Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Family Psychology
29 March 2019

6 หัวใจสำคัญ ของการใช้จิตวิทยาเชิงบวกปรับพฤติกรรมลูก

เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • รวมคำอธิบายไทยและเทศอย่างละเอียดว่าทำไมการเลี้ยงลูกถึงต้องใช้จิตวิทยาเชิงบวก
  • เพราะจิตวิทยาเชิงบวกเป็นหลักการที่ทำความเข้าใจกับสมองของมนุษย์ และปัจจัยต่างๆ อย่างบุคคลแวดล้อม ความสัมพันธ์ โดยเฉพาะกับการเลี้ยงเด็ก จิตวิทยาเชิงบวก จะเป็นไปตามพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย
  • พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่อยากปรับพฤติกรรมลูก บทความชิ้นนี้มี 6 วิธีเชิงบวกมาแนะนำ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเลี้ยงลูกด้วยจิตวิทยาเชิงบวกได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่อยากนำมาปรับใช้ในการเลี้ยงลูกกันมากขึ้น กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก รวมไปถึงเพจว่าด้วยการเลี้ยงลูกและหนังสือสำหรับพ่อแม่หลายต่อหลายเล่มต่างแนะนำว่า จิตวิทยาเชิงบวกคือหนทางที่ไม่เพียงสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและลูกอย่างได้ผล แนวทางนี้ยังมีงานวิจัยและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเหตุเป็นผลอธิบายการแสดงออกทางพฤติกรรมและวิธีปรับพฤติกรรมของลูกซึ่งพ่อแม่สามารถปฏิบัติได้จริง

จิตวิทยาเชิงบวกคืออะไร

การเลี้ยงลูกเชิงบวกนั้นตั้งอยู่บนหลักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ซึ่งพัฒนามาจากจิตวิทยากระแสหลักโดย ศาสตราจารย์ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology Center) และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา จิตวิทยาดั้งเดิมนั้นเน้นเฉพาะอาการปัญหาของโรคกับวิธีรักษาเป็นหลัก ในขณะที่จิตวิทยาเชิงบวกแตกออกมาด้วยจุดประสงค์ที่จะนำหลักการอันเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ และการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมาพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้เป็นคนดีและมีความสุข โดยโฟกัสไปที่จุดแข็งของบุคคลและปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพล เช่น พ่อแม่ เพื่อน ครู ชุมชนหรือสังคม ความสัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมเหล่านั้นจะส่งผลต่อความสุข การมองโลกในแง่บวก การปรับตัวยืดหยุ่น ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น

ในขั้นแรก คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจแนวทางนี้ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ‘เด็กไม่ใช่ผ้าขาว’ แต่คือผ้าที่จะเป็นสีอะไรก็ได้ เพราะพวกเขาแต่ละคนมีจุดอ่อน จุดแข็ง ความชอบ ลักษณะนิสัยความถนัดแตกต่างกัน จุดหมายของแนวทางนี้ไม่เพียงเพื่อสนับสนุนความถนัด ขับจุดเด่น หรือด้านดีของเขาให้สว่างไหวกลายเป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกจะเป็นไปอย่างผาสุก สุขภาวะทางกายใจของเขาบริบูรณ์ตามไปด้วย

เมื่อเข้าใจหลักการนี้ พ่อแม่จะไม่ยึดเอาความต้องการของตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เปรียบเทียบความสามารถลูกเรากับเพื่อนๆ ของเขา แต่จะอยู่เคียงข้างสนับสนุนให้เขาหาจุดแข็งของตนเองด้วยความเข้าใจ และมองเห็นว่าชีวิตในแต่ละช่วงมีความหมายอย่างไร และต้องการเติมเต็มในด้านไหน นี่คือแนวทางของจิตวิทยาเชิงบวกซึ่งเชื่อว่าเมื่อส่งเสริมความถนัด และบ่มเพาะพัฒนาการทางจิตใจและอารมณ์ลูกให้ดี นิสัยใจคอและพฤติกรรมก็จะเจริญงอกงามในทางบวกเช่นกัน

