- แม้โลกจะพัฒนาวิธีผลิตเครื่องนุ่งห่มชนิดที่ทำให้เสื้อผ้ามีราคาถูก หาซื้อง่าย มีแบบและสีสันให้เลือกมากมาย แต่ชาวปกาเกอะญอ ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน กลุ่มนี้ ยังเลือกที่จะทอผ้าใส่เอง
- เรื่องราวการเติบโตของ กลุ่มเยาวชนบ้านไม้สลี ที่ให้ความสนใจเรื่องราวของ ‘ผ้าทอ’ แบบลงลึกในระดับของสีและเส้นด้าย
- เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการสวมใส่ หากคือ คติ ความเชื่อ และภูมิปัญญา ที่ทำให้ชาวบ้านยังคงทอผ้าใส่เอง หากจะปรับเปลี่ยนไปบ้างก็คงเป็นเพียงตัววัตถุดิบ สีสัน ลวดลาย รวมทั้งรูปแบบของตัวเสื้อที่อาจปรับเปลี่ยนไป
‘แจ๋ว’ เด็กหญิงปกาเกอะญอวัย 7 ขวบแห่งบ้านไม้สลี ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ค่อยๆ บรรจงแกะปุยฝ้ายออกจากเม็ดก่อนยื่นให้ ‘นุกนิก’ เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเอาไปเข้าเครื่องอัดฝ้ายเพื่อแยกปุยฝ้ายออกจากเม็ด ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกในหลายๆ ขั้นตอนอันแสนจะยุ่งยากที่เด็กหญิงปกาเกอะญอต้องเรียนรู้เพื่อก้าวไปเป็นคนทอผ้าของหมู่บ้าน
แม้โลกจะพัฒนาวิธีผลิตเครื่องนุ่งห่มชนิดที่ทำให้เสื้อผ้ามีราคาถูก หาซื้อง่าย มีแบบและสีสันให้เลือกมากมาย แต่ชาวปกาเกอะญอหรือชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ก็ยังเลือกที่จะทอผ้าใส่เอง
ถึงกระนั้นก็ตาม การทอผ้าของคนกะเหรี่ยง ไม่ใช่แค่เรื่องของการสวมใส่ หากคือ คติ ความเชื่อ และภูมิปัญญาของการทอผ้า ที่ยังทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงทอผ้าใส่เอง หากจะปรับเปลี่ยนไปบ้างก็คงเป็นเพียงตัววัตถุดิบ สีสัน ลวดลาย รวมทั้งรูปแบบของตัวเสื้อที่อาจปรับเปลี่ยนไป
การทอผ้าของคนกะเหรี่ยงเป็นกิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับผู้หญิง เด็กหญิงปกาเกอะญอจะต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้าจากแม่ หรือญาติที่เป็นผู้หญิงตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กสาวจะเริ่มฝึกทอตั้งแต่อายุ 8-15 ปีโดยใช้ใบ ‘เตอะหน่าอิ’ ฉีกเป็นเส้นๆ นำมาสานเป็นแผ่นๆ และเมื่อมีความชำนาญมากพอ ก็จะยกระดับขึ้นไปเป็นการทอด้วยด้าย โดยเริ่มจากการทองานชิ้นเล็กๆ ลายง่ายๆ เช่นย่าม และถ้าเก่งขึ้นแล้ว ก็จะเริ่มทอผ้าที่มีลวดลายซับซ้อนมากขึ้น
กะเหรี่ยงใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอมือมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนมากจะทอหลังว่างจากการไปไร่ไปนา เพราะการทอเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งการสวมใส่และการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้การสอนในบ้านทำได้ยากขึ้นเพราะแม่ๆ ต้องทำมาหากิน หลายคนจึงมองข้ามไป
แม้หลายคนจะมองข้าม แต่ ลี้-จิณณพัต สุขหู, เบน-เบญจญาภา จันทร์ดี, แตงโม-ธิดา ณ คำปุ๊ด, ปูเป้-ธัญญารัตน์ ใหม่แก้ว และ หนึ่ง-ทันทิกา นันสาย กลุ่มเยาวชนบ้านไม้สลี กลับให้ความสนใจเรื่องราวของ ‘ผ้าทอ’ แบบลงลึกในระดับของสีและเส้นด้าย
เรื่องด้าย เรื่องใหญ่
กว่าจะได้ทำโครงการนี้ ต้องผ่านการวิเคราะห์และคัดเลือกจากหลายประเด็นที่หลายคนโยนลงมากลางวงคุยหลัง ดรุณี ใจทอง หรือ ‘พี่ทอง’ ที่ปรึกษาโครงการ เดินมาบอกว่ามีโครงการเยาวชนมาให้ทำ และมีงบประมาณสนับสนุนให้เด็กๆ ช่วยกันคิดโครงการและช่วยกันเสนอเข้ามา แม้ขณะนั้นหลายคนจะมีภารกิจหลายด้าน โดยเฉพาะลี้ที่เป้าหมายของเธอคือการสอบเข้าเรียนคณะสัตวแพทย์
“มีทั้งเรื่องขยะ เพราะในชุมชนและตามถนนมันจะมีถุงขนม แก้วพลาสติกเยอะแยะไปหมด ดูไม่สะอาดตา บางคนอยากให้ทำเรื่องป่า เพราะเราอยู่กับป่า และป่าก็เริ่มแห้งแล้ว นอกจากนั้นก็มีทำขนมขาย เลิกเรียนมาแล้วก็มาทำขาย หารายได้เสริม” แต่เมื่อวิเคราะห์ และทบทวนถึงความเป็นไปได้ ทั้งเรื่องป่า ขยะ และ ทำขนม ลี้ แกนนำเยาวชนบอกว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นไปได้-แม้แต่เรื่องเดียว
“เรื่องป่ามันใหญ่เกินตัว เราคงทำกันไม่ไหวแน่ ส่วนขยะ เราคิดว่าคงไม่สามารถไปควบคุมใครให้มาทิ้งขยะได้ สำหรับขนม อันนี้เหมือนจะทำได้ง่ายสุด แต่จริงๆ แล้วพวกเราจะไปเอาเวลามาจากไหน เพราะกลางวันต้องไปโรงเรียน กลับมาก็ต้องช่วยงานบ้าน ทำการบ้านอีก และการทำขนมมันมีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย ทำเสร็จก็ต้องเอาไปขายอีก คงจะไม่รอด” ทีมงานบอก
เมื่อหาข้อสรุปไม่ได้ เด็กๆ จึงเอาเรื่องโครงการไปหารือกับผู้ใหญ่ในชุมชน
“ส่วนใหญ่ก็แนะนำเรื่องป่า เรื่องขยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราตัดออกไปแล้ว บางคนเสนอให้เราคิดถึงเรื่องที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของเรา ก็ทำให้คิดถึงเรื่องการทอผ้า เนื่องจากคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาสานต่อเรื่องนี้ไม่ค่อยมี เพราะมักออกไปทำงานนอกชุมชน ไม่ค่อยมีคนสืบสาน แม้แต่พวกเราในทีมเองก็ตาม” ลี้ แกนนำกลุ่มบอกว่า เมื่อศึกษาลงลึกเข้าไปอีกก็พบปัจจัยที่มาสนับสนุนว่าต้องทำโครงการนี้
ลี้บอกว่า ตอนไปสำรวจข้อมูลพบว่ามีอยู่ 8 คนที่ยังทอเป็น และส่วนใหญ่ก็อายุมากแล้ว คนใส่ก็ไม่ค่อยมี ส่วนมากเป็นคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ยังใส่อยู่ ส่วนวัยรุ่นจะใส่ก็ในวันที่มีพิธีกรรม เช่น ทำบุญ เข้าพรรษา ออกพรรษา พิธีเลี้ยงผี เป็นต้น เพราะฉะนั้น กลุ่มเยาวชนบ้านไม้สลีจึงอยากให้การทอผ้าอยู่คู่กับชุมชน และต้องการให้มีคนสืบสานเพิ่มขึ้น
“แต่ด้วยระยะเวลาการทำโครงการมีเพียงแค่ 6 เดือน หนูคิดว่าถ้าจะทำจนครบกระบวนการตั้งแต่การปั่นฝ้ายไปจนถึงการทอเลยมันจะใช้เวลานานเหมือนกัน โดยเฉพาะขั้นตอนการปั่นฝ้าย มันจะเป็นขั้นตอนที่ยากมากๆ น้องๆ หลายคนยังไม่คล่อง หนูก็เลยคิดว่าถ้าใช้เวลากับอันนี้เยอะๆ มันจะได้คล่องๆ แล้วค่อยไปเรียนรู้ขั้นตอนต่อไป คือการทอ น่าจะดีกว่า สุดท้ายจึงเลือกทำเฉพาะการผลิตเส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ” ลี้บอกเหตุผลของการเลือกทำโครงการ
เปิดห้องเรียนทอผ้า
แม้จะเลือกเฉพาะขั้นตอนการผลิตเส้นฝ้ายมาเป็นเป้าหมายในการทำโครงการ แต่พอถึงเวลาทำจริงๆ ก็ไม่ง่ายเพราะ ‘ดอกฝ้าย’ หายาก ในชุมชนไม่ปลูกกันแล้ว แต่โชคทีพี่บ้านพี่ทองพอจะมีดอกฝ้ายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการสำหรับการใช้ในการฝึกปฏิบัติ จำเป็นต้องซื้อดอกฝ้ายจากนอกชุมชน
“มีคนถามว่าทำไมไม่ข้ามขั้นตอนการผลิตเส้นฝ้ายไปสู่การย้อมสีเลย เราก็บอกว่าถ้าทำแบบนั้นเราจะไม่รู้จักกระบวนการทอผ้าของชุมชนอย่างแท้จริง แต่พอรู้ว่าไม่ค่อยมีใครปลูกฝ้าย หนูเลยคิดว่าหลังจากนี้ เราอาจจะชวนชาวบ้านปลูกไปด้วยควบคู่กัน” ลี้เผยแนวคิดหลังจากนี้
สำหรับกระบวนฝึกฝนเรื่องการผลิตเส้นฝ้าย กลุ่มเยาวชนบ้านไม้สลีตั้งใจจะเรียนรู้ และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ก่อนที่จะไปฝึกให้แก่น้องๆ รุ่นต่อมา
“แต่ปัญหาคือ เด็กๆ ในหมู่บ้านมีไม่ค่อยมาก ส่วนใหญ่ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนประจำ ที่เหลืออยู่ก็มีน้องแจ๋ว นุกนิก น้องฟ้า น้องกาญจน์ รวมๆ แล้วประมาณ 8 คน รวมทั้งพวกเราด้วยก็ราว 13 คน” ซึ่งทั้งลี้ และทีมคาดหวังว่า 13 คนนี้ หากฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ก็จะสามารถสืบสานการทอผ้าของชุมชนได้ในอนาคต และทั้ง 13 คน จะมารวมตัวกันหลังเลิกเรียนและช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ใต้ถุนบ้านแม่หล้า ที่ดัดแปลงเป็น ‘ห้องเรียนทอผ้า’ ของกลุ่ม
กระบวนการอบรม ทีมงานและน้องๆ จะต้องรู้จักเครื่องมือและอุปกรณ์การทอก่อน เช่น การใช้เครื่องหีบ หรืออีดฝ้าย วิธีการแกะปุยฝ้ายออกจากเม็ดฝ้าย และเอาเข้าเครื่องหีบ หรือ อีดฝ้ายเพื่อแยกเม็ดออก วิธีที่ใช้กงดีดฝ้ายให้ฟู ถามยายว่าเหตุผลที่ต้องทำให้ฟูเพราะอะไร ยายบอกว่า จะทำให้ขั้นตอนการดึงฝ้ายเป็นเส้นง่ายขึ้น ฝ้ายจะเป็นเส้นยาว ไม่เป็นปม
‘ด่านปั่นฝ้าย’ ผ่านได้ด้วยสติและความอดทน
“เคยลองแล้ว ยาก พอปั่นๆ มันก็ขาด ถ้าไม่ขาดก็จะไม่ค่อยเป็นเส้น” ปูเป้ เด็กหญิงหัวร้อนประจำทีมบอกระหว่างบรรจงดึงก้อนฝ้ายเพื่อให้ออกมาเป็นเส้น
“สำหรับหนู การปั่นฝ้ายถือว่ายากเย็นที่สุด มันต้องลงน้ำหนักมือ ต้องปั่น มือซ้ายขวาต้องหมุนวงล้อ มือซ้ายต้องค่อยๆ ดึง ต้องมีจังหวะว่าต้องดึงประมาณไหน ตอนมาฝึกวันแรก ยายสอนว่า ‘ดึงอย่างนี้นะ’ เพราะมันเบี้ยวไปนั่นมานี่ ยายบอกว่า ‘เด็กคนนี้อย่างไรนะ สอนยาก’ ” ปูเป้บอก แต่สิ่งที่ทำให้เธอต้องมุ่งมั่นฝ่าด่านปั่นด้ายซึ่งเป็นด่านที่ยากที่สุดก็เพราะ คนอื่นยังทำได้เลย
“ก็แค่ฝึกไปเรื่อยๆ ทำอันนี้ไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่นก่อน อารมณ์ดีแล้วก็กลับมาทำใหม่ ทำจนกว่าจะทำได้” ปู้เป้ย้ำ
“จริงๆ แล้วมันมีเทคนิคนิดหน่อย” ลี้บอกก่อนอธิบายว่า เวลาดึงจะทำให้มือเบี้ยวไม่ได้ ต้องทำมือตรงๆ และต้องบีบฝ้ายไว้ให้มันหมุนตัว เพราะว่าถ้าเรายิ่งดึงไกล มันจะเป็นเส้นเล็กๆ มันจะไม่ขาด
“อีกเทคนิคหนึ่งคือ ต้องมีสติค่ะ ทำช้าๆ แล้วจะทำได้เอง” ลี้บอก
อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะยังไม้พ้น ‘ด่านปั่นฝ้าย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องหมั่นฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ เพราะหากปั่นด้ายไม่ออกมาเป็นเส้น นั่นหมายถึงรายจ่ายจำนวนหนึ่งที่ต้องเสียไป เพราะฝ้ายที่ถูกตีให้ฟู และนำมาปั่นเป็นเส้นแล้ว จะไม่สามารถเอากลับไปตีให้ฟูได้อีก ทำได้เพียงเอาไปยัดเป็นหมอนเท่านั้น ซึ่งทุกคนเข้าใจข้อนี้ดีและแม้จะยากเย็นขนาดไหน ‘ด่านปั่นฝ้าย’ คือสิ่งที่ทุกคนมุ่งมั่นจะฝ่าไปให้ได้เช่นกัน
จนถึงวันนี้ นอกจากการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ทั้งด่านการปั่นฝ้ายและการย้อมสีด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ไม่ยากในชุมชน ซึ่งขั้นตอนการย้อมก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากเหมือนขั้นตอนการปั่นฝ้ายให้เป็นเส้น แต่สิ่งที่จะต้องดำเนินงานต่อไปคือ แปรองค์ความรู้ด้านการ ‘ผลิตเส้นฝ้าย’ ออกมาเป็นรูปเล่มสำหรับการฝึกน้องๆ รุ่นต่อไปกรณีที่กลุ่มพี่ๆ บางคนต้องแยกย้ายกันออกไปเรียนต่อนอกชุมชน
ทั้ง ลี้ แตงโม ปูเป้ และคนอื่นๆ รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้านบอกว่า โครงการครั้งนี้ทำให้ชุมชนค้นพบแนวทางการสานต่อการทอผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่หล้า-บอกว่า…
“นี่เป็นครั้งแรกที่เด็กๆ เดินมาบอกว่า อยากทอผ้า” ซึ่งต่างจากอดีตคือ “ต้องบอกให้เขาทำ… เขาถึงจะทำ”