Skip to content
โฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brain
  • Creative Learning
    Creative learningLife Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique Teacher
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Character building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learning
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
โฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brain
Movie
9 February 2024

Perfect Days: เพราะวันที่ดีคือวันที่ได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง 

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Perfect Days หยุดโลกเหงาไว้ตรงนี้ คือตัวแทนภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนี้ บอกเล่าเรื่องราวของฮิรายามะ คุณลุงพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำในกรุงโตเกียวที่มีความสุขกับสิ่งรอบตัวและชีวิตประจำวันอันแสนเรียบง่าย 
  • เสน่ห์ของ Perfect Days คือการชวนให้ผู้ชมย้อนกลับมาถามตัวเองถึงนิยามความสุขที่แท้จริงว่าคืออะไร ผ่านการแสดงอันทรงพลังของโคจิ ยากุโซะ ที่เพิ่งคว้ารางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด
  • ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องนี้เป็นการคืนฟอร์มครั้งสำคัญของ วิม เวนเดอร์ส ผู้กำกับระดับตำนานชาวเยอรมัน (Wings of Desire และ Paris, Texas) ทั้งยังกวาดรายได้สูงสุดในรอบ 15 ปีของเขาอีกด้วย

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ‘พระอาจารย์ชยสาโร’ โดยระหว่างการสนทนา พระอาจารย์ได้ให้มุมมองเรื่องความสำเร็จว่า การประสบความสำเร็จที่แท้จริงคือ ‘การประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์’ ซึ่งสารภาพตามตรงว่าผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าตัวเองเข้าใจความหมายของประโยคนี้มากน้อยแค่ไหน 

แต่ชีวิตก็เป็นแบบนี้ บางครั้งเรื่องที่ควรจะเข้าใจกลับไม่เข้าใจ ผมจึงเก็บประโยคนี้ไว้ในลิ้นชักความทรงจำ กระทั่งไม่กี่วันก่อนที่ผมได้ชมภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Perfect Days (หยุดโลกเหงาไว้ตรงนี้) ปริศนาธรรมที่ค้างคาใจมานานสองปีก็เหมือนจะได้รับคำตอบผ่านชีวิตอันเรียบง่ายของฮิรายามะ หรือคุณลุงที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะในกรุงโตเกียว

[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์]

ด้วยเส้นเรื่องที่มีความคล้ายคลึงกับการนั่งดูสารคดีชีวิต ทำให้ตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้ชมจะเห็นกิจวัตรประจำวันของฮิรายามะซ้ำไปซ้ำมา ไล่ตั้งแต่การตื่นนอน รดน้ำต้นไม้ ดื่มกาแฟกระป๋อง ขับรถไปทำงาน เปิดเพลงจากเทปคาสเซ็ท ทำงาน พักกินอาหารกลางวันใต้ต้นไม้ต้นโปรดที่เขาถ่ายภาพเก็บไว้ทุกวัน ทำงาน อาบน้ำที่โรงอาบน้ำสาธารณะ กินข้าวเย็นที่ร้านอาหารประจำสลับกันไปมาสองสามร้าน และปิดท้ายวันด้วยการอ่านหนังสือก่อนนอน 

ช่วงครึ่งชั่วโมงแรก สารภาพว่าผมหาวไปหลายรอบ ทั้งยังนึกเสียดายเวลาเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะได้อะไรจากการตามติดชีวิตของลุงขัดส้วมคนหนึ่ง แต่หลังจากผ่านไปได้สักพัก ผมกลับค่อยๆ ตาสว่างและเข้าใจว่าทำไม Perfect Days ถึงได้เป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในการชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 96

ภาพยนตร์ใช้วิธีสื่อสารกับผู้ชมด้วยการทำให้เกิดความรู้สึกร่วมโดยไม่ต้องบอกออกมาเป็นคำพูด ‘Show, Don’t tell’ เพราะแม้ชีวิตประจำวันของฮิรายามะจะวนเวียนและเดาทางได้ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ต่างกับวงจรชีวิตของผมที่มีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน กินข้าว และใช้เวลาส่วนตัวเล็กน้อย ก่อนที่จะเข้านอนและตื่นขึ้นเพื่อทำแบบนั้นอีกวัน 

ทว่าความแตกต่างของคุณลุงขัดส้วมคือ การที่เขาสามารถยิ้มและมีความสุขกับสิ่งเล็กน้อยรอบตัว แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่เขามีความพอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็นโดยไม่ต้องไขว่คว้าสิ่งที่คนอื่นมองว่าดี 

ในช่วงกลางเรื่องผมชื่นชอบฉากต่อเนื่องหลังจากที่ ‘นิโกะ’ หลานสาวของเขาได้หนีออกจากบ้านครั้งแรกและขอมาอาศัยอยู่ด้วย ทำให้ผมได้เห็นถึงมุมมองชีวิตของฮิรายามะมากขึ้น ผ่านฉากที่นิโกะมาฟ้องว่าแม่ผู้ร่ำรวยของเธอมักบอกว่าเขาไม่เหมือนกับเธอเลยสักนิดราวกับอยู่บนโลกคนละใบ 

“เธออาจจะพูดถูก โลกของเราประกอบไปด้วยโลกหลายใบ มีบางที่เชื่อมต่อกัน แต่บางโลกก็ไม่ โลกที่ลุงอาศัยอยู่ มันแตกต่างจากโลกของแม่หนู”

ส่วนอีกฉากที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือตอนที่ฮิรายามะโทรบอกน้องสาวให้มารับตัวนิโกะหลังจากที่เธอหนีมาอยู่กับเขาได้ประมาณสองวัน ซึ่งระหว่างที่นิโกะกำลังเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ภาพยนตร์ก็ได้เปิดเผยปมของฮิรายามะว่าแท้จริงแล้วเขาน่าจะเคยเป็นลูกของเศรษฐีคนหนึ่งผ่านบทสนทนาของสองพี่น้อง

“พ่อเขาจำอะไรไม่ได้แล้ว ไปเยี่ยมเขาได้นะ เขาคงไม่ว่าพี่แล้ว พี่ทำงานล้างห้องน้ำจริงๆ เหรอ” น้องสาวของฮิรายามะถามด้วยท่าทีกระอักกระอ่วน

แต่ที่น่าประทับใจคือ แทนที่ฮิรายามะจะรู้สึกอับอาย เขากลับพยักหน้ายิ้มอย่างมีความสุข แตกต่างกับน้องสาวที่มีสีหน้าสะเทือนใจกับคำตอบของพี่ชาย ซึ่งใบหน้าที่แตกต่างกันนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงคำพูดที่ฮิรายามะบอกกับหลานของเขาว่าโลกที่เขาอยู่มันแตกต่างกับโลกของน้องสาวจริงๆ เพราะดูเหมือนว่านิยามการมีชีวิตที่ดีของน้องสาวจะอยู่ที่เงินทองและภาพลักษณ์ทางสังคม ต่างกับฮิรายามะที่พอใจกับชีวิตเรียบง่ายและใช้ทุกห้วงเวลาอย่างใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน พบปะผู้คน อ่านหนังสือ ดูแลต้นไม้ หรือเฝ้ามองสิ่งต่างๆ รอบตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ฮิรายามะจะยืนยันชีวิตที่มีความสุขของตัวเอง แต่ดูเขาจะเสียทรงพอสมควรเมื่อได้ยินเรื่องของพ่อ

ด้วยความที่ภาพยนตร์เปิดพื้นที่ให้เราตีความฉากต่างๆ ที่ซ่อนนัยยะไว้มากมายโดยไม่ให้คำตอบทางใดทางหนึ่ง จึงไม่แปลกที่ผมจะคิดถึงตัวเองในฉากนี้ เพราะผมเองก็มักเสียทรงยามอยู่กับพ่อที่คอยควบคุมบงการให้ผมใช้ชีวิตในแบบที่พ่อต้องการ พร้อมกับประโยคอันแสนโรแมนติกที่ว่า “ที่ทำไปทุกอย่างเพราะรักและหวังดี” ซึ่งแน่นอนว่าถ้าผมไม่ปฏิบัติตาม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการถูกพ่อตราหน้าว่าอกตัญญูบ้าง โง่บ้าง หรือไม่ก็ใช้ท่าไม้ตายเรื่องมรดกในอนาคตบ้าง ทำให้ผมผู้เต็มไปด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงต้องพ่ายแพ้ให้พ่อทุกครั้งไป 

ดังนั้นพอเห็นฮิรายามะ ผมจึงอดคิดไม่ได้ว่าบางทีเขาเองก็อาจเคยเป็นเหมือนผม เพียงแค่เขากล้าพอที่จะเลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป

หลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมย้อนกลับมาอ่านบทสัมภาษณ์ของพระอาจารย์ชยสาโรอีกรอบ และเข้าใจมากขึ้นว่า การประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์ไม่ได้หมายถึงการมีลาภยศสรรเสริญ แต่เป็นการที่เราใช้ชีวิตอย่างเห็นคุณค่าของผู้คนหรือสิ่งต่างๆ รอบตัว มีความสุขอย่างเรียบง่ายในทุกๆ วัน โดยไม่หวั่นไหวไปกับ ‘ไม้บรรทัด’ ของคนอื่น

Tags:

ภาพยนตร์ความสุขชีวิตความสำเร็จPerfect Days

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Vicharjai
    Everyone can be an Educator
    ‘วิชาใจ’ คอนเทนต์อิงธรรม โดย พระจิตร์ จิตตสวโร ที่ชวนสำรวจความคิดโดยไม่หลีกหนีความรู้สึก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Dr.Tong The Filter
    Life classroomHow to enjoy life
    ‘เราต่างเป็น Expert ของชีวิตตัวเอง’ ค้นพบศักยภาพที่จะมีความสุข กับ ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • How to enjoy life
    เปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ในชีวิต(ที่เรารับมือได้)ให้กลายเป็นแรงขับดัน

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Gran Turismo: ล้มกี่ครั้งไม่สำคัญเท่าลุกอย่างไรให้ไปต่อได้

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • BookHow to enjoy life
    7 หลักจิตวิทยาเชิงบวก เปิดประตูความสำเร็จด้วย ‘ความสุข’

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel