- ในบรรดากรอบคิดหรือชุดคำศัพท์ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น BANI World เป็นคำที่กำลังได้รับความสนใจในวงวิชาการ
- BANI เป็นผลงานของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน Jamais Cascio เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของตัวอักษรหน้าคำศัพท์ 4 คำ ได้แก่ Brittle ความเปราะบาง, Anxious ความกังวล, Nonlinear การคาดเดายาก, Incomprehensible ความเข้าใจได้ยาก
- บทความนี้ชวนทำความเข้าใจกับ Brittle ความเปราะบาง ซึ่งคาสซิโออธิบายว่า สิ่งที่เปราะบางมีความอ่อนไหวเมื่อถูกกระทบกระเทือน และสามารถก่อให้เกิดความเสียหายที่เรียกว่าเป็นหายนะได้
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานักคิดแวดวงต่างๆ ได้พยายามคิดค้นและรังสรรค์คำศัพท์จำนวนไม่น้อย ขึ้นมาอธิบายความหลากหลายซับซ้อน ความยากลำบากในการปรับตัว และภาวะความสับสนของผู้คนต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เป้าหมายหลักก็เพื่อขยายภาพให้เราได้เห็นและเข้าใจความเป็นไปในสังคมและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ดีขึ้น
ตัวอย่างคำที่มักได้ยินบ่อยครั้ง เช่น ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความผันผวน ปั่นป่วน (Turbulence) ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Rapid Change) พลวัต (Dynamism) หรือ การหยุดชะงัก ที่มักเอ่ยถึงโดยใช้คำทับศัพท์ว่า ‘ดิสรัป’ (Disrupt) เป็นต้น
หรือ ชุดคำศัพท์ที่มาจากการรวมตัวกันของตัวอักษรขึ้นต้นอย่าง ‘VUCA’ – ความผันผวน (Volatility), ความไม่แน่นอน (Uncertainty), ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งถูกอ้างอิงถึงในยุค 80 แล้วนำมาใช้อธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีในช่วงปี 2000
ทว่า ในปัจจุบัน VUCA ไม่อาจอธิบายเรื่องอัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากโลกเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 จึงมีการบัญญัติชุดคำศัพท์ใหม่ ‘BANI’ เพื่อเป็นกรอบคิดในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
เตรียมพร้อมเด็กเยาวชนรับความโกลาหลของโลก
อันที่จริงโลกมีความไม่แน่นอนและซับซ้อนอยู่เสมอ จะต่างกันก็ตามยุคสมัย มนุษย์เลยคิดค้นระบบทางสังคมหรือระเบียบรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาช่วยจัดการให้การดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นไปได้อย่างมีระเบียบแบบแผน ไม่ว่าจะเป็น ‘กฎหมาย’ หรือ ‘ศาสนา’ ไปจนถึงบรรทัดฐานและค่านิยมซึ่งมีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรม
ปี 2020 ในบทความเรื่อง ‘Facing the Age of Chaos’ – ‘เผชิญหน้ากับยุคแห่งความโกลาหล’ จาไมส์ คาสซิโอ (Jamais Cascio) นักมานุษยวิทยาและนักเขียนผู้มีความสนใจด้านอนาคต ได้นิยามคำว่า ‘BANI’ ขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกได้เผชิญหน้ากับการระบาดครั้งใหญ่จากโควิด-19 ‘BANI’ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของตัวอักษรหน้าคำศัพท์ 4 คำ ได้แก่
B – Brittle ความเปราะบาง
A – Anxious ความกังวล
N – Nonlinear การคาดเดายาก
I – Incomprehensible ความเข้าใจได้ยาก
การปรับตัวของผู้คนไม่ได้สัมพันธ์กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผลกระทบจากโควิด-19 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชีวิตของเราเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและสังคมรอบตัวในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ภัยพิบัติจากสภาพอากาศ ความผันผวนทางการเมืองในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หรือแม้แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม
ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพราะความรู้ ทักษะและสมรรถนะต่างๆ จะทำให้พวกเขายืดหยัด ตั้งรับและรับมือกับโลกยุคโกลาหลได้อย่างไม่สับสนหรือหลงทาง
ความเข้มแข็งที่เปราะบาง
บทความนี้ The Potential ชวนไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับคำศัพท์คำแรก B – Brittle ความเปราะบาง คาสซิโอ อธิบายว่า สิ่งที่เปราะบางมีความอ่อนไหวเมื่อถูกกระทบกระเทือน และสามารถก่อให้เกิดความเสียหายหรือล้มเหลวที่เรียกว่าเป็นหายนะได้
ทั้งนี้ สิ่งที่เปราะบางอาจดูแข็งแกร่งหรือมีความมั่นคง แต่สามารถพังทลายลงได้อย่างง่ายดายได้เมื่อถึงจุดแตกหัก (Breaking Point) ความเปราะบางจึงเรียกได้ว่าเป็นความแข็งแกร่งที่ลวงตาและไม่มีความยืดหยุ่น
ยกตัวอย่าง กระดูกที่เปราะบางหรือกระดูกพรุนที่สามารถหักหรือส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายได้โดยไม่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า ระบบที่เปราะบางภายใต้คำอธิบายของคาสซิโอ เป็นระบบที่อาจส่งสัญญาณที่ดีและมั่นคง ซ้ำยังสามารถยื้อให้ดำเนินการต่อไปได้แม้กำลังอยู่ในช่วงสุ่มเสี่ยง ช่วงขาลง และท้ายที่สุดแล้วสามารถล้มละลายลงได้อย่างไม่ทันตั้งตัว
ลิซ กัทล์ริด์จ (Liz Guthridge) ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการสถาบัน Connect Consulting Group ยกตัวอย่างว่า ระบบพลังงาน ระบบประชาธิปไตย และระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาเป็นระบบที่เปราะบาง เพราะการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) สามารถคุกคามระบบเครือข่ายพลังงานได้ การจำกัดการลงคะแนนเสียงเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง แต่เพิกเฉยต่อเจตจำนงหรือข้อเรียกร้องของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รวมถึงระบบการจัดการด้านสาธารณสุขในช่วงโควิด-19 ของบางรัฐที่มีมาตรการไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่ม เป็นต้น
ความเปราะบางในความหมายของคาสซิโอจึงไม่ต่างจากมายาคติที่ผู้คนพร่ำบอกตัวเองและคนรอบข้างด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างต่างๆ เพื่อทำให้รู้สึกดีขึ้นหรือรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่บางข้ามความเป็นจริง
สร้างความยืดหยุ่นให้เป็นเกราะป้องกันความเปราะบาง
ความยืดหยุ่น (Resilience) เป็นเรื่องของการปรับตัวปรับใจไม่ให้หวั่นไหวต่ออุปสรรคหรือปัญหา เป็นเรื่องของการเรียนรู้จากความผิดหวัง ข้อผิดพลาด หรือความล้มเหลว นำมาสู่ความสามารถในการปรับตัวได้ดี (Adaptation) ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ยอมรับความจริงได้ เป็นการปิดจุดอ่อนของความเปราะบางลงไปได้
เด็กโดยเฉพาะในวัย 3-8 ปี รวมทั้งเยาวชนเรียนรู้เรื่องความยืดหยุ่นผ่านประสบการณ์ ทุกครั้งที่พวกเขาได้ลงมือทำเพื่อจัดการปัญหา จะยิ่งสร้างความมั่นใจในความสามารถของตัวเองต่อการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในครั้งต่อไป
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Raising Children ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย ได้แนะนำวิธีพัฒนาความยืดหยุ่นไว้ ดังนี้
- ผู้ใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนแต่ไม่ลงสนามไปแก้ปัญหาให้พวกเขา รวมถึงเรื่องที่อาจสร้างความผิดหวังให้กับเด็ก
ยกตัวอย่างเช่น หากลูกหลานของเราไม่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงวันเกิด หรืองานสำคัญสักงานหนึ่ง หรือไม่ได้รับของขวัญที่ต้องการในวันเกิด ผู้ใหญ่สามารถหันมาพูดคุยถึงความรู้สึกของพวกเขา แทนที่จะพยายามแก้ปัญหาหรือสรรหาของขวัญที่ถูกใจมาให้ได้
สำหรับลูกๆ ในวัยรุ่น การพูดคุยสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น ระหว่างนั่งรถไปด้วยกัน หรือระหว่างที่พวกเขากำลังทำอย่างอื่นอยู่ เมื่อพวกเขามีคำถามหรือข้อสงสัย พ่อแม่ตอบคำถามเขาอย่างตรงไปตรงมา แล้วถามถึงความคิดเห็นของพวกเขาโดยไม่ตัดสินถูกผิด และฟังอย่างตั้งใจ
- หลีกเลี่ยงการวางแผนล่วงหน้าหรือความพยายามป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องที่ไม่จำเป็น
เช่น การปล่อยให้ลูกๆ ทำการบ้านด้วยตัวเอง ผิดถูกไม่เป็นไรแต่ขั้นตอนสำคัญคือ กระบวนการเรียนรู้ที่พวกเขาต้องสร้างขึ้นจากการเรียนด้วยตนเอง หรือหากมีของเล่นบางชิ้นที่เด็กๆ เล่นจนเสียหายแต่ไม่ได้ทำให้เกิดอันตราย พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องสรรหาของเล่นชิ้นใหม่ที่สมบูรณ์แบบมาให้ตลอดเวลา
- ช่วยให้เด็กๆ รับมือและจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
เช่น ลูกอาจกังวลเกี่ยวกับสมาชิกครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยงที่ป่วย พ่อแม่สามารถสื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมาเพื่อสร้างความเข้าใจ “แม่เห็นว่าลูกรู้สึกกังวล เราทุกคนมีความรู้สึกกังวลได้ แต่อยากให้ลูกรู้ว่าเรากำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยให้อาการของคุณปู่ดีขึ้น” เป็นต้น
- กระตุ้น/ ให้กำลังใจเด็กๆ ได้ลงมืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อทำครั้งแรกไม่สำเร็จ ชมเชยพวกเขาถึงความพยายามไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เช่น “พ่อภูมิใจในตัวลูกมากเลยที่ลูกเล่นจนจบการแข่งขัน”
“แม่ภูมิใจในตัวลูกมากเลยที่ลูกลองทำอีกครั้ง” เป็นต้น
- สร้างให้เขามีความเมตตากับตัวเองบ้าง (Self-Compassion)
การมีความเมตตากับตัวเองช่วยให้เด็กๆ จัดการกับความผิดหวังที่เกิดขึ้นและยอมรับความล้มเหลวได้ อีกทั้งยังทำให้พวกเขารู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวเอง
- สร้างนิสัยให้รับรู้และมองเห็นแง่มุมหรือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
เช่น ระหว่างมื้ออาหารในทุกๆ วันภายในครอบครัว เปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
- ช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัย พ่อแม่ไม่ควรใส่ความคาดหวังของตนเองลงไปที่ลูก
- ไอดอลหรือต้นแบบที่ดีเป็นแรงบันดาลใจและสร้างฝันให้กับเด็กๆ ได้ โดยเฉพาะในวัยรุ่น
พ่อแม่วางบทบาทเป็นผู้สนับสนุนให้พวกเขาได้ลองเรียนรู้และลงมือทำให้สิ่งที่สนใจ ซึ่งอาจได้รับแรงบันใจมากจากไอดอลของเขา
ในโลกที่เปราะบางนี้มีปัญหาและความปั่นป่วนมากมาย เด็กๆ จะพัฒนาความยืดหยุ่นและทักษะด้านอื่นๆ ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันไป ซึ่งการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นตลอดชีวิต
ในช่วงเริ่มต้น บทบาทของผู้ใหญ่คือ การสนับสนุน ควรอดทนหักห้ามใจ ปล่อยให้เด็กๆ ได้รับมือกับความท้าทาย เผชิญหน้ากับความผิดหวัง สัมผัสกับความรู้สึกไม่สบายใจ เพื่อให้พวกเขาเติบโตและสามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
บทความเพิ่มเติม
https://thepotential.org/knowledge/resilience/
https://thepotential.org/knowledge/resilience-skill/
https://thepotential.org/life/self-compassion-self-esteem/
อ้างอิง
https://medium.com/@cascio/facing-the-age-of-chaos-b00687b1f51d