- หนังสือเรื่อง A Street Cat Named Bob ชื่อภาษาไทยว่า ‘บ๊อบ แมวเตะฝันข้างถนน’ เขียนโดย James Bowen (เจมส์ โบเวน) แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ สำนักพิมพ์ springbooks เป็นเรื่องราวระหว่างเจมส์ โบเวน นักดนตรีเปิดหมวก กับแมวจรจัดสีส้ม ซึ่งกลายเป็นไวรัลโด่งดังไปทั่วโลกโซเชียลเมื่อหลายปีก่อน
- การที่มีแมวสีส้มมานั่งใกล้ๆ ทำให้ภาพลักษณ์ที่เหมือนขี้ยาของนักดนตรีผมยาว แปรเปลี่ยนเป็นชายหนุ่มผู้อ่อนโยน รักสัตว์ และดูไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ รายได้ในรูปของทิป จากคนที่ดูการเล่นดนตรีเปิดหมวกของโบเวน
- นอกเหนือจากการช่วยให้โบเวนได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ได้ลุกขึ้นยืนหยัดในฐานะคน ที่เป็นผู้เป็นคนกว่าเมื่อก่อนแล้ว บ๊อบยังมอบสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งให้แก่โบเวน นั่นคือ โอกาสในการเป็นผู้ให้
ในห้วงเวลาที่คนเราดิ่งลงถึงจุดต่ำสุดของชีวิต สิ่งที่เราต้องการจริงๆ อาจไม่ใช่มืออันแข็งแกร่งทรงพลัง ที่สามารถฉุดดึงเราขึ้นจากปลักตมเน่าเหม็นได้ในพริบตา หากแต่เป็นแค่มือธรรมดา ที่เพียงแค่คอยแตะบ่าเบาๆ แล้วบอกกับเราว่า
“ฉันจะอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหนหรอก ฉันจะอยู่เป็นเพื่อนเธอ จนกว่าเธอจะลุกขึ้นยืนได้เอง”
และในบางครั้ง อาจไม่จำเป็นต้องเป็นมือด้วยซ้ำ สิ่งที่ช่วยปลุกปลอบกำลังใจให้กับเรา อาจเป็นแค่สายตาที่ปลอบโยนของใครสักคน หรือหางที่กวัดแกว่งของหมาตัวน้อย หรืออาจเป็นแค่อุ้งเท้านุ่มนิ่มของแมวจรจัดสักตัว
หนังสือเรื่อง A Street Cat Named Bob หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘บ๊อบ แมวเตะฝันข้างถนน’ เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นจากเรื่องจริงของสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้น ระหว่างเจมส์ โบเวน นักดนตรีเปิดหมวก กับแมวจรจัดสีส้ม ซึ่งกลายเป็นไวรัลโด่งดังไปทั่วโลกโซเชียลเมื่อหลายปีก่อน และทำให้บ๊อบ กลายเป็นแมวสีส้มที่มีคนรู้จักมากที่สุดตัวหนึ่งของโลก
ความโด่งดังของเจ้าบ๊อบ ทำให้โบเวนถ่ายทอดเรื่องราวของมันตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่นักอ่าน จนต้องมีเล่มต่อๆ มาอีก 5 เล่ม และสุดท้าย เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างแมวสีส้มมีผ้าพันคอ กับนักดนตรีหนุ่มผมยาว ได้กลายเป็นภาพยนตร์ฟีลกู้ด ที่สร้างความประทับใจให้แก่คอหนังและทาสแมวทั่วโลก
มิตรภาพระหว่างคนกับแมวคู่นี้ เริ่มต้นขึ้นในช่วงที่โบเวน ดิ่งลงถึงจุดต่ำสุดของชีวิต เขาติดยา เป็นคนจรจัดไร้บ้าน ไม่มีอาชีพการงานที่มั่นคง โบเวนมีโอกาสที่จะแก้ตัวใหม่หลายครั้ง แต่เขาไม่สนใจไขว่คว้าโอกาสที่ผ่านเข้ามา
“เราทุกคนล้วนได้รับโอกาสให้แก้ตัวทุกเมื่อเชื่อวัน โอกาสเหล่านั้นรอให้เรารับไป เพียงแต่เรามักจะไม่ค่อยสนใจเท่านั้นเอง”
จนกระทั่งโอกาสนั้นเข้ามาในรูปของแมวจรจัดตัวหนึ่ง ซึ่งโบเวนตั้งชื่อมันว่า ‘บ๊อบ’
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า อะไรคือเหตุผลทำให้โบเวนเปิดใจรับโอกาสที่โผล่เข้ามาในรูปแมว อาจเพราะเขาเป็นทาสแมวมาตั้งแต่เด็ก หรืออาจเพราะจิตใจที่อ่อนโยน ทำให้โบเวนทนไม่ได้ที่จะไม่ดูแลแมวจรจัดที่อยู่ในสภาพบาดเจ็บและหิวโหย
หรือไม่แน่ว่า ทั้งหมดทั้งมวล เป็นเพราะความตั้งใจของบ๊อบตั้งแต่แรก
เราไม่ได้เลือกแมว แต่แมวต่างหากที่เลือกเรา
คำกล่าวข้างต้น อาจดูเป็นเรื่องตลกที่ตั้งใจเขียนให้เป็นมีม แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีความจริงอยู่ในคำกล่าวนั้น เพราะหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า บรรพบุรุษของแมวไม่ได้ถูกคนทำให้กลายเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ แต่มันเลือกที่จะเข้าหาคนเอง โดยเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (แมวช่วยจับหนูให้คน คนให้อาหารและที่พักพิงแก่แมว) ก่อนจะพัฒนากลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม
ขณะที่หมาถูกคนทำให้กลายเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ ได้ง่าย เพราะสัญชาตญานการเคารพลำดับชั้นในฝูง ทำให้หมามองคนที่เลี้ยงดูมันเป็นจ่าฝูง แต่แมว ไม่ใช่สัตว์สังคม มันไม่รู้จักลำดับชั้นในฝูง การที่แมวสักตัวหนึ่งเข้ามาอยู่กับคน เพราะมันเลือกที่จะมาเอง เลือกที่จะอยู่เอง และขณะเดียวกัน แมวก็สามารถเลือกที่จะไปเองได้ด้วยเช่นกัน
แม้ว่าการอยู่กับคนจะทำให้แมวได้รับผลประโยชน์ แต่ด้วยความที่แมวมีสัญชาตญานนักล่าสูง ทำให้มันสามารถหาอาหารกินเองได้ (ซึ่งต่างจากหมา ที่ถูกทำให้กลายเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ จนแทบไม่สามารถล่าเหยื่อได้ด้วยตนเองอีกต่อไป) และนั่นหมายความว่า แมวไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคน ก็สามารถอยู่รอดได้ ไม่ว่าในชนบท หรือในเมืองใหญ่
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแมว จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ตรงไปตรงมา แทบไม่มีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง และก็คงไม่ผิด ถ้าเราจะกล่าวว่า การที่แมวตัวใดตัวหนึ่ง เลือกอยู่กับคนๆ หนึ่ง เป็นเพราะความพึงพอใจ (หรือความรัก) ล้วนๆ
ย้อนกลับมาที่ความสัมพันธ์ระหว่างโบเวนกับบ๊อบ จะเห็นได้ชัดว่า บ๊อบเป็นฝ่ายเลือกที่จะอยู่กับโบเวน แม้ว่าการพบกันในตอนแรกอาจเป็นความบังเอิญ และความสงสารทำให้โบเวนยอมให้บ๊อบเข้ามาอยู่ในห้องพักด้วย โดยเขาตั้งใจว่า เมื่อบ๊อบหายดีแล้ว เขาจะปล่อยให้มันกลับไปใช้ชีวิตแมวจรข้างถนนดังเดิม เนื่องจากโบเวนรู้ตัวดีว่า สถานะคนจรจัดที่หาเลี้ยงตัวเองด้วยการเล่นดนตรีเปิดหมวก ไม่น่าจะเป็นสถานภาพที่มั่นคงพอจะเลี้ยงดูใคร หรือ ‘อะไร’ สักตัวได้
แต่โบเวนคิดผิด เพราะสิ่งที่บ๊อบต้องการ ไม่ใช่การเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีคนดูแล หากแต่เป็น ‘มิตรภาพ’ บนพื้นฐานการยอมรับกันและกันอย่างเท่าเทียม
จากคำบอกเล่าของโบเวนในหนังสือ เขาพยายามทิ้งบ๊อบไว้ข้างถนน และแอบหนีไปเล่นดนตรีเปิดหมวก แต่บ๊อบกลับเดินตามเขาไปติดๆ กระโดดขึ้นรถโดยสารประจำทางคันเดียวกัน ทำให้ในที่สุด โบเวนต้องยอมให้บ๊อบตามไป ‘ทำงาน’ กับเขาด้วย
แล้วโบเวนก็พบว่า เขาตัดสินใจไม่ผิด การที่มีแมวสีส้มหน้าตาหล่อเหลามานั่งใกล้ๆ ทำให้ภาพลักษณ์ที่เหมือนขี้ยาของนักดนตรีผมยาว แปรเปลี่ยนเป็นชายหนุ่มผู้อ่อนโยน รักสัตว์ และดูไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ รายได้ในรูปของทิป จากคนที่ดูการเล่นดนตรีเปิดหมวกของโบเวน (เมื่อมีบ๊อบมาเป็นแมวกวัก) พุ่งสูงสุดเท่าที่เขาเคยเล่นดนตรีเปิดหมวกมา
และนั่นคือ จุดเริ่มต้นในการประกอบอาชีพอย่างจริงจังของโบเวน
คน + แมว = คนใจดีน่ารัก
“การเห็นผมอยู่กับแมว ทำให้ผมดูอ่อนโยนลงในสายตาของพวกเขา” โบเวน กล่าว
ต้องบอกว่า โบเวนไม่ได้คิดไปเอง เพราะเคยมีงานสำรวจหลายชิ้น สรุปได้ว่า ชายหนุ่ม หรือหญิงสาว ที่กำลังจูง หรืออุ้มสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นแมว หรือหมา จะดูเป็นคนใจดี น่ารัก และไม่เป็นพิษเป็นภัยในสายตาคนอื่น ขณะที่บางคนถึงกับบอกว่า ผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ข้างๆ จะดูมีเสน่ห์ดึงดูดมากขึ้น
และที่น่าสนใจก็คือ ผู้ถูกสำรวจหลายคน บอกว่า เขาหรือเธอ รู้สึกสบายใจที่จะเดินเข้าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ข้างๆ มากกว่าคนแปลกหน้าที่ไม่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ข้างกาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนแปลกหน้าที่อยู่ในสถานะคนจรจัด ติดยาเสพติด ซึ่งรวมกันแล้ว น่าจะจัดอยู่ในสถานภาพที่ต่ำสุดในสังคม
จากพื้นฐานครอบครัวที่แตกร้าว ทำให้โบเวน เดินเข้าสู่เส้นทางที่พาตัวเองก้าวลงเหวลึกลงเรื่อยๆ ในโลกที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีเพื่อน เป็นโลกที่เปลี่ยวเหงาอย่างโหดร้ายที่สุด ในที่สุด โบเวน หันเข้าหายาเสพติดที่รุนแรงมากขึ้น นั่นคือ เฮโรอีน เพื่อให้มันเป็นเพื่อนเคียงข้างเขาก้าวผ่านความโดดเดี่ยวในเมืองใหญ่
“เป็นเรื่องง่ายที่จะหาข้ออ้างสำหรับการติดยาเสพติด.. สำหรับผมมันเกิดจากความเปล่าเปลี่ยวล้วนๆ เฮโรอีนทำให้ผมตายด้านกับความโดดเดี่ยว… เฮโรอีนจึงเป็นเพื่อนผม”
ขณะที่ยาเสพติดทำให้ความเป็นคนของโบเวน ถูกลดทอนลงเรื่อยๆ ยิ่งผนวกกับการไร้ความสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพ จนต้องกลายเป็นคนจรจัดไร้ที่ซุกหัวนอน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น โบเวนแทบไม่เหลือความเป็นคนในสายตาของคนอื่นอีกแล้ว
“การนอนข้างถนนในกรุงลอนดอน ทำลายศักดิ์ศรีและความมีตัวตนของเรา จริงๆแล้วก็ทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหละ ที่เลวร้ายที่สุดคือ มันจะเปลี่ยนความคิดของผู้คนเกี่ยวกับตัวเรา พวกเขาเห็นเราอยู่ข้างถนน แต่ปฏิบัติกับเราราวกับว่าไม่มีตัวตน พวกเขาไม่อยากเกี่ยวข้องกับเรา ในไม่ช้าเราก็จะไม่มีเพื่อนแท้อยู่บนโลกใบนี้”
การถูกมองและถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่คน อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โบเวน เพิกเฉยต่อโอกาสในการแก้ตัว ที่ผ่านเข้ามาหลายต่อหลายครั้ง ยิ่งปฏิเสธโอกาสที่จะแก้ตัว ชีวิตของโบเวนก็ยิ่งตกต่ำลง ยิ่งชีวิตของเขาตกต่ำลง เขาก็ถูกสังคมทอดทิ้งมากขึ้น วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบสิ้น
จนกระทั่ง แมวชื่อ บ๊อบ ก้าวเข้ามาในชีวิตของโบเวน
“การมีบ๊อบอยู่ด้วย ทำให้ผมมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน… มันทำให้ผมเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะหลังจากที่เคยไม่มีชีวิตจิตใจมาก่อน ผมกำลังได้ตัวตนกลับคืนมา จากที่ไม่เคยมีใครเห็นความสำคัญ ตอนนี้ ผมกำลังจะกลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง”
นอกเหนือจากการช่วยให้โบเวนได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ได้ลุกขึ้นยืนหยัดในฐานะคน ที่เป็นผู้เป็นคนกว่าเมื่อก่อนแล้ว บ๊อบยังมอบสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งให้แก่โบเวน นั่นคือ โอกาสในการเป็นผู้ให้
สุขจากการเป็นผู้ให้
การเป็น ‘ผู้ให้’ น่าจะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคนที่อยู่ในจุดต่ำสุดของชีวิต และรับบทบาท ‘ผู้รับ’ มาโดยตลอด
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ บอกกับเราว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่บ๊อบมอบให้โบเวน ก็คือ โอกาสในการแสดงบทบาทของการเป็นผู้ให้ ดูแลช่วยเหลือผู้อื่น และสิ่งที่ตามมาก็คือ ความรับผิดชอบ การเลิกยาเสพติดอย่างเด็ดขาด และการประกอบอาชีพอย่างจริงจัง จนโบเวนได้กลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง
“ผมไม่เคยมีความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่นในชีวิตอย่างจริงจัง… ผมจำเป็นต้องดูแลตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ… ผลคือ ผมกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง… การที่บ๊อบเข้ามาในชีวิตผมเปลี่ยนทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ อยู่ดีๆ ผมก็มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมา สุขภาพและความสุขของอีกคนขึ้นอยู่กับผม”
ในตอนท้ายของเรื่อง บอกกับเราว่า การมีบ๊อบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ไม่เพียงแต่ทำให้โบเวน ปีนขึ้นจากเหวลึกที่ต่ำสุดในชีวิต ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้ง แต่ยังช่วยให้เขากลับมาประสานรอยร้าวในครอบครัวอีกด้วย
และการที่บ๊อบสามารถทำเช่นนั้นได้ ไม่ใช่เพราะมันมีมนต์วิเศษอะไรเลย แต่เป็นเพราะบ๊อบรู้ว่า ในห้วงเวลาที่คนเราดิ่งลงถึงจุดต่ำสุดของชีวิต สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ก็เพียงแค่ใครสักคน (หรือแมวสักตัว) ที่อยู่เคียงข้าง จนถึงวันที่เราลุกขึ้นยืนได้เอง
………………..
หมายเหตุ – บ๊อบกับโบเวน อยู่ด้วยกันจนถึงวันที่บ๊อบจากโลกไป เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2020 ในปัจจุบัน โบเวน ทำงานเป็นนักเขียน และอุทิศเวลาที่เหลือให้กับงานสังคมสงเคราะห์ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสัตว์และคนจรจัด