ทำความเข้าใจที่มาของพฤติกรรมป่วนผ่านมุมมองของสมอง ฮอร์โมน และสิ่งแวดล้อม

รศ.นพ.สุริยเดล ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น แนะนำว่า การเลี้ยงลูกตามแนวทางนี้ พัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัยและอิทธิพลที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางความคิดของพวกเขาคือสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้และเข้าใจ

ประการแรก: พัฒนาการที่ดีของลูกตั้งต้นจากสมองและปัจจัยส่งเสริมเชิงบวก

สมองของคนเราแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ สมองส่วนคิด สมองส่วนอารมณ์ และสมองส่วนสัญชาตญาณ สมองส่วนอารมณ์มีพลังมากที่สุดและทำงานร่วมกันกับสมองส่วนสัญชาตญาณเชิงอัตโนมัติเพื่อให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย เช่น ทารกเมื่อหิว กลัว หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยก็ร้องไห้ สมองส่วนอารมณ์จึงเปรียบเสมือน ‘คันเร่ง’ ในรถที่กระตุ้นให้เราเกิดความอยาก อยากได้ อยากกิน อยากครอบครองข้าวของ ในขณะที่สมองส่วนคิดเป็นส่วนที่พิเศษสุดเพราะมีในมนุษย์เท่านั้น สมองส่วนนี้พัฒนาและฝึกฝนได้ ทำหน้าที่คอยยับยั้งชั่งใจ เปรียบเสมือน ‘เบรก’ ชะลอความเร็วหรือหยุดเมื่อคันเร่งกำลังผลักให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

การพัฒนาสมองส่วนความคิดนี้ให้งอกงามต้องอาศัยทฤษฎีนิเวศวิทยา (Ecological Theory) ของยูรี บรอนเฟนเบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner) ควบคู่ไปด้วย บรอนเฟนเบรนเนอร์เป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอเมริกันซึ่งเชื่อว่าพัฒนาการเด็กขึ้นอยู่กับบริบทที่ก่อขึ้นเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัว หมายความว่า ลูกจะเป็นเด็กดีมีคุณภาพได้ สภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตต้องเอื้อให้เขาได้พัฒนาความคิด จริยธรรม และกล่อมเกลาพฤติกรรมให้เขารู้และทำสิ่งที่ถูกที่ควร

องค์ประกอบของระบบนิเวศที่จะไปกระตุ้นพัฒนาการที่ดีของลูกมีดังนี้

1. บ้าน – บรรยากาศในครอบครัวอบอุ่นเป็นมิตรกับลูก ลูกพูดคุยกับพ่อแม่ได้โดยไม่ต้องกลัว พ่อแม่ไม่เอาแต่สั่ง พอไม่ทำหรือผิดพลาดก็เฆี่ยนตี ลิดรอนความคิดเห็นและการแสดงออกของลูก รวมถึงบรรยากาศที่พ่อแม่และบุคคลในครอบครัวปฏิบัติต่อกัน

2. โรงเรียน – ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิด ออกความเห็น เป็นตัวของตัวเอง ฝึกความกล้าหาญและรับผิดชอบในการตัดสินใจ ไม่ยัดเยียดกฎระเบียบให้เอาแต่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือสร้างบรรยากาศของการแข่งขันและกดดัน

3. เพื่อน – เพื่อนที่เขาคบเป็นอย่างไร

4. ชุมชน – ความเป็นอยู่ ผู้คนที่ครอบครัวคบหาสนิทสนม ค่านิยมที่บ้านหรือสังคม ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีที่ชุมชนยึดถือล้วนหล่อหลอมความคิด บุคลิกภาพ และการมองโลกของเขาในทางใดทางหนึ่ง

5. สภาวการณ์แวดล้อมอื่นๆ – เช่น การใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย สื่อต่างๆ เกม ดนตรี ภาพยนตร์

เหล่านี้เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลกับพัฒนาการสมองส่วนคิดทั้งสิ้น ลูกที่เติบโตในระบบนิเวศที่อบอุ่น ได้รับการเอาใจใส่ที่เหมาะสม พัฒนาการสมองส่วนคิดก็จะแข็งแรง เวลาสมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณกระตุ้นให้ทำบางสิ่งที่จะไปทำร้ายคนอื่น สมองส่วนคิดที่มีภูมิคุ้มกันนี้จะทำหน้าที่ยับยั้งสิ่งเหล่านั้นได้

