- สาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้สมองวัยรุ่นถดถอยคือการจัดการเรียนรู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสมอง
- สมองของวัยรุ่นกำลังพัฒนาจากการได้คิดและทำในสิ่งใหม่ๆ และปรับการทำงานตามสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ที่เด็กเจอ หนึ่งในนั้นคือการจัดการเรียนรู้ของครู
- เปลี่ยนการเรียนรู้มาเป็นมิตรและทีมเดียวกับเขา คือสิ่งที่คุณครูทำได้
สมองมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของวิวัฒนาการมนุษย์ เพราะหากสมองไม่สามารถปรับตัวได้ มนุษย์จะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเป็นไปที่ผันแปรอยู่ตลอดเวลาและสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่วิเศษที่สุดแต่มักถูกละเลยและถูกมองในแง่ลบด้วยคำตีตราจากสังคม
ทั้งที่หากผู้ใหญ่และสังคมสนับสนุนและให้โอกาส สมองของวัยนี้จะทำอะไรสร้างสรรค์ได้อีกมาก เพราะเป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนาจากการได้ลองคิดลองทำสิ่งใหม่ๆ และสมองจะเชื่อมต่อโครงสร้างและปรับการทำงานของตัวเองมากน้อยตามสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ที่เด็กเจอ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นจึงมีอิทธิพลต่ออนาคตวัยผู้ใหญ่ของเด็กเป็นอย่างมาก
จากการศึกษา พบว่า การปรับตัวของสมองในช่วงวัยรุ่นมีลักษณะสำคัญอยู่ 3 ประการคือ
หนึ่ง เซลล์สมองเพิ่มจำนวนมากขึ้น นักวิจัยเพิ่งค้นพบในช่วงปี 1990 ว่า แท้จริงแล้ว สมองสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นใหม่ได้ตลอด ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในวัยเด็กเท่านั้น โดยมีงานวิจัยปี 2013 ศึกษาพบว่า สมองในช่วงวัยรุ่นเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าในวัยผู้ใหญ่ 4-5 เท่า และสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มเซลล์สมองด้วย
สอง เซลล์สมองลดจำนวนลง การลดจำนวนเซลล์สมองนี้เกิดขึ้นกับเซลล์ที่ไม่จำเป็นเท่านั้น การทดลองร่วม 70 ปีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้ชี้ให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมที่ดีส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของเดนไดรต์ (dendrite) หรือใยประสาทในสมอง
สาม การสร้างหุ้มปลอกไมอีลิน (myelin sheath) สารเคลือบที่มีลักษณะเป็นปลอกหุ้มเส้นใยประสาท ทำให้เซลล์สมองส่งกระแสไฟฟ้าไปถึงกันและกันได้รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังสมองส่วนที่ทำงานไม่สมบูรณ์เต็มที่ได้อีกด้วย
สมองจะมีกระบวนการสร้างหุ้มปลอกไมอีลินได้ดีในช่วงวัยรุ่น ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า อัตราการสร้างสารไมอีลินเข้าหุ้มแอกซอน (Axon) หรือเซลล์ประสาท มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับความต่อเนื่องของสิ่งกระตุ้นและอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม เช่น การเรียนรู้ทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ สามารถกระตุ้นให้สมองเกิดกระบวนการสร้างหุ้มปลอกไมอีลินเพิ่มขึ้นได้
การปรับตัวของสมอง: จะใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือปล่อยให้เสียเปล่า
สมองส่วนต่างๆ จะพัฒนาอย่างเต็มที่ในช่วงวัยแตกต่างกัน สมองวัยรุ่นมีคุณสมบัติพิเศษเรื่องการปรับตัว ขณะที่กระบวนการหุ้มปลอกไมอีลินเกิดขึ้นในระหว่างที่สมองกำลังพัฒนาในวัยรุ่น เซลล์ประสาทที่ถูกห่อหุ้มนั้นจะเริ่มไปกีดขวาง การแตกแขนง (arborization) ของเดนไดรต์ เป็นที่มาของข้อมูลที่ว่า ยิ่งอายุมากขึ้นการขยายตัวของเซลล์สมองก็จะลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าหยุดขยายตัวหรือขยายตัวไม่ได้อีกแล้ว
เจย์ กีดด์ (Jay Giedd) นักวิจัยสมอง กล่าวว่า
“การปรับตัวของสมองไม่ได้หยุดแล้วหยุดเลย แค่จะทำได้ไม่ดีเท่าตอนที่เรายังเป็นวัยรุ่นเท่านั้น”
ช่วงวัยรุ่นจึงเป็น ‘ช่วงวัยอันอ่อนไหว’ ที่ไม่ใช่แค่ความอ่อนไหวทางอารมณ์อย่างที่มักพูดถึงกัน แต่ยังอ่อนไหวต่อการลดจำนวนเซลล์สมองและการเดินสายระบบวงจรสมองที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ การวางแผน การประเมินสถานการณ์ และการคิดจัดการด้านอื่นๆ ด้วย
ด้วยเหตุนี้ การทำงานของสมองในช่วงวัยรุ่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม (อายุระหว่าง 11-18 ปี) เพราะสมองจะค่อยๆ ปรับโครงสร้างการเชื่อมต่อเซลล์และการทำงานไปตามกิจกรรมและสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ในช่วงวัยรุ่นทั้งด้านบวกหรือลบ จะเป็นคลื่นสั่นสะเทือนในสมองไปตลอดชีวิต และไม่ได้เป็นตัวกำหนดอนาคตที่ลึกซึ้งของเด็กเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกำหนดสังคมที่เด็กดำรงอยู่และกำลังจะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ในไม่กี่ปีข้างหน้าอีกด้วย
ประสบการณ์ในช่วงวัยรุ่นจึงเป็นตัวชี้ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ที่จะตามมาเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ “จงใช้ (ช่วงเวลานี้) ให้เป็นประโยชน์ หรือไม่อย่างนั้นก็เสียเปล่า”
เข้าใจว่าทำไมวัยรุ่นไม่ทนต่อความเครียดและไม่ชอบทน
มนุษย์ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นจะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยความเครียดมากกว่าตอนโต การเผชิญกับความเครียดต่อเนื่องยาวนานจะส่งผลร้ายต่อวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่ โดยความเครียดจะไปขัดขวางพัฒนาการด้านการทำงานและโครงสร้างของสมอง ทำให้การพัฒนาในสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับสมาธิทำงานลดลง
การที่วัยรุ่นมีความต้านทานต่อความเครียดต่ำลง เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน ความรุนแรงและการกลั่นแกล้ง การฆ่าตัวตาย การดื่มแอลกอฮอล์ การเสพกัญชา การสูบบุหรี่และใช้สารนิโคติน ความผิดปกติทางจิต การนอนหลับยาก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ยาในทางที่ผิด รวมถึงการติดอินเทอร์เน็ต
ยิ่งหากต้องเผชิญกับความเครียดอย่างยาวนาน สามารถนำไปสู่ภาวะวิตกจริต ซึมเศร้า แปลกแยกจากสังคม ขี้ตกใจ สมาธิสั้น และนอนไม่หลับได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อสภาวะทางร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น ความดันโลหิตสูง และ ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น
เพื่อทำความเข้าใจระบบตอบสนองความเครียดของวัยรุ่น เราจำเป็นต้องเข้าใจความสัมพันธ์และการตอบสนองซึ่งกันและกันระหว่าง ไฮโปธาลามัส-ต่อมพิทูอิทารี-ต่อมหมวกไต hypothalamic-pituitary-adrenal axis ที่รวมกันเรียกว่า แกนเอสพีเอ (HPA axis)
สองส่วนแรกคือ ‘ไฮโปธาลามัส’ กับ ‘ต่อมพิทูอิทารี’ อยู่ติดกันในสมองส่วนที่อยู่ข้างใต้สมองส่วนหน้า ส่วน ‘ต่อมหมวกไต’ อยู่เหนือไตทั้งสองข้างขึ้นมา ทั้งสามส่วนนี้ทำงานร่วมกันในกลไกอันสลับซับซ้อน ทั้งกระตุ้นและตอบสนองซึ่งกันและกันวนไปไม่รู้จบ คอยควบคุมการตอบสนองความเครียดและดูแลกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบย่อย ภูมิคุ้มกัน อารมณ์ และระบบสืบพันธุ์ เพื่อควบคุมให้ระบบทำงานอยู่กับร่องกับรอย
งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าวัยรุ่นจะมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเวลากลางวันสูงกว่าในวัยผู้ใหญ่ (คอร์ติซอล (cortisol) เป็นฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์ที่สร้างขึ้นจากต่อมหมวกไต เพื่อช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อความเครียด และยังมีบทบาทเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ต่อสู้กับอาการอักเสบ กระตุ้นตับให้สร้างน้ำตาลออกมาสู่กระแสเลือด และช่วยควบคุมปริมาณสารน้ำภายในร่างกาย) ทำให้แกนเอสพีเอทำงานว่องไวและรับเอาปัจจัยความเครียดภายนอกได้ง่ายกว่า
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นจะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยความเครียดมากกว่าตอนโต การเผชิญกับความเครียดต่อเนื่องยาวนานจะส่งผลร้ายต่อวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่ โดยความเครียดจะไปขัดขวางพัฒนาการด้านการทำงานและโครงสร้างของสมอง
การพัฒนาในสมองส่วนหน้าและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับสมาธิจะลดลง เมื่อวัยรุ่นมีความอ่อนไหวต่อความเครียดเพิ่มมากขึ้น ยิ่งนำไปสู่การใช้สารเสพติดมากขึ้น เกิดภาวะป่วยทางจิต ใช้ความรุนแรง และทำสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่ยิ่งนำไปสู่ความเครียดอื่นๆ มากขึ้น และวัฏจักรนี้ก็จะดำเนินไปไม่สิ้นสุด
การศึกษาที่ ‘เป็นปฏิปักษ์กับสมอง’: โรงเรียนทำให้ (สมอง) วัยรุ่นถดถอย
ในแต่ละปีนักเรียนอเมริกันใช้เวลาประมาณ 1,000 ชั่วโมงหมดไปในรั้วโรงเรียน (ไม่นับรวมกิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมสันทนาการก่อนและหลังเลิกเรียน และหลักสูตรในฤดูร้อน) คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ของชีวิตยามตื่น เวลา 1 ใน 4 ส่วนนี้นับเป็นโอกาสทองให้ครูผู้สอนได้รังสรรค์กิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถพลิกโฉมการทำงานของสมองนักเรียนให้เป็นไปในทางบวก
ถึงอย่างนั้น ยังมีปัจจัยอีกมากที่ครูผู้สอนไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ การอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก การคบเพื่อนนอกโรงเรียน สื่อต่างๆ ที่สร้างภาพลักษณ์และค่านิยมบางอย่างซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น โฆษณาที่นำเสนอภาพผู้ชายมีกล้าม และผู้หญิงหุ่นเพรียวบาง หรือในภาพยนตร์ที่นำเสนอภาพการสูบบุหรี่และใช้ยาเสพติด สร้างภาพลักษณ์ให้สิ่งเหล่านี้เป็นของเท่ ไหนจะลักษณะพันธุกรรมที่อยู่ในตัวเด็กเอง และความเป็นมาของชีวิตส่วนตัว
จากผลการสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายทั่วประเทศในสหรัฐอเมริกา ในปี 2014 พบว่า นักเรียนเกรด10 (มัธยมศึกษาปีที่ 4) มากกว่าครึ่ง รู้สึกเบื่อหน่ายชั้นเรียนและจำนวนน้อยกว่าครึ่งรู้สึกดีที่ได้ไปโรงเรียน ขณะที่ผลการสำรวจอีกชุดหนึ่ง ที่สำรวจในเด็กอายุ 14-15 ปี สรุปได้ว่า มีเพียง 33 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กผู้หญิงและ 20 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กผู้ชายที่พ่อแม่ผู้ปกครองตอบว่าเด็กมีความกระตือรือร้นที่จะไปโรงเรียน
จากผลสำรวจนักเรียน โดย แกลอัพ โพล (Gallup Poll) พบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ของนักเรียนประถมศึกษา เต็มใจไปเรียนและทำกิจกรรมที่โรงเรียน ในขณะที่ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามีเพียง 44 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
ตารางด้านล่างนี้สะท้อนให้เห็นการเรียนการสอนและกิจกรรมในชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ เรียกได้ว่า ‘เป็นปฏิปักษ์กับสมอง’
ตารางการเรียนการสอนในชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ ‘เป็นปฏิปักษ์กับสมอง’
แบรนดอน บัสทีด (Brandon Busteed) กรรมการบริหารแกลอัพ เอดูเคชั่น (Gallup Education) กล่าวว่า
“ถ้าทำให้ระบบการศึกษาสำหรับเด็กและอนาคตของเราถูกต้อง จำนวนเด็กอยากไปโรงเรียนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม แต่ละปีเด็กจะมีพัฒนาการในโรงเรียนดีขึ้น มีความกระตือรือร้นอยากไปเรียนมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง”
บัสทีดย้ำว่า แม้แต่เด็กที่ดูเหมือนมีความกระตือรือร้นในชั้นเรียนอยู่แล้ว แท้จริงเด็กเหล่านั้นอาจแค่มีแรงจูงใจที่ต้องการตอบสนองครูผู้สอนเพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย จะได้ไม่ต้องถูกจี้ถามในชั้นเรียนก็เป็นได้
จากข้อมูลที่ว่ามาทั้งหมด ดูเหมือนรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนจะสร้างการเรียนรู้ที่ผิดทางไปเสียหมด เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาในระบบการศึกษาหลายประเทศไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น
งานวิจัยเมื่อปี 2015 ซึ่งศึกษาเด็กนักเรียนชั้นมัธยมหลายแห่งย่านชานเมืองแห่งหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่า นักเรียนเก็บกดอารมณ์ที่มีต่อครูผู้สอน ผู้วิจัยกล่าวว่า
เมื่อครูผู้สอนอยู่ภายใต้แรงกดดันจากระบบประเมินประสิทธิภาพการสอนที่เริ่มนำมาบังคับใช้ ซึ่งกำหนดให้ครูต้องพิสูจน์ให้เห็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ตนสอนให้ได้ อีกทั้งมีการนำมาตรฐาน Common Core State มาใช้ โดยประกาศให้ครูต้องสอนเนื้อหาที่ท้าทายเด็ก
“บางทีพวกครูน่าจะคิดถึงการสร้างความเข้าใจและปรับปรุงการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน วางเป้าหมายระยะยาวที่เอื้อให้เด็กแสดงอารมณ์และความรู้สึกได้ ซึ่งต้องแบ่งเวลาและพลังที่มีมาดูแลเอาใจใส่การเรียนรู้ของเด็กด้วย”
ด้าน ไดแอน ราวิช (Diane Ravitch) อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการศึกษาแห่งอเมริกา กล่าวถึงตำราประวัติศาสตร์ที่ใช้ในชั้นเรียนมัธยมว่า
“ตำราสมัยนี้มีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างคือ แม้กำลังบรรยายสถานการณ์หรือช่วงเหตุการณ์สำคัญอยู่ก็ตาม เนื้อหากลับบรรยายไปแบบเรียบๆ ไม่มีความน่าสนใจ และไม่มีการเล่าเรื่องโดยใส่ความสนุกสนาน ผจญภัย หรือน่าตื่นเต้นเข้าไปเลย”
จากงานวิจัยที่เยอะเป็นภูเขาเลากาว่าด้วยเรื่องพัฒนาการทางสมองในวัยรุ่นที่กล่าวมาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า การเรียนในชั้นเรียนรวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ทำกันอยู่ในโรงเรียนทั้งหลาย จำเป็นต้องถูกปฏิรูปใหม่อย่างจริงจังอย่างไม่ต้องสงสัย
เรียนรู้อย่างไรให้เหมาะกับพัฒนาการสมอง
การปฏิรูปการศึกษาระดับชั้นมัธยม ควรจัดแผนการเรียนการสอนโดยยึดเอาพัฒนาการสมองของวัยรุ่นเป็นแนวทาง หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ปกติสังคมมักมองวัยรุ่นในทางเลวร้าย มีมายาคติ ภาพจำ หรือคำพูดติดปากว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากลองอยากเสี่ยงและคึกคะนอง แต่อีกด้านหนึ่งความอยากลองสิ่งแปลกใหม่และท้าทายในทางที่ดีอาจนำไปสู่การเรียนรู้ที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวัยรุ่นอยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง เขาอาจเลือกเข้าแก๊งอันธพาล หรืออาจหันไปทำสิ่งดีๆ เช่น เข้าร่วมงานบริการสาธารณะเพื่อทำประโยชน์ต่อชุมชนแทนก็ได้ถ้ามีโอกาส
พฤติกรรมแสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจที่ชักนำวัยรุ่นให้ลิ้มลองยาเสพติด สามารถเปลี่ยนให้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงกระตุ้นตัวเด็ก ให้เด็กอยากเป็นผู้กำหนดเนื้อหาที่อยากเรียนในชั้นเรียนของตัวเองอย่างกระตือรือร้นก็ได้
ต่อไปนี้เป็น 8 ข้อเสนอแนะเพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เพื่อสนับสนุนวัยรุ่นให้แตกต่างอย่างสร้างสรรค์
หนึ่ง เปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้เลือก เพราะสมองส่วนหน้า (ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ใช้ตัดสินใจ) กำลังเจริญเติบโตในวัยนี้ พวกเขาควรได้รับโอกาสให้ตัดสินใจเพื่อลองผิดลองถูกหลายๆ ครั้ง โดยไม่ถูกตีตราว่าสำเร็จหรือล้มเหลว แม้ว่าเรามักเห็นว่าวัยรุ่นหลงผิดหรือเลือกทางเลือกที่ไม่ค่อยเหมาะสมนัก แต่นั่นก็เพื่อให้เขาได้เรียนรู้
สอง ให้เด็กค้นพบตัวเองโดยการทำกิจกรรม นักจิตวิเคราะห์ อิริค อิริคสัน (Erik Erikson) กล่าวว่า วัยรุ่นมีแรงขับทางจิต 2 ด้านที่ต่อสู้ขัดแย้งกันอยู่ภายใน ด้านแรกคือ แรงขับที่อยากสร้างตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่งให้อยู่รอดในสังคม กับอีกด้านที่ผลักดันให้เกิด ‘ความสับสนในหน้าที่’ คือ ยังไม่รู้หน้าที่ทางสังคมและตัวตนที่แน่ชัดของตนเอง เพราะฉะนั้นการเรียนและกิจกรรมในชั้นเรียนช่วงมัธยมจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนได้สำรวจและแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา
สาม ให้เด็กเรียนรู้โดยการแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อน เพื่อนมีอิทธิพลต่อวัยรุ่น เพราะวัยนี้ให้ความสำคัญกับการเข้าสังคมกับเพื่อน
ครูผู้สอนต้องยอมลดการเรียนการสอนที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางลงเสีย ไม่ว่าจะเป็นการเลคเชอร์หน้าชั้นเรียน การสอนจากตำรา ให้เด็กจดตาม แต่มุ่งเน้นให้เด็กในชั้นเรียนแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกัน (cooperative learning)
หรือใช้วิธีอื่นใดที่สนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงความร่วมมือร่วมใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ด้วยกัน
สี่ ให้เด็กเรียนรู้โดยมีอารมณ์ความรู้สึกและสิ่งเร้าเป็นองค์ประกอบ (affective learning) โดยทั่วไปครูผู้สอนมักตอบสนองการแสดงออกของนักเรียนอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ หนึ่ง ไม่ใส่ใจกับอารมณ์ต่างๆ ที่เด็กแสดงออกมาในชั้นเรียน หรือมีการลงโทษหากเด็กไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ หรือ สอง ยอมรับอารมณ์เหล่านั้นและนำสิ่งที่เด็กแสดงออกมาประยุกต์ใส่ในกิจกรรรมหลักสูตร น่าเสียดายที่ครูส่วนมากมักจะเลือกแบบแรก
ห้า ให้เด็กเรียนรู้โดยการออกกำลังกาย ทุกวันนี้มีการเรียกร้องให้บรรจุกิจกรรมออกกำลังกายเข้าไปในการเรียนการสอน วิชาพลศึกษายังคงมีความสำคัญ ในอเมริกาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะประชากรในวัยรุ่นกำลังเผชิญกับภาวะโรคอ้วน ซึ่งการออกกำลังกายเป็นการส่งเสริมสุขภาพ และทำให้ผู้ปฏิบัติมีสุขภาพทางใจที่ดีด้วย
หก ส่งเสริมให้เด็กมีสำนึก ตระหนักรู้และรู้จักความคุมตนเอง (metacognitive strategies)
ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget) นักประสาทวิทยาด้านพันธุกรรมชาวสวิส เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่กล่าวว่าเด็กวัยรุ่นช่วงอายุ 11-12 ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีกระบวนการคิดแบบใหม่
เปียเจต์ เรียกกระบวนการนี้ว่า ‘การปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการ-formal operations’ โดยอธิบายว่า เป็นช่วงวัยที่เด็กสามารถ ‘คิดวิเคราะห์ความคิด’ ได้ เด็กจึงควรได้รับการส่งเสริมให้มีความตระหนักรู้และรู้จักควบคุมตนเอง
เจ็ด ให้เด็กแสดงออกผ่านศิลปะ ด้วยพลังความสามารถของวัยรุ่น วัยนี้จึงควรเป็นวัยแห่งการสร้างสรรค์และพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะให้มากที่สุด แผงเส้นใยประสาท (corpus callosum) ที่แยกสมองออกเป็นสองซีกนั้น จะขยายจำนวนเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวดในระหว่างช่วงอายุ 5-18 ปี
แผงเส้นใยประสาทมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสร้างสรรค์อยู่แล้ว การให้เด็กได้แสดงออกผ่านกิจกรรมด้านศิลปะเช่น วาดภาพ ปั้นเครื่องปั้น เล่นละคร เล่นดนตรี ถ่ายรูป และทำภาพปะติด เป็นการเรียนการสอนที่ช่วยเปิดช่องทางให้ศักยภาพของสมองส่วนลึกในวัยนี้ได้เบ่งบานออกไปสู่การแสดงตัวตนอย่างเหมาะสมและมีจิตสำนึกในสังคมของตน และนำไปสู่การช่วยส่งเสริมให้สมองส่วนหน้าและพัฒนาสมองส่วนลิมบิกให้สามารถรับส่งเกื้อกูลกันอย่างแข็งแกร่ง
และ แปด ให้เด็กออกไปเรียนรู้ในสถานการณ์จริง จากการทดสอบใน ‘สภาวะไร้แรงกระตุ้น’ (cold cognition context) พบว่าสมองเด็กวัย 15-16 ปี สามารถสั่งการด้านการจัดการได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ในทางกลับกันเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีปัจจัยทางอารมณ์ความรู้สึก และตัวกระตุ้นทางสังคมอื่นๆ มามีอิทธิพลต่อกระบวนการคิด (hot cognition context) ประสิทธิภาพในด้านการจัดการของสมองจะถดถอยลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นการสอนให้เด็กวัยรุ่นวางแผน บริหาร คิดจัดแจงล่วงหน้า ให้มีความยับยั้งชั่งใจและใช้ความคิดด้านการจัดการอื่นๆ จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่อนุญาตให้เด็กทำไปตามสัญชาตญาณตนเอง
ให้เด็กได้คาดเดาสถานการณ์แปลกใหม่ รู้จักยับยั้งการตอบสนองทางอารมณ์ และการแสดงออกในบริบทที่มาจากสถานการณ์จริงอื่นๆ เพราะถึงแม้เราจะสามารถจำลองสถานการณ์ในชั้นเรียนขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนประสบการณ์ตรงที่สามารถทำให้เด็กรับมือกับความซับซ้อนจริงในโลกปัจจุบันได้ทั้งหมด
ไม่ว่าจะคิดจากมุมไหน การเป็นครูผู้สอนของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ด้วยสังคมที่ซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ในแต่ละวันครูต้องเจอนักเรียนที่ขาดแรงจูงใจในการเรียน ใจลอย คุยเล่นกับเพื่อนนอกเรื่อง หรือเอาแต่ส่งข้อความแชท บางคนอาจใช้ยาเสพติดหรืออยู่ในภาวะจิตบกพร่อง คงเป็นเรื่องมักง่ายเกินไปถ้าครูแค่แข็งใจกับสถานการณ์เหล่านี้และหลับหูหลับตาสอนต่อไปตามหลักสูตร โดยไม่หยุดคิดทบทวนว่าการเป็นวัยรุ่นในยุคนี้มีความยากและมีความหมายอย่างไรบ้าง
เมื่อเรามีความรู้อย่างลึกซึ้งถึงอนาคตปลายทางที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นของวัยรุ่น กับโอกาสอีกมากมายที่ให้ได้ลองปรับจูน เพื่อกระตุ้นสมองของวัยนี้ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ครูผู้สอนสามารถดื่มด่ำกับด้านดีงามและพบความหมายในช่วงวัยอันแสนพิเศษนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้ได้เชื่อมั่นได้อย่างแท้จริงว่าครูผู้สอนสามารถเปลี่ยนชีวิตนักเรียนวัยรุ่นให้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงได้