- อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราไม่ทำตามเสียงเรียกของหัวใจ เพราะเราติดกับดักอยู่ใน ‘กล่อง’ ที่เป็นเหมือนกรอบกำหนดวิธีคิดที่สร้างขึ้นจากความต้องการและความคาดหวังของผู้อื่น
- ชีวิตของคนเรามีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ เดินตามเสียงหัวใจตัวเอง กับ ฟังคำค่อนขอด และทำตามที่คนอื่นบอก
- ไม่มีใครการันตีได้ถึงความยากง่ายจากการเลือกเดินตามความฝัน สิ่งที่บอกได้คือ…วันนี้ต้องตัดสินใจแล้วเริ่มลงมือทำ!
“If you hear a voice within you say ‘you cannot paint,’ then by all means paint,
and that voice will be silenced.” Vincent van Gogh
“หากคุณได้ยินเสียงจากภายในบอกว่าคุณวาดรูปไม่ได้หรอก แท้จริงแล้วเสียงนั้นกำลังบอกให้คุณลงมือวาด แล้วเมื่อคุณลงมือวาดเสียงนั้นจะเงียบหายไปในที่สุด” วินเซนต์ แวนโก๊ะ
ทำไมการตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ ทำในสิ่งที่เติมเต็มความฝัน หรือทำในสิ่งที่เป็นความหลงใหลของตัวเอง มันถึงทำได้ยากนัก?
กิล อาลอน (Gil Alon) ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์แห่งเซน (Zen Master) ผู้เป็นครูและโค้ชด้านการพัฒนาตัวเองให้กับองค์กรและหน่วยงานทั่วโลก กล่าวไว้อย่างน่าสนใจถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนเราไม่สามารถทำตามเสียงเรียกของหัวใจได้ นั่นเพราะเราติดกับดักอยู่ใน ‘กล่อง’ ที่เป็นเหมือนกรอบกำหนดวิธีคิด ไม่ว่าจะเป็นกรอบทางสังคม ศาสนา ครอบครัว การศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การเมือง รวมทั้งกรอบที่สร้างขึ้นจากความต้องการและความคาดหวังของผู้อื่น
บ่อยครั้งเราต้องจำใจทำบางสิ่งที่ไม่อยากทำ เพียงเพื่อให้คนอื่นพึงพอใจและยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การงานและการใช้ชีวิต
กิล ยกตัวอย่างว่า สมมุติมีใครสักคนหนึ่งมีความฝันและความหลงใหลอยากเป็นนักเต้น เขาลงมือทำในสิ่งที่รัก ทำตามฝัน เขาต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานจากคำพูดและการกระทำของคนรอบตัวที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเลือก
“ทำงานแบบนี้จะมีอะไรกิน”
“ทำไปแล้วจะมีใครนับหน้าถือตา”
“ทำไมไม่ไปเป็นทนาย ไม่เป็นครู ทำไมไม่เรียนทำธุรกิจมาช่วยกิจการของครอบครัว”
“เธอเป็นนักเต้นเหรอ มันเป็นอาชีพของผู้หญิงนะ ผู้ชายเค้าไม่ทำกันหรอก”
แล้วจะทำอย่างไร…หากต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบนี้?
กิล บอกว่า แม้แต่ตัวเขาเองก็เคยเจอคำดูถูกและการกล่าวทัดทานแบบนี้เสมอ ทั้งจากครอบครัวและสังคมรอบข้าง แน่นอนว่าเมื่อได้ยินบ่อยก็บั่นทอนจิตใจ แต่ในช่วงเวลาที่เลวร้ายในชีวิต คำพูดของแวนโก๊ะ เป็นเหมือนมนตราที่ทำให้เขายืนหยัดและผ่านช่วงเวลานั้นมาได้
วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) ศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวดัตช์ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า แวนโก๊ะเคยเป็นศิลปินที่ไม่ได้รับการยอมรับมาก่อน ผลงานของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงชีวิตการทำงานขณะที่เขามีชีวิตอยู่ แวนโก๊ะใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แร้นแค้น ไม่สามารถขายผลงานของตัวเองได้เลยสักชิ้น ยกเว้นชิ้นที่ขายให้กับน้องชายของตัวเอง สุดท้ายเขาก็จบชีวิตตัวเองลงอย่างคนยากไร้
แม้ในยุคนั้นไม่มีใครเห็นความงามในงานของเขา แต่ขณะมีชีวิตแวนโก๊ะไม่เคยหยุดสร้างผลงาน เขาลงมือทำในสิ่งที่รักและหลงใหลอย่างมุ่งมั่น จนกระทั่งวันหนึ่งผลงานที่เคยไร้มูลค่ากลับกลายมาเป็นภาพวาดที่มีราคาแพงมากเกินกว่าที่เศรษฐีทั่วไปจะหาซื้อมาครอบครองได้ เพราะคุณค่าของผลงานที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นยังคงอยู่
วันนี้เราทุกคนจึงควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า กำลังใช้ชีวิตตอบสนองความต้องการของคนอื่นจนลืมสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองต้องการและทอดทิ้งความสุขของตัวเองหรือเปล่า?
ค่านิยมในสังคมทำให้เรากลายเป็นคนเห็นแก่ตัวทันทีเมื่อเอาความสุขของตัวเองเป็นที่ตั้ง สิ่งนี้หล่อหลอมวิธีคิดให้เราเชื่อว่า การทำเพื่อคนอื่น ทำให้คนอื่นมีความสุขจะทำให้เราไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว ทั้งที่การดำรงชีวิตด้วยการเอาความสุขของตัวเองเป็นที่ตั้งต่างหากที่ช่วยลดทอนความเห็นแก่ตัวออกไปจากจิตใจได้
แทนที่จะทำในสิ่งที่เติมเต็มหัวใจตัวเอง เรายอมทำในสิ่งที่คนอื่นคาดหวัง ยอมทำตามคนอื่นเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
ฟังเสียงหัวใจตัวเอง หรือ ทำความต้องการของคนอื่น
กิลได้เรียนรู้ว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของเขามีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ หนึ่ง เลือกทำตามคนอื่นไม่เดินตามเสียงหัวใจตัวเอง และสอง เมินเฉยต่อคำค่อนขอด แล้วเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำตามเสียงหัวใจของตัวเอง
เส้นทางชีวิตบนทางเลือกเส้นที่หนึ่ง หากเขาปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองต้องการ แล้วเลือกเดินตามความคาดหวังของครอบครัว วันหนึ่งกลายเป็นทนายความที่มีชื่อเสียง มีลูกค้ามากมาย นำมาซึ่งรายได้มหาศาลให้ซื้อบ้านหลังใหญ่ และรถราคาแพงได้
ความสำเร็จที่ว่านี้ทำให้คนในครอบครัวภูมิใจ แต่เขารู้ตัวดีว่าเขาจะกลายเป็นทนายความที่ไม่มีความสุขกับชีวิตและไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำเลย เพราะความฝันที่อยากเป็นนักเต้นนักแสดงยังคงคุกรุ่นภายในจิตใจ หากต้องเป็นแบบนั้นเขาคงต้องข่มและแอบซ่อนความฝันเอาไว้เหมือนกับว่าความฝันนั้นไม่มีอยู่จริง
“ผมคงกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุขหลงเหลือไปแบ่งปันให้ใคร กลายคนเป็นคนที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้เพราะมัวแต่จมอยู่กับตัวเอง และต้องพยายามข่มความรู้สึกของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตอนนั้นเองที่ผมจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวที่สุดเพราะผมจะไม่สนใจใครทั้งนั้นนอกจากตัวเอง”
ในทางกลับกัน หากเลือกเดินบนทางเลือกที่สอง ได้ลงมือทำในสิ่งอยากทำ กล้าเผชิญหน้ากับคนในครอบครัวที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตัดสินใจ บางคนอาจหันหลังกลับไม่ยอมพูดคุยด้วย แต่ทางเลือกนั้นได้สร้างให้คนๆ หนึ่งกลายเป็น นักเต้นที่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ เขากลายเป็นตัวของตัวเองที่หลุดพ้นจากความต้องการของคนอื่น
กิล กล่าวถึง เจ. กฤษณมูรติ (J. Krishnamurti) นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงชาวอินเดีย ที่พูดถึงคำว่า Individual หรือ ปัจเจก ไว้แตกต่างจากภาพจำของคนทั่วไปที่มักเข้าใจถึงปัจเจกในภาพของบุคคลที่ขาดความสัมพันธ์กับผู้อื่นว่า จริงๆ แล้วคำนี้มีที่มาจากคำว่า in division หรือแปลว่า ไม่แยกออกจากกัน (not divided) ต่างหาก
“การมีโอกาสได้ทำตามฝัน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองหลงใหล ทำให้ผมมีความสุขเหลือเฟือแบ่งปันให้คนอื่น ทำให้ผมส่งต่อความรู้ให้คนที่อยากรู้ได้ ทำให้ผมได้มีโอกาสทำการแสดงที่ช่วยให้ผู้ชมสะท้อนความเป็นตัวตนของตัวเอง ได้มองเห็นตัวเองในมิติต่างๆ หรือธรรมดาที่สุด ทำให้เขารู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้รับชม…
ผมมีโอกาสสอนเด็กๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ ผมกลายเป็นแบบอย่างให้คนที่อาจกำลังสับสน กำลังตัดสินใจ ได้มองเห็นผลลัพธ์จากการเลือกทำตามความฝันของตัวเองว่า ถ้าผมทำได้ ใคร ๆ ก็ทำได้
เมื่อเป็นแบบนี้ผมก็ไม่ใช่คนที่เห็นแก่ตัวอีกต่อไป เพราะผมได้แชร์ความรักและพลังแห่งความหลงใหลที่เต็มไปด้วยความสุขในตัวผมให้ผู้อื่น ทำให้ผมไม่ถูกแบ่งแยกออกจากผู้อื่น แต่กลับเชื่อมโยงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกคน”
สำเร็จหรือล้มเหลว…ไม่สำคัญอีกต่อไป
เมื่อใครสักคนหนึ่งกล้าเดินออกมาทำสิ่งที่ตัวเองรักด้วยความกล้าหาญ เมื่อนั้นจะมีกรอบที่เป็นความท้าทายใหม่แวะมาเยี่ยมเยือน นั่นคือ ‘ความสำเร็จ’ กับ ‘ความล้มเหลว’
กรอบความคิดนี้มีที่มาไม่ต่างจากวิธีคิดเดิมที่ทำให้เราไม่กล้าออกมาทำในสิ่งที่หัวใจปรารถนา เพราะอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของผู้อื่นและกระแสสังคม
แต่อะไรกันแน่ที่เรียกว่า ความสำเร็จ และความล้มเหลว?
กิล บอกว่า ความสำเร็จ และความล้มเหลว เป็นบรรทัดฐานที่สังคมสร้างและกำหนดขึ้น ปลูกฝังให้ปัจเจกหรือบุคคลต้องคิดถึงสิ่งนี้ แล้วเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ซับซึบวิธีคิดแบบนี้ไปโดยไม่รู้ตัว ไม่พอเรายังเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จของผู้อื่น กดดันตัวเอง วิจารณ์ตัวเอง (self-criticism) ในเชิงลบ
“เธอทำไม่ได้หรอก”
“เธอบ้าไปแล้วแน่ ๆ จะทำจริง ๆ เหรอ”
การผลักดันตัวเองไปสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังของคนอื่น ทำให้ตัวเราสร้างปีศาจร้ายขึ้นมาบั่นทอนกำลังใจของตัวเองด้วยคำพูดต่างๆ นานาที่กล่อมให้เชื่อว่า ‘มันไม่มีทางเป็นไปได้’ จนหลงลืมความสามารถและศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ เพราะมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง แล้วกลายเป็นคนล้มเหลวในที่สุด
ทางออก คือ เลิกฟังเสียงเหล่านั้นซะ แล้วลงมือทำในสิ่งที่รักอย่างมุ่งมั่น!
ทุกคนสามารถพาตัวเองให้หลุดออกจากวัฎจักรที่เลวร้ายของกล่องมายาคติแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวที่สังคมโลกสร้างขึ้นได้จากการออกแบบชีวิตด้วยความสร้างสรรค์และความสุข
Think Outside The Box
“เราสร้างกรอบหรือกล่องขึ้นมาครอบตัวเอง ฉะนั้นตัวเราเองนี่แหละที่สามารถพาตัวเองให้หลุดออกจากกล่องนั้นได้ เพราะเมื่อเราเป็นคนสร้างมันขึ้นมา นั่นหมายความว่ามันยืดหยุ่นพอที่เราจะเปลี่ยนแปลงมันได้ด้วยตัวเอง
ลองจินตนาการถึงชีวิตที่เราออกแบบได้ สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำ สลัดที่เราจะทำกินมื้อต่อไป เฟอร์นิเจอร์ที่เราจะเลือกซื้อเข้ามาในบ้าน ความสัมพันธ์ที่เราจะสร้างขึ้น งานที่เราจะเปลี่ยน เราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างหรือออกแบบชีวิตได้ จากจุดเล็กๆ อย่างไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบ”
ไม่มีใครการันตีได้ถึงความยากง่ายจากการเลือกเดินตามความฝันและเสียงหัวใจของตัวเอง สิ่งที่บอกได้คือ…วันนี้คุณต้องตัดสินใจแล้วเริ่มลงมือทำ!
“ลบความคิดเกี่ยวความความสำเร็จหรือล้มเหลวที่เป็นกล่องครอบงำเราออกไป ลบความคิดที่จะพยายามให้เป็นที่หนึ่งหรือดีที่สุดด้วยการแข่งขันกับคนอื่น แต่เป็นตัวเองให้ดีที่สุด ดังนั้นหากมีความฝัน ขอให้สร้างเวทีของตัวเองขึ้นมา แล้วลงมือทำ ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากที่ไหนแต่ที่บ้านคุณมีโรงรถก็แสดงในโรงรถนั่นแหละ ถ้าคนดูมีแค่เพื่อนสองคนกับย่าหรือยายที่จะดูคุณแสดงก็แสดงให้พวกเขาดูนั่นแหละ แล้วถ้าเกิดคุณจะได้รางวัลออสการ์จากสิ่งที่คุณพยายามทำ ผมเป็นใคร จะไปว่าอะไรคุณได้…” กิล ทิ้งท้าย
กิล อาลอน (Gil Alon) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์แห่งเซน (Zen Master) และเป็นศิลปินที่มีความสามารถทั้งด้านการร้องเพลง การแสดง และผู้กำกับละครเวที นอกจากนี้กิลยังรับบทบาทเป็นทั้งครูและโคชให้กับผู้คน หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย เยอรมันนี อินเดีย อิสราเอล ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และประเทศไทย เขาเคยทำงานร่วมกับบีอีซีเทโร ไทยทีวีสีช่อง 3, กลุ่มละครเวทีมะขามป้อม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภัทราวดีเทียร์เตอร์ และสถาบันการแสดงอื่น ๆ อีกมากมาย |