- “ก็แค่เหงา ไม่ถึงตายหรอก” มักเป็นคำพูดปลอบใจคนที่กำลังตกอยู่ในอารมณ์อ้างว้างและเดียวดาย แต่คำพูดนั้นอาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว เมื่อความเหงากำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
- หากคุณรู้สึกเหงาบ่อยๆ มากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ หรือรู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง เข้ากับคนอื่นไม่ได้ รวมทั้งรู้สึกว่า ‘ชีวิตช่างว่างเปล่า’ ล้วนเป็นสัญญาณชี้ว่า คุณกำลังเหงาในระดับที่เป็นอันตราย
- หนึ่งในเคล็ดลับการรับมือกับความเหงาคือ การใจดีกับตัวเอง และใจดีกับคนอื่นด้วย การใส่ใจและพยายามช่วยเหลือคนอื่น จะทำให้คนที่กำลังรู้สึกเหงา ได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ความเหงา คืออารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งเวลาที่อยู่คนเดียว หรือแม้แต่อยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก แต่ขาดความรู้สึกเชื่อมโยง หรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกทางลบในจิตใจ
ว่ากันว่า ไม่มีมนุษย์คนใดในโลกที่ไม่เคยรู้สึกเหงา เราทุกคนที่เกิดมาล้วนเคยมีความรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต และเราอาจเคยได้ยินใครบางคนพูดว่า ก็แค่เหงา ไม่ถึงตายหรอก ซึ่งมักเป็นคำพูดปลอบใจคนที่กำลังตกอยู่ในอารมณ์อ้างว้างและเดียวดาย
แต่คำพูดนั้นอาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว เมื่อความเหงากำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตสืบเนื่องจากความเหงาได้
ในช่วงปลายปี 2023 องค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) ประกาศว่า ‘ความเหงา’ กำลังเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในระดับโลก ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกช่วงอายุ ทุกประเทศ และทุกฐานะทางการเงิน
ทั้งนี้ WHO เริ่มตระหนักถึงปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากความเหงา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้คน ทำให้หลายคนรู้สึกว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว รู้สึกเหงา จากมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคม รวมถึงการกักตัวผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19
สิ่งที่น่าวิตกก็คือ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ประชากรจำนวนมากในหลายๆ ประเทศ ยังคงรู้สึกเหงา หรือคิดว่าตัวเองถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว แม้ว่าจะไม่มีการใช้มาตรการสร้างระยะห่างทางสังคม หรือข้อจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดอีกแล้วก็ตาม
ความเหงา อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต สภาพอารมณ์ที่หดหู่ เศร้าหมอง รวมถึงอาจกระตุ้นความเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตาย ในคนที่มีปัญหาด้านจิตใจอยู่แล้ว แต่จากข้อมูลใหม่ๆ ทำให้เราได้ตระหนักว่า ความเหงา ยังนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายอีกด้วย
ดร.วิเวก เมอร์ธี (Vivek Murthy) หนึ่งในคณะกรรมการระหว่างประเทศ ที่ WHO จัดตั้งขึ้นเพื่อหาแนวทางรับมือปัญหาสุขภาพอันเกิดจากความเหงา กล่าวว่า ความเหงา เป็นภัยต่อสุขภาพเทียบเท่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน และเป็นภัยร้ายแรงยิ่งกว่าโรคอ้วน และการไม่ออกกำลังกายเสียอีก
ดร.เมอร์ธี นายแพทย์ใหญ่ชาวอเมริกัน ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐบาลสหรัฐ กล่าวอีกว่า ประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเหงาอย่างชัดเจน โดยพบว่า ความเหงา อาจทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) ในกลุ่มผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นถึง 50 % และความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เพิ่มขึ้นถึง 30 %
ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ที่เผชิญกับปัญหาความอ้างว้าง ข้อมูลของ WHO ยังระบุว่า กลุ่มเด็กและเยาวชน ที่เคยตกอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว มีจำนวน 5-15 % ซึ่งตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่านี้ โดยเด็กในยุโรปที่คิดว่าตัวเองต้องเผชิญกับความเหงาบ่อยๆ มีอยู่ราว 5.3 % เทียบกับเด็กในทวีปแอฟริกา ที่มีจำนวนถึง 12.7 %
เด็กและเยาวชนที่เป็นคนเหงา อาจไม่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพรุนแรงเท่ากลุ่มผู้สูงอายุก็จริง แต่พวกเขาก็ยังได้รับผลกระทบทางด้านอื่น โดยพบว่า เด็กนักเรียนที่รู้สึกโดดเดี่ยวเวลาอยู่ในโรงเรียน มักจะเรียนไม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และผลที่ตามมาก็คือ การได้งานที่ให้ผลตอบแทนต่ำ และไม่ตรงกับความคาดหวังของตัวเอง
เหงาคืออะไร อย่างไรถึงเรียกว่าเหงา
สมาคมการแพทย์อเมริกัน (AMA – American Medical Association) เป็นอีกหน่วยงานที่ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาสุขภาพอันเกิดจากความเหงา โดยเมื่อปีที่แล้ว AMA ได้ประกาศให้ความเหงา เป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขระดับเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่เข้าใจกันว่า ความเหงาคืออะไร และความเหงามากน้อยแค่ไหน จึงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ดร.เบล วอชิงตัน (Bell Washington) หนึ่งในคณะกรรมการผู้จัดทำนโยบายแก้ปัญหาความเหงาของ AMA กล่าวว่า ความเหงา คือความรู้สึกในทางลบที่เกิดขึ้นในจิตใจของคน เมื่อพบว่า การมีปฏิสัมพันธ์ หรือการมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาคิดว่าควรจะเป็น
“คุณอาจจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายที่คุณรู้จักคุ้นเคยดี แต่คุณก็ยังรู้สึกเหงาได้” ดร.วอชิงตัน กล่าว พร้อมเสริมว่า “คุณอาจจะพบเจอ-พูดคุยกับคนมากมาย แต่ก็ยังรู้สึกอ้างว้าง เพราะสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ ไม่ใช่บทสนทนาแบบผิวเผิน ตามมารยาท แต่เป็นใครสักคนที่รู้จักคุณอย่างลึกซึ้งจริงๆ”
ขณะที่ ซีโมน ดาส โดเรส นักจิตวิทยาจาก iPractice สถาบันจิตเวชแห่งเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ความเหงา ไม่ใช่ข้อมูลที่สามารถวัดได้ แต่เป็นการรับรู้ เป็นเรื่องของความรู้สึก และเป็นประสบการณ์เฉพาะตัวบุคคล
“คนบางคนอาจต้องการการมีปฏิสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากกว่าคนอื่น ทำให้เขาหรือเธอมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงาได้มากกว่าคนอื่น” โดเรส กล่าว
ต่อคำถามที่ว่า ความเหงาในระดับไหน ถึงเรียกว่าเป็นความเหงาที่น่าวิตกกังวล และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดเรส ตอบว่า
“การจะบอกว่าคุณกำลังรู้สึกเหงาหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องอยู่ลำพังคนเดียว ถ้าคุณรู้สึกหดหู่ เครียด หรือวิตกกังวลกับการต้องอยู่ลำพังคนเดียว แปลว่าคุณรู้สึกเหงาแล้ว และยิ่งคุณคิดถึงมัน คุณจะยิ่งเหงามากขึ้น”
อย่างไรก็ดี โดเรสย้ำว่า การอยู่ลำพังคนเดียว ไม่ได้เท่ากับความเหงา การอยู่ตัวคนเดียวเป็นข้อเท็จจริง หรือภววิสัย (Objective) แต่การรู้สึกเหงา เป็นเรื่องของความรู้สึก การรับรู้ ซึ่งถือเป็นอัตวิสัย (Subjective) หรือสิ่งที่รับรู้ได้เฉพาะตัวบุคคล
“สำหรับคนบางคน การอยู่ลำพังคนเดียว กลับทำให้เขาหรือเธอรู้สึกสบายใจ มีความสุข นั่นแปลว่า คนๆ นั้นไม่ได้รู้สึกเหงา” โดเรส กล่าว
ทางด้าน ดร.วอชิงตัน เสริมว่า หากคุณรู้สึกเหงาบ่อยๆ และเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเครียด นอนไม่หลับ เริ่มหลงๆ ลืมๆ น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น แปลว่า ความเหงาเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแล้ว
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาบางคน ตั้งข้อสังเกตว่า หากคุณรู้สึกเหงาบ่อยๆ มากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ หรือรู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง เข้ากับคนอื่นไม่ได้ รวมทั้งรู้สึกว่า ‘ชีวิตช่างว่างเปล่า’ ล้วนเป็นสัญญาณชี้ว่า คุณกำลังเหงาในระดับที่เป็นอันตราย
เหงาได้ไง ออนไลน์ทั้งวัน
ในสังคมยุคปัจจุบัน การใช้โซเชียลมีเดียกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน หลายคนใช้เวลาในโซเชียลมีเดียครั้งละหลายๆ ชั่วโมง เพื่อเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเพื่อนๆ หรือคนที่มีความสนใจในหัวข้อเหมือนกัน
หากมองอย่างผิวเผิน โซเชียลมีเดียน่าจะช่วยให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้ความรู้สึกเหงาของคนลดน้อยลง
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นกลับพบว่า การใช้โซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนยิ่งรู้สึกเหงามากขึ้น
ผลการวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้น ที่เก็บรวบรวมในหอสมุดการแพทย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงงานวิจัยภายใต้การนำโดย ดร. เกา จุน หลิง (Gao JunLing) จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พบว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลานาน มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกเหงาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่แย้งกับความเข้าใจก่อนหน้านี้ที่ว่า โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระยะทางไกล
นอกจากนี้ รายงานการวิจัยของ ดร.เมลิสสา จี. ฮันต์ (Melissa G.Hunt) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ที่ทำขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย ที่ถูกจำกัดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดีย วันละไม่เกิน 10 นาที เป็นเวลา 3 สัปดาห์ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และความรู้สึกเหงาที่ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่าง ที่ไม่ถูกจำกัดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดีย
ดร.แฟรงค์ คลาร์ก (Frank Clark) ศาสตราจารย์คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเซาธ์ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เด็กและเยาวชน ดูจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดีย เนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาในโลกออนไลน์ค่อนข้างมาก
“เวลามีคนมากดไลก์ หรือมียอดฟอลโลเวอร์จำนวนมากๆ สารโดปามีนจะหลั่งออกมา ทำให้พวกเขามีความสุข ในทางตรงข้าม หากสเตตัสไม่ได้รับความสนใจ เด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาด้านวิกฤติอัตลักษณ์ (Identity Crisis) อาจรู้สึกเศร้า หดหู่ จนกลายเป็นความรู้สึกเหงาได้” ดร.คลาร์ก กล่าว
ขณะที่ ดร. วอชิงตัน ให้ข้อมูลเสริมว่า วัยรุ่นในช่วงวัย 20 เป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การแยกตัวออกจากครอบครัวที่อยู่มาตั้งแต่เด็ก การวางเส้นทางอาชีพ การมองหาคู่ชีวิต และการเสาะแสวงหากลุ่มหรือสังกัดให้ตัวเอง ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้ ถูกทำให้สับสนมากขึ้นด้วยสิ่งที่เด็กวัยรุ่นพบเห็นในโลกเสมือนจริง ซึ่งล้วนแต่สวยหรู ฟู่ฟ่า และฉาบฉวย
เพราะเหงาของเราไม่เท่ากัน
ดร.คลาร์ก กล่าวว่า คนทุกคน ทุกเพศทุกวัย ล้วนมีโอกาสที่จะพบเจอประสบการณ์ความเหงา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่มีใครที่มีภูมิต้านทานความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ได้เลย
อย่างไรก็ดี คนบางกลุ่มอาจมีแนวโน้มที่จะมีความรู้สึกเหงามากขึ้น เช่น คนที่ใช้ชีวิตลำพังคนเดียว
นอกจากนี้ คนที่มีสถานะไม่เท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม อาทิ กลุ่มคนที่อพยพย้ายประเทศ และกลุ่ม LGBTQ+ ก็มีความเสี่ยงที่จะรู้สึกเหงามากขึ้นด้วย
“การเลือกปฏิบัติ อันเป็นผลมาจากอคติ รวมไปถึงปัญหากำแพงภาษา ล้วนมีส่วนทำให้คนบางกลุ่ม ถูกกีดกันออกจากสังคม ทำให้พวกเขายิ่งมีความเสี่ยงที่จะรู้สึกเหงาเพิ่มมากขึ้น”
ดร.คลาร์ก ยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ เมื่อคุณรู้สึกเหงา อย่าปกปิดหรือปฏิเสธ จงยอมรับว่า ตัวเองมีความรู้สึกเหงา และพยายามค้นหาว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกเหงา
ขณะที่ ดร.วอชิงตัน เสริมว่า ความเหงา ไม่ได้หมายถึงความอ่อนแอ และการโหยหาความสัมพันธ์กับผู้คนก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ต่างจากความต้องการมีสุขภาพดี หรือความต้องการปัจจัยสี่
“ถ้าคุณมีวันที่รู้สึกเศร้า หดหู่ มากกว่าวันที่ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น นั่นเป็นสัญญาณชี้ว่า คุณควรจะออกไปพบเจอใครสักคนได้แล้ว” ดร. วอชิงตัน ให้คำแนะนำ “นอกเหนือจากครอบครัว และเพื่อนแล้ว การไปพบแพทย์ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คุณพ้นจากปัญหาความเศร้าได้”
เคล็ดลับการรับมือกับความเหงา
ดร.เดวิด เคทส์ นักจิตวิทยาจากสถาบันการแพทย์เนแบรสกา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงวิธีรับมือกับปัญหาที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
“อันดับแรกเลย คุณต้องใจดีกับตัวเอง” ดร.เคทส์ กล่าว “ยอมรับว่าตัวเองกำลังมีปัญหา คุณถึงจะแก้ปัญหาได้”
นอกจากใจดีกับตัวเองแล้ว จงใจดีกับคนอื่นด้วย การใส่ใจและพยายามช่วยเหลือคนอื่น จะทำให้คนที่กำลังรู้สึกเหงา ได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ขณะที่ซาราห์ ไฮทาวเวอร์ (Sarah Hightower) นักจิตวิทยาการปรึกษาจากแอตแลนตา กล่าวว่า สำหรับบางคน อาจมีช่วงเวลา หรือบางเทศกาลที่มักรู้สึกเหงาบ่อยๆ ดังนั้น เมื่อรู้ล่วงหน้าว่าตัวเองมีโอกาสจะรู้สึกเหงา ให้วางแผนล่วงหน้าในการรับมือ เช่น นัดเจอครอบครัวหรือเพื่อนในช่วงนั้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธีในการขจัดความเหงา เช่น การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การมีงานอดิเรกใหม่ๆ การออกไปเดินเล่นในสถานที่ธรรมชาติ และการมีกิจกรรมที่ขยับเขยื้อนร่างกาย ไม่ว่าจะทำคนเดียว หรือทำร่วมกับเพื่อนๆ ล้วนแต่เป็นวิธีที่ดีในการลดอารมณ์หดหู่
ทางด้าน ดร.เคทส์ กล่าวว่า ฟังดูอาจเป็นเรื่องแปลก หรือย้อนแย้ง แต่การดื่มด่ำกับช่วงเวลาอยู่คนเดียว นับเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเหงาได้ เพราะการอยู่ลำพังอย่างมีคุณภาพ จะทำให้คุณได้ชาร์จพลังให้กับตัวเอง ได้ทบทวนเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น รวมถึงได้มีโอกาสใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์
ท้ายที่สุด การพบแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เป็นอีกหนทางที่ช่วยให้คุณพ้นจากความเหงาได้
“ความเหงา เป็นปัญหาที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง” ดร. เบล วอชิงตัน จาก AMA กล่าวทิ้งท้าย “เพราะมันนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อาการซึมเศร้า และที่ร้ายแรงที่สุด อาจถึงแก่ชีวิตได้”
อ้างอิง
1 Who declares loneliness a global public health concern : https://www.theguardian.com/global-development/2023/nov/16/who-declares-loneliness-a-global-public-health-concern
2 What doctors wish patients knew about loneliness and health : https://www.ama-assn.org/delivering-care/public-health/what-doctors-wish-patients-knew-about-loneliness-and-health
3 Loneliness : https://ipractice.com/symptoms/loneliness/
4 Association between social media use and loneliness in a cross-national population : https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC9817115/
5 Loneliness : A disease? : https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC3890922/
6 12 ways to beat loneliness : https://www.webmd.com/mental-health/features/beat-loneliness