- เรื่องน่าแปลกคือในผู้หญิงนั้นงานวิจัยกลับพบว่านอกจากการแต่งงานไม่ค่อยจะช่วยเรื่องความเหงาแล้ว ซ้ำร้ายบางคนอาจจะเหงาหนักกว่าเดิมเสียอีก
- ปัญหาความเหงาของคนไม่โสดหรือแต่งงานแล้วมี 2 แบบ คือ เหงาเพราะคนรักไม่ใช่แบบที่เราคิด ตอนคบกันหวังให้เขาเป็นคนรักที่ดี แสดงความอบอุ่นใกล้ชิดกับเรา แต่พอเขาไม่เป็นแบบนั้น เลยรู้สึกว่าไม่พอ ความเหงาจึงเข้ามาโจมตี กับอีกแบบหนึ่งพอมีแฟนแล้วก็ห่างหายจากเพื่อน เพราะคนรักสำคัญที่สุด หากใครมีแฟนที่ทั้งรับฟังและเปิดใจ ทดแทนความสัมพันธ์ที่ห่างหายของเพื่อนๆ ได้ก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่ค่อยแสดงออกถึงความเข้าใจเหมือนกับเพื่อนสนิท ความรู้สึกไม่พอตรงนี้ก็ทำให้เกิดความเหงาทางอารมณ์ได้
- การมีคนรักหรือการแต่งงานนั้น สรุปแล้วมันช่วยแก้เหงาได้จริงหรือ ถ้าได้ แล้วทำไมบางคนแต่งงานหรือแฟนแล้วกลับเหงากว่าเดิม
เวลามีคนมาบ่นกับเราว่า เหงา ต้องทำอย่างไรดี เราจะนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรกครับ หลายคนอาจจะตอบว่าก็ไปหาเพื่อนสิ แต่แน่นอนว่าถ้าเป็นการปรึกษากันในกลุ่มหนุ่มๆ สาวๆ จนถึงวัยผู้ใหญ่บางคนอาจจะได้รับคำตอบที่ไม่น่าแปลกใจว่า “ก็หาแฟนสักคนสิ” การมีแฟนนั้นเป็นเหมือนคำตอบสุดท้ายในใจของใครหลายคนว่า ถ้าฉันมีแฟนเมื่อไร ก็คงไม่ต้องทนเหงาอีกต่อไป และยิ่งถ้าได้แต่งงานแล้ว ความเหงาคงหายไปจากชีวิตเลย แต่นั่นมันเป็นความจริงไหมหรือเปล่านะ…
บางท่านอาจจะรู้สึกแปลกใจเวลาเพื่อนหรือคนใกล้ตัวที่มีแฟนแล้วแต่ยัง (กล้า) มาบ่นกับท่านว่า “เหงาว่ะ” ยิ่งหากคนฟังยังโสดอาจจะตอบกลับไปอย่างไวว่า “มีแฟนแล้วจะเหงาอะไรอีก” แม้จะฟังดูแปลกแต่หากเราค้นคำว่า “แต่งงาน” กับ “เหงา” พร้อมกันใน google เราจะพบว่ามีบล็อก บทความ หรือกระทู้ในเว็บบอร์ดจำนวนมากที่มีทั้งคนระบายว่าชีวิตหลังแต่งงานของตนในตอนนี้ “เหงาจะตายอยู่แล้ว” หากท่านไหนยังไม่เห็นภาพลองดูตัวอย่างจากลิงก์ในด้านล่างก็ได้ครับ หรือหลายๆ ท่านอาจไม่ต้องไปหา เพราะตัวเองกำลังเจอกับปัญหานี้อยู่และรู้ซึ้งดีว่า ใครว่ามีแฟนหรือแต่งงานแล้วจะไม่เหงามันไม่จริงเลย วันนี้เราจะมาดูกันว่าการมีคนรักหรือการแต่งงานนั้น สรุปแล้วมันช่วยแก้เหงาได้จริงหรือ ถ้าได้ แล้วทำไมบางคนแต่งงานหรือแฟนแล้วกลับเหงากว่าเดิม
หากลองคิดดูแล้วการมีคนรักก็เหมือนมีคนที่สนิทมากๆ หนึ่งคนมาอยู่ใกล้ตัว และนั่นจะน่าจะช่วยลดความเหงาได้ เรื่องนี้ก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการมีแฟนและการแต่งงานช่วยลดความเหงาได้ครับโดยเฉพาะในผู้ชาย เหตุผลก็เพราะว่าผู้ชายหลายๆ คนไม่ค่อยนิยมที่จะคุยเรื่องส่วนตัวหรือแชร์ความรู้สึกของตัวเองเท่าไรนัก เพราะค่านิยมของผู้ชายมาตรฐานในแทบจะทุกสังคมคือต้องทำตัวให้ดูเข้มแข็งเข้าไว้ พูดน้อยต่อยหนัก แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้างคือ ผู้ชายมักจะปรึกษาปัญหาหรือความรู้สึกในใจกับคนรักมากเป็นพิเศษครับ ดังนั้นแฟนเลยเป็นเหมือนมาอุดความรู้สึกอ้างว้างจากการไม่มีใครมาคอยให้ปรึกษา ให้พูดคุยเรื่องส่วนตัวของผู้ชายได้
เรื่องน่าแปลกคือในผู้หญิงนั้นงานวิจัยกลับพบว่านอกจากการแต่งงานไม่ค่อยจะช่วยเรื่องความเหงาแล้ว ซ้ำร้ายบางคนอาจจะเหงาหนักกว่าเดิมเสียอีก
และก็ใช่ว่าผู้ชายที่พบความเหงาหลังแต่งงานจะไม่มีเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่การมีคนรักน่าจะทำให้เราหายเหงา ยิ่งแต่งงานก็ยิ่งเหมือนมีคู่ชีวิตที่ใกล้ชิดเราที่สุดแล้ว แล้วทำไมหลายคนแต่งงานแล้วกลับพบว่ายิ่งเหงา นิยามของความเหงาจะมาตอบคำถามนี้ครับ
ความเหงาคืออะไร เราอาจจะพอนึกออกว่าเป็นความรู้สึกแย่ เศร้า หมองหม่น เหมือนมันขาดอะไรบางอย่างไป แต่ถ้าจะให้พูดกันให้ชัด ๆ ว่าแล้วมันขาดอะไร นักจิตวิทยาชื่อ Robert Weiss ได้วิจัยเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่สมัยปี 1973 นานมากแล้วครับ แต่ถึงจะเก่าแต่นิยามความเหงาของเขานั้นเป็นที่นิยมในแวดวงวิชาการจิตวิทยาจนถึงตอนนี้เลย โดย Weiss แบ่งความเหงาออกเป็น 2 ประเภท
ความเหงาแบบแรกเรียกว่า ‘ความเหงาทางอารมณ์’ หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด รู้สึกว่ากำลังขาดคนสนิทสนม คนเข้าอกเข้าใจ การจะแก้ความเหงาทางอารมณ์นั้นไม่ได้เน้นว่าเราต้องไปเจอคนจำนวนมาก ต้องไปอยู่ในที่ที่มีคนรู้จักเยอะๆ แต่ขอแค่คนไม่กี่คนหรือแม้แต่คนเดียวที่เข้าใจเราจริงๆ แค่นั้นก็ทำให้หายเหงาได้แล้ว
ความเหงาแบบที่สองเรียกว่า ‘ความเหงาทางสังคม’ หมายถึง ความเหงาที่ขาดคนที่คอยแชร์ความสนใจ ขาดกิจกรรมทางสังคมไว้เฮฮาปาร์ตี้ ไม่ต้องสนิทมากแต่เรียกได้ว่ามีคนให้เราได้คุยถูกคอ หรือได้มีกลุ่มคนทำกิจกรรมอะไรต่างๆ แก้เบื่อ การจะแก้ความเหงาทางสังคมจึงเน้นไปที่การได้เข้ากลุ่มสังคมที่มีความสนใจตรงกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ได้เจอคนเยอะๆ
ความเหงาทางอารมณ์และความเหงาทางสังคมเหมือนใช้กลไกในจิตใจของเราคนละแบบ คนที่เหงาอาจจะเพราะเหงาทางอารมณ์แต่อาจจะไม่เหงาทางสังคม หรือกลับกันคือเหงาทางสังคมอย่างเดียวแต่ไม่เหงาทางอารมณ์ หรือจะเหงาทั้งอารมณ์และสังคมเลยก็ได้ ขอย้อนกลับมาที่คนที่เหงาแม้ว่าจะมีคนรักหรือแต่งงานแล้ว คนเหล่านี้เขาเหงาแบบไหนกัน คำตอบคือได้ทั้งสองแบบเลยครับ ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาเกิดจากอะไร แต่ปัญหาความเหงาของคนไม่โสดมักจะมีด้วยกัน 2 แบบหลักๆ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
แบบแรกคือ เหงาเพราะคนรักไม่ใช่แบบที่เราคิด ผมเคยได้ยินคนพูดมาว่า คนเรานั้น ก่อนคบกันก็แบบหนึ่ง ตอนคบกันก็เปลี่ยนเป็นอีกแบบ และหลังแต่งงานก็เปลี่ยนไปอีก คู่ใครเปลี่ยนไปในทางดีขึ้นหรือถูกใจเราขึ้นก็ถือว่าโชคดีไป แต่บางคู่ยิ่งคบยิ่งผิดกับที่คาด ซ้ำร้ายหลังแต่งงานแทนที่จะปรับตัวหากันได้มากขึ้น กลับเป็นยิ่งคุยยากกว่าเดิมก็มี แต่ที่เลวร้ายกว่าคุยไม่ถูกคอคือไม่คุย
จริงอยู่ที่คนเรามีนิสัยแตกต่างกันไป หลายคนนั้นก็เปิดใจให้กับคนรักมากๆ แต่หลายคนต่อให้คบกันแล้วก็กลับไม่ค่อยพูดอยู่ดีว่าคิดอะไรอยู่ รู้สึกอย่างไร มีปัญหาอะไรหรือเปล่า พอใจหรือไม่พอใจตรงไหน คบกันมาหลายปียังขรึม แต่งงานจนมีลูกแล้วก็ยังเงียบ คนที่มีคู่แบบนี้จะพบปัญหากับความเหงาทางอารมณ์ได้ครับ เพราะคนเรามักจะคาดหวังว่าคนรักต้องเป็นคนที่สนิทชิดใกล้กับเราที่สุด เรามีปัญหาอะไรก็อยากให้คู่รักเป็นที่ระบาย เป็นที่ปรึกษา และในทางกลับกันหากเขามีปัญหาอะไรก็อยากให้เปิดใจกับเราบ้าง แต่ถ้าเกิดคนรักกลับเปิดใจน้อยกว่าที่เราคาดหวัง เรารู้สึกว่าคนรักห่างเหินเราเหลือเกิน มันเลยรู้สึกว่าความสัมพันธ์นั้นไม่เพียงพอ
มีงานวิจัยที่น่าสนใจคือพบว่า คู่รักที่ระหองระแหงกันนั้น ยิ่งอยู่ด้วยกันกลับยิ่งสร้างความรู้สึกเหงาให้ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งคู่ และความเหงานั้นบางทีมากกว่าในคู่ที่เลิกกันไปแล้วเสียอีก แปลกไหมครับ ถ้าความสัมพันธ์มันไม่พอแล้วเหงา ทำไมยิ่งเจอหน้ากันมันยิ่งเหงา จะร้องเพลงบอกว่า “คนไม่รักใกล้กันช้ำใจยิ่งกว่า” มันก็อาจไม่เห็นภาพ แต่ปัญหามันอยู่ที่ความคาดหวังครับ คนเราตอนคบกัน เราหวังให้เขาเป็นคนรักที่ดี แสดงความอบอุ่นใกล้ชิดกับเรา แต่พอเขาไม่เป็นแบบนั้น มันเลยรู้สึกว่าไม่พอ ความเหงามันก็เลยเข้ามาโจมตี แต่พอตัดสินใจเลิกไปแล้ว ความคาดหวังต่อคนคนนั้นมันหายไปแล้วไงครับ ความรู้สึกไม่พอก็เลยไม่เกิด
ปัญหาความเหงาของคนไม่โสดอีกแบบคือ พอมีแฟนแล้วก็ห่างหายจากเพื่อน คนรักนั้นถือว่าเป็นคนสำคัญ และชีวิตรักก็คือเรื่องสำคัญ และบางคนคิดว่าทั้งสองสิ่งสำคัญมากที่สุดในชีวิตเลยด้วยซ้ำ พอมีแฟนกับเขาทั้งทีก็เลยต้องทุ่มเทเวลาให้เขาก่อนใคร บางคนก็ติดแฟนจนลืมพ่อแม่ไปเลยก็มี ส่วนเพื่อนนั้นรอไปก่อนแล้วกัน “คนที่ไม่ใช่แฟนทำแทนทุกเรื่องไม่ได้” แต่แฟนก็ทำแทนเพื่อนทุกเรื่องไม่ได้เหมือนกันนะครับ
ปัญหาความเหงาที่เกิดจากการขาดเพื่อนหลังมีแฟนจะเกิดกับผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงนั้นมักจะสนิทกับกลุ่มเพื่อนเหนียวแน่นมากๆ มีเรื่องอะไรก็เล่าให้ฟังกันทุกเรื่อง เรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องเม้าชาวบ้าน เรื่องคนรักของตัวเองหรือของชาวบ้าน เปิดใจกันทุกอย่าง แต่พอมีแฟนเมื่อไหร่ เวลาที่จะได้อยู่กับเพื่อนก็ต้องแบ่งไปอยู่กับแฟนเสียเยอะ คนไหนติดแฟนมากหรือแฟนติดตัวเองมากๆ ก็แทบจะหายไปจากเพื่อนเลยก็มี หรือหลังแต่งงานแล้ว ชีวิตก็มักจะมีภาระและหน้าที่ของคนที่มีครอบครัวให้ยิ่งมีโอกาสเจอเพื่อนฝูงน้อยลงไปอีก หากใครมีแฟนที่ทั้งรับฟังและเปิดใจ ทดแทนความสัมพันธ์ที่ห่างหายของเพื่อนๆ ได้ก็ดีไป แต่ถ้าแฟนเป็นผู้ชายปากหนัก ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเล่า พอเราเล่าเขาก็อาจจะรับฟัง แต่การตอบสนองมันไม่แสดงออกถึงความเข้าใจเหมือนกับเพื่อนสนิท ความรู้สึกไม่พอตรงนี้ก็ทำให้เกิดความเหงาทางอารมณ์ได้ครับ
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่แฟนทำแทนเพื่อนไม่ได้ในหลายๆ คู่คือ ความสนใจที่แตกต่างกัน กลุ่มเพื่อนนั้นเรามักจะสนิทกันเพราะมีความสนใจดึงให้เราอยู่ด้วยกัน เพื่อนมักจะชอบอะไรเหมือนๆ กัน เพราะถ้าไม่เหมือนก็คงไม่สนิทและห่างหายกันไปแล้ว เช่น ชอบเล่นฟุตบอลเหมือนกัน ชอบเดินชอปปิงซื้อเสื้อผ้าเครื่องสำอาง ชอบดาราเกาหลี ชอบดูหนังผี ชอบอ่านนิยายวาย ชอบเล่นดนตรี ชอบกินเหล้า หากใครชอบเหมือนคนรักก็ดีไปครับ แต่หลายๆ ครั้งคนรักมักจะมีกิจกรรมไม่ตรงกัน แม้ว่าตอนนี้สังคมจะเน้นความเสมอภาคของชายหญิงมากขึ้น และกิจกรรมต่างๆ นั้นไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นเพศไหนอีกต่อไป แต่จะอย่างไรผู้ชายที่ชอบเดินชอปปิงเสื้อผ้าเครื่องสำอางมันก็หายากหน่อย ผู้หญิงที่จะเตะบอลด้วยมันก็ไม่เยอะ เลยไม่แปลกที่จะเกิดปัญหานี้ ตอนรักกันใหม่ๆ แค่เจอหน้าสวีตกันมันก็ให้ความรู้สึกดีจนไม่ต้องไปง้องานอดิเรก แต่พอคบกันไปนานๆ มันแกร่วครับ จะชวนแฟนไปชอปปิง แฟนก็ทำหน้าเนือยๆ ช่วยเลือกก็ไม่เป็น สู้ไปชอปกับเพื่อนไม่ได้ ชวนไปเล่นกีฬา แฟนก็ไม่ชอบ ได้แต่นั่งคอยแกร่วๆ ขอบสนาม กิจกรรมบางอย่างมันสนุกเฮฮาตอนทำกับเพื่อน แต่พอชวนแฟนไปทำมันกลับรู้สึกไม่พอ ไม่สนุก ความรู้สึกขาดตรงนี้ก็สร้างความเหงาทางสังคมขึ้นได้
แล้วถ้าเราไม่โสดแต่เรากำลังเหงาอยู่ เราควรจะทำอย่างไรดี แรกสุดคือตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเหงาแบบไหน เราเหงาทางอารมณ์ หรือเหงาทางสังคม ที่ต้องตอบให้ได้เพราะความเหงาแต่ละแบบมันเกิดจากที่มาต่างกัน และวิธีแก้มันก็ต่างกันครับ
หากเราเหงาทางอารมณ์ ปัญหาของเรานั้นจริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพอมีแฟนเวลาที่เราจะได้ไปนั่งคุยกับเพื่อนสนิทที่เข้าอกเข้าใจเราอย่างดีมันก็น้อยลงไป แต่ปัญหาหลักนั้นมันมักจะอยู่ที่ คู่รักให้ความอบอุ่นใกล้ชิดไม่เท่ากับที่คุณคาดหวังไว้ ผมว่าตรงนี้ควรจะต้องแก้ก่อนที่จะหนีไปหาเพื่อนแล้วปล่อยความสัมพันธ์กับคนรักห่างเหินกันเหมือนเดิม เพราะคนรักเป็นคนที่ต้องมีเวลาอยู่กับเรามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในชีวิตเราแล้ว ความใกล้ชิดอบอุ่นจากคนรักหากแก้ได้ก่อนจึงควรแก้
อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องความสัมพันธ์แทบจะทุกแบบ มันแก้ไขฝ่ายเดียวไม่ได้ครับ ทั้งคู่ต้องช่วยกัน หากรู้สึกว่าคนรักใกล้ชิดไม่พอ มันก็อาจจะเกิดที่คนรักใกล้ชิดไม่พอจริงๆ หรือเพราะมีฝ่ายที่คาดหวังมากไป แต่ชีวิตจริงการจะตัดสินว่าอะไรมากไปหรือน้อยไปมันก็ไม่มีขีดบอกเราเสียด้วย ดังนั้นผมเลยแนะนำว่าคุยกันก่อนดีกว่าว่าใครจะพอเปลี่ยนอะไรได้บ้าง และหาทางเจอกันครึ่งทางก็ได้ หรืออาจจะไม่ครึ่งทางพอดีก็ได้ แต่ผมว่าถ้าทั้งสองฝ่ายพยายามปรับตัวมันคงดีขึ้นบ้าง งานวิจัยพบว่าแค่การที่ต่างฝ่ายต่างรับรู้ว่าอีกฝ่ายพยายามจะปรับตัว แค่นั้นก็ทำให้ทั้งคู่รู้สึกดีขึ้นแล้วครับ
คนที่ห่างเหินไปก็ต้องพยายามเปิดใจกันบ้าง ไม่ต้องขรึมไม่ต้องหนักแน่นกับแฟนตัวเองก็ได้ ถ้าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เริ่มที่เล่าความรู้สึกตนเองก่อนครับ อย่าคิดว่ามันไม่สำคัญที่จะต้องพูดกันทุกเรื่อง เพราะความสนิทนั้นมันเกิดขึ้นได้จากการแบ่งปันเรื่องส่วนตัวของตนเองนี่แหละครับ ส่วนฝ่ายที่คาดหวังมากไปก็อาจจะต้องมาดูก่อนว่าคนรักของตัวเองนั้นขรึม เงียบ ไม่เล่า ไม่แชร์ แบบนี้กับทุกคนไหม หากใช่อาจจะต้องทำใจนิดนึงว่าคงเป็นบุคลิกของที่เขาสั่งสมมาตั้งแต่เขาเกิด ไม่ใช่จะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ แต่หากเขาสนิทกับคนอื่นมากกว่าเราที่เป็นแฟนเฉยเลย (ยกเว้นพ่อแม่พี่น้อง หรือเพื่อนที่รู้จักกันมานานมาก ๆ) อาจจะต้องเคลียร์กันหน่อยแล้วล่ะครับ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นทำไมถึงไม่อยากเปิดใจใกล้ชิดกับเรา อาจจะต้องเอาให้ชัดว่า “เราจะคบกันแบบไหน” จริงอยู่ว่าความรักสมัยใหม่ไม่ต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ คู่รักบางคู่อาจจะพอใจที่จะขรึมๆ ใส่กัน ไม่เล่าเรื่องส่วนตัวของกันและกันก็อาจเป็นได้ แต่มันต้องอยู่บนฐานว่าทั้งคู่พอใจนะครับ ถ้ามีฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ มันจะไม่ใช่รักแบบอินดี้ที่แค่เข้าใจกันสองคนก็พอ แต่มันจะกลายเป็นแม้แต่คนรักก็ไม่เข้าใจอีกฝ่ายว่าตกลงแล้วรักกันอยู่หรือเปล่า
ส่วนใครที่คิดว่าในเมื่อแฟนคนนี้ยังเติมเต็มความเหงาฉันไม่ได้ ก็หาอีกสักคนแล้วกัน อันนี้อย่าแม้แต่จะคิดนะครับ ไหนๆ รักกันแล้วก็มาปรับตัวกันดีกว่า แฟนไม่ใช่ข้าวของเครื่องใช้พอไม่ได้ดั่งใจก็เปลี่ยนง่ายๆ แต่ถ้าปรับตัวกันแล้วมันยังไม่รอดก็ค่อยว่ากันอีกทีว่าจะยังคบกันต่อไปไหม ส่วนคู่ไหนแฟนใจกว้าง จะมีอีกคนเขาก็ไม่ว่าอันนี้คงแล้วแต่คู่จริงๆ ว่ามันจะได้ผลดีหรือเสีย
ถึงสังคมสมัยใหม่เปิดกว้างในคอนเซปต์รักที่หลากหลายก็จริง แต่คู่รักที่มีมากกว่าสองคน มันลำบากเหลือเกินที่จะเลี่ยงปัญหายุ่งยากตามมา ปัญหาจากเหงามันจะกลายเป็นปัญหาความหึงหวง การทะเลาะกัน แบบไม่รู้จักจบสิ้น แล้วไหนจะเรื่องกฎหมายอีก ซึ่งน่าปวดหัวกว่าด้วยซ้ำ
หากเราเหงาทางสังคม อาจจะต้องมาดูกันว่าพอจะแบ่งเวลาจากคนรัก และครอบครัวไปหาเพื่อนๆ หรือเข้าสังคมที่ทำกิจกรรมที่เราชอบได้บ้างไหม เรื่องนี้กับคู่รักถ้าตัวติดกันเกินไป อาจจะต้องมาคุยกันว่าขอเวลาไปทำสิ่งอื่นบ้าง เพราะชีวิตคนเรามันไม่ได้มีแค่เรื่องความรักอย่างเดียวจริงไหมครับ เรื่องนี้คงต้องปรับตัวอีกเช่นกัน แต่ก็ต้องแบ่งเวลาดีๆ อย่าเข้าสังคมเพลินจนลืมใส่ใจคนรัก ส่วนคนที่แต่งงานแล้วปัญหานี้อาจจะยากขึ้น เพราะพอมีครอบครัวแล้วเวลาว่างมันก็มักจะหายไปเป็นปกติ โดยเฉพาะคนที่มีลูกที่นอกจากจะต้องให้เวลาดูแลลูกแล้ว ยังต้องทำงานหนักขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย ใครมีญาติผู้ใหญ่ช่วยเลี้ยงยังพอปลีกตัวไปเข้าสังคมได้นานๆ ที แต่ใครอยู่กันแค่พ่อแม่ลูกอาจจะยากหน่อย อาจจะต้องสลับเวรกันดูแลลูกเพื่อที่อีกฝ่ายจะได้มีเวลาไปทำอะไรที่ตัวเองชอบบ้าง นานๆ ครั้งก็ยังดี ฟังดูยากแต่นั่นคือความสำคัญของการวางแผนครอบครัว คำว่ามีลูกเมื่อพร้อมจึงเป็นสิ่งที่ต้องมองรอบด้าน
บางคู่อาจจะหันมาสนใจกิจกรรมหรืองานอดิเรกของอีกฝ่าย สนุกในสิ่งที่อีกฝ่ายชอบ แบบนี้ก็ถือว่าโชคดีที่คนรักมาช่วยแก้ไขปัญหาความเหงาทางสังคมได้บางส่วนด้วย และการมีเรื่องที่ชอบคุยกันก็ยิ่งทำให้คู่รักสนิทกันได้มากขึ้นไปลดความเหงาทางอารมณ์ได้อีก แต่ถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็ไม่ต้องฝืนก็ได้ครับ แค่ยอมรับก็พอว่าแต่ละคนต่างต้องมีช่วงเวลาได้ไปสังสรรค์กับคนอื่นๆ แก้เบื่อบ้าง
ประเด็นสำคัญคือคนไม่โสดทุกท่านที่กำลังรู้สึกเหงานั้น หากมันเริ่มเรื้อรังมานานจนชีวิตเริ่มแย่ ก็ต้องหาทางแก้นะครับ อย่าคิดว่าจะมีแฟนสักคน จะแต่งงานทั้งที แค่นี้มันต้องทนได้ มันก็จริงในบางเรื่องแต่อาจจะไม่ได้ผลดีเสมอไป เพราะมีงานวิจัยที่บอกว่า คู่รักที่มีปัญหาความเหงาโดยเฉพาะความเหงาทางอารมณ์นั้นจะมีความสัมพันธ์ในชีวิตคู่แย่ลง และยิ่งความสัมพันธ์แย่ลง ความเหงาทางอารมณ์มันก็จะยังเป็นหนักขึ้นไปอีกกลายเป็นวงจรที่ทำให้แย่ลงเรื่อยๆ
ใครที่กำลังเหงาแล้วคิดว่าถ้ามีแฟนหรือแต่งงานแล้วจะหายก็อยากให้รู้ว่าบางครั้งคนรักมันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกเรื่อง หากเหงาทางอารมณ์ก็อาจจะต้องหาใครสักคนที่สนิทใกล้ชิดด้วย คนที่เราเปิดใจได้และเปิดใจกับเรา มาเติมเต็ม อาจจะเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนเสมอไป ส่วนใครเหงาทางสังคมมีแฟนแล้วอาจจะยิ่งมีเวลาให้การเข้าสังคมน้อยไปอีก ผมว่าการเร่งหาแฟนโดยที่เรายังไม่ได้ถูกใจหรือรักใครเป็นพิเศษมันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี เพราะอย่างที่บอกว่าพอคบกันแล้วหรือแต่งกันแล้วบางทีมันไม่ใช่อย่างที่เราคาดหวัง ยิ่งคาดหวังมาก พอไม่ได้ดั่งใจก็ยิ่งแย่ และยิ่งตอนไม่โสดแล้ว ปัญหาส่วนใหญ่มันแก้ไขคนเดียวไม่ได้ มันต้องดึงอีกฝ่ายมาร่วมแก้ และบางครั้งมันจะยุ่งยากกว่าคนโสดเสียอีกเพราะมันต้องปรับตัวกันทั้งคู่ เขาถึงว่า มีคู่โบราณว่าไว้คนมีคู่แสนสนุกแต่ไม่สบาย
เอกสารอ้างอิง
Dykstra, P. A., & Fokkema, T. (2007). Social and emotional loneliness among divorced and married men and women: Comparing the deficit and cognitive perspectives. Basic and applied social psychology, 29(1), 1-12.
Gleason, M. E., Iida, M., Bolger, N., & Shrout, P. E. (2003). Daily supportive equity in close relationships. Personality and Social Psychology Bulletin, 29(8), 1036-1045.
Knoke, J., Burau, J., & Roehrle, B. (2010). Attachment styles, loneliness, quality, and stability of marital relationships. Journal of Divorce & Remarriage, 51(5), 310-325.
Sadava, S. W., & Matejcic, C. (1987). Generalized and specific loneliness in early marriage. Canadian Journal of Behavioral Science, 19(1), 56-66.
Weiss, R. S. (1973). Loneliness: The experience of emotional and social isolation.
ตัวอย่างบล็อกระบายประสบการณ์ชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความเหงา
https://drgailsaltz.wordpress.com/2009/11/22/are-you-lonely-in-your-marriage/
http://www.todayschristianwoman.com/articles/2009/november/marriedbutlonely.html
http://www.noellerhodes.com/articles/i-have-no-friends-the-loneliness-of-being-a-newlywed