- ที่มาโครงการแค่อยากให้เด็กๆ ในชุมชนหันมากินผักและจากเมนูท้องถิ่น ไม่ใช่แค่รู้จักอาหารจากเมนูในร้านสะดวกซื้อ จะทำเช่นนั้น คนทำโครงการต้องรู้ก่อนว่าสรรพคุณของผักแต่ละชนิดคืออะไร และนำไปประกอบเป็นอาหารชนิดใดได้บ้าง
- การเข้าถึงข้อมูลจึงไม่ใช่อะไร แต่เดินเข้าไปหาปราชญ์ชาวบ้าน อย่าง พ่อๆ แม่ๆ และคุณย่ายายในพื้นที่
- ไม่ใช่เรื่องของการกินผักไม่กินผัก แต่เป็นกระบวนการเติบโตของเด็กๆ ผ่านกิจกรรมที่ได้ทำจริง จากโจทย์ของตัวเองและคนในพื้นที่
ภาพ : สิริเชษฐ์ พรมรอด
“ถ้าเห็นเพื่อนไม่กินผัก น้องจะทำอย่างไร?”
จากคำถามที่เหมือนจะง่ายแค่คำถามเดียว ใครไปคิดว่า 4 น้องวัยใสแห่งเมืองลำพูนจะรวมพลังกันเค้นสมองออกมาเป็นกิจกรรมที่ให้ผลลัพธ์น่าเหลือเชื่อ และไม่ใช่แค่เรื่องกินผัก แต่เชื่อมโยงกลับไปสู่วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และเชื่อมร้อยสายใยคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
เรื่องผักๆ จะไปเกี่ยวกับภูมิปัญญาและความเป็นชุมชนได้อย่างไร? “ก้อง-พิมพ์-เอื้อง-ทอย” อยากเล่าให้ฟังแล้ว…
รวมพลังคิด แก้วิกฤติเด็กไม่กินผัก
โครงการผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองตั้งต้นจากที่ ครูดอกไม้ ปานพาน ที่ปรึกษาโครงการ ชวนน้องๆ ทั้งสี่คนได้แก่ ก้อง-ก้องกิจ อ้ายวัน, พิมพ์-เพียรนภา เนาวเรศ, เอื้อง-เด็กภาษินี เจสะวา และ ทอย-อัจศราวุธ สารกาศ มาร่วมกันทำโครงการ
ก้องคือคนแรกที่ขันอาสา เพราะมีประสบการณ์ทำโครงการที่โรงเรียนอยู่แล้ว และคิดว่าในละแวกบ้านยังไม่เคยมีเยาวชนรวมกลุ่มกันทำโครงการเช่นนี้มาก่อน จึงเห็นว่าการเป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่ทำโครงการเพื่อชุมชนชนน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่น้องๆ ได้ ก้องจึงชวนเพื่อนวัยเด็กในละแวกบ้านอย่างเอื้อง, พิมพ์, และ ทอย ร่วมทำกิจกรรมกัน แม้ทั้งสี่คนจะอยู่ต่างโรงเรียนแต่ก็ใช้เวลาช่วงเย็นตอนกลับบ้านและเสาร์อาทิตย์มาคิดแก้ปัญหาให้ชุมชน
แรกทีเดียวการหาโจทย์ของทีมมุ่งไปที่เรื่องใหญ่อย่างไฟป่า ยาฆ่าแมลง แต่ได้รับคำแนะนำจาก พี่วิทย์-จิรทีปต์ ขัดมะโนแก้ว นักวิจัยเกษตรยั่งยืนและพี่เลี้ยงโครงการว่า “เรื่องมันใหญ่ไป” เพราะถึงแม้เรื่องเหล่านั้นจะมีประโยชน์ต่อชุมชนและท้าทาย แต่ยังถือเป็นประเด็นไกลตัวเด็กๆ เกินไป
แต่แทนที่พี่วิทย์จะชี้เป้าว่าเด็กๆ ควรทำเรื่องอะไรดี กลับโยนคำถามปลายเปิดให้เด็กๆ ไปลองทบทวนโจทย์และสิ่งที่ตัวเองอยากทำใหม่อีกครั้ง
“เพราะเด็กๆ เขาไม่ชอบการบังคับให้ทำ เราจึงต้องชวนหรือให้เขาทำสิ่งที่อยากทำก่อน แต่จะไม่ไปบังคับให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการ อยากให้โครงการออกมาตามธรรมชาติของเด็กที่สุด”
หลังจากได้คำแนะนำของพี่วิทย์และครูดอกไม้ให้ทีมลดมุมมองลงมาให้ใกล้ตัวมากขึ้น ในที่สุดทีมก็มองเห็นหนึ่งในปัญหาที่ใกล้ตัวพวกเขามากที่สุด นั่นคือการเปลี่ยนมาทำเรื่องอาหารและผักแทน
ด้วยเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ เพราะน้องๆ ในชุมชนสนใจแต่อาหารจากร้านสะดวกซื้อที่มีผักและคุณค่าทางโภชนาการน้อยแสนน้อย พวกเขาจึงอยากให้เด็กๆ ในชุมชนได้ทานผักบ้าง
ยกเรื่องผักเป็นวาระแห่งชุมชน
โจทย์ของทีมคือสร้างกระบวนการให้เด็กๆ ในชุมชนหันมารับประทานผักในรูปแบบของอาหารพื้นเมืองให้มากขึ้น องค์ความรู้ก็ไม่ต้องไปหาจากที่ไหนไกล เพราะคุณยายของก้องเป็นปราชญ์ชุมชนด้านอาหารพื้นบ้านอยู่แล้ว ที่เหลือก็แค่การวางแผนโครงการและลงมือทำจริง
ทอยเล่ากระบวนการทำงานของทีม ก่อนที่ก้องจะยอมรับว่า แค่กิจกรรมแรกนี้ทีมก็หนาวๆ ร้อนๆ กันแล้ว
“ตอนแรกเราปรึกษาหาวิธีกับทีม วางแผนเสร็จแล้วก็ไปบอกผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชนเพื่อขอเข้าชี้แจงโครงการในที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน พวกเราไม่เคยพูดในที่ชุมชนกันมาก่อนเลยครับ (หัวเราะ) ทั้งตื่นเต้นและกดดัน ก่อนพูดก็มีการเตรียมตัวเล็กน้อยว่าจะพูดเรื่องอะไร พูดยังไง และวางแผนเรื่องถ่ายวิดีโอเพื่อเอาไปตัดต่อด้วย”
การประกาศให้ผักเป็นวาระแห่งชุมชนของทีมสำเร็จลงได้ด้วยดี ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนลุกหนีเลยตลอดการชี้แจงโครงการ นับเป็นกำลังใจชั้นดีให้ทีมเดินหน้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป นั่นคือการสำรวจและกำหนดโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
“เราสำรวจเด็กที่มาเรียนพิเศษว่ามีใครเข้าร้านสะดวกซื้อบ้าง อยากรู้ว่าเด็กให้ความสำคัญกับ ร้านสะดวกซื้อมากกว่าผักและอาหารในหมู่บ้านแค่ไหน ถ้าทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ เขาทานอะไร” ก้องเล่า ขณะที่พิมพ์สรุปผลการสำรวจ รายงานว่าจากเด็กราว 30 กว่า ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เข้าร้านสะดวกซื้ออาหารที่ซื้อทานส่วนมากเป็นขนม น้ำหวาน และข้าวด้วยเพราะสะดวก หลายครั้งผู้ปกครองก็เป็นคนซื้อให้ด้วยตัวเอง
ก้องเล่าถึงวิธีเก็บข้อมูลและการทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มเป้าหมาย 15 คนถึงบ้านว่า เริ่มจากแบ่งหน้าที่กันว่าใครจะทำงานสัมภาษณ์ ใครบันทึก ใครถ่ายวิดีโอ ข้อมูลที่วิ่งเข้าไปหา คือสรรพคุณของผักพื้นบ้าน ความสำคัญอาหารพื้นบ้าน และคนที่ทีมเข้าไปขอข้อมูลไม่ใช่ใครที่ไหน คือ ย่าอำพร เจศะวะ ปราชญ์ด้านผัก และยายนงคราญ ป๋ากาศ ปราชญ์ด้านอาหาร
กระบวนการนี้เองที่ภูมิปัญญาได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งสรรพคุณของผักพื้นบ้านอย่างดอกแค ชะอม ฯลฯ อาหารพื้นเมืองอย่างแกงแค จอผักกาด น้ำพริกอ่อง กล้วยปิ้ง ไข่ป่าม ฯลฯ และก็ยิ่งขยายออกไปสู่วงก
ว้างมากขึ้น เมื่อทีมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของ 2 โครงการคือโครงการผักพื้นบ้านและโครงการสวนผักในรั้วบ้านที่มีพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ใกล้กัน
“การเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกพวกเราพากันไปเรียนการปลูกผักกับโครงการปลูกผักในรั้วบ้านที่บ้านดอยแช่ วันที่สองกลุ่มบ้านดอยแช่ก็มาเรียนรู้เรื่องการทำอาหารจากผักพื้นบ้านกับพวกเรา โดยพวกเราเชิญปราชญ์หลายๆ ท่านสอนทำอาหาร ทำเสร็จก็รับประทานอาหารร่มกันครับ” ก้องเล่าอย่างมีความสุข
แม้จะเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ทีมแต่ก็ไม่มีปัญหา ทุกคนต่างช่วยเหลือกันเต็มที่ ไม่มีใครเกี่ยงว่าเป็นงานฉันหรืองานเธอ
เมื่อผัก ผลักดันให้เติบโต
“หลังให้ความรู้และชักชวนเข้าโครงการ เราสังเกตเห็นเด็กในซอยและผ่านแบบสอบถาม เห็นว่าเด็กๆ เริ่มกินผักมากขึ้น บางคนที่ไม่กินผักเลยก็เริ่มกินบ้างแล้ว โดยเฉพาะตัวหนูเองเมื่อก่อนไม่กินผัก ก็เริ่มมากินตอนทำโครงการ เพราะเราเป็นแกนนำ ต้องทำให้น้องเห็นค่ะว่าเรากินได้” เอื้องเล่าพร้อมรอยยิ้ม
ถือเป็นผลลัพธ์อันน่าดีใจที่เด็กๆ ในชุมชนเริ่มเห็นคุณค่าและหันมากินผักผ่านอาหารพื้นเมืองกันมากขึ้น เชื่อได้เลยว่าน้องๆ จะต้องเติบโตแข็งแรงยิ่งๆ ขึ้นเป็นแน่ กระนั้น คนที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นชัดก็คือทีมทั้งสี่ ที่การทำโครงการนี้ทำให้พวกเขาได้ฝึกฝนทักษะและพัฒนาความสามารถอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งความกล้าแสดงออก ทักษะการถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอ และการทำงานเป็นทีม
“แต่ก่อนหนูเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออกเลย แต่ตั้งแต่มาทำโครงการ รู้สึกว่ากล้าที่จะทำหรือแสดงออกมากขึ้น อย่างการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้กับคนอื่น” เอื้องเล่าจบพร้อมอมยิ้มน้อยๆ
“สำหรับผม สิ่งที่ยากที่สุดคือการถ่ายวิดีโอครับ มันต้องหามุมกกล้องที่ดี ควบคุมกล้องให้ดี ซึ่งพวกผมถ่ายกันหลายรอบมาก (ยิ้ม) บางครั้งถ่ายอยู่ดีๆ ก็ขำแล้วก็พากันหัวเราะ ก็ต้องเริ่มถ่ายใหม่
“พวกเราศึกษาการตัดต่อวิดิโอจากยูทูป กว่าจะทำเสร็จใช้เวลานานมาก วิดีโอตัวแรกนี่หลายวันเลย ส่วนการถ่ายภาพ ได้พี่กอล์ฟ (กันตภณ จงงามวิไล โคชศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน) สอนเรื่องการถ่าย หลังจากนั้นพวกเราก็เปลี่ยนกันถ่ายเพื่อให้ได้เรียนรู้กันทุกคน
“เนื่องจากผมเป็นประธานนักเรียนด้วย จึงมีงานค่อนข้างมาก ต้องจัดสรรเวลาให้ดี ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องโครงการและงานส่วนตัว เช่น ทางโครงการจัดอบรม 3 วัน แต่ผมติดงานโรงเรียน ต้องตามมาวันที่ 3 แทน แม้จะสายแต่ก็ต้องมา”
เป็นความยากที่เกิดจากการไม่เคยได้ลองทำ แต่เมื่อได้ทำแล้วก็จะทำเป็น และเกิดเป็นทักษะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในอนาคต อย่างที่พิมพ์สะท้อนว่า “เป็นเรื่องดีค่ะ เพราะได้ประสบการณ์ที่เราสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้ อย่างที่ใกล้ตัวที่สุดตอนนี้ก็คือ ครูให้ทำวิดีโอส่งงานครูค่ะ อีกอย่างเมื่อก่อนหนูทำอาหารไม่เป็นเลย แต่ตอนนี้ทำไข่ป่ามเป็นแล้วค่ะ”
จากผักในสำรับ สู่สายใยของชุมชน
ถึงวันนี้ การจัดเวทีเรียนรู้เรื่องผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองของทีมก็ยังทยอยทำอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับรายงานผลให้แก่ที่ประชุมหมู่บ้านทุกๆ 2 เดือน ซึ่งถ้าใครสังเกตจะพบว่า ไม่ใช่แค่เด็กในชุมชนเริ่มหันมากินผักกันมากขึ้น หากแต่กระบวนการของโครงการฯ ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แนบแน่นกันขึ้นด้วย
“แต่ก่อน ถ้าหนูไม่ไปวัดก็จะนอนอยู่บ้านเฉยๆ แต่พอได้ทำโครงการรู้สึกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชนมากขึ้น ดีทั้งต่อตัวเราและก็น้องๆ ด้วย” เอื้องกล่าว
ครูดอกไม้เสริมว่า โครงการนี้คือสิ่งดีๆ ที่จะเข้ามาช่วยชุมชนในการแก้ปัญหาเยาวชน นอกจากเรื่องโภชนาการ ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยดึงเด็กๆ ออกจากเรื่องยาเสพติด เกม ฯลฯ และทำให้เด็กๆ รู้จักรากเหง้าของตัวเองผ่านวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น มากกว่านั้น คือเกิดกิจกรรมที่คนในชุมชนทุกช่วงวัยได้มาใช้เวลาร่วมกัน เกิดเป็นสายใยที่คนในชุมชนไว้วางใจและร่วมแรงกันเพื่อแก้ปัญหาให้ชุมชนของตนดีขึ้น
“เป้าหมายของโครงการนี้นอกจากอยากพัฒนาเด็กแล้ว ก็อยากลดช่องว่างระหว่างวัยด้วย สังคมปัจจุบันเร่งรีบเกินไป แม่ไม่มีเวลาทำอาหารให้ลูก เด็กไม่กินผัก การเริ่มทำอาหารที่เด็กทุกคนทานกัน ทำไข่ป่ามใส่สมุนไพร ทำให้เด็กรู้จักรากฐานของหมู่บ้านและตัวเอง ทั้งวัฒนธรรมการกินการอยู่” ครูดอกไม้กล่าว
ก็เพิ่งได้รู้วันนี้นี่เอง ว่านอกจากผักจะมีกากใยที่ดีต่อสุขภาพแล้ว ยังสร้างสายใยให้ชุมชนเกิดความมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ปัญหา เสริมสร้างชุมชนให้แข็งแรงได้อีกด้วย
รู้อย่างนี้แล้ว “ก้อง-พิมพ์-เอื้อง-ทอย” ก็อยากชวนให้ทุกคนมากินผักกันเถอะ!