- แก่นของ Board Game คือ การแปลงกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นเกม (Gamification) เป็นการมองกลับข้างว่าบอร์ดเกมหรือพฤติกรรมของผู้เล่นกำลังบอกอะไรได้บ้าง นำไปสู่ข้อค้นพบอะไรได้หรือไม่
- ในวงการแพทย์ มีการศึกษาโรคซึมเศร้าและออทิสติกโดยใช้บอร์ดเกม คือ เมื่อคนเหล่านี้เจอเกมจะมีปฏิสัมพันธ์กับเกมอย่างไรบ้าง เกี่ยวพันกับประเภทของเกมหรือไม่ มีเกมใดที่ทำให้อาการหรือการปรับตัวได้ดีขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้กำลังเพิ่มมากขึ้นในโลกที่เกมกำลังอยู่ใกล้ตัวแทบทุกคน
- คุยกับ สฤณี อาชวานันทกุล เจ้าของผลงานหนังสือ BOARD / GAME / UNIVERSE จักรวาลกระดานเดียว ถึงการเรียนรู้ในจักรวาลบอร์ดเกม และพื้นที่สันทนาการที่จะเปลี่ยนการเล่นให้เป็นทักษะอย่างไร
บนผืนกระดาน ตัวหมาก และกติกา ไม่ได้สร้างแค่ความบันเทิง แต่ Board Game เป็นสังเวียนแห่ง ‘การเรียนรู้’ สำหรับทุกคน
ตั้งแต่ Board Game ระดับพื้นฐานอย่างบันไดงู หรือเกมเศรษฐี ไปจนถึงบอร์ดเกมที่ล้ำกว่าทั้งการออกแบบสวยสะดุดตาและกติกาสุดซับซ้อน ล้วนถูกสร้างมาเพื่อความบันเทิงเป็นเหตุผลแรกทั้งสิ้น
ทว่าลึกซึ้งกว่าการได้สันทนาการบนเกมกระดาน ตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งทศวรรษที่ Board Game ได้รับความนิยมในประเทศไทย มี Board Gamer มากมายได้พัฒนาทักษะต่างๆ โดยไม่รู้ตัวไปพร้อมกับรอยยิ้ม
Welcome on Board…Game
สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการ เจ้าของผลงานหนังสือ BOARD / GAME / UNIVERSE จักรวาลกระดานเดียว อธิบายถึงการได้ทำความรู้จักบอร์ดเกมตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนซึ่งนับเป็นยุคเริ่มต้นที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักนัก ด้วยความบังเอิญไปร้านบอร์ดเกมร้านหนึ่งพร้อมกับเพื่อนที่ไม่ชอบเกมมาก่อน หลังจากได้ลองเล่นเธอถามเพื่อนว่าถ้าให้เล่นอีกจะเล่นไหม คำตอบที่ได้คือ “เล่น”
“มันน่าคิดว่ามีเกมที่ดึงดูดเพื่อนเราที่เป็นคนไม่ชอบเล่นเกมได้ และเป็นเกมที่ไม่ต้องใช้อะไร หลังจากนั้นก็ได้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับบอร์ดเกมสมัยใหม่ เลยรู้ว่ามีเยอะมาก ไม่ใช่แค่เกมเศรษฐีหรือบันไดงูแล้ว บอร์ดเกมในความคิดของเราสมัยก่อนจะเน้นเรื่องโชค แต่ว่าบอร์ดเกมสมัยใหม่บางเกมไม่เกี่ยวกับโชคเลยด้วยซ้ำ มันเป็นโลกที่มีเสน่ห์มากนะ”
ความนิยมบอร์ดเกมในไทยเริ่มราวๆ 6 – 7 ปีก่อน หรือประมาณปี พ.ศ. 2557 – 2558 สฤณีบอกว่าในแต่ละปีวงการบอร์ดเกมมีพัฒนาการเยอะมาก เนื่องจากตลาดโตขึ้น ทั้งผู้ผลิตและนักพัฒนาเกมก็ต้องยกระดับตัวเองมากขึ้นเพื่อคิดลูกเล่นใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้คนเล่น บนรูปแบบพื้นฐานของบอร์ดเกมที่บางเกมใช้ไพ่, ทอยลูกเต๋า, เดินหมาก จุดต่างจึงอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์
“ส่วนตัวชอบบอร์ดเกมที่มีความหลากหลายของกลยุทธ์ที่เราใช้ได้ หรือความสนุกที่คาดเดาไม่ได้เมื่อเทียบกับเวลาที่ลงไปในการอ่านกฎ หมายความว่ากฎอาจซับซ้อนก็ได้ แต่หลายเกมไม่ได้ซับซ้อน อธิบายจริงๆ แค่ 15 นาทีก็รู้เรื่องแล้ว แต่พอเล่นจริง มันมีเสน่ห์ มีความหลากหลาย คาดเดาไม่ได้ เล่นใหม่ก็ไม่เบื่อ คิดว่านี่คือพัฒนาการอย่างหนึ่งของวงการบอร์ดเกม
เสน่ห์อีกอย่างคือรูปลักษณ์หน้าตา เมื่อก่อนอาจไม่ดึงดูด แต่เดี๋ยวนี้กราฟิกกลายเป็นวงการที่แข่งกันเยอะมาก ถ้าจะทำบอร์ดเกมเดี๋ยวนี้ไม่ได้ดูแค่กติกาว่าสนุกไหม แต่ดูเรื่องตัวเล่น เรื่องกราฟิก เรื่องอุปกรณ์ มีนักวาดหลายคนสร้างชื่อจากการออกแบบบอร์ดเกมเลย คล้ายเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลย ไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องสื่อสารได้”
ในระดับสากล วงการบอร์ดเกมกำลังเติบโตต่อเนื่อง หนึ่งในเหตุผลหลักที่หลายคนหลงรักบอร์ดเกมคือความแตกต่างจากเกมคอมพิวเตอร์หรือเกมคอนโซลอื่นๆ ตรงที่กฎกติกาของบอร์ดเกมโปร่งใส เมื่อเปิดกล่อง โลกของเกมกระดานเกมนั้นมีกติกาเดียวกัน ไม่หมกเม็ด ในขณะที่เกมคอมพิวเตอร์หรือเกมคอนโซล คอมพิวเตอร์อาจโกงเราอยู่ก็ได้เพียงแต่เราไม่รู้
สำหรับเมืองไทย มีสิ่งที่น่าสนใจคือ Board Game Eco System หรือว่า “ระบบนิเวศของบอร์ดเกม” จาก 10 ปีก่อนที่มีบอร์ดเกมในไทย แต่จำนวนไม่มากและเป็นเพียงกลุ่มผู้เล่น มาถึงวันนี้มีถึงขนาด “คาเฟ่บอร์ดเกม” มีร้านมากมาย มีร้านออนไลน์ มีผู้ผลิต มีนักออกแบบชื่อดัง
ความสนุกทุกการเรียนรู้
“Board Game” ก็คล้ายเกมชนิดอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิง แต่อรรถประโยชน์ของบอร์ดเกมมีมากกว่านั้น แต่ถึงอย่างไร ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเกมและบอร์ดเกมอย่างสฤณีก็มองว่าสาระในความบันเทิงของบอร์ดเกมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามยัดเยียดให้เป็น แม้ว่าจะมีบางเกมที่เน้นสร้างเพื่อเป็นสื่อการสอนด้วยซ้ำ กล่าวได้ว่า ทุกเกมมีประโยชน์แม้จะไม่ได้เกิดจากความตั้งใจให้เป็นเกมที่มีประโยชน์
ประโยชน์ของเกมแยกย่อยได้เป็นหลายอย่าง อาทิ ภาษา, การวางแผน, การตัดสินใจ, เศรษฐศาสตร์ และอีกมากมาย
“ยกตัวอย่างบอร์ดเกมที่ต้องจัดการทรัพยากร เริ่มเกมเราจะมีทรัพยากรน้อยมากหรือไม่มีเลย แล้วเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ระหว่างทางเราต้องเอาจุดตั้งต้นที่มีของน้อยมาก ทำอย่างไรให้มีทรัพยากรเยอะขึ้น และระหว่างทางมีการแลกได้แลกเสียเหมือนกัน บางอย่างทำอย่างนี้แล้วได้ทรัพยากรเยอะ แต่เสี่ยงสูง ถ้าพลาดเราอาจเสียไปหมด
