- collaboration คือกระบวนการที่คนในกลุ่มแชร์ไอเดียความคิดของตนเอง พร้อมกับรับฟังและนำไอเดียจากมุมมองหลากหลายด้านของผู้อื่น มาต่อยอดหารือ คิด-วิเคราะห์-ลงมือทำตามความถนัดหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของตนจนนำไปสู่วิถีทางแก้ปัญหาใหม่ๆ
- collaborative skill คือทักษะที่หมายรวมทั้งทักษะทางการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง ทักษะการเข้าสังคม เช่น มารยาทในการสนทนา เคารพความคิดเห็นผู้อื่น และ ทักษะทางอารมณ์ (emotional skill) เป็นต้น
- กระบวนการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันเป็นเรื่องที่ครูและนักเรียนต้องพยายามไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง เพราะทักษะเหล่านี้ก็จะค่อยๆ เพิ่มพูนมากขึ้นและอยู่ติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต
เมื่อห้องเรียนของศตวรรษที่ 21 เห็นความจำเป็นของทักษะ 4Cs ที่นักเรียนต้องนำไปใช้ในโลกของการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Collaborative Skill หรือ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น จึงกลายเป็นทักษะบังคับอันดับต้นๆ ที่โรงเรียนต้องเตรียมพร้อมให้เยาวชนยุคนี้ เติบโตไปเป็นจิ๊กซอว์คุณภาพชิ้นหนึ่งในการที่จะไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จภาพใหญ่ในสังคมได้
Collaboration หมายถึงกระบวนการที่คนในกลุ่มแชร์ไอเดียความคิดของตนเอง พร้อมกับรับฟังและนำไอเดียจากมุมมองหลากหลายด้านของผู้อื่น มาต่อยอดหารือ คิด-วิเคราะห์-ลงมือทำตามความถนัดหรือหน้าที่ได้รับมอบหมายจนนำไปสู่วิถีทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ร่วมกัน ส่วน collaborative skill คือทักษะที่ใช้ระหว่างกระบวนการนี้ โดยหมายรวมทั้งทักษะทางการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง (cognitive skills) ทักษะการเข้าสังคม (social skills) เช่น มารยาทในการสนทนา เคารพความคิดเห็นผู้อื่น และ ทักษะทางอารมณ์ (emotional skill) เป็นต้น
P21 หรือ ภาคีความร่วมมือเพื่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (The Partnership for 21st Century Learning) ซึ่งบรรจุ collaborative skill เป็นทักษะการเรียนรู้หนึ่งที่โรงเรียนต้องติดตั้งให้เยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การทำงานจริง โดยระบุคุณลักษณะปลีกย่อยที่ต้องมีใน collaborative skill ว่า
- สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเคารพซึ่งกันและกันได้กับหลากหลายทีม
- สามารถคิดหรือปฏิบัติงานอย่างยืดหยุ่น ไม่ยึดติดตายตัวรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
- รู้จักประนีประนอมเพื่อบรรลุเป้าหมายของทีม
- รู้บทบาทหน้าที่ที่มีร่วมกันเพื่อทำงานจนสำเร็จ
- สามารถรับฟังและให้คุณค่ากับไอเดียความคิดและการปฏิบัติงานของทุกคนในทีม
ปัญหามีไว้ช่วยกันแก้
เนื่องจากเราไม่อาจใช้องค์ความรู้กับความสามารถเพียงด้านใดด้านหนึ่งแก้ปัญหาที่ซับซ้อน หลากหลายและอาจยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั้งหมดได้ ความรู้เชิงลึกอาจสามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้จริง แต่กับปัญหาในสังคมที่เรากำลังเผชิญ มีหลายมิติซับซ้อนเกี่ยวพัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สืบเนื่องทั้งจากเทคโนโลยี การเพิ่มขึ้นของประชากร และตัวบทกฎหมาย การแก้ไขปัญหาจึงต้องมาจากความร่วมมือจากหลายองค์กรหรือภาคส่วนที่อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลย
ในทำนองเดียวกัน ทุกตำแหน่งหน้าที่ในองค์กรใหญ่น้อยล้วนจำเป็นต้องใช้กำลังความรู้ทั้งของตนเองและผู้อื่นทำงานแก้ปัญหาร่วมกัน นี่จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ที่รายงานเรื่อง The Future of Jobs จัด 10 อันดับแนวโน้มทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการของโลกธุรกิจโดย World Economic Forum พบว่า จากปี 2015 เป็นต้นมาจนถึงปี 2020 collaborative skill ก็ยังคงเป็นทักษะที่ตลาดต้องการอันดับต้นๆ อยู่เช่นเดิม
แก้ปัญหาอย่างเป็นทีม ผิดและเรียนรู้ไปด้วยกัน
สืบเนื่องจากภารกิจในการปฏิรูปการศึกษาให้มุ่งเน้นศักยภาพการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการอยู่ร่วมกันในสังคม วาระรายงานเรื่อง New Vision for Education: Fostering Social and Emotional Learning Through Technology ที่ World Economic Forum จัดทำขึ้นใน ปี 2016 แสดงความมุ่งหวังให้โรงเรียนทั่วสหรัฐ ผนวกรวมกระบวนการสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Learning: SEL) ผ่านการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น project-based learning, game-based learning หรือ inquiry-based leaning เข้าเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรบังคับ โดยใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือให้การเรียนรู้ทำได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจับนักเรียนมาทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อสร้างทักษะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย
‘หายนะ’ จะเกิดขึ้นเสมอจากการการรวมตัวกันของวัยซนมากกว่า 2 คนขึ้นไป แม้จะวางแผนไว้ดีแค่ไหน ปราการด่านแรกที่ครูต้องเตรียมใจให้พร้อมคือ ความยุ่งเหยิงของการทำงานเป็นทีม
เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคน ทุกความคิดเห็นจะลงรอยกันเรื่องวิธีแก้ปัญหาไปเสียหมด ทีมต้องผ่านการลองถูกผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเผชิญภาวะชะงักงันจากปัญหาการสื่อสารไม่ชัดเจน ความขัดแย้ง หรือตัดสินใจผิดพลาดได้ตลอดเวลา
ซัคเคอรี เฮอร์แมน (Zachary Herrman) อาจารย์ประจำภาคบัณฑิตวิทยาลัยคณะศึกษาศาสตร์แห่ง University of Pennsylvania กล่าวไว้ในบทความ A Strategy for Effective Student Collaboration ว่า
ปัญหายุ่งยากที่มักเกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้แบบกลุ่มทำให้ครูบางคนเลี่ยงการจัดการสอนแบบนี้ หรือที่แย่ไม่ต่างกันคือ แทนที่จะให้พวกเขาผิดเอง-รู้เอง กลับชี้ข้อผิดพลาดให้นักเรียนรู้หรือให้สูตรสำเร็จราบรื่นในการหาคำตอบตั้งแต่ต้น ในทางกลับกันแล้ว ปัญหาเหล่านี้ต่างหากที่เป็นโอกาสทองของการเรียนรู้อย่างแท้จริง! พวกเขาจะได้เรียนรู้จริงๆ ก็ต่อเมื่อ เผชิญปัญหา ได้ลองผิดถูก หาหนทางแก้ไขอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกัน
เมื่อหัวใจของการทำงานกลุ่มคือ แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยกัน ซัคเคอรีไกด์ว่าทีมต้องตั้งตอบคำถาม 4 ข้อนี้ให้ได้เสมอ
- จุดประสงค์ของงานที่ทำอยู่คืออะไร
- ผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร
- ที่มาที่ไปของผลลัพธ์เป็นอย่างไร
- เมื่องานเสร็จสิ้นลง คิดว่าอะไรที่ดี และอะไรควรแก้ไข
นอกจากยอมรับธรรมชาติของความยุ่งเหยิงที่มากับงานกลุ่ม และไม่เข้าไปแทรกแซงการค้นหาคำตอบร่วมกันของทีมแล้ว เจฟฟ์ นัทสัน (Jeff Knutson) Senior Producer and Content Strategist แห่ง Common Sense Education องค์กรรวบรวมข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ สำหรับขับเคลื่อนการศึกษาให้คู่ขนานไปกับสังคมเทคโนโลยียังแนะนำหลัก 3 ข้อที่ครูควรพิจารณาในการวางแผนการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะนี้ไว้ดังนี้
1. ครูต้องพิจารณาถึงจุดประสงค์ของงานว่า ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้อะไรจากงานที่จะมอบหมายให้ทำ สำคัญที่สุดคือ งานดังกล่าวเหมาะสมที่จะทำเป็นกลุ่มหรือไม่ แยกหน้าที่กันได้ชัดเจน ยุติธรรมหรือไม่ ส่วนใหญ่การแบ่งกลุ่มเพื่อสังเกตปัญหาและหาทางแก้โดยใช้การหาหลักฐานอ้างอิงสนับสนุนนั้นทำได้ แต่หากเป็นเรื่องนามธรรมและสุนทรียภาพเฉพาะตัว เช่น การตีความเชิงนามธรรมอย่างศิลปะ ดนตรี อาจต้องพิจารณาวิธีอื่น
2. ออกแบบการทำงานในกลุ่มไว้ล่วงหน้า ขั้นตอนแก้โจทย์หรือสร้างงานชิ้นนี้ให้สำเร็จนักเรียนต้องทำอะไรบ้าง แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันได้อย่างไร แต่ละขั้นตอนควรใช้เวลาเท่าไหร่ และกฎเกณฑ์ มารยาท การปฏิบัติต่อกันในกลุ่ม
3. กำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของนักเรียนแต่ละคนให้ชัดเจน การกำหนดหน้าที่เป็นการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละคนและตระเตรียมพวกเขาให้เห็นภาพของโลกการทำงานจริง
ขอยกเอาการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้นักเรียนในกลุ่มชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์โรงเรียน University Camp Park ใน Massachusetts ที่ออกแบบการเรียนการสอนให้เกรด 7 -12 เป็น Collaborative Group Work ทั้งหมดมาเป็นตัวอย่าง (โรงเรียนนี้ได้รางวัลดีเด่นประจำปี 2015 และการันตีคุณภาพจากนักเรียนที่ได้การตอบรับเข้ามหาวิทยาลัยทุกคนอีกด้วย)
คุณครูเคธี เมอร์ฟี (Kathy Murphy) แบ่งนักเรียนเกรด 7 ในชั้น เป็นกลุ่มละ 3 คน ให้ช่วยกันแก้โจทย์เลข โดยแจกการ์ดหน้าที่ให้แต่ละคนในกลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วย คนตั้งคำถาม-คนอธิบาย-คนสรุปความ บนการ์ดมีรายละเอียดความรับผิดชอบและมีประโยคไกด์ไลน์ของหน้าที่นั้นๆ เช่น
คนตั้งคำถาม: มีหน้าที่อ่านโจทย์ให้เพื่อนในกลุ่มฟัง และคอยซักถามหลังคนสรุปความ
- เมื่ออ่านโจทย์แล้ว ให้คิดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโจทย์
- บอกไอเดียหรือประเด็นที่เรานึกถึงขณะอ่านโจทย์นั้นให้เพื่อนในกลุ่มฟัง
- เสนอวิธีแก้โจทย์ที่เป็นไปได้แล้วถามความเห็นเพื่อนในกลุ่ม
- ตัวอย่างประโยคสำหรับตั้งคำถาม เช่น ตรงนี้หมายความว่าอะไร? หมายความว่าอย่างนี้ได้ไหม? เราจะ…ได้อย่างไร? เราควรลองเอา… (สมการ, รูป, กราฟ) …มาประกอบการแก้โจทย์ดีไหม? เป็นต้น
เจฟฟ์อธิบายว่า การแบ่งบทบาทหน้าที่ทำให้นักเรียนเข้าใจว่า ความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายล้วนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน หรือบางครั้งการแก้ปัญหาให้ลุล่วง อาจต้องพึ่งพาความคิดหรือมุมมองจากเพื่อนนอกกลุ่มด้วย ดังนั้นกฎกติกาที่ครูสร้างต้องไม่เน้นการแข่งขันระหว่างกลุ่มมากเกินไปจนปิดกั้นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมองข้ามคุณค่าของความร่วมมือซึ่งกันและกัน
ทรินิตี้ (Trinity) นักเรียนในชั้นเรียนของครูเคธี เล่าถึงประโยชน์ในการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาโจทย์เลขด้วยกันว่า
“ตอนแรกที่อาจารย์ให้แบ่งกลุ่มทำงานแก้โจทย์ก็งงเหมือนกันค่ะ เพราะเนื้อหาวิชานี้ยากมากแต่พอได้ร่วมคิดกับเพื่อนๆ กลับช่วยได้มาก ถึงแม้เราจะมีกลุ่มของเราเอง แต่การเดินไปถามแลกเปลี่ยนไอเดียกันกับเพื่อนต่างกลุ่มก็ยิ่งช่วยกันได้มากขึ้น เข้าใจหลายด้านขึ้น แล้วเราก็จะจดจำคำตอบที่ได้นานกว่าคำตอบที่ครูบอกง่ายๆ ค่ะ”
อย่าลืมเหลือพื้นที่ให้เด็กรักสันโดษบ้าง
นอกจากด้านบวกของการทำงานร่วมกันที่นักเรียนจะได้พัฒนาทักษะหลากหลายด้าน ประเด็นที่น่าสนใจหนึ่งซึ่ง เบกาห์ แลนด์แฟร์ (Bekah Landfair) อาจารย์ฝึกสอนนักเรียนชั้นเกรด 8 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐอินเดียนาสังเกตเห็นคือ ห้องเรียนที่กระตุ้นการทำงานเป็นกลุ่มเยอะเกินไปอาจไม่เหมาะกับนักเรียนที่มีนิสัยสันโดษหรือเก็บตัว (introvert students) เท่าไรนัก สิ่งที่สังคมและครูกำลังพยายามปลุกปั้นอาจกลายเป็นยัดเยียดให้พวกเขาตกไปอยู่ชายขอบได้
เบกาห์แนะว่าวิธีที่ช่วยให้นักเรียนลักษณะนี้สบายใจได้บ้างคือ เปิดโอกาสให้เลือกกลุ่มในการทำงานเอง เพื่อให้พวกเขาผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อทำงานกับคนที่ไว้วางใจ
การแบ่งหน้าที่ในกลุ่มอย่างชัดเจนจำเป็นต้องมีอยู่และต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่เพื่อไม่ให้นักเรียนที่กล้าแสดงออกกำหนดทิศทางการทำงานของกลุ่มมากเกินไปและทำแต่หน้าที่ซ้ำเดิม ลองแบ่งเวลาท้ายคลาส ให้พวกเขาได้ใช้ประเมินและฟีดแบคกันและกันอย่างเอื้อเฟื้อสร้างสรรค์ และท้ายที่สุดคือครูเองต้องอธิบายเป้าหมายของการทำงานร่วมกันให้ชัดเจน หมั่นสังเกตพฤติกรรมการกลั่นแกล้งในห้องเรียน รวมทั้งแนะนำให้กำลังใจนักเรียนสม่ำเสมอด้วย
กล่าวได้ว่า เพื่อให้ระบบการศึกษาบรรลุจุดประสงค์ในการผลิตบุคลากรคุณภาพที่มีทักษะการเรียนรู้ และการอยู่ร่วมกันในสังคมไปสู่การพัฒนาโลกอย่างสันติสุขและยั่งยืน การตระเตรียมให้เยาวชนเรียนรู้การทำงานร่วมกันถือเป็นกลไกสำคัญที่ควรเกิดขึ้นด้วยการออกแบบ วางแผนอย่างรอบคอบ รวมถึงพัฒนาแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
นอกจากพวกเขาจะได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนและผู้อื่น คุณค่าของกฎกติกา มารยาทการอยู่ร่วมกันในสังคม อีกหลายแง่มุมจากการทำงานร่วมกัน ยังมีส่วนสร้างเสริมรากฐานคุณความดีในจิตใจ เช่น ความไว้วางใจ เห็นอกเห็นใจ เคารพซึ่งกันและกัน ใจกว้าง มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงสร้างที่ยั่งยืนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมอีกด้วย
เช่นเดียวกับทักษะอื่นที่ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต สำหรับมุมมองของครูเคธีแล้ว เธอสรุปว่า
“กระบวนการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันนี่ไม่มีวันจบสิ้น เป็นเรื่องที่ครูและนักเรียนต้องพยายามไปด้วยกันอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะอย่างไรก็ตาม ทักษะเหล่านี้ก็จะค่อยๆ เพิ่มพูนมากขึ้นและอยู่ติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิตนั่นเอง”