- ไม่ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารจะก้าวล้ำอย่างไร สังคมก็ยังคงต้องมีการพูดคุยสื่อสารระหว่างคนกับคนเช่นเดิมอยู่ดี
- เพราะสมองของมนุษย์มีกลไกซับซ้อนที่สามารถสื่อสารผ่านท่าทางโดยอัตโนมัติ และสัญชาตญาณมักไว้วางใจการประมวลผลที่อาศัยทั้งการมองเห็นและได้ยินร่วมกัน
- หากการสื่อสารไม่มีน้ำเสียง สีหน้าท่าทางมาประกอบ มีโอกาสสูงมากที่จะเข้าใจกันผิด
แครอล คินซีย์ โกแมน (Carol Kinsey Goman) วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารให้ผู้นำองค์กร ได้แบ่งปันบทสนทนาระหว่างเธอกับ อูริค เคลเลเรอร์ (Ulrich Kellerer) ผู้ก่อตั้ง Faro Fashion ประเทศเยอรมนี และยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จใน e-commerce เป็นอย่างสูง ลงในเว็บไซต์ FORBES ว่า
ไม่ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารจะก้าวล้ำอย่างไร สังคมก็ยังคงต้องมีการพูดคุยสื่อสารระหว่างคนกับคนเช่นเดิมอยู่ดี
โดยเฉพาะการติดต่อทางธุรกิจ ที่แม้การขายไอเดียหรือสินค้าผ่านอีเมลหรือแชทผ่านแอพพลิเคชั่นสนทนาต่างๆ อาจทำได้ แต่ประสิทธิผลไม่มีวันทัดเทียมกับการพูดคุยซื้อขายกันโดยตรงที่สามารถมองเห็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ระหว่างกัน ซึ่งผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกโดยตรงนี่เองสามารถถักทอความสัมพันธ์จนประกอบเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจที่ทรงอานุภาพกว่า
“ถ้าหากการสื่อสารนั้นๆ ไม่มีน้ำเสียง สีหน้าท่าทางมาประกอบ หรือเราไม่สามารถเลือกเปลี่ยนคำใหม่มาอธิบายคำที่ความหมายกำกวมได้ทันที มีโอกาสสูงมากที่จะเข้าใจกันผิด” อูริคกล่าวเสริม
เราสามารถพบเห็นสิ่งที่อูริคบอกได้ในการแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บบอร์ดต่างๆ ที่ปราศจากโทนเสียง คนตีความหมายข้อความเดียวกันได้หลากหลายทาง ส่วนมากคนมักตีความหมายไปในทางลบ บางครั้งแค่การแซวกันระหว่างเพื่อนในเฟซบุ๊คอาจลงเอยที่แตกหัก เลิกคบกันไปเลยก็มี
แครอลอธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นว่า…
สมองของมนุษย์มีกลไกตามธรรมชาติอันซับซ้อนที่สามารถสื่อสารผ่านท่าทางโดยอัตโนมัติ และสัญชาตญาณมักไว้วางใจการประมวลผลที่อาศัยทั้งการมองเห็นและได้ยินร่วมกัน
สูตรสำเร็จครอบจักรวาล 5 ข้อ จบทุกอุปสรรคการสื่อสาร
เราจะทำอย่างไรที่จะสื่อสารความคิด ข้อมูลมากมายออกไปให้ทั้งโลกจริงและโลกไซเบอร์ เข้าใจความหมายได้ชัดเจน ราบรื่นที่สุด? ดีไม่ดีอาจมีผลพลอยได้เป็นรายได้ ชื่อเสียง หรือความสำเร็จอีกด้วย
เซเรนา สคาร์เพลโล (Serena Scarpello) ตัวแทนสื่อสารมวลชนจาก Havas Group กลุ่มบริษัทธุรกิจสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แนะนำกฎ 5 ข้อ ที่รู้แล้วจะทำให้ทุกการสื่อสารที่เราต้องใช้อยู่ตลอดเวลาเป็นไปอย่างไร้อุปสรรค
1. รู้บริบท (Know your environment)
ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงธุรกิจ เป็นบล็อกเกอร์ หรือผู้มีชื่อเสียง (social influencer) ที่มีคนติดตามอยู่หลักแสน สิ่งที่ทำให้พวกเขาโดดเด่นกว่าใคร คือการที่พวกเขาเข้าใจว่าตนเองกำลังใช้สื่อช่องทางใดอยู่ ต้องการให้คนที่เห็นข้อความที่ปลายทางมีปฏิกิริยาอย่างไร หรือทำอะไรต่อไป การจะเป็นผู้นำด้านใดด้านหนึ่งในโซเชียลมีเดีย นอกจากหลักการสื่อสารพื้นฐานจำพวก production skills – reception skills หรือหลักโน้มน้าวใจคนแล้ว ที่ต้องเข้าใจอีกประการคือ การทำงานเชิงเทคนิคของฟีเจอร์ (feature) ต่างๆ ในแต่ละแอพพลิเคชั่น การสืบค้นและส่งต่อให้ผู้อื่นในวงกว้างทำอย่างไร หรือการติดแฮชแท็กที่จะทำให้คนเข้าถึงเราง่ายขึ้น
