- เอไอเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราในแง่มุมต่างๆ แต่เรากลับอาจไม่รู้เลยว่าเอไอคืออะไรและใช้งานอย่างไร หรือบางคนอาจใช้งานได้แต่ก็ไม่ได้ทราบถึงข้อจำกัดหรือขอบเขตในการใช้งาน จนอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
- ‘AI Literacy’ หรือ ‘ความฉลาดรู้ทางเอไอ’ จึงเป็นทักษะที่จำเป็นและสำคัญสำหรับคนในยุคของเอไอ
- ในการส่งเสริมความฉลาดรู้ทางเอไอ อันดับแรกจำเป็นต้องรู้และเข้าใจฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานของเอไอ จากนั้นนำไปประยุกต์ใช้ และก็ต้องมีการประเมินการทำงานของเอไอ ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญคือ จริยธรรมเอไอ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
“ยุคของเอไอได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว” —Bill Gates (2023)
คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลย เพราะ ‘เอไอ’ (AI) หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราทั้งการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต
บางคนอาจปฏิเสธว่าตัวเองไม่เคยใช้เอไออย่าง ChatGPT, Gemini หรือ Perplexity แต่จริงๆ แล้วการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของเราก็มีเอไอเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เช่น การเสิร์ช Google, การสแกนใบหน้า หรือแม้แต่กระทั่งการเล่นโซเชียลมีเดีย กิจกรรมทั่วไปเหล่านี้ล้วนมีเอไอทำงานอยู่เบื้องหลัง จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราไม่เคยใช้เอไอเลย
ในปัจจุบันเทคโนโลยีเอไอกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เอไอเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราในแง่มุมต่างๆ แต่เรากลับอาจไม่รู้เลยว่าเอไอคืออะไรและใช้งานอย่างไร หรือบางคนอาจใช้งานได้แต่ก็ไม่ได้ทราบถึงข้อจำกัดหรือขอบเขตในการใช้งาน จนอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ฯลฯ
ด้วยเหตุทั้งหมดนี้เองทักษะที่จำเป็นและสำคัญสำหรับคนในยุคของเอไอคือ ‘AI Literacy’ หรือ ‘ความฉลาดรู้ทางเอไอ’
‘AI Literacy’ หรือ ‘ความฉลาดรู้ทางเอไอ’ คืออะไร?
AI Literacy ประกอบขึ้นมาจากคำว่า AI และ Literacy โดยคำว่า ‘AI’ หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence) ตามการนิยามของ Bill Gates (2023) คือ โมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหรือให้บริการเฉพาะ เช่น ChatGPT คือปัญญาประดิษฐ์ที่เรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้สนทนาได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถเรียนรู้งานอื่นได้ กลับกันถ้าโมเดลนั้นสามารถเรียนรู้งานหรือหัวข้อใดๆ ก็ได้ นั่นจะเรียกว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป’ (Artificial General Intelligence) หรือ ‘AGI’ ซึ่งเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้นยังไม่สามารถสร้างขึ้นได้จริง
ส่วน Literacy เดิมทีหมายถึงความสามารถในการเขียนและอ่าน กล่าวคือ การรู้หนังสือ การอ่านออกเขียนได้ ปัจจุบันเป็นคำที่นำมาประกอบกับสิ่งต่างๆ เพื่อใช้หมายถึงการมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ เช่น Digital Literacy ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล หรือ AI Literacy ความฉลาดรู้ทางเอไอ
ดังนั้นแล้ว AI Literacy จึงหมายถึง ความสามารถที่ช่วยให้บุคคลสามารถใช้เทคโนโลยีเอไออย่างมีวิจารณญาณ สื่อสารและทำงานร่วมกับเอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เอไอเป็นอุปกรณ์ออนไลน์อย่างหนึ่งในที่บ้านและที่ทำงาน
AI Literacy เป็นทักษะที่ต้องใช้ความฉลาดรู้ในด้านอื่นๆ เป็นพื้นด้วย เช่น Digital Literacy เพราะการจะเข้าใจและใช้เอไอได้เราก็ต้องรู้วิธีใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วย อย่างไรก็ตาม การขาดทักษะดิจิทัลนี้อาจเป็นเหตุที่ทำให้คนไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเอไอที่มากพอ เพราะจากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) พบว่า คนไทย 74.1% มีทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่าบุคคลเหล่านี้ขาดทักษะการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในเบื้องต้น และขาดความเข้าใจในเรื่องของข้อมูล (Data)
การขาดทักษะดิจิทัลอาจทำให้บุคคลก้าวไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ยิ่งในยุคของเอไอที่ต้องมีทักษะดิจิทัลเป็นพื้นแล้ว การขาดทักษะดิจิทัลและความไม่เข้าใจในเอไออาจทำให้ถูกแย่งงานจากคนที่มีทักษะดังกล่าว ทำให้เสียโอกาสในการประกอบอาชีพที่ดีขึ้นและการยกระดับรายได้
“เอไอจะไม่เข้ามาแทนที่งานของคุณ แต่เพื่อนร่วมงานของคุณที่ใช้เอไอจะเข้ามาแทนที่คุณ” —Parmida Beigi (2024) หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอไออาวุโสของ Amazon AGI
4 แง่มุมสำคัญในการเสริมสร้าง AI Literacy
Ng และคณะ (2021) ได้รวบรวมงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI Literacy และได้สรุปออกมาว่าการส่งเสริมความฉลาดรู้ทางเอไอเกี่ยวข้องกับ 4 แง่มุมต่อไปนี้
1. รู้และเข้าใจเอไอ (Know & Understand AI)
อันดับแรกเราต้องทำความเข้าใจว่าเอไอทำงานอย่างไร ซึ่งหมายถึงการรู้และเข้าใจฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานของเอไอ เข้าใจเทคนิคและแนวคิดพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังเอไอ ระดับนี้จะเกี่ยวข้องกับการได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการทำความเข้าใจเอไอ
(เนื้อหาในส่วนนี้จะกล่าวเพิ่มเติมในบทความถัดไป)
2. ใช้และประยุกต์ใช้เอไอ (Use & Apply AI)
เมื่อมีความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นแล้วก็สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและบริบทต่างๆ โดยคาดหวังว่าความรู้ที่มีจะทำให้เราสามารถใช้งานเอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การใช้งานนี้ก็ต้องคำนึงถึงจริยธรรมเอไอด้วย เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น (จริยธรรมเอไอจะกล่าวถึงในข้อ 4)
ในปัจจุบันมีการนำเอไอไปประยุกต์ใช้ในหลายๆ วงการแล้ว รวมไปถึงวงการการศึกษาด้วย ซึ่งจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ AI กับอนาคตการศึกษา: ตัวช่วยที่ทำให้เด็กเก่งขึ้น หรือตัวการขัดขวางการเรียนรู้ ทำลายอาชีพครู
นอกจากนี้ ‘Computational Thinking’ หรือ ‘การคิดเชิงคำนวณ’ ก็สำคัญในการประยุกต์ใช้เอไอ เพราะจะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบและใช้งานเอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี 4 องค์ประกอบต่อไปนี้ (ไม่จำเป็นต้องใช้ครบทุกอย่างในการแก้ปัญหา)
- การย่อยปัญหา (Decomposition) – แยกปัญหาออกมาเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ตัวอย่างเช่น การทำความสะอาดบ้านเราต้องลิสต์ออกมาว่าเราจะทำอะไรบ้าง เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน
- การระบุรูปแบบ (Pattern Recognition) – มองหารูปแบบ/แพตเทิร์นที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ในการเรียนภาษาถ้าเราหาแพตเทิร์นในการสร้างประโยคเจอก็จะทำให้เราเข้าใจได้เร็วขึ้น เช่น ประโยคบอกเล่าต้องเรียงว่า ประธาน-กริยา-กรรม
- การกำหนดสาระสำคัญ (Abstraction) – เน้นไปที่รายละเอียดที่สำคัญและไม่ต้องสนใจข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ในการหาเส้นทางไปยังจุดหมายให้สนใจเฉพาะทางที่จะพาเราไปได้เท่านั้น
- การออกแบบขั้นตอนวิธี (Algorithm Design) – คิดวิธีแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน หรือทำตามกฎบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา เช่น การวางแผนการเดินทาง หรือการทำตามขั้นตอนในสูตรอาหาร
เห็นได้ว่า Computational Thinking ไม่ได้จำกัดแค่ในการใช้เอไอเท่านั้น เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานในบริบทอื่นๆ ได้ เพราะการคิดในลักษณะนี้ทำให้เรามีทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ประเมินเอไอ (Evaluate AI)
เมื่อเข้าใจและประยุกต์ใช้เอไอได้แล้วก็ต้องมีการประเมินการทำงานของเอไอ เช่น ‘ข้อมูลที่ได้จากเอไอมีความถูกต้องหรือไม่’ โดยหนึ่งในทักษะที่ควรมีในการประเมินเอไอคือ Data Literacy (ความฉลาดรู้ทางข้อมูล) กล่าวง่ายๆ คือการประเมินว่าข้อมูลที่นำมาใช้ฝึกฝนหรือเทรน (Train) เอไอมีที่มาอย่างไร เพราะเอไอเรียนรู้จากข้อมูลที่เราป้อนเข้าไป ถ้าเอไอได้รับข้อมูลที่ผิด เอไอก็จะแสดงผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลเท็จได้
เช่น ChatGPT เวอร์ชัน GPT-3.5 ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ใช้งานได้ฟรี ใช้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตที่อัปเดตถึงเดือนมกราคม 2022 หมายความว่าข้อมูลที่แสดงผลออกมาจาก GPT-3.5 อาจล้าสมัยและไม่มีข้อมูลที่เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้ต้องตรวจสอบว่าข้อมูลที่ได้รับมีความถูกต้องหรือไม่
การตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากเอไอเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าเอไอจะให้ข้อมูลด้วยน้ำเสียงที่ดูมั่นใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกต้องเสมอไป เช่น ในการใช้ ChatGPT ครั้งหนึ่งผมเคยถามว่าจะหาข้อมูลนี้ได้จากที่ไหน ซึ่ง ChatGPT ก็ให้ชื่องานวิจัยมาอันหนึ่ง แต่ปรากฏว่างานวิจัยนั้น ChatGPT เป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เพราะไม่สามารถสืบค้นได้ว่าชื่อวิจัยและคนเขียนวิจัยนั้นมีอยู่จริง
4. จริยธรรมเอไอ (AI ethics)
เมื่อใช้งานเอไอเราควรคำนึงถึงมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered Considerations) กล่าวง่ายๆ คือไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
การจะบรรลุเป้าหมายนั้นเอไอควรมีความโปร่งใส (Transparency) และสามารถอธิบายได้ (Explainability) เช่น ผู้ใช้ควรรู้ว่าเอไอตัวนี้ทำงานอย่างไร ตัดสินใจอย่างไร ข้อมูลที่ใช้เทรนเอไอมีที่มาอย่างไร
การพิจารณาข้อมูลที่ใช้เทรนเอไอเป็นเรื่องสำคัญ เพราะข้อมูลบางอย่างอาจมีลิขสิทธิ์หรือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา การนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งข้อมูลบางอย่างอาจมีอคติ (Bias) และขาดความหลากหลาย เมื่อนำมาใช้เทรนเอไออาจทำให้เอไอมีอคติ เลือกเข้าข้างหรือกีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และให้ข้อมูลเท็จต่อผู้ใช้ได้
นอกจากนี้ ผู้ใช้และผู้พัฒนาเอไอมีภาระรับผิดชอบ (Accountability) ที่ต้องปฏิบัติ กล่าวคือ ผู้ใช้ควรทำความเข้าใจฟังก์ชันการทำงานและข้อจำกัดของเอไอ ใช้งานเอไออย่างเหมาะสม เช่น ไม่นำไปใช้ในการทุจริตหรือเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่สร้างความเข้าใจผิด อีกทั้งผู้ใช้ควรคอยสังเกตด้วยว่าเอไอทำงานถูกต้องตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดจะได้แจ้งให้ผู้พัฒนาทราบและแก้ไขได้ทันที
ส่วนผู้พัฒนาต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเอไอของตนได้รับการออกแบบและเทรนมาอย่างมีจริยธรรม เช่น ใช้ข้อมูลที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นข้อมูลที่มีความหลากหลายปราศจากอคติ อีกทั้งต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการใช้งานในทางที่ผิดหรือข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นกับเอไอ
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางจริยธรรมบางส่วนที่เป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบันว่าควรปฏิบัติอย่างไร เช่น เนื้อหาที่สร้างขึ้นจากเอไอถือเป็นผลงานที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่? การนำผลงานที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้เทรนเอไอถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่?
เนื่องจากเอไอยังเป็นเรื่องที่ใหม่ ประเด็นทางจริยธรรมบางอย่างจึงยังไม่ผ่านการถกเถียงที่มากพอจนนำไปสู่ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันได้ สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอเวลาใช้เอไอคือ การใช้งานของเราต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
อ้างอิง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา [กสศ.]. (2567). ทิศทางพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนของประเทศ.
กองบรรณาธิการ The Active. (2567). วิกฤตทักษะคนไทย ‘การอ่าน-ดิจิทัล-อารมณ์’ ต่ำกว่าเกณฑ์.
พงษ์ประภัสสร์ แสงสุริยง. (2566). แย่งงานศิลปิน-ละเมิดลิขสิทธิ์? ว่าด้วยเรื่อง ‘ศิลปะกับ AI’ นักวาดมีความเห็นอย่างไรบ้าง.
Bill Gates. (2023). The Age of AI has begun.
Emerge Digital. (2024). AI Accountability: Who’s Responsible When AI Goes Wrong?
Lance Whitney. (2023). ChatGPT is no longer as clueless about recent events.
Long, D., & Magerko, B. (2020). What is AI Literacy? Competencies and Design Considerations. Proceedings of the 2020 CHI Conference on Human Factors in Computing Systems.
Ng, D.T.K, Leung, J.K.L., Chu, S.K.W., & Qiao, M.S. (2021). Conceptualizing AI literacy: An exploratory review. Computers and Education: Artificial Intelligence, 2(2021), Article 100041.
Parmida Beigi. (2024). AI Literacy In Today’s World | Parmida Beigi | TEDxSFU.The Bowers Institute. (2024). TECH TIP: Computational Thinking.