- Growth Mindset คือ ความคิดยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาและพัฒนาตนเองโดยตั้งเป้าการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนพัฒนาทักษะมากกว่าทำคะแนน และสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อต่อการคิด
- ท่ามกลางกระแสความเป็นไปของโลกที่หมุนไปรวดเร็ว Growth Mindset คือคุณสมบัติสำคัญที่ปลูกฝังและสอนได้ตั้งแต่เด็ก
- ความท้าทายคือครูจะสอนอย่างไร อาจเริ่มด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ คือ 1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Growth Mindset และ Fixed Mindset 2. แยกให้ออกว่าครูที่ดีกับครูที่แย่เป็นอย่างไร และ 3. ตั้งเป้าหมายให้การเรียนการสอนเป็นไปเพื่อส่งเสริม Growth Mindset ให้ชัดเจนและทำได้จริง
เมื่อเด็กยุคนี้ต้องมีระบบความคิดยืดหยุ่นและเปิดกว้างต่อการพัฒนาตนเองให้อยู่รอดท่ามกลางกระแสความเป็นไปของโลกที่หมุนไปรวดเร็วพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดยั้ง Growth Mindset คือคำตอบสำคัญในการจะพัฒนาปัญญาและทักษะความสามารถของเยาวชนให้เติบโตเท่าทันกับความเป็นไปของโลก ถึงเวลาที่ครูทุกคนต้องหันมาใส่ใจฟูมฟักเยาวชนยุคใหม่ด้วยวิถีแห่ง Growth Mindset หรือความคิดยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาและพัฒนาตนเองโดยการตั้งเป้าการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนพัฒนาทักษะมากกว่าทำคะแนนและสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อต่อการคิด
Annie Brock และ Heather Hundley ผู้เขียนหนังสือ ‘The Growth Mindset Coach’ เป็นไกด์ไลน์หรือคู่มือประจำชั้น แนะแนวทางการเสริมสร้าง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นในห้องเรียน สำหรับคุณครูที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นตรงไหนก่อนดี ลองสตาร์ทด้วย 3 ขั้นตอนดังนี้
1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Growth Mindset และ Fixed Mindset ก่อน
2. แยกให้ออกว่าครูที่ดีกับครูที่แย่เป็นอย่างไร
3. ตั้งเป้าหมายให้การเรียนการสอนเป็นไปเพื่อส่งเสริม Growth Mindset ให้ชัดเจนและทำได้จริงมากที่สุด
ทำความเข้าใจ Growth Mindset vs Fixed Mindset กันก่อน
คนที่มี Growth Mindset เปรียบได้กับน้ำครึ่งแก้วซึ่งมีพื้นที่เหลือสำหรับเติมความรู้ใหม่ๆ ได้เสมอ และมองว่าทักษะความรู้พัฒนางอกงามได้เรื่อยๆ คนเราเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ไม่รู้จบและเก่งได้ด้วยการอาศัยเวลาฝึกฝน พรสวรรค์หรือความถนัดที่ติดตัวมาแต่เกิดเช่นเสียงดีหรือคิดเลขเร็ว อาจเป็นต้นทุนตั้งต้นที่ดีแต่ไม่ใช่ตัวกำหนดขีดความสามารถหรือความสำเร็จของคนเสมอไป
การปลูกฝังเด็กๆ ให้เกิด Growth Mindset คือการกระตุ้นความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ผลักดันให้พวกเขามีความเชื่อมั่นกล้าคิดกล้าพูดกล้าทำและไม่กลัวเมื่อเผชิญปัญหาหรือภารกิจการงานที่ยากลำบาก โดยโฟกัสไปที่ความรู้ความเข้าใจจากการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นแทนที่จะเน้นการตัดสินผลลัพธ์ว่าผิดถูก สำเร็จหรือล้มเหลว
