- การสอนแบบโฟนิกส์ เป็นการสอนให้เด็กรู้จักการออกเสียงของอักษรแต่ละตัวและนำเสียงมาประสมกันเป็นคำได้ ไม่ใช่การท่องจำเพียงอย่างเดียว
- เวลาอ่านเราจะดูว่าอักษรแต่ละตัว (หน่วยอักขระ) แทนเสียงอะไร (หน่วยเสียง) จากนั้นเราจึงรู้ว่าอักษรเหล่านั้นเมื่อรวมกันอ่านได้เป็นคำว่าอะไร ทำให้เราเข้าใจความหมายของสิ่งที่เขียนได้ สรุปง่าย ๆ คือ การอ่าน = เห็นคำ → ออกเสียง → เข้าถึงความหมาย
- การสอนภาษาไทยโดยใช้หลักโฟนิกส์ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 4 ขั้น ได้แก่ 1) เรียนรู้เสียงตัวอักษร, 2) ฝึกการสอนประสมเสียง, 3) รู้จักการเทียบเคียง และ 4) หัดอ่านเขียนเข้าใจคำ
การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การสื่อสารในปัจจุบันเน้นไปที่การเขียนหรือการพิมพ์มากขึ้น เช่น การโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย หรือการสนทนาผ่านห้องแชต แม้ว่าการอ่านจะเป็นทักษะสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในยุคนี้ แต่ผลสำรวจกลับพบว่า คนไทยเกือบ 2 ใน 3 มีทักษะการอ่านที่ต่ำกว่าเกณฑ์
จากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) พบว่า คนไทย 64.7% มีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ กล่าวคือ คนกลุ่มนี้แทบจะไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ได้ เช่น ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งอย่างง่ายบนฉลากยาได้
การเสริมสร้างทักษะการอ่านควรเริ่มสอนตั้งแต่ยังเด็ก เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญของการอ่านในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การอ่านและการเขียนไม่เหมือนกับการฟังและการพูด เมื่อห้อมล้อมไปด้วยภาษา เด็กสามารถฟังและพูดตามคนอื่นได้อย่างง่ายดาย แต่เด็กกลับไม่สามารถอ่านและเขียนได้เองโดยปราศจากการสอน
การสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ต้องคำนึงถึงวิธีการที่เหมาะสมและมีความใส่ใจสูง การสอนในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลลัพธ์ได้ดีคือ การสอนแบบโฟนิกส์ ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กรู้จักการออกเสียงของอักษรแต่ละตัวและนำเสียงมาประสมกันเป็นคำได้ ไม่ใช่การท่องจำเพียงอย่างเดียว
การสอนแบบโฟนิกส์ (Phonics) คืออะไร?
โฟนิกส์ (Phonics) เป็นวิธีการสอนให้เด็กรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ตัวอักษร’ กับ ‘เสียง’ พูดง่ายๆ ก็คือ การสอนให้เด็กรู้ว่าอักษรแต่ละตัวในภาษาออกเสียงว่าอย่างไร ซึ่งเป็นคนละคำกับ โฟเนติกส์ (Phonetics) เพราะคำนั้นหมายถึงศาสตร์แขนงหนึ่งของภาษาศาสตร์ที่ศึกษาการออกเสียงของมนุษย์
การสอนอ่านโดยเน้นให้รู้จักการออกเสียง เป็นวิธีการที่สอดคล้องกับธรรมชาติการอ่านของมนุษย์ โดยงานวิจัยในวารสาร Scientific Studies of Reading พบว่า การอ่านคือการเชื่อมโยงระหว่าง ‘หน่วยอักขระ’ (grapheme) กับ ‘หน่วยเสียง’ (phoneme)
กล่าวคือ เวลาอ่านเราจะดูว่าอักษรแต่ละตัว (หน่วยอักขระ) แทนเสียงอะไร (หน่วยเสียง) จากนั้นเราจึงรู้ว่าอักษรเหล่านั้นเมื่อรวมกันอ่านได้เป็นคำว่าอะไร ทำให้เราเข้าใจความหมายของสิ่งที่เขียนได้
แม้ว่าคำนั้นจะเป็นคำที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีชนิดที่ว่าเห็นปุ๊บรู้ความหมายปั๊บ ก็ยังมีการหาความเชื่อมโยงของหน่วยอักขระและหน่วยเสียงในหัวของเราอยู่ เพียงแต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ ทำให้เราแทบไม่รู้ตัว
สรุปง่าย ๆ คือ การอ่าน = เห็นคำ → ออกเสียง → เข้าถึงความหมาย
นอกจากนี้ การสอนแบบโฟนิกส์ควรใช้การสอนแบบเอ็กซ์พลิซิท (Explicit Teaching) คือ การสอนโดยตรงด้วยการย่อยทักษะที่ซับซ้อนให้ค่อยๆ ฝึกไปทีละขั้นตอน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนครูก็จะอธิบายพร้อมสาธิตให้ดู การสอนในลักษณะนี้จะมุ่งเน้นให้นักเรียนกับครูมีปฏิสัมพันธ์กันตลอด เช่น ครูต้องใส่ใจว่านักเรียนเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้หรือไม่ พร้อมทั้งให้ฟีดแบ็กแก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ปรับปรุงต่อได้
การสอนภาษาไทยโดยใช้หลักโฟนิกส์
ชนินทร์ ทิมฤกษ์ และยุพิน ยืนยง (2565) ได้ศึกษาการสอนภาษาไทยโดยใช้หลักโฟนิกส์สำหรับนักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนบางแค (เนื่องสังวาลย์อนุสรณ์) จำนวน 24 คน พบว่า หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะนี้ นักเรียนสามารถอ่านและเขียนคําภาษาไทยได้ถูกต้องมากขึ้น
กิจกรรมการเรียนรู้นี้ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 4 ขั้น ได้แก่ 1) เรียนรู้เสียงตัวอักษร, 2) ฝึกการสอนประสมเสียง, 3) รู้จักการเทียบเคียง และ 4) หัดอ่านเขียนเข้าใจคำ
- เรียนรู้เสียงตัวอักษร (Analytic Phonics)
ครูจะอ่านออกเสียงอักษรแต่ละตัวให้นักเรียนฟังช้าๆ ชัดๆ และให้นักเรียนอ่านออกเสียงตาม เช่น ครูสอนนักเรียนว่า ก ไก่ อ่านออกเสียงว่า /ก/ และยกตัวอย่างคำที่มีเสียง /ก/ เช่น ไก่ กา แกะ เป็นต้น โดยในขั้นนี้จะมุ่งเน้นให้นักเรียนสามารถออกเสียงและจดจำได้ว่าอักษรแต่ละตัวออกเสียงว่าอย่างไร
เมื่อนักเรียนเข้าใจเสียงของแต่ละตัวอักษรก็สามารถนำความรู้ที่ได้มาเชื่อมโยงได้ ตัวอย่างคือ นักเรียนรู้ว่าอักษรตัวใดอ่านออกเสียงเหมือนกัน เช่น ค ควาย, ฅ คน และ ฆ ระฆัง อ่านออกเสียงว่า /ค/ เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่านักเรียนเข้าใจจริงๆ ว่าอักษรแต่ละตัวออกเสียงว่าอย่างไร ไม่ใช่การท่องจำเพียงอย่างเดียว
- ฝึกการสอนประสมเสียง (Synthetic Phonics)
ครูจะอ่านออกเสียงคำต่างๆ ด้วยการสะกดและให้นักเรียนฝึกตาม เช่น คำว่า ‘กา’ ครูสอนว่าให้ออกเสียง /ก/ จากนั้นออกเสียง /า/ เมื่อนำเสียง /ก/ กับ /า/ มาประสมกันจะได้ว่า /กา/ เป็นต้น การสอนในลักษณะนี้เป็นการฝึกประสมเสียงระหว่างพยัญชนะกับสระ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงเสียงของอักษรแต่ละตัวและนำมาผสมกันจนออกเสียงเป็นคำต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
ในสัปดาห์ถัดๆ ไปครูจะเริ่มสอนสระที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น สระที่อยู่ข้างหน้าพยัญชนะ (เช่น เ-) สระที่มีหลายองค์ประกอบ (เช่น เ-ะ) หรือการเปลี่ยน/ลดรูปสระ (เช่น เ-ะ เมื่อมีตัวสะกดจะเปลี่ยนรูปเป็น เ-็-)
- รู้จักการเทียบเคียง (Analogy-Based Phonics)
ขั้นนี้จะเป็นการสอนให้นักเรียนนำคำมาเปรียบเทียบกันว่า เสียงต่าง ๆ ที่ประกอบในคำนั้นเหมือนหรือแตกต่างจากคำอื่นอย่างไรผ่านการแจกลูกคำ เช่น นำคำว่า /เผ็ด/, /เด็ก/, /เจ็ด/, /เม็ด/ มาเทียบเคียงกันโดยการแจกลูกคำจะได้ว่า
- เผ็ด = ผอ – เอะ – ดอ – เผ็ด
- เด็ก = ดอ – เอะ – กอ – เด็ก
- เจ็ด = จอ – เอะ – ดอ – เจ็ด
- เม็ด = มอ – เอะ – ดอ – เม็ด
จากการแจกลูกคำ นักเรียนจะเข้าใจได้ว่าคำทั้งหมดนี้มีเสียงที่เหมือนกันคือสระ /เ-ะ/ และเป็นสระเอะที่เปลี่ยนรูปเมื่อตามด้วยตัวสะกด (เ-็-)
ในขั้นนี้จะมีการสอนวรรณยุกต์ให้กับนักเรียนผ่านการเทียบเคียงเสียงด้วย เช่น ครูให้นักเรียนอ่านออกเสียงด้วยการผันเสียงวรรณยุกต์ /กา/, /ก่า/, /ก้า/, /ก๊า/, /ก๋า/ โดยคำเหล่านี้นักเรียนรู้ว่ามีเสียงพยัญชนะ /ก/ และเสียงสระ /า/ เหมือนกันผ่านการเทียบเคียง แต่แตกต่างกันที่เสียงวรรณยุกต์ โดย /กา/ เป็นเสียงสามัญ, /ก่า/ เป็นเสียงเอก, /ก้า/ เป็นเสียงโท, /ก๊า/ เป็นเสียงตรี และ /ก๋า/ เป็นเสียงจัตวา
การเทียบเคียงเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้จักการวิเคราะห์เสียงที่ประกอบอยู่ในคำนั้นๆ เมื่อเด็กเจอคำใหม่ที่ไม่คุ้นเคยก็สามารถนำหลักการนี้มาใช้ในการช่วยอ่านและสะกดคําไปพร้อมกันได้
นอกจากนี้ ครูที่สอนยังสังเกตว่า เมื่อนักเรียนสามารถออกเสียงคำได้ การเข้าใจความหมายก็ทำได้ไม่ยาก เช่น ครูเปิดเพลงสระเอะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำว่า ‘เด็ก’ ‘เป็ด’ และ ‘เผ็ด’ นักเรียนก็สามารถตอบครูได้ว่าทั้งสามคำนี้หมายความว่าอย่างไร ได้แก่ ‘เด็ก’ คือ คนที่มีอายุน้อย, ‘เป็ด’ คือ สัตว์เหมือนนกที่ชอบว่ายน้ำ และ ‘เผ็ด’ คือ รสชาติที่เกิดจากการกินอาหารที่มีพริก
- หัดอ่านเขียนเข้าใจคํา (Phonics Drill)
ในขั้นสุดท้าย ครูจะฝึกให้นักเรียนรู้จักการอ่านออกเสียงและการเขียนไปพร้อมๆ กัน โดยเมื่อนักเรียนรู้ว่าคำนั้นออกเสียงว่าอย่างไรก็สามารถเขียนให้ถูกต้องได้ไม่ยาก เช่น คำว่า /เกะ/ มีเสียงพยัญชนะต้นคือ /ก/ นักเรียนก็สามารถเขียนอักษร ก ได้
การฝึกฝนในขั้นนี้จะเป็นการฝึกซ้ำไปซ้ำมา (drill) เพื่อให้นักเรียนสามารถเขียนและออกเสียงได้ถูกต้อง เมื่อออกเสียงได้ถูกต้องก็นำไปสู่การเข้าใจความหมายได้ หรือหากพบคำใหม่นักเรียนก็สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมผ่านการเทียบเคียงได้ ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองในอนาคตต่อไปได้
อ้างอิง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา [กสศ.]. (2567). ทิศทางพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนของประเทศ.
ขวัญชัย โพธิ์ขวัญ. (2560). การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยวิธีสอนแบบเอ็กซ์พลิซิท วิชาเขียนแบบแม่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ เรื่องการเขียนภาพสามมิติ ของนักศึกษาระดับปริญญาเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีแม่พิมพ์ วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 2. วารสารการอาชีวศึกษาภาคกลาง, 1(2), 25-33.
ชนินทร์ ทิมฤกษ์ และยุพิน ยืนยง. (2565). การพัฒนาความสามารถในการอ่านและการเขียนสะกดคำภาษาไทย โดยการจัดการเรียนรู้แบบโฟนิกส์ สำหรับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1. วารสาร มจร เพชรบุรีปริทรรศน์, 5(2), 207-232.
Bella DiMarco. (2022). Sounding Out a Better Way to Teach Reading.
Ehri, L.C. (2005). Learning to Read Words: Theory, Findings, and Issues. Scientific Studies of Reading, 9(2), 167-188.
Erica Brozovsky. (2024). You Were Probably Taught to Read Wrong | Otherwords.
Peter N. Ladefoged. (2024). Phonetics.
Rauno Parrila, Anne Castles, & Saskia Kohnen. (2024). Phonics and why it is used to teach reading.