือเราที่สุด เพราะฉะนั้นถ้ามันมีอะไรก็ยังอยากให้กลับไปที่พ่อแม่

สุดท้ายขยับภาพไปที่สังคม หรือสิ่งที่สะท้อนผ่านสื่อทั่วๆ ไป เราก็ยังเห็นการส่งผ่านมุมมองทัศนคติเดิมๆ คุณหมอว่าเราจะสร้างบรรยากาศที่ทำให้คนต่างเจนหรือต่างความคิดเข้าใจเรื่องความรักวัยรุ่นและใช้มันในทางสร้างสรรค์ได้อย่างไร

หมออยากให้สื่อทำให้อย่างน้อยความรักต้องเป็นเรื่องที่สวยงาม มันไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย ก็อย่าไปทำให้ความรักในวัยเรียนเท่ากับการมีเซ็กส์ สื่อบางทีพอพูดเรื่องวัยรุ่นเดทวาเลนไทน์ก็จะไปพูดเรื่องต้องมีเซ็กส์กันเสียตัวกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรระวัง เพราะว่าเรากำลังผลิตซ้ำกับความเชื่อหรือมายาคติบางอย่างว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการใจแตก วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเสียตัว วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการท้องไม่พร้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางทีมันเป็นภาพจำที่ไม่ได้ทำให้คนพัฒนาศักยภาพ ทำยังไงเราจะสร้างมายเซ็ตหรือทัศนคติใหม่ว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความแมทชัวร์ (mature-วุฒิภาวะ) เป็นวัยที่ดูแลตัวเองได้ มีความพร้อมในการเลือกชอยส์ของตัวเอง แล้วเป็นวัยที่เราสามารถช่วยให้เขาเติบโตไปแบบที่ไม่เป็นปัญหา 

อย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าว่าแต่การมีแฟน การมีเซ็กส์ใน High School หรือโรงเรียนมัธยมก็เกือบครึ่ง แต่ว่าประเทศก็พัฒนาไปได้ดี เพราะว่ามีการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการมีเซ็กส์ คือเขาไม่ได้ไปห้ามการมีเซ็กส์ แต่เขาสอนเรื่องเพศศึกษารอบด้าน สอนตั้งแต่เรื่องถ้าไม่พร้อมก็ไม่ต้องมี ไม่ต้องถูกสังคมกดดันว่าวัยรุ่นต้องมีเซ็กส์ ขณะเดียวกันก็สอนให้เลื่อนการมีเซ็กส์ครั้งแรกออกไป ถ้ารู้สึกว่าเรายังไม่พร้อม แต่ถ้าเราพร้อมเราก็มีทางเลือกตั้งแต่มีอารมณ์เพศก็ช่วยตัวเองได้ มีเซ็กส์แบบไม่สอดใส่ได้ รวมไปถึงถ้าจะมีเซ็กส์แบบสอดใส่ก็มีถุงยางอนามัยและฮอร์โมน คือมีการคุมกำเนิด มีการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดแบบที่ไม่ต้องแจ้งผู้ปกครอง สิ่งเหล่านี้มันทำให้วัยรุ่นเขาปลอดภัย ไม่ใช่การห้ามมีเซ็กส์ หรือการทำให้คุณค่าของผู้หญิงไปอยู่ที่การรักนวลสงวนตัว หรือการเอาตำรวจไปนั่งจับหน้าโรงแรมวันลอยกระทง วันวาเลนไทน์ เพื่อที่จะป้องกันวัยรุ่นมาใช้โรงแรมมีเซ็กส์ มันไม่ได้แก้ปัญหา 

ทำอย่างไรที่จะให้วัยรุ่นมีความรู้สึกว่าตัวเขามีอำนาจในการเลือก มีอำนาจในการตัดสินใจ มีอำนาจในการดูแลตัวเอง ทำอย่างไรที่เราจะเอ็มพาวเวอร์ให้ครอบครัวรู้สึกว่าเขาอยู่กับมันแบบที่ไม่ต้องรังเกียจหรือกลัวหรือรู้สึกว่าต้องกำจัดความรักในวัยรุ่น 

ทำอย่างไรที่เขาจะอยู่กับมันแบบเป็นมิตรและเปิดพื้นที่ให้ลูกได้เรียนรู้ ได้มีความรู้ที่จะดูแลและป้องกันตัวเอง ได้มีพื้นที่ให้ลูกเติบโตแบบที่ยังเห็นว่าลูกใช้ชีวิตกับการมีความรักในวัยเรียนยังไง หมอคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่สื่อช่วยได้

Tags:

แบบแผนทางความสัมพันธ์การเติบโตความรัก

Author:

illustrator

ชุติมา ซุ้นเจริญ

ลูกครึ่งมานุษยวิทยาและนิเทศศาสตร์ รักการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร พอๆ กับการเดินทางข้ามพรมแดนทุกรูปแบบ เชื่อเสมอว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่นิยมแบกโลกไว้บนบ่า

Photographer:

illustrator

จิตติมา หลักบุญ

ช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพทุก category ชอบทำกับข้าวและรักปลาร้าเป็นชีวิตจิตใจ

Related Posts

  • Dear ParentsMovie
    The love of Siam: รักแห่งสยาม ‘เดอะแบก’ ของบ้านที่ไม่พูดความต้องการและรู้สึก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Relationship
    ทำไมต้องรักตัวเองให้ได้ก่อนจะรักคนอื่น

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Family Psychology
    การเข้าใจผิดเรื่องการเลี้ยงดู EP.3 ความรักที่ไม่เคยได้รับในวัยเยาว์ บาดแผลทางใจที่รอการเยียวยา

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Relationship
    เหมือนดูเย็นชา แต่ใช่ว่าไม่รัก

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    แยกความรักออกจากการทำร้ายร่างกาย: คุยกับ เบส-SHero เรื่องการก้าวออกจากความรุนแรงในครอบครัว 

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี

การเข้าใจผิดเรื่องการเลี้ยงดู EP.3 ความรักที่ไม่เคยได้รับในวัยเยาว์ บาดแผลทางใจที่รอการเยียวยา
Family Psychology
18 February 2021

การเข้าใจผิดเรื่องการเลี้ยงดู EP.3 ความรักที่ไม่เคยได้รับในวัยเยาว์ บาดแผลทางใจที่รอการเยียวยา