ประการที่สอง: ฮอร์โมนมีผลกับพฤติกรรมของลูก

ลูกที่กำลังก้าวสู่วัยรุ่นจะกลายร่างจากเด็กที่เคยว่านอนสอนง่ายเป็นปีศาจตัวร้ายประจำบ้านทันที ลูกอารมณ์ร้อนและงี่เง่า เป็นเรื่องธรรมดาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และเอสโตรเจนที่หลั่งในช่วงวัยนี้แล้วไปสปาร์คสมองส่วนอารมณ์ให้รุนแรงปรู๊ดปร๊าดขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า วัยรุ่นจึงเหมือนระเบิดถอดสลักที่พร้อมจะตูมตามได้ตลอดเวลา พวกเขาจะกล้าได้กล้าเสียกับสิ่งสุ่มเสี่ยงอันตราย และใช้อารมณ์กับทุกเรื่อง จุดต่างสำคัญในช่วงนี้จึงอยู่ที่สมองส่วนคิดของพวกเขาว่ามีเบรกติดตั้งไว้หรือไม่ ถ้าสมองส่วนคิดของพวกเขาถูกฟูมฟักขัดเกลามาในระบบนิเวศที่ดี สมองส่วนนี้จะมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะกระตุกให้เขาหยุดในจุดที่ควรหยุด

นอกจากฮอร์โมนทั้งสองแล้ว ยังมีฮอร์โมนอีกตัวชื่อ ออกซิโทซิน หรือเรียกเก๋ๆ ว่า ฮอร์โมนรัก ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สาเหตุที่ถูกเรียกว่าฮอร์โมนรักก็เพราะสมองจะหลั่งออกมาเวลารู้สึกอยู่ในห้วงรัก เช่น ตอนออกเดทอย่างหวานแหววกับแฟน หรือขณะแสดงความรักความห่วงใยกันระหว่างพ่อแม่ลูก

ดร.ซาราห์ บารัคซ์ (Sarah Baracz) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยา (Neuropsychology) แห่งมหาวิทยาลัย Macquarie ร่วมกับนักวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรม ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบการทำงานของฮอร์โมนตัวนี้กับพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดในวัยรุ่น พบว่า เด็กที่ได้รับการการเลี้ยงดูอย่างอบอุ่นจากพ่อแม่มีการหลั่งออกซิโทซินในระดับปกติ ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของระบบสมองส่วนคิด ผลคือ เด็กมีความยั้งคิดและหักห้ามตนเองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางได้ดีกว่า ในขณะที่เด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่กดดัน เคร่งเครียด หรือหวาดกลัว มีการถดถอยของระดับการหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ เด็กจะค่อยๆ เข้าสู่ภาวะบกพร่องในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มหันไปพึ่งยาเสพติดและเกิดภาวะบกพร่องทางจิตใจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น วิตกจริต ควบคุมอารมณ์ไม่ได้

6 หลักการใช้จิตวิทยาเชิงบวกปรับพฤติกรรมลูก

แก้ไขยังไงดี ถ้าลูกดื้อและต่อต้าน

ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องตีให้แตกเสียก่อนว่า เด็กดื้อสำหรับพ่อแม่เป็นอย่างไร และขนาดไหนเรียกว่าเป็นปัญหา เด็กดื้อในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เด็กที่ไม่ทำตามคำสั่งเมื่อพ่อแม่บังคับให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาไม่ชอบ ต้องเก่งในสิ่งที่เขาไม่ถนัด ห้ามไม่ให้ทำในสิ่งที่เขาชอบแล้วเขาต่อต้านฟูมฟาย หรือมีปัญหาเพราะสอบได้ที่โหล่ของห้อง เอาแต่เล่นฟิกเกอร์ ต่อโมเดล สนใจกีตาร์ อ่านการ์ตูนมากกว่าหนังสือสอบ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาที่เรากำลังพูดถึงคือเด็กจัดการอารมณ์ของตนเองไม่ได้ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงกับกับทั้งพ่อแม่หรือคนอื่น ไม่สามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจเกินกว่าจะรับได้ในวัยว้าวุ่น

