- สารคดีของ ‘ซีโมน ไบลส์’ นักยิมนาสติกชื่อดัง เล่าเรื่องราวที่เธอต้องเผชิญกับความกดดันมหาศาลในการเป็นตัวแทนของประเทศและรักษาภาพลักษณ์ของผู้ชนะเสมอมา ซึ่งความคาดหวังที่สูงส่งนี้กระทบต่อสุขภาพจิตของเธอ จนกระทั่งเธอตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียว
- เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับซีโมนทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตในนักกีฬา ซึ่งการที่ซีโมนกล้าเปิดเผยปัญหาที่เธอเผชิญหน้า เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ กล้าที่จะพูดคุยและขอความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกไม่ดี
- ครอบครัว เพื่อน และทีมงานของซีโมนต่างให้การสนับสนุนเธออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะแม่ของเธอที่คอยให้กำลังใจและเข้าใจถึงความรู้สึกของลูกสาว ทำให้ซีโมนสามารถข้ามผ่านอุปสรรคและกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
เรารู้จัก ‘ซีโมน ไบลส์’ ครั้งแรกจากการได้ดูไฮไลท์การแข่งขันยิมนาสติกหญิงที่งานโอลิมปิค ปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปีล่าสุดนี้เอง เป็นครั้งแรกที่เราสนใจโลกของกีฬามากขึ้นและเหตุผลที่เลือกกดดูคลิปยิมนาสติก เพราะรู้สึกว่ามันเป็นหนึ่งในกีฬาที่มนุษย์สามารถใช้ร่างกายได้อย่างมหัศจรรย์
และซีโมน ไบลส์ คือหนึ่งในความมหัศจรรย์นั้น ที่แม้แต่คนที่ไม่รู้จักเธอมาก่อน หรือไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกีฬานี้อย่างเราดูแค่ครั้งเดียวก็รู้เลยว่าคนนี้นี่แหละคือตัวตึงเหรียญทองแน่นอน และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
เราเริ่มดูการแข่งขันยิมนาสติกมากขึ้น และแอบเอาใจช่วยเธอเป็นพิเศษ
ทุกครั้งที่ดูการแข่งขัน จะรู้สึกว่าคนคนหนึ่งสามารถดีดตัวขึ้นสูงจากพื้นและหมุนตีลังกาไม่รู้กี่ตลบก่อนจะแลนด์ดิ้งลงพื้นในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีได้ยังไง
แต่มันก็มีรอบนึงที่ซีโมนลื่นแล้วพลาดตกลงจากบาร์เล็กน้อย หลังจากนั้นเธอทำหน้าเหมือนผิดหวังสุดขีด แม้จะคว้าเหรียญทองจากการแข่งอื่นไปได้แล้วถึง 3 เหรียญแล้วก็ตาม การแสดงสีหน้าของเธอทำให้เราครุ่นคิดว่าเพราะอะไร คนที่ได้เหรียญทองมากถึงขนาดนั้นถึงได้แสดงออกแบบนี้ ซึ่งต่อมาเราก็ได้มาเข้าใจมากขึ้นจากซีรีส์สารคดีกีฬาของเน็ตฟลิกซ์เกี่ยวกับ ซีโมน ไบลส์เรื่องนี้นี่แหละ
ก่อนหน้านี้ซีโมนเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิคที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วยแต่ในวันที่เธอลงแข่งรายการแรกๆ เธอรู้สึกถึงความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งทำให้เธอไม่สามารถควบคุมทิศทางของร่างกายได้เหมือนปกติ เหมือนสมองสั่งอย่างนึง แต่ร่างกายกลับตอบสนองอีกอย่าง ซึ่งนักกีฬายิมนาสติกหลายคนเคยเจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน
และเมื่อซีโมนรู้แล้วว่าในการแข่งครั้งนี้เธอจะไม่สามารถทำได้ดีเยี่ยมเหมือนปกติที่เธอเคยทำได้ เธอจึงเลือกที่จะไม่ฝืนแข่งต่อและตัดสินใจขอออกจากการแข่งขันทันที ซึ่งนั่นทำให้ผู้คนที่เฝ้ารอเชียร์อยู่ที่บ้านเกิดประเทศอเมริกาหลายคนรู้สึกผิดหวังและมีคนมากมายรวมถึงสื่อรุมด่าว่าเธอเป็น Quitter หรือ Loser จากการยอมแพ้ง่ายเกินไป
บางคนก็เปรียบเทียบเธอกับนักยิมนาสติก ปี 1996 ‘เคอร์รี สตรัก’ ที่แม้จะเจ็บเท้าก็ยังฝืนแข่งให้จบโดยไม่สนว่าร่างกายจะเป็นอย่างไร ซึ่งในตอนนั้นมีหลายคนชื่นชมที่เคอร์รีทำเพื่อประเทศได้อย่างดีเยี่ยม แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในตอนนี้นักกีฬาหลายคนกลับรู้สึกว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำ เพราะเมื่อเคอร์รีเล่นจบก็ยืนไม่ไหวและทรุดตัวลงด้วยความเจ็บปวด
นักจิตวิทยาบอกว่า คนจะยอมรับและเห็นอกเห็นใจเมื่อเห็นว่านักกีฬาบาดเจ็บที่ภายนอก เช่น ขาหัก แขนหัก เพราะพวกเค้ามองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กับปัญหาในใจอย่างที่เกิดกับซีโมนซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนมองเห็น กลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ซีโมนแบกความคาดหวังอันหนักอึ้งของคนทั้งประเทศที่ต้องการเห็นเธอคว้าเหรียญกลับมาให้ได้เยอะๆ เหมือนที่ผ่านมาที่เธอเคยทำได้ และนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ซีโมนแสดงสีหน้าผิดหวังเวลาที่เธอทำพลาด เพราะตัวเธอก็กดดันตัวเองมากๆ ว่าจะต้องทำให้ดีที่สุดอยู่เสมอ มีคนกล่าวว่า ในจุดที่เธอยืนอยู่มันอาจโดดเดี่ยวมากทีเดียว
ต่อมาในซีรีส์ก็เปิดเผยอีกว่าซีโมนเคยเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยหมอคนนึงที่ดูแลทีมนักกีฬายิมนาสติกหญิงซึ่งส่วนใหญ่มีแต่เด็กสาววัยรุ่น
ในตอนแรกเธอคิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไร เลยไม่ได้เข้ารับการรักษาทางจิตใจที่เหมาะสม แต่สุดท้ายผลกระทบมันก็แสดงออกมาในตอนที่เธอไปโตเกียวโอลิมปิค
นักจิตฯ บอกกับซีโมนในภายหลังว่า “ไม่ว่ายังไงสิ่งนี้ก็ต้องเกิดขึ้นซักวันในชีวิตของเธอ ถ้าไม่ใช่ตอนไปโตเกียวก็อาจจะเกิดขึ้นซักจุดในชีวิตอยู่ดี ร่างกายและจิตใจของคนเรามันไม่สามารถกดเก็บความเจ็บปวดเอาไว้ตลอดไปได้”
ซึ่งหลังจากถอนตัว ซีโมนก็ได้แถลงกับสื่อว่า
“ฉันคิดว่าสุขภาพจิตต้องมาก่อน เพราะเมื่อคุณไม่มีความสุขกับการเล่นกีฬามันจะไปไม่ได้ไกล ดังนั้นการถอนตัวจากการแข่งขันใหญ่และหันมาใส่ใจตัวเอง บางครั้งมันก็ไม่เป็นอะไร”
เราคิดว่าถ้าซีโมนฝืนทำมันต่อทั้งที่รู้ตัวว่าไม่สามารถทำได้แล้ว จุดจบมันอาจจะไม่ใช่แค่ข้อเท้าหักก็ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับซีโมนเลยเป็นเรื่องที่ทำให้คนภายนอกตระหนักได้มากขึ้นว่า สำหรับนักกีฬาไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายที่ต้องดูแลให้ดี แต่จิตใจก็สำคัญไม่แพ้กัน
และนักกีฬาก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเหมือนทุกคน
แม่ของซีโมน (ที่ภายหลังในซีรีส์เล่าว่าแท้จริงคือคุณยายของซีโมนที่รับเธอกับน้องสาวมาเป็นลูกบุญธรรมเพราะแม่ผู้ให้กำเนิดติดยาและไม่สามารถเลี้ยงดูลูกๆ ได้)
บอกกับซีโมนตอนที่เธอยกเลิกการแข่งขันว่า
“ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะลูกรัก เพื่อนในทีมจะทำเต็มที่ถึงจะไม่มีหนู แม่ไม่อยากให้หนูลงแข่งถ้าหนูไม่พร้อม อย่าทำให้ตัวเองบาดเจ็บเลย แบบนั้นไม่ดีแน่ หนูต้องดูแลตัวเอง หายใจเข้าลึกๆ และรู้ไว้ว่าพวกเราคอยอธิษฐานให้หนูนะ”
แน่นอนว่าเราประทับใจกับสิ่งที่แม่ของซีโมนพูด มันช่างเป็นประโยคธรรมดาที่แสนเรียบง่ายซึ่งคนในครอบครัวจะพูดให้กัน เรารู้สึกดีใจกับซีโมนที่เธอมีคนรอบตัวที่เข้าใจและไม่ใจร้าย ที่สำคัญคือพวกเขามองเห็นเธอเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่แบกความกดดันไว้มากพอแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องพูดจาดุด่าซ้ำเติมหรือแสดงความผิดหวังต่อกัน
เราคิดว่าสิ่งที่ซีโมนทำนั้นกล้าหาญมากเกินกว่าที่จะเรียกเธอว่าขี้แพ้ เธอยืนหยัดกับการตัดสินใจซึ่งแสดงให้เห็นว่า เธอเป็นผู้เข้าแข่งขันที่แข็งแกร่ง เธอเลือกที่จะเซฟตัวเองทั้งที่รู้ว่ายังไงก็ต้องมีคนที่ไม่เข้าใจและผิดหวังในตัวเธอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เราคิดว่าพอคนเรารู้อยู่ข้างในลึกๆ ว่าคนรัก เพื่อนฝูงหรือครอบครัวเข้าใจเราและพร้อมที่จะสนับสนุนเราในทุกเรื่องมันมีความหมายมาก
มันเหมือนเรามีป้อมปราการที่แข็งแกร่งและปลอดภัยให้ได้เข้าไปพักเพื่อชาร์จพลังมาสู้ต่อไป ซึ่งไม่แปลกใจเลยว่าทำไมซีโมนถึงสามารถยืนหยัดในตัวเองด้วยความมั่นใจแบบนั้นได้
การได้ดูซีรีส์สารคดีเรื่องนี้ทำให้เราเห็นเลยว่าเบื้องหลังความสำเร็จของใครคนหนึ่งมันไม่ได้ง่ายดาย และมันประกอบไปด้วยผู้คนมากมาย นอกจากครอบครัวที่ส่งเสริม โค้ชที่เข้าใจ เพื่อนร่วมทีมที่ให้กำลังใจแล้ว อีกหนึ่งในตำแหน่งสำคัญเลยก็คือ นักจิตบำบัดที่คอยดูแลจิตใจของนักกีฬา ในซีรีส์นี้ทำให้เห็นเลยว่าพวกเขาแต่ละคนมีส่วนช่วยซีโมน ไบลส์ยังไงให้กลับมาก้าวต่อไปได้ ซึ่งเราคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นก็สมควรได้รับเหรียญทองเช่นเดียวกัน