- ลูกปัด วัตถุขนาดเล็กที่หน้าที่ของมันไม่ใช่เป็นเพียงแค่เครื่องประดับ แต่คือบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เก็บเรื่องราวตามกาลเวลาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น
- ที่บ้านท่าม่วง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการขุดพบลูกปัดอันเก่าแก่ราว 4 – 5 พันปี ทว่าเรื่องราวของลูกปัดโบราณเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในชุมชนแทบไม่รู้ที่มาที่ไปและไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไรนัก
- เยาวชนในพื้นที่จึงจับมือรวมกลุ่มทำโครงการการศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหวังว่างานของพวกเขาจะช่วยรวบรวมไม่ให้ประวัติศาสตร์หล่นหายไปตามกาลเวลา
ตามความเชื่อดั้งเดิม ลูกปัด คือ เครื่องประดับที่บ่งบอกรสนิยมและสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ เป็นเครื่องรางของขลังที่มีพลังอำนาจ บางคนเชื่อถึงการให้โชคลาภ บางครั้งลูกปัดอาจถูกใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อความศรัทธาของมนุษย์ในแต่ละอารยธรรม นอกจากนี้ลูกปัดยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการรักษาโรค บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดีไทย กล่าวว่า ยุคทองของลูกปัดโลก มีความหลากหลายและเป็นที่นิยมสูงสุดกว่าสามพันปีมาแล้ว พบหลักฐานการผลิตลูกปัดหินและลูกปัดแก้วจำนวนมาก จากชุมชนโบราณที่รุ่งเรืองหลายแห่ง ทั้งในอียิปต์ กรีก เอเชียไมเนอร์และเอเชียใต้
สำหรับประเทศไทยและในภูมิภาคสุวรรณภูมิ หรือดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค้นพบร่องรอยของลูกปัดโบราณปรากฎ โดยเฉพาะแถบภาคใต้ตอนบนของไทยในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงาและกระบี่ บ้านท่าม่วง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการขุดพบลูกปัดอันเก่าแก่ ความโบราณที่ว่าไม่ได้เป็นความโบราณหลักร้อยปี แต่ย้อนกลับไปราว 4 – 5 พันปี ทว่าเรื่องราวของลูกปัดโบราณเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในชุมชนแทบไม่รู้ที่มาที่ไปและไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไรนัก
ในคาบวิชาไอเอส (Independent Study: IS) หรือ วิชาการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ ที่ให้นักเรียนสุมหัวกันคิดโครงการที่อยากทำด้วยตัวเอง ครูตั้งโจทย์กับนักเรียนว่า
“มีอะไรบ้างเป็นจุดเด่นของอำเภอท่าชนะ มีอะไรบ้างในชุมชนที่ควรศึกษา?”
ใครจะไปนึกว่า เซเว่นอีเลฟเว่น ปรากฏเป็นชื่อหนึ่งบนกระดาน และ ลูกปัดโบราณ บ้านท่าม่วง ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ ก็เป็นหนึ่งในนั้น จนในที่สุดนักเรียนกลุ่มหนึ่งก็ได้ตกลงใจ จับกลุ่มกันทำ โครงการการศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ฟ้า – นภัสวรรณ บัวแก้ว อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนท่าชนะ หนึ่งในเยาวชนแกนนำ กล่าวว่า เรื่องราวของลูกปัดโบราณสามารถนำมาเป็นสื่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชุมชนได้ และเมื่อมีการศึกษาเรียนรู้นั่นหมายการอนุรักษ์คุณค่าของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่บอกเล่าที่มาที่ไปของชุมชน ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและเห็นความสำคัญของลูกปัดโบราณ อันจะสร้างความภาคภูมิใจและจิตสำนึกในการดูแลรักษาและพัฒนาท้องถิ่นต่อไป
เราคงเคยได้ยินคำกล่าวทำนองว่า ชาวนาขายวัวขายควายส่งลูกเรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกปัดโบราณไม่ต่างกันเท่าใดนัก เมื่อเศรษฐกิจซบเซา อาชีพหลักไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อความต้องการของครอบครัว ลูกปัดโบราณที่ถูกเก็บไว้จากเดิมอาจไม่ได้มีค่ามีราคา แต่กาลเวลาสร้างมูลค่าให้ลูกปัดมีราคาสูงขึ้นจนถูกขายออกสู่ตลาด ชาวบ้านนำเงินเหล่านั้นมาเป็นค่าเล่าเรียนให้ลูกหลานและใช้ดูแลครอบครัว บวกกับกระแสแฟชั่นในปัจจุบันเยาวชนรุ่นหลังจึงมักให้ความสนใจลูกปัดในแง่ความสวยงามและการซื้อขาย เห็นมูลค่า มากกว่า คุณค่า ทั้งที่ลูกปัดไม่ได้เป็นเพียงวัตถุที่ใช้เป็นเครื่องประดับหรือใช้แลกแทนเงินตราเท่านั้น
“ถ้าลูกปัดโบราณถูกนำออกไปขายจนหมด ลูกปัดบางชนิดที่เคยขุดพบที่ท่าชนะก็จะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เพราะไม่มีลูกหลานที่เห็นคุณค่าเก็บรักษาไว้ หรือถ้าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจก็อาจไม่มีลูกปัดโบราณให้เห็นอีกต่อไปในชุมชน” ฟ้า กล่าว
อย่างน้อยเพื่อให้องค์ความรู้เรื่องลูกปัดโบราณได้ถูกเก็บรวบรวมและถูกบันทึกไว้ แกนนำเยาวชนจึงรวมกลุ่มกันลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวบ้านที่มีความรู้ด้านลูกปัด ทั้งเรื่ององค์ประกอบด้านรูปทรงและการตกแต่ง ลักษณะผิวด้านนอก ความนิยมของลูกปัดแต่ละยุคสมัย ชื่อเรียกและความหมาย รวมถึงความสัมพันธ์ด้านประวัติศาสตร์ของลูกปัดที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้รู้ในการให้ข้อมูลเป็นอย่างดี นอกจากนี้พวกเขายังลงสำรวจแหล่งที่ขุดพบลูกปัดโบราณบ้านท่าม่วง ตำบลวัง เพื่อศึกษาลงลึกถึงชนิดลูกปัดในแต่ละจุดร่วมกับชาวบ้าน แล้วจัดค่ายอบรมเผยแพร่ความรู้ให้กับเด็กเยาวชนและคนในชุมชน รวมถึงนักเรียนโรงเรียนท่าชนะที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่
“ปกติเวลาเรียนเราก็ศึกษาผ่านตัวหนังสือ แต่โครงการนี้ทำให้ได้ลงพื้นที่ไปเรียนรู้จริงๆ ได้ประสบการณ์ใหม่และพัฒนาทักษะการทำงาน การคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งการเรียนในห้องเรียนให้ไม่ได้ เช่น การพูดและการเตรียมสัมภาษณ์ การรู้จักกาละเทศะเพราะต้องเข้าหาผู้ใหญ่ในชุมชน ยกตัวอย่างเรื่องการสัมภาษณ์ แรกๆ เราอาจเรียบเรียงคำถามไม่ดี สื่อสารไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการถาม กลับมาพวกเราได้ทบทวนและเตรียมคำถามไปใหม่เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้ตามที่วางแผนไว้” ฟ้า อธิบาย
เดียร์ – อรวรรณ พรมรุ่ง อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนท่าชนะ อีกหนึ่งแกนนำเยาวชน เล่าว่า แม้เป็นคนอำเภอท่าชนะแต่พวกเขาก็เป็นเด็กนอกพื้นที่ ไม่ได้รู้จักใครในบ้านท่าม่วงเป็นการส่วนตัว การลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนครั้งแรกจึงเป็นการสุ่มเลือกเข้าไปหาคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่คิดว่าน่าจะให้คำตอบในสิ่งที่พวกเขาสงสัย บางคนหวาดระแวงเพราะเห็นเด็กๆ เป็นคนแปลกหน้า แต่เมื่ออธิบายให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ในการทำโครงการ คนเฒ่าคนแก่จึงยอมเปิดใจและตอบข้อซักถามของพวกเขา บางคนถึงขนาดเปิดบ้านแล้วนำลูกปัดจำนวนมากออกมาให้ดู
จากการสุ่มเข้าไปทักทายผู้ใหญ่ในชุมชนนี้เองทำให้กลุ่มแกนนำเยาวชนได้เจอกับผู้นำชุมชนบ้านท่าม่วงที่พาพวกเขาไปพบกับผู้ประกอบอาชีพขุดลูกปัด ตั้งแต่นั้นทั้งผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงผู้รู้ก็ได้กลายเป็นวิทยากรคนสำคัญที่ให้ความรู้แก่พวกเขา
แล้วลูกปัดมีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญ?
หากมองลูกปัดโบราณเป็นแค่วัตถุธรรมดาคงไม่มีความสำคัญอะไร แต่ถ้ามองลูกปัดเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านกาลเวลามาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ กลุ่มเยาวชน บอกว่า วัตถุเล็กๆ นี้บอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการค้าสมัยโบราณที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันของผู้คนจากหลากหลายทวีป ลวดลายและความงามบนลูกปัดเปิดมุมมองด้านการสร้างสรรค์ศิลปะที่วิวัฒนาการมากระทั่งปัจจุบัน ลูกปัดแต่ละแบบแต่ละชนิดมีองค์ประกอบด้านการตกแต่งแตกต่างกัน บางชนิดมีสีและลวดลายทั้งด้านนอกและด้านใน ขนาดที่นักโบราณคดียังวิเคราะห์ไม่ได้ว่า ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ผู้คนสมัยนั้นเจียระไรและประกอบสร้างลูกปัดขึ้นมาได้อย่างไร บางชนิดมีรูปทรงเชื่อมโยงกับความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน ลูกปัดทุกชิ้นจึงสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น
ลูกปัดโบราณที่พบเห็นอยู่ในบ้านท่าม่วงมี 2 ประเภท คือ ลูกปัดแก้วหลอม และ ลูกปัดหินแร่ หากเป็นหินเป็นทรายธรรมดาคงย่อยสลายผุกร่อนไปตามกาลเวลา แต่เพราะลูกปัดโบราณมีความแข็งแรง ทนทาน และถูกธรรมชาติเก็บรักษาไว้อย่างดีใต้ผืนดิน สมัยก่อนชาวบ้านจึงขุดพบลูกปัดจำนวนมากที่ยังคงมีรูปร่างสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันขุดพบได้น้อยลงและหายากขึ้น
นอกจากลูกปัดผิวเกลี้ยงเม็ดเล็กใหญ่ หลากหลายสีสันแล้ว เม็ดลูกปัดรูปทรงเหมือนลูกบอลที่มีลายแถบสีสลับกันคล้ายธงชาติ ทั้งสีแดงขาวน้ำเงินพาดสลับกันห้าแถบสี หรือลายสีสลับเขียวเหลืองเป็นลูกปัดที่มีจุดเด่นซึ่งพบได้ในบ้านท่าม่วง สันนิษฐานว่าเป็นสีธงชาติที่เป็นสัญลักษณ์ในสมัยศรีวิชัย นอกจากนี้ยังมีลูกปัดหินสีม่วง (อเมทิสต์) ที่ขุดพบได้มากในพื้นที่แถบนี้ จากข้อมูลที่จดบันทึกโดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปี 2549 ระบุ รูปทรงของลูกปัดที่ขุดค้นพบในพื้นที่ต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้จำแนกได้ประมาณ 41 รูปแบบเลยทีเดียว
“คนเฒ่าคนแก่และผู้รู้ในชุมชน รู้สึกดีใจที่มีกลุ่มเยาวชนให้ความสนใจศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะมีทั้งหมด 6 ตำบล คนในตำบลวัง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่บางส่วนก็ไม่รู้จักและไม่ได้ให้ความสำคัญกับลูกปัด ยิ่งเป็นคนต่างตำบลแล้วแทบไม่รู้จักลูกปัดโบราณเลย ตอนลงพื้นที่ชุมชนในช่วงแรกเราเข้าไปแบบสุ่มๆ ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องไปคุยกับใคร ทำให้ได้ข้อมูลไม่มากนัก แต่พอได้เจอกับผู้นำชุมชนที่แนะนำพวกเราให้รู้จักผู้รู้ที่มีความชำนาญในการขุดลูกปัด พวกเราเลยได้ข้อมูลที่ต้องการจากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ” กลุ่มเยาวชน ขยายความ
ค่อยๆ ขุดค้นหาตัวตนที่ซ่อนอยู่
การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ต้องคิดเอง ลงมือปฏิบัติเอง แก้ปัญหาเอง เป็นเรื่องที่กลุ่มแกนนำเยาวชนไม่เคยทำมาก่อน ระหว่างทางพวกเขาได้พัฒนาตัวเองจากเด็กที่ไม่มีความกล้า ขาดความมั่นใจ กลัวผิด กังวลกับผลลัพธ์ มาเป็นเด็กที่ช่างสังเกต และกล้าตั้งคำถามกับเรื่องราวที่สงสัย ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“พวกเรารู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการ แล้วได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับลูกปัดด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าในอำเภอท่าชนะมีลูกปัดโบราณแบบนี้ด้วย แต่เมื่อได้รับข้อมูลแล้วรู้ว่าลูกปัดอาจสูญหายไปหากคนในชุมชนไม่ช่วยกันดูแล ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ได้มีความรู้และเก็บรักษาลูกปัดโบราณไว้ ไม่อยากให้ขายออกไปจนหมด” กลุ่มแกนนำเยาวชนเห็นพ้องต้องกัน
“แต่ก่อนก็ไม่เคยคิดถึงว่าท้องถิ่นของเรามีอะไรดี ดูอะไรก็เฉยๆ ไปหมด ละเลยและไม่ใส่ใจ แต่ข้อมูลที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลูกปัดโบราณจากการที่ลงไปเก็บข้อมูลเอง ทำให้เห็นคุณค่าของลูกปัด แล้วเริ่มมองสิ่งใกล้ตัวแตกต่างออกไป จากที่เคยชอบ ชื่นชมของดีจังหวัดอื่นโดยที่ไม่รู้ว่าจังหวัดตัวเอง อำเภอที่ตัวเองเกิดมามีของดีอะไรบ้าง ตอนนี้รู้สึกภูมิใจที่ได้ไปตัวแทนชุมชนสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับลูกปัดออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ดีกว่าการที่เรารู้แต่เรื่องของคนอื่นแต่ไม่รู้รากฐานหรือรากเหง้าของตัวเอง” อรวรรณ กล่าว
จากวิชาไอเอสที่เริ่มจากการมองหาจุดเด่นของอำเภอท่าชนะ นำมาสู่บทบาทการเป็น นักโบราณคดีรุ่นเยาว์ ของกลุ่มเยาวชนโรงเรียนท่าชนะ พวกเขาช่วยกันขุดค้นประวัติศาสตร์ ตามหาความเป็นมาของลูกปัดโบราณอายุนับพันปีแห่งอำเภอท่าชนะที่ตนเองอาศัยอยู่ สิ่งที่พวกเขาค้นพบทำให้ประดิษฐ์กรรมที่มีความเก่าแก่นี้ได้เผย คุณค่า แห่งกาลเวลาออกมาอีกครั้ง ทำให้คนบ้านท่าม่วง ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ฯ วางแผนขยับขยาย ปัดฝุ่นพื้นที่ชุมชนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ลูกปัดชุมชนแบบไม่เป็นทางการ ในอนาคตบ้านท่าม่วงจะมีพื้นที่เล็กๆ ที่รวบรวมเอาลูกปัดชนิดต่างๆ มาตั้งไว้ให้เห็น
แม้ว่านักโบราณคดียังไม่สามารถไขความลับของกรรมวิธีการผลิตลูกปัดโบราณที่มีความละเอียด ซับซ้อนและประณีตโดยปราศจากเครื่องมือที่ทันสมัยในยุคโบราณได้อย่างชัดเจน แต่ความแข็งแกร่ง ความคงทน ความงามและความมหัศจรรย์ของสีและลวดลายบนลูกปัดโบราณจากภูมิปัญญาของคนยุคเก่าก็ทำให้ลูกปัดโบราณได้กลับมาเฉิดฉายแก่สายตาคนยุคปัจจุบันอย่างน่าภูมิใจ
“เราอาจไม่สามารถรักษาลูกปัดที่พบในชุมชนไว้ได้ครบ แต่สิ่งที่พวกเราทำได้ คือการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ออกไปผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงภาพและวิดีโอ ให้คนภายนอกรู้จักลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะมากขึ้น” ฟ้า กล่าวทิ้งท้าย