- ราชาน้ำท่อม จนกลายมาเป็นแกนนำและพลังสำคัญของชุมชน
- บังพงษ์ ใช้วิธีเดินตามเด็ก เดินพร้อมเด็ก และหนุนให้เด็กเดิน เพื่อชวนเด็กๆ หันหลังให้น้ำท่อม แล้วมาปลูกป่า ทำธนาคารปูม้า
- แนวคิดสำคัญของบังพงษ์คือ ชวนเด็กร่วมคิด ออกแบบ และลงมือกระบวนการเรียนรู้ เขาจะได้ออกแบบชีวิตเอง
ในวงการวิจัยท้องถิ่น สมพงษ์ หลีเคราะห์ มักถูกแนะนำว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล (โหนด) แต่กับชาวบ้านในพื้นที่ ทุกคนรู้จักเขาในนาม บังพงษ์ ทำงานทุกด้านตั้งแต่วิจัยชาวบ้าน การศึกษา เป็นชาวประมง เป็นคุณพ่อลูกสี่ กระทั่งเป็นแกนนำคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่ลงไป เล่น – ตามคำที่บังพงษ์ใช้ – กับกลุ่มเด็กที่ชาวบ้านเป็นห่วงที่สุด คือ ราชาน้ำท่อม
หากถามว่าบังพงษ์ทำอะไรบ้างในพื้นที่ นิ้วมือทั้งสิบอาจนับไม่ครบ แต่ประเด็นที่เราลงพื้นที่ชวนคุยในวันนี้ คือการใช้ ‘วิถีวิจัย’ ทำงานกับเยาวชนกลุ่ม ‘ราชาน้ำท่อม’ และพี่เลี้ยงในชุมชน เพื่อสร้างการจัดการเรียนรู้ด้วยชุมชนเอง
เดินตามเด็ก เดินพร้อมเด็ก และ หนุนให้เด็กเดิน คือโมเดลที่บังพงษ์ยึดเป็นแก่นแกนในการทำงาน และถ่ายทอดวิธีคิดนี้ให้กับเครือข่ายคนทำงานในชุมชน
ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเยาวชนที่ใช้น้ำท่อมลดลงจริงหรือเปล่า แต่งาน มหกรรมเยาวชน ‘ทนแลม้ายด้าย’ (Rise Up the Chance) จังหวัดสตูล วันที่ 26-27 มกราคม 2562 ณ โรงเรียนอนุบาลสตูล มีผู้เข้าร่วมงานมากหน้าและหลากหลาย ทั้งผู้ปกครองที่มาส่งบุตรหลานร่วมกิจกรรม, เยาวชนที่บิดมอเตอร์ไซค์มาจอดเรียงแถวโรงเรียน และหน่วยงานจากภาครัฐ โดยเฉพาะสายปกครองอย่างตำรวจ ยังเข้ามาร่วมงาน ทั้งหมดนี้อาจแปลได้ว่า มหกรรมเยาวชนดังกล่าว ได้ใจกลุ่มวัยรุ่นไม่น้อยเลยทีเดียว
ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคนในพื้นที่สบายใจกับสถานการณ์เยาวชนจริงหรือไม่ แต่วิธีคิดและกระบวนการทำงานของโหนดสตูลยังน่าสนใจ โดยเฉพาะนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในชุมชน
พร้อมกันนี้ บังพงษ์ยังเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล โปรเจ็คท์นำร่องปฏิรูปการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นช่วงเวลาอันดีที่จะสอบถามกับเขาว่า คนทำงานในสตูลมีวิธีคิดจัดการศึกษา ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร และการจัดการความรู้โดยชุมชน จะเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาภาพใหญ่อย่างไร
จากที่ได้คุยกับชาวบ้านในพื้นที่ จำนวนมากเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์เยาวชนติดน้ำท่อมค่อนข้างน่าเป็นห่วง สถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไร รุนแรงเช่นนั้นจริงหรือ?
อันที่จริงแล้วชาวบ้านกินน้ำท่อมกันเป็นเรื่องปกติ คือกินกันแบบคนทำงาน แต่ถามว่ามันรุนแรงไหม? รุนแรงนะ เด็กที่อยู่ในโรงเรียนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้องเคยลอง เด็กมหา’ลัย ก็กิน บางบ้านเอาลูกไม่อยู่ ให้ต้มกินบนบ้านเลยก็มี ที่รุนแรงที่สุดถึงขั้นสมองไม่ทำงาน ขี้รั่ว ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ปัญหาอยู่ที่วิธีการจัดการ ที่ผ่านมา ถ้าเป็นสายการปกครองแบบรัฐ จะเอาเด็กไปเข้าค่ายทหาร เด็กกลับมาจากค่ายก็แค่เพิ่มเครือข่ายน้ำท่อมต่างตำบล ต่างอำเภอ เอาง่ายๆ ไม่มีใครอยากเอาลูกตัวเองไปเข้าค่ายทหารเพื่อให้เลิกน้ำท่อมเลย ส่วนสายศาสนาทำยังไง? ก็เอาเด็กไปเข้ามัสยิด ไปเข้าวัด สถานการณ์ในสตูลเป็นแบบนี้ กลายเป็นความเอือมระอา ผู้นำก็หาทางออกไม่ได้ แต่เราก็เห็นโจทย์แบบนี้แล้ว จะทำยังไง
คุณพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มราชาน้ำท่อมในพื้นที่สาธารณะหลายครั้งว่าใช้โมเดล เดินตามเด็ก เดินพร้อมเด็ก และ หนุนให้เด็กเดิน คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร?
ก่อนเราจะทำงานโครงการชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ช่วงนั้นมีเด็กกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า ราชาแห่งน้ำท่อม หรือ เจ้าแห่งน้ำท่อม สูตรแต่ละสูตร พวกรู้หมด บังหมาน บังยูนหนา บังจำปา แกนนำชาวบ้านขณะนั้นอยากทำอะไรกับเด็กกลุ่มนี้ อยากให้พวกเขาเดินมาอีกทาง แกนนำชาวบ้านกลุ่มนี้ใช้เวลาอยู่สองปี พวกเด็กๆ จึงเริ่มรวมกลุ่มทำธนาคารปูม้า ทำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน จากเด็กน้ำท่อมกลายเป็นคนที่ต้องกล่าวรายงานกิจกรรมปลูกป่ากับนายอำเภอด้วยตัวเอง
พี่เลยชวนแกนนำกลุ่มนั้นถอดบทเรียน อยากรู้ว่าพวกเขาทำงานกับเด็กยังไง จึงค่อยรู้ว่า พวกเริ่มต้นจากการเข้าไปนั่งคุยกับเด็ก เด็กไปรวมกลุ่มในป่า พวกนี้ตามหมด ไปนั่ง ไปชวนคุย ไม่ต่อว่า แต่ไป ‘เดินตามเด็ก’ คือไปทำความเข้าใจและศึกษาว่าเด็กเป็นยังไง
จนตอนนั้นพวกบังรู้หมดว่าสูตร (ผสมน้ำท่อม) อะไรเป็นอะไร พี่เลี้ยงต้องทำยังไงให้เขาไว้ใจจนให้เราไปนั่งอยู่กับเขา นั่งในวงของเขา เขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ แต่เขาไว้วางใจว่าคนคนนี้ไม่เอาตำรวจมาจับแน่นอน คนคนนี้ไม่ตีตรา นี่คือ ‘พี่เลี้ยง’
พอเด็กเริ่มไว้ใจ เริ่มคุยด้วย พี่เลี้ยงก็เริ่มชวนเด็กทำกิจกรรม ช่วงนี้พี่ใช้คำว่า ‘เดินพร้อมเด็ก’ พาเด็กไปทำนู่นทำนี่ พอเด็กเริ่มทำกิจกรรม ก็เริ่มให้เขาจัดตั้งกลุ่ม จัดตั้งองค์กร ถ้าจำไม่ผิด ช่วงนั้นคือกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าเลน เด็กกลุ่มนี้เริ่มเขียนและทำโครงการ อันนี้คือขั้นที่สาม ขั้น ‘หนุนให้เด็กเดิน’ พอถึงขั้นนี้ มันก็ไปตาม process แล้ว และคิดว่าโมเดลของ ‘ราชาน้ำท่อม’ คือทางออกนะ
ช่วงนั้น อาจารย์ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เอาเด็กจาก 3 จังหวัดมานั่งแลกเปลี่ยนกับเด็กกลุ่มราชาน้ำท่อมและกลุ่มพี่เลี้ยง สิ่งที่เห็นเลยคือ เด็ก 3 จังหวัดบอกว่าปัญหาหนึ่งคือวิธีคิดของเด็ก กับ วิธีคิดของผู้ใหญ่ สวนทางกันอยู่
ก่อนหน้านั้นเด็กมองว่าผู้ใหญ่ขี้ด่า ขี้บ่น มองเด็กในทางลบ ผู้ใหญ่ก็มองว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่เอาไหน ไม่ได้เรื่อง เป็นการมองที่สวนทางกันตลอด แต่พอมาทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กสะท้อนว่าผู้ใหญ่กลุ่มนี้ (กลุ่มพี่เลี้ยงราชาน้ำท่อม) เป็นคนที่ช่วยเหลือดูแลมาตลอด เชื่อว่าเด็กกลุ่มราชาน้ำท่อมทำอะไรได้เยอะแยะ พอตัว process ทำให้มุมมองเปลี่ยน พอมุมมองเปลี่ยน ก็ทำให้คนเข้าหากันได้ เลยมองว่ากระบวนการแบบนี้น่าจะเป็นชุดความรู้ให้กับสังคม ไม่ใช่แค่วิธีจัดการจากสายปกครอง สายศาสนาที่ทำอยู่
ช่วงเวลาเดียวกัน มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้ามาพูดคุยให้ทำงานสึนามิช่วงสุดท้าย (โครงการชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ) เลยได้เอาบทเรียนนี้ไปทำกับหลายชุมชนที่ประสบเหตุสึนามิ พอมีโครงการ active citizen เข้ามา เราก็บอกกับน้องๆ ในทีมเลยว่า เราจะไม่ทำกับเด็กโดยตรง แต่ต้องหาคนในพื้นที่ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก
ทำไม?