ดร.เดวิด เจ ฮอว์ส (Dr. David J Hawes) ผู้อำนวยการคลินิกวิจัยพฤติกรรมเด็กแห่งศูนย์พัฒนาสมองและจิตใจ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ และจิตแพทย์เฉพาะทางด้านปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมในเด็ก อธิบายถึงลักษณะของพฤติกรรมเชิงลบที่เข้าข่ายว่าเป็นปัญหา เช่น เกรี้ยวกราด (tantrums) ก้าวร้าว (aggression) และต่อต้าน (defiance) ไว้ดังนี้

1. ลูกแสดงพฤติกรรมลบเป็นประจำจนแทรกแซงความผาสุกของทุกคนในครอบครัว ถึงระดับที่ไม่อาจพูดคุยกันได้พร้อมหน้าหรือต้องงดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

2. เมื่อพฤติกรรมลบของลูกกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวรุนแรง กระทบความสัมพันธ์ของพ่อแม่ หรือพี่น้องต้องมีปัญหาไปด้วย

3. เมื่อพฤติกรรมลบของลูกสร้างบาดแผลทางความรู้สึกอย่างใหญ่หลวง เกินกว่าจะรับมือด้วยวิธีที่ใช้เป็นปกติ

4. เมื่อลูกใช้พฤติกรรมลบยั่วยุให้ของพ่อแม่โมโหถึงขีดสุด เพื่อให้ลงโทษตัวเองหรือสร้างความเจ็บปวดทางใจ

เมื่อมาถึงจุดนี้ ได้เวลาที่พ่อแม่ต้องเยียวยาแก้ไขเขาแล้ว หนทางรักษาด้วยแนวทางจิตวิทยาเชิงบวกอาจเป็นยาขนานเอกที่พ่อแม่สามารถถอนพิษให้ลูกฟื้นจากความป่วยไข้ทางใจ

หลักสำคัญอันเป็นเสมือนยาครอบจักรวาลที่พ่อแม่ต้องมีไว้ประจำบ้านเสมอ คือ

1. ความอบอุ่นปลอดภัย และไว้วางใจระหว่างกัน ข้อนี้สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง วิธีคิด และคุณค่าความดีงามจะงอกงามขึ้นในใจเขาได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าลูกได้รับความรัก ความเอาใจใส่เพียงพอหรือไม่ ความรู้สึกปลอดภัย มีคุณค่าในตัวเองจะเกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่เปิดใจยอมรับในความชอบ ความต้องการของเขาด้วยความเข้าใจ อย่าทำให้บ้านเป็นที่ที่อยู่แล้วรู้สึกกดดัน หวาดกลัว

2. ค้นหาและโฟกัสที่จุดแข็งหรือด้านดีของลูกเป็นหลัก ให้พื้นที่กับด้านสว่างของเขาเป็นคำชมและกำลังใจในสิ่งที่เขาทำดี (positive reinforcement) ผศ.ดร.อุษณี โพธิสุข ผู้เขียนหนังสือ ‘เมื่อลูกรักมีปัญหา’ แนะนำวิธีเสริมจุดแข็งของลูกจากประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กที่มีปัญหาระดับรุนแรงในโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มนี้และเป็นที่ปรึกษาให้พ่อแม่ผู้ปกครองมากว่า 20 ปี ไว้ดังนี้

  • เอ่ยขอบคุณเมื่อลูกช่วยงานบ้านหรือมีวินัยความเรียบร้อย ให้เขาเห็นคุณค่าความดีงามและรู้สึกบวกที่จะมีวินัยติดตัวไปในภายหน้า

“ขอบคุณมากจ้ะที่มีน้ำใจช่วยเก็บผ้าให้แม่”

“โอ้โห ลูกพับผ้าห่มเก็บเตียงซะเรียบร้อย เป็นเรื่องดีมากเลย แม่ชื่นใจจัง”

  • ให้รางวัลที่เขาชอบ อาจเป็นของโปรดหรือกิจกรรมที่เด็กสนใจ

“วันนี้ลูกน่ารักมาก ช่วยพ่อขนต้นไม้แล้วยังช่วยรดน้ำแปลงผักอีก เดี๋ยวเสร็จแล้วเราไปกินไอติมอร่อยๆ กันนะ”

“เดี๋ยวถ้าหนูทำการบ้านเสร็จแล้วเราค่อยไปเล่นแบดกัน”

  • กระตุ้นให้เขาลองลงมือทำในสิ่งที่ไม่มั่นใจ

“ถ้าอยากลงแข่งเต้น ก็เอาเลยลูก ไม่ลองไม่รู้นะ”

  • กระตุ้นให้เขาเรียนรู้ ทำในสิ่งที่ทำไม่เป็น และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

“เย็บผ้าไม่ใช่เรื่องง่าย หนูลองทำตามที่เขาสอนในยูทูบดูสิ ทำเองหนูก็จะเก่งเองนะ”

  • ปลอบโยนเมื่อผิดพลาดและให้กำลังใจ

“ไม่เป็นไร ผิดเป็นครู พ่อเข้าใจว่าลูกท้อใจและชื่นชมในความพยายามของลูกมากเลยนะ”

ตรงข้ามกับการเสริมจุดแข็ง พ่อแม่ที่ใช้วิธีลงโทษ (punishment) ดุด่า บังคับ ยื่นข้อห้ามเด็ดขาดไม่ให้ทำสิ่งที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย (negative reinforcement) หรือลิดรอนสิทธิบางอย่างที่เขาเคยได้ (extinction) เช่นยึดโน้ตบุ๊ค ในการรับมือพฤติกรรมไม่ได้อย่างใจของลูกโดยปราศจากการรับฟังปัญหาอย่างเข้าใจ ธรรมชาติการปกป้องตนเองของเขาจะตื่นตัวทันที พวกเขาจะทำสิ่งที่สวนทาง โกหกแอบทำโดยพ่อแม่ไม่รู้ หรือไม่ก็อาจระเบิดการต่อต้านและปิดกั้นตัวเองรุนแรงขึ้น

3. การสื่อสารในบ้านระหว่างพ่อแม่กับลูกต้องอยู่บนความเข้าใจและเมตตาธรรม ดร.โธมัส กอร์ดอน (Thomas Gordon) ผู้เขียนหนังสือ ‘P.E.T. Parenting Effective Training’ และเปิดคอร์สอบรม ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ ในสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น เสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นจากการลดช่องว่างระหว่างวัย และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างครอบครัว ชี้ว่ากุญแจที่จะไขประตูใจของลูกให้เปิดออกได้คือ การสื่อสารที่แสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับและให้ความสำคัญกับปัญหาของเขา

  • ท่าทีที่แสดงออกถึงการยอมรับ เช่น พยักหน้าและสบตาระหว่างรับฟัง หรือ นิ่งฟังอย่างตั้งใจไม่ทำอย่างอื่นไปด้วย
  • คำพูดกระตุ้นหรือตอบสนองให้ลูกเล่าความคิด การตัดสินใจ แผนการ หรือความรู้สึก เช่น “อยากรู้ว่าลูกคิดยังไงตอนเพื่อนสารภาพกับหนูแบบนั้น” “ยังไงอีก เล่าต่อสิ พ่อกำลังฟัง” หรือ “ฟังเหมือนการประกวดเต้นนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับหนูมากเลย ไหน…เล่าให้ฟังหน่อยสิจ๊ะ”
  • รับฟังอย่างเข้าใจ ต้องมีคุณภาพและในเวลาที่เหมาะสมด้วย คือฟังเมื่อลูกพร้อมจะเล่าและเราพร้อมจะฟัง ไม่มีเวลาก็ต้องบอกตามตรง แล้วหาเวลาคุยกันใหม่ ขณะฟังให้ตัดความคิดการตัดสิน การวิจารณ์ คำเทศนา สั่งสอน คำแนะนำต่างๆ ไว้ก่อน แค่รับฟังจากมุมมองความรู้สึกของเขาจนจบ ให้เขาเห็นว่า เราไว้วางใจและยอมรับความรู้สึกของเขาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ถูกผิดไม่สำคัญ กระตุ้นให้เขาคิดแก้ไข ตัดสินใจด้วยตนเองดูก่อน

ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถศึกษาหลักการสื่อสารเพื่อยุติความขัดแย้ง หรือที่เรียกว่า การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) เพิ่มเติมได้

4. สอนการควบคุมอารมณ์ (self-control) แต่ก่อนจะสอนลูกไม่ให้ใช้อารมณ์เหวี่ยงวีน พ่อแม่ต้องย้อนดูที่ตนเองก่อน เวลาโมโห ใช้อารมณ์คุยกับลูก แดกดัน ประชดประชันเสียดสีรึเปล่า หรือพ่อแม่บางคนเลือกที่จะเก็บซ่อนความโกรธ โมโหหรืออารมณ์ด้านลบทุกอย่างไม่ให้ลูกเห็นเลย เดินหนีทุกครั้งที่ตนหงุดหงิดหรือตอนลูกระเบิดอารมณ์

จอห์น แลมบี (John Lambie) อาจารย์สอนจิตวิทยามหาวิทยาลัย Anglia Ruskin สหราชอาณาจักร บอกว่าโลกแห่งความจริงหนึ่งที่ลูกต้องเรียนรู้คือ พวกเขามีโอกาสพบเจอคนที่กำลังหัวร้อน หรือตกอยู่ในอารมณ์เดือดพล่านเองได้เสมอ พ่อแม่ต้องดึงสติกับอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นและใช้โอกาสนี้แสดงวิธีการจัดการอารมณ์ให้พวกเขาดูเป็นตัวอย่าง

แลมบีเล่าว่า แม้แต่เด็กที่เพิ่งเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ก็สามารถเข้าใจการแสดงออกทางอารมณ์ของแม่ตนเองได้ ในการทดลองที่ให้แม่แสดงสีหน้านิ่งเฉย ไม่พูด ไม่ตอบสนอง เด็กน้อยสามารถสัมผัสความมาคุในบรรยากาศได้และรู้สึกเครียดจนต้องร้องไห้ออกมา

ดังนั้น การที่พ่อแม่จะปิดกั้นอารมณ์ด้านลบด้วยการทำเฉย วางหน้านิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือเดินหนีลูกไปด้วยสีหน้าถมึงทึง ลูกจะสัมผัสได้ทันที การที่พ่อแม่ไม่แชร์อารมณ์เหล่านั้นทำให้เขารู้สึกไม่มีค่าและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ดังนั้นทางที่ดีที่สุดเมื่อรู้ว่าตนเองกำลังโมโหหรือเหนื่อยล้า สิ่งที่ควรทำคือ บอกความรู้สึกของตัวเองกับลูกไปตามตรงโดยไม่ใส่อารมณ์ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกเหนื่อย เครียด เพราะอะไร และจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร เช่น

“ตอนนี้แม่อารมณ์บ่จอยมากๆ เลย ยังไม่มีสมาธิคุยเท่าไหร่ ที่ทำงานแม่มีเรื่องวุ่นวายยังไกล่เกลี่ยไม่ได้เลย แม่ขออยู่ในห้องทำงาน โทรปรึกษากับ ผอ. สักชั่วโมงหนึ่งนะจ๊ะ เย็นนี้เราค่อยคุยกันหลังกินข้าวนะ”

“พ่อกำลังโมโหนะ เพิ่งรู้ว่าลูกไปบ้านป้าโดยไม่บอกก่อน บ้านเขาอยู่ไกลแล้วทางเข้าก็เปลี่ยวมาก พ่อเป็นห่วง เราจะคุยกันเรื่องนี้อีกทีหลังกินข้าว พ่ออยากฟังเหตุผลลูกตอนอารมณ์เย็นกว่านี้”

5. พ่อแม่ต้องตกลงเรื่องวินัยและกติกาในบ้านให้ไปทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่พ่อรับฟังและใช้ความเข้าใจ ให้อิสระในการคิด แต่แม่ไม่ยืดหยุ่นเข้มงวดทุกกระเบียด นอกจากลูกจะเกิดความสับสน เกิดการเลือกข้างและปิดกั้นแม่

6. คำนึงเสมอว่า ‘เด็กคือผ้าหลากสี’ อย่าเปรียบลูกของเรากับลูกของคนอื่น อย่ามองว่าเขาดีกว่าหรือด้อยกว่าพี่ หรือเพื่อนในชั้น พยายามทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ ความถนัดไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนเหมือนสีคนละสี เฉดเข้มอ่อนคละกันไป บางคนว่านอนสอนง่าย ในขณะที่บางคนซน มีพลังล้นเหลือ พ่อแม่ต้องยืดหยุ่นปรับวิธีเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับเขา

การเลี้ยงลูกเหมือนการฟูมฟักเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตขึ้นด้วยการเอาใจใส่ รดน้ำเพิ่มใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช และหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับชนิดของเขา ต้นไม้บางต้นต้องปลูกลงกระถางชอบที่ร่ม ไม่ชอบแสงแดด บางต้นปลูกกลางแจ้งลงดิน พ่อแม่ต้องปรับกลยุทธ์ ยืดหยุ่นกันตามแต่ว่าเขามีจุดเด่นแบบไหน สถานการณ์เป็นอย่างไร ขอให้พ่อแม่ทุกคนวางใจเป็นกลางว่า ไม่มีวิธีเลี้ยงลูกวิธีไหนที่ดีที่สุด และไม่มีใครเลี้ยงลูกได้สมบูรณ์แบบที่สุด ความรู้และแนวทางการเลี้ยงลูกต่างๆ เป็นเครื่องมือเสริมหนึ่งที่พ่อแม่สามารถปรับใช้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ความรักความอบอุ่น ความเข้าใจ และสายใยในครอบครัวก็คือปัจจัยยืนหนึ่งที่ต้องมั่นคงเสียก่อน แสดงต้นแบบของคนมีวุติภาวะทางอารมณ์และจิตใจที่เป็นตัวอย่างให้เขาเห็น ลูกก็จะเติบโตขึ้นด้วยการมองโลกในแง่บวกและมีวุฒิภาวะทางอารมณ์จิตใจที่แข็งแรงตามไปด้วย

อ้างอิง:
Baracz, S., & Buisman-Pijlman, F. (2017, October 17). How childhood trauma changes our hormones, and thus our mental health into adulthood. Retrieved from The Conversation:https://theconversation.com/how-childhood-trauma-changes-our-hormones-and-thus-our-mental-health-into-adulthood-84689

Gordon, T. (1975). P.E.T. Parent Effectiveness Training : The Tested New Way to Raise Responsible Children. New York: New American Library.

Lambie, J. (2018, October 11). Should you hide negative emotions from children? Retrieved from The Conversation: https://theconversation.com/should-you-hide-negative-emotions-from-children-104710
โพธิสุข, อ. (2542). เมื่อลูกรักมีปัญหา. กรุงเทพมหานคร: Mother’s Digest.
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี: จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology ในการเลี้ยงดูเด็ก. (2016, September 3). Retrieved from Youtube: https://www.youtube.com/watch?v=_K3u0_oH9_U

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)วินัยเชิงบวกพัฒนาการทางอารมณ์พัฒนาการพ่อแม่

Author:

illustrator

บุญชนก ธรรมวงศา

จบภาษาและการสื่อสาร เคยผ่านงานบริษัทออแกไนซ์ เปิดคลินิก ไปจนเป็นเลขาซีอีโอ หลังค้นพบและติดใจโลกนอกระบบตอกบัตร จึงแปลงร่างเป็นนักเขียน นักแปลและนักพยากรณ์ไพ่ ขี้โวยวายเป็นนิสัยที่อยากแก้ไขแต่ทำยังไงก็ไม่หาย ปัจจุบันกำลังเข้าใกล้ Midlife Crisis และหวังจะข้ามผ่านได้ด้วยวิถี “ช่างแม่ง”

Related Posts

  • Learning Theory
    พลังเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่ปรากฎใน DNA ของเด็กทุกคน

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Family Psychology
    5 คำขู่ผิดๆ ของพ่อแม่ที่ทำให้เด็กโตมาไม่กล้าและขี้กลัว

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Early childhood
    KIND BUT FIRM พ่อแม่ไม่ต้องดุด่าแต่ว่า ‘เอาจริง’

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • Character building
    ปั้น ‘คาแรคเตอร์’ ที่ดีให้เด็ก: โรงเรียน พ่อแม่ ชุมชน ต้องร่วมมือกัน

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Early childhood
    ปล่อยให้ลูก โกรธ เศร้า เหงา กลัว เขาจะได้เติบโตทั้งตัวและหัวใจ

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel