- ทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัย ผ่านการทำงานของนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่กระตุ้นพัฒนาการเด็กหลังจากแพทย์วินิจฉัยว่ามีพัฒนาการล่าช้า มีภาวะออทิสติก หรือมีภาวะอื่นๆ ทางด้านกุมารเวชกรรม
- ในแต่ละช่วงวัย หากเด็กขาดโอกาสที่จะการได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม อาจส่งผลต่อพัฒนาการที่ล่าช้า โดยเฉพาะด้านการพูด ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจ
- ช่วงอันตรายคือ 2-4 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กต้องเรียนรู้เรื่องพัฒนาการทางอารมณ์ของตนเอง ถ้าอารมณ์ตัวเองยังไม่สามารถบอกได้ เช่น โกรธ สนุก ตื่นเต้น เศร้า หรือน้อยใจ พอโตขึ้นเกิดอารมณ์เหล่านี้เขาอาจมีพฤติกรรมแบบสุดโต่ง ไม่รู้ว่าจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร เป็นจุดบอดของพัฒนาการทางด้านอารมณ์
“เราเป็นนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย หน้าที่ของเราคือเมื่อหมอเด็กตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้า มีภาวะออทิสติก หรือมีภาวะอื่นๆ ทางด้านกุมารเวชกรรม ในทางกระตุ้นพัฒนาการหรือการฝึกพูดหรือการปรับพฤติกรรมเป็นหน้าที่ของเราในการดูแลต่อ” พรินทร์ อัศเรศรังสรร หรือ ปิ๊ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สื่อความหมาย เจ้าของเพจหมีน้อยกระตุ้นพัฒนาการฝึกพูด เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการแนะนำหน้าที่ที่เธอรับผิดชอบเกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ก่อนจะลงรายละเอียดถึงการเป็น ‘นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย’ ว่าวิชาชีพนี้ เป็นผลผลิตจากคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพียงแห่งเดียวเท่านั้น และผลิตได้เพียงปีละ 10-20 คน ซึ่งยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการนัก
“พอจบจากรามาธิบดี ตอนนั้นก็ทำงานอยู่ตามโรงพยาบาลรัฐ เพราะเราอยากจะรู้ว่าแต่ละเคสไม่ว่าจะยากดีมีจนปัญหาของเขาคืออะไร และด้วยความตั้งใจของเราคืออยากจะให้วิชาชีพนี้หรือเทคนิคการฝึกพูดนี้ให้มันเป็นที่แพร่หลาย เพื่อช่วยพ่อแม่ในเรื่องของการกระตุ้นพัฒนาตามวัยอย่างเหมาะสม ก็เลยทำเพจขึ้นมาด้วยเพื่อเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลเกี่ยวกันการฝึกพูด กระตุ้นพัฒนาการต่างๆ”
พัฒนาการที่ล่าช้า พ่อแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สื่อความหมาย และเจ้าของเพจที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก เธอเล่าว่า ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่มาปรึกษาจะเป็นปัญหาในเรื่องของพัฒนาการล่าช้าในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะเรื่องของการพูด
“อาการที่เขาจะพามาก็คือ 2 ขวบแล้วยังไม่พูดสักที หรือลูกพูดออกมาแล้วเป็นภาษาการ์ตูน ไม่ใช่ภาษาที่ใช้สื่อสาร นี่คืออันดับหนึ่ง ต่อมาก็จะเป็นกลุ่มพูดแล้วนะ แต่ว่ามีพัฒนาทางอารมณ์ที่พ่อแม่จัดการไม่ได้และไม่สมวัย เขาก็จะอยากได้วิธีการจะจัดการว่า ต้องทำยังไงเวลาที่ลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ แล้วก็จะมีกลุ่มพูดไม่ชัด ดูเก่งทุกอย่าง ทำได้หมดเลย พัฒนาการสมวัย แต่ว่าพูดไม่ชัด เราก็จะดูแลปัญหาเหล่านี้”
สำหรับคำแนะนำนั้น หากเป็นกลุ่มพัฒนาการล่าช้า ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น ขาดการกระตุ้น พ่อแม่ผู้รู้ใจแค่ลูกมองตาก็หยิบของเล่นให้เลย หรือเพียงลูกชี้นิ้วก็ตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการโดยที่ตัวเด็กไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ
“หลังจากที่ทำการประเมินพัฒนาการเรียบร้อยแล้ว ก็พบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องของการพูดช้าที่เขาขาดความเข้าใจว่าเขาจะต้องพูด ก็ให้พ่อแม่เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูอาจจะใส่คำศัพท์ก่อน เพื่อให้เด็กเขารู้ว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร เช่น บอล ตุ๊กตา ขนม มันมีคำศัพท์ที่แทนของสิ่งนี้
เวลาเขาอยากได้อะไรอย่าเพิ่งให้เขาเลย ให้เขาพูดหรือพยายามทำปากที่จะพูด ตรงนี้ให้พ่อแม่ใจแข็งนิดนึง นอกจากใส่คำศัพท์แล้วมันยังฝึกเรื่องของการรอคอยด้วย เพราะเด็กที่รอเป็นเขาก็จะมีทักษะทางด้านสังคม เช่น การยับยั้งชั่งใจที่ดีขึ้นในอนาคตด้วย”
“แต่ถ้าเป็นเด็กที่พัฒนาการล่าช้าจากออทิสติก เราก็จะต้องฝึกจากพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ เพราะออทิสติกเขาจะไม่มีทักษะทางด้านสังคม อารมณ์ และภาษา ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เราก็ให้ความรู้คุณพ่อคุณแม่ก่อนว่าที่เราทำอยู่มันดีแล้วนะ แต่มันจะดีขึ้นอีกได้ยังไงบ้าง”
กระตุ้นพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสมให้กับเด็กๆ
ตามหลักการของการกระตุ้นพัฒนาการนั้น พัฒนาการของเด็กเริ่มต้นตั้งแต่ 0 ขวบ ในช่วง 0-3 เดือนแรก จะเป็นพัฒนาการทางด้านร่างกายเสียส่วนใหญ่ เช่น การกิน การนอน การร้องไห้ การหายใจ การเคลื่อนไหว หลังจากนั้นเมื่ออายุ 6 เดือน เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้โดยการเลียนแบบ การกระตุ้นพัฒนาการจะเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป
“พัฒนาการที่ควรจะกระตุ้นนั้น อย่างปิ๊กเองทำเรื่องของภาษาและการพูด เราก็จะเริ่ม tracking เด็กเลยตั้งแต่ 3 เดือน เด็กมีเสียงในลำคอรึยัง เช่น เสียงอือ อา 6 เดือนเด็กเริ่มทำเสียงริมฝีปากได้รึยัง เพราะว่า 6 เดือนเด็กเขาจะเริ่มเลียนแบบที่ริมฝีปาก เช่น ป๊ะๆ ม๊ะๆ บ๊ะๆ เริ่มเม้มปากแล้วก็ทำเสียงได้ พอ 9 เดือนเด็กเขาจะเริ่มเล่นเสียงหลายๆ พยางค์ต่อกัน เช่น มะม๊ะ ปะป๊ะ อาจจะไม่มีความหมายแต่เป็นเสียงภาษาเด็ก”
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 1 ขวบแล้ว สิ่งพ่อแม่ควรจะต้องเริ่มใส่ใจก็คือ เด็กควรจะพูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย 1 พยางค์ เช่น มา ไป แม่ พ่อ เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มรับรู้ความเป็นไปเป็นมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และมักจะเริ่มเลียนแบบตามนั้น
“ในเด็ก 1 ขวบ บางรายอาจจะมีปัญหาเรื่องการพูดช้าบ้าง แต่ถ้า 1 ขวบ 6 เดือนแล้วยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้ พ่อแม่ควรจะพาลูกมาที่คลินิกพัฒนาการเด็กต่างๆ เพื่อดูว่ามีอะไรที่พอจะส่งเสริมพัฒนาการได้บ้าง”
“ลักษณะการกระตุ้นพัฒนาการก็จะดูจากโรคที่เป็นและอาการที่ปรากฏ เช่น ถ้าเป็นเด็กปกติที่มีปัญหาเรื่องของการพูดช้า ก็จะต้องส่งเสริมด้วยการใส่เงื่อนไข ใส่ภาษา เพิ่มเรื่องของการเล่น แล้วก็ใส่คำศัพท์ แต่ถ้าเป็นเด็กที่พัฒนาการล่าช้าโดย Neuroticle development ก็คือระบบประสาท อาจจะมีอย่างอื่น เช่น สมองพิการ ออทิสติก หรือมีความเสี่ยงในเรื่องสมาธิสั้น หรือมีคุณพ่อคุณแม่ที่ใช้สารเสพติด อันนี้ก็เจอเยอะ ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกโดยตรง มีคุณพ่อสูบบุหรี่เยอะๆ ลูกออกมาก็จะพัฒนาการล่าช้า แล้วมันมีผลต่อการเรียนรู้และสติปัญญาด้วย”
เด็กส่วนใหญ่ที่เข้ารับการกระตุ้นพัฒนาการจะมาด้วยอาการ Hyperactive คือไม่จดจ่อ พลังงานล้น ไม่มองหน้าสบตา รวมถึงไม่พูดสื่อสารบอกความต้องการ และจะมาด้วยอารมณ์รุนแรง เช่น อยากได้อะไรร้องไห้ทันที ก็จะกลายเป็นเด็กซน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็จะบอกว่า เดี๋ยวโตขึ้นเขาก็จะดีขึ้นไหม ถ้าเขามีสาเหตุมาจากระบบประสาทหรือสมองมีการทำงานที่ไม่สมวัย ผิดปกติ เมื่อโตขึ้นอาการจะยิ่งแย่ลงถ้าไม่รีบแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อความหมายย้ำว่า เด็กซนก็คือเด็กซน เป็นเด็กไฮเปอร์แอคทิวิตี้ (Hyperactivity) ไม่ใช่ว่าเด็กซนทุกคนคือเด็กฉลาด เด็กบางคนเขาก็ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ เราต้องสอนเรื่องกติกา
“เด็กซนกับเด็กฉลาดคือคนละคนกัน เด็กฉลาดบางคนอาจจะซนได้ แต่เด็กซนไม่ใช่ทุกคนที่จะฉลาด เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่เห็นลูกซนอย่าเพิ่งดีใจไป เราต้องดูเรื่องพัฒนาการองค์รวมด้วย”
“ต่อมาช่วงประมาณขวบครึ่ง เด็กส่วนใหญ่ที่เราควรจะระวัง เช่น การไม่ทำตามคำบอก เด็ก 1 ขวบส่วนใหญ่เขาจะเริ่มเลียนแบบ แล้วก็ทำตามได้แล้ว พอขวบครึ่งเขาจะเริ่มทำตามคำบอก เช่น จับหู จับจมูก หรือว่าไปทิ้งขยะ หรือว่าชี้ตรงนั้นตรงนี้ ถ้าเด็กขวบครึ่งทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เราก็อาจจะสอนผ่านกิจกรรม เช่น เล่นกับเขาเยอะๆ แล้วก็ทำให้เขาเลียนแบบ เช่น แม่ชี้ไปที่ตรงนั้น (ถังขยะ) คือให้เอาไปทิ้งขยะ แล้วแม่พาทำ ทุกๆ ครั้งที่พาทำมันจะเกิดระบบการเรียนรู้ แล้วมันก็จะอินซิงค์เข้าไปในสมอง”
1 ขวบ 1 พยางค์, 2 ขวบ 2 พยางค์
ช่วง 2-4 ขวบ เน้นเรื่องการพูด โดยยึดหลักที่ว่า หนึ่งขวบหนึ่งพยางค์ สองขวบต้องต่อกันเป็นสองพยางค์ได้ เช่น แม่มา กินหนม(ขนม) สิ่งนี้บอกถึงลักษณะการเชื่อมต่อข้อมูลในสมองของเด็ก เด็กรับรู้มากขึ้นก็จะเริ่มพูดเป็นสองพยางค์ พอ 3 ขวบ ก็จะต้องอัพสกิลการพูดมากขึ้น ควรจะพูดได้ 3-4 พยางค์ต่อกัน ซึ่งเด็กบางคนจะพัฒนาไปเร็วมากในช่วงนี้ สามารถพูดเป็นประโยคได้เลย
และในกรณีเด็ก 4 ขวบ ที่สมองในเรื่องของเหตุผลหรือการเชื่อมโยงเริ่มมีมากขึ้น เด็กจะเริ่มพูดเป็นประโยคที่เชื่อมต่อกัน เช่น หิวจังเลย กินหนมหน่อย มีเหตุมีผลเล็กๆ หรือว่าการควบคุมการขับถ่ายเองได้ การบอกอึ บอกฉี่ได้ หรือถ้าเป็นเรื่องของทักษะสังคม ก็คือการเล่นร่วมกับคนอื่นได้
“พอโตขึ้นมาหน่อย ช่วงวัน 5-7 ขวบ เราจะเรียกว่าเป็นเด็กโตแล้ว ควรจะมีสิ่งที่เรียกว่าความคิดในเชิงนามธรรม เพราะว่าเด็กเล็กอย่างนี้ เขาคิดในเฉพาะรูปธรรมเท่านั้น มองเห็นอะไรเขาก็จะเชื่อมโยงอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นนามธรรมของเด็กเช่น 5 ขวบ ถึง 7 ขวบ ก็จะเริ่มเข้าใจถึงเรื่องความดี ความชั่ว นี่คือสิ่งที่ดีที่ควรทำ ทำสิ่งนี้แล้วคนอื่นจะดีใจหรือเสียใจ ก็จะเป็นทักษะสังคมหนึ่ง
เราเรียกว่า theory of mind หรือการรู้ถึงอารมณ์ของคนอื่น การเข้าใจสถานการณ์ของบุคคลอื่น เช่น ถ้าพูดอย่างนี้ไปแล้วเพื่อนจะเสียใจ ถ้าทำบางอย่างไปแม่จะโกรธ แล้วเขาก็จะเริ่มมีตัวตนที่ชัดเจนขึ้น เช่น ถ้าพ่อแม่บอกว่าหนูเป็นเด็กดื้อ เขาก็จะคิดว่าตัวเอง Self-Image ก็คือเป็นเด็กดื้อ เขาก็จะทำในสิ่งที่เด็กดื้อทำ ดังนั้นการกระตุ้นพัฒนาการกับการใส่ตัวตน มันต้องทำไปพร้อมๆ กัน”
ปล่อยให้เด็กเติบโตตามธรรมชาติ อาจขาดโอกาสในกระตุ้นพัฒนาการที่สำคัญไป
มีคำพูดของพ่อแม่ ผู้ปครอง หรือปู่ย่าตายายที่เลี้ยงหลานบางคนจะบอกว่า “ก็เลี้ยงไปตามมีตามเกิดนั่นแหละ” ซึ่งการเลี้ยงเด็กโดยปล่อยให้เขาเติบโตตามธรรมชาติอย่างนั้น อาจทำให้เด็กขาดโอกาสในการได้รับการกระตุ้นพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสม
“นี่เป็นกลุ่มใหญที่สุดเลยที่มาเจอกัน ถ้าจะเปรียบเทียบทางสถิติคือ 60-80 เปอร์เซ็นต์เลยนะแต่ละปี เพราะว่าเด็กที่มาด้วยพ่อแม่ ผู้ปกครองคิดว่า การเลี้ยงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเด็กจะเจริญเติบโตเองได้ แต่เขาเรียกว่าขาดโอกาสในการกระตุ้นด้านคุณภาพ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่มาถึงเรื่องการฝึกพูดล่าช้าเลยด้วยซ้ำ”
“ถ้าเขาเป็นเด็กที่พัฒนาการปกติ เขาก็จะเติบโตมาพร้อมกับสิ่งเร้าต่างๆ ถ้าสิ่งแวดล้อมดีเขาก็จะเรียนรู้ได้ดี แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่มีการกระตุ้นเลย เขาก็จะขาดโอกาส (ในการได้กระตุ้นพัฒนาการ) ไป เช่น แต่ละวัยควรทำอย่างนี้ได้ไหม แต่ถ้าทำไม่ได้ แล้วเพื่อนๆ วัยเดียวกันทำได้ เขาก็จะเกิดความรู้สึกว่า ฉันไม่เก่งเท่าเพื่อน ขาดความมั่นใจในตัวเอง ส่งผลกระทบต่อทักษะสังคม แต่ก็ขึ้นอยู่กับในเรื่องของแต่ละวัยด้วย”
“อย่างวัยนี้ (5-7 ขวบ) ควรใส่ทักษะในเรื่องของอารมณ์ ทักษะเรื่องของ theory of mind แต่เขาไม่เคยถูกปลูกฝังมาก่อน พอไปอยู่ในสังคมจริง ในวัยผู้ใหญ่ เขาก็จะขาดการเข้าอกเข้าใจในความคิดของคนอื่น
การไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสม มันไม่ได้ทำให้ตาย หรือไม่ตาย แต่มันส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดำเนินชีวิต”
ถามว่าถ้าเด็ก 1-3 ขวบ แต่ยังไม่พูด แล้วพ่อแม่ยังใจเย็นบอกว่าเป็นไรเดี๋ยว 4 ขวบ ก็คงจะพูดเอง สิ่งนี้น่ากังวลหรือไม่ คำตอบคือยิ่งปล่อยไว้ยิ่งอันตราย เพราะว่าช่วง 1 ขวบ เขาต้องสะสมคำศัพท์ เด็กที่เริ่มพูดสมวัยส่วนใหญ่จะพูดชัด เด็กที่พูดไม่ชัดเลยในวัยที่โตขึ้น อาจจะเกิดจากที่เขาเริ่มพูดช้า หรืออาจมีปัญหาเรื่องการขยับกล้ามเนื้อรูปปาก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการฝึกเลยแล้วมาฝึกตอนโตก็จะยิ่งลำบาก
“แล้วไม่กระตุ้นได้ไหม ป.1 เข้าโรงเรียน เดี๋ยวก็ไปเรียนรู้กับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมาก เพราะว่าเด็กต้องโตมาอย่างมีคุณภาพในครอบครัวก่อน เขาต้องได้รับสิ่งเหล่านี้ในครอบครัว เพราะว่าเขาไปเข้าโรงเรียน ไปเจอเพื่อนในสังคม มันก็เป็นสนามทดสอบอีกสนามหนึ่ง ก่อนที่เขาจะไปเรียนรู้กับเพื่อน เขาก็ต้องเรียนรู้กับคนในครอบครัวเขาก่อน ครอบครัวเป็นยูนิตที่สำคัญ บางบ้านบอกปล่อยร้องไห้ไปเถอะ เดี๋ยวสักพักอยากได้จริงๆ พูดเอง ไม่ใช่ ต้องใส่คำศัพท์ด้วย”
ช่วงอันตรายคือ ช่วง terrible 2-4 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กต้องเรียนรู้เรื่องพัฒนาการทางอารมณ์ของตนเอง ถ้าอารมณ์ตัวเองยังไม่สามารถบอกได้ เช่น โกรธ สนุก ตื่นเต้น เศร้า หรือน้อยใจ พอโตขึ้นเขาเกิดอารมณ์เหล่านี้เขาอาจมีพฤติกรรมแบบสุดโต่ง เช่น พอโกรธเพื่อนแล้วโยนข้าวของ เสียใจร้องไห้แล้วก็อยู่กับตัวเอง ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร เป็นจุดบอดของพัฒนาการทางด้านอารมณ์
‘กัญชาเสรี’ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในเด็กมากกว่าที่คิด
ช่วงที่ผ่านมาประเด็นเรื่องกัญชาเสรีเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก โดยเฉพาะผลกระทบในเด็ก ในมุมของคนที่ทำงานด้านพัฒนาการเด็กมองว่า ตอนนี้กัญชาที่ทำได้คือ กัญชาเพื่อการแพทย์และการวิจัย ซึ่งเขามีการพิสูจน์ว่า การใช้สารสกัดจากกัญชา Cannabidiol: CBD ในการรักษาโรคของกลุ่มลมชักที่ดื้อยาใช้ได้จริง แต่ก็ต้องดูเรื่องของการสกัด อย่างกลุ่มออทิสติกเขาก็ใช้
แล้วกัญชาส่งผลกระทบต่อเด็กด้านไหนอย่างไรบ้าง?
ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สื่อความหมายอธิบายว่า ถ้าเป็นกัญชาที่ใช้สันทนาการที่มีสาร Tetrahydrocannabinol: THC มีการศึกษาคุณแม่ที่ใช้กัญชาตั้งแต่ยังตั้งครรภ์ พบว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวอ่อนในครรภ์ก็คือ ‘เด็ก’
“หลักๆ ก็คือเรื่องของการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย น้ำหนักตัวน้อยมีความเสี่ยงในเรื่องของการเจริญเติบโตของสมอง โดยเฉพาะถ้าเด็กเล็ก 1 ขวบถึง 2 ขวบ ถ้าได้รับกัญชาเข้าไปก็จะมีผลในเรื่องของไฮเปอร์แอคทิวิตี้หรือความซนที่มากเกินไป ซนมากผิดปกติ ดูเหมือนไม่มีสมาธิ แล้วก็รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา จนไม่สามารถโฟกัสสิ่งต่างๆ ได้ ก็จะเกี่ยวกับเรื่องของความวิตกกังวลด้วย”
สาร THC ในกัญชา จะส่งผ่านจากแม่ไปยังลูกผ่าน ‘รก’ สารเหล่านี้มีการทำงานโดยตรงกับสมองและระบบประสาท คุณแม่กิน คุณแม่ใช้อาจจะไม่เป็นไรนัก เพราะโครงสร้างของสมองมีความหนาแน่น มีเซลล์สมองมากพอ รวมถึงมีการเชื่อมโยงของระบบประสาทที่ดีพอ
“เด็กในครรภ์เขากำลังสร้างระบบประสาทใหม่ขึ้นมา ก็เหมือนสร้างบ้านหลังใหม่ที่ยังไม่มีความแข็งแรง พอเจอสารเคมีเหล่านี้ การทำงานในสมองก็เกิดการสับสนแทนที่มันจะเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างดี แต่กลับกลายเป็นว่ามีสารเคมีเข้ามา สมองของเด็กกลุ่มนี้ที่จะเกิดการพัฒนาการที่ล่าช้า พอสมองล่าช้า feedback ในสมองเติบโตช้าและมันเติบโตน้อยลงกว่าปกติ พอโตขึ้นมา การเรียนรู้มันก็เหมือนหน้าต่างที่มันมีน้อยก็ไม่สามารถรับรู้อะไรได้มากขึ้น”
นอกจากนี้สารเคมีจากกัญชายังส่งต่อผ่านทางน้ำนมได้ด้วย เพราะฉะนั้นสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตรเป็นกลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มหนึ่ง
“การศึกษาในอเมริกาจากที่อ่านมา เด็กที่ได้รับกัญชาอายุต่ำกว่า 2 ปีส่วนใหญ่จะได้รับกัญชามาจากบุคคลในบ้านถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เขาได้รับจากนมมารดา จากการที่คนรอบข้างสูบหรือว่าส่วนที่ผสมในอาหาร เรียกว่า Second hand cannabis ก็คือเหมือน second hand smoker เลย มันส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจยิงไปสู่ระบบประสาท คือมีการศึกษาชัดเจนว่าได้รับกัญชาทาง second hand อันตรายพอๆ กับการได้รับกัญชาจริงๆ”
นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ เพราะกัญชาส่งผลกระทบระยะยาวในเรื่องของอารมณ์ ทำให้หงุดหงิดง่าย
“เมื่อสารเคมีเข้าไปมันจะยับยั้งการจัดการเรื่องอารมณ์ พอไม่มีสารเคมีเข้ามาสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสมองเราเคยชินกับสารพวกนี้มันก็จะเกิดความหงุดหงิดง่าย เด็กก็จะวิตกกังวล แล้วก็ขาดความยับยั้งชั่งใจ อันนี้เฉพาะในเด็กเล็ก
แต่ถ้าโตขึ้นมาเขาศึกษาต่อมาว่า ในวัยรุ่นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนก็คือเรื่องความจำ แล้วความจำมันส่งผลกระทบคือเรื่องการเรียน เพราะว่าเด็กโตหรือเด็กวัยรุ่นสิ่งที่เขาต้องทำมากที่สุดคือการเรียนรู้ การพัฒนาตัวเอง ก็จะส่งผลเรื่องของความจำแล้วก็ทักษะทางด้านสังคม แล้วก็มีความเสี่ยงในการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของ depression หรือว่าโรคซึมเศร้าด้วย”
แล้วเราจะดูแลเด็กอย่างไรในยุคที่กัญชาเสรี นอกจากการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชาที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์
“สิ่งที่ต้องย้ำคือกัญชาก็ยังต้องน่ากลัวอยู่ พ่อแม่ ผู้ปกครองยังคงต้องปกป้องให้ห่างไกลจากเด็กๆ อยู่ มันอาจจะมีเอ๊ะขึ้นมาว่า…แต่กัญชาเขาให้ใช้ทางการแพทย์ ต้องบอกว่าสาร CBD ใช้ในทางการแพทย์ เพราะถ้าเราให้ข้อมูลว่ากัญชาใช้ในทางการแพทย์นะ กัญชาจากผู้ร้ายก็จะกลายเป็นพระเอกเลยละ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง” ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สื่อความหมาย ทิ้งท้าย