- ไม่ว่าจะเป็นเด็ก Pre School หรือช่วงวัยใด การเล่นคือการเรียนรู้ที่สำคัญของพวกเขา ชวนเปิดแคมป์ท่ามกลางหาดทรายกับชายทะเล ที่ใช้ความสนุกเป็นตัวตั้ง ใช้ Surfing เป็น Learning ใช้ธรรมชาติรอบตัวเป็นสื่อการสอน กับ แพร – เพียงแพร โชติฐ์สถาพรป์ Co-founder ของ Seapiens Camp Khaolak
- นอกจาก ‘เซิร์ฟ’ ที่เด็กๆ จะได้รู้จักมากกว่าแค่การเล่นเซิร์ฟ พวกเขายังได้สวมบทบาทเป็นสำรวจโลกท้องทะเลทั้งบนบกและในน้ำ เรียนรู้ภาพรวมของระบบนิเวศทางทะเล และดีไซน์เซิร์ฟบอร์ดของตัวเอง โดยลงมือทำทุกกระบวนการเหมือนที่โรงงานทำเลย
- “ช่วงวัยก่อนเข้าเรียนสำคัญมากนะคะ เพราะมีผลต่อพัฒนาการของน้อง พอเรามาทำ Seapiens Camp Khaolak ก็เลยอยู่บนพื้นฐานที่ว่าทุกอย่างสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กหมดเลย เราไม่อยากให้วัยเด็กเป็นวัยเด็กที่ธรรมดา แต่เราอยากให้เป็นวัยเด็กที่ได้เรียนรู้ทุกอย่าง เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวัยเด็กคือการสร้างบุคลิก สร้างตัวตนของเขาเมื่อเขาโตขึ้น”
ภาพ : Seapiens Camp Khaolak
นี่คือแคมป์การเรียนรู้สำหรับเด็กริมทะเลเขาหลักที่ใช้ความสนุกเป็นตัวตั้ง ใช้ Surfing เป็น Learning ใช้ธรรมชาติรอบตัวเป็นสื่อการสอน ประสบการณ์ตรงที่เกิดกับเด็กๆ จึงหยั่งลึกและไม่น่าเบื่อ อาจเพราะ Seapiens Camp Khaolak เกิดขึ้นจากความรู้สึกเดียวกันคือ ‘การเรียนรู้ต้องสนุก’ การเข้าแคมป์ที่นี่จึงเป็น Edutainment ท่ามกลางหาดทรายกับชายทะเล
ประมาณ 3 ปีก่อน หลังจากออกจากงานประจำทั้งแอร์โฮสเตสและคุณครูเด็ก Pre School แพร – เพียงแพร โชติฐ์สถาพรป์ Co-founder ของ Seapiens Camp Khaolak ก็ตัดสินใจมาปักหลักสร้างแคมป์เด็กแห่งนี้ ด้วยเหตุผลที่ฝังใจตั้งแต่เมื่อมาเที่ยวเขาหลักครั้งแรก นั่นคือการได้เจอเด็ก 7 ขวบคนหนึ่งเล่นเซิร์ฟ ความสุขและความมุ่งมั่นในเด็กคนนี้ส่งผ่านมาถึงเธอ จนเป็นจุดประกายให้เกิด Seapiens Camp Khaolak
“ตอนมาเที่ยวเขาหลักครั้งแรก เราได้เจอเด็กคนหนึ่งที่หาดเมโมรี่ น้องเขาเล่นเซิร์ฟเก่งมาก เราเจอน้องทุกวัน ไม่เล่นเซิร์ฟก็กำลังดูวิดีโอเกี่ยวกับเซิร์ฟอยู่ เลยไปทักทายและคุยกับน้องคนนั้น เราได้เห็นอะไรเยอะมากในตัวเด็กคนนี้ แววตาของเขามีความมั่นใจ มีความสุขมาก ตอนนั้นน้องน่าจะอายุ 7 ขวบ น้องบอกว่าอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ หรืออยากเป็นโปรเซิร์ฟ พอน้องเล่าให้ฟัง เราก็แบบ ทำไมเด็ก 7 ขวบคนนี้ดูต่างจากเด็กคนอื่นมากเลย เราเลยอยากเริ่มต้นทำให้คนอื่นได้รู้จักกีฬานี้บ้าง
ปัจจุบัน น้องคนนี้ได้เป็นนักกีฬาเซิร์ฟแล้ว เราเองเล่นกีฬานี้ก็ชอบ มันมีปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้เราได้เรียนรู้ไปกับมัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่อยากให้เด็กๆ ได้ลองเล่นกีฬานี้ตั้งแต่เด็ก เพราะมันมีประโยชน์มากกว่าแค่กีฬา และด้วยความที่เขาหลักมีทรัพยากรทางธรรมชาติเยอะมากๆ ถ้าครอบครัวของเขาได้มาที่นี่จะได้เรียนรู้อะไรมากกว่าแค่การเล่นเซิร์ฟ เราจึงมีโปรแกรมอื่นๆ ด้วย”
เมื่อตั้งใจให้เรื่องเล่นกับเรื่องเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน โปรแกรมต่างๆ ของ Seapiens Camp Khaolak จึงออกแบบภายใต้คอนเซปต์ Edutainment ซึ่งเพียงแพรนิยามว่าคือ ‘การเล่น’ ไม่มีการบังคับให้ทำหรือไม่ทำอะไร ที่แคมป์นี้เด็กๆ จะได้เล่นเต็มที่ โดยผู้ใหญ่มีหน้าที่สอดแทรกความรู้เข้าไปในสิ่งที่เขาเล่น ผ่านเกม, สื่อการสอน, วิดีโอ, การ์ตูน ฯลฯ
เธอยกตัวอย่างแกนหลักของแคมป์คือ ‘เซิร์ฟ’ ที่เด็กๆ จะได้รู้จักมากกว่าแค่การเล่นเซิร์ฟ
“การเรียนเซิร์ฟไม่ได้มีแค่การเรียนเซิร์ฟ ในพาร์ทแรกเขาจะได้รู้จักประวัติเซิร์ฟ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เรื่องวัฒนธรรมต่างๆ เกี่ยวกับเซิร์ฟ เขาจะได้รู้จักการเกิดคลื่นต่างๆ ว่าคลื่นที่เขาจะได้ไปเล่นวันนี้เป็นอย่างไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะมีเกมให้เขาเล่น และเราก็ให้เขาลงไปเรียนเซิร์ฟจริงๆ
ทีนี้องค์ประกอบของการเรียนเซิร์ฟ นอกจากได้ความรู้ต่างๆ แล้ว ยังได้ฝึกความกล้า เด็กบางคนที่มา เขาไม่เคยไปทะเลหรือไม่เคยกล้าเดินบนทรายเลย เขามาแล้วจะได้ปลดล็อกความกลัวของตัวเอง โดยมีพี่ๆ คุณครูคอยเล่นเป็นเพื่อนเขา ทำให้เขาไว้ใจเรา
การเล่นเซิร์ฟของ Seapiens Camp Khaolak จึงไม่ใช่แค่การมาเรียนเซิร์ฟ แต่เด็กๆ จะได้ปัจจัยต่างๆ ที่เราตั้งใจมอบให้”
เรียนรู้และรักโลกจากการเล่น
สำหรับนักเซิร์ฟหรือคนที่ตั้งใจจะแค่มาเล่นเซิร์ฟก็คงโฟกัสอยู่อย่างเดียวคือการได้โต้คลื่นที่อยู่ตรงหน้า แต่สิ่งที่แคมป์นี้เตรียมไว้ให้เด็กๆ คือโปรแกรมการเรียนรู้ค่อนข้างหลากหลาย แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ เริ่มจากส่วนแรก ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับเซิร์ฟในแง่มุมต่างๆ เช่น ประวัติ วัฒนธรรม ผ่านการ์ตูนและเกมต่างๆ
ต่อด้วยกิจกรรมแคมป์ไฟ ให้เด็กๆ ได้สนุกไปพร้อมกับการเรียนรู้ผ่านการก่อกองไฟปิ้งมาร์ชเมลโล ที่นอกจากผลลัพธ์คือความอร่อยของมาร์ชเมลโลนุ่มหนึบ ยังได้รู้จักทิศทางลม เทคนิคการก่อไฟ
ส่วนที่สอง เป็นโปรแกรมขวัญใจเจ้าตัวเล็กเลยทีเดียว นั่นคือ Meet Marine Life กิจกรรมสำรวจโลกท้องทะเลทั้งบนบกและในน้ำ
“Meet Marine Life พาเด็กๆ ไปเรียนรู้ภาพรวมของระบบนิเวศทางทะเล เรียนรู้เรื่องพฤติกรรมของสัตว์ทะเลบริเวณนี้ว่าเขาจะเจอใครบ้าง พี่คนนี้ (สัตว์ตัวนี้) ทำไมถึงอยู่ที่นี่ กินอะไรเป็นอาหาร มีพฤติกรรมอย่างไร ทำไมถึงเป็นสีนี้ โดยที่ความรู้จะถ่ายทอดผ่านสื่อการเรียนรู้และเกมต่างๆ ให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุกไปกับเรา ได้รู้จักสัตว์ทะเล ระบบนิเวศทางทะเลไปกับเรา ไม่ใช่ให้เด็กมานั่งฟังที่เราพูด
เพราะเด็กๆ จะได้เดินสำรวจทะเลจริงๆ มีการเก็บตัวอย่างซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์และต่อเด็ก เพราะคุณครูของเราได้รับการเทรนมาในเรื่องนี้ด้วย ตัวอย่างที่น้องๆ เก็บมา เด็กๆ จะได้นำไปส่องกล้องจุลทรรศน์กัน โดยมีคุณครูอธิบาย” เธอเล่า
ส่วนที่สาม Shaper House คือห้องเรียนศิลปะที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้การทำเซิร์ฟบอร์ดของตัวเอง โดยเริ่มจากดูการ์ตูนเพื่อเชื่อมโยงกับเด็กๆ ต่อจากนั้นให้เด็กเรียนรู้วัสดุอุปกรณ์แบบเดียวกับที่ใช้ในโรงงานผลิตเซิร์ฟ หลังจากคือการลงมือทำ
“กิจกรรมนี้เด็กๆ จะได้ดีไซน์เซิร์ฟบอร์ดของตัวเอง ได้ทำทุกกระบวนการเหมือนที่โรงงานทำเลย จุดเริ่มต้นของกิจกรรมนี้คือเราอยากให้เขารู้จักอาชีพคนทำเซิร์ฟบอร์ดที่เรียกกันว่า Shaper จริงๆ เป็นอาชีพที่ค่อนข้างทำเงินได้สูงมาก แต่ในไทยอาชีพนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จุดเริ่มต้นของโปรแกรมคือเราอยากให้น้องๆ ได้มาเห็นว่ามีอาชีพอีกเยอะมากบนโลกที่อาจยังไม่รู้จักหรือยังไม่เคยเห็น อะไรก็เป็นอาชีพได้ถ้าตั้งใจจริงๆ
นอกจากนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของเซิร์ฟบอร์ด ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยอย่างทุกวันนี้คนยุคนั้นใช้อะไรทำ เด็กๆ ก็จะได้เกิดกระบวนการคิดว่าจะใช้อะไรแทนได้ไหม ใช้เปลือกหอยแทนไหม ใช้หินแทนไหม”
ไม่ได้มีแค่สามส่วนหลักที่เพียงแพรกล่าวมา แต่เธอยังบอกว่ามีอีกหนึ่งโปรแกรมที่กำลังก่อตัว คือ Ocean and Art เกี่ยวกับขยะทะเลและงานศิลปะ ซึ่งเด็กจะได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ไปเก็บขยะทะเลเพื่อนำมารีไซเคิลให้เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์สุดสร้างสรรค์ตามแต่ใจและจินตนาการ
“เด็กบางคนเอาขวดมาตัด ระบายสี ทำเป็นบ้าน บางคนเอาไม้มาทำเป็นเรือ โปรแกรมนี้เรามีจุดเริ่มต้นมาจากการที่อยากให้เด็กๆ เห็นความสำคัญขยะที่อยู่ริมทะเลมากขึ้น ถ้าสมมติเราชวนไปเก็บขยะกัน เขาก็คงไม่อยากไป เราเลยคิดเป็นงานศิลปะขึ้นมา ให้น้องได้ลงมือทำก่อน แล้วค่อยชวนไปเก็บขยะทีหลัง เราทำน้ำทะเลเสร็จแล้ว เราทำผืนทรายเสร็จแล้ว เราไปเก็บขยะมาสร้างเป็นบ้านกัน”
ออกแบบประสบการณ์ เติมเต็มความรู้และทัศนคติ
ในแต่ละกิจกรรมของ Seapiens Camp Khaolak ซึ่งมีเยอะและหลากหลายมาก จำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมารับบทคุณครู เพราะด้วยการเรียนรู้ที่มีห้องเรียนคือโลกกว้าง ความปลอดภัยต้องมาเป็นลำดับแรกเสมอ อย่างโปรแกรมสอนเซิร์ฟก็ใช้นักเซิร์ฟจริงๆ มีประสบการณ์การเล่นและการสอน ครูกลุ่มนี้มีทั้งเทคนิคการสอน ความปลอดภัย และจิตวิทยากับเด็ก
เพียงแพรเองก็เป็นครูสอนทุกโปรแกรม คอยเสริมให้ครูประจำและพาร์ทไทม์ในช่วงที่ตารางแน่นมาก ส่วนโปรแกรมที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากๆ เช่น Meet Marine Life จะใช้คุณครูพาร์ทไทม์ที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล (Marine Science)
“เหตุผลที่เราทำโปรแกรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล ส่วนหนึ่งเพราะเราตั้งใจให้เด็กได้มาสนุกและได้ความรู้ด้วย จริงๆ เราตั้งใจอยากให้เด็กๆ รักษาธรรมชาติให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าเราพูดไปตรงๆ หรือสื่อสารไปตรงๆ ก็เหมือนเป็นการพูดให้เขาฟังเฉยๆ เราเลยมาดีไซน์โปรแกรมให้เขาได้ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด
ในความรู้สึกเราเหมือนเขาได้ไปเจอบ้าน เจอเพื่อนที่เป็นสัตว์ทะเล เราหวังว่าในอนาคตเขาอาจจะอยากเอาไปศึกษาต่อ หรืออยากที่จะดูแลบ้านให้เพื่อนเขาต่อ”
ความคาดหวังที่แคมป์เด็กแห่งนี้พยายามส่งต่อความรู้ทั้งเรื่องเซิร์ฟ ระบบนิเวศทางทะเล สิ่งแวดล้อม กลายเป็นเสียงชื่นชมจากผู้ปกครองและเด็กๆ ที่ได้มาร่วมแคมป์
“ผู้ปกครองหลายคนบอกเราว่าน้องกลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าได้ทำอะไรบ้าง เขามีทัศนคติต่อทะเลและธรรมชาติเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ในใจจริงของ Seapiens Camp Khaolak คือเราไมได้หวังว่าจะเห็นผลภายในสองสามปีนี้ แต่เราหวังว่าเมื่อเด็กโตไปในอีก 10 ปี ข้างหน้า เขาอาจจะจำได้ว่าเขาเคยมาเล่นทะเล เขาเคยมาสำรวจทะเล และเขารู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดี แล้วเขาอยากจะรักษาทะเลต่อไป”
นอกจากเสียงชื่นชม ผลลัพธ์ที่ทำให้เพียงแพรบอกว่าชื่นใจมาก คือ มีเด็กหลายคนกลับมาเรียนซ้ำในปีถัดไป มีทั้งเรียนในโปรแกรมอื่น และมีหลายคนเรียนซ้ำโปรแกรมเดิมเพราะพวกเขาชอบและประทับใจ
พื้นที่ค้นหาตัวตนของเด็กๆ ที่ครูได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
การเรียนรู้ริมทะเลของ Seapiens Camp Khaolak ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่เด็กๆ เท่านั้น แต่กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้ก่อตั้งและสร้างมันขึ้นมาด้วย
เพียงแพรเล่าว่าตลอด 3 ปี ทำให้เธอมีเป้าหมายมากขึ้น เพราะตั้งแต่เปิดแคมป์มาก็มีโอกาสสอนเด็กๆ เองด้วย ระยะเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง เธอเห็นพัฒนาการ ได้เห็นการเรียนรู้ที่เด็กได้รับ รวมถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไป บทเรียนที่เธอได้จากความเปลี่ยนแปลงของเด็ก อาทิ การที่เด็กเล่าให้ผู้ปกครองฟัง ความตระหนักถึงปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการที่มีเด็กบางคนอยากเรียนเซิร์ฟด้วยความชื่นชอบ จนต่อยอดไปถึงความฝันที่จะเป็นนักกีฬาเซิร์ฟ นี่จึงเป็นเสมือนพื้นที่ค้นหาตัวเองของเด็กๆ ด้วย
“เช่นตอนเราพาไปสำรวจสัตว์ทะเล ถ้าเขาเห็นขยะในทะเล แพรจะเกริ่นให้เขาเห็นก่อนว่าขยะอยู่ตรงนี้ ถ้าสมมติพี่สัตว์ทะเลคนนี้เขามากิน เขาจะต้องตายแน่ๆ เลย เด็กก็จะได้คิดต่อว่าถ้าอย่างนี้ขยะก็ไม่น่าจะอยู่ตรงนี้ ถามว่าเรามีความคิดเปลี่ยนไปอย่างไร เรายิ่งอยากทำตรงนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงและได้มากที่สุดในอนาคต
เราอยากเพิ่มโปรแกรมตามคอนเซปต์ Edutainment ให้ได้มากกว่านี้ เพราะเด็กมีความหลากหลาย บางคนมาที่แคมป์เราเขาอาจจะเจอตัวเองว่าอยากเป็นนักกีฬาเซิร์ฟมากๆ หรือเขาอาจจะลองเล่นโปรแกรมอื่นแล้วรู้สึกว่าชอบงานศิลปะมากเลย บางคนชอบทะเลมากเลย โตไปเขาอาจจะอยากเรียนด้านประมงหรือด้าน Marine ต่อไปได้ด้วย”
จากประสบการณ์ที่เคยเป็นครูเด็กเล็กมาก่อน เพียงแพรบอกว่าเปรียบเทียบกับการทำแคมป์นี้แล้วคล้ายกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นเด็ก Pre School หรือช่วงวัยใด การเล่นคือการเรียนรู้ที่สำคัญของพวกเขา
“ช่วงวัยก่อนเข้าเรียนสำคัญมากนะคะ เพราะมีผลต่อพัฒนาการของน้อง พอเรามาทำ Seapiens Camp Khaolak ก็เลยอยู่บนพื้นฐานที่ว่าทุกอย่างสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กหมดเลย เราไม่อยากให้วัยเด็กเป็นวัยเด็กที่ธรรมดา แต่เราอยากให้เป็นวัยเด็กที่ได้เรียนรู้ทุกอย่าง เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวัยเด็กคือการสร้างบุคลิก สร้างตัวตนของเขาเมื่อเขาโตขึ้น”