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • พ่อแม่ที่ทอดทิ้งลูก (Uninvolved parenting style) มักไม่เอาใจใส่ หรือเอาใจใส่ลูกน้อยมาก ไม่สนใจ ไม่ปฏิสัมพันธ์ หรือตอบสนองลูก เมื่อลูกต้องการให้พ่อแม่กอด เล่น หรือทำอะไรด้วย พ่อแม่กลุ่มนี้มักจะปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อการร้องขอนั้น และปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียว
  • เด็กจะเติบโตด้วยความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ ไม่ไว้ใจโลก และไม่เชื่อใจใคร เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ไม่ต้องการพึ่งพิงใคร แม้ต้องการความรัก แต่ไม่กล้าเปิดใจให้ใคร ต่อต้านการเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่อยากสร้างความสัมพันธ์กับใคร เพราะกลัวการถูกปฏิเสธ
  • เราในฐานะลูกที่อาจได้รับบาดแผลจากการเติบโตดังกล่าว จะเยียวยาบาดแผลนี้อย่างไร และผู้ปกครองในฐานะที่เป็นคนเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง เราจะให้ความรักและความสนใจเขาอย่างไร เพื่อไม่ไปสร้างบาดแผลในใจลูก
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป

ปมในวัยเยาว์

ทำไมเด็กและวัยรุ่นบางคนถึงทำตัวตลกไร้สาระ หรือทำตัวมีปัญหาอยู่เสมอ เพื่อหวังแค่ว่าจะให้คนรอบตัวมองเห็นและสนใจตัวเอง

ยอมให้คนอื่นมองตัวเองว่าเป็นตัวตลก แล้วหัวเราะเยาะอย่างสนุกสนาน

ยอมโดนดุ โดนด่า โดนตี โดนทำโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า

และทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำๆ แม้รู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวเอง หรือต่อใครๆ

ผู้ใหญ่รอบตัวของเด็กและวัยรุ่นคนนี้คงอยากจะบอกเขาว่า…

‘พอได้แล้ว หยุดทำคนอื่นและตัวเองเดือดร้อนเสียที’

‘ทำไมไม่รู้จักทำตัวให้มันดีๆ  หน่อย คนเขาจะได้เอ็นดู’

‘ทำอะไรไม่รู้จักคิด รู้ไหมว่าพ่อแม่จะเสียใจขนาดไหน’ 

ในความเป็นจริงแล้ว การที่เด็กหรือวัยรุ่นคนหนึ่งสามารถทนการถูกทำโทษซ้ำๆ ถูกหัวเราะเยาะ และโดนรังเกียจจากผู้ใหญ่และเพื่อนๆ ของเขา แสดงว่าสำหรับเขาแล้ว แม้จะเป็นปฏิกิริยาทางลบที่ผู้คนมีต่อตัวเขา ก็ยังดีกว่าผู้คนไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ตอบกลับมาเลย การได้รับการมองเห็นมีค่ามากกว่าการถูกมองข้ามไป ดังนั้นขอแค่ทุกคนสนใจและยังมองเห็นตัวเขาก็เพียงพอแล้ว

พ่อแม่ที่ทอดทิ้งลูก (Uninvolved parenting style)

นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Diana Baumrind (1971) ได้แบ่งรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะส่งผลต่อเด็กที่เติบโตมาแตกต่างกัน หนึ่งในนั้น คือ ‘พ่อแม่ที่ทอดทิ้งลูก (Uninvolved parenting style)’ พ่อแม่รูปแบบนี้มักจะไม่เอาใจใส่หรือเอาใจใส่ลูกน้อยมาก เรียกได้ว่าแทบไม่สนใจหรือตอบสนองต่อลูกเลย เมื่อลูกต้องการให้พ่อแม่กอด เล่นด้วย หรือทำอะไรด้วย พ่อแม่กลุ่มนี้มักจะปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อการร้องขอนั้น และปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียว หรือแม้จะไม่ได้ทิ้งลูกให้อยู่บ้านคนเดียว พ่อแม่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับลูก แต่พ่อแม่อาจจะไม่ปฏิสัมพันธ์กับลูกเลย 

โดยมากจะปรากฏในพ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับลูก (ในพ่อแม่ที่มีปริมาณงานเท่าๆ กัน พ่อแม่บางคนเลือกที่จะใช้เวลาอันน้อยนิดกับลูก แต่พ่อแม่กลุ่มนี้ คือ ไม่สนใจจะพยายามเลย) และเล่นกับลูกไม่เป็น และไม่อยากเริ่มต้นเข้าหาลูกก่อน พวกเขาไม่เห็นความสำคัญของการเลี้ยงดู ‘จิตใจ’ ของลูกเท่าไรนัก ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น คือ ในช่วงแรกลูกอาจจะพยายามเรียกร้องจากพ่อแม่ให้รักเขา สนใจเขา แต่นานวันเมื่อเขาไม่ได้รับมัน พวกเขาก็ถอดใจ และถอยห่างจากพ่อแม่ในที่สุด

ผลลัพธ์ของเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ทอดทิ้งเขา เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ ไม่ไว้ใจโลกและไม่เชื่อใจใคร พวกเขาเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ไม่ต้องการพึ่งพิงใคร แม้เขาต้องการความรัก แต่จะไม่กล้าเปิดใจให้ใครเข้ามาง่ายๆ เวลาเข้าสังคมมักจะต่อต้านการเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่อยากเข้ากลุ่ม และไม่อยากสร้างความสัมพันธ์กับใคร เพราะแท้ที่จริงแล้วพวกเขากลัวการถูกปฏิเสธมากกว่าสิ่งอื่นใด จึงพยายามทำตัวแกร่ง บางคนทำตัวสวนกระแสสังคมเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับตัวเอง เพราะที่ผ่านมาพ่อแม่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเขา เหมือนว่าเด็กกลุ่มนี้จะทำตัวแตกต่าง แต่ทว่า…เขาไม่พร้อมจะยอมรับในความแตกต่างจากกลุ่มอื่นที่ต่างจากกลุ่มตัวเอง

ต้นตอของบาดแผลทางใจ

หนึ่งในต้นตอของบาดแผลทางใจที่สำคัญของเด็กหลายคน คือ การที่พวกเขาอาจจะไม่ได้รับ ‘ความรัก’ ที่เพียงพอจากผู้เลี้ยงดูหลักของเขา ในที่นี้อาจจะเป็นพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเขาเป็นหลัก ซึ่งนำไปสู่ปมในใจที่ไม่สามารถคลี่คลายด้วยตัวเขาเอง

ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ (Psychosocial Development) อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้กล่าวไว้ว่า พัฒนาการขั้นแรกของมนุษย์ (วัย 0 – 2 ปีแรก) เริ่มจากการที่พ่อแม่ต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) ให้กับลูก โดยมุ่งสร้างความสัมพันธ์ (Attachment) ซึ่งเกิดขึ้นจาก ‘ความรัก’ ที่แสดงออกผ่านการให้ความสนใจ ดูแลอย่างใกล้ชิด และตอบสนองต่อความต้องการของลูกขั้นพื้นฐาน หรือกล่าวโดยสรุปว่า ‘พ่อแม่ต้องเป็นผู้ที่ลูกสามารถพึ่งพิงได้ในยามที่เขายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั่นเอง’ เช่น…

