- ‘Midlife Crisis’ หรือ ‘วิกฤตวัยกลางคน’ มักจะเจอกับความเครียด ความซึมเศร้า ความผิดหวัง และความสับสนในชีวิตจนถึงขั้นวิกฤต
- สิ่งหลักๆ ที่ทำให้คนรู้สึกแย่ เพราะความรู้สึกไม่สำเร็จ ไม่ได้ในสิ่งที่หวัง ที่ฝัน เราต้องทำความเข้าใจว่า ความทุกข์จากความรู้สึกว่าพลาดอะไรไปนั้น เกิดขึ้นเพราะเราคิดว่า “ถ้าเราไม่มีสิ่งนี้ เราจะไม่มีความสุข”
- ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องเจอวิกฤตในชีวิตเสมอไป และไม่จำเป็นต้องเกิดในวัยกลางคนแต่เป็นวัยอื่นก็ได้ สิ่งสำคัญคือถ้ารู้สึกว่าชีวิตเกิดวิกฤตทางอารมณ์ทางจิตใจ เราต้องหาทางจัดการ
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘Midlife Crisis’ หรือ ‘วิกฤตวัยกลางคน’ กันมาบ้าง และน่าจะเคยได้ยินว่าพอเข้าถึงช่วงวัยกลางคน มักจะเจอกับความเครียด ความซึมเศร้า ความผิดหวัง และความสับสนในชีวิตจนถึงขั้นวิกฤต บางคนเมื่อผ่านวัยผู้ใหญ่มาสักพักอาจจะรู้สึกว่าที่ชีวิตมันแย่ขนาดนี้เพราะฉันกำลังจะเข้าสู่ช่วง Midlife Crisis หรือเปล่า บางคนอายุเพิ่งขึ้นด้วยเลข 3 ยังไม่ถึงวัยกลางคนเลยก็รู้สึกว่าชีวิตวิกฤตแล้ว แบบนี้จะเรียก Midlife Crisis ได้ไหม แล้วถ้าเกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ จะอันตรายไหม ต้องทำอย่างไรต่อ เราจะมาหาคำตอบในบทความนี้ที่จะพูดถึง Midlife Crisis กันครับ
Midlife Crisis นั้นเป็นคำที่นักจิตวิทยาชาวแคนาดา อีเลียต ชาค คิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1965 นู่นเลยครับ แต่คำนี้ก็กลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมใช้กันแพร่หลายทั้งในแวดวงวิชาการจนถึงสื่อต่างๆ แม้แต่ในสื่อบันเทิงอย่างเช่น ละคร หรือภาพยนตร์จนเป็นคำที่ติดปากจนถึงตอนนี้ แต่ถ้าถามว่าแล้ว Midlife Crisis คืออะไรนั้น เป็นคำตอบที่แวดวงวิชาการเองก็ยังคงถกเถียงกันอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งนักจิตวิทยาบางคนถึงกับกล่าวว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีจริงๆ มันก็เหมือนกับความเครียดความทุกข์ในวัยอื่นๆ แต่จากงานวิจัยและสถิติแล้วก็ยังคงพอมีแนวโน้มได้ว่าวัยกลางคนนั้นมันนำวิกฤตครั้งใหญ่มาให้ชีวิตได้สูงทีเดียว Midlife Crisis เองจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่คิดไปเอง แต่ทำไมชีวิตมันต้องเจอกับวิกฤตเมื่อถึงวัยกลางคน
ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งที่ชอบประเมินสิ่งรอบตัวว่าดีหรือไม่ดี และแน่นอนว่า ‘ชีวิตของเราเอง’ ก็เป็นหนึ่งในการประเมินว่า ชีวิตของเรานั้นดีแค่ไหน ประสบความสำเร็จไหม มีความสุขหรือไม่ ถ้าจะให้เด็กหรือวัยรุ่นประเมินชีวิตก็คงเร็วไป เราควรจะผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชนก่อนและช่วงวัยกลางคนก็เลยเป็นเหมือน ‘ครึ่งทาง’ ที่คนเรามักจะเริ่มย้อนกลับมาประเมินชีวิตที่ผ่านมา เรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการที่พูดถึงความแตกต่างในแต่ละช่วงวัยหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีคลาสสิก ที่ชื่อว่า ‘พัฒนาการทางจิตสังคม’ (Erikson’s stages of psychosocial development) ของนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน อีริค อีริคสัน ซึ่งกล่าวไว้ว่าในแต่ละช่วงวัย คนเรามี ‘งานที่สำคัญ’ ที่ต้องทำให้ลุล่วง อย่างเช่น วัยรุ่นนั้นต้องเริ่มหาตัวตนให้เจอว่าชอบไม่ชอบอะไร เพื่อที่จะรู้ว่าควรเรียนหรือทำงานอะไรต่อ
ส่วนวัยกลางคนคือช่วงอายุราว ๆ 45-64 ปีนั้น งานของวัยนี้ คือการประเมินตนเองว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นสร้างสรรค์สิ่งอะไรไว้มากแค่ไหนเพื่อที่จะมอบแก่โลกและคนรุ่นหลังต่อไป ซึ่งหากไม่สำเร็จก็จะกลายเป็นคนที่ยังหมกมุ่นอยู่กับตนเองจนไม่ได้คิดถึงคนรุ่นหลัง ที่การมอบอะไรที่มีค่าทิ้งไว้เลย สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังจากตนเองในวัยนี้เพราะวัยต่อไปก็คือบั้นปลายชีวิตที่ต้องเตรียมลาจากแล้ว
แต่หากเราเองยังไม่เต็ม ยังรู้สึกที่ผ่านมาชีวิตไม่มีความสุข ที่ผ่านมายังประสบความสำเร็จไม่พอสำหรับตัวเองด้วยซ้ำ จะไปมอบอะไรให้ใครต่อได้ มันก็รู้สึกด้อยค่าและจะเกิดวิกฤตได้
มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาและพบว่าอายุที่มากขึ้นนั้นจะพาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นธรรมชาติของชีวิต และเหตุการณ์ไม่ดีที่จะสร้างความเครียด ความเศร้าและทำให้ชีวิตวิกฤต หลายๆ อย่างมันมักจะเกิดในช่วงวัยกลางคน หากเรามองสิ่งแรกคือร่างกาย ร่างกายของมนุษย์นั้นจะเริ่มถดถอยอย่างช้าๆ เมื่อเราเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็คือตั้งแต่อายุประมาณ 20 ปี พอถึงวัยกลางคนความถดถอยของร่างกายหลายๆ อย่างจะชัดเจนขึ้น (แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองด้วย) สังขารที่ไม่เที่ยงผนวกกับการเห็นคนล้มหายตายจากอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น ญาติผู้ใหญ่ หรือคนใกล้ตัวที่อายุมาก ก็มักจะเริ่มบ่อยขึ้นในวัยนี้ บางคนอาจจะเสียคนรุ่นปู่ย่าตายาย บางคนที่พ่อแม่อายุมากหน่อยก็อาจจะเสียพ่อหรือแม่ไป หรือบางคนก็เสียคนใกล้ตัวก่อนถึงวัยอันควรเพราะอุบัติเหตุหรือโรคร้าย ความสูญเสียเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยขึ้นเป็นธรรมดาตอนอายุมากขึ้น
ความตายที่เริ่มใกล้เข้ามาในชีวิตนั้นอาจทำให้หลายๆ คนตระหนักถึงความตายของตัวเอง และทำให้นึกถึงคุณค่าหรือความหมายของชีวิต และนั่นก็อาจจะทำให้เริ่มมีความเครียด ความวิตกขึ้นได้ และยังรวมถึงความเศร้าโศกเสียใจอีก หากสนิทหรือใกล้ชิดกับผู้ที่ล่วงลับไป
การจากไปไม่ได้มีแต่เรื่องไม่ดี เรื่องน่ายินดีก็มีแต่ก็อาจจะไม่ได้น่ายินเดียเสียทุกๆ ด้าน ใครมีลูกเร็วหน่อยก็อาจจะมีเหตุการณ์เช่น ลูกแต่งงานและออกไปตั้งครอบครัวที่อื่นซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่ความเงียบเหงา และบางครั้งก็ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่รู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าขึ้นมาเหมือนกัน โดยเฉพาะกับคนที่มีเป้าหมายที่จะมุ่งมั่นทำงานเพื่ออนาคตของลูก การที่ลูกโตแล้วออกจากบ้านไปเป้าหมายตรงนี้เลยหาย ไปด้วย ทำให้รู้สึกเหมือนสิ่งที่เป็นทิศทางหลักๆ ในชีวิตนั้นหายไป
ความเปลี่ยนแปลงที่มักจะไม่ค่อยดีที่มากับอายุของหลายๆ คนคือเรื่องหน้าที่การงานและความสำเร็จ ตอนยังวัยรุ่นนั้น เราอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องว่าตอนนั้นต้องประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ หรือมีตำแหน่งใหญ่โตอะไร เพราะชีวิตยังมีเวลาเหลืออีกมาก โอกาสยังรออยู่อีกเยอะ แต่พอเราเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน เวลาที่เหลือที่จะไล่ตามความความฝันมันก็เริ่มน้อยลง โอกาสต่างๆ ก็หายากยิ่งขึ้น การจะเปลี่ยนงานใหม่ก็ยากมากกับคนวัยนี้ ตำแหน่งสูงๆ ที่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เลื่อนก็อาจจะไม่ได้อีกแล้ว
คำถามที่ตามมากดดันในใจคือ งานที่อยากทำได้ทำหรือยัง สิ่งที่อยากเป็นได้เป็นหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ทำมาทำตอนนี้มันสายไปหรือเปล่า และถ้ามันสายไปแล้วเราจะเป็นบุคคลที่ล้มเหลวในชีวิตไหม
คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องหนักหนาที่อาจเกิดขึ้นได้พอถึงวัยนี้
เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่าคนเรานั้นมีชีวิตได้ด้วยความหวังและความฝัน แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น หลายๆ ครั้งเราจะได้พบกับประสบการณ์ที่ทำให้เรารู้ว่าโลกความจริงไม่ใช่สิ่งที่ฝันไว้เลย เราได้เรียนรู้ว่ามีสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หลายอย่างมากขึ้นไปตามอายุ และนั่นทำให้เรารู้ถึงข้อจำกัดของตัวเราเอง เช่น คนที่คิดว่าสักวันจะได้เป็นนักร้อง นักดนตรี มีผลงานที่คนรู้จักบ้าง ก็อาจจะพบว่าการจะแจ้งเกิดในแวดวงนี้มันหินมากจนมีคนมากมายที่ล้มเหลวและถอดใจไป คนที่สมัยเด็กๆ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งเรียนก็จะยิ่งรู้ว่าการจะสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในวงการเหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่เราอ่านในหนังสือนั้นมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยกับเรา การที่ต้องรู้ถึงข้อจำกัดเหล่านี้ วัยกลางคนนั้นอาจจะเรียกได้ว่าวัยที่เรา ‘ตื่นจากภาพลวงตา’ ได้ชัดที่สุดเพราะเจอกับอะไรมามากพอตัวแล้ว และการต้องละทิ้งความฝันและต้องยอมรับความจริงนี้ก็สร้างความหดหู่ ความเศร้ามาได้เหมือนกัน
ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่ความฝันของคนเราบางครั้งคือเรื่องของคนรอบตัว การมีความรักที่สวยงาม การมีครอบครัวที่อบอุ่น การมีลูกที่เชื่อฟังและประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นความหวังที่บางคนไม่อาจคว้ามาได้ พอถึงวัยกลางคนแล้ว หลายคนน่าจะชัดเจนกับตัวเองแล้วว่า อาจจะไม่ได้แต่งงานแล้วในชีวิตนี้ คนที่ยังไม่มีลูกก็คงมีไม่ทันแล้วเพราะร่างกายไม่เอื้อ หรือบางคนมีครอบครัวพร้อมแต่คนรักที่อยู่กันมานานก็ระหองระแหงมีปากมีเสียงประจำ ลูกๆ ก็ไม่ได้เดินตามทางที่เราอยากให้เขาเดินเลย ความชัดเจนว่าไม่มีทางได้สิ่งที่ฝันไว้อีกแล้วเลยนำมาสู่วิกฤตทางความรู้สึกของเราได้
บางทีปัญหานั้นไม่ได้ใหญ่โตกับคนนั้นเท่าไร แต่มีสิ่งที่มากดดันให้รู้สึกแย่กับตนเองที่หนีไม่พ้นคือสังคมรอบตัว แน่นอนว่าในสังคมนั้นมีทั้งคนที่ผิดหวังและสมหวัง สำเร็จและล้มเหลว คนที่ล้มเหลวหลายคนไม่ได้หมายความว่ามีชีวิตต่อไปไม่ได้ แต่ก็ทำงานที่ไม่ได้ชอบนักและตำแหน่งไม่ได้สูง ไม่ได้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีแต่ก็พอเลี้ยงตัวเองได้ ครอบครัวไม่ได้อบอุ่นแต่ก็ไม่ถึงขั้นไม่เผาผี ซึ่งถ้าไม่ได้เทียบกับใครมันก็พอยอมรับได้ แต่สังคมมักจะมีแบบแผนชีวิตตายตัวของ ‘คนที่ประสบความสำเร็จ’ ที่กรอกหูเราตลอดเวลา ทั้งทางสื่อ ทางการพูดคุยกับคนอื่นๆ ทั้งเพื่อน ทั้งญาติ ทั้งป้าข้างบ้าน และวัยกลางคนนั้นมักจะมีความคาดหวังอันหนักหน่วงที่สังคมคิดว่าควรจะมี ไม่ว่าจะเป็นควรมีตำแหน่งการเงินที่ดี ต้องแต่งงาน ต้องมีลูก วัยนี้ต้องมีแพสซีฟอินคัม ต้องมีหลักประกันชีวิตบั้นปลาย และสิ่งอื่นๆ สารพัด
การไม่มี หรือมีแต่ไม่ดีในด้านเหล่านี้ ก็กดดันตัวเองว่าไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จ ยังรู้สึกขาด รู้สึกไม่พอ และนั่นก็สร้างความทุกข์มาให้
จนถึงตอนนี้เราคงเห็นแล้วว่าชีวิตที่เข้าสู่วัยกลางคนนั้น มันมักจะพาเรื่องเครียดๆ มามากมายจนทำให้เกิดวิกฤตได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยก็พบว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องเกิดวิกฤตในวัยกลางคน เหตุการณ์บางอย่างทำให้คนหนึ่งเกิดวิกฤต แต่กับบางคนก็ไม่ และบางครั้งเหตุการณ์ที่มากระตุ้นให้เกิดวิกฤตมันก็มาไม่ตรงเวลาของมัน บางคนอาจจะต้องพบกับการสูญเสียคนใกล้ตัวไวกว่าปกติเพราะโรคร้าย บางคนก็ต้องเจอกับวิกฤตทางการงานที่ไม่มีทางไปต่อตั้งแต่อายุ 30 อย่างคนที่เป็นนักกีฬา ดารา หรืออาชีพที่จำกัดด้านอายุ ความรู้สึกล้มเหลวในชีวิต การงาน ครอบครัวนั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างไปตามคน บางคนโชคดีหน่อยตรงอาจจะไม่เจอบางเรื่อง หรือบางคนโชคร้ายหน่อยเกิดทุกเรื่องพร้อมกัน หรือบางคนโชคร้ายที่เกิดเรื่องแต่ว่าใจเข้มแข็งพอเลยรับไหวก็เลยไม่รู้สึกวิกฤต
ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องเจอวิกฤตในชีวิตเสมอไป และไม่จำเป็นต้องเกิดในวัยกลางคนแต่เป็นวัยอื่นก็ได้
และคนเรานั้นมีแนวทางจัดการกับปัญหาและความเครียดแตกต่างกัน คนที่จัดการได้ดีกว่า ก็อาจจะเครียดน้อยกว่า คนที่อ่อนไหวกว่าก็อาจจะเกิดวิกฤตได้ง่ายกว่า บุคลิกภาพหรือความแตกต่างระหว่างบุคคลในการรับความเครียดได้มากน้อยก็ต่างกันไปอีกด้วย
ผมเล่าถึงเรื่องไม่ดีที่มาพร้อมอายุมาเยอะ แต่อายุที่เยอะขึ้นก็ไม่ได้นำมาแต่เรื่องร้ายๆ และอย่างที่บอกว่าไม่ได้นำวิกฤตมาให้ทุกคน จากงานวิจัยก็พบว่าช่วงวัยกลางคนนั้นก็มีแง่มุมที่ทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นวัยที่มีความสุขที่สุดได้เหมือนกัน เพราะพอถึงวัยกลางคน แล้วบางคนเริ่มมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ตอนนี้อยากซื้ออะไรที่อยากได้ก็มีโอกาสมากขึ้น ไม่ต้องจำกัดจำเขี่ยเหมือนวัยรุ่น ในเรื่องการงานความสามารถ ก็ถือว่าเป็นวัยที่มีประสบการณ์ มีทักษะจากการทำงานมานาน ทำให้มีความมั่นใจในตนเองเรื่องนี้มากขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนอายุที่มากขึ้นกับบางคนนั้นทำให้เกิดความทุกข์ แต่กับบางคนกลับทำให้ชีวิตดีขึ้นด้วยซ้ำ อย่างการที่ลูกแต่งงานออกจากบ้านไป พ่อแม่บางคนก็รู้สึกว่าถึงเวลาที่ฉันจะหาความสุขใส่ตัวเอง ได้ทำสิ่งที่ชอบเสียทีเพราะไม่ต้องห่วงเรื่องลูกแล้ว
คำถามที่ยังค้างอยู่คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าหากเราทุกข์ใจ เครียด วิตก ซึมเศร้าอยู่ตอนนี้มันเป็นเพราะ Midlife Crisis หรือเปล่า คำตอบคือไม่ต้องแยกหรอกครับว่าความทุกข์ตอนนี้จะเรียกว่า Midlife Crisis หรือไม่ อย่างที่บอกคือวิกฤตนั้นเกิดเพราะมีเหตุการณ์ไม่ดีมากระตุ้น ซึ่งการจะเกิดวัยไหนบางครั้งก็แล้วแต่คน เพียงแต่วัยกลางคนมีโอกาสที่เหตุการณ์นั้นจะเข้ามาง่ายกว่าวัยอื่น แต่กับเราจะเข้ามาเร็วกว่าปกติ หรือช้ากว่าปกติก็ไม่แปลก หรือเข้ามาแต่ไม่เกิดวิกฤตก็ได้ หรือไม่มีอะไรหนักหนามากแต่ชีวิตวิกฤตก็เป็นไปได้เหมือนกัน
สิ่งสำคัญคือถ้ารู้สึกว่าชีวิตเกิดวิกฤตทางอารมณ์ทางจิตใจ เราต้องหาทางจัดการ หรือถ้าเราอยู่วัยกลางคนแล้วเกิดวิกฤตและรับมือไม่ไหว ก็อย่าคิดว่าเดี๋ยวมันจะหายไปเองตามอายุ ไม่ได้แปลว่าพอพ้นจาก Midlife แล้ว Crisis จะหายไป จะเกิดรู้สึกทุกข์จนวิกฤตตอนไหนวัยไหน หากมันกระทบต่อชีวิต สุขภาพ ความสัมพันธ์ หรือการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือใครก็ตามที่เรารู้สึกว่าช่วยเหลือเราทางเรื่องสุขภาพจิตได้ อย่าปล่อยให้เรื้อรังเพราะหากมันมากจนกลายเป็นอาการที่หนักขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า การรักษาอาจจะยิ่งต้องใช้เวลานานขึ้น และผลเสียต่อสุขภาพกายและใจบางครั้งมันกู้คืนมาไม่ได้ครับ
สิ่งสุดท้ายที่หลายๆ คนน่าจะอยากรู้คือ แล้วมีทางป้องกันไม่ให้เจอกับ Midlife Crisis ไหม เรื่องนี้ก็เหมือนความทุกข์อื่นๆ คือยากที่จะป้องกัน 100 เปอร์เซ็นต์ คงน้อยคนมากที่เกิดมาแล้วไม่ต้องเจอเหตุการณ์ที่หนักหนาเลย แต่ความเข้าใจก็อาจช่วยบรรเทาไม่ให้ความทุกข์มาสร้างวิกฤตได้บ้าง Midlife Crisis นั้นสิ่งหลักๆ ที่ทำให้มันทำให้คนรู้สึกแย่ เพราะความรู้สึกไม่สำเร็จ ไม่ได้ในสิ่งที่หวัง ที่ฝัน ซึ่งบางครั้งเราต้องทำความเข้าใจว่า
ความทุกข์จากความรู้สึกว่าพลาดอะไรไปนั้น เกิดขึ้นเพราะเราคิดว่า “ถ้าเราไม่มีสิ่งนี้ เราจะไม่มีความสุข” ซึ่งในหลายๆ ครั้ง คนเรามักจะนึกว่าได้สิ่งอะไรมาแล้วจะมีผลกับชีวิตมากเกินจริง
คนเราชอบคิดว่าการได้เลื่อนขั้น การได้แต่งงาน การได้มีลูก จะสร้างความสุขล้นเหลือ แบบอิ่มเอมไปจนวันตาย แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เราอยากได้ โหยหา พอได้มาจริงๆ มันไม่ได้ทำให้มีความสุขหรือเต็มอิ่มนานเท่าที่คาดหวัง ได้มาก็เป็นเรื่องดี แต่แน่นอนว่าถ้าไม่ได้ มันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตแย่ลงมากหรือบางทีก็ไม่ได้ทำชีวิตแย่ลงเลย ความทุกข์มันมาจากการประเมินของเราเองมากกว่า ว่าเรา ‘ล้มเหลว’ ‘พลาด’ ‘ไม่มี’ ซึ่งถ้าหากพยายามมองในแต่ละวันแล้ว จริงๆ อาจไม่มีอะไรเลวร้ายแบบที่คิด
ความคาดหวังที่สังคมพร่ำบอกนั้น มักจะทำให้เรายึดติดว่าชีวิตที่มีความสุขนั้นต้องได้อะไร มีอะไร สำเร็จอะไร แต่ในความเป็นจริง ความสุขของคนเกิดจากสิ่งหลากหลายรูปแบบ การที่เราไม่มีในแบบที่สังคมคาดหวัง ไม่ได้แปลว่าเราไม่สำเร็จหรือไม่มีความสุข และบางคนตั้งเป้าหมายตามสังคมบอกอย่างเดียว แต่ไม่เคยสนใจความรู้สึกลึกๆ ของตนเองเลยว่าอยากได้อะไร สุดท้ายพอได้มากลับรู้สึกว่าไม่มีความสุข และยิ่งรู้สึกหลงทาง
นอกจากนี้อย่าลืมว่าใจกับกายเชื่อมกันเสมอ ใจอ่อนแอกายก็อ่อนแอตาม กายอ่อนแอใจก็อ่อนแอตาม อายุเพิ่มขึ้น ร่างกายก็ถดถอยลง ทำให้เราเหนื่อยง่ายกว่าเดิม รู้สึกลำบากในการทำอะไรมากขึ้น เวลาเจอปัญหามันก็ยิ่งเหนื่อยยิ่งหนักขึ้น แต่อย่าลืมว่าเราก็ชะลอความถดถอยนั้นได้บ้าง หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่เหมาะสม ดูแลตัวเองให้สุขภาพดี หรือใครที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วก็อย่าเพิ่งถอดใจ ดูแลตัวเองให้ดีไว้ ร่างกายเราอาจจะไม่ได้อยู่ในภาวะที่ดีเท่าคนอื่น แต่ก็ขอให้อยู่ในแบบที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้วกันครับ ใจในร่างกายแข็งแรงที่แข็งแรงกว่ามักจะมีแรงสู้มากกว่าอยู่ในร่างกายที่อ่อนแอกว่า
เหตุการณ์เลวร้ายที่เข้ามานั้น แน่นอนว่าคงไม่ทำให้เรารู้สึกดี แต่ไม่ใช่ว่ามีแต่ข้อเสีย ความวิกฤตของชีวิตทำให้เราได้รับ ‘ความเฉลียวฉลาดแบบผู้ใหญ่’
การจะเป็นคนที่เติบโตอย่างสมบูรณ์เต็มที่ คือได้รับรู้ประสบการณ์ทั้งดีทั้งร้ายมามาก และผ่านพ้นมันมาได้
ภาษาอังกฤษมีคำว่า ‘wisdom’ ที่ไม่ได้หมายถึงความฉลาดแบบรู้เยอะ เรียนเก่ง ทำเรื่องยากๆ ได้ แต่เป็นความฉลาดจากวุฒิภาวะรู้ว่า ‘โลกความจริง’ คืออะไร เช่น การรู้ว่า ชีวิตคนเราไม่ได้ทุกอย่างที่เราต้องการทั้งหมด ไม่มีสูตรสำเร็จของความสุข อย่างเช่น การแต่งงาน การได้ยอมรับถึงความสูญเสีย ความผิดพลาด และทำให้ตนเองรับมือไหวกับปัญหาแบบเดียวกันในอนาคต wisdom ล้วนแต่จะเกิดขึ้นหากมีประสบการณ์เท่านั้น และทำให้คนที่ผ่านมาแล้วเป็น ‘ผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ซึ่งเข้าใจโลกและเป็นที่พึ่งของคนรุ่นหลังได้หากมีโอกาส
เอกสารอ้างอิง
Aldwin, C. M., & Levenson, M. R. (2001). Stress, coping, and health at mid-life. The handbook of midlife development, 188-214.
Brim Jr, O. G. (1976). Theories of the male mid-life crisis. The Counseling Psychologist, 6(1), 2-9.
Freund, A. M., & Ritter, J. O. (2009). Midlife crisis: A debate. Gerontology, 55(5), 582-591.