เกมก็สอนเรื่องการวางแผน การรับมือกับความไม่แน่นอน สอนเรื่องการจัดการความเสี่ยง สอนเรื่องการมองให้เห็นทางเลือกต่างๆ เรื่องเหล่านี้มันสอนด้วยตัวมันเอง โดยที่คนออกแบบไม่ได้ตั้งเป้าแบบนี้ด้วยซ้ำ การดึงทักษะพวกนี้ออกมา เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสนุก
ถ้าจะพูดรวมๆ ความสนุกของเกมมันจะสนุกได้อย่างไร ส่วนตัวคือ เกมจะสนุกได้ต้องไม่จำเจ สมมติถ้าคุณเริ่มเล่นเกมอะไรสักอย่างแล้วมองเห็นล่วงหน้าว่าทำแบบนี้แล้วชนะแน่ มันไม่สนุก มันไม่ใช่เกม เพราะฉะนั้นความสนุกจึงอยู่ที่ความไม่แน่นอน เราทำอย่างนี้ดูแล้วอาจเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ต้องรับมือ ทักษะที่ใช้รับมือกับความไม่แน่นอน เป็นทักษะที่สำคัญอยู่แล้ว เพราะชีวิตคนไม่แน่นอน”
บนกระดานมักจะมีความสนุกสนานเป็นตัวตั้ง โดยที่คนไม่รู้ตัวว่าเรียนรู้อะไรอยู่ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ในชีวิตจริง การรับมือกับความไม่แน่นอนอาจย้อนกลับไปมองได้ว่าเป็นผลผลิตมาจากบอร์ดเกมก็ได้
ด้วยความที่บอร์ดเกมมีหลากหลายประเภท ประโยชน์จึงมีสารพัดด้าน อีกตัวอย่างคือบอร์ดเกมแนว Co-Op (เกมที่ต้องช่วยกันเล่น) เมื่อกางกระดานจะมีเป้าหมายให้ช่วยกันฟันฝ่า เสน่ห์ของเกมแนวนี้คือได้ร่วมมือกันไปให้เป้าหมาย และในบางเกมยังซับซ้อนอีกชั้นด้วยการเป็นเกมที่ต่างคนต่างเล่น แต่มีบางอย่างต้องร่วมมือกัน อาทิ เกมตกปลาที่ถ้ามือใครยาวสาวได้สาวเอาสุดท้ายปลาก็จะหมดทะเล รอบต่อไปก็จะไม่มีปลาให้ตก เป็นต้น
บอร์ดเกม 3 สไตล์ 3 กลุ่มเป้าหมาย
ในจักรวาลของบอร์ดเกมแบ่งได้มากมายหลายประเภท ขึ้นอยู่กับจะใช้เกณฑ์อะไรเพื่อแบ่ง แต่สำหรับสฤณีแบ่งบอร์ดเกมออกเป็น 3 ประเภทกว้างๆ ดังนี้
1. เกมครอบครัว (Family Game)
เป็นเกมที่มีกฎกติกาไม่ซับซ้อน อธิบายให้คนที่ไม่เคยเล่นเข้าใจได้ภายใน 5-10 นาที แต่ก็ไม่ง่ายจนพ่อแม่รู้สึกว่าไม่ท้าทาย ในเมื่อถูกออกแบบมาให้เด็กเล่นได้ผู้ใหญ่เล่นดี บอร์ดเกมแนวครอบครัวจึงมักจะมีสีสันสวยงาม เน้นให้ผู้เล่นต้องพูดคุย ถกเถียง หรือหาโอกาสแกล้งกันค่อนข้างมากระหว่างเล่นเนื้อเรื่อง ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงหรือประเด็นหนักๆ เล่นจบได้ภายใน 15-60 นาที
เกมประเภทนี้จึงมีตลาดกว้างที่สุด ชวนให้เพื่อนๆ ที่ไม่เคยเล่นบอร์ดเกมมาลองเล่นได้ง่ายที่สุด เกมครอบครัวจึงเป็นเหมือนพระเอกที่ทำให้บอร์ดเกมสมัยใหม่เป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้นทั่วโลก
2. เกมวางแผน (Strategy Game)
เป็นเกมที่ต้องใช้ทักษะการวางแผนมากกว่าเกมครอบครัว เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเล่นเกมที่ท้าทายขึ้น โดยเฉพาะแนววางแผน, แนวจัดทัพโจมตี หรือเกมกระดานคลาสสิกอย่างหมากรุกเป็นทุนเดิม
เกมวางแผนอาจมีดวงเป็นส่วนประกอบบ้าง ใช้เวลาเล่น 60-120 นาที แต่บางเกมอาจยาวถึง 180 นาที หรือเป็นมหากาพย์ 5-6 ชั่วโมงได้เลย
เกมวางแผนนับได้ว่าเป็นบอร์ดเกมที่เก่าแก่ที่สุด แรกเริ่มถูกใช้เพื่อจำลองสถานการณ์สงครามก่อนรบจริงสำหรับเหล่านายทหาร รายละเอียดบนกระดานจึงต้องสมจริงที่สุด ครอบคลุมการตัดสินใจต่างๆ ที่เป็นไปได้ของฝ่ายศัตรู หลังจากนั้นเกมวางแผนก็แพร่หลายไปในกลุ่มคนชอบเกมสงคราม ราวทศวรรษ 1980 ในยุคนั้นเกมวางแผนที่เล่นกันนอกฐานทัพจะใช้กระดานขนาดใหญ่จำลองสมรภูมิรบ มีตัวเล่นหรือ Counter ทำจากกระดาษ แทนหน่วยทหาร เครื่องบินรบ อาวุธยุทโธปกรณ์
ช่วงยุคบุกเบิกนักเล่นเกมแนวนี้จะไม่เรียกมันว่าบอร์ดเกม แต่จะเรียกว่า “เกมซิมูเลชัน” (Simulation) หรือ “เกมจำลองสงคราม” เพื่อให้แตกต่างจากเกมแนวครอบครัวสมัยนั้น
ใครที่อยากเล่นเกมวางแผนต้องใช้เวลากับความอุตสาหะอย่างมาก เพราะมีตัวเล่นเยอะ กฎกติกามากมาย ระหว่างเล่นต้องคอยคิดคำนวณตัวแปรต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อประเมินว่ามีใครเข้าเงื่อนไขชนะหรือยัง
ต่อมาเมื่อบอร์ดเกมสมัยใหม่เริ่มได้รับความนิยม ประกอบกับมีผู้เล่นหลายคนที่อยากลองเล่นเกมที่ท้าทายขึ้น นักออกแบบบอร์ดเกมจึงตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ด้วยการยกระดับเกมวางแผนให้มีตัวเล่นและบอร์ดที่สวยงามไม่แพ้เกมครอบครัว มีเรื่องราวที่ไม่เน้นความรุนแรง เช่น แข่งขยายเครือข่ายทางรถไฟ และ ย่อยกฎกติกาที่จุกจิกและเข้าใจยากให้ง่ายขึ้น
3. ปาร์ตี้เกม (Party Game)
ถูกออกแบบมาสำหรับเล่นเป็นหมู่คณะ ปกติหมายถึง 8-20 คนหรือมากกว่า ปาร์ตี้เกมที่สนุกคือเกมที่อธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้ภายใน 5-10 นาที และมีอุปกรณ์ไม่มาก
เกมประเภทนี้อาจมีดวงเกี่ยวข้องด้วยเล็กน้อย แต่ส่วนมากต้องใช้มนุษยสัมพันธ์และปฏิภาณไหวพริบ เช่น หากเป็นเกมที่ต้องจับตัวสายลับที่แฝงตัวมา ก็ต้องคอยสังเกต น้ำเสียง สีหน้า แววตาท่าทางของเพื่อนว่าส่อพิรุธหรือไม่ น่าจะเป็นสายลับที่แฝงตัวมาตามเนื้อเรื่องของเกมหรือเปล่า
ความสนุกของปาร์ตี้เกมจึงละม้ายคล้ายกับความสนุกของงานปาร์ตี้ คือได้สังสรรค์กับคนอื่นอีกหลายคน
รวมทุกศาสตร์บนกระดานเกม
หากนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามากะเทาะแก่นของ Board Game สฤณีบอกว่ามองได้สองด้าน คือ ในมุมผู้ผลิต ผู้ออกแบบ ว่าจะสอดแทรกข้อค้นพบลงไปในเกมอย่างไรได้บ้าง ทว่าอีกด้านคือการแปลงกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นเกม (Gamification) เป็นการมองกลับข้างว่าบอร์ดเกมหรือพฤติกรรมของผู้เล่นกำลังบอกอะไรได้บ้าง นำไปสู่ข้อค้นพบอะไรได้หรือไม่ เช่น ปัจจุบันมีหลายคนศึกษาเศรษฐศาสตร์ในโลกของบอร์ดเกม เนื่องจากมีหลายเกมมีระบบเศรษฐกิจอยู่ในเกม เพราะต่อให้เป็นระบบเศรษฐกิจในเกม แต่มีแรงจูงใจในการแลกเปลี่ยนจริงๆ
“บางเกมเป็นพื้นที่วิจัยของนักมานุษยวิทยาหรือนักสังคมศาสตร์สายอื่น เพื่อที่จะศึกษาพฤติกรรมของคน เพราะเมื่อเป็นโลกของเกม จึงสร้างสถานการณ์จำลองบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ง่ายบนโลกความจริง เช่น สถานการณ์ความขัดแย้ง, การหักหลัง ซึ่งในโลกจริงอาจเป็นความบังเอิญ หรือนักวิจัยอยากศึกษาคนในยุคสงคราม มันยากมาก แต่ในสถานการณ์จำลองในเกม นำมาศึกษาประเด็นพวกนี้ได้ค่อนข้างดี เพราะมีงานวิจัยชี้ว่าต่อให้เป็นสถานการณ์จำลอง เราก็ไม่ได้ชิลๆ หรือไม่เดือดร้อน เราต่างมีแรงจูงใจเสมือนหนึ่งตกอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ”
แม้ในวงการแพทย์ มีการศึกษาโรคซึมเศร้าและออทิสติกโดยใช้บอร์ดเกม คือ เมื่อคนเหล่านี้เจอเกมจะมีปฏิสัมพันธ์กับเกมอย่างไรบ้าง เกี่ยวพันกับประเภทของเกมหรือไม่ มีเกมใดที่ทำให้อาการหรือการปรับตัวได้ดีขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้กำลังเพิ่มมากขึ้นในโลกที่เกมกำลังอยู่ใกล้ตัวแทบทุกคน
“ถ้าพูดถึงในระดับโรงเรียน มีโรงเรียนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่ได้มองว่า ตอนเรียนไม่ให้เล่น เขามองอีกมุมหนึ่งว่าจะให้เกมมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนอย่างไร ก็อาจจะไม่ได้ต่างกับความคิดที่เรารู้สึกว่าโรงเรียนก็ไม่ควรจะเรียนอย่างเดียว เพราะหลายครั้งเด็กได้ความรู้จากการเล่น
พอโรงเรียนมีทัศนคติอย่างนี้ว่าการเล่นเป็นเรื่องสำคัญ ก็ไม่ได้ยากที่เอาเกมไปใส่ในช่วงเวลาเหล่านั้น แต่ถ้าพูดถึงพัฒนาการโดยตรง เช่น ซึมเศร้า, ออทิสติก ก็มีแพทย์ที่ทำ ตรงนี้อาจจะมองในมุมการบำบัด (Therapy) ก็ได้ ว่าในยุคหนึ่งเรามองเรื่องศิลปะบำบัด แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เกมอะไรก็ได้”
ด้วยความที่บอร์ดเกมต้องมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เล่น แน่นอนว่าหลายคนจะได้ทักษะสังคมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม รวมถึงสถานการณ์ในเกมก็อาจทำให้ผู้เล่นได้รู้จักตัวเองในมุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน สฤณียกตัวอย่างเพื่อนของเธอที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นคนกลัวความเสี่ยงมาก พอเล่นบอร์ดเกมแล้วตัวตนจะออกมาชัดเจนมาก ในขณะที่อีกคนกล้าได้กล้าเสีย ทั้งที่ไม่รู้ตัวมาก่อนอีกเช่นกัน บอร์ดเกมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คนไทยชอบเล่นโดยเฉพาะแนว Party Game เพราะด้วยลักษณะนิสัยเฮฮารักความบันเทิง
“มีคนหนึ่งที่รู้จักผ่านบอร์ดเกม เขารู้สึกว่าบอร์ดเกมเป็นช่องทางหนึ่งในการเข้าสังคม ปกติเขาเป็น Introvert เข้าสังคมไม่เก่ง ถ้าไม่ใช่สถานการณ์ในเกม เจอใครเขาก็จะไม่พูด แต่พอเป็นบอร์ดเกม สถานการณ์จำลองทำให้เขากล้าแสดงออกมากขึ้น ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดี”
นอกจากจะทำหน้าที่สร้างความบันเทิงได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว บอร์ดเกมยังสร้างทักษะชีวิตที่ไปใช้ได้จริง เป็นเกมที่มากกว่าเกม