เมื่อลูกหิว แม่ให้นมลูกกิน

เมื่อลูกร้องไห้ พ่อแม่อุ้มกอดปลอบประโลม

เมื่อลูกรู้สึกเฉอะแฉะ พ่อแม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้

เมื่อลูกไม่สบาย พ่อแม่ดูแลและพาไปรักษาจนหายดี

ที่สำคัญพ่อแม่บอกรักลูกผ่านการเล่น กอด อุ้ม หอม เล่านิทาน และพูดคุยกับลูกแม้ในวันที่เขายังไม่รู้ภาษาก็ตาม การปรากฏตัวของพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอและตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของลูก ทำให้เด็กรับรู้ว่า ‘พ่อแม่มีอยู่จริง’ และเขาสามารถเชื่อใจพ่อแม่ได้ ซึ่งความเชื่อใจดังกล่าวจะพัฒนาไปสู่ความเชื่อใจที่มีต่อโลกภายนอกในเวลาต่อมา

ขั้นบันไดพัฒนาการที่หยุดชะงัก (Fixation)

ในทางกลับกันหากพ่อแม่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของลูกหรือมีเวลาคุณภาพให้กับลูกในช่วงวัยดังกล่าวได้ เด็กจะพัฒนาความไม่เชื่อใจต่อบุคคลหรือโลก (Mistrust) ขึ้นมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเด็กสามารถแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 

กรณีแรก เด็กอาจจะพยายามเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการอย่างสุดกำลัง โดยไม่สนใจว่าวิธีการที่เขาเรียกร้องนั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะสำหรับเด็กที่ขาดการได้รับความรักและความสนใจอย่างเขา ขอแค่เพียงสิ่งที่เขาทำส่งผลให้คนหันมาสนใจหรือมองเห็นตัวเขาก็เพียงพอแล้ว เราสามารถเห็นเด็กแบบนี้ทำให้ตัวเองเดือดร้อนและผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เนืองนิจ และไม่มีท่าทีว่าเขาจะหยุดทำจนกว่าคนจะสนใจเขา ซึ่งความสนใจที่เขาได้รับนั้นมีทั้งแบบชื่นชมและตำหนิ

กรณีที่สอง เด็กอาจจะทำตัวเข้มเเข็ง เพราะเขาต้องพึ่งพาตัวเองตั้งเเต่เล็ก แต่ภายในของเขาอาจจะเปราะบาง เพราะไม่มีใครเติมเต็มความรักให้เขาเมื่อยังเยาว์วัย ที่สำคัญเขาอาจจะแสดงออกในแบบต่อต้านสังคม เพราะสำหรับเด็กที่ไม่เคยได้รับความรักอย่างเขา การได้รับการกอดหรือได้รับความรักในเวลานี้ อาจจะทำให้เขารับความรู้สึกนั้นไม่ไหว ไม่ใช่ว่าเขาไม่ต้องการ แต่เขากลัวเหลือเกินว่า “ความรักนั้นจะไม่ยั่งยืน” เขากลัวที่จะต้องเสียใจอีกครั้งเมื่อความรักที่ได้รับนั้นหมดลง

ปมในวัยเยาว์ สู่บาดแผลในวัยผู้ใหญ่

ในวันที่เด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้รับความรักเพียงพอเติบโตเป็นผู้ใหญ่…

เขาคนนั้นอาจจะมีภายนอกที่แข็งแกร่ง แต่ภายในของเขาอาจจะเปราะบางเหลือเกิน

เขาคนนั้นอาจจะบอกว่า ‘เขาไม่เป็นไร’ แต่ใจลึกๆ เขาก็อยากมีใครสักคนที่ยอมรับ มองเห็นคุณค่าและรักเขาในแบบที่เขาเป็น…

การไม่ได้รับความรักในวัยเยาว์ อาจจะทำให้ผู้ใหญ่คนหนึ่งเลือกคู่ชีวิตที่ผิดพลาดไป

บางคนอาจจะยอมทนให้คนที่ตัวเองรักทำร้ายตัวเอง เพื่อหวังจะได้รับความรักจากเขา

ยอมให้เขาทุบตีทําร้ายร่างกาย

ยอมให้เขาพูดจาทําร้ายจิตใจ

ยอมให้เขาลดคุณค่าภายในตัวเอง

และยอมให้อภัยกับความผิดพลาดซ้ำๆ ที่เขาทํากับตัวเอง

คนรอบตัวของคนๆ นี้คงอยากบอกเขาว่า

‘ลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง และอย่าให้อีกฝ่ายทําร้ายอีก’

‘เลิกกับคนที่ทําร้าย แล้วเริ่มเป็นห่วงตัวเอง และรักตัวเองได้แล้ว’

‘มองให้เห็นคุณค่าในตัวเอง อย่าให้ใครมาตัดสิน หรือทําลายคุณค่านั้นไป’

ในความเป็นจริงแล้ว การที่คนๆ หนึ่งสามารถยอมทนถูกทําร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากคนที่รักได้นั้น แสดงว่า สําหรับเขาการถูกทําร้ายอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุด เพราะสิ่งที่เจ็บปวดยิ่งไปกว่าการถูกทําร้าย คือ การไม่ได้รับความรัก และการต้องทนอยู่คนเดียวเพียงลําพัง ความรักจึงสิ่งที่สําคัญสําหรับเขามากเหลือเกิน มากพอที่จะทําให้เขายอมจํานนต่อทุกๆ การกระทํา เพียงเพื่อให้ได้รับความรักจากอีกฝ่าย

หากย้อนกลับไปในวันที่เขาเป็นเด็ก อาจจะไม่มีใครรักเขามากพอ ที่จะทําให้เขารู้ว่า จะเริ่มต้นรักตัวเองได้อย่างไร ในวันที่เขาเป็นเด็กตัวเล็กๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาจจะไม่มีใครดูแลปกป้องเขา แล้วเขาจะปกป้องตัวเองไปเพื่อ อะไรเมื่อไม่ได้รับความรัก และการปกป้อง คุณค่าภายในตัวเด็กคนนี้ก็ไม่ได้รับการยืนยัน เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เขาจึงต้องการให้ใครสักคนมายืนยันคุณค่าในตัวเขา ผ่านการบอกรัก และให้ความสําคัญ

แค่ไม่รัก ก็เลวร้ายมากพอแล้ว ไม่จําเป็นต้องทําร้ายเขาเพิ่มหรอก แต่เด็กบางคนนอกจากไม่ได้รับความรักแล้ว ยังโดนทําร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้การทําร้ายไม่ใช่แค่ในรูปแบบการกระทําที่รุนแรงทางกาย แต่หมายรวมถึงการทอดทิ้ง การถูกเพิกเฉยซึ่งทําร้ายจิตใจไม่แพ้กันเลย

แนวทางในการเยียวยาบาดแผล

เราอาจจะย้อนกลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้มีความรู้สึกติดค้างในใจมากมาย และในวันนี้ที่เรายังไม่รู้จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร ให้เราบอกตัวเองว่า

  1. ถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร

อย่าฝืนตัวเองให้ทําในสิ่งที่ใจไม่พร้อม เราไม่จําเป็นต้องรักตัวเองเต็มที่วันนี้ เราค่อยๆ ทําสิ่งที่เรารัก หรือ แค่ทําสิ่ง ที่ทําให้เราสบายใจ ทําสิ่งที่เราควบคุมได้ด้วยสองมือและความคิดของเราให้ดีที่สุด เพื่อเรียก “สติ” ให้กลับมาอยู่ กับเรา

  1. ค่อยๆ เรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น

เราต้องเรียนรู้และทําความรู้จักกับตัวเอง ทั้งภายนอกและภายใน เริ่มจากเรื่องง่ายๆ  อย่างเช่น ตัวเราชอบอะไร ไม่ ชอบอะไร ไปจนถึงเรื่องยากๆ อย่างเช่น ตัวเรามีข้อจํากัดแค่ไหน เราต้องการอะไร และเรามีจุดอ่อนในเรื่องใด เพราะการตระหนักรู้เท่าทันในเรื่องเหล่าน้ีจะทําให้เราสามารถเข้าใจตัวเอง และระมัดระวังกับความคิดและการกระทําของตัวเองได้มากขึ้น

  1. ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองทีละน้อย

การปรับเปลี่ยนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในวิถีชีวิตของเรา ไม่ควรต้องรีบเร่ง บางครั้งแค่เริ่มจากการลองทําอะไรใหม่ๆ อย่างเช่น ไปกินอาหารร้านที่ไม่เคยกิน หรือ แค่เปิดประตูเดินออกจากบ้านไปก็เป็นก้าวแรกแล้ว ไม่ต้องทําอะไรที่ ยิ่งใหญ่ เพราะก้าวเล็กๆ ก้าวแรกจะค่อยๆ นําเราไปสู่ก้าวต่อๆ ไป

  1. ทุกคนร้องไห้ได้ ทุกคนอ่อนแอได้ ทุกคนเจ็บป่วยได้ เราไม่จําเป็นต้องเข้มแข็งตลอดเวลา

เราทุกคนมีวันที่อ่อนแอ แม้ในวันนี้ที่เราเป็นผู้ใหญ่ หรือ เป็นพ่อแม่แล้วก็ตาม เพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ เรา มีความสุขเรายังยิ้ม ทําไมวันที่เราเศร้าเราจะร้องไห้ไม่ได้ จริงใจต่อตัวเองเสมอ ความรักที่มีให้กับตัวเองจะค่อยๆ  ตามมาเอง

  1. อย่าลืมมองหาความช่วยเหลือ

ในวันที่เราไม่ไหว หรือ ถ้าเราโดนทําร้ายทางร่างกายและจิตใจ เราควรขอความช่วยเหลือจากคนที่เราไว้ใจ หรือ องค์กรต่างๆ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าใจเราไม่ไหว จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือ ผู้ที่ทํางานด้านนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่ช่วยเราได้ เพราะบางครั้งการเยียวยาที่ดีที่สุด คือ ‘การระบาย (ของเสีย) ออกมา’ และ ‘ผู้รับฟังที่ดี’ คือ ยาที่เราต้องการ

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ

‘ตัวเรา’ เป็นเสมือน ‘แก้วหนึ่งใบ’

‘ความรู้สึกเลวร้าย การโดนทําร้าย การไม่ได้รับความรัก’ เป็นน้ำสีดํา

‘การเริ่มต้นใหม่ หรือ การแก้ปัญหา’ เป็นน้ำใสๆ 

ถ้าเรามีน้ำดําเต็มแก้วของเรา ต่อให้มีน้ำใสมาเทใส่เรามากมาย น้ําในเเก้วแม้จะมีมากขึ้น แต่ก็ยังคงหม่นตามเดิม เช่นกันกับการพยายามแก้ปัญหาและเริ่มต้นใหม่ ในวันที่ใจเราไม่พร้อม

แต่ถ้าเราเทน้ำดําออกจากแก้วก่อน แล้วค่อยเติมน้ําใสเข้าไป น้ำในแก้ว แม้มีไม่มาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่สีดําอีกต่อไปแล้ว

การรับฟังที่ดี เป็นกระบวนการที่แก้วเทน้ำสีดําออกมา แก้วใบนั้นจะว่างเปล่าพร้อมรับน้ำใหม่ ซึ่งก็คือการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และคราวนี้หากเราเทน้ำใสเข้าไป แก้วจะไม่ขุ่นมัวอีกต่อไป

วันนี้ที่เรากลายเป็นพ่อแม่

ในอนาคตข้างหน้าหากเราได้มีโอกาสเป็นพ่อแม่หรือได้ดูแลเด็กสักคนหนึ่ง ขอให้เรารักเขาให้มากพอผ่านการให้เวลาคุณภาพกับเขา สอนเขาในสิ่งที่จําเป็น และไม่ปกป้องเขาจนเกินไป ให้เขาได้ลองผิดลองถูก ให้เขาได้รู้จักการทําผิดพลาด และเรียนรู้การรับผิดชอบสิ่งนั้นด้วยตัวเขาเอง โดยที่มีเราอยู่เคียงข้าง เพื่อที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงทั้งกายใจ

พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกด้วยความจำเป็น ชดเชยได้อย่างไร

สำหรับพ่อแม่ที่มีความจำเป็นต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย เพราะถ้าหากไม่ทำเช่นนั้น ครอบครัวไม่อาจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ด้วยเหตุปัจจัยเรื่องปากท้องย่อมมาก่อนสิ่งอื่นใด หรือ พ่อแม่บางท่านอาจจะเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ “การจัดสรรเวลาที่มีอยู่ให้กลายเป็นเวลาคุณภาพ”

