- Design Thinking ออกแบบชีวิตที่มีมากกว่าหนึ่งทางเลือกได้ด้วยการเข้าใจตัวเอง ฟุ้งเยอะๆ แล้วก็หาวิธีทดลอง
- Design Thinking เป็นหนึ่งวิธีที่จะทำให้วัยรุ่นรู้จักตัวเอง แล้วจะค้นพบว่าสิ่งที่ตัวเองชอบ และอยากเป็นคืออะไร
- ทางเลือกชีวิตมีให้เลือกเยอะ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำอาชีพเดียวไปตลอดชีวิต Design Thinking จะทำให้เรามองเห็นทางเดินใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้
ภาพ: สำนักพิมพ์ Bookscape
เด็กๆ โตขึ้นอยากเป็นอะไร? คุณครูมักจะมาพร้อมคำถามนี้ สปีดในการยกมือ (และแย่ง) ตอบก็จะลดลงไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น หลายคนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังหาคำตอบข้อนี้ให้ตัวเองไม่ได้
เราต้องการอะไร หรือ เราอยากทำอะไร … ถามง่ายแต่ตอบยากเสมอๆ
คำถามดังกล่าว คือ หัวใจสำคัญของงาน Book Talk ‘ออกแบบชีวิตและธุรกิจด้วย Design Thinking’ จัดโดยสำนักพิมพ์ Bookscape ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมพูดคุยโดย รวิศ หาญอุตสาหะ CEO บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เจ้าของเพจ Mission To The Moon, เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล CEO บริษัท ลูกคิด (Lukkid) จำกัด ผู้แปลหนังสือ Designing Your Life (Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life) และ นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve แนะแนว ‘อาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ’ สำหรับเด็กไทย
สปอยล์ไว้ตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า ประสบการณ์ของทั้งสามคนจะทำให้รู้ว่าชีวิตไม่ได้มีเพียงทางเลือกเดียว ด้วยสามวิธีง่ายๆ คือ 1.เข้าใจตัวเอง 2.ฟุ้งเยอะๆ และ 3.หาวิธีทดลอง แล้วก็จะรู้ว่าชีวิตเราเป็นอะไรได้อีกมากมาย
Design Thinking คืออะไร
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล อธิบายว่า นานมาแล้ว Design Thinking อยู่ในหมวดวิชาของสถาปนิก เรื่องของการออกแบบสินค้าใหม่ๆ มหาวิทยาลัย Stanford ตั้งโรงเรียนหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Stanford d.school (d ย่อมาจาก design) เน้นการนำกระบวนการนี้มาคิดผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการใหม่ๆ ให้กับองค์กรต่างๆ
“หลักการคือถ้าเราจะคิดอะไรใหม่ๆ ให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ จะเริ่มจากคิดเองในบ้านไม่ได้ เพราะบางอย่างเราคิดเองว่าลูกค้าอยากได้ แต่จริงๆ ลูกค้าอาจไม่ได้อยากได้แบบนั้น หลักการของมันคือ ลูกค้าอยากได้อะไร ตื่นนอนมาเขาฝันถึงอะไร ฝันร้ายของเขาคืออะไร แล้วเก็บข้อมูลเหล่านี้ว่าจริงๆ มันเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการอะไรที่จะตอบโจทย์ให้เขาได้บ้าง”
บิลล์ เบอร์เนตต์ กับ เดฟ อีวานส์ อาจารย์ของเมษ์และผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีความคิดว่า แทนที่จะทำความเข้าใจลูกค้า แต่เราได้ลองทำความเข้าใจตัวเอง เราอาจเข้าใจมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร
ฮาวทู ออกแบบความคิด
Design Thinking มีสามขั้นตอนสำคัญ
ขั้นแรกคือ รู้จักตัวเอง การแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม โดยเฉพาะปัญหาโลกแตกอย่าง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี, อยากเป็นอะไร, ฉันเรียนในสาขาวิชาที่ตัวเองชอบจริงหรือเปล่า หรือ ฉันจะเกษียณแล้วจะทำอะไรต่อ
“ให้ทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่าจริงๆ แล้วความสุขของชีวิตเราคืออะไร แต่ละวันเราหมดพลังไปกับอะไร อะไรคือสิ่งที่ทำไปแค่ไหนก็ไม่รู้สึกว่าเวลาผ่านไป เราเอนจอยกับมันมาก ถ้าเราตระหนักรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร นั่นคือรู้จักตัวเอง” เมษ์อธิบาย
สอง ฟุ้งให้สุด เมื่อเรารู้ตัวเอง มันก็ดึงเราไปต่อว่า เราฟุ้ง เราคิดอะไรได้บ้างว่าสิ่งที่เป็นทางเลือกให้เราคืออะไรบ้าง คนส่วนใหญ่ไม่มีความสุขกับชีวิตเพราะคิดว่าชีวิตเรามีทางเลือกเดียว
“ฉันโตมาต้องเป็นหมออย่างเดียวถึงจะแฮปปี้ หรือฉันต้องทำบริษัทนี้เท่านั้นถึงจะมีความสุข เพราะเราไปฟิกซ์เองว่ามันเป็นทางเลือกเดียว
Design Thinking ให้เราฟุ้งให้เต็มที่ได้เลยว่าถ้าไม่มีขอบเขต ข้อจำกัดมันเป็นอะไรได้บ้าง แล้วถ้าเราไม่มีข้อจำกัดในการคิด option ให้กับชีวิต มันอาจจะเป็นได้เยอะแยะที่เหมาะกับชีวิตเราเหมือนกัน” วิธีฟุ้งจากเมษ์
รวิศ หาญอุตสาหะ เสริมว่า เวลาหาไอเดียใหม่ ให้ลองเอา ‘ปริมาณ’ มาก่อน ‘คุณภาพ’ ดูบ้าง
“แต่ก่อนเราจะได้ยินคำว่า quality (คุณภาพ) ก่อนเสมอเวลาเราจะเลือกไอเดียที่ดี อันนี้เหมือนจะจำกัดความคิด อยากให้เอา quantity หรือปริมาณมาก่อนบ้าง เพราะว่าไอเดียที่ฟังดูบ้าๆ บอๆ จะถูกตัดทิ้งตั้งแต่มันยังไม่ถูกเขียนในโพสต์อิทด้วยซ้ำ ถ้าเราคิดแบบเกิน คิดอะไรได้ก็แปะไว้ก่อนพรุ่งนี้บางทีมันอาจจะเวิร์ค”
และสาม ลงมือทำ เมื่อฟุ้งเสร็จมันไม่ได้อยู่แค่นั้น เราซึ่งก็คือคนฟุ้งเอง ทำอะไรมากกว่านี้ได้ไหม
“ทั้งหมดเพื่อที่จะรู้ว่าที่เราคิด ที่เราทำมันมาถูกทางหรือเปล่า อยากเป็นเชฟมิชลิน ลองเข้าครัวก่อนไหมว่าอยากเป็นจริงๆ หรือเปล่า อยากเป็นหมอ ลองไปฝึกงานที่โรงพยาบาล เห็นเลือดแล้วเป็นลม ก็รู้แล้วว่าไม่ใช่ ต้องมีการทดลองเล็กๆ เพื่อที่จะรู้ว่าใช่หรือเปล่า”
เมษ์สรุปสั้นๆ ว่า Design Thinking คือเข้าใจ ฟุ้งเยอะๆ จากนั้นหาวิธีทดลอง แล้วดูว่ามันใช่วิธีที่เราต้องการหรือเปล่า
Design Thinking กับการค้นหาตัวตนของวัยรุ่น
หลายคนเรียนมาจนสุดเพดานการศึกษา แต่พบว่ายังไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิต
แล้ว Design Thinking จะเข้ามาช่วยได้อย่างไร?
ในฐานะที่คลุกคลีและทำงานกับเด็กมาตลอด นรินทร์จาก a-chieve บอกว่า เด็กมีหลายระดับ ตั้งแต่ เด็กที่ไม่มีทางเลือกเลย เด็กที่มีทางเลือกมากแต่ไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร หรือเด็กที่เขามั่นใจว่าอยากทำอะไรแต่ว่ยังไม่ได้ลอง
“เวลาแนะนำเด็ก ต้องพยายามให้เขาวิเคราะห์ตัวเองรอบด้าน ไม่ใช่แค่เรารู้ตัวเองแต่ควรรู้ในสิ่งที่เรากำลังจะเลือกด้วย คล้ายกับ Design Thinking บอกว่าเวลาที่เรามีทางเลือก การที่จะรู้ว่ามันใช่หรือไม่ใช่
หนึ่งคือต้องไปหาข้อมูล สองคือต้องไปลองทำเป็นประสบการณ์เอา input นั้นมาลองกับตัวเอง
หลักๆ ของ a-chieve คือพยายามให้เด็กมีกระบวนการวิเคราะห์ตัวเองก่อนในเรื่องให้เขามีเป้าหมาย เขาให้คุณค่าหรือเขาชอบอะไร เขามีความถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กไม่ค่อยคิดแต่ว่ามันสำคัญมากก็คือ สภาพแวดล้อมของครอบครัว หรือสังคม มันมีผลอะไรต่อตัวเรา นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามให้เด็กได้ลองวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ใช้ตัดสินในชีวิตประจำวันมันมีอะไรที่เชื่อมโยงกับเขาอยู่บ้าง”
สามคือ ลงมือทำ เมื่อเด็กมีกระบวนการคิดการวิเคราะห์ตัวเองได้แล้ว ที่เหลือคือลองทำจริง ไปลองค้นหา ไปอ่านหนังสือในสิ่งที่เขาบอกว่าอยากจะเป็นให้ได้มากที่สุด ไปเรียนรู้อาชีพในที่ทำงานจริง หรือมีรุ่นพี่มาถ่ายทอดประสบการณ์และตอบทุกคำถามที่น้องๆ อยากรู้
“ทางเลือกมีอยู่มีเยอะมาก เขาสามารถเข้าไปอ่าน เข้าไปดู เข้าไปเจอ ก็ดูได้ว่าอันไหนที่ตรงกับเขามากที่สุด a-chieve พยายามผลักดันให้เด็กไม่ได้มีแค่อาชีพเดียว เพราะสุดท้ายแล้วเราสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้มากกว่าแค่ 1 อาชีพ”
พ่อ-แม่-ลูก คุยกันเพื่อออกแบบ
กองหลังสำคัญอย่างพ่อแม่ ก็มาพร้อมปัญหาสำคัญเช่นกันคือ ไม่รู้จะคุยกับลูกอย่างไร
นรินทร์ยกตัวอย่างกรณีลูกวัยรุ่น สิ่งที่เจอบ่อยคือ พ่อแม่ไม่ได้คุยกับลูกตั้งแต่แรก หมายถึงประถมไล่ไปจนถึงมัธยม ส่วนใหญ่จะส่งให้ลูกเข้าโรงเรียนแล้วให้โรงเรียนเป็นฝ่ายจัดการ ขาดการอัพเดทความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน
“ผมเห็น success case ของเด็กที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบโดยมีครอบครัวสนับสนุน สิ่งที่เราเห็นคือครอบครัวกับเด็กจะใกล้ชิดกันมาก เขาสามารถอัพเดท สามารถบอกสิ่งที่เป็นตัวของเขาเอง และผู้ปกครองก็จะบอกได้ว่าเด็กคนนี้เป็นอย่างไร
อยากฝากผู้ปกครองว่าให้คุย ให้ฟังเยอะๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัย ทำให้เด็กกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าเขาชอบอะไร เขามีความฝันอะไร เขาอยากเป็นอะไร โดยที่เราไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด ถ้าทลายอันนี้ได้ เราก็จะเข้าใจลูกมากขึ้นว่าเขาอยากทำอะไรกันแน่”
จากนั้นพ่อแม่ค่อยสนับสนุนข้อมูล เช่น พาไปพบ ไปคุยกับคนในสายงานที่ลูกสนใจ หรือไม่ก็พาไปดูการทำงานเลย
“โดยที่ไม่ได้ไปบอกนะว่ามันดีหรือไม่ดี ให้ลูกไปลองฟัง ไปคุย แล้วก็บอกกันเหมือนเพื่อน พ่อแม่อย่าไปตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี แค่ให้ข้อมูลว่าเป็นอย่างไร”
พ่อแม่ดื้อกว่าลูก?
หลายบ้าน คนที่หัวแข็งจริงๆ กลับไม่ใช่ลูก
“ส่วนใหญ่น้องๆ ที่เจอปัญหานี้ คือไม่สามารถไปบอกกับครอบครัวได้ว่าฉันอยากเป็นอันนี้ เชื่อฉันสิ ส่วนใหญ่เด็กที่เข้าไปคุยกับผู้ปกครองแบบไม่ค่อยมีข้อมูล หรือเขาไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เขาอยากจะเป็นมันคืออะไรกันแน่ เขาไม่สามารถบอกได้ด้วยข้อมูลที่เขามี
ฉะนั้นเวลาไปต่อรองกับที่บ้าน ต้องรู้ตัวเองก่อน แล้วค่อยอธิบายในสิ่งที่เราอยากเป็น เช่น ต้องเรียนอะไร จบไปแล้วทำอาชีพอะไร มีรายได้เท่าไหร่ เรารู้สึกว่าบางทีมันต้องมีกลยุทธ์หน่อยเวลาไปคุยกับที่บ้าน”
นรินทร์ย้ำว่า เด็กต้องรู้ให้ดีที่สุดก่อนไปบอกผู้ปกครอง เพราะถ้าไปพร้อมความไม่รู้ ผลลัพธ์คือช่องว่างที่ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถต่อรองได้ กลายเป็นพ่อแม่หัวแข็งยิ่งขึ้นไปอีกเพราะเหตุผลของอีกฝ่ายซึ่งก็คือลูก-ไม่มีน้ำหนักพอ
“ถ้าเด็กมีข้อมูลพร้อมแล้ว สิ่งที่เขาต้องลองทำคือ คุยกันตรงๆ ว่าอยากจะเป็น อยากทำ หรืออยากเรียนสิ่งนี้ เพราะอะไร พ่อแม่บางส่วนก็พร้อมจะฟัง ถ้าเขายังไม่ฟังก็อาจจะลองหาครูที่ปรึกษาเข้าไปช่วยคุย” นรินทร์ทิ้งท้าย