- โควิด-19 คือเลนส์ขยายของความเหลื่อมล้ำ โจทย์ที่คนทั่วโลกควรให้ความสำคัญคือ จะแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาที่มีอยู่ก่อนแล้วได้อย่างไร
- การจัดการศึกษาควรได้รับการทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุม ยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับทุกคน
- การศึกษาที่สร้างขึ้นบนฐานความไว้วางใจ ยืดหยุ่นและมีอิสระ สามารถรับมือกับการหยุดชะงักทางการศึกษาท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ได้มากกว่า
โควิด-19 กลับมาสร้างความวิตกกังวลให้คนไทยอีกครั้ง และแม้ว่ารอบนี้จะยังไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่โรงเรียนก็เป็นจุดอ่อนไหวที่ทำให้หลายแห่งจำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาด ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง การศึกษาของเด็กๆ ก็เป็นอีกโจทย์ใหญ่สำหรับคนไทยและคนทั่วโลกในช่วงเวลาของการเกิดโรคระบาดเช่นนี้
บทความนี้เริ่มจากการประเมินผลกระทบที่เกิดกับแวดวงการศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำ รวมถึงวิเคราะห์บริบทที่แตกต่างกันระหว่างออสเตรเลียและฟินแลนด์ โดยนักการศึกษาชาวฟินแลนด์ ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) พร้อมนำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนการสอน 4 แนวทางที่น่าจะสนใจ ก่อนจะไปถอดประสบการณ์กับครูไทยถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดห้องเรียนเพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐในการป้องกันการระบาดของโควิด-19
มิติคู่ขนาน โรคระบาดกับความเหลื่อมล้ำ
ผลจากรายงานการพัฒนามนุษย์ด้านการศึกษาโดยธนาคารโลก (World Bank) ปี 2562 ได้ประกาศวิกฤตการเรียนระดับโลก ทั้งนี้ ระบบการศึกษาหลายแห่งทั่วโลกเผชิญหน้ากับปัญหาตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของโคโรนาไวรัส ซึ่งถูกประกาศให้เป็นเชื้อที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างเป็นทางการเมืองวันที่ 11 มีนาคม 2563 ท่ามกลางสาเหตุของวิกฤตมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ซึ่งเป็นผู้ที่ควรได้รับการสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาที่ดี
ผลลัพธ์จากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ผลการเรียนโดยรวมของประเทศในกลุ่มโออีซีดีไม่ได้พัฒนาขึ้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 15 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนี้รายงานการติดตามผลด้านการศึกษาทั่วโลก ปี 2563 โดย องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) ระบุว่า การประมาณการก่อนการระบาดของโควิด-19 พบเด็ก วัยรุ่นและเยาวชนจำนวน 1 ใน 6 หรือ 260 ล้านคนทั่วโลก ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนหรือได้รับการศึกษา มีเพียง 3 ใน 4 ของเด็กอายุ 15 ปีที่มีฐานะปานกลางเท่านั้นที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาและนักเรียนกลุ่มนี้เพียงครึ่งหนึ่งที่สามารถสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า การขาดโอกาสและขาดการเข้าถึงการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส เป็นเรื่องใหญ่ที่ลดทอนศักยภาพของมนุษย์ และทำให้ความไม่เท่าเทียมกันฝังรากลึกลงไปอีก สิ่งที่หลายๆ ประเทศกำลังประสบเหมือนกันคือ การไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้แบบดิจิทัลเมื่ออยู่ที่บ้าน และโรงเรียนไม่สามารถเอื้ออำนวยเทคโนโลยีสื่อการสอนเพื่อการเรียนทางไกลได้อย่างเพียงพอ
นักการศึกษาฟินแลนด์ชวนตั้งโจทย์ใหม่
“การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้จะช่วยให้เราแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงหรือพัฒนาได้อย่างไร?”
ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) นักการศึกษาชาวฟินแลนด์ ที่เป็นทั้งครูในโรงเรียน เป็นครูสอนนักการศึกษา นักวิจัยและที่ปรึกษานโยบายการศึกษาของฟินแลนด์ ชวนตั้งคำถามนี้
ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของฟินแลนด์ถูกชื่นชมอยู่บ่อยครั้ง แต่ซอห์ลเบิร์ก บอกเสมอว่า “Don’t Try This at Home”. – “อย่าลองทำวิธีการเหล่านี้ที่บ้าน” เพราะการลอกเลียนแบบโดยปราศจากความเข้าใจบริบททางสังคมอย่างลึกซึ้ง อาจนำหายนะมาให้มากกว่าการพัฒนา ครั้งนี้ซอห์ลเบิร์กได้หยิบยกระบบการศึกษาที่แตกต่างระหว่างออสเตรเลียและฟินแลนด์ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบที่แตกต่างกันต่อครูและนักเรียนจากการหยุดชะงักของการศึกษาในช่วงโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่
การแข่งขันทางการศึกษา นักเรียนไทยรู้จักและเข้าใจคำนี้ ไม่ต่างจากนักเรียนในประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ แต่ไม่ใช่สำหรับนักเรียนฟินแลนด์ที่ให้อิสระในการเลือกเรียน มากกว่าการแข่งขัน
ซอห์ลเบิร์ก ยกตัวอย่างผลกระทบด้านการศึกษาจากโควิด-19 ในประเทศออสเตรเลียและฟินแลนด์ว่า นอกจากสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ออสเตรเลียและฟินแลนด์ยังมีสภาพสังคมที่แตกต่างกัน ด้วยประวัติศาสตร์ ประเพณี ค่านิยมและวัฒนธรรม ชาวออสเตรเลียชอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่และรวดเร็ว แต่ชาวฟินแลนด์มองว่าเรื่องเล็กๆ เป็นสิ่งสวยงาม ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้การศึกษาของทั้งสองประเทศตอบรับและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เหมือนกัน
ระบบการศึกษาของฟินแลนด์กระจายอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่นกว่า 310 แห่ง ดำเนินการด้านการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง มีการสอนแบบตัวต่อตัวร่วมกับการเซ็ทระบบการเรียนทางไกลจากบ้านมายังโรงเรียนอยู่ก่อนแล้ว ครูสามในสี่ของฟินแลนด์มีสื่อการเรียนการสอนแบบดิจิทัลในโรงเรียนพร้อมไว้อยู่แล้ว และครูส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้สื่อและอุปกรณ์เหล่านี้แตกต่างกันไปตามแต่ละโรงเรียนในแต่ละพื้นที่
นักเรียนฟินแลนด์คุ้นเคยกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านโครงการและการแก้ปัญหาในชีวิตจริง พวกเขาถูกฝึกฝนวินัยในการเรียนและความรับผิดชอบกับการศึกษาค้นคว้าอิสระและประเมินการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญพวกเขาได้มีส่วนร่วมในการวางแผนหลักสูตรการเรียนร่วมกับครูมาตั้งแต่ต้น
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังพบว่า 1 ใน 5 ของนักเรียนระดับประถมศึกษา พบปัญหาเรื่องการใช้เทคโนโลยีและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และนักเรียนในสัดส่วนเดียวกันยอมรับว่า พวกเขานอนดึกขึ้นเมื่ออยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย
ขณะที่ออสเตรเลียมีระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์และมีมาตรฐานทางการศึกษาจากส่วนกลาง มีการทดสอบมาตรฐานการเรียนรู้อยู่บ่อยครั้ง เช่น แนปแลน (NAPLAN) ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีคำถามหนาหูจากผู้ปกครองว่า
การเรียนรู้ทางไกลแบบนี้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อคะแนนสอบและทำให้ผลประเมินการเรียนของนักเรียนต่ำลงหรือไม่ อย่างไร?
1 ใน 3 ของนักเรียนออสเตรเลียเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีทรัพยากรบุคคลและสื่อการเรียนการสอนที่ดีกว่าโรงเรียนรัฐหลายแห่ง ขณะที่เด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่เข้าเรียนโรงเรียนรัฐ สถาบันแกรทัน (Grattan Institute) ในออสเตรเลียสรุปว่า นักเรียนที่ด้อยโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปิดโรงเรียน เพราะสภาพทางบ้านและสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครองน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนที่ได้เปรียบพวกเขา
จากการสำรวจพบว่าเด็กโดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การขาดแคลนอุปกรณ์ และขาดพื้นที่เงียบๆ ในบ้านที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้
การระบาดของโควิด-19 จึงเพียงเปิดเผยความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและการศึกษา ซึ่งมองในมุมกลับ นี่เป็นโอกาสในการปรับปรุง และส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ต้องการการสนับสนุนทางการศึกษาเป็นพิเศษ
ซอห์ลเบิร์ก ย้ำว่า การจัดการศึกษาควรได้รับการทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุม ยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับทุกคน โรงเรียนและนักเรียนควรได้รับการสนับสนุนให้รู้จักการจัดการตนเอง เป็นผู้นำตนเองและเป็นผู้นำในการเรียนรู้ของตัวเอง
การเรียนรู้เพื่ออยู่กับโลกและอนาคตที่ผันผวน
การปฏิรูปการศึกษาเพื่อความเสมอภาคมีบริบททางสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนเข้ามาเป็นองค์ประกอบ ภายหลังจากนี้คงมีงานวิจัยอีกมากมายที่จะแสดงให้เห็นว่าการศึกษาระบบต่างๆ จัดการและรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งนี้อย่างไรและทำได้ดีแค่ไหน แต่บทเรียนเชิงเปรียบเทียบอย่างแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ
การศึกษาที่สร้างขึ้นบนฐานความไว้วางใจ (ไว้วางใจในตัวครูและผู้ปกครองที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก) มีความยืดหยุ่น และมีอิสระในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ สามารถรับมือกับการหยุดชะงักทางการศึกษาท่ามกลางโควิด-19 ได้มากกว่า
4 เทรนด์ห้องเรียนโลกยุคโควิด
ดูเหมือนว่าการปรับตัวเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่ายๆ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โลกยังอาจต้องเผชิญกับโรคระบาดอีกในอนาคต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตหลายสิ่งหลายอย่างจำเป็นต้องดำเนินต่อไป รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในช่วงที่ผ่านมา
ลองมาดูกันว่าตลอด 1 ปีของการระบาด ทั่วโลกมีรูปแบบการเรียนการสอนอะไรบ้างที่ได้รับความสนใจมากขึ้น และมีแนวทางไหนบ้างที่ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการเสริมสมรรถนะให้เด็กไทยในช่วงเวลาที่โควิด-19 ยังไม่จบลงง่ายๆ รวมทั้งเป็นแนวทางสำหรับการเรียนรู้ในอนาคต
1. โฮมสคูล (Homeschool) หรือบ้านเรียน ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ยังต้องเอ่ยถึง เพราะการเข้ามาของโควิด-19 และอาจรวมไปถึงข่าวคราวความรุนแรงในโรงเรียน ทำให้การเรียนที่บ้านกลายเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสนใจกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว ผู้ปกครองยังสามารถช่วยออกแบบการเรียนที่มุ่งเน้นในสิ่งที่เด็กสนใจ เช่น การทำอาหาร การทำขนม การทำงานศิลปะ หรือแม้แต่การเล่น ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ ปลูกฝังระเบียบวินัยและความรับผิดชอบให้เกิดแก่ตัวผู้เรียนตั้งแต่ต้น ที่สำคัญผู้ปกครองต้องสามารถจินตนาการถึงปลายทางของการเรียนรู้แต่ละอย่างได้ว่า เด็กได้อะไรจากการเรียนหรือจากการลงมือทำในสิ่งที่เขาสนใจ
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ประกาศให้บ้านเรียนเป็นสถานศึกษาทางเลือกที่ถูกต้องกฎหมาย ผู้ปกครองและผู้เรียนสามารถวางแผนจัดการเรียนร่วมกัน โดยเน้นความสนใจของผู้เรียน วิถีครอบครัวและชุมชน แล้วนำแผนการเรียนนั้นเข้าหารือกับสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้ปกครองสามารถจดโฮมสคูลได้ด้วยตนเอง หรือสามารถฝากชื่อไว้กับโรงเรียนและศูนย์การเรียนที่รับจดทะเบียนโฮมสคูล เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ, โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี, โรงเรียนนันทชาติ เชียงใหม่, ศูนย์การเรียนเด็กเรียนรู้เอง เชียงใหม่, ศูนย์การเรียนบ้านไร่ปลายฟ้านาบุญ เลย และศูนย์การเรียนฟิวเจอร์เวิลด์ สมุทรปราการ เป็นต้น
2. ไฮบริด โฮมสคูล (Hybrid Homeschooling) ลูกผสมระหว่างการเรียนกับผู้ปกครองที่บ้านแบบโฮมสคูลและการเรียนในโรงเรียน การเรียนในระบบนี้จัดการเรียนการสอนให้ในหนึ่งสัปดาห์ เด็กมาโรงเรียนเพียง 2 – 3 วัน แล้วแต่หลักสูตรที่พ่อแม่เลือกและออกแบบร่วมกับโรงเรียน ส่วนวันที่เหลือของสัปดาห์เป็นหน้าที่ผู้ปกครองในการจัดการความรู้
ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนโรงเรียนที่เปิดระบบไฮบริดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นโมเดลที่ช่วยสนับสนุนผู้ปกครองที่อยากทำโฮมสคูลให้ลูกแต่ไม่ได้มีเวลาร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอบโจทย์ปัญหาด้านพัฒนาการเข้าสังคมของเด็ก และสอดคล้องกับสิ่งที่ซอห์ลเบิร์กกล่าวถึงความต้องการเฉพาะของเด็กแต่ละคน บางคนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ดี แต่บางคนก็เรียนรู้จากการมีครูหรือมีผู้ช่วยชี้แนะได้ดีกว่า ซึ่งในส่วนนี้นอกจากผู้ปกครองแล้ว ครูสามารถทำหน้าที่เป็นโค้ชให้คำปรึกษา
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไฮบริด สคูลหลายแห่งใช้สื่อออนไลน์เข้ามาเป็นตัวช่วย จัดตารางห้องเรียนเสมือน (Virtual Learning) ผ่านซูมมีทติ้งและโปรแกรมอื่นๆ เพื่อให้ครูติดตามการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างต่อเนื่อง
3. ออนไลน์ สคูล (Online School) เป็นการเรียนออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในวิชาเรียนที่ผู้เรียนเลือก เช่น Edx.org และ MOOC.org ไม่มีการเปิดหรือปิดเทอม แต่อาจมีช่วงระยะเวลาการเรียนกำหนดไว้ตามมาตรฐานของแต่ละวิชา มีการสอบวัดผลเพื่อผ่านระดับชั้นในห้องเรียนออนไลน์ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนหากเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต มีแล็บท็อป คอมพิวเตอร์ หรือมือถือก็สามารถเข้าห้องเรียนได้ เช่น นักเรียนในไทยสามารถเรียนไฮสคูลหรือลงทะเบียนวิชาเรียนระดับมหาวิทยาลัยบางรายวิชาได้จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีการออกแบบหลักสูตรออนไลน์ไว้ให้
รูปแบบนี้เหมาะสมกับเด็กตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไป ที่เป็นผู้นำการเรียนรู้ให้กับตัวเอง และจัดการเรียนรู้ของตัวเองได้ เพราะการเรียนให้สำเร็จต้องอาศัยระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ
4. ดิจิทัล สคูล (Digital School) แม้ชื่อมีความคล้ายคลึงกันแต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ดิจิทัล สคูล เน้นไปที่การออกแบบซอฟท์แวร์ หรือช่องทางการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ เรียกว่าเป็นตัวช่วยการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน เช่นเดียวกับการเซ็ตระบบการเรียนทางไกลในฟินแลนด์
การเรียนรูปแบบนี้ยังมีการเปิด-ปิดเทอม มีตารางเข้าเรียนตามคาบเรียนแต่ไม่ต้องเดินทางไปโรงเรียน บางคาบเรียนสดกับครู พร้อมเพื่อนๆ บนช่องทางออนไลน์ที่โรงเรียนจัดเตรียมไว้ ผสมผสานกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง วางแผนออกแบบโครงงานที่ตนเองอยากทำ หรือ PBL (Project-Based Learning) แต่ครูยังเป็นผู้ประเมินความคืบหน้าและวัดผลการเรียนให้กับนักเรียน
จัดการเรียนการสอนอย่างไรดี เมื่อโรงเรียนต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง
สำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีการจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัลใน เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง การโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อุปสรรคที่ไม่เกินคาดหมาย คือ ความคมชัดของสัญญาณในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงความพร้อมด้านการเรียน โดยเฉพาะนักเรียนยากไร้ที่บางบ้านอาจไม่มีทีวี ไม่มีมือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือหากบ้านไหนมีลูกหลายคน หรือพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ก็เป็นการยากที่จะจัดการการเรียนที่มีคุณภาพได้
ครูยอร์ช – ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ ครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และหน้าที่เพิ่มเติม โรงเรียนวัดบางขวาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส แชร์ประสบการณ์ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาตั้งแต่ช่วงก่อนปิดเทอม ระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมาว่า
“ส่วนกลางมีคำสั่งออกมาว่าพอเปิดเทอมมาใหม่ให้นักเรียนเรียนผ่านดีแอลทีวี (DLTV – มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์) ผมก็กลับมานึกถึงนักเรียนของตัวเอง แล้วมองว่าไม่น่าจะเวิร์ก เนื้อหาในดีแอลทีวีเป็นการจัดกิจกรรมในห้องเรียนของเขา ยิ่งวิชาวิทยาศาสตร์ที่ผมสอน ต้องแบ่งกลุ่มทำการทดลอง นักเรียนที่นั่งดูก็ต้องสมมุติเอา จินตนาการเอา ไม่ได้มีส่วนร่วม ผมก็ต้องคิดทางเลือกให้เด็ก แต่จะสอนล้อไปกับดีแอลทีวีนี่แหละ”
ทางเลือกที่ครูยอร์ชนำเสนอให้กับนักเรียนประมาณ 60 คน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่เขาดูแลรับผิดชอบอยู่ มีทั้งหมด 3 ทาง ทางเลือกแรกคือ การเรียนผ่านดีแอลทีวี ที่สามารถดูการเรียนการสอนผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือได้ มีนักเรียนเลือกแนวทางนี้ประมาณ 10 คน
ทางเลือกที่สอง มาจากการสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาบทเรียนดีแอลทีวี แล้วออกแบบกิจกรรมใบงาน ตั้งโจทย์ใกล้ตัวให้เด็กสืบค้น การทำการทดลองที่บ้านอย่างง่ายโดยยังคงยึดตัวชี้วัดจากส่วนกลาง ผสมผสานห้องเรียนห้องไลน์ผ่านซูมและกลุ่มเฟซบุ๊ก มีนักเรียนเลือกแนวทางนี้ประมาณ 40 คน
และทางเลือกที่สาม การจับคู่บัดดี้ช่วยกันเรียนร่วมกันรู้ มีนักเรียนประมาณ 10 คน
“เด็กละแวกนี้บางคนถ้าอยู่บ้าน วันทั้งวันเขาต้องทำงานช่วยพ่อแม่ เช่น ร้อยมาลัย เป็นสิ่งที่เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางเลือกที่สามผมออกแบบขึ้นมาสำหรับนักเรียนที่ไม่พร้อมเรียนทั้งดีแอลทีวี ไม่สามารถทำใบงาน และไม่สามารถมาเจอกันในห้องเรียนออนไลน์ได้ เด็กกลุ่มนี้ผมรู้แล้วว่าต้องมากวดขันตอนเปิดห้องเรียน แต่ระหว่างนี้ผมจับคู่บัดดี้ไว้ให้ ส่งใบงานให้ไว้กับเพื่อน อย่างน้อยเขาจะได้มีเพื่อนคู่คิด มีเพื่อนคอยให้คำปรึกษา พร้อมตอนไหนก็ค่อยเอาใบงานมาส่ง”
นอกจากนี้ครูยอร์ชยังไปเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกวันจันทร์ อังคาร และติดตามงานนักเรียนทุกวันเสาร์ อาทิตย์ โดยเฉพาะนักเรียนที่ไม่ได้ส่งงานและติดต่อไม่ได้
หากประมวลผลย้อนกลับไปถึงความเสมอภาคที่ซอห์ลเบิร์กกล่าวถึง ไม่ว่าการเรียนจะถูกพัฒนาไปในรูปแบบใดเพื่อตั้งรับกับโควิด-19, ศตวรรษที่ 21 หรืออนาคต การสร้างความเสมอภาคให้เด็กด้อยโอกาสหรือเด็กที่มีโอกาสน้อย ให้พวกเขาเข้าถึงปัจจัยการเรียนรู้ได้เท่าเทียมเด็กกลุ่มอื่น เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง
สำหรับประเทศไทยที่เด็กส่วนใหญ่อยู่ในระบบโรงเรียน ทำอย่างไรให้โรงเรียนสนับสนุนเด็กทุกคนให้เรียนรู้ได้ดีเสมอกันในช่วงการแพร่ระบาดของโรคที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ ขณะที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็ไม่สามารถสนับสนุนการเรียนของลูกได้ ครูจะติดตามนักเรียนแต่ละคนอย่างใกล้ชิดด้วยวิธีการใดได้บ้าง นี่เป็นโจทย์ที่ครู โรงเรียน และผู้ปกครองต้องร่วมมือกันหาทางออกให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของตนเอง
ไม่เช่นนั้นไม่ว่ารูปแบบการเรียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาก็ไม่ต่างจากการทิ้งเด็กบางคนที่ไม่มีความพร้อมไว้ข้างหลังอยู่ดี
ปิซา (PISA) คือ โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในการ เตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย ปิซาเน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ปัจจุบันนี้มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมปิซามากกว่า 80 ประเทศ ประเทศไทยไม่ใช่สมาชิกโออีซีดีแต่สมัครเข้าร่วมปิซาในฐานะประเทศร่วม (Partner countries) เพื่อต้องการตรวจสอบคุณภาพของระบบการศึกษา และสมรรถนะของนักเรียนวัยจบการศึกษาภาคบังคับของชาติเกี่ยวกับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ประเทศในกลุ่มโออีซีดี ปัจจุบันมีทั้งหมด 36 ประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เกาหลีใต้ เยอรมันนี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ และสวีเดน เป็นต้น |
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
https://link.springer.com/article/10.1007/s10671-020-09284-4