- นาฏลีลาผสานกลองปูจา การแสดงแนวใหม่ที่สะท้อนถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน ผสานการตีกลองปูจา ฟ้อนรำ และบทกลอน บทกลอนซึ่งเด็กๆ บ้านบวก ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้มาจากการเคาะบ้านสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ว่าเขาเคยใช้ชีวิตอย่างไร แล้วค่อยแปลงออกมาเป็นบทกลอน
- “อยากใช้ความถนัดทางด้านการฟ้อนรำของเราเล่าวิถีชีวิตของชาวบ้าน” คือแนวคิดของเด็กๆ กลุ่มนี้
เรื่อง/ภาพ: พัชรี ชาติเผือก
บางคนใช้เพลงแร็พบอกเล่าว่าบ้านเมืองของตัวเอง “มีอะไร” แต่ที่บ้านบวก ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เด็ก ๆ บอกว่าการเล่าเรื่องด้วยการแร็พ -การด้นกลอนสด มักมีเนื้อหาของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา มุทะลุ เสียดสี เนื้อหามักมาจากความคับข้องใจที่เผชิญ- นั้นไม่ถนัด เพราะทักษะที่มีคือการร่ายรำผ่านบทเพลงและท่วงทำนองที่อ่อนช้อยงดงาม
แม้วิธีการเล่าจะต่างกัน แต่วิธีที่เหมือนกันคือต้องมีเนื้อหา (content)
ที่บ้านบวก เด็กๆ อย่าง เดียร์-จิณห์นิภา ธิกันงา, สายฟ้า-สิรภัทร หล้าเป็ง, ภูมิ-ภูวฤทธิ์ จี๋ภิโร,น้ำมนต์-ธัญญาภรณ์ สมฝั้น และน้องใหม่อย่าง แบม-พิมพ์ชนก หล้าแป้น ใช้เวลาลงพื้นที่ พกพาคำถามที่เตรียมมาอย่างดีเพื่อไปพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ เก็บรวบรวมข้อมูลวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี นำเนื้อหามาสร้างสรรค์เป็นท่ารำสื่อสารให้คนอื่น ๆ ในชุมชนได้รับรู้ ชื่นชม และดำเนินรอยตามความงดงามของวิถีชุมชนภายใต้โครงการสืบสานนาฏลีลากลองปูจาของชุมชนบ้านบวก ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
จุดเริ่มต้นของกลองปูจา
คำถามที่นำมาสู่การผสมผสานระหว่างกลองปูจาและนาฏลีลาของเด็กๆ ทีมบ้านบวก คือคำถามที่ว่า ‘หากนำเสียงกลองปูจามาผสมกับการรำจะออกมาเป็นอย่างไร?’ คำถามนี้เป็นจุดตั้งต้นในการฝึกตีกลองปูจา, คิดท่าฟ้อนรำ และ การแต่งบทกลอนประกอบทำนอง เป็นการรวมหลายศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็น ‘นาฏลีลาผสานกลองปูจา’ การแสดงแนวใหม่ที่สะท้อนถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน
“เราอยากใช้ความถนัดทางด้านดนตรีและการฟ้อนรำของเราเล่าวิถีชีวิตของชาวบ้าน”
เดียร์บอกแนวคิดการสื่อสารเรื่องราวของชุมชน และอธิบายว่ากว่าจะได้แนวคิดแบบนี้ สมาชิกในทีมและพี่เลี้ยงผ่านการถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปกันพอสมควร เพราะเมื่อเริ่มต้นจะทำโครงการ เด็กๆ เลือกที่จะดำเนินรอยตามกิจกรรมที่ผู้ใหญ่นำร่องไว้ให้แล้ว นั่นคือเรื่องการดูแลผืนป่าและแหล่งน้ำ แต่ด้วยเงื่อนไขด้านเวลาที่มีแค่ 6 เดือน ทำให้ครูพี่เลี้ยงอย่าง ครูโย-โยทกา พิงคะสันต์ เห็นว่าควรทำโครงการที่ใกล้ตัวกับเด็กๆ มากกว่านี้
ซึ่งเรื่องที่เด็กๆ ถนัดและเห็นว่าใกล้ตัวที่สุดคือ “ดนตรีและการร่ายรำ”
“เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นคนตีกลองปูจากันแล้ว กลองตั้งอยู่ที่โรงเรียนก็ไม่มีใครเอาไปทำอะไร เดิมทีกลองปูจาจะตีเพื่อบูชาและเป็นสัญญาณเรียกรวมคนมาที่วัดเท่านั้น ไม่มีการรำฟ้อนประกอบ เลยคิดกันว่าถ้านำมาตีประกอบการฟ้อน มันต้องสวยงามแน่นอน” เดียร์เล่าให้ฟัง
เปลี่ยนเรื่องเล่าเป็นบทกลอน แปลงบทกลอนเป็นท่ารำ
“เราไปนั่งพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ถามว่าสมัยก่อนแม่อุ้ยทำอะไรกันบ้าง? ส่วนใหญ่บอกว่ามักไปเก็บผักเก็บปลา เรานั่งฟังพร้อมกับจดบันทึก จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาดู เรียบเรียง และทดลองเขียนเป็นบทกลอนสั้นๆ ซึ่งยากเหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนข้อมูลเป็นบทกลอน เพราะต้องเขียนคำให้คล้องจองกัน พอแต่งเสร็จก็ต้องเอาให้ครูสมชาย (สมชาย ชัยอนันตยศ) ช่วยตรวจสอบอีกที
“การแปลงภาษาเป็นท่ารำก็ยากอีก เพราะไม่รู้ว่าจะใช้ท่าไหนให้เหมาะกับคำของเพลง อย่างท่อน ‘หลกเป็ดหลกไก่’ (ดึงขนเป็ดขนไก่) เราก็ทำท่าเหมือนกำลังหยิบ (จีบคว่ำ) คือเลือกท่าที่สื่อความหมายได้คล้ายกับคำให้มากที่สุด ใช้เวลาค่อนข้างนานเหมือนกันกว่าจะได้แต่ละท่า” เดียร์เล่าพลางทำท่าประกอบ
แม้จะยากลำบาก แต่พวกเธอก็ผ่านมาได้จากความมุ่งมั่นพยายามของทีมและความช่วยเหลือของทีมโคช ท้ายที่สุด เด็กๆ ก็แต่งเพลงที่สะท้อนเรื่องเล่าของชุมชนได้ 3 บทเพลง ประกอบด้วย
- เพลงหลกเป็ด เล่าถึง พิธีเลี้ยงผีของชาวบ้านสมัยก่อน ชาวบ้านจะช่วยกันหลกเป็ด (ดึงขนเป็ด) นำมาประกอบในพิธี
- เพลงย่าจุ่ม เล่าถึง วิถีชีวิตของคนทำนาสมัยก่อน
- และ เพลงสาวเก็บผัก เล่าถึง การเก็บผักริมรั้วและจับปลาในคลองมาทำอาหารโดยไม่ต้องซื้อ
—
หลกเป็ด หลกไก่ หลกเป็ด หลกไก่ หลกบ่อได้ ก๊าบตื้น ก๊าบตื้น ฟ้าบ่อฮ้อนฝนตึงบ่อตก โต้งวันตกบ่อได้ไถซักโม่งโต้งวันตกบ่อได้ไถซักโม่ง
—
ย่าจุ้ม ย่าจุ้ม ย่าจุ้ม ยะนาตังวันตก ย่าจุ้ม ย่าจุ้ม ย่าจุ้ม ยะนาตังวันตก โบกบ่อแล้วเหลือตี้ฮั่นสองโม่ง โบกบ่อแล้วเหลือตี้ฮั่นสองโม่ง
—
สาวเก็บผัก สาวเก็บผัก สาวเก็บผัก แม่ฮ้างซ้อนกุ้ง สาวหัวยุ่ง เก็บบ่อหุ่งบ้านห่าง สาวหัวยุ่งเก็บบ่อหุ่งบ้านห่าง …
ขณะที่สาวๆ กำลังสาละวนอยู่กับการคิดท่ารำเพื่อให้เข้ากับเนื้อเพลง สายฟ้า เด็กหนุ่มผู้รับหน้าที่ตีกลองปูจาก็ต้องซ้อมตีกลองให้เขากับทำนองเช่นกัน
“ตอนที่ซ้อมตีใหม่ๆ ครูสมชายให้ฝึกตีกลองสะบัดชัยก่อน ตอนแรกตีได้แค่หลกเป็ดหลกไก่ แต่ตีได้ยังไม่สุดเพราะยังจำโน้ตไม่ค่อยได้ ส่วนกลองปูจาจะมีกลองเล็ก 3 ใบและกลองใหญ่ 1 ใบ วิธีสอนของครูคือ เขาจะเขียนโน้ตแปะไว้ให้ที่หน้ากลอง กลองเล็กจะเป็น 1 2 3 ส่วนกลองใหญ่แทนด้วย 0 ผมก็ฝึกตีตามนั้น เช่น หลกเป็ดหลกไก่ ก็ตี 1 2 3 0, 1 2 3 0” สายฟ้าอธิบาย
ด้านภูมิและเพื่อนสมาชิกที่ทำหน้าที่เล่นเครื่องดนตรีคุมจังหวะ เช่น ฆ้อง และฉาบก็ต้องซ้อมเล่นเพื่อคอยคุมจังหวะให้กลองปูจาและการฟ้อนนาฎลีลาสามารถเข้ากันได้ เมื่อต่างคนต่างซ้อมจนชำนาญจึงจับมาเล่นรวมกันเพื่อให้ผสมผสานกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