2. การเขียนก็ยังจำเป็นอยู่เสมอ (Good writing skills are essential)
อย่าประเมินค่าการเขียนต่ำไปในยุคที่ใครๆ ก็ต้องใช้ตัวหนังสือสื่อสาร เพราะทุกคนชอบอ่านเรื่องราวที่มีเนื้อหาที่ดีกันทั้งนั้น ไม่ว่าความจรรโลงใจในรูปนิยาย หรือจุดประกายความคิดการมองโลกแง่มุมใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์ขึ้น เอาเข้าจริงการเขียนเป็นดั่งเสาเอกของทักษะอื่นใดทั้งปวงที่จำเป็นในการติดต่อสื่อสาร ตั้งแต่การตลาด หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแม้แต่โซเชียลมีเดีย
ลองสังเกตว่านักเขียนที่ดีมักเป็นนักคิดที่ดีด้วยเพราะการเขียนก็คือกระบวนการเรียบเรียง กลั่นกรองความคิดอย่างเป็นระบบให้ออกมาเป็นเนื้อความที่จับต้องได้วิธีหนึ่ง ขอให้รู้ว่าการเรียนรู้เทคนิคการเขียนให้ดี ไม่เคยเสียเปล่าในชีวิตจริง
3. เรียนรู้ ตีความ ตามประสบการณ์ กาลเทศะ (Live, analyze and interpret the context)
นอกจากการเรียนรู้หลักการสื่อสารเชิงธุรกิจจากในห้องเรียน อย่างการเตรียม Powerpoint เพื่อนำเสนอโครงงานในชั้นเรียน การพูดในที่สาธารณะ หรือการเขียนเรียงความ ประสบการณ์เฉพาะตัวของบุคคลคือส่วนสำคัญที่ทำให้ทักษะการสื่อสารทั้งหมดเฉียบคมขึ้น ทั้งการสื่อความหมายที่อาจกินความหมายได้ลึกซึ้งน่าจดจำขึ้น หรือการตีความที่ลงรายละเอียดให้เข้าใจที่มาอย่างแตกฉานและเข้าอกเข้าใจมากขึ้น ดังนั้น จงแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้ ฝึกสังเกตความเป็นไปของผู้คนและสังคมรอบตัวด้วยสมองและสองตาตนเองอยู่เสมอ
4. เติมใส่ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity is key)
เป็นที่แน่ชัดในวงการศึกษาวิจัยแล้วว่า ความคิดสร้างสรรค์ ‘สร้างสรรค์’ ขึ้นได้จากการหมั่นฝึกฝนการคิดสิ่งที่ไม่ซ้ำเดิมให้หลากหลาย และพยายามคิดให้ฉีกออกจากกฎเกณฑ์เดิมที่เคยขวางกั้นความเป็นไปได้ไว้ แม้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงดึงดูดอันน่าตื่นตาอันจะเป็นองค์ประกอบให้การสื่อสารอยู่ในความสนใจของผู้คนได้ แต่สำหรับแนวทางการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เซเรนาติงไว้เล็กน้อยว่า
“แทนที่ความคิดจะแล่นฉิว บางทีถ้าให้อิสระในการคิดแบบไร้ขอบเขตมากเกินไปก็อาจทำให้สมองตีบตัน หรือคิดล่องลอยจนออกทะเล ไม่เป็นเรื่องเป็นราวเลยก็ไปได้”
คุณครูจำเป็นต้องมีกรอบหัวเรื่องที่ครอบไว้หลวมๆ แทนที่จะปล่อยให้วัยซนคิดกันไปอย่างไร้ขอบเขต จนสิ่งที่จะสื่อสารเคว้งคว้างไม่มีจุดหมาย ยากจะสรุปความ ดังตัวอย่างที่พบได้บ่อยๆ คือ presentation ที่รุงรังด้วยไอเดียบรรเจิด แต่จับต้นชนปลายไม่ได้ว่ากำลังจะสื่อสารใจความอะไรกันแน่
5. จงเป็นผู้สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ (Hold on to a sense of wonder and curiosity)
จงตระหนักเสมอว่า สิ่งที่เรารู้ไม่เคยเป็นที่สุด สิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องดีงามที่สุดจากแง่มุมที่เราประสบอาจต่างกันราวฟ้ากับเหวกับผู้คนอื่นๆ ที่โตมาจากการเลี้ยงดู สังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ หรือค่านิยมความเชื่อ ที่ต่างกัน
เพราะเราเป็นมนุษย์ปุถุชนที่จำเป็นต้องสื่อสารเพื่อใช้ชีวิต และสร้างคุณค่าความหมายของการดำรงอยู่ในโลกใบนี้ในทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในทุกๆ วัน เราจะต้องเรียนรู้ ถกเถียง รับฟังความเห็นต่าง และเรียนรู้ ถกเถียง รับฟังความเห็นต่าง วนไปอย่างนี้ไม่รู้จบจนชั่วชีวิต ดังนั้น จงเรียนรู้ ทำความเข้าใจทุกการสื่อสารและต้อนรับความหมายที่ค้นเจอเหล่านั้นไว้เป็นประสบการณ์ จากนั้นอย่าลืมแบ่งปันด้วยการเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป