- ภายในจิตใจของเราทุกคนเป็นการต่อสู้กันระหว่าง Fixed Mindset (ส่งเสียงบั่นทอน) และ Growth Mindset (ยินดีกับความสำเร็จ)
- ครูมีบทบาทช่วยสร้าง Growth Mindset ด้วยการฝึกให้นักเรียนรู้จักเสียงภายในใจตัวเอง และแยกแยะให้ออกระหว่างเสียงที่บอกให้เขาพยายาม กล้าลองเพื่อเรียนรู้ สัมผัสกับเรื่องท้าทาย ออกจากเสียงที่คอยบั่นทอนกำลังใจและขัดขวางไม่ให้เขาก้าวต่อ
ในตำนานของชาวอินเดียนแดงเผ่าเชโรกีที่เลื่องลือมาช้านาน มีเรื่องหนึ่งเล่าถึงคุณปู่ชราผู้สอนหลานชายถึงการใช้ชีวิตเอาไว้ว่า ในตัวเราทุกคนมีหมาป่าอยู่ด้วยกันสองตัวซึ่งต่างฝ่ายต่างต่อสู้กันและกันอยู่ตลอดเวลา ตัวหนึ่งเป็นหมาป่าตัวร้าย ขี้ขลาด ทะนงตัว อวดดี และเพ้อเจ้อ กับอีกตัวหนึ่งเป็นหมาป่าที่กล้าหาญ มุมานะ พยายาม และเข้มแข็ง เด็กชายจึงเอ่ยถามปู่ด้วยความอยากรู้ว่าสุดท้ายแล้วตัวไหนเป็นฝ่ายชนะ
ปู่ยิ้มแล้วตอบเขาว่า ‘แล้วหมาป่าตัวไหนที่หลานอยากเลี้ยงเอาไว้ล่ะ’
หมาป่าสองตัวนี้เปรียบได้กับ Fixed Mindset และ Growth Mindset ที่อยู่ภายในใจทุกคนนั่นเอง ต่างขั้วต่างตอบโต้กันตลอดเวลา Growth Mindset มักยินดีกับตัวเองเมื่อทำงานยากลำบากลุล่วง อาจเป็นเสียงว่า ‘ในที่สุดฉันก็ทำมันสำเร็จจนได้!’ ส่วน Fixed Mindset จะส่งเสียงบั่นทอนกลับมาทันทีว่า ‘นี่คิดว่าดีพอแล้วเหรอ?’ เสียงสองขั้ว หนึ่งนางฟ้ากับหนึ่งซาตาน ส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจให้เราพยายามต่อหรือล้มเลิกบางอย่างอยู่ตลอดเวลา
ในชั้นเรียน ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการแนะนำให้นักเรียนรู้จักกับหมาป่าทั้งสองตัวในใจตัวเองเสียก่อน และรู้จักแยกแยะให้ออกระหว่างเสียงที่บอกให้เขาพยายาม กล้าลองเพื่อเรียนรู้ สัมผัสกับเรื่องท้าทาย ออกจากเสียงที่คอยบั่นทอนกำลังใจและขัดขวางไม่ให้เขาก้าวต่อ โดยวางจุดประสงค์ของการสอนสร้าง Growth Mindset ที่การฝึกให้เขาฟังเสียงในใจตนเองที่อยากฮึดสู้ พยายามดูสักตั้ง
บทความนี้ไม่เพียงมีไอเดียวิธีต่างๆ ให้นักเรียนฝึกแยกแยะเสียงขั้วบวกขั้วลบและหัดเพิ่มพลังเสียงด้านบวกในใจตนเอง ยังมีไกด์ไลน์แผนการสอน Growth Mindset ที่สรุปง่ายๆ เป็นขั้นเป็นตอนให้ครูนำไปปรับใช้ได้ทันทีอีกด้วย
ฝึกคุยกับตัวเองและเลือกที่จะฟังเสียงที่ส่งพลังใจ
นักจิตวิทยาพบว่าเสียงที่มาจากใจของแต่ละคนมีอิทธิพลต่อความความสำเร็จหรือล้มเหลว เลฟ ไวกอตสกี (Lev Vygotsky) นักจิตวิทยาชาวรัสเซียที่สร้างชื่อช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบจากทฤษฎีว่าด้วยอิทธิพลทางจิตวิทยาต่อวัฒนธรรมและสังคม ได้พูดถึง ‘Self Talk’ ของเด็กวัยเตาะแตะ หรือการที่พวกเขาสนทนากับตัวเองว่าเป็น ‘การเล่าความคิดในหัว’
ถ้าลองสังเกตเด็กวัยกำลังซนเล่นอยู่คนเดียวเราจะได้ยินเขาเล่าเรื่องสนุกรอบตัวกับตัวเอง ไวกอตสกีมองว่าการพูดกับตัวเอง คือ วิธีที่เด็กทำความเข้าใจกับโลกรอบตัว ต่อมาคำพูดที่พึมพำกับตัวเองเหล่านั้นก็จะกลายเป็นห้วงความคิดความอ่าน ช่วยเรียบเรียงกระแสความคิด ยับยั้งการกระทำ และพัฒนาเป็นสติรับรู้เข้าใจตัวเอง (Self-Awareness) ในระหว่างห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน
ผู้ใหญ่จึงควรชี้ให้เขารับรู้ถึงการมีอยู่และฟังเสียงในใจตัวเองให้เป็น บอกเขาว่าทุกคนต่างมีเสียงความคิดภายในใจที่คอยบอกให้เราตัดสินใจทำสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือเลิกทำบางอย่างนั้นเป็นเรื่องปกติ เวลาหนูน้อยมาสารภาพว่าแอบกินขนมในตู้เย็นโดยไม่ขออนุญาต เผลอตีเพื่อนที่มาแย่งของเล่น ลองตอบเขาด้วยการอธิบายถึงเสียงภายในดู เช่น ‘ที่หนูมาสารภาพ เพราะเสียงในใจของหนูบอกว่าหนูกำลังทำผิดและอยากขอโทษใช่มั้ยจ๊ะ’
ที่เราพูดถึง Self Talk กัน เพราะสำหรับครูนั้นการที่เด็กได้ยินเสียงจากความคิดตัวเองเกี่ยวพันเป็นอย่างมากกับการวางแผนจัดระเบียบ Growth Mindset ให้เขา ครูต้องช่วยให้เขาแยกแยะระหว่างเสียงที่เป็นตัวบั่นทอนกับเสียงที่ชูกำลังใจให้ออกก่อน พอเขาเข้าใจแล้วว่าเสียงที่ได้ยินมาจากฝั่งไหน ค่อยอธิบายอีกทีว่าเสียงจากความคิดที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและยืดหยุ่นกับปัญหา (Growth Mindset) จะพาเขาไปที่ไหนและความคิดติดลบที่ฉุดรั้งความกล้า กล่าวโทษตัวเองโดยไม่พยายาม (Fixed Mindset) จะลงเอยอย่างไร
วิธีช่วยให้เขาแยกแยะว่าเสียงในหัวมาจากฝั่งไหนคือลองถามเด็กๆ ว่า เวลาพวกเขาเครียดวิตกกังวลหรือท้อถอยกับบางอย่างเขา ‘ได้ยิน’ เสียงในใจตัวเองพูดว่าอะไร ง่ายๆ เลยคือลองยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงของตัวเองให้เขาฟัง
เช่น ตอนครูอยู่ชั้นมัธยมมีแข่งเทนนิสแมตซ์ชิงชนะเลิศ คู่แข่งคนนั้นเป็นมือวางอันดับหนึ่งของรัฐ ตัวก็ใหญ่กว่า สถิติก็ดีกว่า ครูได้ยินเสียงจาก Fixed Mindset บอกว่า
“จะไหวเหรอ ฝ่ายนั้นเขาตัวใหญ่กว่าแล้วก็ตีแรงกว่าเธออีกนะ”
“อย่าหวังว่าจะชนะเขาได้เลย”
“ยอมแพ้ก่อนจะอับอายดีกว่า”
“ถ้าแพ้ละก็ร้องไห้ยับเยินแน่เลย”
ให้นักเรียนช่วยกันคิดว่าพวกเขาจะตอบเสียงความคิดลบจาก Fixed Mindset ด้วยเสียงที่เป็น Growth Mindset อย่างไรดี เขียน T-Chart ขึ้นกระดานให้ฝั่งซ้ายเป็นเสียงจาก Fixed Mindset แล้วให้เด็กๆ ช่วยกันตอบ
เมื่อนักเรียนแยกแยะและเข้าใจความคิดสองขั้วนี้ดีแล้ว ให้เขาจับกลุ่มทำ T-Chart ว่าในช่วงปิดเทอมหรือวันหยุดนี้ มีเสียงจาก Fixed Mindset ที่คอยขัดขวางไม่ให้เขาทำอะไรที่ตั้งใจไว้บ้าง พวกเขาจะใช้ Growth Mindset ตอบโต้เสียงนั้นว่าอย่างไร
ตั้งชื่อให้ความคิดฝั่งผู้ร้าย
บียอนเซ่เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า เธอเอาชนะตัวตนที่เป็นคนขี้อายแล้วสร้างบุคลิกมั่นใจ กล้าแสดงออกทุกครั้งเมื่อต้องออกไปแสดงบนเวที โดยตั้งชื่อบุคลิกร้อนแรงมั่นใจของตัวเองนี้ว่าซาช่า เฟียส (Sasha Fierce)
การตั้งชื่อเป็นเคล็ดลับหนึ่งสำหรับคนที่สลัดความคิดฝั่ง Fixed Mindset ไม่หลุด ลองตั้งชื่อเจ้าตัวความคิดหรือบุคลิกแบบที่บียอนเซ่ทำเพื่อจัดการตนเองคือวิธีที่ควบคุมตัวเองที่ดี ให้เด็กๆ ตั้งชื่อความคิดหรือบุคลิกที่ขัดขวางความสำเร็จของตัวเขาเอง โดยช่วยกันออกไอเดียชื่อตลกๆ ยิ่งทำให้ชั้นเรียน Growth Mindset ของเราสนุกสนานยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น
ศิริพรฝ่ายตัวร้าย
เจ้าความคิดขัดลาภ
เจ้าตัวขี้เกียจ
เมื่อเลือกชื่อตลกๆ ให้ Fixed Mindset ตัวเองได้แล้ว ต่อไปนี้ให้เขาเรียกความคิดฝั่งลบนั่นทุกครั้งด้วยชื่อที่เขาตั้ง สนับสนุนให้เขากล้าพูดกับตัวเองทุกเมื่อที่ความคิดฝั่งลบผุดขึ้นมาบั่นทอนกำลังใจ “เจ้าความคิดขัดลาภชอบบอกให้หนูล้มเลิกอยู่เรื่อยเลย” หรือ “หยุดเลยนะ ศิริพรฝ่ายตัวร้าย ฉันไม่ฟังเสียงเธอหรอก”
อย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องตลกขบขัน เพราะขนาดแครอล ดเวค (Carol Dweck) อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการศึกษาเรื่องอิทธิพลของ Growth Mindset ที่มีผลต่อความสำเร็จในบุคคลยังเห็นพ้องว่าการตั้งชื่อความคิดด้านลบในหัวเรานี้เป็นการสื่อสารกับตัวเองที่ได้ผลทางหนึ่ง คล้ายกับการที่เราสอนเด็กๆ ให้กล้าเอ่ยปากปฏิเสธเพื่อนที่เล่นแรงๆ หรือพูดร้ายๆ กับเราให้เขาหยุด ต่างตรงที่คราวนี้เพื่อนที่บอกให้หยุดคือเสียงด้านลบที่ดังมาจากใจของเขาเอง
ในช่วงแรกนักเรียนอาจรู้สึกตลกหรือหวั่นใจที่จะตอบโต้เสียงในใจที่บอกว่าเขาไม่เก่งพอหรือทำไม่ได้หรอก ดเวคแนะนำว่า จะให้ดีควรฝึกให้เด็กๆ ยึดคำปลุกใจเป็นสโลแกนประจำตัวไว้คนละอย่างสองอย่าง เช่น ‘หนูทำได้!’ หรือ ‘ยิ่งยาก ฉันยิ่งพัฒนา’ เพราะเขาจะหยิบมันขึ้นมาใช้ในยามที่ต้องการได้ทุกเมื่อ
นอกจากการตั้งชื่อเจ้าความคิดลบหรือ Fixed Mindset ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่ครูสามารถนำไปกระตุ้นให้เด็กๆขุนความคิดฝั่ง Growth Mindset ให้แข็งแรงดังนี้
วิธีสร้าง Growth Mindset ในชั้นเรียน | ขั้นตอน |
ตั้งชื่อให้ Fixed Mindset | ให้เด็กๆ ตั้งชื่อให้ Fixed Mindset เมื่อเสียงจในหัวฉุดรั้งให้เขาท้อแท้หรือกล่าวโทษตัวเอง “เลิกซะเถอะ พยายามไปก็เท่านั้น” ให้เด็กๆ พูดกับเจ้าความคิดนั้นว่า “อย่ามาขวางฉันซะให้ยาก ฉันทำได้” กลับไป |
เล่นติ๊ต่างเป็น Mindset สองขั้ว | ให้เด็กๆ แบ่งฝ่ายเป็นฝั่ง Fixed Mindset และ Growth Mindset ฝั่งแรกพูดด้วยประโยคลบเช่น “ที่เธอทำไม่ได้เพราะเธอไม่มีหัวทางเลข” อีกฝั่งต้องแก้ให้เป็นความคิดบวกคือ “ฉันยังไม่เก่งน่ะใช่ แต่ถ้าฝึกทำบ่อยๆ ฉันเก่งขึ้นแน่” แล้วสลับฝั่งกัน |
เพื่อนช่วยเพื่อน | ให้นักเรียนในชั้นร่วมกันกล่าวปฏิญาณตนว่าจะให้ช่วยกันต่อสู้ Fixed Mindset ที่เข้ามาในหัว เวลาเพื่อนคนใดท้อแท้หรือคิดลบกับตัวเอง ทุกคนจะพูดให้กำลังใจกันและกันเสมอ |
วาดรูปหน้าตาเจ้า Fixed Mindset | ให้เด็กๆ ช่วยกันนิยาม Fixed Mindset ด้วยคำศัพท์หรือวาดหน้าตา Fixed Mindset ตามจินตนาการว่าเป็นอย่างไร นี่จะช่วยฝึกให้เด็กๆสามารถแยกแยะความคิดในใจและควบคุมตนเองได้ |
คิดคติพจน์ประจำใจ | มีงานวิจัยชี้ว่านักกีฬาที่มีคติประจำใจมักสามารถพลิกสถานการณ์แข่งขันเมื่อเพลี่ยงพล้ำให้กลับมาเอาชนะได้ เช่นเดียวกัน หากนักเรียนเกิดท้อถอยในการเรียน คติประจำใจที่เขาชอบสามารถช่วยให้เขากลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง เช่น “Just Do It!” |
เขียนจดหมายถึงเจ้าความคิดฝั่ง Fixed Mindset | สมมติให้นักเรียนเป็นตัวความคิดฝั่ง Growth Mindset และเขียนจดหมายถึงเจ้าความคิดฝั่ง Fixed Mindset ของตัวเองว่าจะลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองตรงไหน และพยายามอย่างไร |
วางแผนการสอน Growth Mindset แบบจับต้องได้
ในบทสุดท้ายของหนังสือ Mindset ที่ดเวคเป็นผู้เขียนได้แนะนำครูผู้สอนว่า ควรวางแผนการเรียนการสอนที่กระตุ้น Growth Mindset ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดก่อนลงมือสอนจริง เพราะในชั้นเรียนอาจมีสถานการณ์คาดไม่ถึง เช่น นักเรียนไม่ให้ความร่วมมืออย่างที่ตั้งใจ หรือเกิดการเข้าใจผิดในเนื้อหาที่สอนขึ้นได้เสมอ
วิธีหนึ่งที่เราอยากชี้ชวนให้คุณครูลองดู คือ การฝึกให้เขาริเริ่มที่จะวางแผนในการทำกิจกรรมหรือบางสิ่งบางอย่างที่สนใจ เป็นการบ้านช่วงวันหยุดหรือการบ้านประจำสัปดาห์ก็ได้ เช่น ไปเรียนว่ายน้ำ ฝึกทำกับข้าว เล่นหมากรุก เป็นต้น โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและกระตุ้นให้เขาคิดวางแผนรับมือกับปัญหาที่อาจพบระหว่างทางด้วยการใช้ Growth Mindset ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กๆ วางแผนและจัดระเบียบความคิดฝั่ง Growth Mindset เห็นภาพชัดเจน คุณครูควรมีแผ่นไกด์ไลน์ดังตัวอย่างด้านล่างนี้ให้พวกเขาเติมแผนการที่ตั้งใจว่าจะเรียนรู้และต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคอย่างไรล่วงหน้า
ตั้งเป้าเรียนรู้ ฉันอยาก เป่าขลุ่ย ให้ได้ภายใน ปิดเทอมนี้ ฉันสามารถค้นคว้าข้อมูลเรื่องนี้ได้จาก อาจารย์ดำเนินที่สอนดนตรีไทย และยูทูป วิธีการที่ฉันจะลงมือเพื่อทำให้สำเร็จคือ ซ้อมเป่าขลุ่ยทุกวัน วันละหนึ่งชั่วโมง สมัครเข้าชมรมดนตรีไทย และเล่นกับวงโรงเรียน อุปสรรคที่ขัดขวางฉันคือ เวลาน้อย ช่วงปิดเทอมต้องช่วยที่บ้านขายของและเลี้ยงน้อง เสียงขลุ่ยอาจรบกวนครอบครัวและเพื่อนบ้าน ฉันจะขจัดอุปสรรคออกไปโดย จัดตารางเวลา ฝึกช่วง 9.00-10.00 เวลาเพื่อนบ้านไปทำงานแล้ว ลูกค้าน้อย ถ้าไม่เป็นไปตามคาดหรือผิดพลาด ฉันจะ ขอเวลาพ่อฝึกเป็นกิจจะลักษณะ และฝึกตามตารางเคร่งครัด เจ้าความคิดฝ่ายอธรรมในใจฉันอาจพูดว่า ถ้ามันยากนัก ก็เลิกเป่าขลุ่ยเถอะ ความคิดฝ่ายธรรมะในใจฉันจะตอบกลับไปว่า อุปสรรคแค่นี้จิ๊บจ๊อย แค่ฝึกบ่อยๆ เดี๋ยวเธอจะเก่งขึ้นเอง ผลลัพธ์รูปธรรมที่แสดงว่าฉันเติบโตและเรียนรู้จากประสบการณ์นี้คือ 1.โน้ตพื้นฐาน 2. เล่นเพลงจบสองเพลง 3. ปล่อยคลิปตัวเองเป่าขลุ่ยลงยูทูป |
วางแผนรับมือปัญหา ปัญหาที่เจอระหว่างการฝึกคือ ฉันอ่านภาษาอังกฤษไม่แข็งเพราะเรียนช้ากว่าเพื่อน ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไขภายใน ปีการศึกษาหน้า ฉันจะหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาได้จาก ให้ครูช่วยหาบทความที่เหมาะกับระดับความเข้าใจของฉัน ให้ครู เพื่อน และที่บ้านช่วยติว และอ่านบทความในอินเตอร์เนทเยอะๆ ฉันจะแก้ปัญหาโดย ให้ครูช่วยวัดประเมินการอ่านว่าภายในหนึ่งเทอม ฉันพัฒนาขึ้นมากน้อยแค่ไหน และฉันจะฝึกอ่านทุกวัน อุปสรรคคือ ฉันอาจขี้เกียจเป็นบางวัน หรืออ่านบางคำไม่ได้ ฉันจะขจัดอุปสรรคโดย ให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆ หาบทความหรือหนังสือภาษาอังกฤษในเรื่องที่สนใจมาอ่านจะได้ไม่เบื่อ เช่น แฮรี่พอตเตอร์ ถ้าแผนที่วางไม่สำเร็จ ฉันจะ ให้ครูช่วยหาวิธีอื่น Fixed Mindset อาจพูดว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย มีคนที่โง่กว่าเราในห้องอีก Growth Mindset จะตอบว่า ฉันอยากอ่านให้เก่งเพื่ออ่านหนังสือหลากหลาย และยิ่งอ่านเยอะๆ บ่อยๆ ฉันก็จะอ่านได้คล่องเอง ผลลัพธ์ที่แสดงว่าฉันพัฒนามากขึ้นคือ ฉันอ่านภาษาอังกฤษและเข้าใจ 2.ฉันอ่านบทความหรือหนังสือได้โดยไม่ต้องเปิดดิคทุกคำ 3. คะแนนการอ่านเพิ่มขึ้นในเทอมหน้า |
อะไรเป็นชนวนที่จุดให้ Fixed Mindset ปะทุขึ้น
เมื่อแผนการสอนตั้งเป้าหลักไปที่การส่งเสริมให้นักเรียนใช้ความคิดฝั่ง Growth Mindset เป็นนิสัย ครูเองก็ต้องชี้ให้ผู้เรียนเห็นด้วยว่าพฤติกรรมแบบไหนหรือสถานการณ์แบบใดที่เป็นชนวนให้ Fixed Mindset ในหัวของพวกเขาทำงาน
ตัวอย่างสถานการณ์ที่จะทำให้ Fixed Mindset ระเบิดอานุภาพทำลายล้างความมุ่งมั่นตั้งใจให้กลายเป็นฝุ่นผง เช่น เวลาเด็กๆ กำลังอารมณ์ไม่ดีหรือโมโหกับบางเรื่องอยู่จนพาลหมดกะจิตกะใจ หรือเมื่อกดดันตัวเองมากไปจนอ่อนล้า หรือเมื่อไม่อยากไปเรียนเพราะทะเลาะกับเพื่อน เป็นต้น เมื่อยกตัวอย่างชนวนที่ทำให้เกิดความรู้สึกลบและท้อแท้เหล่านี้ให้พวกเขารู้แต่เนิ่นๆ เวลาเกิดขึ้นจริงพวกเขาจะเข้าใจและจัดการมันได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ในชั้นเรียน Growth Mindset ที่สำคัญด้วย เช่น บรรยากาศการเรียนการสอนที่ครูต้องสนับสนุนให้กล้าคิดกล้าผิด กับเสริมแบบฝึกหัดและโจทย์ปัญหาที่ยาก ท้าทายความสามารถนักเรียนให้มากพอ นอกจากนี้ ครูต้องลดคุณค่าความสำคัญของวัฒนธรรมการเอ่ยชมตัวบุคคล (ประเภท ‘ฉลาดจังเลย’ ‘เก่งมาก’ ‘หัวดีนี่นา’) และการวัดผลสำเร็จด้วยคะแนนเพียงอย่างเดียว
อีกทั้งต้องเข้าใจด้วยว่าตามธรรมชาติของจิตใจ ไม่มีใครหยุดความคิดด้านลบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น Fixed Mindset จึงไม่ใช่สิ่งต้องห้ามในห้องเรียน ทำการตกลงกันว่าถ้าเด็กๆ หรือแม้แต่ครูเองเผลอพูดตามเสียงจากฝั่งลบนี้ เราจะพยายามช่วยกันและกันควบคุมมันให้ได้มากที่สุด
ทั้งหมดนี้ ปลายทางความสำเร็จอาจไม่สำคัญเท่ากับความทุ่มเทพยายามที่มีแผนรองรับอย่างรอบคอบในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางเพื่อสร้างนิสัยให้ตัวเองไม่ล้มเลิกกับสิ่งใดง่ายๆ ขอยกคำกล่าวของดเวคที่ฝากถึงคุณครูผู้มีภารกิจติดตั้งอาวุธชุดนี้ให้กับสมองเด็กๆอยู่ในมือว่า “การจะสอนให้เด็กมี Growth Mindset นั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการพูดให้ฟัง แต่ต้องให้เขาลงมือปฏิบัติจนเข้าใจและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด”