- ซิสุ (Sisu) คือปรัชญาการใช้ชีวิตหนึ่งของชาวฟินแลนด์ เป็นคำศัพท์ที่มีความลึกซึ้งและเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง แม้อาจตีความได้หลายแบบ แต่ก็มี ‘แพทเทิร์น’ ร่วมกัน คือการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นพยายามในการก้าวต่อไปอีกนิดท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก เปิดใจพร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายน้อยใหญ่
- Sisu ไม่ได้ปฏิเสธความกลัว ไม่ได้ละทิ้งความกังวล แต่เป็นการเดินหน้าต่อโดยมีตรรกะหรือกลยุทธ์รองรับ ทั้งๆ ที่ยังมีกลิ่นอายแห่งความกลัวหรือลังเลอยู่บ้าง
- เมื่อพูดถึง ‘ความสุข’ บางทีความสุขไม่ได้มาจากการเอาแต่คิดวิเคราะห์หาหนทางว่าเราจะสุขได้ยังไง แต่มาจากการเอาตัวเองดำดิ่งลงไปใช้ชีวิตจมปลักกับมันตรงๆ
ฟินแลนด์เป็นอีกประเทศที่น่ามหัศจรรย์ใจอย่างหนึ่ง เพราะที่ตั้งเชิงภูมิศาสตร์ไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค สภาพอากาศหนาวเหน็บไม่ค่อยเอื้อต่อการใช้ชีวิตนัก ประชากรเบาบาง ทรัพยากรธรรมชาติจำกัดมากๆ และมีประวัติถูกรุกรานจากประเทศอื่นๆ แต่กลับเป็นประเทศที่ถีบตัวเองจนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีเยี่ยม รายได้สูง การศึกษาดี และมีดัชนีความสุข (Happiness index) ติดอันดับโลกทุกครั้งที่มีการจัดอันดับ
เพราะเบื้องหลังการใช้ชีวิตของชาวฟินแลนด์มีสิ่งหนึ่งที่ยึดถือร่วมกันในสังคม นั่นคือ ปรัชญาการใช้ชีวิตที่เรียกว่า ซิสุ (Sisu)
Sisu คืออะไรกันแน่?
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ซิสุ (Sisu) เป็นอีกคำศัพท์หนึ่งที่มีความลึกซึ้งและเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง ไม่ได้มีความหมายแบบตรงไปตรงมา (การแปลคำนี้เป็นภาษาอื่นจึงมีได้หลายคำมากๆ) ทำให้การพูดคำนี้ขึ้นมาครั้งนึง หลายคนอาจมีภาพในหัวแว่บขึ้นมาแตกต่างกัน แต่ความต่างหลากหลายนี้จะมี ‘แพทเทิร์น’ ร่วมกัน
นั่นคือ Sisu จะสะท้อนถึงความมุ่งมั่นพยายามในการก้าวต่อไปอีกนิดท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก เปิดใจพร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายน้อยใหญ่ เป็นการทำจิตใจให้สตรองเพื่อก้าวฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ หรือพูดง่ายๆ Sisu จะมีจริตของความดื้อรั้น(ในด้านบวก) ที่ไม่ยอมจำนวนต่อสถานการณ์อันยากลำบากตรงหน้า แต่จะขอ ‘ลองดูซักตั้ง’ ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนเสียก่อน?
ตัวอย่างง่ายๆ บทสนทนาในชีวิตประจำวัน เวลาเจอโจทย์ท้าทายยากๆ
- คนที่ไม่มี Sisu อาจตัดบทจบว่า “หูย ยากเกินไป…ทำไม่ได้หรอก”
- แต่คนที่มี Sisu อาจพูดว่า “โห ฟังดูไม่ง่ายเลยนะ…แต่เดี๋ยวจะขอลองทำดูก่อน”
พวกเขาจะ ‘ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์’ แต่เลือกที่จะทลายข้อจำกัด (ที่เราอาจสร้างขึ้นมาเอง) ก้าวข้ามผ่านสิ่งที่เคยคิดว่าเป็นข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ ซึ่งสุดท้ายมักนำไปสู่การค้นพบศักยภาพซ่อนเร้นในตัวใหม่ๆ
คาแรกเตอร์ที่น่าสนใจของ Sisu
เราอาจมองว่า Sisu เป็นแนวคิดสำหรับคนที่ทะเยอทะยาน คนเอาการการงาน และมีเป้าหมายใหม่เรื่อยๆ ที่สูงขึ้นไปไม่สิ้นสุด แต่ไม่น่าเหมาะกับคนที่พึงพอใจในจุดที่ตัวเองเป็นอยู่แล้ว?
แต่ความจริงแล้วแนวคิด Sisu ไม่ได้ ‘แคร์ผลลัพธ์’ ขนาดนั้น เราอาจไม่ได้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้เสมอไปก็ได้ แต่ขอแค่ให้เราได้ ‘ลงมือทำ’
ถ้าเปรียบกับกิจกรรมท้าทายที่คนฟินแลนด์ทำกันบ่อยๆ ก็คือ การกระโดดลงน้ำเย็นยะเยือกในแม่น้ำสายต่างๆ บางคนฝึกฝนจนกระโดดลงไปทั้งตัวและแช่อยู่ได้เป็นเวลานาน แต่บางคนทำได้เต็มที่แค่หย่อนขาลงไปก็ถึงลิมิตแล้ว (กิจกรรมโดดลงน้ำเย็นขนาดนี้ต้องผ่านการฝึกฝนเพราะอันตรายต่อร่างกายไม่น้อย)
Sisu ไม่ได้ปฏิเสธความกลัว ไม่ได้ละทิ้งความกังวล แต่เป็นการเดินหน้าต่อ (โดยมีตรรกะหรือกลยุทธ์รองรับ) ทั้งๆ ที่ยังมีกลิ่นอายแห่งความกลัวหรือลังเลอยู่บ้าง
และในด้านการทำงาน Sisu ไม่ใช่ความพยายามเพื่อสร้าง Productivity ต้องทำยอดขายให้สูงสุด หรือโฟกัสที่เป้าหมายจนหลงลืมระหว่างทาง แต่ออกจะเป็นการ ‘แข่งกับใจตัวเอง’ มากกว่า เป็นความตื่นเต้นที่ได้ท้าทายสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
คือเราอาจจะมีชีวิตหน้าที่การงานที่ดีพอระดับนึงอยู่แล้ว (แถมเราก็พึงพอใจด้วย) แต่ตัดสินใจ ‘เลือก’ ที่จะพัฒนาไปต่อให้เก่งขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์กับใคร ไม่ใช่เพื่อหวังได้รับการโปรโมต ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่แค่เพื่อดึงศักยภาพ(ซ่อนเร้น)ในตัวให้ออกมามากที่สุด
ความน่าสนใจอีกอย่างคือ Sisu ไม่ได้จำกัดใช้กันแค่เฉพาะคนบางกลุ่ม…คนในฐานะนี้ ในอาชีพนั้น หรือในเมืองนี้เท่านั้น แต่ดูเหมือนจะเป็นหลักคิดของผู้คนชาวฟินแลนด์ในระดับแมส! เป็นวัฒนธรรม เป็นบุคลิกอุปนิสัยของชาวฟินแลนด์ส่วนใหญ่ไปแล้ว
ที่มาที่ไปของแนวคิด Sisu
ปัจจุบันเราอาจมองฟินแลนด์ว่าเป็นประเทศที่ ‘พัฒนาแล้ว’ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ การศึกษาดีเยี่ยม
แต่ในยุคสมัยก่อนหน้านั้น ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ยากจนมาก…
หนึ่งในความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่อยู่คู่ประเทศคือ ‘สภาพอากาศ’ ที่หนาวเหน็บเย็นยะเยือก มองด้วยเลนส์จากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแบบเมืองไทย เราอาจคิดว่า ยังไง…หนาวก็ดีกว่าร้อน?
อากาศหนาวเดินไปไหนเหงื่อไม่ออก สูดเข้าปอดแล้วเย็นชื่นใจ แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าเย็นหรือร้อน ถ้าสภาพภูมิอากาศสุดโต่งสุดขั้วเกินไปก็ยากต่อการใช้ชีวิตทั้งนั้น เพราะหนาวแบบฟินแลนด์คือหนาวเยือกแข็ง จัดว่าสุดขั้วไม่น้อย โดยมีอุณภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่แค่ 5 องศาเซลเซียส ยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาว อาจติดลบหลักสิบองศาในบางพื้นที่ได้เลยทีเดียว
แล้วสภาพอากาศที่เย็นเยือกแข็งมาเกี่ยวอะไรกับ Sisu?
เพราะนี่คือรากเหง้าของการต่อสู้กับธรรมชาติ เผชิญกับภูมิอากาศที่เย็นยะเยือก พออากาศเป็นแบบนี้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด เกษตรกรรมก็ทำยากขึ้น ทุกคนต้องรวมกลุ่มกัน ช่วยเหลือกัน และผ่านพ้นไปให้ได้ด้วยกัน เพราะมันหนาวเกินจนกระทบต่อการใช้ชีวิต
นี่ไม่ใช่สภาพอากาศที่ ‘ชิล’ ที่เราอยากจะเดินหรือขับรถออกจากบ้านไปไหนมาไหนก็ทำได้เลยโดยไม่ต้องวางแผน แต่คนฟินแลนด์ไม่ยอมจำนนต่ออากาศที่หนาวเหน็บ พวกเขาจะไม่เปิดฮีทเตอร์หมกตัวอยู่ในบ้าน แต่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งอันท้าทาย เช่น (ตัวอย่างในขีวิตประจำวัน) วิ่งจ๊อกกิ้งท่ามกลางหิมะ หรือกระโดดลงน้ำเย็นยะเยือกเพื่อฝึกร่างกายจิตใจ
อีกประวัติศาสตร์ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยเมื่อคุยเรื่อง Sisu นั่นคือประวัติการถูกรุกรานจากสหภาพโซเวียตที่มีอาณาเขตดินแดนติดกันกับประเทศฟินแลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยในปี 1939 เครื่องบินรบของโซเวียตบินเข้าน่านฟ้าเมืองหลวงของฟินแลนด์อย่างเฮลซิงกิและปล่อยระเบิดกว่า 350 ลูกลงมาทำลายล้างเมือง ผู้คนล้มตาย บ้านเมืองพินาศ Sisu จึงกลายสภาพเป็น ‘ที่พึ่งทางจิตใจ’ เดียวที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ใช้ชีวิตต่อ
ในขณะนั้น ยังเจอความท้าทายพร้อมๆ กับทหารโซเวียตกว่า 450,000 นายที่กำลังเคลื่อนพลล้อมรอบชายแดนทั่วประเทศฟินแลนด์ ในขณะที่กำลังพลของฟินแลนด์มีน้อยกว่ามาก
- โซเวียตมีรถถัง 6,000 คัน ฟินแลนด์มีรถถัง 32 คัน
- โซเวียตมีเครื่องบิน 4,000 ลำ ฟินแลนด์มีเครื่องบิน 114 ลำ
ถ้าเป็นที่อื่น อาจยกธงขาวยอมแพ้ไปแล้วเพื่อลดความสูญเสีย แต่เพราะ Sisu ในหัวใจจึงทำให้ทหารฟินแลนด์เลือกที่จะสู้ปกป้องประเทศ และพวกเขาทำสำเร็จ! โซเวียตเห็นว่าสู้ต่อไปมีแต่เสียมากกว่าได้ ฟินแลนด์และสหภาพโซเวียดจึงได้ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพมอสโก (The
Moscow Peace Treaty) ในปีต่อมา
สงครามสิ้นสุดลง แต่ Sisu ได้ผลิบาน ก่อนจะหยั่งรากลึกในหัวใจคนฟินแลนด์นับแต่นั้นมา
ประยุกต์ใช้ Sisu ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?
อันดับแรก บางทีเราอาจต้องใจเย็นๆ ก่อน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจปักธงในใจ…เรื่องไหนที่เรารู้สึกว่า ‘ลำบาก’ บางทีอาจไม่ได้ลำบากขนาดนั้นเหมือนที่คิดในใจตอนแรก
เริ่มได้ง่ายๆ จากเรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวัน เราอาจเดินขึ้นบันได 3 ชั้นแทนการขึ้นลิฟต์ หรือการเดินไปที่ไหนๆ (หรือแค่เดินขึ้นรถไฟฟ้า) แทนการขับรถในช่วงหน้าร้อนสงกรานต์ คนฟินแลนด์เองให้เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น พ่อแม่ให้ลูกวัยเด็กเดินไปโรงเรียนเองท่ามกลากองหิมะที่สูงท่วมท้นตลอดทาง หรือตัวเองไปว่ายน้ำในทะเลที่เย็นยะเยือกในฤดูหนาว
หรือในแง่การทำงาน เราอาจออกจาก Comfort zone ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ยาก ที่ไม่เคยชิน ที่ประหม่า แต่มันอาจปูทางเราไปสู่อะไรๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ในอนาคต มันอาจหมายถึงการเลือกที่จะกระโดดไปทำงานข้ามสายที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน เป็นความท้าทายในระยะสั้น แต่ทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมในระยะยาวหรือเพียงแค่สนองความต้องการลึกๆ ในใจเราที่แค่อยากทำให้สำเร็จ
Sisu อาจทำให้เราเฟ้นหาการใช้ชีวิตที่ ‘เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ’ อย่างไม่รู้จบและไม่รู้เบื่อ
บางคนอาจมีอคติว่าไม่เหนื่อยเหรอที่ต้องทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด? มันจะไม่กระทบความสุขของเราให้น้อยลงเหรอ? แต่ถ้าทำอย่างถูกวิธีในแบบที่เป็นตัวเรา การเอาตัวเองไปเจอกับความท้าทายอาจไม่ได้กระทบ ‘ความสุข’ เสมอไป
อย่างที่เรารู้กันดีว่า ฟินแลนด์ติดอันดับ Top10 ของโลกมาตลอดในฐานะประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก แน่นอนว่ามันมาจากระบบสวัสดิการสังคม การเมืองการปกครอง และอีกหลายปัจจัยที่ทำงานควบคู่กัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า Sisu อยู่เคียงข้างกับทุกกิจกรรมทุกเรื่องก็ว่าได้
เมื่อพูดถึง ‘ความสุข’ บางทีความสุขไม่ได้มาจากการเอาแต่คิดวิเคราะห์หาหนทางว่าเราจะสุขได้ยังไง แต่มาจากการเอาตัวเองดำดิ่งลงไปใช้ชีวิตจมปลักกับมันตรงๆ เลยใช่หรือไม่? ถ้าเป็นเช่นกัน Sisu มีแนวโน้มทำให้เรามีความสุขกับชีวิตมากขึ้นหรือเปล่า…เพราะมันนำพาเราไปเปิดโลกกว้าง ผู้คนใหม่ๆ ประสบการณ์สดใหม่ที่เราอาจมองข้ามมาตลอด?
อ้างอิง
https://jamesclear.com/sisu-mental-toughness
https://www.bbc.com/worklife/article/20180502-sisu-the-finnish-art-of-inner-strength