เรื่องอ้วนไม่ใช่เรื่องตลกนะ… ฮึ่ม
เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อย จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องรับได้ และหลายๆ ครั้งเรากลับปลอบเพื่อน ลูก หรือคนใกล้ตัวที่ร้องไห้เพราะโดนล้อว่า “อ้วน” ไปว่า “ไม่เป็นไรนะ” “ไม่ต้องคิดมาก” ด้วยน้ำเสียงขำๆ
หลายต่อหลายครั้ง คำว่า “ไม่ต้องคิดมาก” นี่แหละ ที่ทำให้เราไม่ทำความเข้าใจร่วมกันว่าการโดนล้อซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดานี้ มันคือหนึ่งในการกลั่นแกล้งล้อเลียน (bully) ซึ่งอาจมีผลต่อจิตใจ ต่อชีวิต ต่อความเปราะบางของคนนั้นได้ตลอดไป
ในบทความเรื่อง ‘The Emotional Toll of Childhood Obesity’ (สภาพอารมณ์ที่ถูกทำลาย จากโรคอ้วนในวัยเด็ก) ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ Clay Center for Young Healthy Minds เว็บไซต์ของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจเนอรัล (Massachusetts General Hospital) โดย สตีเฟน โชลซ์มัน (Steven Schlozman) จิตแพทย์เด็กและนักเขียน จุดประเด็นนี้ด้วยการตั้งคำถามว่า…
“ทำไมเราจึงคิดว่าการล้อคนอื่นว่า ‘อ้วน’ เป็นเรื่องโอเค?” และ
“เป็นไปได้ไหมว่าเด็กที่ถูกเยาะเย้ย อาจพัฒนาไปสู่ภาวะทางอารมณ์อื่นๆ?”
หันไปเสิร์ชหาข้อมูลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่เป็นโรคอ้วน และการถูกเยาะเย้ยกลั่นแกล้งที่เรียกว่า bully พบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และยังมีบทความที่เขียนขึ้นจากใจและประสบการณ์ของผู้ที่เคยถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากความอ้วนอีกเท่าทวีคูณ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ งานสำรวจแบบสอบถามความเห็นประชากรกว่า 2,866 คนจาก 4 ประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ไอซ์แลนด์ และออสเตรเลีย ประเด็นการถูก bully เพราะน้ำหนักตัว
ข้อค้นพบที่น่าสนใจมีว่า เรื่องที่ผู้คนถูกล้อเลียนมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องเชื่อชาติ ศาสนา ความพิการ หรือเพศสภาพ หากคือเรื่อง ‘น้ำหนักตัว’ หรือเรื่องอ้วน ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 69 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าประเด็นนี้นั้น ‘ซีเรียส’ ละเอียดอ่อนมากๆ
งานวิจัยเรื่อง ‘เหยื่อและผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งเพราะความอ้วน’ กลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปีชาวอิตาลี จำนวน 947 คน นำทีมวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเซคอนดา (Seconda Università) เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี
ทีมวิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมวิจัยเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีน้ำหนักเกิน (BMI: 25-29) ผู้ที่เข้าข่ายอ้วน (BMI: 30-34.9) และผู้ที่เป็นโรคอ้วนรุนแรง (35.39.9) และดูว่า ในแต่ละกลุ่มถูกปฏิบัติโดยเฉพาะการล้อเลียนอย่างไร ซึ่งผลลัพธ์ไม่ได้พลิกความคาดหมายมากนัก คือกลุ่มที่เข้าข่ายอ้วน และอ้วนรุนแรง จะพบกับการล้อเลียนทั้งทางคำพูดและการกระทำมากกว่ากลุ่มที่อ้วนน้อยๆ และพบว่าเพศชายจะถูกกลั่นแกล้งมากกว่าเพศหญิง
แน่นอนว่าภาวะน้ำหนักมากมีผลต่อระบบสุขภาพ เช่น ความดัน โรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน เบาหวาน แต่แนวทางการรักษาและป้องกัน เป็นคนละเรื่องกับการถูกกลั่นแกล้ง ตีตรา (stigmatize) จากสังคม ที่ปัจจุบันความรุนแรงของความเกลียดและกลัวคนอ้วน มีชื่อเฉพาะทางการแพทย์ที่เรียกว่า ‘fatphobia’ เลยทีเดียว
ในบทความตั้งต้นของโชลซ์มัน อาจไม่ได้ลงรายละเอียดงานวิจัยมากนัก เพราะเขาตั้งใจเล่าประสบการณ์ที่ถูกล้อเลียนเพราะความอ้วนในวัยเด็ก การถูกเพื่อนล้อให้โกรธเกรี้ยว วิ่งไล่ล่าเพื่อหวังใช้ความรุนแรง โดยที่เพื่อนรอบห้องและครูยืนหัวเราะพฤติกรรมโกรธเกรี้ยวจากความอับอายของเขา เป็นสิ่งที่เขาถามตัวเองทุกวันว่า
การกระทำเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ หรือ?