หลังฝึกซ้อมจนชำนาญ ก็ได้เวลาที่กลองปูจา เครื่องดนตรีให้จังหวะ และเหล่านาฏลีลาจะได้มาซ้อมร่วมกันเพื่อให้ท่ารำและท่วงทำนองของดนตรีไปด้วยกันได้ ซึ่งในช่วงแรกๆ จังหวะของท่ารำและการตีกลองปูจายังจูนกันไม่ติด ยังตีฆ้องเพี้ยน ตีช้า ไม่ตรงกับจังหวะของกลองปูจา ต้องใช้เวลาจูนกันพักใหญ่ กว่าท่ารำ กลองปูจา ฆ้อง และฉาบจะผสมผสานกันจนลงตัว
สายฟ้าเล่าปัญหาในช่วงนั้นให้ฟังว่า “ตอนแรกๆ มีหงุดหงิดบ้าง เพราะฆ้องตีช้า ฉาบก็ตีเพี้ยน จนผมไม่มีสมาธิจะตีกลอง พอเขาตีช้าก็พาผมล่มไปด้วย พอเริ่มใหม่เขาก็ตีเร็วไปอีก ยิ่งตีก็ยิ่งเพี้ยน คนรำก็รำไม่ได้ มันส่งผลถึงกันเป็นลูกโซ่ ต้องซ้อมกันอยู่นานพอสมควรครับ กว่าจะจับจังหวะได้” สายฟ้าบอกว่าที่ผ่านสถานการณ์นั้นมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะความตั้งใจที่อยากตีกลองปูจาให้ได้ เลยทำให้เขาอดทนหมั่นซ้อมอยู่เรื่อยๆ จนชำนาญ
เมื่อฝึกซ้อนจนชำนาญ ไม่มีเพี้ยนแล้ว ก็ถึงเวลาออกไปเล่าเรื่องราวของชุมชนผ่านการร่ายรำ
นาฏลีลา+กลองปูจา ความงดงามที่ลงตัว
เดียร์และน้ำมนต์บอกว่า ถึงวันนี้พวกเธอรู้สึกภูมิใจที่สามารถดึงเอกลักษณ์ของชุมชนมาเป็นการแสดงได้ เวลามีงานสำคัญตามประเพณีต่างๆ ชาวบ้านจะมาเชิญชวนให้พวกเธอไปแสดง ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้น ที่ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ได้มีโอกาสพูดคุยกัน
“ถ้าไม่มาเข้าร่วมโครงการก็คงใช้เวลาแว้นรถไปมา สลับกับรับจ้างเก็บลำใย แต่ตอนนี้เปลี่ยนจากแว้นรถมาแบ่งเวลาซ้อมตีกลองปูจาแทน” สายฟ้ายังบอกอีกว่าเขายังชักชวนก๊วนเพื่อนสายแว้นให้มาร่วมตีกลองปูจาด้วย
ส่วนเดียร์ที่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างขี้อาย เวลารำจะตัวสั่นเกร็ง การได้หมั่นฝึกซ้อมทำให้เธอเกิดความมั่นใจ อาการสั่นหายไป กลายเป็นฟ้อนไปยิ้มไปด้วยความภาคภูมิใจในบทเพลงที่พวกเธอแต่งขึ้น
น้ำมนต์เองก็ได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองจากการทำโครงการ คือ ทักษะการตัดต่อวิดีโอ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยลองทำ แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าอบรมทำให้เธอรู้สึกสนใจและกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติม ตัดต่อวิดีโอได้ดีขึ้น ส่วนความกล้าแสดงออกก็มีมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ค่อยพูดกับใคร แต่การได้ลงพื้นที่พูดคุยกับกับชาวบ้านที่ต้องถามข้อมูล ทำให้ต้องกล้า ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ข้อมูล
ส่วนภูมิน้องคนเล็ก ที่พี่ๆ ต่างฝากความหวังไว้ให้สานต่อโครงการก็บอกว่า เขารู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องงานเอกสารที่ทำเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น
“และทำได้ดีด้วย” พี่ ๆ ช่วยกันยืนยัน