- ‘ภาวะผู้นำ’ ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ง่าย และต้องผ่านการลองผิดลองถูกฝึกฝน
- นี่คือเรื่องเล่าและมุมมองต่อ ‘ภาวะผู้นำ’ ของเด็กในโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ผ่านกิจกรรมต่างๆ
- หนึ่งในนั้นคือ ‘ปุ๊กกี้’ กับการพัฒนาทักษะผ่านโครงการสืบสานศิลปะการฟ้อนรำไทลื้อและดนตรีพื้นบ้าน
ความรับผิดชอบ ความอดทน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ฯลฯ อุปนิสัยเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานของการเป็น ‘ผู้นำที่ดี’ สังคมไทยต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีภาวะผู้นำแบบนี้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการนำทิศทางของประเทศให้อยู่รอด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยและโลก แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านั้นเกิด ‘ภาวะผู้นำ’
จากสถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากไม่เพียงแต่ไม่มีความต้องการที่จะเป็นผู้นำ ในความเป็นจริงแล้วเด็กและเยาวชนไทยยังไม่มีภาวะ ‘ความเป็นผู้นำ’ อีกด้วย
มูลนิธิสยามกัมมาจล มีเรื่องราวมานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางที่คุณครูหรือผู้ใหญ่ใจดีสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อให้เกิดผลกับเด็กและเยาวชนในเรื่องดังกล่าวได้ จากหนังสือ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ เขียนโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ในบทที่ 20: ชวนเด็กทำงานสร้างสรรค์และงานรับใช้ผู้อื่น ที่มีใจความสำคัญความตอนหนึ่งว่า…
“การเรียนรู้ที่ดีที่สุด ได้จากการปฏิบัติกิจกรรม หรือเรียนโดยการทำงาน โดยแบ่งหน้าที่ให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้การเรียนรู้เป็น ‘กระบวนการเรียนรู้แท้’ (Authentic Learning)
“เด็กจะได้รับประสบการณ์ตรง ได้ฝึกความอดทน มานะบากบั่น มีประสบการณ์กับความล้มเหลว หรือการเผชิญความยากลำบาก รู้จักปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ในกรณีนี้ การทำงานเป็นกุศโลบายเพื่อการเรียนรู้หลากหลายมิติของเด็ก รวมทั้งเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองดีมีการเรียนรู้เป็นเป้าหมายหลัก ผลงานเป็นเป้าหมายรอง…”
เพื่อให้เห็นภาพการเรียนรู้การเป็น ‘ผู้นำ’ ที่ชัดเจน จึงขอยกตัวอย่างเยาวชนที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับหัวข้อนี้มานำเสนอ จากโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ปี 3 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโดย มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ (วัดโป่งคำ) ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่าน ซึ่งมีโครงการเยาวชนชื่อ ‘หนึ่งเยาวชน หนึ่งชุมชน หนึ่งต้นน้ำ’ รับผิดชอบโดยกลุ่มเยาวชนบ้านทุ่งสุน มีแกนนำเยาวชนจำนวน 5 คน ประกอบด้วย
- วิมลสิริ ขุลิลัง (โรส) อายุ 15 ปี ชั้น ม.3 โรงเรียนปัว หัวหน้าโครงการ
- จิราภา เทพจันตา (ปุ๊กกี้) อายุ 17 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา
- อิสริยา โพธิ์ทอง (ออย) อายุ 17 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนทุ่งช้าง
- ณัฐวุฒิ ทองแก้ว (นิล) อายุ 17 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนทุ่งช้าง
- สุภาภรณ์ กลิ่นหอม (มายด์) อายุ 15 ปี ชั้น ม.3 โรงเรียนทุ่งช้าง
เมื่อทุกคนเป็นเยาวชนของบ้านทุ่งสุน จึงมีความต้องการร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่แม่น้ำสุน ซึ่งเป็นสายเลือดหลักที่ชุมชนใช้ในการอุปโภคและบริโภค แต่ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้มีปัญหาเกิดจากการใช้สารเคมีในการเกษตร อีกทั้งน้ำมีน้อยเริ่มไม่พอใช้ จนต้องไปขอน้ำจากเทศบาล และส่งผลกระทบกับตัวเยาวชนโดยตรงที่ชุดนักเรียนจะมีคราบสีเหลือง และมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ
หลังจากเยาวชนได้ทำโครงการมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรและมีความต่อเนื่องถึง 2 ปี โดยเฉพาะ ‘ปุ๊กกี้’ ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในตนเองชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะได้เรียนรู้ความหมาย ‘ผู้นำที่ดี’ ควรเป็นอย่างไร
กัปตัน ‘ปุ๊กกี้’
ปุ๊กกี้บอกว่า เธอถอย 1 ก้าว แล้วให้น้องก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าแทนตัวเอง เพื่อให้น้องได้รับโอกาสดีๆ เหมือนที่เธอมี เดิมปุ๊กกี้เป็นหัวหน้าโครงการสืบสานศิลปะการฟ้อนรำไทลื้อและดนตรีพื้นบ้าน เมื่อปีที่แล้วเธอเพิ่งทำโครงการลักษณะแบบนี้เป็นครั้งแรก เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนาได้เสนอชื่อให้ทำโครงการ เธอจึงโดดมารับหน้าที่ ‘หัวหน้า’
“ในฐานะหัวหน้าโครงการ หนูคิดว่าหนูมาไกลมากค่ะ ที่โรงเรียนเก่าของหนู โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 บ้านงอบ จังหวัดน่าน หนูมีบทบาทเป็นประธานนักเรียน มีอีโก้สูง ไม่ฟังคนอื่นเลย เอาแต่ความคิดตัวเองเป็นหลัก ติดกับการสั่ง ชอบสั่งเพื่อนๆ จุดเปลี่ยนของหนูคือ มีกิจกรรม เวิร์คช็อปในโครงการนี้ เราต้องไปรวมกับกลุ่มอื่นๆ
“แล้วเราก็เห็นภาพที่สะท้อนกลับมาที่ตัวเองจากกระบวนการที่เราได้ทำ สะท้อนว่าเราเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ชอบสั่งเกินไปไหม เราต้องรับฟังคนอื่นบ้าง ไม่ใช่กลุ่มมีเราอยู่แค่คนเดียว ทำงานกับคนหมู่มากก็ต้องฟังเขาด้วย ก็เริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะหนูไปทำกิจกรรมบ่อยๆ ทำให้เห็นตัวเอง เราอยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีหลายเวทีที่หนูค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง”
ปุ๊กกี้เล่าว่า ถึงแม้เธอมองเห็นตัวเองและพยายามเปลี่ยนตัวเอง แต่ก็ยังมีร่องรอยเดิมของความเจ้ากี้เจ้าการ ไม่ฟังความคิดเห็นใคร จนทำให้การจัดมหกรรมคืนข้อมูลให้ชุมชนล้มเหลว
“งานมหกรรมวันนั้น เขาให้เราคิดว่าเราจะวางเวทีอย่างไร ใส่รูปแบบอย่างไร ให้ช่วยกันคิด เพื่อนก็เสนอมา พี่เลี้ยงก็เสนอมา หนูก็ฟังแต่พี่เลี้ยงคนเดียว ไม่ฟังเพื่อน เพื่อนทั้งกลุ่มก็น้อยใจ โกรธ ไม่คุยกับหนู เขาไม่มาทำกับหนูอีกเลย ให้เราทำคนเดียว จนครูต้องเข้ามาช่วย จุดนี้ทำให้หนูต้องทบทวนตัวเอง”
เธอเริ่มรู้ตัวและพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่ปุ๊กกี้ก็ยังเจอบททดสอบที่ยาก เมื่อเวทีคืนข้อมูลให้ชุมชนต้องจัดถึง 3 ครั้งจึงสำเร็จ เวทีแรกจัดที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพราะการสื่อสารกันไม่ดีพอภายในกลุ่ม ทำให้ได้แค่ไปรำโชว์ในงาน เตรียมข้อมูลไปพร้อม แต่ไม่ได้พูด
ตอนนี้สีหน้าเพื่อนๆ บอกว่าไม่เอาแล้ว เราก็คิดว่าเราต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่าเป็นแบบนี้เพราะอะไร เป็นเพราะเราอีโก้สูง ไม่ฟังคนอื่นด้วย เราก็เริ่มรู้สึกตัวเองได้จากตรงนี้
เวทีที่ 2 ในงานแห่เทียนเข้าพรรษาในชุมชน แต่เจ้าตัวกลับติดงานแห่เทียนที่โรงเรียน ในฐานะ ‘หัวหน้า’ คิดว่าแบ่งหน้าที่ให้น้องทำแล้วก็น่าจะเพียงพอ
“ตอนหนูไปถึง งานล้มแล้ว น้องๆ บอกว่าเละแล้ว รำไปได้แค่ครึ่งเพลง เพลงดับ เพราะแบตมือถือหมด ถูกต่อว่าเยอะมาก ทำให้โรงเรียนอับอาย เย็นนั้นพี่เลี้ยง พี่มิ้นท์ พี่กอล์ฟ (จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่าน) ถามว่าจะทำอย่างไรต่อ บอกว่าถ้าหนูไม่ทำแล้วใครจะทำ พี่เขาปลอบและให้กำลังใจ ตัวหนูก็คิดว่า เราต้องทำให้ได้ ไม่คิดจะเลิกทำ พอเวทีที่ 3 ไปจัดที่วัด ครั้งนี้มีพี่เลี้ยงและวัดมาช่วยกันจัดงานและมีชาวบ้านมาฟังข้อมูล พอจบเวทีพวกเรารู้สึกดีใจมากเลย”
ปุ๊กกี้สะท้อนว่า จากสถานการณ์วิกฤติในการทำโครงการปีแรก ทำให้ตัวเองได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นมาก
“ทำให้หนูเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้น จะทำอะไรก็คิด แต่ก่อนหนูมีปัญหากับน้องคนหนึ่ง และต่อว่าน้องเขาตลอด แต่พอจบโครงการ เราก็คิดว่าเราเป็นผู้นำ เราต้องทำให้เขาเชื่อถือ เราจะทำอะไรต้องคิดก่อน ไม่ใช่ว่าอะไรนิดหน่อยก็โวยวาย เป็นที่สาธารณะคนเขารู้หมดเลย หนูกลับมาเปลี่ยนตัวเอง หนูฟังเพื่อนมากขึ้น ลดอีโก้ตัวเองลง เราทำงานไปด้วยกัน ไม่ใช่ทำงานแค่คนเดียว มันก็ยากนะคะ แต่หนูก็พยายามทำให้ได้
“พวกเราสัญญากันว่าจะทำโครงการแล้วเหยียบเส้นชัยไปพร้อมกัน เวลามีกิจกรรมก็จะระดมให้เพื่อนเสนอความคิดมาบ้าง จากเมื่อก่อนเขาเสนอมาหนูไม่ฟังเลย หนูก็ทำใจอยู่พอสมควร เราฟังเพื่อนมากขึ้น แล้วแบ่งงานให้เพื่อนมากขึ้น เขาก็ช่วยแบ่งเบาภาระเราไป ทำให้งานก้าวหน้า เราก็โล่งไปเลย
“พอหนูเปลี่ยนตัวเอง เพื่อนๆ น้องๆ ก็เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเขาไม่ค่อยมายุ่งกับหนูเลย แต่ตอนนี้ไปไหนมาไหนเจอเขาก็ทักทายเรา หนูเปลี่ยนตัวเองได้ หนูก็ภูมิใจมากเลย หนูคิดว่าถ้าหนูไม่ได้ทำโครงการนี้ หนูจะกลายเป็นคนอย่างไร จะมีคนมาคบหนูไหม”
จากปีแรกเธอได้ประสบการณ์ตรง สร้างภาวะผู้นำที่ดีให้แก่ตนเอง เมื่อเห็นความภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว เธออยากส่งต่อความภาคภูมิใจนี้ให้แก่รุ่นน้อง เมื่อพี่ๆ มาชวนทำโครงการปี 2 เธอก็ไม่รีรอรับทำ แต่เมื่อมาวิเคราะห์ตัวเองแล้วพบว่า เมื่ออยู่ ม.5 เวลาเรียนจะยุ่งขึ้น ไม่มีเวลามาทำโครงการ จึงอยากจะหารุ่นน้องมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ เธอเลือก ‘โรส’ น้อง ม.3 ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เธอมองเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ให้โอกาส’ ในการพัฒนาศักยภาพตนเองผ่านโครงการเหมือนที่เธอเคยได้รับ
“โรสได้รับคัดเลือกเป็นประธานเยาวชนบ้านทุ่งสุน หนูก็คิดว่าอยากให้น้องได้รับโอกาสดีๆ แบบที่หนูเคยได้รับ ได้ฝึกตัวเอง หนูถอย 1 ก้าว แล้วให้น้องก้าวขึ้น แต่หนูก็ไม่ได้ทิ้งน้อง แต่หนุนน้องขึ้นมา เพราะน้องอาจจะขาดทักษะบางจุด หนูก็จะช่วยเสริมตลอด เช่น เวลามีประชุม จะให้น้องเป็นผู้นัดประชุม กล่าวเปิดประชุม แรกๆ น้องทำไม่เป็น เราก็จะช่วยเปิดให้น้องดูก่อน พอกิจกรรมต่อไปให้น้องพูดเอง เราจะมาฝึกน้องหลังไมค์ อาจมีตะกุกตะกักบ้างช่วงแรกๆ แต่หลังๆ น้องก็พูดได้ เห็นพัฒนาการของน้อง แล้วเราก็ดึงน้องให้มามีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้น
“นอกจากนี้ เราก็ยังให้กำลังใจน้องเขาตลอด กระตุ้นเขา บอกเขาว่าถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เวลาเขาทำอะไรเราก็บอกว่าสู้ๆ นะ ให้กำลังใจกันตลอด เวลาไปเวิร์คช็อปเราก็พยายามผลักดันให้น้องออกไปพูด ทำทุกวิธีให้น้องได้ฝึก อยากให้น้องได้ฝึกการพูดต่อหน้าคนมากๆ จะได้รู้สึกมีความมั่นใจ”
สุดท้ายปุ๊กกี้บอกเคล็ดลับการเป็นผู้นำที่ดีในความคิดตัวเองว่า
“ผู้นำที่ดีต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ตรงต่อเวลา พูดคำไหนคำนั้น เราต้องทำให้ได้ พูดแล้วต้องทำ อย่าพูดลอยๆ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เหมือนขยะอยู่ตรงหน้า ถ้าเราไม่เก็บแล้วใครจะเก็บ เหมือนโครงการเรา ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ คิดอย่างนี้แล้วเราก็มีความสุขค่ะ ทำให้ค้นพบตัวเองว่า หนูอยากเป็นนักพัฒนาสังคม เห็นพี่ๆ เขาทำแล้วหนูมีความสุข ได้ทำงานกับเด็กๆ ทำงานกับชุมชน เราก็คุยกับคนในพื้นที่อยู่แล้ว เราถึงเข้าใจกันและกัน ก็อยากช่วยพัฒนาจังหวัดเราเองด้วย”
กัปตัน ‘โรส’
มาถึงรุ่นน้อง ‘โรส’ ที่ปุ๊กกี้ให้สานต่อภาระหน้าที่ ‘หัวหน้า’ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญ เจ้าตัวแม้จะอายุเพียง 15 ปี แต่เมื่อมีพี่คอยช่วยชี้แนะก็สามารถทำได้ดี
“บทบาทของหนูคือหัวหน้าโครงการ ทำหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจ วางแผน ติดตาม และเรียกประชุม ส่วนงานประสาน พี่ๆ เขาจะช่วยดูให้ มีพี่ปุ๊กกี้กับพี่ออยเป็นพี่เลี้ยงให้ สอนให้เราประสานและคุยกับชุมชน แรกๆ มีพี่เขามาบอก หลังๆ เริ่มทำได้เองโดยไม่ต้องบอกแล้วค่ะ”
จากการทำงานกว่าครึ่งปี ทำให้โรสได้ประสบการณ์มากมาย
“การทำหน้าที่เป็นหัวหน้า ทำให้หนูได้พบเจอสังคมหลายๆ อย่างที่ดี ถ้าไม่ได้มาอยู่ในโครงการนี้ หนูก็คงไม่ได้เป็นผู้นำ ตัวหนูได้พัฒนา ได้รู้จักตนเอง ได้รู้จักการวางแผน และมีทักษะการดูแลตัวเอง ทำให้หนูมีความรับผิดชอบมากขึ้น เราเป็นตัวแทนของคนที่เขาคัดเลือกมา เราก็ต้องทำให้ดี การทำโครงการนี้ทำให้หนูโตขึ้น มีความรับผิดชอบและความอดทนมากขึ้น อยากฝากถึงเพื่อนๆ ในกลุ่มว่า หนูอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่หัวหน้าที่ดีที่สุด แต่หนูจะพยายามค่ะ” โรสฝากทิ้งท้ายไว้
กัปตัน ‘มิ้นท์’
สุทธิรา อุดใจ (มิ้นท์) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พี่เลี้ยงประจำโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวปุ๊กกี้และโรสว่า
“ตอนเห็นปุ๊กกี้ในปี 1 ปุ๊กกี้เป็นหัวหน้าแบบสั่งการ มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่พอเข้าร่วมโครงการก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง น้องพูดน้อยลง ให้คนอื่นพูดบ้าง เห็นภาวะการเป็นผู้นำที่ไม่ยอมย่อท้อต่ออุปสรรค พอเกิดปัญหาก็ไม่จมอยู่กับความเสียใจ พยายามหาทางแก้ไข และยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน ปุ๊กกี้เป็นตัวอย่างของการเป็นผู้นำที่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และมีความคิดที่เป็นระบบ มีการวางแผนเป็นสเต็ป
“ส่วนโรส ก่อนเข้าโครงการเป็นคนห้าวๆ อยากพูดอะไรก็พูด พอเข้ามาอยู่ในโครงการก็เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นโรสเป็นผู้นำอีกแบบหนึ่งที่รับฟังความคิดเห็นของทุกคน เห็นความพยายามพิสูจน์ตัวเองในการเป็นผู้นำให้เพื่อนในโครงการและนอกโครงการได้เห็น
ในฐานะพี่เลี้ยง เห็นการเปลี่ยนแปลงของน้องแล้วรู้สึกดีใจ เราทำให้เด็กคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง พอเข้ากระบวนการของเรา เขากลับกลายเป็นอีกคนที่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ทำให้เห็นว่ากระบวนการของเราที่ทำกับน้องๆ มีความหมายไปทำให้เขาเปลี่ยนแปลง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับปุ๊กกี้และโรส เป็นเพียงสองตัวอย่างที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ผ่านการทำโครงการชุมชน ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านภาวะผู้นำของเยาวชนทั้งสอง แสดงให้เห็นว่ากระบวนการสร้าง ‘ภาวะผู้นำ’ ของโครงการนี้ได้เดินมาถูกทาง หากเยาวชนได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านประสบการณ์ตรง จะทำให้เยาวชนเรียนรู้ได้ลึกซึ้ง และกลายเป็นอุปนิสัยติดตัวไปได้นั่นเอง
หากโรงเรียนและชุมชนสนใจนำกระบวนการลักษณะโครงงานชุมชนไปใช้กับเยาวชนในวงกว้าง สถานการณ์การขาดแคลน ‘ภาวะผู้นำที่ดี’ ในประเทศไทยในอนาคตก็ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น และหากเป็นเช่นนั้นเชื่อมั่นได้ว่า ในอนาคตประเทศไทยพัฒนาก้าวไกลอย่างแน่นอน