ขอแค่พ่อแม่ทำให้เวลาที่มีอยู่กับลูกแสนน้อยนิดในแต่ละวัน ให้กลายเป็นเวลาคุณภาพที่สุดเท่าที่พ่อแม่จะทำได้ โดยการชดเชยให้ลูกในทุกๆ วันที่กลับมาจากทำงาน ดูแลและตอบสนองต่อความต้องการของลูกที่ถูกละเลยไปตลอดวัน วางเครื่องมือสื่อสารและโลกภายนอกไว้เบื้องหลัง และมอบสายตาทั้งสองข้างให้ลูกที่อยู่เบื้องหน้าเรา ให้ความรักผ่านการสัมผัส กอด เล่น อ่านหนังสือนิทาน และกล่อมเขาเข้านอน เคียงข้างจนลูกหลับไป เพื่อสร้างสายใยในใจลูกในทุกๆ  วันที่กลับมา ณ ที่เก่าเวลาเดิม  สม่ำเสมอ ลูกจะสามารถสร้างความเชื่อใจขึ้นมากับพ่อแม่ได้ ทำให้พ่อแม่มีอยู่จริงในชีวิตเขา ส่งผลให้เขาสามารถวางใจในโลกได้

สำหรับลูกแล้ว เมื่อพ่อแม่มอบความรักผ่านการมีเวลาคุณภาพให้กับเขา ลูกจะรับรู้ว่า ‘ตัวเองนั้นมีคุณค่าสำหรับพ่อแม่เพียงใด’ และการรับรู้ถึงคุณค่าตรงนี้ ทำให้เด็กสามารถพัฒนาไปสู่การรับรู้ว่า ‘ตัวเองนั้นมีอยู่จริงสำหรับพ่อแม่เช่นกัน’ เมื่อเขามีอยู่จริงและมีคุณค่ามากพอสำหรับพ่อแม่ ในวันข้างหน้าเด็กจะสามารถยืนหยัดเพื่อตัวของเขาเองได้ โดยไม่สั่นคลอนต่ออุปสรรคหรือเสียงของใคร

สุดท้ายไม่มีหรอกพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ จะมีก็เพียงแต่ ‘พ่อแม่ที่มีอยู่จริง’ เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้านหรือเป็นพ่อแม่ที่ดีเลิศเลอในทุกๆ เรื่อง แต่เราควรเป็นพ่อแม่ที่มีเวลาคุณภาพ เป็นพ่อแม่ที่มีความสุข และเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงสำหรับลูก และรับรู้ว่าลูกก็มีอยู่จริงสำหรับเราก็เพียงพอแล้ว

รักและดูแลเด็กในวันนี้ให้มากพอ เพื่อในวันหน้าเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่รักตัวเอง และรักคนอื่นเป็น

อ้างอิง
Baumrind, D. (1971). Current patterns of parental authority. Developmental psychology, 4(1p2), 1.
Cline, F., & Fay, J. (2020). Parenting with love and logic: Teaching children responsibility. NavPress Publishing Group
Darling, N (1999) Parenting Style and Its Correlates ERIC Digest
Widick, C., Parker, C. A., & Knefelkamp, L. (1978). Erik Erikson and psychosocial development. New directions for student services, 1978(4), 1-17.

Tags:

ปม(trauma)ความรักThe Untold Storiesรูปแบบการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ (Parenting Styles)แบบแผนทางความสัมพันธ์

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Family Psychology
    ความเข้าใจผิดที่ส่งต่อกันมา EP.3 การแสดงออกซึ่งความรัก

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    เพราะไม่ว่าเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ เราก็ต้องการความรักและความสนใจจากพ่อแม่เหมือนกัน

    เรื่อง The Potential ภาพ PHAR

  • Family Psychology
    ด้วยรัก ภาระ และบาดแผล จากการเติบโตในครอบครัวใหญ่ที่ต้องทำตามความต้องการของสมาชิกหลายคน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    ลำดับการเกิดที่แตกต่าง มาพร้อมความคาดหวังและภาระที่ต้องแบกรับไม่เท่ากัน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักเป็นเรื่องไม่อาจฝืน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

Honest : ที่โกหกเพราะเป็นนิสัย หรือเพราะเป็นกลไกป้องกันตัว หนีความกลัวและการถูกลงโทษ?
Character building
17 February 2021

Honest : ที่โกหกเพราะเป็นนิสัย หรือเพราะเป็นกลไกป้องกันตัว หนีความกลัวและการถูกลงโทษ?

เรื่อง เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • บางครั้ง “ความกลัวผลลัพธ์ที่จะตามมา” เป็นชนวนที่ทำให้เราเลือกที่จะโกหกไว้ก่อน เพื่อหลีกหนีจากเรื่องน่ากลัว และมันก็เหมือนคำสั่งอัตโนมัติที่มาสั่งสมองทันทีว่า ถ้าพูดความจริงไปแล้ว ผลนั้นจะออกมาน่ากลัว หรือยอมรับความจริงไม่ได้ จงเลือกที่จะโกหกซะ
  • คุยเรื่องความกลัวในฐานะกลไกป้องกันตัวเอง หลีกหนีความจริงและการลงโทษ และฝึกเปลี่ยนกลไกป้องกันตัวด้วยการโกหก กับ 3 วิธี ‘Pause, Thought และ ท่องไว้’
  • “สำหรับผู้ใหญ่ หากจับได้ว่าเขาโกหก อย่าถามว่าทำไมถึงโกหก เพราะมันไม่ได้ช่วยให้เขาได้คิดและหยุดวงจรการโกหก แต่อยากให้ช่วยเด็กๆ หาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้เขาเลือกโกหกเพื่อช่วยเขายุติความกลัว และกล้าเผชิญหน้ามากขึ้น ซึ่งมันจะเป็นวิธีลดการโกหกไปในตัวด้วยนะคะ”

น้องๆ เคยมีประสบการณ์แบบนี้กันไหมคะ เวลาที่แอบทำอะไรสักอย่างในห้องเรียนเช่น แอบกินขนม แอบเปิดมือถือดูแล้วครูจับได้พร้อมมาถามเราว่า ‘ทำอะไรอยู่?’ เราจะรีบตอบทันทีว่า ‘เปล่าครับ/เปล่าค่ะ’ หรือบางทีตอนกำลังกินข้าวอยู่เราแอบไถมือถือเล่นแล้วพ่อแม่ถามว่าทำอะไร เราก็ตอบไปทันทีอีกว่า ‘เปล่านะ ไม่ได้ทำอะไร’ หรือบางทีที่เราทำผิดอะไรสักอย่างเราก็มักจะไม่บอกความจริงก่อน เนียนได้ก็ขอเนียนไว้ จนบางครั้ง ‘เรา’ ก็มักจะโดนผู้ใหญ่ถามกลับมาว่า ‘ทำไมต้องโกหก’ ไม่ก็โดนบ่นยาวอีกด้วยว่า ‘ติดนิสัยเด็กเลี้ยงแกะที่ชอบโกหก’ อีกด้วย

ทำไมเราถึงโกหกกันนะ เพราะเราเป็นแบบเด็กเลี้ยงแกะหรือเปล่า ที่โกหกเพราะความสนุก ไม่มีอะไรทำ หรือเพราะเราเป็นเด็กไม่ดี เราจึงโกหก คำตอบคือ…จริงแล้วๆ ไม่ใช่เลยค่ะ พี่นีทมองว่าการโกหกไม่ได้หมายความว่าเราเป็นเด็กไม่ดี เพียงแต่ที่เราไม่กล้าพูดความจริง นั่นเพราะเรากำลังกลัวอะไรบางอย่างมากกว่า

และจริงๆ เรื่องนี้มีคำตอบในทางจิตวิทยานะ นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องการโกหก เช่น เจ้าพ่อที่พูดเรื่องโกหกคนแรกอย่างซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ก็บอกว่าการโกหก คือ กลไกในการป้องกันตัวเองเพื่อปฏิเสธความจริงบางอย่างที่น่ากลัว นอกจากนี้ ดร. คอร์ทรีย์ วอร์เรน (Dr. Cortney Warran) ผู้สนใจเรื่องการโกหกก็บอกเหตุผลของการโกหกไว้ว่า

สาเหตุแท้จริงที่คนเราเลือกโกหกนั้นมาจากตัวเราไม่เข้มแข็งมากพอที่จะยอมรับความจริงและผลลัพธ์ที่จะตามมา

น้องบางคนอาจจะถามว่า แต่มันก็มีการโกหกที่ดีอย่างที่เรารู้จักในชื่อ white lie หรือการที่เราไม่พูดความจริงเพื่อช่วยให้อีกฝ่ายไม่เสียใจ แหมะๆ อันนี้ก็พูดยากเลยค่ะ (ปาดเหงื่อสักนิด) เพราะจริงๆ แล้ว white lie ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่แย่ไปทั้งหมดอะเนอะ พี่นีทเลยต้องขอยกเนื้อหาบางส่วนที่พี่นีทสามารถสรุปได้จากบทความของอาจารย์จิตวิทยาที่ชื่อว่า คริสเตรียน ฮัร์ท (Christian Hart) มาค่ะว่า จริงๆ แล้ว white lie คือการโกหกเพื่ออีกฝ่ายล้วนๆ ในการรักษาน้ำใจ รักษาความรู้สึกไม่ให้เขารู้สึกแย่ไปมากกว่าเดิม อาจจะเป็นมารยาททางสังคมนิดๆ ส่วนมากจะเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ถามมาตอบไป และการโกหกนี้จะต้องไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อคนพูดโกหกเลยค่ะ 

ซึ่งพี่นีทคิดว่า ถ้าหากการโกหกของเราอยู่ในขอบเขตเช่นนี้ ว่าทำเพื่อความรู้สึกคนอื่นจริงๆ และไม่น่าจะมีผลเสียตามมา ก็น่าจะหยวนๆ ใช้ whtie lie กันได้นะคะ เช่น สมมติเพื่อนพูดหน้าชั้นได้แย่มาก แล้วเพื่อนมาถามพี่ว่า ‘ฉันพูดได้แย่มากเลยใช่ไหมแก’ พี่ก็คงไม่กล้าบอกตรงๆ เพราะไม่อยากให้เพื่อนรู้สึกแย่ไปกว่านี้ คงเลือกตอบแบบ white lie ไปว่า ก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นหรอกแก 

เอาเป็นว่ามันก็พออนุโลมกันได้นะคะ แต่ก่อนที่เราจะใช้ white lie อยากให้น้องๆ ลองหาวิธีดูก่อนว่า เรามีวิธีการบอกความจริงโดยที่อีกฝ่ายไม่เสียใจไหม หากมีวิธีการนั้น พี่นีทแนะนำให้เราเลือกที่จะพูดความจริงก่อน แต่ถ้ามันไม่มีจริงๆ ก็หยวนๆ ให้ใช้ white lie ได้นิดนึงค่ะ

กลับมาต่อกันที่เรื่องการที่เราโกหกเพราะเราแค่ไม่พร้อมที่จะยอมรับความจริงและผลที่จะตามมา ซึ่งพี่ก็อยากให้น้องๆ ลองคิดว่าในทุกเหตุการณ์ที่เราเลือกจะโกหก มันมีเหตุผลแบบนี้ซ่อนอยู่จริงไหม พี่นีทจะขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อยให้เราได้ลองวิเคราะห์กันดูนะคะ (แอบกระซิบค่ะว่ามันเป็นตัวอย่างการโกหกของพี่นีทเองเลย)

เรื่องนี้จำได้ไม่ลืมเพราะลืมไม่ลงจริงๆ เกิดขึ้นสมัยได้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะใหม่ๆ ตอนนั้นกว่าจะมีคอมพ์เครื่องแรกก็ประมาณป.6 ได้ พ่อแม่บอกเราว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ซื้อไว้ให้ใช้ทำงานนะ เช่น พิมพ์รายงานส่งอาจารย์ อนุญาตให้เล่นเกมใช้อินเตอร์เน็ตได้นิดหน่อย พ่อแม่สั่งมาขนาดนี้เราก็ต้องตอบตกลงใช่ไหมล่ะ แต่มีอยู่วันหนึ่งที่พ่อแม่ออกไปข้างนอกแล้วเราแอบเล่นอินเตอร์เน็ต พี่นีทบอกพ่อแม่ว่า ‘ดูทีวี’ แต่ความแตกค่ะเพราะพ่อไปจับทีวีแล้วพบว่ามันไม่ร้อน แต่ไปจับคอมพิวเตอร์ปรากฎว่ามันร้อนมาก พวกเขาเลยรู้ว่าเราโกหกค่ะ สุดท้ายก็โดนดุยาวและโดนลงโทษห้ามเล่นคอมพิวเตอร์ไปหลายวัน (เศร้าเลยค่ะตอนนั้น)

ถ้ามาย้อนคิดดูว่าทำไมตอนนั้นถึงโกหก ตอนนี้ก็คงตอบได้เลยง่ายๆ ว่า ก็กลัวไง เพราะเรามีความเชื่อและคิดถึงผลที่จะตามมาว่า ‘ถ้าหากพ่อแม่รู้ความจริงว่า ฉันเล่นอินเตอร์เน็ต ต้องโดนดุแน่ๆ’ ดังนั้น เพื่อที่จะหนีไปจากการโดนดุเราจึงเลือกที่จะโกหกแทน (ซึ่งถ้าจับไม่ได้ก็รอดไง)

