ชวนคุยเรื่อง รัฐสวัสดิการในประเด็นการศึกษา ตั้งแต่… ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ เราจะไม่ต้องเป็นหนี้เพราะการศึกษา ไม่ต้องส่งต่อมรดกความจน(หรือรวย) การศึกษาจะช่วยขยับฐานะทางสังคมได้จริง เราจะไม่ต้องขอทุนด้วยระบบพิสูจน์ความจน เราจะได้โรงเรียนดีๆ ใกล้บ้าน และอื่นๆ กับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการนำนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ
มันเป็นความคับข้องใจขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยิ่งโต ยิ่งทำงาน ก็ยิ่งพบกับความจริงที่ว่า …การศึกษาไม่ได้ช่วย หรือช่วยน้อยมากในการขยับฐานะทางสังคมของเรา
หรือ หลายคนเป็นอย่างนี้มั้ยว่า เมื่อทำงานจบ เราต้องทำงานหนัก ด้วยค่าแรงที่ต่ำเตี้ย เราอาจต้องส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ราว 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ที่เหลืออีกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ใช้ไปกับค่าใช้จ่ายรายวันและรายเดือน อีก 30 เปอร์เซ็นต์พยายามกันไว้เป็นเงินเก็บ แต่หลายครั้งอุบัติเหตุในชีวิตทำให้ต้องหยิบเงินเก็บเหล่านั้นมาใช้ เช่น อุบัติเหตุที่เกิดกับคนใกล้ตัว คนในครอบครัวมีเรื่องต้องใช้เงินด่วน น้องเปิดเทอม/เข้ามหาวิทยาลัยทีเราก็ต้องขนเงินสดที่เก็บหอมรอมริบไว้ออกมาใช้ และอื่นๆ ที่ทำให้เงินเก็บของเราถูกชักเข้าชักออกไม่มีหยุด (อย่างที่ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอย่างที่หลายคนก่นประณามว่าคนรุ่นใหม่เป็นทาสทุนนิยม)
ไม่ได้บอกว่าการดูแลครอบครัวไม่ดี เพียงแต่มันทำให้เรามองไม่เห็นทางว่า เราจะใช้แรงกายที่มากและด้วยเวลายาวนานแค่ไหน ที่เราจะ ‘ขยับฐานะทางสังคม’ ได้
ทั้งหมดนี้ไม่นับว่า ถ้าการศึกษาจะขยับฐานะทางสังคม ส่งเราให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตได้มากขึ้น เราต้อง(แข่งขันพาตัวเอง) เข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่ ‘มีคุณภาพ’ ซึ่งมีไม่เท่ากันทุกโรงเรียน และการทำสิ่งนั้นจำต้องมาจากครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะดี
เชื่อว่าเรายังมีอีกหลาย ‘คำถาม’ ในชีวิต ที่พัวพันกับสมมติฐานเรื่องการศึกษา คุณภาพชีวิต การเงินที่มั่นคง และความสุขในชีวิตที่เพียงพอจะต่อสู้ดูแลจิตใจตัวเองไม่ให้พังทลาย
เฉพาะช่วงปีที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ หนาหูและคุ้นตามากขึ้นเรื่อยๆ และมันนำพาจินตนาการต่อชีวิตที่มีความสุข อย่างเข้าใจง่ายและตรงประเด็นที่สุด คือ เราจะได้เรียนหนังสือฟรีตราบเท่าที่เราใฝ่ใจอยากเรียน – ลำดับชั้นการศึกษา ปริญญาตรี โท เอก วิชาชีพ สายสามัญ และ ไม่ว่าสายวิชานั้นจะไม่ทำเงินในเชิงเศรษฐกิจ แต่เราก็จะได้เรียนโดยไม่ต้องกังวลว่าเรียนแล้วจะหางานทำไม่ได้ ไม่มีงานทำแล้วจะไม่มีเงินส่งให้พ่อแม่ ที่ไม่ต้องกังวลเพราะรัฐดูแลเราและครอบครัว และรายละเอียดอื่นๆ ที่รัฐสวัสดิการจะมอบให้เรา
The Potential ชวน ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการนำนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการ คุยกันเรื่องรัฐสวัสดิการในมุมประเด็นการศึกษา
ที่เมื่อคุยกันจบแล้วเราได้ข้อสรุป (อย่างน้อยก็กับตัวเอง) มันแยกไม่ได้หรอกว่า นี่คือการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่มันคือ ‘ชีวิต’
และข้อความที่ถอดจากบทสนทนาหลังจากนี้ อาจทำให้เรามีจินตนาการต่อ ‘ชีวิต’ ตัวเองเปลี่ยนไป
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เริ่มต้นยังไงกันดี กับประเด็น ‘รัฐสวัสดิการ’
พอยท์หลักของ ‘รัฐสวัสดิ’ จริงๆ มันง่ายต่อการเข้าใจมาก คือ ‘เงินบาทแรกจนบาทสุดท้ายของประเทศถูกใช้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน’ พูดง่ายๆ คือมันไปอยู่กับเด็ก คนแก่ นักเรียน นักศึกษา พยาบาล หมอ สนามเด็กเล่น โรงละคร รถเมล์ รถไฟ นี่คือคอนเซปต์ของรัฐสวัสดิการ หรือก็คือการนิยามว่าคุณมองคนเท่ากันมั้ย เป็นมายเซ็ตที่ว่าด้วยคน
แต่ถ้าพูดถึงรัฐสวัสดิการในแง่การศึกษา มันไม่ใช่เรื่องการเรียนฟรี แต่หมายถึงชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนตายต้องได้รับการเติมเต็ม อย่างที่ได้แชร์ไปว่าถ้าคุณอยากให้คนประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเรื่องการศึกษาหรืออะไร คุณต้องให้คนล้มเหลวได้ ให้เขาค้นพบตัวเองได้ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณไม่ต้องกังวลว่าถ้าพ่อแม่คุณป่วย คุณจะเอาเงินที่ไหนมารักษา
อย่างผมเคยคุยกับนักศึกษาชาวเดนมาร์กคนนึง เขาบอกว่าตัวเขาเรียนประวัติศาสตร์ น้องชายเรียนหมอ เขาเรียนหนังสือฟรี มีเงินเดือนให้ประมาณหมื่นกว่าบาทถึงสองหมื่น
นี่คือสวัสดิการที่จะได้ทุกคนในฐานะสิทธิ ไม่ใช่ในฐานะ ‘ทุน’ ว่าเรียนเก่งหรือยากจนอะไร และแม้ว่าจะเป็นสาขาที่จบมาแล้วตกงาน สาขาที่เมื่อเรียนจบแล้วเขาอาจต้องไปทำงานเป็นพนักงานร้านกาแฟ แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องกังวลเพราะมันเป็นสิ่งที่เขาอยากเรียน ฉะนั้น พอมันมี social safety net (โครงข่ายรองรับทางสังคม) ตัวนี้ คุณก็สามารถไปเรียนประวัติศาสตร์ เรียนวรรณคดี เรียนวรรณกรรม เรียนอะไรได้โดยไม่ต้องคิดถึงการตอบสนองต่อมูลค่า
ยังรวมถึง พอเมื่อพ่อแม่แก่ เขาก็ไม่ต้องคิดว่าเขาต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะมันเริ่มจากการที่พ่อแม่เขามีบำนาญ เขาก็เลือกเรียนในสาขาที่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เขาสนใจได้ กระทั่งเขาก็ไม่ต้องคิดว่าถ้าเขาแต่งงานแล้วลูกเขาต้องเรียนนานาชาติ หรือเอกชนราคาแพง เพราะโรงเรียนที่ดีที่สุดอยู่ใกล้บ้าน เด็กที่เกิดมาทุกคน รัฐบาลเค้าแจกเงินค่าเลี้ยงดูบุตรให้ต่อเดือนประมาณ 5 – 6 พันบาท ซึ่งคอนเซปต์ง่ายๆ แบบนี้แหละที่ทำให้การศึกษามันเติมเต็มความต้องการของคนได้
ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ เราจะไม่ต้องเป็นหนี้เพราะการศึกษา
งั้นขอเริ่มที่ประเด็นแรกนะคะ ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการทางการศึกษา เราจะไม่ต้องเป็นหนี้เพราะเราอยากเรียนหนังสือ คือเราเป็นคนหัวดี เราขอทุนได้ แต่ถ้าเราไม่ได้หัวดีมาก เราอาจต้องกู้ กยศ. และติดลบตั้งแต่วันแรกที่สตาร์ทงาน
ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ผมคุยกับเพื่อนอาจารย์ที่ต่างจังหวัด ซึ่งเขาเล่าเหมือนเป็นเรื่องโจ๊กนะแต่ก็เป็นตลกร้ายมากเลย เขาบอกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วชาวบ้านที่แถวบ้านมีการลงทุนอันนึง คือการขายที่แล้วก็นำเงินไปลงทุนกันแต่เป็นการลงทุนที่ผิดพลาด แล้วตอนนี้เงินก็หมด ที่ทางก็หมด ผมถามว่ามันคือการลุงทุนอะไร เขาบอกว่าคือการขายที่แล้วส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย แล้วไม่ใช่ว่าลูกไม่รักดีแล้วเรียนไม่จบนะ คือลูกก็รักดีและก็เรียนจบ แต่ก็จบมาแล้วเท่านั้น หมดค่าเรียนไปประมาณสี่ห้าแสน ซึ่งส่วนหนึ่งจบก็ต้องใช้หนี้กยศ. ด้วย และส่วนหนึ่งก็ต้องหางานประจำทำแล้วก็อยู่ไกลออกไป
อย่างที่ถาม ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการแล้วจะทำให้เรื่องหนี้มันหายไปได้มั้ย อันนี้ชัดเจนมากเลย ซึ่งเราอาจมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยนะ แต่หนี้กยศ. ที่คุณต้องใช้ 15 ปีมันค้ำอยู่บนหัว มันทำให้คนไม่สามารถไปทำอะไรได้จริงๆ อย่างที่เคยมีข่าวสาวกู้กยศ. แล้วจะโดนยึดบ้าน ไม่สามารถใช้หนี้ 17,000 บาทได้ แล้วประชากรส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งก็คือชาวพันทิป (หัวเราะ) ก็จะด่าว่า เอ้ย…ทำไมไม่บริหาร เงินแค่หมื่นเดียวทำไมหาไม่ได้ ไม่มีวินัย คุณกู้มาก็ต้องใช้คืน นี่คือภาระของคนรุ่นหลังอะไรต่างๆ อีก …เราไม่รู้หรอกว่าเงินหนึ่งหมื่นสำหรับบางคนในบางช่วงชีวิต มันสำคัญมากขนาดที่คุณไม่รู้ว่าจะหามาจากไหน ขนาดฟ้องยึดบ้านก็ยอม ทำไมเราไม่ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมเขาต้องกู้ ทำไมเรื่องเหล่านี้ไม่เป็นสิทธิ?’
ผมลองมาคำนวณง่ายๆ ว่า เรามีคนระดับการศึกษาหลังม.ปลาย ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงเอก นับรวมหมดเลยจะมีประมาณสองล้านคน อยู่ประมาณสองล้านคนทั่วประเทศ ถ้าลองใช้ระบบค่าใช้จ่ายรายหัวแบบที่กยศ. เคยคำนวณ หรือเป็นแบบที่เราเคยใช้สำเร็จอย่างระบบ 30 บาท งบการเรียนของคนๆ นึงจะใช้งบประมาณ 100,000 บาท คือค่าเทอมสองหมื่น ปีหนึ่งก็ตกสี่หมื่น บวกค่ากินอยู่เดือนนึงประมาณสี่ห้าพัน คิดแบบนี้ก็ประมาณคนละแสน สองล้านคนก็คือสองแสนล้านบาทต่อปี
ซึ่งงบประมาณประเทศนี้อยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี คุณใช้แค่สองแสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ก็พลิกโฉมการศึกษาได้เลย ทำให้ทุกคนได้เรียนมหาวิทยาลัยฟรีได้ ซึ่งนี่ไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย ใช้เท่ากับกระทรวงกลาโหม โอเค…ไม่ต้องยกงบกระทรวงกลาโหมก็ได้เพราะประเทศนี้งบกลาง มีงบอะไรต่างๆ มากมาย แต่ผมแค่อยากชี้ว่ามันเป็นไปได้
ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ ชีวิตมันเป็นอีกแบบหนึ่งเลย ซึ่งนี่ก็เหมือนเรื่องดราม่านะ ผมเล่าหลายครั้งแต่ก็อยากย้ำอีก ผมเคยเซ็นผ่อนผันให้นักศึกษาที่เค้าไม่สามารถจ่ายค่าเทอมได้ ผ่อนผันมาจนจะมิดเทอม ผมถามว่าถ้าไม่มีก็ลองกู้กยศ. มั้ย เขาบอกว่าเขาก็อยากกู้ แต่พอเขาไปบอกพ่อเขา พ่อก็บอกว่าหัวเด็ดตีนขาดยังไงก็ไม่ยอมให้กู้ เขาบอกว่าพ่อเขาเป็นคนขายประกัน เขารู้อยู่แล้วว่าพ่อมีรายได้เท่าไร การจะหาเงินสองหมื่นมาเป็นค่าเทอมมันเป็นไปไม่ได้หรอก จะเอาเงินสองหมื่นมาจากไหน เขาบอกผมว่านี่คือประโยคที่พ่อบอกเขา “มึงจำคำกูไว้นะ มึงเกิดมาเป็นลูกคนขายประกัน ถ้าชีวิตมึงต้องเริ่มต้นตอนอายุ 22 ด้วยการเป็นหนี้สามแสนบาท ชีวิตมึงทั้งชีวิต ก็เป็นได้แค่คนขายประกัน” ตอนจบ พ่อเขาก็ไปกดบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดอะไรสักอย่างมาจ่าย เหมือนโฆษณาบัตรกดเงินสดอะ ‘ชีวิตได้ไปต่อ’
คือถ้าเรามองด้วยสายตาแบบเศรษฐศาสตร์ เฮ้ย พ่อโคตรโง่เลย หนี้กยศ. มันมีดอกเบี้ยแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่หนี้บัตรเครดิตมีดอกเบี้ย 28 เปอร์เซ็นต์ ทำไมพ่อทำแบบนี้ แต่พ่อเขาบอกว่า ‘ความจนทั้งหมดให้มันจบที่พ่อ ถ้าจะมีหนี้ ก็ให้มันตายที่พ่อ แล้วเอ็งจะได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่’ คืออย่าเริ่มต้นด้วยการมีหนี้กยศ. น่าเศร้านะ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการ แค่สองแสนล้านบาทต่อปี ผมว่ามันเล็กน้อยมากเลยกับการที่คนๆ นึงจะสามารถเริ่มต้นชีวิตของเขาได้โดยไม่ต้องคิดเรื่องเงินเลย
เหมือนเป็นการส่งต่อมรดกความจน
จริงๆ มันมีตัวเลขที่ค่อนข้างชัดของธนาคารโลกเรื่องการเลื่อนลำดับชั้นระหว่างเจนของคน ซึ่งค่อนข้างละเอียดและมีข้อมูลของประเทศไทยด้วย คือเทียบกับคนที่เกิดในทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2533) คนที่เกิดในช่วงเวลานี้ ฐานะของเขาเทียบกับพ่อแม่เรื่องทรัพย์สินต่างๆ มันเป็นยังไง มันมีดัชนีนึงที่ธนาคารทำคือ ‘ดัชนีอภิสิทธิ์’ คือโอกาสที่ทรัพย์สินของพ่อแม่จะถูกส่งให้ลูกมีกี่เปอร์เซ็นต์ ทรัพย์สินที่ว่านี้รวมถึงหนี้สิน รวมถึงความจน คอนเนกชันต่างๆ ซึ่งของไทยอยู่ค่อนข้างสูงคือ 40 เปอร์เซ็นต์ คือถ้าพ่อแม่มีเงินร้อยล้าน โอกาสที่ลูกมีเงินโดยเฉลี่ย 40 ล้านโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย เช่นกัน ถ้าพ่อมีหนี้หนึ่งล้าน ลูกจะได้หนี้มาสี่แสนบาทโดยอัตโนมัติโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งคนรุ่นใหม่ไทยจะเจอภาวะแบบนี้เยอะมาก
แต่ประเทศพวกนี้ น่าสนใจมากคือ โอกาสของการส่งต่อทรัพย์สินในนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ อยู่ประมาณ 19 – 20 เปอร์เซ็นต์ คือน้อยกว่าไทยมากกว่าครึ่ง นั่นหมายความว่าความจนของพ่อแม่มีโอกาสส่งให้ลูกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือความรวยของพ่อแม่ก็มีโอกาสส่งให้ลูกเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ จากสิ่งที่พ่อแม่เคยได้รับ เพราะคุณจะได้รับสวัสดิการจากรัฐที่มันใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกัน ผมเลยมองว่ารัฐสวัสดิการสำคัญเพราะทำให้การเลือกเกิดไม่ได้เป็นโมฆะ อันนี้สำคัญมากเลยคือ ทุกวันนี้เราบอกว่าคนเลือกเกิดมาไม่ได้ คนรวยก็บอกว่าฉันเลือกเกิดไม่ได้ ฉันรวยประมาณนี้แล้วจะให้สิ่งเหล่านี้เป็นโมฆะเหรอ? แต่เรื่องที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นโมฆะได้คือเรื่องสวัสดิการนี่เอง
จริงๆ แล้วสำนักข่าวบีบีซีเคยทำสกู๊ปว่า ถ้าคุณเกิดในไทยแล้วมีเงิน 100 ล้านบาท กับ การเป็นจีเนียส (บุคคลอัจฉริยะ) อะไรทำให้คุณประสบความสำเร็จมากกว่า คำตอบคือมีเงิน 100 ล้านบาท แต่ถ้ามีรัฐสวัสดิการ ก็ทำให้อย่างน้อยที่สุดเรื่องการเลือกเกิดไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นแรงงานอพยพ คุณเป็นเศรษฐี คุณเป็นข้าราชการ เรื่องเหล่านี้เป็นโมฆะ มันจะไม่ใช่การ set zero อะไรหรอก แต่อย่างน้อยก็ครึ่งนึง ซึ่งผมมองว่าโอกาสของคนรุ่นใหม่จะตามความฝันได้มากขึ้น ไม่ถูกล็อกถูกขังด้วยชาติกำเนิด มันก็ทำให้คนมีโอกาสมากขึ้น
‘การศึกษาจะช่วยขยับฐานะ’ จึงไม่ใช่ความจริงสำหรับเราเท่าไร
นักศึกษาผมทำโปรเจกต์จบประเด็นคล้ายๆ แบบที่คุณถาม คือถ้าการศึกษาคือการเลื่อนลำดับชั้นจริง ทุกคนพยายามดิ้นรนเพื่อจะเลื่อนมัน แล้วทำเป็นสมการออกมาว่า ถ้าเราเอามหาวิทยาลัยชั้นนำออกจากสมการเศรษฐกิจการเมืองไทย เอาออกไปหมดเลยนะ ถ้าสมมติฐานว่าการศึกษาจะทำให้คนเลื่อนลำดับชั้นได้จริง แปลว่าถ้าเอามหาวิทยาลัยชั้นนำออกไปจากสมการหาร โครงสร้างชนชั้นนำไทยต้องวุ่นวายปั่นป่วน แต่ปรากฎว่าเมื่อลบออก โครงสร้างชนชั้นนำไทยเหมือนเดิมเลย มันเลยยืนยันว่าถ้าคุณเป็นชนชั้นนำ/ชนชนกลาง คุณก็จะได้เรียนมหาวิทยาลัยชนชั้นกลาง/ชนชั้นนำ และได้เรียนในคณะที่ทำเงินได้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่จบมาแล้วมีงานทำ
สรุปแล้วคือ มหาวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลื่อนลำดับชั้นอะไรเลย มันเป็นเพียงแค่น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์อันทำให้ความเหลื่อมล้ำอยู่ต่อ คือคนที่ได้รับโอกาสก็ได้รับโอกาสมากขึ้นๆ ต่อไป ฉะนั้นการดิ้นรนของคนจนขึ้นมาข้างบนจึงเป็นภาพส่วนน้อยมาก และจริงๆ ไม่ใช่แค่ที่ไทย ในอเมริกาหรือประเทศทุนนิยมทั่วไปก็มีลักษณะแบบนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
จริงๆ มีทฤษฎีรัฐสวัสดิการอันนึงที่เรียกว่า W-curve บอกว่าในระบบทุนนิยม เราทำงานช่วงแรก เราจะรู้สึกว่าเราลืมตาอ้าปากได้ ความจนจะน้อยลง พอมีครอบครัวเราก็กลับมาจนเหมือนเดิม พอชีวิตจะดีขึ้นเมื่อลูกโต หรือช่วงที่เราอายุประมาณ 55 ปี ลูก เรียนจบหมดแล้วความจนก็น้อยลง แต่พออายุ 60 เราก็กลับมาจนเหมือนเดิม ต้องอยู่ด้วยเงินเก็บที่เรามี ซึ่งผมเคยทำเซอร์เวย์เรื่องนี้นะแล้วได้คุยกับคนที่เงินเดือนสัก 70,000 บาท อายุ 40 – 45 ถามเขาว่าเงินพอไหม? เขาบอกว่าก็เดือนชนเดือนนะ มีลูกสอง มีพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงอีกสองคน ดูแลพ่อตาแม่ยายอีก กลายเป็นว่า 70,000 บาท เลี้ยงดูอยู่ 5 – 6 ชีวิต เขาบอกว่าแค่ไม่เป็นหนี้ก็ถือว่าดีแล้วในแต่ละเดือน
พอยต์หลักที่ผมอยากแชร์คือ เวลาที่เรามองรายได้ของปัจเจกชนหรืออะไรก็แล้วแต่ มันเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของครอบครัวเขาด้วย ถ้าเกิดว่าพ่อแม่ไม่มีภาระ พ่อแม่สามารถทำงานได้ หรืออยู่ในครอบครัวที่มี passive income มีที่ดินหรืออะไรก็แล้วแต่ ลูกก็จะสามารถวิ่งตามความฝันได้ ข้อจำกัดในชีวิตอะไรก็จะน้อยลง
ในการขยับชนชั้น การศึกษาคือเรื่องรองแต่คอนเนกชันสิแน่จริง
จริงๆ มันแทบจะเป็นดีเอ็นเอโดยกำเนิดเลย ถ้าคุณเกิดมาอยู่ในครอบครัวนี้ มีเครือข่ายนี้ คุณก็ได้รับคอนเนกชันแบบนี้ และจริงๆ เราก็ทราบอยู่แล้วว่าคอนเนกชันมันเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณเลื่อนลำดับชั้นหรือประสบความสำเร็จได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีคอนเนกชัน
ผมเคยทำสำรวจแรงงานเหมาค่าแรง ในโรงงานจะมีพนักงานรายเดือน พนักงานรายวัน แล้วก็พนักงานแบบเหมาซึ่งเหมาผ่านบริษัทเอาท์ซอร์ส ผมสัมภาษณ์ว่า เขาคิดว่าลูกหลานเขามีโอกาสมาทำงานที่เขาอยู่ตรงนี้ เป็นพนักงานเหมาค่าแรงกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ปรากฏว่าเขาประเมินออกมา 60 เปอร์เซ็นต์ เขาบอกว่าเพราะมันเป็นคอนเนกชันเดียวที่เขามีในชีวิต คือเจ้าของบริษัท sub contract เขารู้จักคนที่จะฝากเข้าทำงานที่ไหนได้บ้าง ก็ฝากเข้าทำงานเป็นพนักงานเหมาค่าแรงที่ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีอะไร ก็ทำแบบนี้ไปจนกระทั่งตัวเองทำงานไม่ไหว ผมมองว่าเรื่องการขึ้นลำดับชั้นในประเทศที่ไร้สวัสดิการ มันเป็นเรื่องโกหก เป็นนิยาย เป็น Cinderella story ถึงต่อให้อยากมีเส้นสายกับคนใหญ่โตจริงๆ ก็ต้องมีคอนเนกชันต่างๆ ที่จะพาคุณเข้าไป คุณจะไปทำงานกับเจ้าสัวแล้วบังเอิญได้ฟังเรื่องหุ้นทุกวันเหมือนในนิยายฮอลลีวูด คุณก็ต้องมีคอนเนกชันซึ่ง มันก็ไม่ใช่เรื่องสำหรับทุกคนอยู่ดี อะไรแบบนี้ มันก็เป็นอีกพอยต์นึง
ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ เราจะไม่ต้องขอทุนการศึกษาด้วยระบบ ‘พิสูจน์ความจน’
เคยอ่านบทสัมภาษณ์เก่าของอาจารย์ เล่าว่าจุดที่ทำให้รู้สึกมากๆ กับเรื่องรัฐสวัสดิการ คือการขอทุนที่ต้องพิสูจน์ความจนของน้องสาว
เรียกว่าชิ้นนั้นเป็นบทสัมภาษณ์แรกๆ ของผมเมื่อ 11 ปีก่อนเลยนะ (ยิ้ม) ตอนนั้นผมอายุประมาณ 25 ก็เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ผมต้องรับผิดชอบครอบครัว เพราะพ่อผมอายุเยอะและเป็นข้าราชการบำนาญ ตอนนั้นได้บำนาญตอนเกษียณที่ดูเหมือนว่าเยอะ ก็คือเดือนละสองหมื่น แต่พอเวลาผ่านไป สองหมื่นที่ต้องเลี้ยงลูกสามคนและไม่มีรายได้ทางอื่น มันก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างหนักเหมือนกัน พอผมเรียนจบ ผมก็ต้องพยายามหางานเสริมเพราะตอนนั้นเริ่มเรียนปริญญาเอก หนักมาก ถึงแม้จะได้ทุนเดือนละ 8,000 บาท เป็นเรตในสิบปีก่อนนะครับซึ่งบางคนก็ว่าเยอะ บางคนก็ว่าน้อย เหมือนกับเงินเดือนข้าราชการ แต่มันก็ไม่พอ ช่วงปี 51 – 52 ถ้าเทียบกับภาระที่เราต้องรับผิดชอบ ก็หางานทำเพิ่มภายใต้เงื่อนไขต่างๆ
ตอนนั้นน้องสาวผมเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ก็ต้องพยายามส่งเสียน้องอย่างน้อยที่สุดคือค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่ผมคิดว่ามันมีส่วนหนึ่งที่น่าเศร้าคือ ที่จุฬาฯ ทุนเยอะถ้าเทียบกับหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แต่กระบวนตอนนั้น คือ คุณต้องไปพิสูจน์ความจนเพื่อให้ได้รับ น้องก็มาเล่าให้ฟังว่าต้องทำอะไรบ้าง เขาบอกว่าต้องถ่ายรูปภาพบ้านมุมที่จนที่สุด ถ้าเขาเห็นบ้านเราเป็นบ้านเดี่ยว เขาอาจจะไม่แฮปปี้ที่จะให้ทุนก็ได้
ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ผมรู้สึกว่ามันทำลายความเป็นมนุษย์มากเลย ที่ผมรู้สึกไม่ดีก็เพราะเราคาดหวังว่าน้องเราควรมีชีวิตที่ดี ได้รับการเคารพอย่างสมศักดิ์ศรี เพราะเขาก็เป็นคนที่เติบโตในภาพของผู้หญิงรุ่นใหม่ เจนใหม่ เป็นผู้หญิงที่มีความคาดหวังในชีวิตที่ต่างไปจากผู้หญิงเจนก่อนๆ แต่ทุกเทอมเขาต้องมาเล่าบรรยากาศการ declare (ประกาศ) ความจนให้เราฟัง
ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเลวร้ายอะไรหรอก เพราะนี่เป็นกระบวนการที่เราทำมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นระบบที่ดีนัก หนึ่ง – มันแก้ไขความเหลื่อมล้ำอะไรไม่ได้ สอง – มันทำลายความเป็นมนุษย์มาก หรือแม้ในปัจจุบันปี 2020 วิธีการสัมภาษณ์ทุน เขายังเอาเด็กมานั่งเรียงกัน 10 คนแล้วให้ทุกคนประจานความจนของตัวเอง พอประจานครบ เขาจะมีคำถามว่า ‘เมื่อฟังเคสของเพื่อนครบแล้ว ใครคิดว่าตัวเองไม่น่าสงสารเท่าเพื่อน ถอนตัวได้นะ’ ซึ่ง… มันแย่ใช่มั้ย แต่นี่คือมายเซ็ตที่ฝังรากในสังคมไทย บางคนบอกว่า เฮ้ย มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ยอมๆ ทนๆ ไป แต่มันอยู่ในความคิดของผมตลอดเวลาที่เราพูดเรื่องนี้
ถามว่าประสบการณ์ช่วงเวลานั้นของผมมันเป็นเรื่องโศกเศร้าเสียใจร้องไห้อะไรมั้ย? มันก็ไม่ขนาดนั้น แค่รู้สึกเจ็บๆ นิดๆ แค่นั้นเอง แต่นี่แหละคือกระบวนการที่ระบบทุนนิยมมันทำงานกับเรา ให้มันเป็นความเจ็บที่เราทนได้ ความเจ็บที่เรารู้สึกว่าประนีประนอมกับมันได้ แล้วหวังให้มันผ่านไปหรือหวังให้มันไปอยู่กับคนอื่นที่ไม่ใช่เรา
แต่การขอทุนมันทำงานกับความคิดเราไปแล้วว่า การขอทุนเป็นเรื่องของเด็กที่เรียนเก่ง ต้องขวนขวาย (แทบตาย) เพื่อจะได้เรียน ยิ่งถ้าได้ทุนจากรัฐ ได้ทุนเพราะครูคนนี้เป็นคนชี้แนะหรืออนุมัติให้เราได้ทุน ลึกๆ เราจะรู้สึกว่าเป็นหนี้บุณคุณ เพราะเขา ‘ให้’ ทุนเราเรียน เป็นระบบอุปถัมภ์ในอีกแบบนึง
ตอนที่ผมได้ทุน หมายถึงในส่วนของผมนะ ผมก็ไม่ได้ conform อะไรกับเรื่องบุญคุณ คือคิดว่าเป็นสิทธิที่เราพึงได้ แต่ถ้าชวนมองในมุมใหญ่มันก็เป็นแบบนี้ และยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด มันก็ยิ่ง conform กับระบบอุปภัมถ์มากๆ ว่า ครูคนนี้คือคนที่สัมภาษณ์ฉันนะ ครูคนนี้คือคนที่เอาทุนมาบอก อาจารย์คนนี้สัมภาษณ์ทำให้ฉันได้อยู่หอพักมหาวิทยาลัย มันมีคอนเซปต์ของการอุปภัมถ์แบบนี้ต่อไป และจริงๆ ตรงนี้ก็น่าสนใจในมูฟเมนต์ของขบวนการคนรุ่นใหม่ที่ออกมา ผมว่าด้านนึงคือการต้านกับแนวคิดอุปภัมถ์จอมปลอมที่มีอยู่ในสังคมไทย ว่ามันไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในประเทศนี้เลย
‘ถ้ารัฐสวัสดิการดี เราจะได้โรงเรียนที่ดีใกล้บ้าน’
ประเด็นต่อไปคือ ‘ถ้ารัฐสวัสดิการดี เราจะได้โรงเรียนที่ดีใกล้บ้าน’
สักช่วงสองปี ตอนที่ผมไปสอนที่นอร์เวย์ มหาวิทยาลัยออสโล ได้คุยกับอาจารย์คนนึงอายุประมาณ 40 ต้นๆ มีลูกสาววัย 12 – 13 ปี แล้วผมก็ถามประเด็นรัฐสวัสดิการกับการศึกษาว่า ถ้าพูดถึงระบบการศึกษาบ้านเขาจะให้เท่ากันทุกคน ไม่ว่าเด็กจะเป็นแบบไหนก็จะได้รับการทรีตแบบเดียวกัน ได้รับ material (ปัจจัย) แบบเดียวกัน ได้รับสวัสดิการแบบเดียวกันและอยู่ใกล้บ้าน
material ที่ว่า เช่นอะไรบ้าง
จริงๆ material ไม่ได้เยอะและซับซ้อน เพียงแค่โรงเรียนมีสนามให้วิ่ง มีเวลาเรียนที่น้อย มีครูที่ใส่ใจ ผมให้เทียบกับโรงเรียนอินเตอร์ที่นักเรียนต่อห้องมีสักสิบกว่าคน อะไรแบบนี้ ผมก็ถามเขาต่อว่าแล้วระบบแบบนี้มันเวิร์กจริงเหรอ แล้วเราก็คิดแบบคนเอเชียอะเนอะว่าหากเราให้เด็กทุกคนเท่ากัน แล้วถ้ามีเด็กอัจฉริยะโผล่ขึ้นมา ถ้ามีเด็ก gifted เด็กช้างเผือกที่จะเป็นไอน์ สไตน์ หรือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นนู่นเป็นนี่ โรงเรียนที่จัดสวัสดิการที่เท่ากันและปฏิบัติต่อทุกคนเท่ากัน ไม่มีสอบ… คือสอบก็ยังไม่มีเลยอะ แล้วคุณจะหาเด็ก gifted ต่างๆ เจอได้ยังไง?
เขาขำแล้วบอกว่า คุณรู้มั้ย…พ่อแม่ทุกคนก็คิดว่าลูกตัวเองเป็นเด็กอัจฉริยะทุกคนนั่นแหละ เอางี้ ถ้าคุณอยากให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ ง่ายที่สุดเลยคือให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะงานวิจัยก็ยืนยันว่าคนที่จะค้นพบศักยภาพได้ดีที่สุดคือพ่อแม่ ดังนั้นสิ่งที่นอร์เวย์ทำคือ เรียนให้น้อย ไม่มีการบ้าน แล้วให้พ่อแม่มีเวลาให้กับลูก พ่อแม่จะมีเวลาให้ลูก ง่ายมาก ก็คือการทำให้เงินเดือนเยอะ ค่าแรงขั้นต่ำสูง มีวันลามาก ชั่วโมงการทำงานวันละ 6 ชั่วโมงพอ
ถ้าผมจำไม่ผิด ที่นอร์เวย์ พ่อแม่แต่ละคนสามารถเก็บวันลาได้จนลูกอายุ 9 ขวบประมาณ 400 วันต่อการลาของพ่อและแม่ (จนกว่าลูกอายุ 9 ขวบ) แล้วคุณอาจจะลาประมาณ 300 วันหรือสิบเดือนทีเดียวก็ได้ แล้วก็เก็บไว้อีกปีละ 10 วันเพื่อคุณพาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้จนลูกอายุ 9 ขวบ
นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ คุณไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาเดินทาง ไม่ต้องคิดถึงการสละเวลาวนรถจอดส่งลูกเข้าเรียนตอนเช้า แล้วก็ทำให้รถติดสะสมยาว 2-3 กิโลเมตร มันก็ทำให้คุณภาพชีวิตดี เด็กพัฒนาได้
นี่คือด้านนึงที่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนที่มีคุณภาพอยู่ใกล้บ้าน ทำให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ดี ขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กมีเวลาค้นหาตัวเอง ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ เราผ่านไปที่สาทร เราเห็นป้ายโฆษณาใช่ไหมที่มันขึ้นว่า ‘ซื้ออนาคตให้ลูก ซื้อคอนโดเริ่มต้น 5 ล้านบาทอยู่ตรงข้ามโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน’ อะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นๆ
นิยามคำว่า ‘คุณภาพ’
มันมีการพยายามก็อปโมเดลการศึกษาฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เข้ามาในไทยเยอะมากเลย แต่ผมคิดว่าที่ไทยทำไม่สำเร็จ ด้านหนึ่งคือกุญแจในคำว่า ‘คุณภาพ’ ของเขาคือวาไรตี้ คือความหลากหลายของคนที่อยู่ในชั้นเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมากสำหรับการศึกษา เพราะมันทำให้คุณจินตนาการถึงโลกที่แท้จริงได้ นึกถึงลูกประธานาธิบดีกับลูกผู้อพยพชาวซีเรีย ลูกซีอีโอ ลูกเจ้าของร้านขายของชำเรียนในชั้นเรียนเดียวกัน มันทำให้เขาแชร์จินตนาการ แชร์ความคิดได้ นี่แหละคือคำตอบว่าทำไมรัฐสวัสดิการในประเทศพวกนี้ยังคงอยู่ ทำไมมันถึงไม่หายไป
เพราะว่าวันนึงลูกของซีอีโอกลายเป็นประธานาธิบดีในประเทศที่ยังมีคนจนคนรวย แต่พอคนๆ นี้เขามองกลับมาที่สวัสดิการพวกนี้ก็จะทำให้เขารู้สึกว่าเขาเคยใช้ เค้าอยู่ในระบบนี้ เขาเป็นส่วนหนึ่งกับมัน และเขายังอยากทำให้มันดีขึ้น เขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นเอเลี่ยน มันแปลกแยกเลย แต่เราลองนึกสิว่าถ้าชนชั้นนำไทยต่อไปได้เป็นสส. เป็นนายก เป็นเจ้าของบริษัท เวลาเขามองกลับมาที่โรงเรียนวัด เขาจะรู้สึกยังไง
หลักใหญ่ของคำว่าคุณภาพ คือ การศึกษาไม่ได้เรียนเพื่อสร้างคนไปทำงานอย่างเดียว มันไม่ใช่เลย ผมคิดว่ามันเป็นส่วนที่เพิ่งถูกงอกมาทีหลังด้วยซ้ำ คุณต้องหาความหมายของชีวิตตัวเอง หาความหมายของสังคมได้ก่อน เรื่องงานน่ะ ทุกคนต้องทำอยู่แล้วแหละกับการอยู่ในระบบนี้ แต่ว่าพอไปมองเรื่องคุณภาพว่าคือการที่คุณได้คะแนนวิทย์-คณิตสูงเพื่อไปอยู่ในองค์กรบรรษัทข้ามชาติต่อไป
คุณภาพอีกด้านนึงคือ ความแตกต่างด้านคุณภาพโรงเรียนในฟินแลนด์ ถ้าให้ผมเทียบนะ เหมือนจากเตรียมอุดมฯ ถึง โรงเรียนอบต. ในอุทัยธานี หรือระหว่างโรงเรียนก. กับ ข. จะต่างกันไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ของไทย โรงเรียนก. กับ โรงเรียน ข. สามารถต่างกันได้ 35 เปอร์เซ็นต์ ตัวนี้แหละเลยเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อปัญหาอะไรต่างๆ ที่เราพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ คุณภาพมนุษย์
ความแตกต่าง 5 เปอร์เซ็นต์ กับ 35 เปอร์เซ็นต์ อะไรที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่นั่นมันห่างกันน้อย?
ผมคิดว่ามาจากประเด็นเรื่องความเป็นประชาธิปไตย คือเรื่องพวกนี้มันก็ได้มาด้วยการต่อสู้เนอะ ฟินแลนด์เคยมีนัดหยุดงานครั้งใหญ่ 600,000 คนในช่วงทศวรรษ 60 สวีเดนเองก็เคยนัดประท้วงหยุดงานทั้งประเทศ (general strike) พอประท้วงแล้วทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิ ทีนี้เรื่องการบริหารจัดการสวัสดิการใหญ่ๆ ทั้งหมดที่เป็นหมวด ‘การให้บริการ’ ซึ่งจัดการโดย ‘ท้องถิ่น’ แล้วส่วนท้องถิ่นของเขาก็มีความเป็นประชาธิปไตยมากๆ มีอำนาจมาก เช่น เคยมีประชาชนมาฟ้องเทศบาลของเขาว่า ‘นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ล้มเหลวเพราะขาดทุน’ ศาลสวีเดนตัดสินว่านโยบายท้องถิ่นขาดทุนไม่เป็นไร ขาดเท่าไรเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้อง fund เงินใส่เข้าไป ตัวเลขลบเท่าไรต้องใส่เข้าไป เพราะนี่คือเจตจำนงของประชาชน
พอเรามีท้องถิ่นที่รับผิดชอบ หรือ accountability ต่อคนมากๆ มันก็ชัดว่าคนต้องการโรงเรียน คนต้องการโรงพยาบาล คนไม่ได้ต้องการวงเวียนแต่ต้องการรถเมล์ที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เลยทำให้สวัสดิการมันสตาร์ทขึ้นมาในระดับท้องถิ่น พอสวัสดิการในระดับท้องถิ่นดี คนก็ไม่ต้องย้ายออก ถ้าเรามีโรงเรียนคุณภาพระดับโรงเรียนประจำจังหวัดของไทยแต่มีอยู่ทุกตำบลล่ะ? คนก็ไม่ต้องย้ายออกไปไหน แล้วรัฐไม่ต้องคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุน มายเซ็ตสำคัญของไทยที่มันแย่ต่อการจัดทำนโยบายสาธารณะคือเรื่องกำไรขาดทุน
เรื่องนี้นะ…ขนส่งสาธารณะนี่ไม่ต้องพูดถึง ประเทศกลุ่มนอร์ดิก คือแม้แต่ในเยอรมันนี่ก็ขาดทุนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ตามเทศบาลชุมชนต่างๆ ลงทุน 100 ล้าน โยนทิ้งเลย 70 ล้าน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ การศึกษาก็เช่นเดียวกัน คุณไม่ต้องคิดหรอกว่าโรงเรียนอ.บ.ต. โรงเรียนเทศบาลจะขาดทุนรึเปล่า คุณทำให้มันดี คนก็อยู่ พอคนอยู่ เรียนไปกระทั่งจบมัธยม คนก็ทำงานอยู่ที่นี่ แต่ของไทย ตั้งแต่ม.1 เลยที่คุณต้องหอบผ้าหอบผ่อน เดินทางไกล คุณไม่รู้สึกว่าที่บ้านมีอะไรคอยคุณอยู่
ผมสอนนักศึกษาที่ มธ.ศูนย์ลำปาง ผมถามว่ามีคนลำปางกี่คนในห้อง ปรากฎว่ามี 2 คนจาก 20 คน ประมาณนี้ ผมถามว่าเรียนจบแล้วแล้วคุณจะทำงานที่ลำปางมั้ย เขาบอกว่าไม่มีงานอะไรที่รองรับเขาได้ เรื่องนี้ก็มีทฤษฎีหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์สวีเดนเรื่อง ‘การสะสมความเป็นเหตุเป็นผล’ (cumulative causation) คือพอคุณลงทุนในสวัสดิการเยอะ คนก็จะอยู่ในชุมชนของคุณเยอะ พออยู่ในชุมชนคุณเยอะ คุณก็มีสตาร์ทอัพ มีธุรกิจมากขึ้นๆ ฉะนั้นเงินภาษีก็กลับมา fund ตัวระบบสวัสดิการต่อเนื่องต่อไป
คิดว่าเป็นไปไม่ได้
มันคงเป็นไปไม่ได้ถ้าเรามองผ่านมายเซ็ต ณ ปัจจุบันของเรา เพราะเราคุ้นกับสวัสดิการ โอเค…ถ้าคุณไม่เก่ง คุณก็ต้องจนเพื่อให้คุณได้รับสวัสดิการ (เช่น ทุนเรียน) แต่จริงๆ ย้อนไปตอนเกิด ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ ตอนนั้นไม่คิดว่าจะมี จะเป็นไปได้ว่าประเทศจะมีเงินปีละแสนล้านมาใช้จ่ายกับเรื่องนี้ คือหลังจากคุณหมอสงวน (นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ได้ไปเสนอเรื่องนี้กับทุกพรรคการเมือง แต่พรรคที่เซย์เยสคือพรรคไทยรักไทย พอชนะเลือกตั้ง ก็ถามหมอสงวนว่านโยบายนี้ต้องใช้เวลากี่ปีเพราะต้องรื้อระบบราชการใหม่หมด หมอสงวนก็บอกว่าน่าจะสองปี แต่สองปีในทางการเมืองนี้มันนาน ไม่มีใครคอยนโยบายได้สองปีหรอก ซึ่งอันนี้ก็สำคัญมาก ตอนนั้นพรรคไทยรักไทยเลยคิกออฟที่ 6 จังหวัด แล้วพอ 6 จังหวัดทำได้ จังหวัดอื่นก็แย่งกันทำ สุดท้ายมันก็เกิดทั้งประเทศในเวลาแค่ 6 เดือน ตรงนี้ผมคิดว่ามันน่าสนใจ มันขึ้นอยู่กับความคิดเรื่องความเป็นไปได้
คนรุ่นใหม่ที่เขาสนใจเรื่องการเมืองท้องถิ่น เช่น จังหวัดเล็กๆ อย่างปราจีนบุรี เขาบอกว่าถ้าทำขนส่งสาธารณะ เฉพาะแค่รถเมล์ที่ดีและมีคุณภาพ จะต้องใช้ปีละ 200 ล้านบาท เขาบอกว่าเขาไปคุยกับผู้ใหญ่มากมายในจังหวัดและทุกคนก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่พอเขาเอางบมาตีให้ดู พบว่าปราจีนบุรีซ่อมถนนปีละ 200 ล้าน แล้วถ้าคุณเลิกซ่อมถนนสักปี มาทำขนส่งสาธารณะล่ะ?
คนเถียงกันบ่อยว่า ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการทำได้เพราะเค้าเสียภาษีแพง
นี่เป็นคำถามที่คนชอบถามผมเหมือนกัน คือ ‘ถ้างบเรามีจำกัด เราต้องเอาอะไรก่อน?’ เราจะเห็นว่าเวลาพูดถึงคอนเซปต์นี้มันต้องไปด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่การศึกษาอย่างเดียว แต่คือเรื่องการจัดสรรงบประมาณทั้งหมด เป็นสิ่งที่เราทำได้ ไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่ได้เพ้อฝันอะไรเลย
ผมเพิ่งอ่านหนังสือของ Joseph E. Stiglitz เล่ม People, Power, and Profits: Progressive Capitalism for an Age of Discontent ข้อหนึ่งแกบอกว่าสหรัฐอเมริกามักอ้างว่าไม่มีเงิน ในการจัดการศึกษาฟรี และการรักษาพยาบาลแก่ทุกคน ซึ่งเรื่องนี้ตลกมาก เพราะอเมริการวยที่สุดในโลก ประเทศที่จนกว่าอเมริกาหลายเท่าทำไมทำได้?
ถ้ามีรัฐสวัสดิการ คนจะขี้เกียจ ไม่อยากทำงาน
แม้แต่ในประเทศกลุ่มนอร์ดิกนะ เงินเดือนที่ให้ก็ไม่ได้เยอะมากขนาดที่ว่าคุณจะไม่ต้องทำงาน โอเค…เขามีประกันการว่างงานให้หนึ่งปีให้โดยได้เงิน 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนสุดท้าย เช่น คุณเคยได้เงินเดือน 100,000 คุณก็ได้เงิน 80,000 ปีนึงไปฟรีๆ ซึ่งถ้าเราคิดแบบคนไทยก็อาจบอกว่า เดี๋ยวไอนี่มันต้องไม่ทำงานละ แต่ปรากฏว่ามัน shift ทำให้คนทำงานได้เยอะขึ้น
คอนเซปต์ของเดนมาร์กคือ flexible + security เพราะระบบเศรษฐกิจจะไปต่อได้ต้องมีความสร้างสรรค์ เช่นผมทำงานมาสิบปี ผมเบื่อ แต่ถ้าอยู่ประเทศไทยผมจะทำอะไรได้ ผมจะเปลี่ยนอาชีพตอน 30 กลางๆ มันก็ลำบากแล้ว แต่ของประเทศพวกนี้ พอว่างงาน คุณก็ไปเทกคอร์สมหา’ลัย ได้ฟรี ผมอาจจะออกไปแล้วเรียนการเขียนบท เรียนการกำกับ พอครบปีนึง ผมมีสกิลไปเริ่มทำงานโดยที่ผมไม่รู้สึกว่าเสียอะไร แล้วสิ่งที่ประเทศนี้ได้จากผมคืออะไร? ก็ได้เสียอาจารย์ที่หมดไฟไปคนนึงแล้วได้ผู้กำกับที่มีไฟมาแทน นี่คือฐานความคิดของเค้า แต่มันก็มาจากสิทธิที่ว่ามนุษย์ควรมีสิทธิได้เลือก
เริ่มงานใหม่และได้พักโดยไม่ต้องมีค่าเสียโอกาส
ผมว่าประเทศเหล่านี้มีเซนส์ของการเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยสูงมาก ความแตกต่างของรายได้แต่ละอาชีพมันน้อย ถ้าพวกนอร์ดิก รายได้หลังหักภาษีต่อเดือนจะประมาณ 100,000 – 150,000 บาทต่อเดือน และทุกอาชีพจะประมาณนี้ ไม่ต่ำไปกว่านี้ ยกเว้นคนที่ทำพาร์ทไทม์ซึ่งได้ประมาณ 6 – 7 หมื่นบาทต่อเดือน พอมันไม่แตกต่างกันมันเลยทำให้คนเลือกอาชีพได้ สิ่งสำคัญคือมันมีรัฐสวัสดิการที่ให้ยืนพื้นอยู่แล้ว เลยไม่ทำให้รู้สึกว่าอาชีพเหล่านี้มีพริวิลเลจ เลยทำให้การเลือกอาชีพเป็นเซนส์การเลือกด้วย passion ของเขา และสำคัญมากคือคุณไม่ต้องทำอาชีพนี้ไปทั้งชีวิตก็ได้ นี่คือเรื่องใหญ่มาก
และรวมกับการสร้างโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นที่เข้มแข็งอันทำให้คุณกลับบ้านได้
ผมว่าอันนี้สำคัญ ทุกวันนี้กรุงเทพฯ นอกจากได้งบประมาณเยอะที่สุด มูลค่าทางเศรษฐกิจเยอะที่สุด กรุงเทพฯ ยังดูดคนที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน แทนที่คนเหล่านี้จะได้อยู่สิงห์บุรี อุทัยธานี ลำปาง กาญจนบุรี จังหวัดต่างๆ ที่เขาอยากอยู่ แต่คนกลุ่มนี้ก็ต้องมาอยู่กรุงเทพฯ เพราะมันมีงานและสวัสดิการต่างๆ ถ้างาน เงิน และสวัสดิการอยู่ที่จังหวัดพวกนี้ มันก็จะทำให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจอีกแบบขึ้นมา
สุดท้ายค่ะ อาจารย์อยากฝากอะไร
อยากบอกว่าเรื่องรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องที่คนสามารถพูดและเรียกร้องได้ ประเทศที่เกิดรัฐสวัสดิการได้ก็เพราะคนธรรมดาพูด ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักธุรกิจ หรือ influencer พูด แต่เป็นเพราะคนธรรมดาสามารถพูดเรื่องนี้ได้ว่ามันควรเกิดขึ้น ก็กลับมาที่เบสิคเรื่องฟรีและชีวิตโดยรวมของเราที่ต้องปลอดภัย อย่างที่เคยพูดแหละว่า การทำให้เด็กค้นพบพรสวรรค์ของตัวเองได้ คือการทำให้พ่อแม่ต้องมีเวลา แปลว่าการลงทุนกับพ่อแม่ก็สำคัญไม่แพ้กับการลงทุนของเด็กและสวัสดิการหลายอย่าง