อีกฝั่งหนึ่ง คนที่มี Fixed Mindset มักเชื่อในทำนองว่าถ้าคนเราห่วยเรื่องไหนแล้ว จะทำยังไงก็ยังคงห่วยวันยังค่ำ ทำอะไรไม่ได้อย่าฝืน ความสามารถคนเราติดตัวมาแต่เกิดแค่ไหนแค่นั้น อย่าดันทุรังไปเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา คนไม่เก่งเลขคือคนไม่มีหัวด้านนี้ กี่ปีกี่ชาติก็สอบตก คนร้องเพลงเพี้ยนก็เพราะไร้พรสวรรค์ จับมาเรียนร้องเพลงก็ไม่มีทางร้องได้เพราะ
เด็กที่คิดด้วย mindset แบบนี้มักยึดติดแต่กับพรสวรรค์หรือความถนัดของตนแต่ถ่ายเดียว ตอบเฉพาะเมื่อมั่นใจว่าตอบถูก และปิดปากเงียบไม่แสดงตัวในเรื่องที่ไม่ถนัด หัวเราะเยาะคนที่พยายาม ไม่กล้าลองผิดลองถูกเพราะมองความผิดพลาดล้มเหลวของตนเองหรือใครก็ตามเท่ากับการโชว์โง่ ไร้ประสิทธิภาพ ความคิดเช่นนี้จึงขังให้เขาจมอยู่กับความไม่รู้ไม่เข้าใจ ซ้ำตัดโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่และพัฒนาของเดิมเพราะไม่ขวนขวายกับกลัวอายเมื่อทำผิด
ทฤษฎี Mindset ทั้งสองแบบข้างต้นนี้มาจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องปัญญา ความคิดสร้างสรรค์และความถนัดของมนุษย์มาเป็นเวลาหลายปีของ Carol Dweck ซึ่งเธออธิบายไว้ว่า mindset ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งสองแบบของคนเรานั้นเกี่ยวพันกับทัศนคติพวกเขาที่มีต่อปัจจัยดังต่อไปนี้ ความท้าทาย (challenges) อุปสรรคปัญหา (obstacles) ความมานะพยายาม (effort) คำวิจารณ์ (criticism) และความสำเร็จของผู้อื่น (success of others)
Fixed Mindset | Growth Mindset | |
ความยากง่าย | เลี่ยงทำสิ่งยากๆ เพื่อ keep look ให้คนอื่นเห็นว่าเก่งหรือฉลาดตลอดเวลา | ไม่เกี่ยงว่ายากง่าย กระตือรือร้นที่จะลองทำ ลองเรียนรู้ |
อุปสรรคปัญหา | ล้มเลิกเมื่อเจอปัญหา | หาทางแก้ไขปัญหา ฟันฝ่าอุปสรรค |
ความมานะพยายาม | มองว่าคนที่ต้องใช้ความพยายามเป็นคนโง่ คนเก่งไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายาม | มองว่าความพยายามและทุ่มเทคือหนทางสู่การพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น |
คำวิจารณ์ | ไม่รับฟังคำวิจารณ์เชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นการติเพื่อก่อ | คำวิจารณ์คือเสียงสะท้อนให้รู้ว่าจุดไหนควรพัฒนาหรือเรียนรู้เพิ่มเติม |
ความสำเร็จของผู้อื่น | กลัวหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ | เห็นความสำเร็จของผู้อื่นเป็นแรงบันดาลใจและบทเรียน |
ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนสลับความคิดไปมาระหว่างทั้งสองแบบโดยธรรมชาติอยู่แล้ว อยู่ที่สถานการณ์นั้นจะเลือกคิดแบบไหน เช่น นักเรียนบางคนเรียนพูดได้หลายภาษาเพราะใช้ Growth Mindset ในการทำความเข้าใจ แต่พอเป็นเรื่องคำนวณเลข ถอดสมการที่ตัวเองไม่ชอบก็คิดง่ายๆ อย่าง Fixed Mindset ว่า “ยังไงๆ คนอย่างฉันก็ไม่เอาไหนเรื่องเลขอยู่ดี” ทั้งที่ความจริงอาจมีวิธีทำความเข้าใจหลักการคณิตศาสตร์อีกมากมายที่เขายังไม่ได้ลอง จุดนี้เองที่ถือเป็นความท้าทายที่ครูต้องเข้าใจและทำหน้าที่กระตุ้นส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้พร้อมที่จะเรียนรู้ด้วย Growth Mindset ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำรวจความคิดกันหน่อย! ครูกับลูกศิษย์เป็นนักคิดประเภทไหนกันนะ?
ก่อนไปถึงการวางแผนตระเตรียมทิศทางการสอนให้เหมาะสม ลองสำรวจแนวโน้มความคิดเขา-ความคิดเรากันสักหน่อยว่านักเรียนเป็นแบบ Growth หรือ Fixed Mindset กันกี่มากน้อยจะได้รู้ว่าต้องตระเตรียมตัวเองและบรรยากาศชั้นเรียนอย่างไร
สำรวจเขา ข้างล่างนี้มีความคิดต่างกันสองขั้วอยู่อย่างละครึ่ง ให้นักเรียนเลือกว่าเห็นด้วยกับความคิดข้อใดบ้าง
1. ฉันรู้ตัวดีว่าไม่มีทางเก่งในวิชานั้นๆ หรือทำกิจกรรมยากๆ นั้นได้เลย
2. เมื่อทำผิดพลาด ฉันพยายามเรียนรู้จากมัน
3. เวลาเห็นคนอื่นทำได้ดีกว่า เก่งกว่า ฉันรู้สึกกลัว
4. ฉันชอบลองทำสิ่งใหม่และตื่นเต้นท้าทาย
5. เวลาโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าฉันเก่ง ฉลาดและทำบางอย่างได้สมบูรณ์แบบ ฉันรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ
6. ฉันเห็นความสำเร็จของคนอื่นเป็นแรงบันดาลใจ อยากลอง อยากทำบ้าง
7. ฉันรู้สึกดีเวลาเห็นคนอื่นทำอย่างฉันไม่ได้
8. คนเราฉลาดกว่าเดิม เก่งกว่าเดิมได้ด้วยความพยายาม
9. ป่วยการที่จะต้องพยายามให้เก่งหรือฉลาดไปกว่านี้ คนเราบางคนฉลาดบางคนโง่ยังไงก็ยังงั้น
10. ฉันชอบทำอะไรท้าทายใหม่ๆ หรือสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
(จากความด้านบน ข้อเลขคู่คือ Growth Mindset และข้อเลขคี่คือ Fixed Mindset)
ผลสรุปแนวโน้มความคิดของนักเรียน จะทำให้ครูเห็นจุดอ่อนจุดแข็งคร่าวๆ ในนักเรียนแต่ละคนและลักษณะการเรียนรู้ที่เป็นจุดตั้งต้นของพวกเขาเพื่อนำไปปรับรูปแบบการสอนให้เหมาะสม
สำรวจเรา สำรวจความคิดตนเองในฐานะครูผู้สอนว่ามีแนวโน้มแบบใดมากกว่ากันระหว่าง
Fixed Mindset | Growth Mindset |
งานสอนโคตรน่าเบื่อ ฉันไม่เคยได้เรียนรู้อะไรจากงานนี้เลย | งานนี้ทำให้ฉันได้ฟังเด็กๆ คิด พูดอย่างเปิดใจ และเห็นไอเดียแปลกใหม่จากพวกเขาเสมอ |
รำคาญพวกผู้ปกครอง มาจี้ให้รายงานพัฒนาการลูกๆ ทุกวันอยู่ได้ | ผู้ปกครองติดตามเอาใจใส่พัฒนาการลูกดีมาก ฉันต้องรายงานความคืบหน้าให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ |
นักเรียนคนนี้เข็นคะแนนวิชาเลขไม่ขึ้นแล้ว | ฉันจะสอนแบบไหนให้นักเรียนคนนี้เข้าใจ |
