- การสอนให้นักเรียนคิดที่แท้จริง ไม่ใช่แค่กระตุ้นให้นักเรียนให้คิดวิเคราะห์เท่านั้น แต่ควรรวมถึงการคิดใคร่ครวญความรู้จนตกผลึกเป็นสติปัญญามองเห็นคุณค่าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นด้วย
- ทั้งพฤติกรรมหรือคำพูดที่นักเรียนแสดงต่อกันสามารถสะท้อนมุมมองที่แท้จริงที่ว่าพวกเขาเข้าใจโลกและเหตุการณ์ที่ดำเนินในชีวิตอย่างไร
- เพราะสังคมร้องหาการอ้างอิงด้วยผลการวัดและประเมินด้วยคะแนนเพื่อเทียบวัดความสำเร็จเชิงตัวเลข ครูจึงถูกบีบบังคับให้ต้องสอนให้นักเรียนคิดเหมือนกันเพื่อที่จะวัดประเมินได้ แทนที่จะส่งเสริมความถนัดที่แตกต่างและกระตุ้นการคิดเฉพาะตัวของผู้เรียน
ห้องเรียนที่เป็นเหมือนเวทีเสวนา เปิดโอกาสให้นักเรียนกล้าฝัน กล้าคิด กล้าพูด แบ่งปัน แย่งกันยกมือตอบ คงเป็นห้องเรียนในอุดมคติของพ่อแม่และคุณครูทั้งหลาย
โจเอล เวสธีเมอร์ (Joel Westheimer) ประธานองค์การวิจัยด้านการศึกษาและประชาธิปไตยแห่ง The University of Ottawa ก็เช่นเดียวกัน ประสบการณ์ของการเป็นครูมาทั้งชีวิตให้ข้อคิดและแนวทางที่เขานำมาใช้เองและเขียนหนังสือเผื่อแผ่ให้คุณครูอีกหลายล้านคนนำเทคนิคและคำแนะนำของเขาไปปลุกปั้นในห้องเรียนที่ส่งเสริมการคิดทั่วโลก
อาชีพครูของโจเอลเริ่มต้นช่วง 1980 ภาพคุณครูวิชาสังคมศึกษาชั้นประถมและมัธยมต้นผู้มุ่งมั่นในตอนนั้นยังชัดเจน โจเอลพกพาความฝันอันเต็มเปี่ยมที่จะเพิ่มพูนทักษะความรู้ต่างๆ ให้นักเรียนในชั้นเรียนของเขาออกไปสร้างโลกที่ดีขึ้น เด็กๆ ไม่เพียงเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเท่านั้น เขาฝันไกลไปว่า การสอนให้นักเรียนคิดดีได้ จะช่วยบรรเทาเมฆหมอกความอคติและความเกลียดชังในสังคมให้ลดน้อยลง คุณครูคนใหม่หวังให้เด็กๆ ซาบซึ้งในพลังความคิดที่จะช่วยให้พวกเขาค้นเจอความหมายที่มีต่อสังคมและโลกใบนี้ และทำมันให้น่าอยู่ขึ้น
แน่นอนว่าเพียงแค่เดือนแรกของการสอน ฟองสบู่ที่บรรจุความเพ้อฝันไว้เต็มเปี่ยมก็แตกโพละ นักเรียนในชั้นไม่เพียงต่อต้านเขาอย่างวายป่วงทุกทาง มีทั้งลากโต๊ะเก้าอี้วางระเกะระกะไปทั่วห้องเมื่อเริ่มชั้นเรียน ยกกล่องอาหารเช้าขึ้นมากินระหว่างการสอนโดยอ้างว่าครูคนเก่าให้ทำอย่างนี้ได้
ตอนนั้นโจเอลไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะต้องพก 3 สิ่งนี้เข้าไปสอนใน ‘นรก’ แห่งนั้นด้วย คือ การให้เวลา ความอดทน และ ความคิดสร้างสรรค์
ในขณะที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อยัดเยียดให้เหล่าตัวแสบรับเอาความรู้ที่เป็นประโยชน์จากโรงเรียนไปให้ได้ แต่โจเอลก็ยอมรับว่า ตัวเขาในขณะนั้นกลับไม่เคยมองไปไกลกว่าการดื้อดึงจะสอน โดยไม่เคยมองว่าสิ่งที่เรียนรู้จากตำราในโรงเรียนกับชีวิตความเป็นอยู่ข้างนอกรั้วโรงเรียนของเด็กๆ ครอบครัว สังคมที่พวกเขาเติบโตขึ้นนั้น มันเกี่ยวกันหรือไม่อย่างไร
พฤติกรรมและคำพูดของเด็กบอกได้ว่าเขามองโลกอย่างไร
จุดเริ่มต้นที่ทำให้โจเอลฉุกคิดว่า การเอาแต่สอนให้นักเรียนฉลาดคิดวิเคราะห์อย่างเดียวยังไม่พอ นักเรียนรู้ดีชั่วแต่ในทางปฏิบัติกลับล้มเหลว ในชั้นเรียนที่อภิปรายกันด้วยหัวข้อการเหยียดสีผิวและอคติที่มีต่อเชื้อชาติต่างๆ การเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนเพื่อปกป้องคนผิวสีในอเมริกา นักเรียนทุกคนดูเหมือนจะสนับสนุนคุณค่าความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียม พวกเขาพูดถึงโลกยุคใหม่ที่ทุกเชื้อชาติ ทุกความต่างสามารถเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันได้อย่างออกรสออกชาติ
แต่ทว่า ความเป็นจริงนอกคาบเรียน พวกเขาล้อเลียนกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมชั้นต่างชาติอย่างหนัก เช่น ใช้คำสแลงเรียกจิกเพื่อนชาวสเปนว่า spic (คล้ายๆ กับเรียกคนไทยเชื้อสายจีนว่า ‘เจ๊ก’) หรือ ล้อเพื่อนที่อ่อนทักษะกีฬาว่า faggot ซึ่งเป็นคำเรียกที่มีความหมายดูแคลนชายรักชายทำนอง ‘ไอ้ตุ๊ด’
แทนที่จะจำความรู้ไปพูดแบบนกแก้วนกขุนทองเวลาอภิปรายในชั้นหรือพื้นที่วิชาการ โจเอลตระหนักว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่างให้นักเรียนเห็นความเชื่อมโยงว่า ตัวเองกับผู้คนในสังคม รวมถึงสรรพสิ่งรอบตัว ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน การสอนให้นักเรียนรู้ดีชั่วเป็นเรื่องง่าย แต่จะสอนให้พวกเขา ‘มีจิตสำนึก’ นั้นยากกว่า
เขาคิดว่าการสอนให้นักเรียนคิดที่แท้จริง ไม่ใช่แค่กระตุ้นให้นักเรียนให้คิดวิเคราะห์เท่านั้น แต่มันควรรวมถึงการคิดใคร่ครวญความรู้จนตกผลึกเป็นสติปัญญามองเห็นคุณค่าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นด้วย
ไม่ช้า โอกาสก็มาถึง นิวยอร์คขณะนั้น (ช่วงกลางปี 1980’s) มีงานเฉลิมฉลอง Gay Pride ที่กำลังเป็นประเด็นพิพาท ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้าน โรงเรียนของโจเอลให้พื้นที่กับอาจารย์เกย์ที่เปิดเผยรสนิยมคนหนึ่งทำดิสเพลย์บนบอร์ดติดกระจกเพื่อนำเสนอบทความ ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ให้เข้ากับบรรยากาศงาน
แต่เพียงไม่กี่วัน บอร์ดก็ถูกมือดีใช้เก้าอี้ทุ่มซะเละเทะ กระจกแตกเกลื่อน โจเอลมองเหตุการณ์นี้เป็นโอกาสที่เขาจะได้ให้นักเรียนในวิชาสังคมศึกษา ‘คิด’ ‘เข้าใจ’ ‘ตระหนักรู้’ จากเหตุการณ์ที่พวกเขามีส่วนร่วมด้วยจริงๆ ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากตำราประวัติศาสตร์เย็นชืดอย่างที่ผ่านมา
เก้าอี้ถูกนำมาวางล้อมบอร์ดที่พังยับเยินดังกล่าว ห้องเรียนของโจเอลเปลี่ยนสถานที่จากในห้องสี่เหลี่ยมมาเป็นโถงกว้าง ตรงหน้ามีกระดาษรุ่งริ่งและเศษกระจกกระจัดกระจาย ชั้นเรียนในวันนี้จะพูดคุยกันต่อถึงประเด็นการเหยียดสีผิวที่เกิดขึ้นในอเมริกา
ครั้งนี้ โจเอลสัมผัสได้ว่าบรรยากาศการอภิปรายเปลี่ยนไปเมื่อบอร์ดที่ถูกทุ่มทำลายด้วยน้ำมือความเกลียดชังตั้งอยู่ตรงหน้า โจเอลกระตุ้นชั้นเรียนด้วยคำถามที่ต่อยอดจากคาบที่แล้วเรื่องอคติว่า พวกเขาคิดอย่างไรกับประเด็นความอคติที่สังคมบางส่วนมีต่อคนผิวสีหรือกลุ่มคนที่เชื้อชาติแตกต่างที่อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกับเรา
เหนือความคาดหมาย เมื่อตัวจี๊ดประจำชั้นที่โจเอลเรียกนามแฝงเขาว่า อาชีม (Archeem) นักเรียนแอฟริกัน-อเมริกันผู้คอยทำลายแผนการสอนที่เขาตระเตรียมเป็นอย่างดีให้พังพินาศแทบทุกครั้ง แถมเป็นหัวโจกสำคัญในการล้อเลียนเพื่อนร่วมชั้นทุกรูปแบบ ยกมือขอพูดบางอย่าง เขาชี้ไปที่บอร์ดนั่นแล้วบอกว่า…
ไอ้การเหยียดสีผิวมันก็คือเรื่องเดียวกันกับบอร์ดที่พังๆ นั่นแหละ เมื่อโจเอลให้เขาอธิบายว่า เหมือนตรงไหน เขาตอบว่า
“Racism is like when you hate someone just because of something about them that you don’t even know nothing about.”
การเหยียดสีผิวก็คือเวลาที่เราเกลียดใครสักคนด้วยสาเหตุบางอย่างซึ่งเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร
ในฐานะคุณครูหน้าใหม่ช่างฝันอย่างโจเอลในตอนนั้น เขามองว่านี่คือคำตอบที่สั่นสะเทือนมาก การที่เด็กผิวสีแอฟริกันอเมริกันอายุ 13 ปีซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมา ทำอะไรไม่เข้าท่ามาโดยตลอดกลับตระหนักถึงอะไรบางอย่าง และปล่อยหมัดเด็ดครั้งใหญ่ โจเอลรู้ว่า นาทีนี้อาชีมและเพื่อนๆ น่าจะเข้าใจมากขึ้นว่าความเกลียดชังด้วยอคติที่คนทั้งโลกรู้จักกันดีคือเรื่องเลวร้ายที่จับต้องได้จริงๆ และมันกลวงโบ๋เพียงใด
บทเรียนในวันนี้ เขาทำให้นักเรียนประจักษ์ด้วยตาตนเองแบบจะแจ้งว่า คุณค่าความดีงามในมนุษย์มันบิดเบี้ยวได้มากแค่ไหนเมื่ออยู่ในโลกความจริง อคติที่พวกเขาพูดคุยถกเถียงกันมาเป็นสิบๆ ครั้งไม่ได้อยู่แค่ในตำรา แต่มันเกาะกินในใจของพวกเราทุกคนที่มีเลือดเนื้อจริงๆ
“If schools are to be instrumental in helping young people engage with the world around them and work to improve it, then the lessons in school have to teach more than a calcified version of past events. Schools need to offer lessons that encourage new interpretations and that lend themselves to contemporary problems.”
ถ้าโรงเรียนมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนตระหนักในการเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่พวกเขาอยู่และมีหน้าที่ที่จะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น โรงเรียนควรสอนให้พวกเขาตีความปัญหาจากประสบการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมความเป็นอยู่ขณะนั้น มากกว่าแค่จากเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์
ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน คำตอบของอาคีมปลุกบรรยากาศการถกเถียงให้ลุกโชน โจเอลยิงคำถามต่อว่า “พวกหนูสงสัยไหมว่า เวลาที่คนผิวขาวเขาแสดงปฏิกิริยากับคนผิวสีนี้มันเหมือนกับการที่พวกเราบางคนรู้สึกบางอย่างกับคนที่เป็นเกย์รึเปล่า พวกหนูคิดว่ายังไง” ในชั้นเรียนแสดงความเห็นกันเผ็ดร้อน นักเรียนบางคนตอบกลั้วหัวเราะว่า “ไม่เหมือนกัน เพราะเกย์เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ น่ารังเกียจ”
ใช่แล้ว นี่เป็นแค่ก้าวแรกของความพยายามที่ยังห่างไกลจากสิ่งที่มุ่งหวังเหลือเกิน แต่อย่างน้อยนักเรียนได้ถกเถียง โต้แย้ง หักล้างกัน ตลอดเวลาที่คลาสสังคมศึกษาดำเนินต่อไป นักเรียนอภิปรายเรื่องข้อกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากอคติทางเชื้อชาติในยุค 50s-60s มาเปรียบเทียบกับความไม่เท่าเทียมในสิทธิของเกย์ยุคปัจจุบัน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จนกระทั่งในที่สุด ใครบางคนก็ตาสว่างกับคำว่าอคติอย่างแท้จริง จดหมายปิดผนึกจากนักเรียนนิรนามฉบับหนึ่งส่งตรงถึงอาจารย์เกย์เจ้าของดิสเพลย์ เพื่อกล่าวขอโทษกับการกระทำอันแสนขลาดเขลาของเขา
โรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึก พอๆ กับกระบวนการคิด
จากประสบการณ์ในวันนั้น โจเอลพบข้อสรุปว่า ทั้งพฤติกรรมหรือคำพูดที่นักเรียนแสดงต่อกันสามารถสะท้อนมุมมองที่แท้จริงที่ว่าพวกเขาเข้าใจโลกและเหตุการณ์ที่ดำเนินในชีวิตอย่างไร
วิธีที่จะสอนให้นักเรียนในชั้นเรียนวิชาสังคมศึกษาของเขาตระหนักในเรื่องนี้ คือต้องให้แยกแยะความเชื่อ ความเห็น ค่านิยม ออกจากความเป็นจริงให้ได้ก่อน (เช่น อคติการเหยียดสีผิวก็คือความเห็นที่ไร้หลักการ ว่าคนผิวสีมีมันสมองด้อยกว่าจึงไม่มีสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมคนผิวขาว แต่ข้อเท็จจริงคือ มนุษย์มีหลายเผ่าพันธุ์และสีผิวเกิดจากยีนพันธุกรรมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับความเฉลียวฉลาด เป็นต้น)
อีกประการคือ ในเมื่อนักเรียนมองความรู้จากตำราประวัติศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว และยังเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับชีวิตจริงไม่เป็น ดังนั้นหน้าที่ของคุณครูคือ ต้องชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาที่จับต้องได้ของยุคสมัยที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น
นอกจากข้อค้นพบข้างต้น โจเอลเสริมให้คุณครูต้องปฏิบัติดังนี้
1. กระตุ้นให้นักเรียนเป็นเด็กช่างถาม – การที่นักเรียนถามเพราะเขาสงสัย อยากรู้ อยากเข้าใจ ถ้านักเรียนขาดจุดเริ่มต้นตรงนี้ไป ก็เท่ากับเขาไม่มีเป้าหมายที่จะเรียนรู้ ครูต้องมีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้นักเรียนสงสัยใคร่รู้ให้ได้
2. กระตุ้นให้ถกเถียงกันในชั้นเรียน – ถกเถียงที่ไม่ใช่การทะเลาะ แต่เห็นต่างด้วยเหตุผลคนละอย่าง ที่คิดอย่างนั้นเพราะอะไร มีหลักฐานข้อมูลใดมาสนับสนุนความคิดตนได้ จุดนี้ สิ่งที่โจเอลมองว่านักเรียนจำเป็นต้องพิจารณาให้มากคือ ที่มาที่ไปของแหล่งข้อมูลที่เอามาอ้างอิงด้วย อย่าหูเบาและบ้องตื้นจนเชื่อในสิ่งที่อ่านเจอทุกอย่าง
3. เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้จากตำรากับการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง เบื้องต้น การสอนให้นักเรียนขบคิดลึกซึ้งและกว้างไกล จำเป็นที่ต้องให้จดจำหลักการบางอย่างให้ได้ก่อน หลักการนั้นอาจเป็นเสาหลักให้ยึดในการวิเคราะห์ หรือเพื่ออ้างอิงความถูกต้องได้ แต่ในโลกใบนี้ หลักการหรือข้อเท็จจริงเหล่านั้นไม่ ‘เสถียร’ เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าหลักการใดที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะหยิบยกมันมาใช้ได้มากกว่ากัน สมการคณิตศาสตร์ก็เช่นกัน เราเรียนรู้มันเพียวๆ ไม่ได้ แต่ต้องนำไปใช้ประโยชน์บางอย่าง อาทิ หาปริมาตรของความจุน้ำในเขื่อนชลประทาน วิถีโค้งของถนน
4. แม้ตัวอย่างจากบทเรียนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ยังต้องสอนจากของจริง ให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ตรงที่เคยพบเจอ ตั้งคำถาม ระบุปัญหา หนทางแก้ไข ความชอบ ความชัง ความต่างที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
5. สร้างโอกาสและผลักดันให้นักเรียนทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน สิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียนนำไปพัฒนาความเป็นอยู่นอกรั้วโรงเรียนได้มากน้อยอย่างไร การสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม สามารถเติมเต็มความขาดในใจ ขัดเกลาทักษะและคุณงามความดีของการคิดการกระทำให้เป็นไปอย่างเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลต่อกัน
ความพยายามที่โจเอลทุ่มเทในการสอนเด็กและเยาวชนให้รู้ซึ้งและเข้าใจทั้งหมดนี้คือ การสร้างการรู้คิด (Metacognition) หรือความสามารถของบุคคลที่มีต่อกระบวนการคิดของตนเอง รู้ว่าอะไรเหมาะสมกับตนเองในการเรียนรู้ ตลอดจนสามารถเลือกกลวิธี ในการวางแผน กำกับควบคุม และประเมินการเรียนรู้ของตนเองได้ เพื่อให้การเรียนรู้หรือการปฏิบัติงานต่างๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่แก้ไขสังคมหรือโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ดี หลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักเรียนคิดเป็นยังถือเป็นหนทางอันยากลำบากและท้าทาย ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญคือสังคมที่ร้องหาการอ้างอิงด้วยผลการวัดและประเมินด้วยคะแนนเพื่อเทียบวัดความสำเร็จเชิงตัวเลข ครูจึงถูกบีบบังคับให้ต้องสอนให้นักเรียนคิดเหมือนกันเพื่อที่จะวัดประเมินได้ แทนที่จะส่งเสริมความถนัดที่แตกต่างและกระตุ้นการคิดเฉพาะตัวของผู้เรียน
สาเหตุนี้เองที่ลดทอนประสิทธิภาพการสอน ลิดรอนอิสรภาพและความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัวของคุณครูเก่งๆ หลายคนที่คิดริเริ่มออกแบบการสอนใหม่ๆ เพราะต้องสอนให้สอดคล้องกับการสอบวัดและประเมินผลที่เน้นความจำ แม้โรงเรียนรู้เต็มอกเรื่องนี้ แต่พอพูดถึงค่าใช้จ่ายที่ควบคุมดูแลง่ายกว่า แรงสนับสนุนที่จะพัฒนาศักยภาพครูไปจนถึงหลักสูตรพัฒนาการคิดของนักเรียนก็แผ่วไป
ไม่ว่าจะอย่างไร สารพันปัญหา ความเกลียดชัง ความแตกแยกล้วนมีอยู่ทั้งในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือชุมชนที่เราอาศัยอยู่ตลอดเวลา การสอนให้คิดตริตรองแก้ไขเป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการศึกษาต้องให้ผู้เรียนเรียนรู้ความเป็นไปในสังคมจริงที่ตนเองอยู่อาศัยเพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักว่าทั้งความคิด การกระทำที่ได้จากการเรียนรู้นั้นจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและแก้ไขบรรเทาปัญหาเหล่านั้นได้
สุดท้ายการสอนให้คิดต้องเกิดควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีและยกระดับคุณค่าความเป็นมนุษย์ อันจะทำให้โลกใบนี้ของทุกคนดีขึ้นได้จริง
โจเอล เวสธีเมอร์ (Joel Westheimer) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองค์การวิจัยด้านการศึกษาและประชาธิปไตยแห่ง The University of Ottawa เคยมีผลงานวิจัยทางการศึกษาได้รับรางวัลชนะเลิศ CEA Whitworth Award ในปี 2009 และนำประสบการณ์การเป็นครูอันยาวนานมาเขียนหนังสือที่ช่วยแนะแนวทางการสอนที่จุดประกายแง่มุมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาจนมีชื่อเสียงได้รับเชิญไปร่วมรายการชื่อดังหลายแห่ง อาทิ Good Morning America, The Agenda, NBC TV News และ CBC เป็นต้น |