- แม้สถานการณ์โรคระบาดจะทำให้วัยรุ่นขาดโอกาสในการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน แต่ความคาดหวังที่มาพร้อมกับการเติบโตไม่เคยหยุดลง
- วัยรุ่นต้องเผชิญกับความคาดหวังมากมาย และบ่อยครั้งที่พวกเขาต้องพ่ายแพ้และผิดหวังซ้ำๆ ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดที่ ‘การเรียนออนไลน์’ กลายมาเป็นวิธีการเรียนรู้หลัก ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญมีทั้งไม่เข้าใจบทเรียน ไม่สามารถทำงานได้ทันเวลา ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ฯลฯ
- สิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถให้ความช่วยเหลือกับวัยรุ่นได้ บางครั้งสิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่มากที่สุด คือ การรับฟัง เพราะการรับฟังที่ดี จะนำไปสู่ ‘ความเข้าใจ’ และ ‘การยอมรับ’ ทั้งต่อตัวเองและพ่อแม่ที่มีต่อตัวเขา
‘วัยรุ่น’
วัยรุ่น เป็นวัยแรกเริ่มแห่งการใช้ชีวิตอย่างอิสระ เพื่อเรียนรู้ เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ ก่อนก้าวสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว วัยรุ่นถือเป็นวัยที่เชื่อมระหว่าง ‘เด็ก’ กับ ‘ผู้ใหญ่’ บางครั้งการเป็นวัยตรงกลางทำให้วัยรุ่นค่อนข้างเป็นวัยที่สับสนได้ง่าย เพราะ…
วัยรุ่นโตเกินกว่าจะถูกปฏิบัติเหมือนเด็กๆ วัยรุ่นคงไม่ชอบให้ใครมาบอกว่าต้องทำอะไรทุกขั้นตอนเหมือนเด็กเล็ก แต่ในขณะเดียวกัน วัยรุ่นก็ยังไม่โตพอที่จะรับผิดชอบทุกๆ อย่างได้เฉกเช่นผู้ใหญ่ เขายังต้องการการแนะนำ และความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่อย่างเรา
วัยรุ่นกระหายที่จะเป็นตัวเขาเอง แต่ในขณะเดียวกันก็แสวงหาการยอมรับจากผู้อื่น
วัยรุ่นต้องการอิสระเพื่อออกไปค้นหาหรือไล่ตามความฝัน แต่อีกเช่นเคย เขายังต้องการบ้านที่ปลอดภัยที่เขาสามารถกลับมาพักใจได้เสมอ
“ความสดใสและอิสรภาพที่ถูกพรากไป…”
ในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้คนส่วนใหญ่นั้นมีมากมายมหาศาล
สำหรับวัยรุ่น สิ่งที่พวกเขาถูกพรากไปมากที่สุด คือ ‘ความสดใสแห่งวัย’ และ ‘อิสรภาพ’
พื้นที่ในการเรียนรู้ของเด็กๆ ยุคโรคระบาดเหลือเพียงภายใน ‘บริเวณบ้าน’ และ ‘หน้าจอสี่เหลี่ยม’ แม้บางบ้านจะมีพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมบ้าง และการท่องโลกผ่านอินเตอร์เน็ตอาจจะไม่ใช่เรื่องที่แย่ที่สุด แต่สำหรับวัยรุ่นแล้ว การออกไปข้างนอกบ้าน คือ การได้เจอเพื่อนๆ ของเขา และได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
การได้กินข้าวกับเพื่อนในโรงอาหารตอนพักกลางวัน
การได้จูงมือกับเพื่อนไปเข้าห้องน้ำด้วยกันตอนพักน้อย (พักเบรก)
การได้เตะบอล เล่นบาส นั่งคุยกับเพื่อน
การได้ไปเที่ยวที่ต่างๆ ด้วยกัน
และการได้มีความรักครั้งแรก
หากกิจกรรมที่วัยรุ่นทำเปรียบเสมือนสีสันบนโลกใบนี้ โลกของวัยรุ่นในสถานการณ์โรคระบาดคงเหลือเพียงสีไม่กี่สี และสำหรับวัยรุ่นบางคน โลกของเขาได้กลายเป็นสีที่หม่นหมอง
“โลกดูเศร้าหม่นและสิ้นหวัง”
แม้สถานการณ์โรคระบาดจะทำให้วัยรุ่นขาดโอกาสในการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน แต่ความคาดหวังที่มาพร้อมกับการเติบโตไม่เคยหยุดลง พ่อแม่และสังคมยังคงมีความคาดหวังต่อพวกเขาไม่ได้ลดหย่อนลงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเลย ซึ่งความคาดหวังที่วัยรุ่นต้องเผชิญอย่างหนักหน่วงที่สุด คือ ‘การเรียน’
พ่อแม่และสังคมมักคาดหวังให้วัยรุ่นตั้งใจเรียน เรียนให้ได้ดี คะแนนสอบและเกรดเฉลี่ยกลายเป็นตัวเลขที่ตัดสินวัยรุ่น ทั้งๆ เราไม่ควรตัดสินมนุษย์จากมิติๆ เดียวของชีวิต
วัยรุ่นคนหนึ่งเป็นเด็กที่มีจิตใจดี เวลาเพื่อนๆ หรือคุณครูขอให้เขาช่วยอะไร เขามักยินดีและออกตัวอาสาเสมอ
นอกจากนี้เขายังชอบเล่นกีตาร์มากและเล่นได้ดีเสียด้วย แต่เขากลับเรียนได้ไม่ดีนัก แม้จะพยายามแล้วแต่ก็ทำได้ไม่เท่าเพื่อนๆ ทำให้เวลาผลสอบออกมา เขามักจะได้ลำดับที่ท้ายๆ ของห้อง พ่อแม่และญาติพี่น้องของวัยรุ่นคนนี้ มองว่า ‘เด็กคนนี้เป็นเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน’ โดยตัดสินเขาจากคะแนนสอบและลำดับที่สอบได้
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงวัยรุ่นคนนี้ไม่ได้เกเร และตั้งใจเรียนเสมอ แต่เขาอาจจะทำไม่ได้ดีในเรื่องวิชาการ นอกจากนี้เขายังมีด้านดีๆ อีกมากมาย น่าเศร้าที่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่ถูกมองเห็นและให้คุณค่า เพียงเพราะไม่ตรงกับความคาดหวังของพ่อแม่และผู้ใหญ่
“การเรียนออนไลน์”
วัยรุ่นต้องเผชิญกับความคาดหวังมากมาย และบ่อยครั้งที่พวกเขาต้องพ่ายแพ้และผิดหวังซ้ำๆ ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาด ‘การเรียนออนไลน์’ คือ วิธีการเรียนรู้ที่วัยรุ่นต้องเผชิญ
วัยรุ่นที่มีแนวโน้มเรียนได้ดีในรูปแบบปกติมักจะมีแนวโน้มปรับตัวและเรียนได้ดีในรูปแบบออนไลน์เช่นกัน
ในทางกลับกันวัยรุ่นที่อาจจะมีปัญหาในการเรียนในห้องเรียนรูปแบบปกติเป็นทุนเดิม การปรับเปลี่ยนมาเรียนในรูปแบบออนไลน์อาจจะทำให้เขาไม่สามารถเข้าใจบทเรียนได้ และมีวัยรุ่นอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเรียนในรูปแบบนี้ได้ เนื่องด้วยความไม่พร้อมของตนเองและข้อจำกัดของทางบ้าน
แม้ปัญหาด้านการเรียนและการเข้าสังคมในวัยรุ่นอาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ ในสายตาของผู้ใหญ่ แต่สำหรับวัยรุ่นแล้ว ‘ความเครียด’ ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากปัญหาเล็กๆ เหล่านี้ค่อยสะสมจนกลายเป็นปัญหาที่กัดกินเขาจากภายในโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว…
“การไม่เข้าใจบทเรียน”
ความรู้สึกอึดอัดจากการที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เรียน ยิ่งเรียนต่อไปเรื่อยๆ พื้นฐานที่ไม่แน่นตั้งแต่แรก ก็กลายเป็นอุปสรรคในการเรียนเนื้อหาที่ซับซ้อนขึ้นไป วัยรุ่นหลายคนยอมรับว่า ไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียน บางคนแก้ปัญหาด้วยการทบทวนบทเรียนด้วยตัวเอง หรือให้เพื่อนช่วยสอนและอธิบายในภาษาตนเองเข้าใจได้ และบางคนถึงขั้นใช้การคัดลอกจากเพื่อนส่งครูบ้างเพื่อให้ผ่านๆ ไป
“การไม่สามารถทำงานได้ทันเวลา”
การบ้านที่มีปริมาณมาก หรือการบ้านที่ยากเกินความเข้าใจวัยรุ่น
วัยรุ่นบางคนมีการวางแผนและการจัดการเวลาที่ดี เขาอาจจะรับมือกับปัญหาข้อนี้ได้ดี แต่วัยรุ่นบางคนไม่สามารถบริหารจัดการได้ การรับมือกับปริมาณงานที่มาพร้อมกับเป็นจำนวนมากอาจจะทำให้กลัวและอยากที่จะหลีกเลี่ยงและหลีกหนีงานดังกล่าวไป
“การไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน”
การพูดคุยกับเพื่อนผ่านหน้าจอ ไม่มีทางแทนที่การได้เจอเพื่อนในชีวิตจริงได้ วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการสร้างอัตลักษณ์ตัวตนและแสวงหาการยอมรับจากเพื่อน การได้เจอกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คือ สิ่งที่วัยรุ่นต้องการ แต่สถานการณ์โรคระบาดทำให้วัยรุ่นขาดโอกาสได้เจอกับผู้อื่น
ระยะเวลาที่ยาวนานที่วัยรุ่นต้องเรียนคนเดียวผ่านหน้าจอที่บ้านคนเดียว วัยรุ่นมักเกิดความเครียดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง วัยรุ่นบางคนไม่สามารถแก้ปัญหาและจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ จนท้ายที่สุด พวกเขาบางคนเลือกที่จะหยุดพยายามและยอมแพ้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“สภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (Learned Helplessness)”
วัยรุ่นที่เผชิญความล้มเหลวทางการเรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ว่าเขาจะตามเพื่อนๆ ให้ทัน พยายามจะทำความเข้าใจเนื้อหา แต่กลายเป็นว่า ยิ่งพยายาม ยิ่งพบรูรั่วมากมาย ตามเท่าไหร่ก็ไม่ทันเสียที ซ้ำร้ายยังมีเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องเรียนและทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ต่างอะไรกับปริมาณงานและการสอบที่เข้ามาประเดประดังทุกทาง ถ้าหากวัยรุ่นที่มีความไม่พร้อมทางจิตใจ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผนวกกับการไม่ได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจากทางบ้าน พวกเขาเหล่านั้นอาจจะเข้าสู่สภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ได้
สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association; APA) กล่าวว่า การสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (Learned Helplessness) คือ สภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลประสบกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้เขาเชื่อว่า ตนเองไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นได้ ส่งผลให้บุคคลหมดความพยายามที่จะทำสิ่งนั้นหรือแก้ไขปัญหานั้นอีก แม้ในความเป็นจริงเขาอาจจะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นได้ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การที่เด็กคนหนึ่งจะตกอยู่ในสภาวะสิ้นหวังนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสถานการณ์บีบบังคับเขาเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากปัจจัยทาง ‘ความคิด’ ของเด็กแต่ละคนด้วย ในที่นี้คือ ความคิดหรือมุมมองที่มีต่อโลก
ในเด็กบางคนอาจจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายและมีความคิดแบบยึดติด (Fixed Mindset) กล่าวคือ เด็กกลุ่มนี้จะเชื่อว่า ตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ ทุกๆ อย่างที่เขาทำได้สำเร็จไม่ได้เกิดจากความสามารถของตนเอง แต่เกิดจากความช่วยเหลือของผู้อื่น หรือสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเขา เช่น โชคหรือดวงชะตา
แต่เด็กบางคนมองโลกในแง่ดีและมีความคิดแบบเติบโตได้ (Growth mindset) กล่าวคือ เด็กกลุ่มนี้จะเชื่อว่าตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ และตนเองเป็นผู้ควบคุมชีวิตของตัวเอง ทุกสิ่งที่เขาทำได้สำเร็จเกิดจากความพยายามและความตั้งใจของตนเอง
ซึ่งเด็กที่มองโลกในแง่ร้ายและมีความคิดแบบยึดติดจะมีแนวโน้มตกอยู่ในสภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ได้ง่ายกว่าเด็กที่มองโลกในแง่ดีและมีความคิดแบบเติบโตได้
แนวทางการสร้างเด็กที่มีความคิดแบบเติบโตได้ (Growth Mindset)
ข้อที่ 1 ใช้คำถามปลายเปิดมากกว่าคำถามปลายปิด และใช้คำถามมากว่าคำสั่ง
คำถามปลายเปิดจะทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสคิดและประมวลความรู้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา เด็กๆ จะได้ใช้ความสามารถของเขามากกว่าคำถามปลายปิด
ดังนั้น ข้อสอบแนวอัตนัย (ข้อเขียน) จะทำให้เด็กๆ ได้ใช้ศักยภาพทางความคิดมากกว่าข้อสอบแนวปรนัย (กากบาทตัวเลือก)
นอกจากนี้การที่ผู้ใหญ่ใช้คำถามกับเด็กมากกว่าคำสั่ง ทำให้เด็กได้มีโอกาสเลือกและตัดสินใจตัวเขาเองมากขึ้น เด็กจะมีแนวโน้มรับผิดชอบต่อสิ่งที่เลือกมากขึ้น
ข้อที่ 2 ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้และความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ที่ออกมา
ทุกการลงมือ ไม่ว่าผลงานที่ออกมาจะดีหรือไม่ก็ตาม เด็กๆ เกิดการเรียนรู้เสมอ และทุกความพยายามมีค่ามากกว่าผลลัพธ์ที่ออกมานัก เพราะผลลัพธ์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้เสมอ
ข้อที่ 3 เวลาที่เด็กๆ ทำผิดให้ตำหนิที่ ‘พฤติกรรมที่เขาทำ’ ไม่ใช่ ‘ตัวตนที่เขาเป็น’
บางวันเด็กอาจจะทำพฤติกรรมที่แย่มากๆ เราควรตำหนิเขาที่พฤติกรรม ไม่ใช่การว่าแบบเหมารวมตัวตนของเขา เพราะพฤติกรรม คือ สิ่งที่เด็กสามารถควบคุมและเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่ตัวตนของเขาเป็นสิ่งที่ค่อนข้างคงทนและเปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น การตำหนิที่พฤติกรรมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการตำหนิที่ตัวตนของเขา
เมื่อเด็กๆ ทำผิด ผู้ใหญ่ควรสอนให้พวกเขารับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเสมอ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ว่า นี่คือการตัดสินใจของพวกเขาเอง และตัวเขาเองสามารถรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากเด็กยังไม่มีประสบการณ์ และไม่รู้ว่าต้องรับผิดชอบอย่างไร ผู้ใหญ่สามารถลงไปสอนเขาได้ แต่ไม่ใช่แก้ปัญหาหรือทำให้ทันที
ที่สำคัญผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กๆ รู้ว่า ‘ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด ไม่เป็นไรที่จะทำผิดพลาด แต่ต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเสมอ’
ข้อที่ 4 ให้การชื่นชมมากกว่าการตำหนิ
เมื่อเด็กๆ ทำได้ดี ให้ผู้ใหญ่ชื่นชมพวกเขาที่การกระทำ เพื่อให้เด็กๆ มองเห็นสิ่งดีๆ ที่พวกเขาสามารถทำได้
ข้อที่ 5 ไม่เปรียบเทียบตนเองกับใคร
ผู้ใหญ่ไม่ควรเปรียบเทียบเด็กกับใคร และควรสอนให้เด็กๆ ไม่เปรียบเทียบตัวเขากับคนอื่นเช่นกัน
ถ้าหากเด็กๆ ต้องการรู้ว่า ตนเองอยู่จุดไหนแล้ว การเปรียบเทียบที่ดีที่สุด คือ เปรียบเทียบตัวเองในวันนี้กับตัวเองในวันวาน เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาได้
สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ควรตระหนักเสมอ
“เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งทำให้พวกเขามีวิธีการเรียนรู้ที่อาจจะแตกต่างกันไปด้วย การเรียนออนไลน์อาจจะทำให้เด็กบางคนหล่นหายไประหว่างทาง ตรงนี้ยังไม่ได้หมายรวมถึงความพร้อมของแต่ละบ้าน แต่หมายถึงความพร้อมของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันแล้ว”
ไม่ว่าอย่างไรก็ตามผู้ใหญ่มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็กๆ ว่า “พวกเขามีศักยภาพและพวกเขาสามารถเรียนรู้ได้” ไม่ใช่การสร้างทัศนคติทางลบต่อการเรียนรู้ และที่เลวร้ายที่สุด คือ ทัศนคติทางลบต่อตัวเอง เช่น “ฉันมันไม่ได้เรื่อง” “ฉันทำมันไม่ได้หรอก” และ “ทำอย่างไรก็ไม่ดีพอ”
ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่ช่วยกันดูแลเด็กๆ ทั้งพ่อแม่ โรงเรียน และองค์กรทางการศึกษาต่างๆ สิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญ ไม่ใช่ปริมาณชั่วโมงการเรียนหรือการบ้าน แต่คือ ‘ธรรมชาติของการเรียนรู้ในเด็กแต่ละวัย’ และ ‘ข้อจำกัดที่เด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน’ เพื่อช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้และเติบโตต่อไปได้อย่างที่เขาควรจะเป็น
ในวันที่วัยรุ่นรู้สึกว่า “ตัวเขาไม่ดีพอ”
สิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถให้ความช่วยเหลือกับวัยรุ่นได้ บางครั้งสิ่งที่ลูก (วัยรุ่น) ต้องการจากพ่อแม่มากที่สุด คือ การรับฟัง เพราะการรับฟังที่ดี จะนำไปสู่ ‘ความเข้าใจ’ และ ‘การยอมรับ’ ทั้งต่อตัวเองและพ่อแม่ที่มีต่อตัวเขา
“การฟังที่ดี” เริ่มต้นจาก…
(1) อยู่ตรงนั้นเพื่อเขา (Be present) วางทุกอย่างลง สายตามองที่เขา และเปิดรับสิ่งที่เขากำลังพูด
(2) ฟังสิ่งสำคัญ หรือ สิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะบอก ไม่แทรกแซงด้วยการบ่น ตำหนิ ต่อว่า ระหว่างที่อีกฝ่ายพูด
(3) ฟังให้ได้ยินเสียงพูด และเสียงความรู้สึกที่ซ่อนอยู่
(4) ฟังด้วยหัวใจ และร่างกาย ได้แก่ สีหน้า ท่าทาง อารมณ์ที่แสดงออกล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้อีกฝ่ายสบายใจที่พูดหรือไม่พูดออกมา
(5) ฟังด้วยใจเป็นกลาง ไม่คิดแทน ไม่ตัดสินอีกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่เราควรฟังให้จบ โดยไม่พูดแทรก
(6) ฟังเพราะอยากเข้าใจในมุมของอีกฝ่าย
(7) ฟังโดยไม่ต้องคิดว่า เราจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ไหม เพราะสิ่งสำคัญของการฟัง คือ “การฟัง” อย่างเคียงข้าง ไม่ใช่การสอนสั่ง หรือการตัดสิน
บางครั้งพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่ลูกพูด หรือ ต้องมีคำตอบให้กับทุกปัญหาของลูก เพราะสิ่งที่ลูกต้องการจากเราอาจจะเป็นเพียง ‘การรับฟัง’ และ ‘การยอมรับ’ เท่านั้นเอง
สุดท้าย หากวัยรุ่นรู้สึกว่า ‘เขาต้องการความช่วยเหลือ’ การไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา คือ ทางเลือกที่พ่อแม่ควรแนะนำให้กับลูกได้ เพราะบางครั้งการพูดคุยกับพ่อแม่ในเรื่องบางเรื่อง อาจจะทำให้วัยรุ่นรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ พ่อแม่อย่าเพิ่งน้อยใจว่า ทำไมลูกไม่กล้าปรึกษาเรา เพราะวัยรุ่นหลายคนกลัวว่า ถ้าเขาพูดเรื่องนั้นออกไปแล้ว พ่อแม่จะเสียใจ หรือผิดหวังในตัวเขาหรือเปล่า ดังนั้นการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อาจจะเป็นทางเลือกที่เขาสบายใจกว่าเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าเขารักหรือเคารพพ่อแม่น้อยลงแต่อย่างใด
แม้โลกจะดูสิ้นหวัง และตัวเขากำลังจะหมดหวังกับตัวเอง ถ้าพ่อแม่ยังคงยืนหยัดเคียงข้างและเชื่อมั่นในตัวลูก ความหวังที่เรามอบให้กับเขาสามารถจุดประกายความหวังให้กับลูกได้อีกครั้งหนึ่ง ขอเพียงพ่อแม่อย่าหมดหวังในตัวลูก