- เรื่องของเยาวชนจังหวัดน่านจากเด็กหลังห้อง ที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าแสดงออก มีแค่หัวใจที่อยากจะทำโครงการเพื่อชุมชน ต้องอาศัยความกล้าของคนอื่นและแรงสนับสนุนจากโค้ช เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองอยากทำ แต่เพราะวิกฤติที่พี่เลี้ยงเห็นว่าเป็นโอกาส จึงพลิกขึ้นมาเพื่อพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้มีทักษะติดตัว เพราะเด็กๆ พัฒนาได้เสมอ
เมื่อคะแนนสอบหรือผลการเรียนถูกนำมาใช้วัดความเก่ง-ไม่เก่ง ในระบบการศึกษาไทยแบบแพ้คัดออก คนที่เรียนไม่เก่งจึงต้องเดินลงจากเวที ปล่อยให้พื้นที่เป็นของผู้ชนะเท่านั้น
แล้วเด็กที่แพ้จะไปยืนตรงไหน? ไม่ต้องพูดถึงโอกาสในการพัฒนาตัวเองเลย เพราะลำพังตำแหน่งแห่งที่ยังไม่มี ทั้งๆ ที่หลายคนมี ‘ของดี’ ซุกซ่อนอยู่ แต่ไม่รู้จะเอาออกมาใช้อย่างไร เมื่อไหร่ เพราะไม่มีใครให้โอกาส
แต่เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ และเชื่อมั่นกับคำว่าโอกาส ทำให้ กอล์ฟ-ดวงพร ยังรักษ์ โค้ชจากโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ชวนเยาวชนในชุมชนเดียวกับตนเข้าร่วมทำโครงการเพื่อชุมชน
กอล์ฟมองว่าเด็กในช่วงอายุ 15-18 ปี เป็นวัยที่ต้องรีบดึงเข้ามาเป็นพวกให้เร็วที่สุด ก่อนจะเดินไปผิดทาง และทางเดียวที่จะดึงมาได้นั่นคือการหากิจกรรมให้ทำ
“ต้องเป็นสิ่งที่ทำแล้วสนุก เป็นสิ่งที่ทำแล้วเขาจะได้รับการพัฒนาทั้งทักษะ ความรู้ และนิสัย”
กิจกรรมในชุมชนคือคำตอบ กอล์ฟมอบหมายให้ สแน็ก-กวินภพ ไชยหาญ วัย 15 ปี เยาวชนในพื้นที่ทำหน้าที่ดึงเพื่อนๆ ในชุมชนที่สนใจให้เข้ามาร่วมกิจกรรมจนได้สมาชิกทั้งหมด 6 คน
เด็กๆ ทั้ง 6 คน ได้ช่วยกันคิดและพัฒนาโครงการ จนท้ายที่สุดได้มาเป็นโครงการสานสายใยสมุนไพรคู่ชุมชน เพราะคนในชุมชนป่วยเป็นเบาหวาน ความดัน กันเยอะ ประกอบกับในชุมชนมีสมุนไพรที่บรรเทาอาการได้ จึงอยากชวนคนในชุมชนหันมาใช้สมุนไพร นอกเหนือจากการไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน
ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี จนเมื่อถึงวันนำเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาสิ่งไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น จู่ๆ สมาชิกในทีมที่ถูกวางตัวไว้ให้เป็นผู้นำเสนอโครงการเกิดถอนตัวออกกลางคัน ทิ้งภาระให้เสมาชิกที่เหลืออยู่ ที่ทั้งกังวล ไม่มั่นใจ และกลัวที่จะต้องออกมาพูดในที่สาธารณะ เพราะในเวลานั้น ทั้งสแน็ก และสมาชิกในทีมซึ่งประกอบด้วย ต่าย ชยานิศ ไชยหาญ, ปอ-จิดาภา ติละ และ แพท-นางสาวศิริลักษณ์ ต๊ะแก้ว เด็กสาววัย 17 ปี ยังตื่นเวทีและไม่คิดว่าตัวเองจะต้องลุกขึ้นมาเป็นเด็กแถวหน้า เพราะมีประสบการณ์ทำกิจกรรมน้อย ทำให้ขาดทักษะในการนำเสนอ เรื่องความกล้าแสดงออกน่ะเหรอ แทบจะเท่ากับศูนย์
ความกังวลที่ฉายผ่านสีหน้าของสมาชิกที่เหลือ ไม่อาจพ้นสายตาโค้ชกอล์ฟที่เฝ้าสังเกตอาการของเด็กมาตั้งแต่แรกไปได้ แต่ภายใต้ความกังวลนั้นกอล์ฟสัมผัสได้ว่าหัวใจของเด็กๆ กลุ่มนี้ยังอยากทำโครงการต่อไปเพียงแค่ต้องการใครสักคนที่จะเข้ามาช่วยพาพวกเขาให้กล้าเดินต่อไป นี่จึงเป็นจุดที่โค้ชอย่างเธอคิดว่าเด็กกลุ่มนี้ควรได้ไปต่อ และการทำกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นโอกาสสร้างความมั่นใจของเด็กๆ ขึ้นมาได้ ในฐานะโค้ช กอล์ฟจึงต้องทำหน้าที่หยิบยื่นโอกาสให้เด็กๆ ได้พัฒนาตัวเอง
ลึกๆ แล้วเด็กๆ ทุกคนสามารถพัฒนาได้
เธอบอกกับเราแบบนั้น
พูดสิ่งที่ตัวเองรู้ คิด และ ลงมือทำ – ง่ายนิดเดียว
กอล์ฟรีบเข้าไปเสริมกำลังใจให้สมาชิกที่เหลือมีแรงฮึดสู้ทำโครงการต่อ ด้วยคำถามสร้างพลังให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ที่สำคัญ ต้องพูดจากสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองทำ และตัวเองรู้ – ง่ายนิดเดียว
“ช่วงแรก เราจะใช้การตั้งคำถามเพื่อพาเขาทบทวนบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน พร้อมกับพยายามพูดเสริมพลังให้เขามองเห็นศักยภาพของตัวเองให้มากที่สุด เพราะเราเองก็รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ น้องต้องการคนที่มาช่วยเสริมแรงใจให้กับเขา จากนั้นก็เริ่มเล่าประสบการณ์ของน้องในโครงการที่มีสภาวะคล้ายกันให้เขาเห็นว่า ทีมอื่นก็เจอปัญหาเหมือนกันแล้วเขามีวิธีการจัดการอย่างไร แล้วตั้งคำถามย้อนกลับให้เขาเริ่มคิดทบทวนว่าตัวเองก็สามารถผ่านจุดนี้ไปได้เช่นกัน เมื่อน้องได้ฟังแล้วคิดตาม เขาก็สะท้อนออกมาว่า ถ้าเขาอยากกล้านำเสนอเหมือนคนอื่นก็ต้องเริ่มต้นฝึกฝน”
หลังจากวันนั้น เด็กๆ ตกลงร่วมกันว่าทุกคนจะต้องพูดนำเสนอ พร้อมทั้งแบ่งบทบาทหน้าที่การพูดให้แต่ละคนอย่างชัดเจน ทุกคนตั้งใจฝึกฝน จดสิ่งที่ตัวเองต้องออกไปพูดแล้วยืนซักซ้อมหน้ากระจก เพื่อลดความเขินอาย เป็นบรรยากาศที่กอล์ฟเริ่มเห็นแล้วว่าน้องๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากคนที่ไม่กล้าพูด ก็เริ่มที่จะพูดในวงมากขึ้น เริ่มชักชวนกันซักซ้อมร่วมกัน แม้จะเป็นการท่องจำในช่วงแรก แต่อย่างน้อยเธอก็เห็นว่าเด็กพวกนี้มีความตั้งใจดีที่จะนำเสนอในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
สั่นสู้!
เมื่อถึง ‘เวทีร้อยพลัง สร้างฝัน หละอ่อนน่าน’ ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่โครงการจัดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ มานำเสนอการทำงานกับเพื่อนกลุ่มอื่น และทบทวนการทำงานระยะครึ่งโครงการ กิจกรรมนี้จะเป็นพื้นที่ในการพิสูจน์ความสามารถของทุกคน
และวันนั้นก็เป็นวันที่พวกเขา-แพท ปอ ต่าย และสแน็ก จะได้พิสูจน์ตัวตนให้ทุกคนเห็นว่าพวกเขาก็สามารถทำได้ หลังจากที่ซุ่มซ้อมกันมาสักระยะหนึ่ง บรรยากาศในวันนั้นอบอวลไปด้วยความประหม่า อาการสั่นเริ่มเห็นชัดขึ้น ยิ่งใกล้เวลาที่ตัวเองจะได้นำเสนอก็ยิ่งสั่น
แต่อาการสั่นของพวกเขาในวันนั้นไม่ใช่การสั่นเพราะกลัวอีกต่อไป แต่มันคือความสั่นที่มาพร้อมกับความสู้ เมื่อถึงลำดับที่กลุ่มตัวเองต้องนำเสนอ ทั้งหมดลุกขึ้นยืนกลางเวที ถึงเวลาที่พวกเขาจะได้นำเสนอโครงการของตัวเองภายใต้สิ่งที่ตัวเองคิด และสิ่งที่ตัวเองทำให้กับเพื่อนๆ ต่างโครงการได้รับรู้
ไมค์ลอยค่อยๆ เวียนไปตามลำดับ ปอ แพท ต่าย และสแน็ก เวียนกันจับไมค์พูดนำเสนอ อาจจะมีตะกุกตะกักบ้างในบางครั้งเพราะเป็นเวทีของทุกคน แต่พวกเขาก็สามารถเล่าเรื่องราวกิจกรรมที่ตนเองทำได้ ถึงแม้หลังพูดจบจะยังคงมีอาการสั่นอยู่บ้าง ฝ่ามือก็ชุ่มไปด้วยเหงื่อทั้งๆ ที่แอร์ในห้องก็เย็นฉ่ำ แต่นั่นคือช่วงเวลาที่พาให้พวกเขาก้าวข้ามความกลัวและพิสูจน์ตัวเองว่าพวกเขาก็สามารถนำเสนอได้โดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากใคร เพียงแค่เล่าจากสิ่งที่ตัวเองทำและสิ่งที่ตัวเองคิด
หลังจบกิจกรรม โค้ชกอล์ฟพาน้องๆ ในทีมถอดบทเรียนจากสิ่งที่ตัวเองได้ทำในครั้งนั้น พร้อมกับชี้ให้น้องๆ เห็นศักยภาพของตัวเองที่ดึงออกมาใช้จากเวทีในวันนั้น และเสริมกำลังใจไปอีกก้อนใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้น้องมีแรงฮึดสู้ในการทำกิจกรรมต่อๆ ไป เมื่อทุกคนเห็นศักยภาพของตัวเองและสามารถก้าวข้ามความกลัวในวันนั้นมาได้ ทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น มองเห็นศักยภาพของเพื่อนและตัวเองมากขึ้น
เด็กๆ จึงเริ่มจัดทัพกันใหม่ โดยอาศัยตามความสามารถของแต่ละคนและแบ่งบทบาทหน้าที่กันรับผิดชอบอย่างชัดเจน
ระหว่างที่เด็กๆ ทำกิจกรรมในชุมชน โค้ชจะคอยติดตาม และเข้าไปประคับประคองเมื่อเห็นจุดที่จะเป็นปัญหา พร้อมทั้งตั้งคำถามเพื่อทบทวนเป้าหมายของกิจกรรมที่เด็กๆ จะจัดอยู่เสมอ ทำให้ทีมมีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ ชัดเจน และมีเป้าหมาย
“หลังๆ ทุกครั้งก่อนเริ่มกิจกรรมอะไรก็ตาม น้องจะต้องมีการประชุมเพื่อวางแผนและทำการบ้านเพื่อเตรียมข้อมูลก่อนเสมอ หลังจบกิจกรรมมีการรวมกลุ่มเพื่อชวนกันถอดบทเรียนทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุด และสิ่งที่ต้องแก้ไขในครั้งต่อไป”
“เราเชื่อมั่นในตัวเด็ก สิ่งที่ทำคือหนุนเสริมเขา และคอยวิเคราะห์การทำงานของน้องว่าบกพร่องตรงไหน มีรอยโหว่ตรงไหนที่จะต้องเข้าไปคอยอุด แต่จะให้เขาได้ลงมือทำด้วยตัวเองจริงๆ ซึ่งพบว่าน้องแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน”
ต่ายเองเริ่มลุกขึ้นมานำคุยเมื่อประชุมกับทีม ร่วมวางแผนงาน หรือแม้แต่ปอ จากที่เคยมีโลกส่วนตัวสูงไม่ค่อยพูด แต่เมื่อผ่านกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นบ่อยครั้งเข้า ทำให้เขาเริ่มกล้าที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนมากขึ้น
“สแน็กแต่ก่อนเขาค่อนข้างกลัวไมค์มาก จับไมค์เมื่อไหร่เราจะเห็นเลยว่าเขามีอาการสั่น ไม่กล้าพูด แต่หลังๆ เขามีโอกาสได้จับไมค์บ่อยๆ เราพยายามให้น้องทุกคนชินกับการจับไมค์พูด เราเริ่มเห็นเลยว่าเดี๋ยวนี้สแน็กเขาเริ่มอาสาที่จะลุกขึ้นมานำเสนอ พัฒนากระบวนการคิด เพื่อนในทีมเองก็สะท้อนให้เราฟังบ่อยๆ ว่าสแน็กเริ่มพูดออกมาเป็นลำดับได้ดีกว่าเดิม จากคนที่เคยกลัวไมค์จนตัวสั่นก็อาสาที่จะลุกขึ้นมานำเสนอโครงการแทนเพื่อนๆ ได้
ส่วนแพทจากที่เคยพูดเล่นไปวันๆ ไม่ค่อยจริงจังกับงานเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้เราเห็นว่าน้องเริ่มกล้าที่จะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนต่างโครงการได้ กล้าพูดคุย หยอกล้อกับเพื่อนต่างกลุ่ม เป็นบทบาทที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ทำให้เขามั่นใจและกล้าที่จะเล่าประสบการณ์ของเขาให้กับคนอื่นๆ ฟัง”
จากเด็กหลังห้อง ที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าแสดงออก มีแค่หัวใจที่อยากจะทำโครงการเพื่อชุมชนของตัวเอง ต้องอาศัยความกล้าของคนอื่นเพื่อมาบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองอยากทำ แต่เพราะวิกฤติที่พี่เลี้ยงเห็นว่าเป็นโอกาส จึงพลิกขึ้นมาเพื่อพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้มีทักษะติดตัว เพราะเด็กๆ พัฒนาได้เสมอ
ผลจากการเคี่ยวกรำและเติมเต็มความมั่นใจจากโค้ช ทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ความมั่นใจที่เกิดจากการได้ลงมือทำด้วยตนเอง ทำให้พวกเขาค่อยๆ ขยับจากหลังห้องมาหน้าห้องได้ในวันนี้
“เพราะไม่ได้มองว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อ่อน หรือเรียนไม่เก่ง แต่เรามองว่าเขาก็เป็นอีกคนที่มีศักยภาพแต่แค่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเก่งเรื่องอะไร เราในฐานะโค้ชที่มีหน้าที่พัฒนาน้องๆ ต้องพาให้เขาเห็นตัวเองให้ได้ว่าเขาเก่งเรื่องอะไร พัฒนาตัวเองขึ้นมา แต่คำว่าพัฒนาเรามานั่งคิดอีกว่า จะพัฒนาตัวเขาอย่างไรไม่ให้เขารู้สึกท้อ เพราะเด็กที่ไม่เคยทำกิจกรรมจะท้อง่าย ยังไม่ไปถึงไหนก็จะเลิกทำ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปในฐานะโค้ชคือต้องคอยเติมพลังให้เขาตลอด ทำให้เขาเห็นว่าโครงการนี้ไม่ได้ยากและสนุก”
ในสังคมเรามีเด็กหลังห้องที่ถูกละทิ้งมากมายเพราะคิดไปเองว่าคงพัฒนาได้ยาก แต่เรื่องราวของโค้ชกอล์ฟกับเด็กๆ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าถ้าเด็กหลังห้องได้รับโอกาส ได้รับความเชื่อมั่นจากครู พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ ทำให้เขามั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเองขึ้นมาได้ การเติบโตเป็นคนคุณภาพจึงง่ายนิดเดียว