- ความล้มเหลวเป็นเรื่องจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ สำหรับชีวิตที่ดีในอนาคต
- การเปิดโอกาสให้เผชิญความล้มเหลวนั้น คือการปล่อยให้เด็กๆ ลองออกไปอยู่นอก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของตัวเองบ้าง แต่ไม่ใช่ ‘การตัดหางปล่อยวัด’
- สำหรับพ่อแม่ เมื่อเด็กมองว่าคุณเป็น ‘ต้นแบบ’ วิธีการให้กำลังใจที่ดีมากแบบหนึ่งคือ การเล่าให้พวกแกฟังว่า คุณเองก็เคยทำพลาดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะทำให้เด็กๆ มองเห็นว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา และช่วยให้เดินก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
คนส่วนใหญ่หรือแทบจะทั้งหมดมีความสุขที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับมีน้อยมากที่คิดว่า ความล้มเหลวเป็นเรื่องจำเป็นและเรื่องดีสำหรับชีวิต แต่ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ และจะต้องใช้ไปตลอดชีวิตได้แก่ ทักษะการรับมือกับความล้มเหลว
‘ความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต’ เป็นหนึ่งในบทเรียนที่คนประสบความสำเร็จในชีวิตต้องมี คนพวกนี้ไม่จำเป็นต้องมีฐานะมั่งคั่ง แต่ก็มีความสุขกับชีวิตได้เสมอ
มีวิธีการอะไรที่จะสอนหรือถ่ายทอดทักษะการล้มเหลวให้ดี และใช้มันเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้บ้าง?
เราทุกคนกลัวความล้มเหลว
เจสสิกา ลาเฮย์ (Jessica Lahey) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษมา 20 ปี เธอแต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ความล้มเหลวคือของขวัญ (The Gift of Failure) [1] โดยระบุว่า เธอมองเห็นลูกศิษย์ปฏิบัติกับความเสี่ยงต่างๆ ด้วยความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ
วัยรุ่นยุคนี้อาจถือเป็นรุ่นที่ ‘ไม่อาจล้มเหลว’ ได้ สาเหตุหลักอาจจะมาจากความปรารถนาดีและการปกป้องจนเกินเหตุ (overprotection) ของพ่อแม่เป็นหลัก!
พ่อแม่ที่รักลูก จนไม่อาจยอมให้ลูกล้มเหลวในเรื่องใดทั้งสิ้น จึงทั้งผลักดัน เคี่ยวเข็ญต่างๆ นานา จนบ้างก็เลยเถิดไปถึงขั้นข่มขู่ บางคนก็ตั้งความหวังให้ลูกเป็นในสิ่งที่ตนเองไม่อาจเป็นได้ เช่น เรียนจบเป็นแพทย์ หรืออาชีพอื่น จนลืมเลือนความจริงข้อหนึ่งไปว่า …
ความล้มเหลวเป็นเรื่องจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ สำหรับชีวิตที่ดีในอนาคต และเรื่องที่ตนเองล้มเหลว ลูกก็อาจล้มเหลวหรือแม้แต่ไม่ชอบก็ได้
เสี่ยวตง ลิน-ซีเกลอ (Xiaodong Lin-Siegler) ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความมุ่งมั่นและนวัตกรรม (the Education for Persistence and Innovation Center) ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สรุปผลการศึกษาของเขาว่า [2] นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ เมื่อได้เรียนรู้ประวัติของนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดอย่างมารี กูรี และนักประดิษฐ์อย่างธอมัส เอดิสัน ว่าอัจฉริยะชั้นยอดเหล่านี้ก็ยังเคยประสบความล้มเหลวในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ช่วยทำให้พวกเขาได้ผลการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น
พวกเขาได้เรียนรู้ว่าความเฉลียวฉลาดไม่ใช่เรื่องบุญทำกรรมแต่งที่เป็นมาตั้งแต่เกิดเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ความมานะพยายามเป็นตัวช่วย และที่สำคัญคือเราเรียนรู้จากความผิดพลาดต่างๆ ที่ทำลงไปได้
พวกเด็กๆ เรียนรู้ว่าตลอดเส้นทางชีวิตของพวกเขา จะมีความล้มเหลวเป็นเพื่อนร่วมทางอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ปล่อยให้ล้มได้ แต่ไม่ใช่ให้พ่ายแพ้
ประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญมักเน้นกันก็คือ การเปิดโอกาสให้เผชิญความล้มเหลวนั้น คือการปล่อยให้เด็กๆ ลองออกไปอยู่นอก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของตัวเองบ้าง แต่ไม่ใช่ ‘การตัดหางปล่อยวัด’
อีกประเด็นคือ เริ่มได้ยิ่งเร็วก็จะยิ่งดี เช่น ลูกชายลูกหญิงอายุ 3 ขวบ ร้องไห้จะเป็นจะตายอยากได้ลูกอมหรือขนม หรืออาจถึงกับลงไปชักดิ้นชักงออยู่บนพื้น การทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าความต้องการของตัวเองอาจไม่ได้รับการตอบสนองทุกครั้งไป สำคัญกับเด็กวัยนี้และวัยอื่นๆ ไม่ต่างกัน
ปัญหาสำคัญสำหรับคนเป็นพ่อและแม่คือ การห้ามใจไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ทำได้ไม่ง่ายเลย เพราะพ่อแม่จำนวนมากพ่ายแพ้ต่อความต้องการเอาใจหรือปกป้อง
นอกจากการหักห้ามใจ ปล่อยให้เด็กๆ เรียนรู้และล้มเหลวเองบ้างตามธรรมชาติ ยังมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ อีกที่อาจเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองนำไปใช้ได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องแรกคือ ต้องสอนให้เด็กรักตัวเองและปลอบใจตัวเองเป็น
การทำผิดพลาดหรือเกิดความล้มเหลวเป็นเรื่องเจ็บปวดเสมอ ไม่ว่าจะล้มเหลวเรื่องอะไรในตอนอายุเท่าไหร่ การนั่งลงข้างๆ เป็นกำลังใจ รับฟังคำพูดและรับรู้อารมณ์ด้านลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีค่ามาก
คำพูดที่สอนในทางอ้อม เช่น “ถ้า (ชื่อเพื่อน) กำลังรู้สึกแย่เหมือนที่ลูกรู้สึกอยู่ตอนนี้ ลูกจะปลอบใจว่ายังไง?” อาจทำให้เด็กๆ ได้ฉุกคิดและปลอบโยนตัวเองในทางอ้อมได้อีกทางหนึ่ง ในยามที่ล้มเหลวที่สุด การเป็นคนที่สามารถดูแลจิตใจตัวเอง เยียวยาตัวเองได้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
กระตุ้นให้หาบทเรียน
คีลา ไฮโมวิตซ์ (Kyla Haimovitz) นักจิตวิทยาและนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งศึกษาเรื่องปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ปกครองต่อความล้มเหลวของเด็กระบุว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของคุณมีผลต่อเด็กอย่างมากมายมหาศาล
ควรพูดคุยกับพวกเด็กๆ ให้มองเน้นไปที่กระบวนการ เช่น “พ่อ/แม่ เสียใจด้วย ถ้าลองทำใหม่ได้ จะเปลี่ยนไปทำยังไงจ๊ะ?” หรืออาจจะ “ไม่เป็นไรจ้ะ พ่อ/แม่ ก็ไม่เก่งวิทยาศาสตร์เหมือนกัน” หรือ “ไม่ต้องคิดมาก อย่างน้อยลูกก็เก่งเรื่องภาษานะ”
หากเป็นนักกีฬาก็อาจแนะนำให้เสียใจให้พอ แล้วลองไปปรึกษาโค้ชว่า จะทำอะไรได้บ้าง จะแก้ไขอะไรได้บ้าง
วิธีการให้กำลังใจที่ดีมากแบบหนึ่งคือ เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ยังเล็กมาก จะมองว่าคุณเป็น ‘ต้นแบบ’ ดังนั้นการเล่าให้พวกแกฟังว่า คุณเองก็เคยทำพลาดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะทำให้เด็กๆ มองเห็นว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา และช่วยให้เดินก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้น [3]
อีกวิธิการหนึ่งที่เป็นทางอ้อมมากกว่าอีกนิดคือ การเล่าเรื่องฮีโร่ของพวกเด็กๆ ซึ่งอาจจะเป็นนักกีฬาหรือไม่ก็ฮีโร่ในภาพยนตร์ว่า พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรในชีวิต และเคยทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง
การทำแบบนี้จะทำให้เด็กๆ มองเห็นว่า ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ยังไงก็ต้องพบเจอ และเป็นประสบการณ์ชีวิตแบบหนึ่ง ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความพยายามในเรื่องใดเลย—ก็ขนาดฮีโร่ของเรายังต้องเจอ เราจะรอดได้ไง!
ชำแหละโซเชียลมีเดียให้เห็น
โลกโซเชียลมีเดียเดี๋ยวนี้ โหดร้ายกับเด็กๆ มากนะครับ
นอกจากตัวเว็บ เพจ และแอป จะทำอะไรได้สารพัดแล้ว ตัวกล้องเองก็ปรับได้สารพัดอย่าง จนภาพที่ออกมาดูสวยหล่อ ดูดีกว่าความจริงไปมาก ยังไม่นับธรรมชาติของนิสัยคนที่เข้าคู่กับแอปเหล่านี้ ทำให้ชอบอวดหน้าตา รูปร่าง และความร่ำรวย กันจริงจังมาก
เด็กๆ ที่เห็นเพื่อนส่วนใหญ่ได้ไปร่วมปาร์ตี้สักงาน โดยตนไม่ได้รับเชิญด้วย น่าจะรู้สึกเฟลและเซ็งจับจิตมาก
มีเด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยหดหู่จนถึงกับซึมเศร้าก็มี และคิดไปเองว่ามีแต่ตัวเองที่โชคร้ายและตกระกำลำบาก แต่แวดล้อมไปด้วยคนที่โชคดีและมีความสุข
การย้ำเตือนกับเด็กๆ เสมอว่า ภาพที่เราเห็นบนโซเชียลมีเดีย เป็นแค่เศษเสี้ยวเบี้ยวๆ ของโลกจริงเท่านั้น คนเหล่านี้ก็มีความทุกข์ ความเซ็ง และวันซวยๆ เหมือนเรานี่แหละ
เค้าแค่ไม่ได้แปะให้คนอื่นรับรู้เท่านั้น
คำแนะนำสุดท้ายคือ หากลูกๆ สนใจจะลองสิ่งใหม่ๆ ก็ปล่อยให้พวกเขาลองทำดูบ้าง เพราะเด็กๆ จะได้เรียนเรื่องความมุ่งมั่น ความรู้สึกร่วมกับคนอื่น กับการแพ้ให้เป็น และล้มเหลวให้เห็นความจริงตามธรรมชาติ
ทั้งหมดนั้นเป็น ‘กระบวนการ’ สำคัญ สำหรับการเรียนวิชา ‘ความสุข’ ที่พวกเขาต้องเรียนไปตลอดชีวิต!
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.amazon.com/Gift-Failure-Parents-Children-Succeed/dp/0062299255