นักเรียนคนนี้อ่านคล่องดีแล้ว ไม่ต้องสนใจมากก็ได้ | ต้องหาแบบฝึกหัดหรือบทความที่พัฒนาเด็กคนนี้ให้ไปได้ไกลกว่านี้ |
ฉันคงเป็นครูที่ดีได้ไม่เท่าเขา | ฉันน่าจะไปขอคำแนะนำดีๆ จากครูคนนั้น |
ชั้นเรียนอลหม่านไปหมดเพราะนักเรียนไม่ให้ความร่วมมือเลย | ฉันจะปรับการสอนให้นักเรียนยอมมีส่วนร่วมมากกว่านี้ให้ได้ |
ก็เด็กมันไม่ชอบมาโรงเรียนเองนี่นา จะให้ทำยังไงได้ | ฉันจะลองหากิจกรรมที่เด็กคนนี้ชอบมาโยงเข้ากับบทเรียนดู |
นักเรียนคนนี้ทางบ้านก็ยากจนอยู่แล้ว จะไปบังคับให้เรียนก็ใช่ที่ | ฉันเชื่อมั่นว่าเด็กคนนี้จะบรรลุความฝันได้ ไม่เกี่ยวว่าจะยากดีมีจน |
ไม่ใช่เรื่องผิดถึงกับต้องถอดใจเลิกเป็นครู ถ้าพบว่าตัวเองดันมีแนวโน้มไปทาง Fixed Mindset มากกว่า เพราะโดยทั่วไปสัญชาตญาณจะสั่งให้คิดป้องกันตัวเองก่อนเสมอ เราสามารถดึงความคิดมาด้าน Growth Mindset ได้ถ้ารู้จักเปลี่ยนวิธีพูดกับตัวเอง (self-talk) จากเชิงลบเป็นเชิงบวก การฝึกความคิดฝั่ง Growth Mindset ให้แข็งแกร่งก็ทำได้ง่ายๆ โดยการปล่อยเสียงความคิดจาก Fixed Mindset ให้ทำงานไปก่อน จากนั้นตั้งสติแล้วค่อยตอบกลับเสียงนั้นไปด้วยมุมมองบวก เมื่อฝึกทำเช่นนี้บ่อยเข้า ต่อไป Growth Mindset จะทำงานเองโดยอัตโนมัติทันที
เป็นครูที่ทำให้เด็กๆ อยากมาโรงเรียน
ถ้าถามว่ายังจำครูในดวงใจที่เราโปรดปรานสมัยเด็กกันได้ไหม หลายคนกลับจดจำครูที่ทำให้รู้สึกเข็ดขยาดการไปโรงเรียนได้มากกว่าซะอย่างนั้น ประสบการณ์เลวร้ายกับครูบางคนทำเราฝังใจเกลียดกลัวบางวิชาไปตลอดชีวิตจนไม่คิดจะแตะมันอีกเลยก็มี เช่น คนที่เกลียดเลขจากประสบการณ์ที่เคยอยู่ในชั้นเรียนที่ครูวิชาเลขบังคับให้นักเรียนทั้งห้องยืนบนเก้าอี้ตั้งแต่เริ่มคาบเรียน ไล่ให้แก้โจทย์ทีละคนๆ และจะได้รับอนุญาตให้ลงนั่งตามเดิมก็ต่อเมื่อตอบถูก ถ้าตอบไม่ถูกก็ยืนบนเก้าอี้จนหมดชั่วโมงไป นอกจากถูกประจานว่าโง่กว่าเพื่อนร่วมชั้น ยังต้องอับอายซ้ำสองถ้าตอบผิดอีก นอกจากชั้นเรียนเต็มไปด้วยความตึงเครียด เมื่อเลิกคาบก็แน่นอนว่าไม่มีนักเรียนคนไหนกล้าแม้แต่จะเฉียดกรายผ่านครูท่านนั้นเลยสักคน เรื่องจะเข้าไปถามให้อธิบายสิ่งที่ไม่เข้าใจยิ่งไม่ต้องพูดถึง!
นี่เป็นตัวอย่างของผลลบจากครูที่มีรูปแบบการสอนแบบ Fixed Mindset แม้อยากให้เด็กพัฒนาแต่กลับยอมรับกับผลลัพธ์ที่ถูกเพียงอย่างเดียว ไม่ใส่ใจกระบวนการทำความเข้าใจที่นำไปสู่ความรู้จริงๆ ละเลยที่จะปรับการสอนให้ยืดหยุ่นเหมาะสมกับระดับความสามารถที่แตกต่างกันของผู้เรียน
ในชั้นเรียนของครูลักษณะนี้ บรรยากาศมักเคร่งเครียดไม่เอื้อให้คิดให้ลองอะไรใหม่ๆ หรือสอนไปตามตำราแบบแห้งแล้งจืดชืด ไม่ได้กระตุ้นเคี่ยวเข็ญให้มีความคิดเป็นของตนเองหรือเชื่อมั่นในตัวเอง ทำโทษเมื่อตอบผิด ใช้คะแนนหรือความถนัดของนักเรียนเป็นตัวชี้วัดความสามารถ จึงไปกดการพัฒนาทักษะหรือการค้นหาตัวเองของเด็กด้วยการจำกัดกรอบ หรือมอบหมายงานง่ายๆ
ถ้าลองถามไถ่เด็กๆ ดูจะพบว่าครูที่พวกเขากล้าเข้าหาเมื่อมีคำถามไม่เข้าใจ ย่อมเป็นครูที่เปิดกว้างอดทนรับฟังและค้นหาวิธีสอนที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจโดยไม่กะเกณฑ์แต่เรื่องทำถูกทำผิด ครูที่ทำให้พวกเขาอยากเรียนด้วยสามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องสนุก ตื่นเต้นท้าทาย ไม่ปล่อยนักเรียนตามยถากรรมจนหมดชั่วโมง มอบหมายงานท้าทายทักษะความสามารถและเน้นความเข้าใจมากกว่าผลลัพธ์
แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วย Growth Mindset เป็นคนละเรื่องกับความพยายามดึงดันให้นักเรียนที่ไม่ชอบวิชาภาษาอังกฤษหันกลับมาชอบวิชานี้ให้ได้ เป้าหมายที่แท้จริงคือครูต้องเปิดโลกทัศน์ให้ผู้เรียนมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาตนเองได้รอบด้านมากขึ้นและดียิ่งขึ้น
ลบล้างความเชื่อฝังหัวแบบผิดๆ ว่าความสามารถด้านใดด้านหนึ่งของพวกเขามาถึงทางตันไม่สามารถพัฒนาไปกว่านี้ได้
ก้าวเดินแบบ Growth Mindset ด้วยหลัก S-M-A-R-T
สูดลมหายใจลึกๆ เตรียมใจไว้เลย นี่ไม่ใช่เส้นทางราบเรียบ การรักษาบรรยากาศการเรียนการสอนด้วย Growth Mindset ครูต้องใจเย็นและอดทนเป็นอย่างมาก ทั้งต้องกระตุ้นเคี่ยวเข็ญให้นักเรียนกล้าคิดกล้าทำกล้าพูด (แบบไม่บังคับขู่เข็ญ) ลูกเล่นไหวพริบก็ต้องมีตึงหย่อนสลับกันไป พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เท่าทันกับความรู้ หมั่นให้กำลังใจหรือติติงแนะนำเพื่อแก้ไขปรับปรุง ทั้งหมดนี้ครูควรต้องมีหลักการวางแผนเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย
หลัก S-M-A-R-T ที่นำเสนอนี้คือแนวทางการตั้งเป้าหมายสั้นๆ เพื่อให้ครูสามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วย Growth Mindset ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในห้องเรียนได้
S-Specific – ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร
M-Measurable – จะติดตามความคืบหน้ากับเป้าหมายอย่างไร
A-Actionable – ต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะบรรลุเป้าหมาย
R-Realistic – มีใครที่สามารถช่วยเหลือสนับสนุนเป็นที่ปรึกษา หรือมีแหล่งข้อมูลใดบ้างที่สามารถช่วยให้บรรลุ เป้าหมาย
T-Timely – กำหนดระยะเวลาที่ต้องบรรลุเป้าหมายให้ชัดเจน
ตัวอย่าง: เป้าหมายเพื่อสร้างความสนิทสนมไว้วางใจระหว่างครูกับศิษย์ที่เลื่อนชั้นมาใหม่ ฉันตั้งเป้าว่า ภายในสัปดาห์ที่สองของเทอมนี้ ฉันต้องจำชื่อนักเรียนในชั้นได้หมดทุกคนและรู้ว่าแต่ละคนสนใจอะไรเป็นพิเศษบ้างนอกห้องเรียน วิธีการคือฉันจะยืนต้อนรับนักเรียนหน้าห้องทุกเช้าเพื่อทักทายด้วยชื่อทีละคนและจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ฉันกับเด็กๆ ได้เปิดเผยอุปนิสัยและความชอบระหว่างกัน ให้นักเรียนช่วยกันตกแต่งบอร์ดด้วยรูปถ่ายและกิจกรรมที่พวกเขาชอบ หรือทำแบบสำรวจสิ่งที่พวกเขาชอบ-ไม่ชอบ ฉันสามารถติดตามความคืบหน้าด้วยการทำแผนผังจำลองที่นั่งทุกคนพร้อมกำกับชื่อและข้อมูล และเช็คความจำตนเองทุกๆ สัปดาห์
การตั้งเป้าและติดตามผลเป็นขั้นเป็นตอนแบบนี้ ทำให้เช็คความคืบหน้าได้ชัดเจน ล่วงผ่านมา 5 วัน เราจำชื่อนักเรียนได้กี่คน คนไหนชอบไม่ชอบอะไรบ้าง ระยะเวลาที่กำหนดอาจเพิ่มลดให้สมเหตุสมผลกับจำนวนนักเรียน กุญแจสำคัญคือเป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องทำได้จริง ไม่ฝืนตนเองจนเกินไป การกำหนดระยะเวลาเป็นไปเพื่อจะได้ประเมินตัวเองได้เมื่อถึงจุดสิ้นสุดและเริ่มเป้าหมายต่อไป
หนทางสร้าง Growth Mindset ไม่ใช่เรื่องของการสร้างความสมบูรณ์แบบ เรากำลังพูดถึงนักเรียนหลายสิบชีวิตที่แตกต่างทั้งระดับความสามารถ ความคิดความฝัน มีความไม่มั่นใจ สับสนและว้าวุ่นตามช่วงวัย การยอมรับเข้าใจและรับมือความท้าทายนี้ด้วยมุมมองบวกก็ถือว่าครูพร้อมจะจูงมือเด็กเหล่านั้นก้าวไปยังโอกาสที่เปิดกว้างให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วย Growth Mindset แล้ว
หนทางสร้าง Growth Mindset ไม่ใช่เรื่องของการสร้างความสมบูรณ์แบบ เรากำลังพูดถึงนักเรียนหลายสิบชีวิตที่แตกต่างทั้งระดับความสามารถ ความคิดความฝัน มีความไม่มั่นใจ สับสนและว้าวุ่นตามช่วงวัย การยอมรับเข้าใจและรับมือความท้าทายนี้ด้วยมุมมองบวกก็ถือว่าครูพร้อมจะจูงมือเด็กเหล่านั้นก้าวไปยังโอกาสที่เปิดกว้างให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วย Growth Mindset แล้ว
ที่มา:
: Teaching is a Practice, Not a Perfection. (2016). In A. B. Hundley, The Growth Mindset Coach (pp. 11-25). CA: Ulysses Press.