- ชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ชุมชนชาวมุสลิมที่มีอายุกว่า 150 ปี นอกจากอายุที่เก่าแก่ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ คือ การที่สมาชิกในชุมชนล้วนเป็นญาติกัน เพราะเขามีรากเหง้าจากตระกูลเดียวกัน
- นี่เป็นเพียงข้อค้นพบแรกที่เยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชนเจอ หลังจากตัดสินใจทำโครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ไหลเวียนอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้
เรื่อง พัชรี ชาติเผือก
จริงๆ แล้วเราควรรู้ประวัติความเป็นมาของบ้านเกิดตัวเองไหม?
แล้วจะมีใครสักกี่คนที่สนใจสืบประวัติความเป็นมาของบ้านเกิดตัวเอง?
ฉันถามตัวเองหลังจากได้ฟังเรื่องเล่าประวัติชุมชนบ้านเขาน้อย ชุมชนมุสลิมหนึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล จากกลุ่มเยาวชนที่อายุน้อยกว่าฉันถึงครึ่งชีวิต
เอาเข้าจริง ถ้ามีใครสักคนมาถามฉันในตอนนี้ว่า บ้านเกิดของฉันมีประวัติความเป็นมาอย่างไร? ฉันคงได้แต่นิ่ง ยิ้มเจื่อนๆ แล้วตอบกลับไปว่า ‘ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ’
ชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล มีอายุยาวนานกว่า 150 ปี จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ นายทอง สาดีน อพยพมาจากนครศรีธรรมราช เดินทางรอนแรมมาเพื่อหาที่ตั้งลงหลักปักฐาน สร้างที่อยู่และพื้นที่ทำมาหากินแห่งใหม่ กระทั่งมาถึงบริเวณของหมู่บ้านเขาน้อยในปัจจุบัน ในสมัยนั้นถูกเรียกว่า ‘บ้านเขานุ้ย’ ที่มาของชื่อมาจากเขาลูกหนึ่งที่มีขนาดเล็ก ภาษาท้องถิ่นทางใต้ ‘นุ้ย’ มีความหมายว่า ‘เล็ก’ หรือ ‘น้อย’
เมื่อได้ที่ลงหลักปักฐาน นายทองสมรสกับนางมูนะ ซึ่งเป็นคนจากหมู่บ้านใกล้เคียง (บ้านควนไสน) และให้กำเนิดทายาททำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรเพิ่มขึ้น และได้ขยายอาณาเขตบ้านเรือนออกไป ต่อมาในปี 2452 บ้านเขานุ้ยได้ขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้านโดยใช้ชื่อใหม่ เขาน้อย จึงเป็นที่รู้จักในนามบ้านเขาน้อยมาจนถึงปัจจุบัน
ข้อความข้างต้น คือ เรื่องเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านเขาน้อย ถูกถ่ายทอดเรื่องราวลงในเอกสารแผ่นพับ ที่เยาวชนจากโครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อยร่วมกันค้นหาข้อมูลมา และนำมาเรียบเรียงเพื่อเป็นเอกสารแนะนำชุมชนของตนเองให้เป็นที่รู้จัก
เนื้อหาในแผ่นพับนำเสนอ 5 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 1.ประวัติความเป็นมา 2.ตำนานบ้านเขาน้อย 3.เครือญาติและวงศ์ตระกูลของชุมชนบ้านเขาน้อย (นายทองกับนางมูนะ) 4.บุคคลสำคัญด้านการปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน, ผู้นำศาสนา อิหม่าม และ 5.สถานที่สำคัญและของดีบ้านเขาน้อย
ข้อมูลถูกนำเสนออย่างเรียบง่าย แต่เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจที่แฝงอยู่เบื้องหลังตัวอักษรเหล่านั้น
คนรุ่นใหม่…สนใจเรื่องเก๋า เก่า
ปีนี้เป็นปีที่สองที่กลุ่มเยาวชนบ้านเขาน้อยได้เข้าร่วม โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล (Satun Active Citizen) โครงการมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแกนนำเยาวชนและแกนนำชุมชนสู่การเรียนรู้ทักษะความเป็นพลเมืองโลก (World Citizen) ภาพความสำเร็จในปีที่ผ่านมาจาก โครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน และโครงการศึกษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ทำให้กลุ่มเยาวชนแกนนำและชุมชนสนิทกันมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างวัยของคนในชุมชน ส่วนเยาวชนเองก็พัฒนาทักษะความคิดและทักษะการใช้ชีวิต ในปีนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง
“ทำโครงการอะไรกันดี?”
ฟังดูเป็นคำถามง่ายๆ แต่การได้มาซึ่งคำตอบนั้น ต้องใช้เวลาคิดและไตร่ตรอง
เบส – นายนัสรี สลีหมีน อายุ 15 ปี ตัวแทนเยาวชนโครงการเล่าถึงเหตุการณ์ที่จุดประกายความคิด จนได้เป็นโจทย์ในการทำโครงการของพวกเขาว่า “ตอนแรกพวกเรานั่งประชุมกันว่าจะทำโครงการอะไรกันดี จนมีโอกาสได้ไปร่วมงานวันฮารีรายอ (หรือวันอีด วันแห่งการเฉลิมฉลองของชาวมุสลิม) ที่มัสยิดดารุลนาอีม มัสยิดประจำชุมชน ในงานมีผู้สูงอายุออกมาเล่าประวัติศาสตร์หมู่บ้านเขาน้อย พวกเราสนใจเพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน และคิดว่าถ้าพวกเราไม่ทำเรื่องนี้ ในอนาคตเรื่องราวเหล่านี้คงเลือนหายไปตามกาลเวลา เลยตัดสินใจทำโครงการนี้ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปรู้จักความเป็นมาของชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่และเกิดความรักและหวงแหนชุมชนบ้านเขาน้อย”
ค้นหาเครือญาติ…ต้นตระกูลของฉันเป็นใคร
“จุดเด่นของหมู่บ้านผม คือ ทุกคนในชุมชนเป็นพี่น้องกันเพราะมีเชื้อสายมาจากต้นตระกูลเดียวกัน ผมอยากค้นคว้าให้น้องรุ่นหลังรู้ว่าพวกเราเป็นเครือญาติกันทั้งหมด” เบสพูดด้วยความภูมิใจเมื่อถามถึงจุดเด่นของหมู่บ้านเขาน้อย หลังทำการลงพื้นที่สอบถามผู้รู้ในหัวข้อวงศ์ตระกูลเครือญาติในชุมชน
หลังได้หัวข้อโครงการ ทีมงานร่วมประชุมเพื่อวางแผนออกแบบกิจกรรม เริ่มต้นหาข้อมูลจากสิ่งที่ไม่รู้ เช่น อดีตความเป็นมาของบ้านเขาน้อยเป็นอย่างไร, บ้านเขาน้อยมีอายุเท่าไหร่, ตระกูลแรกของหมู่บ้านเขาน้อยคือใคร,คนที่บุกเบิกบ้านเขาน้อยคือใคร, ลักษณะที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต อาชีพ ประเพณี วัฒนธรรม ฯ เป็นหัวข้อหลักๆ ที่เยาวชนบ้านเขาน้อยต้องช่วยกันหาคำตอบให้กับตัวเอง
ผู้ (ช่วย) ให้ข้อมูลหลักก็คือ นางรอหนา ฉายดีน ผู้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อ และนายหมาด หลีนุ้ย นักปราชญ์ในหมู่บ้านเขาน้อย ทั้งสองคนต่างช่วยเด็กๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลของคนในชุมชน
เบสบอกว่า ทั้งสองท่านเป็นผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังจำเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชนได้ เพื่อไม่ให้เรื่องเล่าที่มาที่ไปของชุมชนหลงลืมไปตามกาลเวลา ทีมงานจึงตั้งหน้าตั้งตาสัมภาษณ์รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด
สายที่หนึ่ง สาดีน – โย๊ะหมาด -กูศกุล
สายที่สอง ใบกาเต็ม – สาดอาหลี – เตะหลี
สายที่สาม – หมาดสะ – นุ้ยประดู่ –สลีหมีน – จิตกาหลง –เก็มสัน –โต๊ะสุลน ฯ
เป็นข้อมูลที่ปรากฎบนแผนผังเครือญาติ ผลลัพธ์จากฝีมือของเด็กและเยาวชน ที่ทำให้ได้รู้และเห็นอย่างชัดเจนว่าคนในชุมชนล้วนเป็นเครือญาติและมีความเกี่ยวข้องกัน
“ตอนแรกไม่เคยคิดมาก่อนว่าเราจะเป็นญาติกัน ตอนทำงานเวลาพี่ๆ เรียกประชุม พอมีปัญหาเราไม่กล้าเข้าไปสอบถาม แต่พอลงพื้นที่แล้วรู้ว่าพวกเราในชุมชนเป็นพี่น้องกัน มันทำให้ผมมีความกล้ามากขึ้น กล้าเข้าไปสอบถามพี่ๆ มีความคิดอยากช่วยเหลือกันมากขึ้น” เบส เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเองที่ตัวเขาเองยังประหลาดใจ
เวทีประชาคมของชุมชนเป็นอีกพื้นที่ที่กลุ่มเยาวชนไปแสดงตัวเพื่อขอความร่วมมือในการเก็บข้อมูล และบอกเล่าถึงเป้าหมายของโครงการให้คนในชุมชนได้รับรู้ จนทำให้พวกเขาได้เก็บข้อมูลในหัวข้อถัดไป นั่นก็คือ บุคคลสำคัญทางศาสนาและการปกครอง
“สวัสดีครับพวกผมตัวแทนจากโครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย พวกเราอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากทุกคนในวันนี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปศึกษาให้ละเอียดมากขึ้น หากท่านใดมีข้อมูลให้กับพวกเราสามารถบอกเล่าเพื่อเป็นข้อมูลให้กับทีมงานของเราได้ครับ”
เบสหยิบยกเอาบทสนทนาของกลุ่มเยาวชนในวันที่ขอความร่วมมือจากคนในพื้นที่มาเล่าให้ฉันฟัง
ผลตอบรับที่พวกเขาได้เป็นที่น่าพอใจ มีผู้ใหญ่ในชุมชนเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล บางคนนัดแนะช่วงเวลาเพื่อให้ทีมงานเข้าไปสอบถามข้อมูลที่บ้านอีกครั้ง บรรยากาศในวันนั้นถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานและผู้ใหญ่อยู่ไม่น้อย ต่างฝ่ายต่างมีความสุขที่ได้บอกเล่าเรื่องราว ได้ย้อนอดีตกลับไปรื้อค้นความทรงจำเก่าๆ กลุ่มเยาวชนได้จดบันทึกข้อมูล อัดเสียง อัดวิดีโอ เพื่อไม่ให้ข้อมูลตกหล่น แล้วสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ชุมชน
“ถ้าไม่มีเด็กๆ รุ่นนี้ที่หันมาสนใจสืบค้น ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเขาน้อยก็อาจจะเลือนหายไป” เสียงสะท้อนจากผู้ใหญ่สร้างความภาคภูมิใจให้กับทีมงานอยู่ไม่น้อย หลังได้ยินคำชื่นชมนั้น
หากพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนในโครงการกับคนในชุมชน ทีมงานบอกว่าผลจากการทำโครงการที่ผ่านมาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ทำให้คนในชุมชนรู้จัก คุ้นหน้าคุ้นตากลุ่มแกนนำเยาวชนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง การทำโครงการในปีที่สองจึงได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านเขาน้อยเป็นอย่างดี
สำหรับโจทย์เรื่องบุคคลสำคัญทางศาสนาและการปกครอง ทีมงานแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่มเพื่อลงพื้นที่ ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือการได้ข้อมูลมาหลากหลายแต่ไม่สอดคล้องกัน พวกเขาหาทางแก้ไขด้วยการติดต่อขอข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลย่านซื่อ ซึ่งมีข้อมูลบุคคลสำคัญทางศาสนา ข้อมูลผู้ใหญ่บ้านและกำนันในแต่ละสมัย แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง
“พวกเราจัดวงเสวนา เรียกประชุมทั้งเยาวชน ผู้สูงอายุมาล้อมวงร่วมกัน แล้วค่อยๆ ช่วยกันพูดคุยซักถามอีกครั้ง เป็นเรื่องของสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย บางคนบอกว่าเขาเดินทางมาแล้วเสียชีวิตลงที่สถานที่นั้น แต่อีกคนบอกไม่เหมือนกัน” เบส เล่าถึงเวทีล้อมวงคุย ที่ทำให้คนต่างวัยได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
สื่อ…การเรียนรู้คู่ชุมชน
หนังสือการ์ตูนทำมือ หนึ่งในผลผลิตจากการทำงานเก็บข้อมูล ทีมเยาวชนต่างตั้งใจวาด เขียน ระบายสีกันเอง เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับน้องๆ ในชุมชนได้ศึกษาความเป็นมาของบ้านเขาน้อย
เนื้อหาในหนังสือการ์ตูน ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน ผ่านตัวละครที่พวกเขารวมกันคิด เปิดเรื่องด้วยความสงสัยใคร่รู้ของเด็กกลุ่มหนึ่งที่อยากรู้จักประวัติของหมู่บ้านเขาน้อย เข้ามาถามเด็กๆ ที่ทำโครงการการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย พวกเขาจึงพาเด็กๆ กลุ่มนี้ไปเจอผู้รู้ ทำให้ได้รู้ความเป็นมาของชุมชน
เบสบอกว่า หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ตั้งใจทำให้เด็กๆ ในชุมชนได้อ่าน หนังสือถูกออกแบบให้มีสีสัน เพื่อดึงดูดใจเด็กๆ ให้อยากหยิบขึ้นเปิดดู ได้สนุกกับเรื่องเล่าที่ให้เขาได้รู้จักประวัติศาสตร์ของตัวเอง ปัจจุบันหนังสือการ์ตูนประวัติศาสตร์บ้านเขาน้อย จัดวางอยู่ที่ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ดารุลนาอีม ของชุมชน
ไม่เพียงแค่หนังสือ กลุ่มแกนนำเยาวชนยังทำคลิปวิดีโอแนะนำสถานที่สำคัญบ้านเขาน้อย เช่น สุสานโต๊ะแซะห์ – สุสานของโต๊ะกราหมาด ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนา, สุสานโต๊ะสาหวาย -บุคคลสำคัญที่เดินทางมาจากอินโดนีเซีย, กอหลำ – แหล่งน้ำสำคัญที่ใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีน้ำให้ใช้ตลอดทั้งปี และ บ่อหลอม – บ่อน้ำที่ใช้ในอดีต หลอมขึ้นจากปูน โดยไม่ใช้ท่อและยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน แฟนเพจเขาน้อยบ้านฉัน เป็นพื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียที่กลุ่มเยาวชนใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูล
พาน้องเล่น…กิจกรรมประวัติศาสตร์ชุมชน
ภารกิจสุดท้ายที่ทีมงานร่วมกันออกแบบคือการจัดกิจกรรมร่วมกับน้องๆ ในชุมชน เพื่อบอกเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
มัสยิดดารุลนาอีม คือ พื้นที่ในการรวมตัวของเยาวชนสำหรับจัดกิจกรรมนี้ เด็กที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากศูนย์ตาดีกา เพราะอยู่ในพื้นที่ของมัสยิดอยู่แล้วจึงง่ายต่อการจัดงาน
แผ่นพับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรม ให้น้องๆ แบ่งกลุ่มระดมความคิด พูดถึงประวัติชุมชนที่ชอบหรือสนใจจากทั้งหมด 5 หัวข้อ แล้วส่งตัวแทนออกมานำเสนอ
“ผลตอบรับในวันนั้นน้องชอบและดีใจ มีหลายคนถามว่าเมื่อไหร่จะมีกิจกรรมแบบนี้อีก เพราะน้องอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้สม่ำเสมอ” เบสเล่า
เบสบอกว่ามีน้องบางคนที่แอบดื้อ งอแงอยากกลับบ้าน จึงต้องหลอกล่อด้วยการนำเสนอของรางวัลให้เป็นการตอบแทน
“พวกน้องทำแบบนี้ดีมาก ลุงอยู่ชุมชนบ้านเขาน้อยมา 60 กว่าปีแต่ยังไม่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเขาน้อย” คุณลุงคนหนึ่งเอ่ยกับเด็กๆ
“คนในชุมชนสะท้อนให้ฟัง ผมรู้สึกดีใจที่เราได้เป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่ได้ค้นคว้าประวัติชุมชนของตนเอง” เบส บอกว่า นาทีนั้นเขาประทับใจมาก ทำให้เขาและทีมงานมีกำลังใจในการทำงานเพื่อชุมชนต่อไป
ก่อนนี้ถ้าถามเบสเกี่ยวกับประวัติชุมชน เบส บอกว่า สิ่งที่เขารู้เท่ากับศูนย์ แต่ยิ่งทำโครงการ ได้สืบค้น ยิ่งได้รู้จักและทำให้เบสรู้สึกรักและอยากพัฒนาต่อยอดโครงการไปสู่การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการปั่นจักรยานหรือรถสามล้อ พานักท่องเที่ยวไปตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เขาอยากให้บ้านเขาน้อยเป็นที่รู้จักของคนภายนอก ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน แต่ส่วนสำคัญเป็นเพราะเขารู้สึกภาคภูมิใจจนอยากบอกต่อ
จากเด็กผู้ชายหลังเสา เวลามีงานทีไรเขามักหลบหลีกไป ไม่กล้าจับไมค์ แต่เพราะเข้าร่วมกิจกรรมและได้รับการฝึกฝนทักษะการทำงานจากโครงการ ได้ขยับขึ้นมาเป็นแกนนำหลักในปีที่สอง เบสเห็นพัฒนาการของตัวเอง
จากโครงการในปีที่หนึ่ง ที่เคยมีพี่ ๆ ช่วยตอบคำถามให้ แต่มาปีนี้รุ่นพี่ต่างแยกย้ายออกไปเรียนทำให้เหลือเบสและเพื่อนสมาชิกใหม่ สถานการณ์จึงบังคับให้เบสต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ กล้าจับไมค์และพูดบอกเล่าเรื่องราวของตนเองและโครงการให้คนอื่นฟังอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องที่ทำเป็นประจำ วันนี้เด็กชายหลังเสาได้กลายเป็นคนกล้าแสดงออกในที่สุด
“ผมได้เป็นนักเรียนเข้ารับการประเมินนักเรียนพระราชทาน ปีการศึกษา 2563 ในวันประเมินผมได้นำโครงการที่ผมทำ นำเสนอคณะกรรมการ และได้นำเทคนิคการพูดที่ได้จากโครงการนี้ คือความกล้าแสดงออกมาพูดนำเสนอ ผลออกมาคือผมได้รับรางวัลพระราชทานในปี 2564 เป็นความภาคภูมิใจของผม” เบสบอกเล่าเรื่องราวสุดประทับใจด้วยรอยยิ้มเต็มหน้า
จากความตั้งใจในการสืบค้นข้อมูลความเป็นมาต้นตระกูลของคนในชุมชน และความเป็นมาของหมู่บ้านที่ตนอาศัยอยู่ กลุ่มเยาวชนรักษ์เขาน้อยทำให้ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชุมชนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ชุมชนบ้านเขาน้อยกลับมามีชีวิตชีวา เพราะไม่ใช่แค่เพียงการรับรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน แต่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้นำทางศาสนา ก่อเกิดเป็นความรักความผูกพันของคนในพื้นที่เพราะทุกคนคือเครือญาติ เพราะทุกคนคือพี่น้องกัน
บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่ฉันน่าจะลงมือสืบเสาะหาประวัติความเป็นมาของชุมชนตัวเองบ้างเหมือนกัน!