- สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กท้อแท้กับการเรียน อาจไม่ใช่ความยาก ความซับซ้อนของการบ้านหรือโครงงาน อย่างที่ครูเข้าใจผิดจนมอบหมายงานที่ง่ายเกินไปให้
- จากการวิจัย หนึ่งในสามของเด็ก ม.2 ในสหรัฐ บอกว่างานที่ได้รับมอบหมายนั้นง่ายเกินไป จนไม่ได้เรียนรู้อะไร
- ประโยชน์ของงานยาก คือ เหลาความคิด เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้จิตใจ แต่ควรอยู่ในระดับ ‘ยากเพียงพอ’
ความยากลำบากในห้องเรียนที่มาในรูปของการบ้าน โครงงาน หรือเนื้อหาโจทย์ซับซ้อนมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กท้อแท้กับการเรียน บางครั้งคุณครูจึงรู้สึกว่านักเรียนน่าจะโอเคมากกว่าถ้าให้งานที่ไม่ยากเกินไปนัก เด็กจะได้ทำสำเร็จด้วยตนเอง
แต่เมื่อปี 2012 ทีมวิจัยแห่งสถาบัน Center for American Progress วัดผลการประเมินประสิทธิภาพด้านการศึกษาแห่งสหรัฐ กลับพบว่า กว่าหนึ่งในสามของนักเรียนในระดับเกรด 8 (ชั้น ม. 2 บ้านเรา) มีความเห็นว่าเนื้อหาการสอนและการบ้านที่พวกเขาได้รับมอบหมายนั้นง่ายเกินไป ทำให้พวกเขาไม่ได้อะไรในการเรียนรู้
รายงานนี้บ่งบอกว่าการศึกษากำลังสวนทางกับนโยบายที่มุ่งเน้นให้พัฒนาทักษะการคิดด้วย Growth Mindset ที่ต้องการดึงพลังศักยภาพผู้เรียนผ่านการขับเคี่ยวฝึกฝนให้เขาทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำหรือไม่ใช่ความถนัดเพื่อสร้างและขยายทักษะที่มีให้หลากหลาย กับทั้งฝึกให้พวกเขาเข้าใจว่าความผิดหวัง และข้อผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งในความยากลำบากที่ทุกคนต้องเจอะเจอก่อนประสบความสำเร็จ
แอนนี บร็อค (Annie Brock) และ ฮีเธอร์ ฮันด์ลีย์ (Heather Hundley) ผู้เขียน The Growth Mindset Coach ย้ำว่าหากเด็กไม่เคยเจอความลำบากก็ยากที่จะเติบโตทางปัญญา คนเราถ้าไม่เคยเสี่ยงก้าวไปข้างหน้าด้วยตนเอง ไม่เคยล้มแล้วลุกขึ้นเอง แล้วจะซาบซึ้งกับระยะทางที่ตนเองเดินมาได้อย่างไร
ส่วนผสมของสูตรสร้างเสริมการเติบโตทางปัญญาคือการหยิบยื่นงานยากๆ ท้าทายทักษะความสามารถของเด็กๆ เพื่อเหลาความคิดให้เฉียบคมและเสริมเกราะใจให้กล้าแกร่งกับอุปสรรคขวากหนามในชีวิตจริง มากกว่าให้เขาสมหวังเพียงแค่รู้สึกเก่งสมบูรณ์แบบในชั้นเรียน
นอกจากบรรยากาศในชั้นที่ควรเอื้อให้กล้าคิดกล้าตอบ แผนการสอน รวมถึงการบ้านที่มอบหมายให้เด็กๆ ในชั้นควรออกแบบให้ ‘ยากเพียงพอ’ รวมทั้งต้องคาดหวังว่านักเรียนแต่ละคนจะมีพัฒนาการและประสบความสำเร็จเอาไว้ให้สูง ใน the Growth Mindset Coach สรุปสูตรสร้างการเติบโต หรือ A Formula for Growth ไว้ง่ายๆ อย่างนี้
บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ + งานที่ท้าทาย + ความเชื่อว่าเด็กจะทำได้ = การเติบโต
สอนคุณค่าและความหมายของความยากลำบาก
ไม่มีเด็กคนไหนอยากทำงานยากๆ โดยไม่รู้ว่าเขาจะได้อะไรกลับไป คุณค่าและความหมายไม่อาจถูกจับต้องมองเห็นได้ หากครูไม่ได้สื่อสารเป้าหมายให้เขาประจักษ์ตั้งแต่แรก ลองตั้งคำถามตามด้านล่างระหว่างเตรียมการสอนเพื่อเช็คตนเองดูว่าเราได้สอดแทรกความยากลำบากที่ท้าทายศักยภาพผู้เรียนเพียงพอแล้วหรือยัง
- เราเป็นครูที่เชื่อว่าเด็กๆ เรียนรู้ และพัฒนาได้ใช่ไหม
- เด็กๆ มีเป้าหมายการเรียนรู้อย่างไรบ้าง และฉันจะทำอย่างไรให้พวกเขาบรรลุเป้าหมาย
- ฉันคาดหวังให้เด็กเรียนรู้อะไรจากบทเรียนนี้ และจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเข้าใจมันดีแล้ว
- ฉันจะสนับสนุนหรือไกด์อย่างไรที่จะช่วยกระตุ้นพวกเขาให้ตั้งคำถาม กล้าคิด และกล้าลงมือ
- นักเรียนกล้าหรือกลัวกับความยากลำบาก และเราจะกระตุ้นหรือส่งเสริมให้พวกเขากล้าอย่างไร
- เด็กๆ เข้าใจคุณค่าและความหมายจากกระบวนการเรียนรู้หรือไม่
- ฉันจะปรับการบ้านและโจทย์ให้ยากง่ายเหมาะสมกับแต่ละคนได้อย่างไร
- ทำอย่างไรให้นักเรียนในชั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันและกันอย่างเกื้อกูล
- นักเรียนมีตัวช่วยหรือแหล่งข้อมูลเสริมอื่นใดบ้างที่สามารถพึ่งพาเมื่อเจออุปสรรคปัญหา ฉันควรแนะนำแค่ไหนจึงจะพอดี
- ฉันแสดงให้พวกเขาเห็นว่าฉันมีความคาดหวังในงานของพวกเขาแล้วหรือยัง
คำถามเหล่านี้อาจช่วยร่างภาพของชั้นเรียนในหัวได้บ้างว่าจะวางทิศทางการสอนแบบใด โดยเฉพาะถ้าพิจารณาถึงระดับการเรียนรู้ของแต่ละคนซึ่งถนัดเร็วช้าหนักเบาไม่เท่ากัน ความยากง่ายของงานที่ให้แต่ละคนรวมทั้งความคาดหวังที่มีก็ควรต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคนตามไปด้วย
หากเอ่ยกันตามตรงแล้ว เด็กๆ ควรหลุดพ้นจากห้องเรียนที่คาดหวังให้เขามีทักษะการเรียนรู้ระดับเดียวกันเสียที เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะตอบหรือมีวิธีทำความเข้าใจแบบฝึกหัดหรือโจทย์ปัญหาได้เหมือนกันทั้งห้อง ที่เป็นไปได้คือครูควรสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นศักยภาพที่ทุกคนมีต่างกันได้อย่างเป็นธรรมสมเหตุสมผลกับแต่ละคน (equity) โดยเคี่ยวเข็ญผลักดันทักษะจำเป็นที่แตกต่างในแต่ละคนแทนที่จะใช้วิธีเดียวกันเหมือนกันกับทุกคน (equality) แล้วคาดหวังให้พวกเขาพัฒนาอย่างทัดเทียม
สอน Equality vs Equity ในห้องเรียน
ความเท่าเทียม (equality) คือ การได้รับโอกาสทุกอย่างเหมือนกัน (sameness)
ความยุติธรรม (equity) คือ การได้รับโอกาสตามที่ต้องการอย่างเป็นธรรมสมเหตุสมผล (fairness)
ภาพข้างต้นนี้นิยามความแตกต่างระหว่างความเท่าเทียมและความยุติธรรมได้อย่างหมดจดที่สุดว่า การได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันทั้งหมดไม่อาจแก้ปัญหามากน้อยที่แต่ละคนมีได้เท่ากับการหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับ ‘ผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง’
ในชั้นเรียนก็เช่นกัน จุดอ่อนจุดแข็งของเด็กแต่ละคนควรถูกนำมาพิจารณาประกอบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมกับเด็กทุกคน เพราะความถนัดและทักษะความสามารถของแต่ละคนแตกต่างกัน คงจะดีกว่าถ้าพวกเขาได้รับการสนับสนุนที่ตรงกับความต้องการอันหลากหลายและท้าทายมากพอจะให้ทักษะความสามารถของเขากระเตื้องขึ้นจากเดิม
วิธีที่จะรู้ว่าแต่ละคนต้องการการสนับสนุนด้านไหนนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการถามตรงๆ ดังนั้น การเปิดชั้นเรียนโดยสร้างความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมและความยุติธรรมจะช่วยให้พวกเขาเปิดใจมองเห็นความหลากหลายของทักษะและกระบวนการทำความเข้าใจระหว่างเพื่อนในชั้นและตนเอง ผลที่ตามมาคือเขาจะไม่อายที่จะยกมือบอกครูว่าต้องการความช่วยเหลือด้านไหนเพิ่มเติม
เรามีตัวอย่างแผนการสอนเชิงปฏิบัติแบบง่ายๆ ให้เด็กๆ รู้จักแยกแยะความแตกต่างระหว่างความยุติธรรมและความเท่าเทียมในห้องเรียนซึ่งคัดมาจาก The Growth Mindset Coach ดังนี้
จุดประสงค์การเรียนรู้: นักเรียนเข้าใจความแตกต่างของความเท่าเทียมและความยุติธรรม
อุปกรณ์ที่ต้องใช้: ลูกอม ปากกา กระดาษ ภาพประกอบ Equality vs Equity
ขั้นตอน
- แจกลูกอมให้นักเรียนคนละเม็ดจนครบทุกคน หลังจากนั้นอธิบายว่า
“วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันเรื่องความเท่าเทียมกับความยุติธรรมกัน เด็กๆ ได้รับลูกอมคนละหนึ่งเม็ดเหมือนกันหมด นี่เรียกว่าความเท่าเทียมกันจ้ะ ความเท่าเทียมหมายถึงทุกคนได้รับการปฏิบัติเหมือนกันทุกอย่าง เช่นในตอนนี้ที่ทุกคนได้รับลูกอม 1 เม็ดเท่ากัน ”
- แบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่ม ให้กลุ่มแรกเขียนบนกระดาษถึงเหตุผลที่ไม่อยากได้ลูกอม เช่น ‘กลัวฟันผุ’ ‘ไม่ชอบกินลูกอม’ อีกกลุ่มเขียนเหตุผลที่อยากได้ลูกอม เช่น ‘ถ้าเป็นของกิน ได้หมด!’ ‘ที่บ้านไม่ให้กิน นี่เป็นโอกาสดีที่ได้กินฟรีที่โรงเรียน’ ปล่อยให้เขารู้สึกสนุกกับการคิดสร้างสรรค์เหตุผล
- รวบรวมกระดาษที่ทุกคนเขียนแล้วแจกให้นักเรียนแบบคละกันไป ไล่ถามนักเรียนโดยให้ตอบครูตามโน้ตในมือว่าอยากได้ลูกอมหรือไม่เพราะอะไร รับฟังคนที่ปฏิเสธลูกอมตามปกติ เมื่อถึงนักเรียนที่ถือโน้ตว่าอยากได้ลูกอมพร้อมกับบอกเหตุผล ให้ครูถามเพื่อนในห้องให้ช่วยกันตัดสินใจว่าควรให้ลูกอมเพื่อนคนนี้กี่เม็ดจึงจะเหมาะสม เช่น ‘ถ้าเป็นของกิน ได้หมด!’ ทั้งชั้นเห็นว่าควรให้เพิ่มอีกหนึ่งเม็ด ส่วนเหตุผลที่บอกว่าที่บ้านไม่อนุญาตให้กินลูกอม วันนี้ได้กินลูกอมเป็นเรื่องราวดีๆ สำหรับเขา เพื่อนๆ ตกลงให้ลูกอมเพิ่มหลายเม็ดหน่อย
- เมื่อครบทุกคนแล้ว อธิบายว่า
“รู้ไหมคะว่าการหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้ที่ต้องการมันจริงๆ เหมือนที่เมื่อสักครู่บางคนบ้างก็อยากได้และบ้างก็ไม่อยากได้ลูกอม และพวกเราช่วยกันคิดว่าคนที่ต้องการควรได้ไปกี่เม็ดดีถึงจะเหมาะกับความต้องการของเขา นี่แหละจ้ะเรียกว่าความยุติธรรม ครูอยากให้ห้องเรียนของเรามีความยุติธรรมแบบนี้ คนไหนที่ต้องการให้ครูช่วยอธิบายเพิ่มเติมตรงไหนเป็นพิเศษหรือมีบางอย่างที่พวกหนูยังไม่เก่ง ครูก็จะหาทางให้พวกเธอพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
อย่างบางคนอ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจแต่ดูคลิปในยูทูบแล้วเข้าใจมากกว่า บางคนอาจรู้สึกว่าแบบฝึกหัดในหนังสือง่ายไป ครูก็จะหาอะไรที่ท้าทายใหม่ๆ มาให้ลอง ทั้งหมดนี้ขอให้เข้าใจว่าเพื่อนทุกคนในห้องหลากหลายแตกต่างและมีจุดที่อยากให้ครูช่วยไม่เหมือนกัน ดูอย่างสามคนนี้ที่อยากดูการแข่งขัน (ชี้ไปที่รูปประกอบ) เห็นไหมว่าทั้งสามสูงไม่เท่ากัน สำหรับคนที่สูงอยู่แล้วกล่องอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเขาเลยถ้าเทียบกับคนที่ตัวเล็กกว่า ในห้องเรียนก็เช่นกัน อย่าลังเลที่จะบอกครูว่าพวกหนูต้องการกล่องหรือไม่ อยากให้ครูช่วยด้านไหนบอกกันได้เสมอ”
ความต้องการที่แตกต่างและระดับความยากง่ายที่เหมาะกับแต่ละคน
ผู้เรียนแต่ละคนมีวิธีเรียนรู้กันคนละแบบ อีกทั้งระดับความเข้าใจก็ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ผู้สอนต้องยืดหยุ่นในการถ่ายทอดความรู้และใช้สื่อการสอนที่เข้ากับความต้องการของแต่ละคน โดยยึด 3 องค์ประกอบมาพิจารณาในการถ่ายทอดความรู้ คือ
เนื้อหา (content): เด็กต้องเรียนรู้อะไร
กระบวนวิธี (process): ทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้
ผลงาน (product): พวกเขาจะอธิบายความเข้าใจให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร
เด็กบางคนทักษะเขาไปไกลกว่าเพื่อนร่วมชั้นจึงต้องการความท้าทายที่ยากไปจากเดิมอีกขั้น ไม่อย่างนั้นการนั่งในชั้นเรียนที่รู้ดีอยู่แล้วจะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ เราขอแนะนำวิธีที่สามารถนำมาใช้พัฒนาเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
ในอีกมุมหนึ่งของชั้นเรียน แน่นอนว่าเรายังมีเด็กที่ตามไม่ทันเพื่อนและเก็บงำความวิตกกังวลไว้กับตัวเงียบๆ รูปแบบการอธิบายที่ครูควรทำคือแบ่งเนื้อหาและความท้าทายออกเป็นช่วงๆ ให้สั้นกระชับขึ้น ด้านล่างนี้คือวิธีที่สามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้
ถ้าได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้ ถึงยากก็อยากลอง
เซอร์เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) นักวิจัยด้านการศึกษาได้กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นวิทยากรแห่ง TED Talk ปี 2006 ว่าจุดบอดของการศึกษาในปัจจุบันอยู่ที่การสอนแบบ ‘โรงงานอุตสาหกรรม’ ที่ผลิตทุกคนให้ออกมาเป็นพิมพ์เดียวกัน แทนที่จะให้ “เยาวชนเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ และแสดงความสามารถที่เป็นตัวเองให้โลกเห็นอย่างเสรี”
เพราะเด็กต่างมีแนวทางการเรียนรู้ ความชอบ passion ที่แตกต่าง กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จะตอบโจทย์อิสระการเรียนรู้ที่มีในเด็กทุกคนได้จึงต้องสะท้อนจากเสียง และการเลือกที่จะเรียนรู้ของเด็กโดยตรงเป็นสำคัญ
นี่จึงเป็นที่มาของการเพิ่ม personalized learning และ student-led learning หรือการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเพื่อสร้างแรงจูงใจเพิ่มเข้าไปในหลักสูตร โดยประเด็นนี้เคยถูกกล่าวถึงโดย เดเนียล พิงค์ (Daniel Pink) นักคิดและนักเขียนชื่อดังระหว่างการบรรยายเรื่อง ‘The Puzzle of Motivation’ ใน TED Talk ปี 2010 ว่าอิสรภาพที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ (autonomy) คือแรงขับที่นำไปสู่การเรียนรู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่และกล้าเผชิญกับความท้าทาย
แม้แต่ แครอล ดเวค (Carol Dweck) ผู้คิดค้นทฤษฎี Growth Mindset เองก็เห็นด้วยว่าแนวทางนี้เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เข้าท่าในแง่ที่เด็กๆ สามารถตระหนักถึงคุณค่าความหมายของความรู้ และกระตือรือร้นกับความท้าทายที่มาจากความต้องการของเขาเอง
ว่าแล้วโรงเรียนต่างๆ ก็เริ่มนำหลักการนี้มาผสมผสานในชั้นเรียนเป็นรูปแบบของวิธีการเหล่านี้
เรียนตามอัธยาศัย 20 เปอร์เซ็นต์ (20% time) สำหรับนักเรียนแล้ว 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่โรงเรียนให้เขาใช้มันเพื่อเรียนรู้ตามความชอบอย่างเสรี นอกจากช่วยเขาหลุดจากกรอบไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ยังต่อยอดให้การเรียนรู้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนอกห้องเรียน
โปรเจ็คท์ตามใจฉัน (passion project) เปิดโอกาสให้เด็กๆ ตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง โดยเริ่มจากสำรวจว่าตนเองรู้อะไรแล้วบ้าง และต้องการศึกษาเพิ่มเติมตรงไหนจากนั้นร่วมกันวางแผนค้นหาคำตอบ ตั้งแต่ลงมือกำหนดทิศทางโครงงานที่จะศึกษา ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไปจนถึงทบทวนแลกเปลี่ยนอุปสรรคปัญหาที่เจอระหว่างกันเอง
ชั่วโมงสร้างอัจฉริยะ (genius hour) กันหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้เด็กๆ เอาไปเรียนรู้สิ่งที่ตนต้องการอย่างเสรี เช่น เลี้ยงลูกนกที่เก็บได้ หรือทำขนมที่ชอบ เมื่อจบเทอมก็มาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ โดยออกมาเล่าเรื่องหรือทำคลิปวิดีโอเป็นเรื่องราว ครูมีหน้าที่แนะแนวหรือกระตุ้นตั้งคำถามให้เด็กสังเกตและค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม
การเรียนรู้แบบสืบเสาะ (inquiry-based learning) ทิศทางการเรียนรู้อยู่ในมือเด็กๆ โดยปราศจากการชี้นำใดๆ จากผู้สอนนอกจากกระตุ้นให้พวกเขาสงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถามและหาคำตอบสิ่งที่อยากรู้นั้นด้วยตัวเอง ครูขานรับคำตอบที่ได้จากการเรียนรู้นั้นด้วยคำถามต่อไปอีก การเรียนรู้จะเกิดจากกระบวนการเชื่อมโยงจนตกผลึกเป็นคำตอบและความกระจ่างใจ
นอกจากวัตถุประสงค์ด้านแรงจูงใจ การเรียนรู้ตามอัธยาศัยยังช่วยขับเน้นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กๆ ทั้งหลายให้ปรากฏชัดขึ้น อีกทั้งปลดล็อคมาตรฐานการสอนแบบเดิมที่ครูมักใช้บรรทัดฐานเดียวกันขีดเส้นวัดทักษะความสามารถที่ต่างกันของนักเรียน เด็กไม่รู้สึกถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะไม่เข้าพวกกับกลุ่มหัวกะทิแล้วเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างทั่วถึง
พลังความคาดหวังของครูผู้สอน
งานวิจัย Pygmalion Effect อันเลื่องชื่อของ โรเบิร์ต โรเซนธัล (Robert Rosenthal) อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาแห่ง University of California, Riverside บอกไว้ว่า ความคาดหวังของครูยิ่งตั้งไว้สูงเท่าไหร่ นักเรียนยิ่งพัฒนาทักษะและทำคะแนนได้ดีเท่านั้น เนื่องจากครูที่มีความคาดหวังในตัวนักเรียนมีปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของนักเรียนอยู่ 4 ประการคือ
- บรรยากาศการสอน (climate) อากัปกิริยาของครูที่มีต่อนักเรียนที่ตนคาดหวังจะอบอุ่น เป็นกันเองมากกว่า เช่น สบตา พยักหน้ารับ ยิ้ม ตบหลัง
- ความตั้งใจ (input) ครูจะทุ่มเทเวลาและตั้งใจสอนนักเรียนที่ตนคาดหวังอย่างเต็มที่
- เรียกให้ตอบ (output) ครูมักเรียกให้นักเรียนที่ตนคาดหวังตอบ โดยมั่นใจว่าเขาจะตอบได้
- ปฏิกิริยาตอบรับ (feedback) ครูมีปฏิกิริยาตอบรับนักเรียนที่ตนคาดหวังไว้ในทางที่ดี เช่น เอ่ยชมเชยมากกว่าแจกแจงจุดบกพร่อง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้สอนอาจไม่รู้ตัวว่าอากัปกิริยาท่าทางที่ส่งผ่านไปยังเด็กแต่ละคนในชั้นเรียนบอกหมดว่ามีความคาดหวังในตัวนักเรียนเหล่านั้นหรือไม่ หรือไม่เคยมองเห็นแววในตัวพวกเขาเลย และการสื่อนัยยะอย่างหลังนี้เองที่บั่นทอนความพยายามและความกระตือรือร้นในชั้นเรียนให้หมดลง ดังนั้น การจะขับเคี่ยวให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ครูต้องสร้างมวลพลังความคาดหวังให้สูงพอและส่งตรงไปให้นักเรียนทุกคนรับรู้อย่างทั่วถึง
ลองนำวิธีกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยการตั้งความคาดหวังผ่านปัจจัยทั้ง 4 ข้อของอาจารย์โรเซนธัล ด้านล่างนี้ไปใช้ในห้องเรียนดู
การปลูกฝัง Growth Mindset กำลังใจมีส่วนสำคัญ เด็กๆ ทุกคนย่อมอยากเป็นคนเก่งของพ่อแม่และเฝ้ารอให้ผู้ใหญ่มองเห็นเวลาเขาทำบางอย่างได้ดี การเอ่ยคำชื่นชมเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ควรต้องเน้นที่ความมานะพยายามมากกว่าใช้พร่ำเพรื่อมันทุกสถานการณ์จนเขาไม่รู้สึกพิเศษกับมันอีกต่อไป
ต้นกล้าจะเติบใหญ่ขึ้นได้ก็ด้วยส่วนผสมของบทเรียนที่ท้าทายความสามารถ บวกกับพลังความเชื่อมั่นคาดหวังอย่างแรงกล้า และเสียงสะท้อนจากครูที่จะช่วยชี้ให้พวกเขาเห็นว่ามีจุดบกพร่องตรงไหนสามารถสร้างเสริมเติมแก้ให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
เด็กทุกคนรอคอยโอกาสเปิดเผยอัจฉริยภาพที่ซ่อนอยู่ให้โลกรู้ ขอเพียงครูกล้าหยิบยื่นโอกาสให้เขาก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน ได้ลองฝึก ลองทำ ลองผิดพลั้ง ลองฮึดสู้ และไม่กลบฝังศักยภาพเขาด้วยความสำเร็จลวงตาที่ได้มาง่ายๆ ไปเสียก่อน