ย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่น เคยทำงานที่ชุมชนหัวหิน (ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล) โครงการส่งเสริมชุมชนจัดการทรัพยากรชายฝั่ง จังหวัดสตูล ตอนนั้นมีปัญหาการใช้อวนรุนจับปลา (เครื่องมือจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่ ทำให้สัตว์น้ำทุกชนิดติดไปกับอวนรุน รวมถึงเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านด้วย) อวนรุนเข้ามาถึงชายฝั่งและส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน เป็นปัญหามาตลอด
หลังอวนรุนหยุด ทรัพยากรชุมชนฟื้น พี่ก็ทำค่ายเยาวชน ชวนเด็กไปเรียนรู้ทรัพยากร โดยมีน้องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาเป็นพี่เลี้ยง และพี่ก็ชวนเด็กที่บ้านมาเข้ามาร่วมกลุ่มด้วย ซึ่งเด็กรุ่นนั้นก็คือพี่เลี้ยงในโครงการ active citizen ตอนนี้นะ (หัวเราะ)
แต่พอพี่เลี้ยงออกจากชุมชน เด็กไม่มีพี่เลี้ยง พี่น้องที่อยู่ในหมู่บ้านตอนนั้นแค่ทำงานสนับสนุน เช่น เวลาเด็กทำกิจกรรมก็หุงข้าวให้ หาฟืนให้ แต่ให้คำปรึกษาในเชิงกระบวนการไม่ได้ แต่ถ้าพี่เลี้ยงอยู่ในชุมชน เราอยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่เป็นไร ยังมีบังยูนหนาน ยังมีบังจำปาอยู่ในพื้นที่ เด็กทำกิจกรรมได้ตลอด พี่เลี้ยงที่ทำงานกับเด็กจึงต้องเป็นคนที่ทำงานได้ต่อเนื่อง ต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน
พอมาทำงานแบบนี้ จึงต้องฝึกให้ชาวบ้านเป็นพี่เลี้ยงในความหมายนี้ ไม่ใช่แค่เป็นหน่วยสนับสนุนแต่ต้องจัดการเนื้อหาได้ด้วย สุดท้าย เด็กหลายกลุ่มยังผูกพันกับพี่เลี้ยง ไม่มีเรา เขาก็ยังทำงานกันได้
กลับไปเรื่องการทำงานกับราชาน้ำท่อม วิธีคิดอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือการปรับความคิด ไม่ตัดสินตีตราฝ่ายตรงข้ามไปก่อน?
ไม่ใช่เลย ไม่ใช่การเข้าไปคุยเรื่องน้ำท่อม การเดินตามเด็กคือการทำความเข้าใจเด็ก เด็กกลุ่มนี้อยู่ยังไง ทำอะไร เข้าไปสร้างความไว้วางใจกับเด็ก ถ้าผู้ใหญ่เข้าไปแบบมีทัศนคติชุดหนึ่ง เด็กไม่มาหรอก แต่นี่เราเข้าไปเพื่อสร้างความไว้วางใจ ถ้าเขาไว้วางใจเรา เขาก็มา ช่วงแรกๆ พี่เลี้ยงต้องไปปลุกถึงที่นอน ให้เด็กมานั่งคุย ถ้าจะทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ ไม่ใช่แค่การประชุม เดินตามเด็กคือการเข้าหา สร้างความไว้วางใจกับเด็ก
เป้าหมายที่หนึ่งคือทำงานกับเยาวชน แต่เป้าหมายที่สอง คือเรื่องการจัดการชุมชนด้วยหรือเปล่า?
ประเด็นหลักคือ สังคมยังหาทางออกเรื่องนี้ไม่ได้ เราพยายามเสนอว่าวิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะ
แต่ระหว่างการทำงานกับเด็ก ก็เท่ากับสร้างองค์กรชุมชนเพื่อทำงานกับเด็กด้วย นี่คือสิ่งที่คาดหวัง ไม่ได้มองแค่โปรเจ็คท์ใดโปรเจ็คท์หนึ่ง เราต้องการเห็นภาพการจัดการที่ถึงแม้หมดโปรเจ็คท์ไปแล้ว โครงการก็ยังเดินไปอย่างต่อเนื่อง จะยังมีกลุ่มคน มีกลไกที่ทำงานเรื่องนี้
ฉะนั้นสิ่งที่พี่คาดหวังคือ ถ้ากำหนดว่าต้องทำงานนี้สามปี ปีที่หนึ่งและสอง ต้องเห็นขั้นบันได ต้องเห็นกลไกชุมชนและเครือข่าย ไม่ใช่แค่เกิดกลุ่มเยาวชน แต่เกิดกลไกที่ทำงานด้านเด็ก
ระบบการศึกษาในห้องเรียน แก้ปัญหาราชาน้ำท่อมได้ไหม
ไม่ได้มองว่าเรียนในห้องหรือไม่เรียนในห้อง เรียนที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีกระบวนการเรียนรู้ มันก็ไม่ต่างกัน การเรียนรู้ส่วนหนึ่งไม่ขึ้นกับพื้นที่ ถ้าออกมาเรียนใต้ต้นไม้ ออกมาเรียนข้างนอกกับพ่อกับแม่ แต่สุดท้ายคุณยังใช้วิธีสอนแบบสั่งการ หรือ top-down กับเรียนในโรงเรียนก็จริง แต่ครูไม่สั่งการ ไม่ top-down เลย อันไหนคือกระบวนการเรียนรู้? การเรียนรู้ในห้องเรียนแต่พาเด็กลงพื้นที่ เก็บข้อมูล ทำวิจัย มันก็ดีกว่ามาเรียนใต้ต้นไม้กับพ่อแม่แต่ top-down มันอยู่ที่ตัว process หรือกระบวนการมากกว่า
ตอบคำถามคือ ‘ได’ ตอนที่เราทำเรื่องน้ำท่อม เราไม่ได้คุยเรื่องน้ำท่อม เราคุยเรื่องพื้นที่ทำกิจกรรม เมื่อก่อนเด็กไม่มีพื้นที่ คีย์เวิร์ดคือสร้างพื้นที่ให้เด็ก พื้นที่ให้ได้พูดคุย ได้แลกเปลี่ยน ได้สร้างสัมพันธ์ เด็กรวมตัวกันกินน้ำท่อม นั่นคือการรวมกลุ่มนะ คือการจัดตั้งวิธีหนึ่ง แต่นี่เรามาจัดตั้งวิธีหนึ่ง แย่งพื้นที่กัน
พื้นที่นี้จะชวนให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถ้าคิดได้ เขาก็ออกแบบชีวิตตัวเองได้ พี่มองว่า ไม่ว่าคุณจะเรียนรู้ จะใช้ชีวิตยังไง กระบวนการเรียนรู้ต้องทำให้คนคิดได้ การออกแบบชีวิตคือการคิด คุณจะกิน จะอยู่ จะช่วยเหลือใคร จะไปทางไหน
อีกหนึ่งบทบาทคือเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล โปรเจ็คท์นำร่องปฏิรูปการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ สตูลมีวิธีคิดจัดการศึกษา ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร
สตูลให้เด็กเรียนรู้ผ่านงานวิจัย ใช้นวัตกรรมนำ ถามว่าคืออะไร? มันคือนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ active learning กระบวนการที่เราไม่ top-down เด็ก ให้เด็กตั้งโจทย์ด้วยตัวเองและเลือกเรื่องที่ทำโจทย์วิจัย กระบวนการคือ ทำยังไงให้เด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ลงไปค้นสืบค้นข้อมูล พื้นที่นวัตกรรมของจังหวัดสตูลจะเริ่ม 10 โรงเรียนก่อน ปีหน้าจะขยายเป็น 50 และปีต่อไปจะทำทั้งหมดและขยายลู่ด้วย คือรวมทั้งการศึกษานอกระบบ (กศน.) และโรงเรียนมัธยมด้วย
สิ่งหนึ่งคือการเปลี่ยนชุดความเชื่อ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ ปัญหาอยู่ที่ความเชื่อ เช่น ความเชื่อ “ถ้าไม่เรียนหนังสือแล้วจะเอาอะไรไปสอบ?” การเรียนรู้แบบนี้ยังฝังในตัวพ่อแม่ ครู ผู้บริหารการศึกษา ถามว่าเปลี่ยนความเชื่อยากไหม? มันก็ต้องไปปรับในโครงสร้างการศึกษา ในอนาคตต้องเปลี่ยนวิธีสอบ ไม่ใช่การเอาคณิตศาสตร์มาสอบแต่เอาการทำงานมาสอบ
ในฐานะนักจัดการชุมชน จะนำกระบวนการวิจัยชุมชนเข้าไปในการศึกษาอย่างไร
พี่คือคนทำการศึกษาในโรงเรียน แต่เอาชุดความรู้ฝั่งการศึกษาทางเลือกมาใช้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ลุกขึ้นมาจัดการเรียนรู้เองได้ ชาวบ้านมีความรู้ แต่ยังไม่ใช่คนจัดการความรู้ ฉะนั้นคนที่ขาดโอกาสก็ต้องอยู่ในระบบโรงเรียนต่อไป แต่คนฝั่งนี้ (การจัดการความรู้ในชุมชน) ก็ต้องเปลี่ยนบ้าง ไม่งั้นมันก็จะได้แค่นี้
ความตั้งใจคือ สร้างกลไกเด็กที่ทำงานกันเป็นเครือข่าย มีเด็กหมุนเวียนตลอดและมีเครือข่ายพี่เลี้ยงทำงานแต่ละจังหวัด
ถ้าคุณจะทำงานกับเด็กสตูล คนกลุ่มนี้จะเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันลุกขึ้นมาบอกกับผู้ว่าฯ นายก อบจ. หรือคนทำงานอื่นๆ ว่าต้องทำยังไง ไม่ใช่พี่นะ แต่เป็นพี่เลี้ยงในชุมชน ให้เครือข่ายเป็นคนขับเคลื่อนความรู้ ฉะนั้น ชุดการทำงานนี้ (การขับเครื่อนพื้นที่นวัตกรรม) ต้องออกแบบกระบวนการที่ไม่ได้เล่นกับเยาวชนอย่างเดียว แต่เล่นกับผู้ใหญ่ให้มาสร้างกลไกเหล่านี้ด้วย
หมายความว่าให้ชุมชนมีกระบวนการเรียนรู้แบบนี้แล้วมันส่งต่อไปสู่ระบบโรงเรียน ให้งานสองชิ้นนี้ไปด้วยกัน
ชุดพี่เลี้ยงในรอบนี้ หลายคนเปลี่ยนจากคนที่นั่งเฝ้าเด็กอย่างเดียว กลายเป็นคนจัดกระบวนการ ลงรายละเอียดได้ เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเด็กได้ ซึ่งไม่ใช่ครูนะ ซึ่งต่อไปคนเหล่านี้ (ชุมชน) จะออกไปจัดการศึกษาเองได้ ต่อไปมันจะมีครูสามคน ครูในโรงเรียน ครูพ่อแม่ และครูชุมชน ซึ่งตอนนี้ม๊ะเดียร์ (ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี พี่เลี้ยงเยาวชนบ้านทุ่ง) ก็เป็นครูชุมชนแล้วนะ
การศึกษาไม่ได้ขยับแค่ในโรงเรียน?
คุณครูที่โรงเรียนก็ไปร่วมงาน active citizen นะ มันกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกระบบ
คำว่าพื้นที่นวัตกรรม ไม่ใช่แค่การศึกษาในระบบ พื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูลคือ นวัตกรรมที่จะทำให้ทุกระบบการศึกษาต่อจิ๊กซอว์เชื่อมกันหมด และกำหนดโดยคนสตูลไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ ฉะนั้น คนที่ทำ active citizen ในอนาคตเขาจะเป็นเครื่องมือไปต่อกรกับคนทำการศึกษาในระบบ ว่าไม่ใช่หน้าที่ของคุณ นี่เป็นลูกหลานเรา เรามีสิทธิกำหนด ไม่ใช่คุณกำหนด