- EEF รายงานว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อรับมือกับภาวะโรคระบาดส่งผลกระทบกับเด็กเล็ก เพราะกีดกันพวกเขาไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ซึ่งนั่นหมายความว่าเด็กๆ จะไม่ได้มีโอกาสฝึกการสื่อสารหรือสัมผัสประสบการณ์อื่นๆ ส่งผลต่อคลังคำศัพท์ เมื่อเรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ ได้น้อยลง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีการศึกษาที่พบว่า ปริมาณคลังคำศัพท์ในเด็กอายุ 2 ปี สามารถทำนายประสิทธิภาพในการเรียนของพวกเขาได้
- เมื่อพวกเขาไม่สามารถมองเห็นริมฝีปากคู่สนทนาขณะพูด อาจมีปัญหาในการรับรู้ โดยเฉพาะในช่วงวัยนี้กำลังเรียนรู้ที่จะแยกความแตกต่างระหว่างตัวอักษรที่ออกเสียงคล้ายกัน ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการพูดหรือการรับรู้เสียงต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความสามารถในการแยกเสียงที่ช่วยในการอ่านและสะกดคำ
- กิจกรรมพัฒนาทักษะทางภาษาในเด็กเล็กที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ เช่น พูดคุยกับลูกให้มากขึ้น จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ โดยเน้นเป็นเรื่องที่ลูกสนใจ การพูดคุยอาจใช้ประโยคง่ายๆ และเพิ่มลูกเล่นบทสนทนาด้วยการออกเสียงและการแสดงออกทางสีหน้าทางท่า
การระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้เด็กหลายคนสื่อสารกับคนอื่นน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อนวัยเดียวกัน หรือสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ เกิดเป็นคำถามใหญ่ว่า สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านการสื่อสารของเด็กหรือไม่
จากรายงานของ BBC ระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์ของอังกฤษในปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบกับการพัฒนาทักษะทางภาษาในเด็กเล็ก จากการสำรวจนักเรียนในประเทศอังกฤษจำนวน 50,000 คน พบว่าร้อยละ 20 – 25 ของเด็กในช่วงอายุ 4 – 5 ปีเมื่อเริ่มเข้าเรียน พวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านทักษะทางภาษามากกว่านักเรียนรุ่นก่อนๆ ซึ่งปัญหานี้อาจส่งผลกระทบระยะยาวในการเรียนได้
งานวิจัยจาก The Education Endowment Foundation หรือ EEF รายงานว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อรับมือกับภาวะโรคระบาดส่งผลกระทบกับเด็กเล็ก เพราะกีดกันพวกเขาไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ซึ่งนั่นหมายความว่าเด็กๆ จะไม่ได้มีโอกาสฝึกการสื่อสารหรือสัมผัสประสบการณ์อื่นๆ ส่งผลต่อปริมาณคลังคำศัพท์ของพวกเขา เมื่อเรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ ได้น้อยลง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีการศึกษาที่พบว่า ปริมาณคลังคำศัพท์ในเด็กอายุ 2 ปี สามารถทำนายประสิทธิภาพในการเรียนของพวกเขาได้
EEF ทำการสำรวจโรงเรียนปฐมวัยในอังกฤษจำนวน 58 โรง พบว่า ร้อยละ 76 ของนักเรียนที่เริ่มเข้าเรียนช่วงเดือนกันยายน 2020 ต้องการความช่วยเหลือ แรงสนับสนุนในการพัฒนาทักษะการสื่อสารมากกว่าเด็กรุ่นก่อนๆ ร้อยละ 96 ของครูต่างกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาการพูดและภาษาของนักเรียน และร้อยละ 56 ของผู้ปกครอง มีความกังวลต่อลูกๆ เมื่อเริ่มกลับไปเรียนที่โรงเรียนหลังการล็อกดาวน์ช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน
สวมหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด – 19 แต่ลดความสามารถในการสื่อสาร
มาตรการสวมใส่หน้ากากอนามัยอาจทำให้เพิ่มอุปสรรคในการสื่อสาร โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ที่กำลังเริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสาร เมื่อพวกเขาไม่สามารถมองเห็นริมฝีปากคู่สนทนาขณะพูด อาจมีปัญหาในการรับรู้ โดยเฉพาะในช่วงวัยนี้กำลังเรียนรู้ที่จะแยกความแตกต่างระหว่างตัวอักษรที่ออกเสียงคล้ายกัน เช่น ตัว P และ T ถ้าครูไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เด็กๆ ก็จะสามารถเห็นการขยับของริมฝีปากและเข้าใจความแตกต่างมากขึ้น แต่เมื่อครูต้องสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เด็กเข้าใจยากขึ้น ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการพูดหรือการรับรู้เสียงต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความสามารถในการแยกเสียงที่ช่วยในการอ่านและสะกดคำ
นอกจากนี้การสวมใส่หน้ากากอนามัยทำให้ไม่สามารถเห็นสีหน้าของคู่สนทนา เป็นตัวช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังประโยคที่เขาสื่อสารมากขึ้น เมื่อขาดสิ่งนี้ไปอาจส่งผลต่อศักยภาพการรับรู้ ทักษะการเข้าสังคมและจัดการอารมณ์ในเด็กเล็ก
ปัญหาในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางการสื่อสาร
การล็อกดาวน์อาจส่งผลกระทบมากขึ้นกับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการพูดหรือการใช้คำที่ต้องได้รับการบำบัด
ผลการสำรวจจาก Royal College of Speech and Language Therapists รายงานว่า ร้อยละ 62 ของเด็กที่ต้องได้รับการบำบัด ไม่สามารถเข้ารับการบำบัดได้ในช่วงต้นๆ ของการล็อกดาวน์ แม้ภายหลังจะเริ่มมีการให้บริการในรูปแบบออนไลน์ แต่ผลสำรวจยังพบว่ามีเด็กร้อยละ 19 ที่ไม่ชอบการบำบัดทางออนไลน์ ขณะที่อีกร้อยละ 12 ไม่สามารถเข้ารับการบริการดังกล่าวได้
ความกังวลของผู้ปกครอง
BBC ทำการสัมภาษณ์พ่อแม่ที่ลูกอยู่ในช่วงปฐมวัย พวกเขาแชร์ว่า มีความกังวลต่อพัฒนาการของลูก ชีวิตของเด็กๆ หลายคนถูกจำกัดวงด้วยโรคระบาด สังคมพวกเขาเหลือเพียงวงเล็กๆ คนใกล้ชิดในครอบครัว ทำให้กังวลการเข้าสังคมของลูกเมื่อเริ่มต้นเข้าโรงเรียน
Lisa แม่ของ Niamh ที่กำลังอยู่ในวัยกำลังจะเข้าโรงเรียน กล่าวว่า ลูกของเธอเป็นเด็กอายุน้อยที่สุดในปีนั้น ทำให้เธอกังวลว่าเด็กคนอื่นๆ ในชั้นเรียนอาจจะมีประสบการณ์ในโรงเรียนมากกว่าลูกเธอ พวกเขาพยายามเตรียมตัวลูกให้พร้อมเท่าที่ทำได้ และลูกของเธอก็ตั้งตารอคอยที่จะได้ไปโรงเรียน แต่การที่ลูกไม่รู้จักใครในชั้นเรียนสร้างความกังวลให้กับพ่อแม่
“ความกังวลของฉัน คือ หลังจากล็อกดาวน์ช่วงที่ผ่านมา ทำให้ Niamh ไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนคนอื่นๆ ถ้ากลับไปเรียนในห้องที่เต็มไปด้วยเด็กใหม่และครูเธอจะมีปฏิกริยาอย่างไร”
แต่โชคดีที่การจัดการของโรงเรียนทำให้ความกังวลของ Lisa หมดไป เธอกล่าวว่า ลูกไม่เคยงอแงตอนเช้าและไม่มีวันไหนที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียน
เช่นเดียวกับ Emma แม่ของ Harry ที่กังวลว่า เมื่อลูกเข้าโรงเรียนจะมีปัญหาในการสานความสัมพันธ์หรือไม่ โดยเฉพาะการบอกความต้องการของตัวเอง เธอกังวลว่าเมื่อลูกมีปัญหาจะเลือกนั่งที่มุมห้องเพราะไม่สามารถพูดขอความช่วยเหลือหรือสื่อสารว่าเกิดความผิดปกติอะไรกับเขา
แต่ Harry ได้เข้าโปรแกรม Nuffield Early Language Intervention (หรือ NELI โปรแกรมช่วยเหลือเด็กวัย 4 – 5 ปี ในการส่งเสริมพัฒนาทักษะทางภาษาและการอ่านหนังสือ) ของโรงเรียนที่จะช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการการสื่อสาร Emma กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวช่วยให้ลูกเธอสื่อสารมากขึ้น จนได้รับฉายาว่า Little chatterbox เขามักถามคำถามที่สงสัย คิดมากขึ้น สื่อสารมากกว่าเดิม
Saly Miner ครูใหญ่ประจำโรงเรียน กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ทักษะการสื่อสารในเด็กเล็กมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาไม่สามารถแสดงออกหรือตอบโต้กับคนรุ่นเดียวกัน และทำให้ตัวเองเข้าใจการสื่อสารได้ เธอเน้นว่า ทักษะนี้เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self – Esteem) และความมั่นใจในเด็กเล็ก
“ปราศจากสิ่งนี้อาจทำให้เด็กๆ ไม่มีความสุข เพราะไม่สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของเขาได้ พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากการได้สื่อสารตอบโต้กับคนรุ่นเดียวกันเท่ากับที่เราคาดหวัง”
Miner กล่าวต่อว่า ผลการวิจัยส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีปัญหาทักษะการใช้ภาษาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการอ่านประมาณ 4 เท่า มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 3 เท่า และอาจมีปัญหาตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ส่งผลต่อการขยับสถานะทางสังคม (social-mobility) ดังนั้น การพัฒนาทักษะสื่อสารในเด็กเล็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะมีอนาคตที่ดี
BBC รายงานถึงการรับมือของรัฐบาลอังกฤษด้วยการลงงบประมาณ 18 ล้านปอนด์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนในชั้น Reception year (ระบบการศึกษาของอังกฤษ Reception year คือ ปีแรกของการเข้าเรียนในช่วงประถมศึกษา อายุระหว่าง 4 – 5 ปี)
Vicky Ford รัฐมนตรีกระทรวงเด็กและครอบครัวอังกฤษ เน้นว่า ช่วงปีแรกๆ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในเด็ก รัฐบาลอังกฤษใช้งบประมาณ 3.5 พันล้านปอนด์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้สิทธิ์ดูแลเด็กฟรี นอกจากนี้ยังลงทุนอีก 18 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะทางภาษาในเด็กเล็ก เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ 700 ล้านปอนด์ ในการซัพพอร์ตเด็กๆ เตรียมเขาให้พร้อมก่อนจะกลับเข้าสู่ห้องเรียนเหมือนเดิม
Ford กล่าวต่อว่า ความสำเร็จจากการทำโครงการ Nuffield Early Language Intervention ทำให้รัฐบาลวางแผนที่จะขยายโครงการนี้ไปยังโรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เด็กวัย 4 – 5 ปี จำนวนหลายพันคนได้พัฒนาทักษะทางภาษา การสื่อสาร และการอ่าน แม้โครงการจะได้รับผลกระทบในปีที่แล้วจนต้องหยุดชะงักไป แต่ในปีนี้พวกเขาจะทุ่มเททำมากขึ้น
เมื่อลูกๆ ยังกลับห้องเรียนไม่ได้ ตัวช่วยสำหรับผู้ปกครองในการพัฒนาทักษะสื่อสารลูก
กลับมาที่บ้านเรา ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์เองอาจจะยังไม่สามารถดีขึ้นในเร็วๆ นี้ การกลับไปเรียนในห้องเรียนของเด็กๆ ยังคงต้องเลื่อนออกไป เด็กหลายคนยังต้องเรียนออนไลน์ต่อไป งานยากอาจจะตกอยู่ที่ผู้ปกครองที่จะต้องหาวิธีช่วยให้ลูกๆ ยังสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารได้ แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ผู้ปกครองหลายคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุด ไม่ว่าจะป้องกันเด็กๆ ให้ปลอดภัยจากโรคระบาด หากิจกรรมให้ลูกทำเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ
กิจกรรมพัฒนาทักษะทางภาษาในเด็กเล็กที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ เช่น พูดคุยกับลูกให้มากขึ้น จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ โดยเน้นเป็นเรื่องที่ลูกสนใจ การพูดคุยอาจใช้ประโยคง่ายๆ และเพิ่มลูกเล่นบทสนทนาด้วยการออกเสียงและการแสดงออกทางสีหน้าทางท่า
พฤติกรรมของทารกหรือเด็กในช่วงวัยหัดเดิน (Toddler) จะชอบการพูดซ้ำๆ ฉะนั้น หากลูกวัยนี้กำลังแสดงความสนใจบางสิ่ง เช่น รถที่ขับผ่านหน้าบ้าน ผู้ปกครองลองชวนเขาคุย อาจเริ่มด้วยการอธิบายลักษณะรถยนต์คันนั้น หน้าตาของมันเป็นอย่างไร การเคลื่อนที่ของรถ โดยเน้นพูดคำว่า ‘รถ’ บ่อยๆ ซ้ำไปซ้ำมา
ในเด็กวัยที่โตขึ้นมาหน่อยก็สามารถใช้หลักการเดียวกันได้ ชวนเขาคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เขาสนใจ ตอบสนองกับสิ่งที่ลูกร้องขอ ในเด็กกลุ่มนี้จะเริ่มสามารถต่อคำได้เป็นประโยคที่มีความหมาย ข้อจำกัดก็จะลดลง เป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองจะได้พัฒนาคลังคำศัพท์ลูก
เด็กส่วนใหญ่จะมีการตอบสนองทางพัฒนาการที่รวดเร็ว แต่ถ้าเด็กคนไหนยังคงมีปัญหา การพาพวกเขาไปพบผู้เชี่ยวชาญ ครู หรือนักบำบัด ที่เขาจะสามารถมองเห็นปัญหาและให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาพวกเขาต่อไปได้