- เพราะการสืบทอดนิทานปกาเกอะญอ กับ ซอ-บทเพลงหรือกลอนเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิง เป็นการสืบทอดแบบปากเปล่า ต้องถอดเรื่องราวจากคำบอกเล่าและความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ องค์ความรู้จึงค่อยหล่นหายไปตามกาลเวลา
- เด็กปกาเกอะญอกลุ่มหนึ่งจึงร่วมตัวกันทำโครงการสืบสานภูมิปัญญานิทานและซอปกาเกอะญอ
- ด้วยวิธีการสุดน่ารัก ส่วนหนึ่งคือตรงไป ‘เคาะประตูบ้าน’ ผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อให้ซอและเล่านิทานให้ฟัง จากนั้นจึง จดๆๆ เรียบเรียง ตีความ จัดเก็บข้อมูล
ภาพ: สิริเชษฐ์ พรมรอด
‘นิทานปกาเกอะญอ’ นับเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงอุปนิสัย การใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน ส่วน ‘ซอ’ เปรียบเสมือนบทเพลงหรือบทกลอนที่ทำให้เกิดความสนุกสนานและความบันเทิง บทซอมีหลายประเภทและใช้ในโอกาสที่ต่างกัน เช่น ซอในงานศพ ซอไปไร่ ซอกล่อมเด็ก ซอเกี้ยวหญิงชาย เป็นต้น ส่วนสำเนียงภาษาปกาเกอะญอขับขานเพลงซอที่หาฟังได้ยากในปัจจุบัน เนื้อหาบอกเล่าถึงวิถีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ทว่ากำลังจะเลือนหายไป
แต่วันนี้มีเด็กปกาเกอะญอกลุ่มหนึ่ง คือ เปียโน-นงค์นภา สง่าภูพาน, เหมียว-ประกายทิพย์ สวัสดิ์บรรพต, เชียร์-โสภา ลูงพนาดอน, แวว-รสิตา ใจหล้ากาศ และ หลิน-กรกช ปงพางนิมิต เยาวชนบ้านแม่สะแงะตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ที่เห็นความคุณค่าความหมายของนิทานและซอของตนเอง จึงรวมตัวกันทำโครงการสืบสานภูมิปัญญานิทานและซอปกาเกอะญอ
เมื่อเด็กคิดสืบสานต่อนิทานและซอ
“ที่ผ่านมาเคยฟังพ่อแม่เล่านิทานตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ยังจำได้นิดหน่อย เรื่องที่ชอบมากที่สุดคือเรื่อง ‘ผีเจ้าที่’ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนที่นี่ว่า ถ้าใครทำไร่ทำนาทำสวนจะมีผีเจ้าที่ของแต่ละคน ทำให้ทุกๆ ปี ต้องมีพิธีเรียกว่าเลี้ยงผีไฟ ซึ่งอยู่ในกระต๊อบในไร่ในสวนอยู่แล้ว” แววบอกและเสริมว่า แม้นิทานและซอจะยังไม่หายไป แต่ทุกวันนี้มีเฉพาะคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่รู้
ขณะที่ พ่อหลวงอนุวัฒน์ วนารัตนชัยกุล ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่สะแงะ และพี่เลี้ยงโครงการเล่าให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่า
“สมัยผมเป็นเด็ก หัวค่ำพ่อแม่จะเล่านิทานให้ฟังอยู่เสมอ เหมือนเราถูกปลูกฝังไปพร้อมกัน เพราะนิทานทุกเรื่องจะมีข้อคิดแฝงอยู่ เลยคิดว่าถ้าเด็กสามารถถอดความรู้เหล่านี้ไว้ได้คงจะดี อย่างน้อยหากเด็กรุ่นหลังไม่รู้ก็ยังมีรูปเล่มไว้ให้ศึกษา แม้วันนี้พวกเขาจะยังไม่สามารถจัดเก็บความรู้เรื่องนิทานและซอได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในอนาคตก็สามารถต่อยอดไปได้”
ทั้งหมดจึงเป็นจุดริเริ่มโครงการ แต่แม้จะตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาชิ้นนี้ แต่เนื่องจากทั้งนิทานและซอ ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการสืบทอดแบบปากต่อปาก ต้องถอดเรื่องราวจากคำบอกเล่าและความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ โจทย์ใหญ่อันดับแรกจึงเป็นการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัย ซึ่งแต่เดิมต่างคนต่างก็มีภารกิจในความรับผิดชอบที่ต่างกันไป
เปียโนเล่ากระบวนการทำงานว่า เริ่มจากการจัดประชุมที่ศาลากลางหมู่บ้านเพื่อชี้แจงรายละเอียดการทำโครงการให้คนในชุมชนรับรู้ โดยมีพ่อหลวงช่วยประกาศเสียงตามสาย
“ตอนนั้นมีคนเฒ่าคนแก่มาร่วมฟังกันหลายคน แต่ละคนให้ความสนใจดี สังเกตได้จากหลังชี้แจงจบ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้รู้ก็จะแบ่งหน้าที่กันว่าใครจะให้ความรู้เรื่องซอ ใครจะให้ความรู้เรื่องนิทาน จากนั้นก็เดินมาบอกพวกเราว่า นิทานต้องไปถามใคร ซอไปถามใคร”
เมื่อได้แหล่งข้อมูลซึ่งก็คือผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว ต่อมาคือการจัดหมวดหมู่นิทานและซอ แล้วจึงค่อยลงมือเก็บข้อมูล ซึ่งวิธีการเก็บข้อมูลครั้งแรก เยาวชนใช้วิธีเดินทางไปถามที่บ้านเพื่อขอให้เล่านิทานและซอให้ฟัง ก่อนจะเชิญให้ผู้รู้มารวมตัวกันที่ศาลากลางบ้าน นัดหมายเวลาคือทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 10.00-14.00 น.
“เราจะเริ่มด้วยการขอให้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่านิทานให้ฟัง เมื่อเล่าจบ เราก็จะมาจัดประเภทเองว่านิทานเรื่องนี้เป็นนิทานประเภทไหน” เด็กๆ เล่าถึงความยากของการทำงานว่า เพราะนิทานแต่ละเรื่องไม่มีบทตายตัว เช่น นิทานเรื่องหนึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ยิ่งถ้าเป็นซอยิ่งยากขึ้นหลายเท่า เพราะผู้รู้จะซอไปเรื่อยๆ คนเก็บข้อมูลก็ต้องแบ่งกันจด ส่วนใหญ่จะได้ประมาณ 3 บทต่อคน ทำให้ต้องเก็บข้อมูลกันหลายครั้งกว่าจะได้แต่ละเรื่อง
“สำหรับนิทาน ตอนนี้เราแปลได้ 4-5 เรื่องแล้ว แต่ละเรื่องยาวมาก ความยากของการแปลนิทานอยู่ที่การเรียบเรียงถ้อยคำให้สละสลวย เพราะตอนเล่า คนก็เล่าแบบวกไปวนมา เราต้องฟังให้จบรอบหนึ่ง แล้วก็ฟังซ้ำอีกสองสามรอบแล้วค่อยมาเรียบเรียงใหม่” เปียโนอธิบายและเสริมว่า นิทานจะเข้าใจได้ง่ายกว่าจะใช้วิธีบันทึกเสียงแล้วมาแปลเป็นภาษาไทย ไม่ได้จดเป็นคำอ่านเหมือนการซอ เธออธิบายว่าซอคล้ายกับสุภาษิตไทย แต่ละซอจะไม่ได้มีความหมายตายตัว วิธีเก็บข้อมูลจึงต้องให้ผู้เฒ่าผู้แก่ซอไปเรื่อยๆ แล้วค่อยถามว่าแต่ละท่อนหมายถึงอะไร เมื่อรู้คำแปลแต่ละท่อนจึงนำคำแปลทั้งหมดมาเรียบเรียงเพื่อเขียนความหมายทั้งเพลง
ถึงตอนนี้พวกเธอเก็บซอจากหลาย ๆ เรื่องไปได้แล้ว 127 ท่อน นิทาน 12 เรื่อง ในจำนวนนี้แปลเสร็จเรียบร้อย 5 เรื่อง
รวมพลังเพื่อซอและนิทานบ้านเรา
ภายใต้บรรยากาศความร่วมมือและความหวังที่จะเห็นเรื่องราวที่เล่าขานต่อกันมาได้รับการบันทึกในรูปแบบของหนังสือ ระหว่างทางใช่ว่าจะไม่มีปัญหาและอุปสรรค บางครั้งก็หนักหนาจนเกือบจะทำให้ถอดใจ
“ความยากอยู่ที่การรวมทีม แรกเลยมีเพื่อน 5 คน พวกเราทั้ง 5 คนเรียนในเมืองเหมือนกัน แต่สมาชิกทีมหายไปเพราะเขาต้องไปเรียนสายอาชีพ เหลือหนู เหมียว และเชียร์ แต่เพราะพวกเราเรียนอยู่ในเมืองจะเก็บข้อมูลได้เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น ตอนนั้นเราคิดว่าต้องทำไม่ได้แน่ ๆ เดินไปบอกพี่ๆ ทีมโค้ชแล้วด้วยว่าขอยกเลิกโครงการได้ไหม แต่พี่เขาไม่ให้ยกเลิก
“พี่อ้อย-ศิริขวัญ อุทา และพี่กอล์ฟ-กันตภณ จงงามวิไล เติมพลังให้ บอกว่า ‘สู้ ๆ’ เดี๋ยวพี่เขาจะช่วยอีกแรงหนึ่ง ตรงไหนไม่ได้ก็ให้มาบอก เลยคิดว่าเราต้องไม่ท้อ ลองทำอีกสักตั้ง ถ้าไม่ไหวจริงๆ เดี๋ยวค่อยบอก เราก็ทำไป แล้วพอทำไปๆ อะไรก็ดีขึ้น ตอนนั้นบอกกับตัวเองว่ามี 3 คนก็จะทำ แม้จะทำได้ช้า แต่ก็ยังได้ทำ ถึงไม่มีเพื่อนคนอื่นแต่เรามีความตั้งใจว่าจะทำอันนี้แล้วก็ต้องให้มันสำเร็จ เราคาดหวังว่าจะทำได้ เราต้องทำให้ได้” เปียโนสะท้อนความรู้สึก อาการถอดใจนี้ไม่ต่างจากเหมียวที่อยากลาออกเหมือนกัน แต่ก็อดเป็นห่วงเพื่อนที่เหลือไม่ได้ จึงตัดสินใจอยู่ช่วยกันต่อไป
“ตอนนั้นความตั้งใจคือ เราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่ก็แอบคาดหวังว่ามันต้องดี” เหมียวอธิบาย
หลังจากจับมือกันสู้ต่อ ก็ได้แววและหลินซึ่งเป็นรุ่นน้องที่ยังเรียนอยู่ในชุมชนเข้ามาร่วมทีม และทั้งสองคนก็กลายเป็นกำลังหลักในการเก็บข้อมูล ซึ่งไม่ใช่แค่จดบันทึกเก่งยังสามารถซอเอื้อนเสียงได้ด้วย
“เมื่อก่อนนี้ซอได้นิดหน่อย ความรู้เรื่องนิทานกับซอมีน้อยมาก เพราะพ่อกับแม่ก็ซอไม่เป็น เราเคยแต่เห็นคนซอที่งานศพบ้าง ฟังตาซอก็รู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้าง แต่ตอนนี้รู้มากขึ้นและอยากซอเป็น ยากที่สุดของการซอคือ ‘อือทา’ หรือการเอื้อนเสียง ส่วนการจดบันทึกช่วงไหนที่จดไม่ทันก็ถามซ้ำ ลุงเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็พูดเล่นกับเขาไปด้วย เป็นกันเองค่ะ” แววเล่าด้วยแววตามุ่งมั่น
สุดท้ายเมื่อแก้ปัญหาเรื่องทีมงานได้ มีการแบ่งหน้าที่กันตามความเหมาะสม งานก็ก้าวหน้าไปตามขั้นตอน เปียโนบอกว่าเธอรู้สึกดีใจมากที่ไม่ได้เลิกทำตั้งแต่ตอนนั้น
“ส่วนที่ยากที่สุดของการทำงานคือการเก็บข้อมูล การเรียบเรียงข้อมูล และการแปลความหมาย ซึ่งหลังจากเรียบเรียงนิทานเสร็จแล้วหนูคิดว่าจะชวนเด็กในชุมชนมาฟังพวกเราเล่านิทาน เผื่อน้องบางคนจะสนใจอยากรู้มากขึ้น ถึงแม้เขาไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แต่ก็ขอให้รู้ว่าชุมชนเรามีนิทานอะไรอยู่บ้าง หรือจะให้ดีคือเขาเอานิทานไปเล่าต่อให้เพื่อนฟัง หากรวบรวมได้มาก ๆ ก็จะเอาไปบริจาคให้ห้องสมุดโรงเรียน หรือในหมู่บ้านให้เขาได้อ่านกัน”
นี่คือความหวังเล็กๆ ของเยาวชนบ้านสะแงะ ซึ่งพวกเขาได้ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมาเพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป
งอกงามบนฐานวัฒนธรรม
ทุกนิทานเรื่องเล่าที่ได้ฟังจากผู้เฒ่า ทุกคำซอที่ได้ซาบซึ้งจากการอรรถาธิบาย ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ไม่เพียงตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาปกาเกอะญอ ยังภาคภูมิใจที่ได้ร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม
“เดี๋ยวนี้ภูมิใจในภาษาของตัวเองมาก เวลาไปโรงเรียนก็ไม่อายที่จะพูดภาษาตัวเอง แถมยังพยายามสอนให้เพื่อนที่อยู่ในเมืองพูดด้วย” เชียร์ กล่าวพร้อมรอยยิ้ม
ขณะที่แววบอกว่า เธอภูมิใจที่ชุมชนของตนเองมีนิทานกับซอที่ชุมชนอื่นไม่มี ตั้งใจว่าจะสืบทอดจากปู่ย่าตายายไว้ให้เด็กรุ่นหลังต่อไป ซึ่งตอนนี้แววสามารถเล่านิทานและซอได้แล้ว แต่ยังต้องฝึกเอื้อนเสียงให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
“ในอดีตการซอและนิทานอยู่ในวิถีชีวิตของปกาเกอะญอ ถ้าเป็นไปได้หนูอยากให้มันกลับมาเหมือนเดิม เหตุผลที่วิถีชีวิตเปลี่ยนไปอาจมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยี อย่างเมื่อก่อนมันไม่มีโทรศัพท์ให้เล่น นิทานและซอคือความบันเทิงของพวกเรา เย็นๆ ปู่ย่าตายายก็เล่านิทานให้ฟัง วันนี้ไปบ้านนี้ พรุ่งนี้ก็ไปบ้านคนนั้น เปลี่ยนบ้านไปเรื่อยๆ ทำให้คนในชุมชนรู้จักสนิทสนมกัน ไม่ต่างคนต่างอยู่เหมือนเดี๋ยวนี้”
สำหรับพวกเธอแล้ว นิทานและซอสอนเรื่องคุณงามความดี เรื่องวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ การสืบทอดนิทานและซอ จึงเปรียบเสมือนการดำรงอัตลักษณ์อันงดงาม หลังจากนี้ภารกิจที่เหลือ คือ การทำนิทานในรูปแบบการ์ตูนและหนังสือซอให้เสร็จสมบูรณ์
เยาวชนทั้ง 5 คนยอมรับว่าการทำโครงการนี้คือการบ้านชิ้นใหญ่ที่ไม่เพียงทำให้คนต่างวัยในชุมชนได้พูดคุยกันมากขึ้น ยังทำให้คนในวัยเดียวกันได้ฝึกทำงานร่วมกัน ได้พัฒนาตัวเอง และได้เปลี่ยนมุมมองความคิดไปไม่น้อย
“การเข้าร่วมเวทีกลางที่ได้เจอเพื่อน ๆ ร่วมโครงการ ฝึกให้หนูเป็นคนกล้าคิด กล้าพูด และกล้าแสดงออก เพราะถูกฝึกให้พูดและรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน แรกๆ หนูอายและกลัวมากที่ต้องพูดนำเสนอ เพราะพูดไม่ชัด กลัวว่าพูดไปแล้วเพื่อนจะหัวเราะ ตอนนั้นจำได้ว่าไปกัน 3 คน ถ้าเราไม่พูดก็ไม่ใครพูด เลยแบ่งส่วนกันพูด พอได้พูดก็รู้สึกว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่คิด แค่เราเปลี่ยนตัวเอง กล้าเข้าหาเพื่อน กล้าพูดนำเสนอเท่านั้น” เปียโน กล่าว
เช่นเดียวกับเหมียว ซึ่งปกติเป็นคนเงียบๆ แต่เมื่อต้องรับหน้าที่หัวหน้าโครงการ ทำให้ต้องรับผิดชอบมากขึ้น สื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น จากเด็กที่ไม่เคยกล้านำเสนองานหน้าชั้นเรียน ก็สามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำได้ เชียร์และแววเองก็มีความมั่นใจมากขึ้นด้วย
“งานที่ยากที่สุดคือ การแปลความหมายของนิทานและซอเป็นภาษาไทย แต่พอได้ทำก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเขียนหนังสือเก่งขึ้น ลายมือก็สวยขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นคนอื่นจะอ่านไม่ออก แถมสมาธิก็ดีขึ้น เพราะต้องคอยฟังคำที่ผู้รู้บอก แล้วเขียนเป็นภาษาไทยอีกที จึงต้องเงี่ยหูฟังตลอดเวลา วอกแวกไม่ได้เลย ถ้าสติหลุดก็จะจดผิดทันที” แววบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
สิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของพี่เลี้ยงอย่างพ่อพลวงอนุวัฒน์ตลอดเวลา เขาบอกว่าเด็กกลุ่มนี้กล้าแสดงออกมากขึ้น ตอนนี้เวลามีกิจกรรมในชุมชน นอกจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาช่วยกันแล้ว ก็จะมีเยาวชนสนใจเยอะขึ้น
“อย่างน้อยเราก็ได้เด็กกลุ่มนี้ที่สนใจหันมาดูเรื่องของชุมชนหมู่บ้าน เหตุที่ผมอยากให้เด็กทำโครงการนี้เพราะเห็นว่านิทานและซอเริ่มหายไปจากชุมชน เลยอยากให้เก็บความรู้เรื่องนิทานและซอไว้ อย่างน้อยๆ ให้เด็กๆ ในหมู่บ้านได้เรียนรู้ว่าบรรพบุรุษเรา คนเฒ่าคนแก่เรามีภูมิปัญญาเรื่องนี้อยู่ แม้จะยังเก็บไม่ได้มากก็ยังได้ทำ แต่ถ้าไม่ทำมันก็จะหมดไป ถ้าไม่มีเด็กรุ่นนี้มาช่วยสืบทอด รับรองว่าหายไปแน่ๆ”
เยาวชนกลุ่มเล็กๆ นี้จึงเป็นมากกว่าลูกหลานปกาเกอะญอ แต่ยังเป็นความหวังในการรักษาวิถีชุมชนบนฐานวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป