- กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง (Authentic Learning) ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น และยังได้ฝึกความอดทน มีประสบการณ์กับความล้มเหลว จนต้องปรับปรุงวิธีทำงาน เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
- ครูแอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร ตัวตั้งตัวตีชักชวนเด็กเยาวชนในชุมชนบ้านแต้พัฒนา จังหวัดศรีสะเกษ อาสาไปช่วยงานบุญประเพณีของชุมชนเพื่อสืบสานพิธีกรรมและวัฒนธรรมของชาวกวยให้สืบทอดสู่ลูกหลาน
- หน้าที่หลักของครูแอ๊ดคือนอกจากสังเกตพฤติกรรมความชอบแล้ว การให้กำลังใจก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้คนในทีมส่งพลังบวกให้กันในกลุ่ม
ถ้าทุกชุมชนทุกแห่งในประเทศไทยมี ‘ผู้ใหญ่’ ที่สนใจและให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชนแบบนี้คงดีไม่น้อย…
ด้วยวัยที่ไม่ห่างจากเด็กมากนัก ครูแอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร จึงเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนเด็กเยาวชนในชุมชนบ้านแต้พัฒนา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ อาสาไปช่วยงานบุญประเพณีของชุมชนอยู่เสมอ บ้านครูแอ๊ดจึงกลายเป็นแหล่งรวมเด็กไปโดยปริยาย
“ต้องรวมเด็กให้มาทำกิจกรรม ทั้งเลี้ยงไหม ทอผ้า ทำบายศรี ฝึกจับผ้าประดับ เรียนรำ ทำการบ้าน เล่นเกม เพราะเชื่อว่าการทำกิจกรรม จะสร้างประสบการณ์ให้เขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะทำวันละนิดวันละหน่อยก็ตาม”
แม้จะรวมเด็กมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ แต่ครูแอ๊ดก็ยังเห็นปัญหาว่า นับวันวิถีชาวกวยที่คนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย สั่งสมมาเริ่มเลือกหายไป โดยเฉพาะการแต่งกาย เยาวชนคนรุ่นใหม่นิยมแต่งตัวตามสมัยนิยม ไม่สนใจเรียนรู้สืบทอดอาชีพเลี้ยงไหม ทอผ้า ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวกวยอีกต่อไป ครูแอ๊ดจึงอยากหาทางแก้ไข
กระทั่งครูแอ๊ดเข้าร่วม ‘โครงการพลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ’ และได้ทำ ‘โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย(โซดละเว)’ ครูแอ๊ดอาสาเป็นหัวหน้าทีม พาเด็กในชุมชนเรียนรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมโซดละเวเพื่อพลิกฟื้นวิถีชาวกวยให้กลับคืนมา
เหตุผลที่ครูแอ๊ดเลือกทำโครงการเกี่ยวกับผ้าเพราะทุกช่วงชีวิตของคนกวยผูกโยงกับการใช้ผ้า หากเด็กเยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ เขาก็จะเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กวยไปพร้อมกัน
ผ้าไหมร้อยเด็กสู่ชุมชน
“กระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นจากการศึกษาประวัติความเป็นมาผ้าไหมโซดละเว และภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์การทอผ้าไหม ตั้งแต่ลายผ้า การย้อม การทอ วิธีการใช้ผ้าไหม ทุกกิจกรรมครูแอ๊ดจะออกแบบให้เยาวชนทุกช่วงวัยได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น น้องชั้นอนุบาลเริ่มจากการแกว่งไหม พี่โตขึ้นมาหน่อยก็ทอผ้า ใครทอลายไหนเป็นก็แบ่งกันทำ บางครั้งก็กระตุ้นเรื่องวิธีคิด เช่น บอกว่าไม่มีใครเป็นตั้งแต่เกิด เพื่อให้เขาต้องคิดต่อว่า เขาต้องทำให้ได้ และเขาต้องลงมือทำจึงจะทำเป็น ต้องลองทำก่อนจึงจะรู้”
พอเด็กได้สืบค้นข้อมูล ได้ลงมือทำ นอกจากพวกเขาจะรู้สึกรักและภูมิใจในชาติพันธุ์กวยของตนเองแล้ว ยังได้ทักษะหลากหลายด้าน อาทิ การสืบค้นข้อมูล การทำงานเป็นทีม การคิด การพูด การนำเสนอ เป็นต้น
เมื่อเห็นว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากการลงมือทำ หรือเรียนรู้จากการทำงาน ที่มีการแบ่งหน้าที่ให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อช่วยเหลือกันในหมู่เพื่อนแล้ว ยังเอื้อเฟื้อออกไปสู่ชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง (Authentic Learning) ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น และยังได้ฝึกความอดทน มานะบากบั่น มีประสบการณ์กับความล้มเหลวหรือการเผชิญความยากลำบาก จนต้องปรับปรุงวิธีทำงาน เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบ พัฒนาต่อในสิ่งที่รัก
ปีที่ 2 ครูแอ๊ดผันตัวมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ‘เปิดโอกาส’ ให้เด็กคนอื่นลุกขึ้นมาเป็นผู้นำแทน แต่ครั้งนี้ขยายวงการเรียนรู้ออกไปคือ สานต่องานเดิมเรื่องผ้าไหมโซดละเวให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และชวนเด็กในโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์และน้องๆ ที่เคยเข้ามาช่วยงานของชุมชนเข้ามาทำ ‘โครงการสืบสานสะเนงสะเองกวย’
“การสืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ทำให้เด็กๆ พบข้อมูลสำคัญว่า ผู้สืบทอดพิธีกรรมสะเนงสะเอง เป็นคนรุ่นปู่ย่าตายายเริ่มล้มหายตายจากไปทีละคน ปัจจุบันมีปราชญ์ผู้รู้เพียง 4 คนเท่านั้นที่มีความรู้เรื่องนี้ได้แก่ คุณตาพรมมา โพธิ์กระสังข์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเป่าปี่แม่มด คุณยายกัณหา จันทะสน แม่ครูสะเองและแม่ครูรำ คุณตาทิพย์ ทองละมุล ผู้รู้ด้านเครื่องดนตรีและการบรรเลงดนตรีประเภทตี และ อดิเรก โพธิสาร ผู้รู้ด้านการประกอบพิธีกรรม”
เมื่อเห็นว่าพิธีกรรมที่อยู่คู่ชุมชนเริ่มหายไป กลุ่มเยาวชนจึงลงพื้นที่สืบค้นข้อมูลทั้งด้านพิธีกรรม ความเชื่อของพิธีกรรมสะเนงสะเองอีกครั้ง และนำมาเรียบเรียงเป็นชุดข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ ครูแอ๊ดจะออกแบบให้เยาวชนทุกวัยเข้ามามีส่วนร่วม หากเป็นเด็กเล็กจะให้ทำสิ่งง่ายๆ ที่เป็นพื้นฐานตามความสนใจ แล้วค่อยๆ เพิ่มความยากเข้าไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าเด็กสนใจเล่นดนตรีชิ้นไหนก็ปล่อยให้เขาลองเล่นดนตรีชิ้นนั้นไปก่อน หากไม่ชอบค่อยปรับเปลี่ยนตามความถนัด เมื่อเด็กรู้ว่าตัวเองถนัดอะไรก็ให้ฝึกฝนต่อจนคล่อง
นอกจากคอยสังเกตพฤติกรรมความชอบแล้ว ครูแอ๊ดบอกว่า การให้กำลังใจก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ฉะนั้นนอกจากครูแอ๊ดจะต้องให้กำลังใจเด็กๆ แล้ว ยังต้องทำให้คนในทีมส่งพลังบวกให้กันเพื่อ Cheer Up ในกลุ่มด้วย
ฝึกฝนให้เข้าใจ และทำจนชำนาญ
“ในปีแรกนอกจากจะเข้าไปศึกษา เรียนรู้ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวพิธีกรรมในด้านต่างๆ จากปราชญ์แล้ว ยังกำหนดให้เด็กต้องเรียนรู้พิธีกรรมสะเนงสะเองจากการปฏิบัติด้วย เรื่องปี่คุณตาเขาอยากหาคนสืบทอดอยู่แล้ว เพราะเด็กแถวบ้านแกไม่มีใครอยากเรียน เด็กๆ เขาไปเรียนทุกเสาร์อาทิตย์ ผมก็ไปส่งบ้าง บางทีก็นั่งฟังบ้าง ก็พบว่าเขาทำได้ ขนาดเราโตมาขนาดนี้เรายังไม่เป็นเลย เด็กเรียนประมาณ 3 อาทิตย์ก็ทำได้แล้ว”
การฝึกฝนอย่างไม่ขาดตอนทำให้น้องๆ แต่ละคนจะค้นหาความชอบของตัวเองจนเจอ เช่น ฟลุ๊ค-วสิษฐ์พล โพธิ์กระสังข์ ที่ชื่นชอบการเป็นนางอ้อและสามารถประกอบพิธีกรรมได้ เดิมทีฟลุ๊คตีฆ้องได้ แต่เมื่อแม่ครูที่เป็นนางอ้อมาสอนรำให้กับเพื่อน ฟลุ๊คมักเข้ามาดู จนสามารถจดจำท่ารำ รวมทั้งกระบวนการและขั้นตอนพิธีกรรมสะเองได้
เช่นเดียวกับ แม็ค-ฐิติวัฒน์ โพธิสารที่เลือกเล่นปี่แม่มดซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ยากเพราะต้องใช้พลังและลม ประกอบกับการเล่นในพิธีกรรมที่ยาวนานนับชั่วโมง ทำให้หลายคนท้อจึงเปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่นแทน แต่แม็คกลับตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ จนกระทั่งตาพรมมายกให้แม็คเป็นศิษย์เอกสำหรับการสอนบรรเลงปี่แม่มด
ถอดบทเรียน: จากตั้งคำถามสู่การเรียนรู้
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ หลังทำกิจกรรมเสร็จทุกครั้ง ครูแอ๊ดชวนเด็กๆ ทำ Reflection หรือถอดบทเรียนเพื่อให้น้องแต่ละคนรู้ว่ากิจกรรมนี้ทำแล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีความผิดพลาดอะไรที่ต้องแก้ไข อะไรที่ดีแล้วจะทำให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ลึกยิ่งขึ้น โดยครูแอ๊ดทำหน้าที่เป็น ‘คุณอำนวย’ (Facilitator) ช่วยตั้งคำถามที่เหมาะสม
“การถอดบทเรียนจะทำให้เด็กๆ รู้จักตัวเองผ่านมุมมองและการสะท้อนของเพื่อนร่วมทีม เด็กจะมองเห็นความผิดพลาดของตัวเองและแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น”
ปีที่ 3 ครูแอ๊ดยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเด็กในชุมชนต่อ ทั้งสร้างแบรนด์ผ้าไหมโซดละเวให้เป็นรู้จัก และสานต่อพิธีกรรมสะเนงสะเองนำมาเป็นกิจกรรมหนึ่งในช่วงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ครูแอ๊ดพาเด็กในชุมชนเรียนรู้จนเกิดทักษะชีวิตที่นำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนและการใช้ชีวิตได้แล้ว ยังทำให้คนในชุมชนเห็นถึงคุณค่าความสำคัญ ‘พลังคนรุ่นใหม่’ ที่จะเข้ามาสืบสานวัฒนธรรมประเพณีชาวกวยให้คงอยู่ต่อไป