- คำถามสำคัญในยุคที่เด็กๆ เปิดโลกทัศน์ด้วยเทคโนโลยี ‘ทักษะอะไรที่พวกเขาต้องมีเพื่อใช้สื่ออย่างรู้ทัน’
- Media Literacy ทักษะในการตรวจสอบ คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ ต่อข้อมูลท่วมท้นบนโลกอินเทอร์เน็ต เข้าใจวัฒนธรรมใหม่ที่มาพร้อมกับการสื่อสารไร้พรมแดน และไม่ใช่แค่ฐานะผู้รับข่าวสาร แต่ในฐานะผู้ผลิตและส่งต่อด้วย
- หลายโรงเรียนทั่วโลกเปิดวิชา ‘เท่าทันสื่อ’ แต่ในประเทศที่วิชานี้ยังไม่ถูกพูดถึง เรารวบรวมเคล็ดวิชาสร้างห้องเรียน ‘รู้เท่าทันสื่อ’ ได้ง่ายๆ ด้วยคำถาม 5 ข้อ พร้อมชี้เป้าสื่อการสอนสำเร็จรูปให้ครูนำไปใช้ได้ง่าย
เป็นปริศนาที่หาข้อสรุปไม่ได้ โต้เถียงกันไม่เลิก แต่ละฝ่ายต่างก็งัดทัศนคติประกอบเหตุผลมาชวนคิดว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ ให้คุณหรือโทษต่อผู้ใช้มากน้อยแค่ไหน
ฝั่งให้โทษ โซเชียลมีเดียทำให้มนุษย์เศร้าลง (เพราะมักเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อน), โลกเสมือน, การหลอกลวงตัวตน, โจรกรรมข้อมูลไซเบอร์ ยังมีอีกมาก แต่ที่อยากไฮไลต์คือ fake news หรือ ข่าวลวง
ฝั่งให้คุณ โซเชียลมีเดียเปิดโลกทัศน์, เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูล, เครื่องมือพัฒนาภาษา (อย่าดูถูกวัฒนธรรม K-pop และ J-pop ทำให้คนพัฒนาภาษามานักต่อนัก) ยังมีอีกมาก แต่ที่อยากไฮไลต์ มันคือ DNA และ อาชีพใหม่ของคนในศตวรรษที่ 21
ไม่ได้ชวนเถียงว่าควรให้น้ำหนักกับฝั่งไหน เพราะข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ โซเชียลมีเดียคือแขนขาของคนยุคนี้ ประวัติศาสตร์มนุษยชาติตักเตือนเสมอว่าการห้ามหรือกีดกันรังแต่ทำให้เรื่องยิ่งยุ่งขิง การให้ข้อมูลและสร้างภูมิคุ้มกันใหม่แก่ชาวโซเชียล คือสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่า
Media Literacy หรือ การรู้เท่าทันสื่อ ว่าด้วยทักษะของบุคคลทั่วไปในการตรวจสอบ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ต่อข้อมูลที่ท่วมท้นบนโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งเข้าใจวัฒนธรรมใหม่ที่มาพร้อมกับการสื่อสารไร้พรมแดน และไม่ใช่แค่เฉพาะการเท่าทันในฐานะผู้รับข่าวสาร แต่ในฐานะผู้ผลิตและส่งต่อด้วย
การรู้เท่าทันสื่อยังถูกให้ความสำคัญในแง่ ‘ทักษะใหม่’ ของคนในศตวรรษที่ 21 หลายประเทศบรรจุวิชานี้เพื่อต่อกรกับ fake news หรือ ข่าวปลอม สอนกันตั้งแต่อนุบาลยันระดับมหาวิทยาลัย ขีดเส้นใต้ด้วยว่า ไม่ใช่วาระเร่งด่วนเฉพาะวัยรุ่น แต่เป็นภูมิคุ้มกันที่ต้องฉีดให้กับพลเมืองเน็ตทุกคน (netizen)
Media Literacy: เท่าทันสื่อเรื่องอะไรบ้าง
เริ่มทำความเข้าใจตั้งแต่ข้อมูลหลอกลวงตรงไปตรงมา เช่น ข่าวลวง, โฆษณาแฝงในบทความเชิงข่าว, โจรกรรมในโลกไซเบอร์, โฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์แยกแยะ ‘ทัศนคติ’ ปน ‘ข้อเท็จจริง’ ที่มากับบทความนั้น เช่น แยกออกไหมว่าส่วนไหนเป็นทัศนคติของผู้เขียนและข้อเท็จจริงตั้งต้นในข่าว, บอกได้ไหมว่าที่มาของบทความนั้นน่าเชื่อถือหรือเปล่า, รีเช็คข้อมูลก่อนตัดสินใจเชื่อหรือนำข้อมูลนั้นไปใช้ต่อได้หรือไม่ กระทั่ง แยกออกไหมว่าบทความนั้นเป็นบทความเชิงการค้า (advertorial) หรือเป็นข้อมูลจากผู้ใช้จริง
งานวิจัยจาก Stanford History Education Group (SHEG) ทีมส่งเสริมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รายงานว่า วัยรุ่นมักถูกหลอกโดยโฆษณาแฝง, เวลาอ่านข่าวหรือบทความมักแยกไม่ออกว่าอะไรคือทัศนคติส่วนตัวของผู้เขียนและข้อเท็จจริง, และ ไม่อาจรีเช็คหรือตรวจทานได้ว่าข้อมูลที่กำลังหาเพื่อนำไปใช้งานต่อนั้น มีที่มาจากไหนกัน
ในระดับที่ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่กว่านั้น Media Literacy พูดถึงการบิดแปลงข้อมูลในระหว่างการหาเสียงซึ่งมีผลต่อฐานคะแนนของพรรคการเมือง (โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 2016 มีการปล่อยข่าวปลอมออกมาอุตลุดจนมีผลต่อชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์) หรือความก้าวหน้าของนวัตกรรมจะทำให้การแปลงข้อมูลที่เคยยากให้ง่ายขึ้นเพียงปลายนิ้ว
เช่น ข่าวเมื่อปี 2016 เมื่ออะโดบีซิสเต็มส์ (Adobe Systems) บริษัทซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่จัดเวที Adobe MAX 2016 (Sneak Peeks) เผยนวัตกรรมตัวใหม่ ‘Photoshop of Speech’ แอพพลิเคชั่นปรับแต่งเสียงด้วยคอนเซ็ปต์เดียวกับการทำโฟโต้ช็อปรูป บนเวทียกตัวอย่างการแก้ไฟล์เสียงจาก ‘and I kissed my dogs and my wife’ เปลี่ยนเป็น ‘and I kissed my wife and dogs’ และ ‘and I kissed Jordan three times’
ข่าวนี้จุดคำถามต่อกับชาวโลกว่า หากการปรับเสียงมันง่ายดายและเสมือนจริงเพียงนี้ เราจะยังไว้ใจสื่อมวลชน หรือข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตได้อยู่มั้ย? อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดปี 2018 ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ของโปรแกรม Photoshop of Speech ผู้เขียนค้นไม่พบบทวิจารณ์หรือรายงานต่อเนื่องของบทความนี้
Media Literacy: วิชาใหม่กับครูคนเดิม
News Literacy Project องค์กรไม่แสวงกำไรผู้พัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับ ‘แยกข้อเท็จจริงออกจากเรื่องแต่ง’ ทั้งหมด 12 บทเรียนที่ออกแบบให้ครูแต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้กับห้องเรียนของตัวเองได้ง่ายๆ (คุณครูเข้าไปดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ ที่นี่ ) ปัจจุบันมีนักการศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 3,300 คน จำนวนหนึ่งเป็นครูประเทศสหรัฐอเมริกา 50 รัฐ อีกจำนวนหนึ่งเป็นครูจาก 69 ประเทศทั่วโลก
‘ตัวอย่าง’ โรงเรียนที่เริ่มสอนวิชาเท่าทันสื่อ หรือ บรรจุเป็นหลักสูตรในโรงเรียนเลยอย่างจริงจัง ดังนี้
- บราซิล บรรจุวิชา ‘วิเคราะห์สื่อเบื้องต้น’ อยู่ในหลักสูตรภาคบังคับของโรงเรียนทั่วประเทศ หลังจากที่เคยให้วิชานี้เป็นวิชาเลือกเท่านั้น
- โรงเรียน 150 แห่งจากทั้งหมด 600 แห่ง ใน Kannur ประเทศอินเดีย เริ่มบรรจุวิชา ‘เท่าทันสื่อ’ ในห้องเรียนแล้ว หลังพบข่าวปลอมที่แชร์กันมากในแอพพลิเคชั่น WhatsApp
- บางโรงเรียนในสิงคโปร์ เริ่มสอนวิชาเท่าทันสื่อให้กับนักเรียน ขณะเดียวกันก็จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการเกิดขึ้นของข่าวลวงบนโลกออนไลน์
อันที่จริงการออกแบบการสอนนักเรียนให้เท่าทันสื่อไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ มีเครือข่ายในโลกอินเทอร์เน็ตรวบรวมข้อมูลพร้อมสื่อการสอนสำเร็จรูปให้ครูเข้าไปดาวน์โหลดพร้อมใช้ แต่เพื่อให้เห็นว่าการทำความเข้าใจกับนักเรียนไม่ใช่เรื่องยาก หลักคิดง่ายๆ มีเพียง “ออกแบบการเรียนให้เด็กๆ ได้คิดวิเคราะห์”
เอริน วิลคีย์ โอห์ (Erin Wilkey Oh) ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ Common Sense Education เครือข่ายที่พูดเรื่องการเท่าทันสื่อโดยเฉพาะ ให้เคล็ดลับการสอนเรื่องนี้ในห้องเรียน ด้วย ‘คำถาม’ 5 ข้อ ดังนี้
- ใครเป็นคนเขียนบทความนี้? คำถามนี้จะช่วยให้นักเรียนหยุดคิดว่า บทความนี้ถูกเขียนขึ้นด้วย ‘บุคคล’ หนึ่ง ซึ่งหมายความว่ามันอาจเป็นทัศนคติส่วนตัว อันมาจากเหตุผล บริบท และภูมิหลังที่แตกต่างกัน
- ทำไมข้อความหรือบทความนี้จึงถูกส่งมา ทำไมเขาถึงเขียนมันขึ้น? คำถามนี้เปิดโอกาสให้เด็กๆ พิจารณาจุดประสงค์ของผู้เขียน ว่าเขียนขึ้นเพื่อ ให้ข้อมูล, สร้างความบันเทิง, โน้มน้าวให้เชื่อ หรือทั้งหมด? จากนั้นอาจถามต่อว่า บทความนี้ทำให้เด็กๆ หรือผู้อ่านรู้สึกอย่างไร เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาตีความความตั้งใจของผู้เขียน
- บทความนี้เผยแพร่ที่ไหน? พื้นที่ที่ปล่อยย่อมสร้างบอกความน่าเชื่อถือในตัวเอง เช่น เผยแพร่ในเว็บไซต์ข่าวที่น่าเชื่อถือ, ถูกส่งกันต่อๆ มาในอีเมล, แชร์ต่อกันผ่านเฟซบุ๊ค ซึ่งทั้งหมดนี้สืบสาวกลับไปยังพื้นที่เผยแพร่ตั้งต้นได้หรือไม่
- ผู้เขียนใช้เทคนิคอะไรมาดึงความสนใจของผู้อ่าน? ในรูปแบบคลิปวิดีโอ, แอพพลิเคชั่น หรือแพลตฟอร์มอื่นในรูปแบบออนไลน์
- บทความนั้นสอดแทรกมุมมองอะไรเอาไว้บ้าง? เพราะทุกบทความย่อมมี ‘ข้อความระหว่างบรรทัด’ หรือทัศนคติบางอย่างที่ผู้เขียนต้องการจะโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อ แม้ว่าในบทความนั้นจะไม่ได้แสดงน้ำเสียงของผู้เขียน แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านต้องพึงรู้ว่ามันมีอยู่
คุณครูท่านไหนสนใจแบบการสอนสำเร็จรูป เข้าไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ หรือถือโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการสอนวิชารู้เท่าทันสื่อให้เด็กๆ ได้ที่นี่เช่นกัน
- เทคนิคการสอนให้เด็กๆ แย่งข่าวจริงออกจากข่าวปลอม (Common Sense Education)
- ความจริง VS ความเห็น VS การให้ข้อมูลจากทัศนคติของเหล่านักข่าว (PBS NewsHour Student Reporting Labs)
- สอนเด็กๆ ชั้นมัธยมให้เข้าใจข่าวจริงกับปลอม (PBS NewsHour Extra)
- วิธีเช็คที่มาของ ‘รูป’ จาก Google Reverse Image Search