- สิงหนคร ชุมชนเมืองโบราณ อดีตเคยเป็นที่ตั้งและเป็นชื่อเมืองสงขลา แต่ปัจจุบันน้อยคนหนักที่จะรู้เรื่องราวพวกนี้ แม้กระทั่งคนในพื้นที่เอง ประวัติศาสตร์ต่างเลื่อนหายไปตามกาลเวลา ทำให้เยาวชนในพื้นที่รวมตัวกันทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และถ่ายทอดเรื่องราวให้คนอื่นๆ ได้รู้
- “การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนแบบเดิม ให้เด็กอ่านจากหนังสือแล้วดูเอาจากภาพ นักเรียนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บข้อมูล ไม่ได้มีโอกาสตั้งคำถามในสิ่งที่ตัวเองสงสัย แต่กระบวนการเรียนรู้ในโครงการเปิดกว้างให้เยาวชนกลุ่มนี้ตั้งคำถามถึงประวัติความเป็นมาซึ่งเป็นรากเหง้าของตนเอง พวกเขาจึงซาบซึ้งไปกับเรื่องราวที่ค้นพบ และเห็นคุณค่าของโบราณสถานในชุมชน โดยไม่ต้องมีใครบอก” ครูสารภี รองสวัสดิ์ ครูวิชาประวัติศาสตร์ และพี่เลี้ยงประจำโครงการ
“เราอายเวลาเดินอยู่ในพื้นที่แล้วมีนักท่องเที่ยวมาถามว่าสถานที่นี้คืออะไร มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายังไง แต่เราตอบไม่ได้ทั้งๆ ที่เป็นบ้านเกิดของตัวเอง”
เสียงจากเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมาถึงความเป็นไปในชุมชน หากถามถึงสถานที่ท่องเที่ยวใน บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา คำตอบมีมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นบ่อเก๋ง วัดภูผาเบิก วัดศิริวรรณาวาส วัดบ่อทรัพย์ วัดสุวรรณคีรี ศาลาหลบเสือ และสุสานเจ้าเมืองสงขลา แต่ละแห่งตั้งอยู่กระจัดกระจายแต่ก็ไม่ห่างกันมากนัก ทว่าเมื่อถามถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่เหล่านี้จากคนในพื้นที่ คำตอบที่ได้กลับกลายเป็น…
…ความเงียบ…
ความเงียบที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ เลยได้แต่ยิ้มเจื่อนๆ กลบเกลื่อนแล้วเดินจากไป แต่ความไม่รู้และไม่เคยสนใจสิ่งใกล้ตัวนี้เอง ทำให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งในวัยประมาณสิบขวบต้นๆ รวมตัวกันในนามเยาวชนรักษ์บ้านแหลมสน มุ่งมั่นทำ โครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อสืบเสาะหาประวัติศาสตร์ของชุมชน แล้วถ่ายทอดเรื่องราวที่พวกเขาได้เรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนคนอื่นๆ ในพื้นที่ ผ่านช่องทางหรือสื่อที่พวกเขาพอทำได้
ผลลัพธ์จากความเคลื่อนไหวและความสนใจใคร่รู้ของเด็กๆ ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนตื่นตัวและฉุกคิด จากความละเลย ปล่อยให้สถานที่รกร้าง จึงหันกลับมาสนใจ และยื่นมือเข้ามาช่วยพัฒนาโบราณสถานในชุมชนให้น่าดูน่ามองมากขึ้น เมื่อคนในชุมชนเห็นคุณค่า นักท่องเที่ยวได้ความประทับใจกลับไป เศรษฐกิจในบ้านแหลมสนก็ดีขึ้น ถือว่างานนี้ win – win ด้วยกันทุกฝ่าย
ย้อนรอยอดีตจากร่องรอยแห่งปัจจุบัน
สิงหนคร เป็นชุมชนเมืองโบราณเคยเป็นที่ตั้งและเป็นชื่อเมืองสงขลา ก่อนย้ายตัวเมืองสงขลามาอยู่ด้านตะวันออกของปากอ่าวทะเสสาบสงขลาในปัจจุบัน สมัยโบราณเมืองแห่งนี้เป็นเมืองท่าสำคัญของภาคใต้ เป็นทำเลสำหรับค้าขายกับชาวต่างชาติ เช่น ชาวเปอร์เซีย อาหรับ และอินเดีย ตามสำเนียงชาวต่างชาติพวกเขาเรียกขานสถานที่แห่งนี้ว่า Singora (ซิงกอรา) ปรากฏอยู่ในบันทึกนักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ.1993 – 2093
หากมองจากแผนที่ ทำเลที่ตั้งของอำเภอสิงหนครและอำเภอเมืองละแวก หาดสมิหลามีรูปร่างคล้ายประตูเปิดปิดทะเลสาบสงขลาที่มีขนาดใหญ่ เป็นทะเลสาบธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทยที่กินพื้นที่ครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามทำเลที่ตั้ง ยกตัวอย่างเช่น ทะเลสาบพัทลุง หรือทะเลลำปำ มีความยาวจากปากน้ำไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร จากฝั่งอำเภอเมืองสงขลาไปสิงหนครสามารถนั่งแพขนานยนต์ข้ามไปได้ทั้งรถและผู้เดินทางสัญจร
สุภาวดี วิสมิตะนันทน์ ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านแหลมสน เล่าว่า มีโบราณสถานมากมายตั้งอยู่รายรอบโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ที่กลุ่มเยาวชนศึกษาอยู่ในช่วงทำโครงการ ไม่ว่าจะเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่ติดกันถึงสี่วัดไม่ไกลจากโรงเรียน รวมถึงสุสานตระกูล ณ สงขลา ที่ไม่มีใครในกลุ่มรู้เลยว่ามีที่มาที่ไป หรือประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับบ้านแหลมสนอย่างไร
“ตอนลงพื้นที่ไปสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านแถวนี้ก็แทบไม่มีใครรู้ เราเลยอยากสืบหาข้อมูลไว้ให้เด็กเยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญต่างๆ ในพื้นที่ แล้วตัวเราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย เพราะสถานที่สำคัญเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านของเรา ไม่อย่างนั้นโบราณสถานที่มีก็จะกลายเป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยว ที่มีคนมาเที่ยวแต่คนในชุมชนไม่มีใครรู้จัก ไม่แม้แต่จะสนใจหันไปมองหรือสนใจดูแล” สุภาวดี กล่าว
เพื่อให้ได้คำตอบที่ตามหา กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านแหลมสนลงมือเสาะหาความรู้จากการลงพื้นที่สอบถามคนเฒ่าคนแก่ที่ตอนนี้ก็แทบไม่มีเหลืออยู่ จะมีก็แต่ผู้ใหญ่ในชุมชน เช่น ผู้นำชุมชน เจ้าอาวาส และโต๊ะอิหม่าม บางเรื่องก็ได้ข้อมูล บางเรื่องก็ยังเป็นสิ่งที่น่าฉงนสงสัย พวกเขาจึงต้องสืบค้นต่อในหนังสือ รวมถึงพงศาวดารซึ่งถูกเก็บไว้อย่างดีที่พิพิธภัณฑ์แต่น้อยคนนักที่จะหยิบจับขึ้นมาเพื่อสืบหารากเหง้าและที่มาที่ไปของตนเอง
“ก่อนไปสัมภาษณ์ผู้รู้เรามาช่วยกันคิดคำถามที่สนใจอยากรู้ก่อน แล้วก็แบ่งหน้าที่กันว่าใครทำอะไรบ้าง ใครเป็นคนบันทึก ใครเป็นคนถาม หลังจากได้ข้อมูลมาแล้วใครเป็นคนวาดภาพ ใครมีปัญหาตรงไหนก็มาปรึกษากัน” สุภาวดี กล่าว
“ข้อมูลที่สัมภาษณ์มา และในหนังสือบางทีเขียนไม่เหมือนกัน เราก็ต้องไปหาเพิ่มเติมในพงศวดาร นำข้อมูลมาเทียบเคียงกันเพื่อความชัดเจนและความถูกต้อง” กันยารัตน์ เส็นเจริญ อีกหนึ่งแกนนำเยาวชน อธิบายวิธีการทำงานของพวกเขา
การได้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องที่มาที่ไปของชุมชน สถานที่สำคัญ ความเชื่อ และบุคคลสำคัญบ้านแหลมสน ทำให้ทีมแกนนำเยาวชนมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชุมชนจนมีความมั่นใจมากพอที่จะถ่ายทอดส่งต่อความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนคนอื่นๆ ในโรงเรียน พวกเขาใช้วิธีประกาศรับสมัครคนที่สนใจมาเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านแหลมสนด้วยกัน เริ่มจากการบรรยายความรู้ พาเดินเที่ยวชมสถานที่จริง แล้วกลับมาทบทวนตอบข้อสักถาม
บ่อเก๋ง สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งตั้งอยู่ติดริมน้ำ เล่ากันว่าแต่ก่อนเคยเป็นท่าน้ำขึ้นเรือตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันมียังคงเหลือซากปรักหักพังที่แสดงถึงโครงสร้างของชุมชนสมัยก่อน เช่น ซุ้มประตูสร้างด้วยอิฐถือปูน มีสันหลังคาโค้งงอน ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน หนึ่งในชนเผ่าจีนโพ้นทะเลจากมณฑลฮกเกี้ยนหรือมณฑลฝูเจี้ยนทางตอนใต้ของจีนที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมี วัดสุวรรณคีรี วัดบ่อทรัพย์ และวัดศิริวรรณาวาส ศาสนสถานที่สร้างขึ้นเรียงรายต่อเนื่องกันอยู่บนไหล่เขาตามแนวทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยภาคใต้ตามที่นิยมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 3) หากสังเกตดีๆ จะพบว่าบางส่วนได้รับอิทธิพลจากจีนและตะวันตกผสมผสานเข้ามาด้วย วัดสุวรรณคีรี มีอุโบสถที่ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังงดงาม เจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนประดับด้วยปูนปั้นซึ่งเป็นงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ส่วนเจดีย์จีนทำด้วยหินแกรนิต มีหอระฆัง และซุ้มเสมาประดับด้วยปูนปั้นงานละเอียด
วัดบ่อทรัพย์มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่หน้าบันไดทางขึ้นวัด ขอบบ่อเป็นอิฐโบราณ ภายนอกฉาบปูนขาว ภายในบริเวณวัดมีอุโบสถรูปแบบเรียบง่าย และกุฏิไม้แบบไทยพื้นถิ่นภาคใต้ หลังคามุงกระเบื้องเกาะยอ (เกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านแหลมสน) และสุดท้ายวัดศิริวรรณาวาส วัดที่มีอุโบสถกำแพงแก้วปูนปั้นทึบล้อมรอบ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน เห็นได้อย่างชัดเจนบริเวณประตูซุ้มทางเข้าด้านตะวันออก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ ปลายแหลม เจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสและฐานปัทม์ มีซุ้มเสมาหินแกรนิตเล็ก ๆ รอบอุโบสถ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะพื้นบ้าน ไม่มีจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณวัดมีอาสนสงฆ์กลางลานใต้ร่มไม้และซากหอระฆังที่ชำรุดเหลือแต่ฐานและบันได
จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ บริเวณวัดทั้ง 3 มีการวางผังให้เชื่อมต่อกันด้วยเส้นทางสัญจรหลักและสามารถเดินเชื่อมถึงกันได้ ปูพื้นด้วยกระเบื้องหน้าวัวโบราณซึ่งมีลวดลายในเนื้อกระเบื้องที่เป็นเอกลักษณ์ของกระเบื้องดินเผาเกาะยอและมีการทำกำแพงกันดินด้วยหินภูเขา 3 ระดับ นับเป็นตัวอย่างด้านสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ แค่เดินเที่ยวชมวัดทั้ง 3 แห่ง แล้วใช้จินตนาการเทียบเคียงถึงวิถีชีวิตผู้คนก็เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปสมัยก่อน
“ข้อมูลที่หามาได้ ทำให้เรารู้สึกรักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น ทำให้อยากนำเสนอเรื่องราวของชุมชนแก่คนภายนอก จากเดิมที่เราแค่เดินผ่านไปผ่านมาแต่ไม่เคยสนใจ” สุภาวดี กล่าว
ประวัติศาสตร์ที่ไม่จมปลักแต่ทำให้ก้าวไปข้างหน้า
วัดวาอารามเหล่านี้ แม้ถูกละทิ้งให้รกร้างบางเวลา แต่บางครั้งบางคราชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญ เช่น งานบุญและงานศพ ความละเลย ทำให้เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ที่มาที่ไปน่าจะเป็นผลพวงจากความคุ้นชินที่เห็นสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่สถานที่ต่างๆ ก็ยังคงสัมพันธ์กับวิถีความเป็นอยู่ของคนบ้านแหลมสนอย่างผสมกลมกลืน อย่างไรก็ตาม กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านแหลมสน บอกว่า พวกเขาไม่มีทางเห็นความเชื่อมโยงนี้ได้เลย หากไม่ได้เข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชนด้วยตัวเอง
ครูสารภี รองสวัสดิ์ ครูวิชาประวัติศาสตร์และสังคม โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ และพี่เลี้ยงประจำโครงการ เล่าว่า การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนแบบเดิม ให้เด็กอ่านจากหนังสือแล้วดูเอาจากภาพ นักเรียนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บข้อมูล ไม่ได้มีโอกาสตั้งคำถามในสิ่งที่ตัวเองสงสัย แต่กระบวนการเรียนรู้ในโครงการเปิดกว้างให้เยาวชนกลุ่มนี้ตั้งคำถามถึงประวัติความเป็นมาซึ่งเป็นรากเหง้าของตนเอง พวกเขาจึงซาบซึ้งไปกับเรื่องราวที่ค้นพบ และเห็นคุณค่าของโบราณสถานในชุมชน โดยไม่ต้องมีใครบอก
ความมุ่งมั่นตั้งใจในการค้นคว้าหาข้อมูลของเยาวชนในโครงการ ทำให้กิจกรรมที่เคยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิชาชมรม กลายเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์
“เราสังเกตเห็นว่าเด็กๆ สนุกกับการได้ลงไปสัมผัสชุมชนจริงๆ จากที่เมื่อก่อนเขาไม่ตอบสนองกับสิ่งที่ครูสอนในห้องเรียน แต่เมื่อมีวิทยากรมีผู้รู้มาเล่าให้ความรู้ พอกลับไปทบทวนในห้องเรียน เขาแย่งกันตอบ ทำให้บรรยากาศการเรียนเปลี่ยนไปมาก ห้องเรียนมีชีวิตชีวา ตัวเองในฐานะครูก็ได้เปิดโลกทัศน์เรื่องการสอน ทำให้เราเปิดกว้างให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ไม่จำกัดความคิดของนักเรียน ไม่ไปตัดสินเวลาเด็กตอบว่าถูกหรือผิด ให้เด็กแสดงออกได้เต็มที่” ครูสารภี กล่าว
การทำโครงการทำให้กลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีมที่ต้องอาศัยความสามัคคี สุภาวดี เล่าว่า ปกติเธอเป็นคนใจร้อน หัวเสียง่าย หากเพื่อนทำอะไรไม่ได้อย่างใจมักรู้สึกหงุดหงิด แล้วยังออกคำสั่งให้เพื่อนทำนั่นนี่ตามความต้องการของตัวเอง แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป นอกจากบทบาทที่ได้รับมอบหมายตามที่ได้แบ่งงานกันทำแล้ว แต่ละคนยังได้ร่วมคิด ร่วมออกความเห็นและไม่เกี่ยงงอนเมื่อต้องช่วยงานคนอื่น พวกเขาเรียนรู้ว่าการร่วมมือกันทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ ส่วนเรื่องที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองได้อย่างชัดเจน คือ การมีสมาธิ
“เวลาเราไปหาข้อมูลประวัติศาสตร์ หยิบค้นหนังสือมาอ่านมาหาข้อมูลต้องใช้ความอดทนและต้องมีสมาธิอย่างมาก โดยเฉพาะตอนที่เอาข้อมูล พ.ศ. มาเรียบเรียงบนไทม์ไลน์ว่าแต่ละช่วงเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ต้องใจเย็นๆ ตั้งใจอ่าน เพราะถ้าทำไม่ได้ เราคงไม่สามารถทำโครงการออกมาได้สำเร็จ หรือถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งในทีมทำงานของตัวเองไม่ได้ จากที่เมื่อก่อนเราชอบด่าเพื่อนแรงๆ ตอนนี้ถ้าเราทำงานในส่วนของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าไปช่วยเพื่อนด้วยไม่ใช่ปล่อยตัวใครตัวมัน การที่เราเป็นจิตอาสา ทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำงานกับชุมชน เราต้องรู้จักปรับตัวและมีมารยาทในการเข้าสังคม” สุภาวดี เล่าถึงบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการ
ความเงียบกับรอยยิ้มเจื่อนๆ ที่เคยเกิดขึ้นในวันนั้นผ่านไปแล้ว
วันนี้หากมีโอกาส เด็กๆ บ้านแหลมสนคงได้ส่งเสียงเจื้อยแจ้วอธิบายให้นักท่องเที่ยวฟังได้ว่าโบราณสถานในชุมชนมีประวัติศาสตร์และมีความสำคัญต่อชุมชนอย่างไร ความรู้ที่พวกเขาเก็บรวบรวมได้ถูกบันทึกและถูกส่งต่อให้กับน้องๆ ในโรงเรียนที่จะเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของบ้านแหลมสนต่อไป
“ถึงตอนนี้ถ้าเราแก่ตัวไปแล้วมีเด็กรุ่นหลังมาถามข้อมูลชุมชนจากเรา เราตอบได้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราเองไม่รู้อะไรเลย” สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย