- OMG2 เป็นภาพยนตร์อินเดียในปี 2023 บอกเล่าเรื่องราวของวิเวก เด็กมัธยมที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะคลิปอนาจารที่เขาถูกแอบถ่ายในห้องน้ำ ทำให้พ่อของเขาตัดสินใจฟ้องร้องโรงเรียนจนเป็นข่าวดังระดับประเทศ
- ภาพยนตร์พยายามชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ใจของเด็กคนหนึ่งที่ขาดความรู้เรื่องเพศ แต่กลับไม่มีผู้ใหญ่คนไหนที่พร้อมรับฟังหรือให้คำปรึกษา สุดท้ายเขาจึงค้นหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งล้วนแต่พาให้หลงทาง
- เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หากเด็กๆ ได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างเหมาะสมจากโรงเรียน น่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากการหลงเชื่อข้อมูลผิดๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม
หนึ่งในความทรงจำเกี่ยวกับพฤติกรรมของครูที่ผมรู้สึกรังเกียจที่สุดเกิดขึ้นตอนที่ผมอยู่ม.5 จำได้ว่าวันนั้นครูประจำชั้นของผมถามทุกคนในห้องว่า “พวกเอ็งรู้จักเจ้า xxx ไหมที่อยู่ม.6” ก่อนจะใช้เวลาเกือบ 10 นาทีในการเล่าถึงพี่ xxx ที่ถูกแอบถ่ายคลิปขณะช่วยตัวเองอยู่ในห้องน้ำอย่างละเอียดยิบ
สิ่งที่ค้างคาใจผมมาตลอดคือทำไมครูถึงเอาเรื่องดังกล่าวมาเล่าให้ทุกคนฟังอย่างสนุกสนาน แถมตีตราว่ารุ่นพี่คนดังกล่าวเป็นพวกบ้ากามและโรคจิต ทั้งที่การช่วยตัวเองเป็นเรื่องธรรมชาติแถมเขาก็ทำในห้องน้ำที่ปิดล็อก แต่ครูกลับไม่กล่าวโทษหรือเปิดเผยชื่อของพวกคึกคะนองที่แอบถ่ายสักนิด ส่งผลให้พี่ xxx ที่ตกเป็นเหยื่อเปลี่ยนสถานะกลายมาเป็น ‘จอมหื่น’ ในเรื่องเล่าที่ไม่รู้จบของใครหลายคนในโรงเรียน
เช่นเดียวกับ ‘วิเวก’ เด็กชายวัยมัธยมจากภาพยนตร์อินเดียเรื่อง OMG2 ที่เผชิญชะตากรรมถูกถ่ายคลิปในลักษณะเดียวกัน แต่เรื่องราวของเขากลับลุกลามไปไกลกว่านั้น เพราะหลังจากคลิปลับถูกส่งต่อไปนอกโรงเรียน ผู้อำนวยการก็เรียก ‘กันติ’ พ่อของวิเวกมาเซ็นใบลาออกให้ลูกโทษฐานทำเรื่องต่ำช้าเป็นเหตุให้โรงเรียนสูญเสียภาพลักษณ์ มิหนำซ้ำตัวกันติเองยังถูกไล่ออกจากที่ทำงานเพราะหัวหน้าของเขากลัวจะถูกตราหน้าว่าเป็น ‘คนประเภทเดียวกัน’ สุดท้ายกันติจึงตัดสินใจฟ้องศาลถึงความอยุติธรรมที่ได้รับจากโรงเรียนจนกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ
วิเวกถือเป็นตัวแทนของวัยรุ่นชายหลายคนทั้งในอินเดียหรือแม้แต่ประเทศไทยที่ไม่มีความรู้เรื่องเพศมากนัก ด้วยความไม่รู้ทำให้เขาตกเป็นเหยื่อของความเชื่อผิดๆ ที่ว่า “ขนาดเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นชาย” “อวัยะเพศสามารถวัดได้จากขนาดของนิ้ว” หรือ “การช่วยตัวเองเป็นเรื่องบาป” แม้ตอนแรกเขาจะพยายามไปปรึกษาครูผู้ชาย แต่ครูกลับดุเขาแทนคำตอบ
ด้วยความสงสัยและความไม่รู้ วิเวกจึงพยายามหาข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งน่าเสียดายที่เขามักเจอแต่ชุดข้อมูลผิดๆ ในอินเตอร์เน็ตรวมไปถึงโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อขายยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งตัวเขาเองก็หลงซื้อยาต่างๆ มาใช้แบบเกินขนาดจนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล
ผมมองว่าการขาดความรู้เรื่องเพศถือเป็นความทุกข์ของวัยรุ่นหลายคน และแม้สังคมจะพยายามสื่อสารว่าโลกปัจจุบันเปิดรับเรื่องเพศมากกว่าสมัยก่อน ซึ่งมุมหนึ่งผมก็เห็นด้วย แต่อีกมุมต้องทำความเข้าใจว่าการเปิดรับเรื่องเพศในสื่อต่างๆ กับการให้ความรู้เรื่องเพศนั้นเป็นคนละเรื่องกัน
สำหรับการให้ความรู้เรื่องเพศนั้น ผมเห็นด้วยกับกันติที่บอกว่า “โรงเรียนคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ” เพราะปัจจุบันวิชาเพศศึกษาที่โรงเรียนสอนยังคงมุ่งเน้นแต่เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สรีระและพัฒนาการทางเพศ รวมไปถึงค่านิยมในการมีเพศสัมพันธ์หลังแต่งงาน ซึ่งทั้งหมดแทบไม่ต่างจากสมัยที่ผมอยู่ชั้นมัธยม อีกทั้งรูปแบบการเรียนการสอนยังคงสไตล์เดิมคือการยืนบรรยาย โดยระหว่างนั้นหากนักเรียนคนไหนถามเยอะหรืออยากรู้เรื่องเพศบางประเด็นในมุมที่เจาะลึก ครูก็มักตัดบทด้วยการดุให้เด็ก ‘อับอาย’ หรือไม่ก็มองว่าเด็กคนนั้นเป็นพวก ‘หมกมุ่นในกาม’ นำไปสู่การบูลลี่ที่ครูเองก็อาจนึกไม่ถึง
ถึงตรงนี้ อาจมีคนสงสัยว่าแล้วจะให้โรงเรียนสอนหรือเปลี่ยนแปลงอะไร
คำตอบของผมคือ อยากเสนอให้คุณครูปรับความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเรื่องสกปรกหรือผิดบาปอย่างที่ค่านิยมสมัยก่อนปลูกฝัง
อีกทั้งโรงเรียนควรสอนเพศศึกษาที่มุ่งเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการมีสุขภาวะทางเพศ เช่น การตระหนักถึงสิทธิในร่างกาย, การเข้าใจและยอมรับความหลากหลายของเพศวิถี, การยินยอมทางเพศในบริบทต่างๆ (sexual consent) , วิธีป้องกันตัวเองจากภัยคุกคาม ความรุนแรง การทารุณกรรม และการล่วงละเมิดทางเพศทั้งในชีวิตจริงและโซเชียลมีเดีย ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์และปรับใช้ในชีวิตจริงได้ทันที
โดยเฉพาะตัวคุณครูเองต้องร่วมด้วยช่วยกันในการเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของเด็กมากกว่าพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการซ้ำเติมเด็กแบบกรณีครูประจำชั้นของผม
นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าการขาดความรู้เป็นสาเหตุของความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นหากเด็กได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างเหมาะสมในโรงเรียน รวมถึงทางโรงเรียนอาจจะมีคุณครูหรือนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามาปรึกษาปัญหาเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มองว่าเป็นเรื่องน่าอายหรือผิดบาปก็น่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด พร้อมกับลดโอกาสของเยาวชนในการเผชิญความเสี่ยงจากการลองถูกลองผิดด้วยตัวเองผ่านชุดข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้การันตีความถูกต้องเสมอไป