บางครั้ง ‘ความกลัวผลลัพธ์ที่จะตามมา’ เป็นชนวนที่ทำให้เราเลือกที่จะโกหกไว้ก่อน เพื่อหลีกหนีจากเรื่องน่ากลัว และมันก็เหมือนคำสั่งอัตโนมัติที่มาสั่งสมองทันทีว่า ถ้าพูดความจริงไปแล้ว ผลนั้นจะออกมาน่ากลัว หรือยอมรับความจริงไม่ได้ จงเลือกที่จะโกหกซะ

ฝึกเปลี่ยนกลไกป้องกันตัวด้วยการโกหก กับ 3 วิธี ‘Pause, Thought และ ท่องไว้’

และหากถามว่า เราจะทำอย่างไรดีที่จะไม่กลัวกับผลที่ตามมาและไม่ต้องโกหก พี่นีทมี 3 วิธีมาบอกน้องๆ นั่นคือ Pause, Thought และ ท่องไว้

Pause (หยุด) คือการให้เราหยุดตนเอง ในเวลาที่เราจัดการความคิดในสมองไม่ได้ เช่น มันเลวร้ายแน่ๆ เลย ฉันต้องโกหกแล้วล่ะ หรือแบบโดนแน่ๆ โกหกเถอะ หรือ จะพูดยังไงดีไม่ได้โดนเรียบๆ เคียงๆ แอบถามเพื่อจี้ให้เราพูดความจริงอะไรทำนองนี้ พี่ขอให้น้องๆ Pause หรือหยุดตัวเองก่อนเลยค่ะ เพราะเวลาที่เราจัดการกับความคิด เรียบเรียงความรู้สึกไม่ได้ มันมีโอกาสสูงมากเลยนะที่เราจะเลือกโกหก ซึ่งการ Pause เหมือนการตั้งหลักและตั้งสติว่า ฉันจะเอายังไง จะโกหกหรือไม่โกหกดี

Thought (ความคิด) ในที่นี้คืออยากให้น้องลองจินตนาการดูว่า สมมติฉันโกหกไปแล้ว และถูกจับได้ฉันจะโดนอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก่อนที่เราจะโกหก เราไม่เคยได้คิดถึงเรื่องนี้เราถึงเลือกการโกหกแบบไม่ลังเล (คิดว่าโกหกได้เนียน แต่มันเนียนจริงไหมก็อาจไม่เคยคิด ฮ่าๆ) แต่พอเราได้คิดว่า ถ้าถูกจับได้แล้วว่าจะโดน…เราจะเริ่มรู้สึกว่าไม่โกหกดีกว่าไหมนะ เพราะความจริงที่ทุกคนรู้กันคือ ถ้าโดนจับโกหกได้ เรามักจะโดนหนักกว่าเดิมเสมอ เช่น สมมติถ้าจะต้องโดนดุ ก็มักจะโดนดุอย่างน้อย2 กระทงอ่ะ แบบเบาๆ คือ ‘เรื่องที่ทำไว้’ กับ ‘พฤติกรรมการโกหก’ ดังนั้น พอเราเริ่มคิดได้ว่า ถ้าโกหกแล้วโดนจับได้ โทษมันจะหนักกว่าเดิมนะเราจะเริ่มไม่อยาก/ไม่กล้า โกหก

และสุดท้ายคือ ท่องไว้ การท่องไว้ในที่นี้คือ ท่องประโยคที่มาจาก Thought ที่จะช่วยให้เรากล้าเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ที่เรากลัว และไม่โกหก (ช่วงแรกๆ อาจจะต้องท่องบ่อยหน่อย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับบุคคลที่เราต้องบอกความจริง) อย่างเช่น จับได้โดนหนักกว่าเดิมนะ อย่าเลย, พูดความจริงไปเถอะ เพราะไม่ว่าทางไหนก็โดน เป็นต้น คำพูดเหล่านี้ จะกลายมาเป็นพลัง และเตือนสติเราในวินาทีที่เราจะเลือกโกหกค่ะ

หากเราทำได้แบบนี้ วงจรในการโกหกของเราก็จะลดน้อยลง นอกจากนี้ขอเพิ่มทริค (Trick) เล็กๆ ไว้สักนิดนึงนะคะ ว่าหากเราไม่อยากจะมาเจอสถานการณ์ของการเลือกว่าจะโกหกไหม ก่อนทำอะไรอยากให้คิดให้ดีก่อนว่าควรทำไหม เพราะอะไรจึงควรทำเราจะได้ไม่ต้องมาเจอสถานการณ์เรื่องโกหก หรือหากไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ควรทำไหม เช่น เดาผลลัพธ์ไม่ได้ ไม่ชัวร์จริงๆ ว่ามันทำได้ อาจจะลองขออนุญาตก่อนทำหรือลองปรึกษาคนๆ นั้น ผู้ใหญ่ หรือใครก็ตามที่ช่วยเราได้ เพื่อให้เราได้คิดดีๆ ก่อนทำ ก็จะช่วยเราได้ (แอบบอกนิดนึงว่ามันเหมือนเป็นการแจ้งล่วงหน้าให้ท่านรู้ก่อนแล้วนะ เวลาพลาดจะได้มีตัวช่วย ว่าบอกแล้วไง อิอิ วิธีนี้เราใช้บ่อย) แต่สุดท้าย ถ้าทำตามทริคแล้ว ก็ยังเจอสถานการณ์ที่ต้องเลือกอยู่ดีกว่าจะโกหกดีไหม ก็ไม่เป็นไรนะคะ ก็สู้กับมันไปค่ะ

ผู้ใหญ่ก็ต้องช่วย อย่าสร้างเสริมกลไกการโกหกให้เด็กด้วยการลงโทษรุนแรงเสียก่อนแล้วบอกว่า ‘ทีหลังจงจำเอาไว้’

ขอเพิ่มทริคอีกสักข้อ คราวนี้เพิ่มเติมสำหรับคุณผู้ใหญ่นะคะว่า การที่เราจะช่วยให้เด็กไม่โกหกคือ อย่าเน้นให้ทุกอย่างไปจบที่การลงโทษ เพราะจะทำให้เด็กๆ กลัวและเพิ่มพฤติกรรมการโกหกต่อไป

บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะคิดว่า ‘ก็ถ้าเด็กทำผิดก็ต้องลงโทษ เพื่อให้หลาบจำและเค้าจะได้ไม่ทำอีก’ แต่นีทมองต่างกับท่านเล็กน้อยค่ะ นีทมองว่า การลงโทษเด็กนั้นทำให้เด็กจำจริงค่ะว่า สิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ยกตัวอย่างเช่น สมมติเด็กทำจานแตก แล้วไม่บอกผู้ใหญ่ แอบเอาไปทิ้งที่ถังขยะเพื่อทำลายหลักฐาน พอจับได้ก็โดนดุโดนตีว่าทำไมทำจานแตก และสุดท้ายผู้ใหญ่บอกว่า ‘ทีหลังทำอะไรผิดให้บอกเข้าใจไหม’ แต่สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้คือ ‘โห พอทำจานแตกแล้วเรื่องใหญ่เลย โดนดุด้วย ตีด้วยน่ากลัวจัง” คำที่ผู้ใหญ่พูดว่า “ทีหลังทำอะไรผิดให้บอกเข้าใจไหม’ อาจจะไม่ได้อยู่ในความทรงจำเด็กเลยก็ได้ค่ะ เพราะเค้ากลัวเราจนหัวหดไปหมดแล้ว ซึ่งนีทก็เชื่อว่าเด็กคงมีความระวังมากขึ้นเพราะไม่อยากเจอการลงโทษ แต่ว่าถ้าสมมติเด็กดันทำจานแตกอีกโดยไม่ได้ตั้งใจ สิ่งที่เขาคิดขึ้นมาถึงเหตุการณ์ที่เด่นชัดว่าอะไรจะตามมาก็คือการลงโทษ มากกว่าการบอกความจริงแน่นอน และเด็กก็ยังคงจะเลือกวิธีการโกหกอยู่ดี ดังนั้นสิ่งนี้ก็ยังคงวนเป็นวงจรขอการโกหกที่ไม่หายไปไหน

แต่ในทางกลับกัน หากครั้งนั้นที่เด็กทำจานแตก แทนการลงโทษ เราสอนเด็กดีๆ ว่า ถ้าทำจานแตกต้องมาบอกนะ และเตือนไปหน่อยว่า ทีหลังต้องระวังด้วย เด็กก็จะจำคำว่า “ทำผิดก็ให้พูดความจริง” ไม่ต้องกลัว ถ้าโดนดุก็นิดนึง ต่อไปเด็กก็จะกล้าบอกความจริงกับเรามากขึ้น เพราะ ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เด็กรู้ว่า การบอกความจริงไม่ได้น่ากลัว แบบที่คิดไว้ค่ะ  

หรือหากจับได้ว่าเขาโกหก อย่าถามว่าทำไมถึงโกหก เพราะมันไม่ได้ช่วยให้เขาได้คิดและหยุดวงจรการโกหก แต่อยากให้ช่วยเด็กๆ หาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้เขาเลือกโกหกเพื่อช่วยเขายุติความกลัว และกล้าเผชิญหน้ามากขึ้น ซึ่งมันจะเป็นวิธีลดการโกหกไปในตัวด้วยนะคะ

โกหกใครได้ทั้งโลก แต่จะโกหกตัวเองได้ยังไง?

ที่ผ่านมาพี่นีทพูดถึงการโกหกกับคนอื่น แต่มีอีกการโกหกหนึ่งที่ยังไม่ได้พูด และต้องพูดให้ได้ค่ะนั่นคือการโกหกตนเอง หรือหลอกตนเอง

น้องๆ เคยเป็นกันไหมคะ เวลาที่เราพลาดอะไรบางอย่างเราอาจจะโกหกตัวเองว่าจริงๆ ฉันก็ไม่ได้ชอบมากหรอก หรือฉันก็ไม่ตั้งใจมากหรอก พี่นีทก็เป็นค่ะ เช่น สมัยมัธยมตอนปลายอยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์มากแต่เราเรียนสายวิทย์-คณิตก็กลัวจะการเรียนตก สุดท้ายก็โกหกตนเองว่าจริงๆ ‘เราไม่ได้ชอบขนาดนั้นหรอก ซ้อมก็โหด โอ๊ย! ช่างมันเถอะ’ แต่จริงๆ แล้วที่พี่นีทเลือกโกหกตนเองก็เพราะไม่กล้ารับความจริง หากตอนนั้น พี่รู้จักเทคนิค Pause Though และท่องไว้ พี่ก็คง Pause ความคิดและความกลัวว่าการเรียนจะตกไว้ Though ว่าทำอย่างไรการเรียนฉันจะไม่ตกและเป็นเชียร์ลีดเดอร์ได้ และท่องไว้ว่าเราทำได้ๆ พี่ก็คงมีความกล้าที่จะไปสมัคร

พี่นีทเชื่อเสมอค่ะว่าการโกหกมีที่มาเสมอ ไม่ว่าเราจะโกหกตนเองเพื่อปลอบใจ หรือโกหกคนอื่นเพื่อหนีจากความกลัว จึงอยากเชิญชวนให้น้องๆ ทุกคนค่อยๆ ละ ลด เลิก การโกหก (อาจจะยังทำไม่ได้ทั้งหมดตอนนี้ก็ไม่เป็นไรนะคะ ค่อยๆ พยายามกันไป ขออย่างเดียวคือไม่โกหกจนกลายเป็นนิสัยผ่านเทคนิค Pause Though และท่องไว้ เพื่อให้เรากล้ายืนหยัดกับตนเองให้เต็มที กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่ต้องเผชิญอย่างมั่นใจ เรามาพยายามไปด้วยกันนะคะ

อ้างอิง
What is a White Lie?
Dr. Cortney Warren | Honest Liars: The Psychology of Self-Deception

Tags:

Character worldการโกหกวิทยาศาสตร์สมองการลงโทษ

Author:

illustrator

เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์

นักจิตวิทยาโรงเรียน ผู้ฝันอยากจะเป็น “ฮีโร่” ให้กับเด็กๆ และวัยรุ่น ให้เขามีความสุขในชีวิตมากขึ้น ปรับตัวได้ดีมากขึ้น และมีพลังมุ่งหน้าไปสู่ฝัน นอกจากนี้ยังมีความโลภอยากจะเชิญชวนให้มนุษย์ผู้ใหญ่ทุกคนมาร่วมกันเป็น “ฮีโร่” ของเด็กๆ ผ่านปลายปากกา

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Character building
    ‘เด็กโกหก’ อาจไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เข้าใจธรรมชาติการโกหกจากงานวิจัย

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhoodFamily Psychology
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.5 ‘เด็กพูดโกหก’ 

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • ปลดกุญแจมือแล้วกอดเขา จนกว่าคนสีเทานั้นจะอ่อนแอลง: มองมุมกว้างเมื่อเด็กก้าวพลาด กับ ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร 

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Learning Theory
    ‘ความรู้สึก’ ส่วนผสมหลักเพื่อการเรียนรู้ ให้การมาโรงเรียนไม่ใช่แค่เรียนไปวันๆ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ บัว คำดี

  • Family Psychology
    เอะอะก็ตี ลูกเจ็บแต่ไม่จำ

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel